fbpx
‘Aesthetic Chills’ การขนลุกแห่งสุนทรียะ : เมื่อผิวหนังสำเร็จความใคร่

‘Aesthetic Chills’ การขนลุกแห่งสุนทรียะ : เมื่อผิวหนังสำเร็จความใคร่

คุณเคยฟังเพลงหรือชมการแสดงอะไรสักอย่างแล้วประทับใจจนขนลุกซู่ หรือจู่ๆ ก็เกิดอาการเสียววาบขึ้นมาตามสันหลังหรือไม่

 

ถ้าเคย เราขอแสดงความยินดีด้วย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะได้สัมผัสประสบการณ์แบบนี้

นี่คือปรากฏการณ์ทางร่างกายที่เรียกว่า ‘Frisson’ หรือ ‘Aesthetic Chills’ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ 2 ใน 3 คนเท่านั้น นักวิจัยบางคนเรียกมันว่า ‘skin orgasm’ หรือการสำเร็จความใคร่ทางผิวหนัง

การได้ฟังดนตรีที่มีท่วงทำนองงดงามหรืออัดแน่นด้วยอารมณ์ คือสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการที่ว่านี้ได้ดีที่สุด แต่บางคนอาจเกิดอาการแบบนี้ได้เช่นกันเวลาที่ได้ชมงานศิลปะบางชิ้น ฉากบางฉากในหนังหรือละครเวที รวมไปถึงการได้สัมผัสทิวทัศน์อันตระการตา

นักวิจัยยังบอกด้วยว่า นี่เป็นความรู้สึกเดียวกับเวลาที่เราปิ๊งใครสักคนจนเกิดอาการ ‘วูบวาบ’ ขึ้นมาฉับพลัน

 

อันที่จริงปรากฏการณ์นี้ถูกค้นพบและศึกษาอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษแล้ว จากความสงสัยของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า เหตุใดเสียงดนตรีหรือมหรสพบางประเภท จึงส่งผลต่อร่างกายเราในลักษณะดังกล่าวได้

หนึ่งในงานวิจัยจาก American Physical Association นำเสนอผลการทดลองว่าดนตรีแต่ละประเภท ส่งผลต่อลักษณะทางกายภาพของคนเราอย่างไรได้บ้าง โดยให้ผู้เข้าร่วมทดสอบจำนวน 38 คน ฟังเพลงที่ผู้วิจัยคัดเลือกมาให้ ประกอบไปด้วยเพลงหลากหลายแนว แล้วดูปฏิกิริยาทางร่างกายที่เกิดขึ้น

ผลปรากฏว่า เมื่อถึงท่อนแยกหรือท่อนโซโล่ของแต่ละเพลงที่เลือกมา ผู้ทดสอบจะมีปฏิกิริยาอย่างชัดเจน เช่น ในเพลง ‘Bossa Nova’ ของ Quincy Jones ผู้ทดสอบจะมีสีหน้าผ่อนคลายอย่างเห็นได้ชัด บางรายถึงกับหัวเราะและโยกย้ายร่างกายไปตามจังหวะเพลง ทว่าเมื่อผู้วิจัยเปิดเพลง ‘Tuba Mirum’ ของโมสาร์ท พบว่าผู้ทดสอบ 7 ใน 38 คน มีอาการขนลุกและตัวสั่น

หลังจากการทดลองซ้ำอีกหลายครั้ง ผู้วิจัยได้ข้อสรุปว่าเสียงดนตรีที่ลื่นไหล (Emotionally moving music) มีผลต่อร่างกายของคนเราในทางใดทางหนึ่งเสมอ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้บางคนเกิดอาการขนลุกหรือตัวสั่นนั้น ผู้วิจัยบอกว่าเกิดจากการได้ยินเสียงหรือท่วงทำนองอันไม่คาดคิด เช่น การเปลี่ยนระดับเสียงหรือจังหวะอย่างกะทันหัน หรือการเปลี่ยนสู่ท่อนโซโล่ด้วยพลังและลีลาอันจัดจ้าน

หนึ่งในผลงานที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถทำให้คนขนลุกได้มากที่สุด ก็คือการแสดงหยุดโลกของ Susan Bolye ในรายการ Britain’s got talent เมื่อปี 2009 ที่เปลี่ยนมนุษย์ป้าจอมเฉิ่มคนหนึ่งให้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในชั่วข้ามคืน ด้วยการโชว์พลังเสียงในเพลง ‘I dreamed a dream’

นักวิทยาศาสตร์บางคนวิเคราะห์ว่า อาการดังกล่าวเป็นผลมาจากวิวัฒนาการของมนุษย์ จากแต่เดิมที่มนุษย์เราเคยมีขนดกและยาวกว่านี้ การขนลุกเป็นกลไกในการสร้างความอบอุ่นของร่างกายเมื่อเจออากาศเย็นแบบฉับพลัน ขณะเดียวกันก็เป็นกลไกที่ตอบสนองต่ออารมณ์ที่พลุ่งพล่านด้วย

แต่แม้จะมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมามากมาย ทว่าข้อสงสัยที่เพิ่งได้รับการคลี่คลายเมื่อไม่นานมานี้ ก็คือการไขปริศนาที่ว่า เหตุใดปรากฏการณ์นี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ?

การศึกษาล่าสุดจาก Utah State University ค้นพบว่า คนที่มีประสบการณ์ Frisson นั้น มักเป็นคนที่มีบุคลิกเปิดกว้างต่อความหลากหลาย ชอบความท้าทาย และชอบเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ

ในการทดลองครั้งนี้ ผู้วิจัยได้คัดเลือกเพลงจำนวนหนึ่งที่มี ‘Thrilling moment’ หรือท่อนพีคที่ทำให้คนฟังขนลุกได้ มาให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองฟัง พร้อมติดตั้งเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าบนผิวหนังเพื่อดูปฏิกิริยาของร่างกายแบบเรียลไทม์ ขณะเดียวกันก็ให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคน กดปุ่มที่จัดเตรียมไว้ด้วยทุกครั้งที่รู้สึกวูบวาบหรือขนลุก

เมื่อนำผลทดลองที่ได้ มาเปรียบเทียบกับ ‘ผลทดสอบบุคลิกภาพ’ ของแต่ละคน ทำให้ผู้วิจัยค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวแปร ซึ่งบ่งชี้ว่า คนที่มีอาการ Frisson จากการฟังดนตรี ล้วนเป็นคนกลุ่มที่มีบุคลิกภาพแบบ ‘Openness Experience’ คือมีจินตนาการสูง ชอบเสพศิลปะ หลงใหลความงามของธรรมชาติ และเปิดกว้างต่อประสบการณ์อันหลากหลาย ขณะเดียวกันก็อ่อนไหวเป็นพิเศษต่อสิ่งเร้าต่างๆ

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า คนที่มีความรู้พื้นฐานและหลงใหลดนตรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีแนวโน้มที่จะสัมผัสกับปรากฏการณ์นี้ได้ดีกว่าคนทั่วไปที่ฟังแบบผ่านๆ

สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองมีประสบการณ์แบบนี้หรือไม่ เรามีลิสต์เพลงจำนวนหนึ่งมาให้คุณได้ลองทดสอบกันเล่นๆ

– 53 วินาทีแรกของเพลง ‘Making Love Out of Nothing at All’ โดย Air Supply

– 2 นาทีแรกของเพลง ‘Oogway Ascends’ โดย Hans Zimmer

– 3 นาทีแรกของเพลง ‘Mythodea: Movement 6’ โดย Vangelis

ส่วนคนที่รู้ตัวว่าสามารถสัมผัส ‘ความฟิน’ จากการฟังเพลงหรือดูหนังได้บ่อยๆ อยู่แล้ว เราขอแนะนำให้คุณเข้าไปจอยกับชาวแก๊งผู้เสพติด Frisson ได้ ที่นี่

 

ขอให้พบความสุนทรีย์ (และขนลุก) โดยทั่วกัน!

 

อ่านเพิ่มเติม

– บทความ ‘Thrills, chills, frissons, and skin orgasms’ โดย Luke Harrison and Psyche Loui จาก Frontiers

– บทความ ‘Why Does Great Music Give You the Chills?’ โดย Mitchell Colver จาก Slate

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save