fbpx
อชิรวุธ สุพรรณเภสัช : โลกของหมอฟัน พิพิธภัณฑ์ช่องปาก และบทเรียนจากละครเวที

อชิรวุธ สุพรรณเภสัช : โลกของหมอฟัน พิพิธภัณฑ์ช่องปาก และบทเรียนจากละครเวที

ครั้งล่าสุดที่คุณไปพบทันตแพทย์คือเมื่อไหร่ ?

สำหรับคนทั่วไปที่ใส่ใจสุขภาพช่องปากอยู่บ้าง ย่อมรู้ว่าเราไม่ควรห่างหายจากการพบทันตแพทย์เกินหกเดือน อย่างน้อยๆ ก็เพื่อขูดหินปูน เคลือบฟลูออไรด์ และตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ภายในช่องปาก

แต่สำหรับผม นี่คือการพบทันตแพทย์ครั้งแรกในรอบหลายปี ซึ่งแทนที่จะอ้าปากให้คุณหมอขูดหินปูนหรืออุดฟัน ผมกับคุณหมอท่านนี้กลับนั่งสนทนากันอยู่หลายชั่วโมง…

 

ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผมนัดพบกับ ‘หมอปอม’ หรือ ผศ.ดร.ทพ.อชิรวุธ สุพรรณเภสัช อาจารย์ประจำภาควิชาวินิจฉัยช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงทันตกรรมมายี่สิบกว่าปี ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เรื่อยมาจนเป็นอาจารย์ และล่าสุดเขาตั้งปณิธาณว่าจะสร้าง ‘พิพิธภัณฑ์ช่องปากเพื่อการเรียนรู้’ ให้สำเร็จก่อนวัยเกษียณ

จากบุคลิกภายนอก ผมหลงคิดว่าเขาคือชายวัยสามสิบกลางๆ (ซึ่งอ่อนกว่าอายุจริงของเขาประมาณสิบปี) ด้วยท่าทางที่กระฉับกระเฉง พูดจาคล่องแคล่ว ประกอบกับใบหน้าอ่อนวัยที่ละม้ายคล้ายกับดาราบางคน

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราต้องนัดสนทนากัน คือเรื่อง ‘พิพิธภัณฑ์ช่องปาก’ ที่เขากำลังปลุกปั้นอยู่ ซึ่งเชื่อมโยงกับอาชีพที่เขาเชี่ยวชาญ

ทว่าเมื่อคุยไปลึกๆ เราพบว่าเขายังมีชีวิตอีกด้านที่คอยหล่อเลี้ยงความฝัน นั่นคือบทบาทของการเป็นนักแสดงละครเวที เคยมีผลงานทั้งโรงเล็กโรงใหญ่ อาทิ นางพญางูขาว (2542), คู่กรรม เดอะมิวสิคัล (2546), เมฆเหินน้ำไหล (2559) ฯลฯ

“ทันตแพทย์เป็นอาชีพที่ประหลาด เราถูกฝึกมาให้ทำอะไรอยู่ในที่แคบๆ จดจ่ออยู่กับรายละเอียดยิบย่อย แต่อะไรก็ตามที่เป็นภาพกว้าง จะมองไม่ค่อยออก…”

อาจเป็นเพราะเหตุนี้ ที่ทำให้เขาพยายามเปิดรับสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา กล้าเดินออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคยเป็นครั้งคราวเพื่อเติมไฟให้ชีวิต (ล่าสุดเขาเพิ่งไปสมัครอบรมเป็นคนขับ Grab Taxi) ขณะเดียวกันก็เอาจริงเอาจังกับหน้าที่การงาน ทะเยอทะยานกับการสร้างสรรค์และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ถึงตอนนี้ ผมอยากให้คุณลองจินตนาการเล่นๆ ว่ากำลังทอดกายอยู่บนเก้าอี้ทำฟัน ข้างกายคือคุณหมอท่าทางใจดี (ซึ่งส่วนใหญ่มักมือหนัก) แสงไฟถูกปรับให้เข้าที่ เช่นเดียวกับเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ

ไม่ต้องอ้าปากค้าง ขอเพียงเปิดใจกว้างๆ แล้วปล่อยให้เรื่องราวต่อไปนี้สัมผัสคุณ—อย่างแผ่วเบา

พิพิธภัณฑ์ช่องปาก’ ที่คุณกำลังทำอยู่ มีที่มาที่ไปอย่างไร

จุดเริ่มต้นต้องยกเครดิตให้กับ รศ.ดร.ทพ.จรินทร์ ปภังกรกิจ แกไปเรียนด้านการบดเคี้ยวและการสบฟันมาจากแคนาดา แล้วแกก็ได้ตัวอย่างของขากรรไกรและฟันของสัตว์ชนิดต่างๆ มาจำนวนมาก ซึ่งแกตั้งใจว่าจะเอามาจัดแสดงไว้ที่คณะทันตแพทย์อยู่แล้ว แต่ผมเห็นว่าถ้าเอามาจัดแสดงแบบธรรมดา มันคงไม่น่าสนใจเท่าไหร่ จึงเสนอว่าควรทำเป็นพิพิธภัณฑ์แบบจริงจังไปเลย คือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับช่องปากทั้งหมด ซึ่งแกก็สนับสนุนเต็มที่ โปรเจ็กต์นี้จึงเกิดขึ้นมา

เราวางแผนกันไว้ว่าภายในปี 2562 ตัวพิพิธภัณฑ์ต้องพร้อมจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงระดมทุนและหาสถานที่แบบถาวร โดยระหว่างนี้เราก็ใช้วิธีจัดเป็นนิทรรศการหมุนเวียนไปก่อน อยู่บริเวณชั้นล่างของศูนย์ทันตกรรม คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ทั้งนี้เมื่อเสร็จสมบูรณ์ ผมหวังว่ามันจะเป็น ‘a must spot’ อีกแห่งหนึ่งของม.ขอนแก่น เหมือนกับที่ตอนนี้เรามีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่ใครๆ ก็ต้องแวะมาเยี่ยมชม

เมืองไทยเคยมีพิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้มาก่อนไหม

มีครับ ประเทศไทยเรามีพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับฟันและช่องปากมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็คือ ‘สิรินธรทันตพิพิธ’ ของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่ามันยังไม่ตรงกับจริตและความสนใจของผมนัก

ผมอยากทำพิพิธภัณฑ์ช่องปากที่เน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับช่องปากทั้งระบบ ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับช่องปาก ประวัติศาสตร์ด้านทันตกรรม การเรียนการสอนในคณะทันตแพทย์ วิวัฒนาการของการรักษา อุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ไปจนถึงเรื่องความเชื่อ เช่น ทำไมบางคนถึงเชื่อว่าถอนฟันแล้วจะประสาทเสีย ถอนฟันแล้วจะตาย หรือทำไมบางคนเชื่อว่าการกินหมากให้ฟันดำ จะดูสวยงามกว่าฟันที่ขาวๆ เป็นต้น โดยจะทำออกมาในรูปแบบที่เน้นการเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กับคน มากกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แบบนิ่งๆ ตายๆ

 

ถ้ามองในมุมคนทั่วไป ทำไมเราถึงต้องสนใจพิพิธภัณฑ์นี้

เพราะช่องปากเป็นประตูสู่สุขภาพ เป็นด่านแรกสู่ทางเดินอาหาร ฉะนั้นถ้าช่องปากไม่ดี ทางเดินอาหารก็จะรวนไปหมด สุขภาพก็จะแย่

เมื่อก่อนจะมีแนวคิดที่บอกว่ามันแยกส่วนกัน ฟันก็ฟัน ตัวก็ตัว แต่การศึกษาในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าโรคในช่องปากสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ อีกมากมาย เช่น คนที่เป็นโรครำมะนาดมากๆ แล้วตั้งครรภ์ ก็อาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดได้ หรือคนที่มีอาการตับวาย หรือไวรัสตับอักเสบ ก็จะเสี่ยงเป็นมะเร็งตับได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เพราะจะมีไขมันไปพอกที่ตับมากกว่าปกติ

หรือกรณีของผู้สูงอายุ คนที่สูญเสียฟันปกติ แล้วต้องใช้ฟันปลอม จะมีแรงบดเคี้ยวน้อยกว่าคนปกติเป็นสิบเท่า มีงานวิจัยที่ชี้ว่าการบดเคี้ยวอาหารจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ดังนั้นถ้าคนแก่ไม่ยอมเคี้ยว หรือเคี้ยวได้น้อย ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็จะมีมากขึ้น หรือทวีความรุนแรงขึ้น

อีกปัญหาที่พบมากในผู้สูงอายุ สืบเนื่องจากเรื่องการเคี้ยว ก็คือปัญหาเรื่องการกลืน ยิ่งคนเราอายุมากขึ้น ศักยภาพในการกลืนจะยิ่งลดลง ปัญหาก็คือว่า ถ้าคุณเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด หรือทำความสะอาดไม่ดี โอกาสที่เศษอาหารที่มีเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียจะไปติดค้างบริเวณหลอดลมก็มีมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก (Aspiration Pneumonia) ซึ่งเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด

บางเรื่องดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่จริงๆ แล้วมันเกี่ยว ฉะนั้นการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ดี จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในร่างกายอีกหลายโรค ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้ก็จะช่วยนำเสนอองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ให้คนทั่วไปได้รับรู้

นอกจากนี้ ผมจะใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนด้วย คือวิชาความรู้พื้นฐานด้านทันตกรรม สมมติว่าคุณอยากเรียนคณะทันตแพทย์ แล้วคุณเดินเข้ามาในพิพิธภัณฑ์นี้ คุณจะเห็นเลยว่าสโคปการเรียนการสอนในคณะนี้เป็นอย่างไร และต้องเจอกับอะไรบ้าง

                               

การเอาแง่มุมทางประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ เข้ามาผสมผสาน สำคัญต่อการเรียนรู้ด้านทันตกรรมอย่างไร

ส่วนตัวผมสนใจประวัติศาสตร์อยู่แล้ว แล้วประวัติศาสตร์มันมีอยู่ในทุกเรื่อง เรื่องของทันตกรรมและการดูแลรักษาช่องปากก็เช่นกัน มีแง่มุมที่น่าสนใจมากมาย ผมมองว่าการเอาความรู้ด้านประวัติศาสตร์ มาผสมกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ จะทำให้เรามีความทรงจำ รำลึกได้ ถึงวิวัฒนาการของวิชาชีพนี้ ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน

ทุกวันนี้แม้แต่ในแวดวงทันตกรรมเอง ก็มีเทรนด์ที่เรียกว่า Digital Dentistry ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการรักษา เช่น เรื่องการอุดฟัน เราสามารถใช้เครื่อง 3D Printer มาช่วยออกแบบและผลิตชิ้นส่วนของฟันได้เลย โดยไม่ต้องใช้วิธีแบบ manual อย่างในปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตก็คงใช้กันเป็นเรื่องปกติ แต่การย้อนกลับไปศึกษาอดีตว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร อย่างน้อยก็น่าจะทำให้ความฉาบฉวยของทันตแพทย์รุ่นใหม่ๆ ลดลงได้บ้าง

อชิรวุธ สุพรรณเภสัช

หลายคนบอกว่าหมอฟันเรียนยาก จบยาก มันเป็นแบบนั้นจริงไหม

คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้ว่าความยากของการเรียนทันตแพทย์คืออะไร ผมเคยได้ยินบางคนบอกว่า ก็แค่นั่งเขี่ยๆ ขี้ฟัน ทำไมถึงต้องเรียนตั้ง 6 ปี เท่ากับหมอเลย

ถามว่าต่างจากหมอยังไง ถ้าสโคปโดยรวม การเรียนหมอจะกว้างกว่า ฉะนั้นเมื่อเรียนไปสักระยะ เขาสามารถเลือกได้ว่าจะโฟกัสที่ส่วนไหนของร่างกาย ส่วนทันตแพทย์ แม้จะเลือกได้เช่นกัน แต่สโคปก็ยังอยู่แค่ในช่องปากเท่านั้น

ทันตแพทย์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ผสมกัน แง่หนึ่งเราก็เหมือนโรงเรียนเสริมสวยดีๆ นี่เอง คุณครูต้องจับมือทุกคนทำ เพราะหัตถการมันพลาดไม่ได้ ยิ่งเป็นหัตถการที่อยู่ในช่องปากที่มีขนาดเล็ก อยู่ในฟันซี่เล็กๆ และต้องทำทุกอย่างในระดับมิลลิเมตร มันเลยเพิ่มความเครียดให้กับการเรียนแบบกระฉูด ใครที่มีทักษะในการใช้มือที่ไม่ดี จะเรียนคณะนี้ด้วยความลำบากยากแค้นมาก

เรื่องต่อมาคือเรื่องเวลา หลายครั้งที่ต้องวัดดวงว่าคนไข้จะมาตามนัดมั้ย นักศึกษาทุกคนจะมีเวลา 180 ชั่วโมง ในการจบภาคการศึกษา เวลาตรวจเคสแต่ละครั้ง จะนับเป็นสามชั่วโมง แต่สมมติว่าถ้าคนไข้ไม่มาตามนัดสัก 10 ครั้ง เท่ากับว่าเวลาของคุณหายไป 30 ชั่วโมง คุณก็จบไม่ทันเพื่อน ฉะนั้นสิ่งที่คุณต้องจัดการก็คือการแมตช์เวลาตัวเองให้ตรงกับคนไข้ให้ได้

เรื่องสุดท้ายคือความสวยงาม การทำฟันทุกวันนี้มีเรื่องความสวยงามมาเกี่ยวข้องเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องของ subjective แม้กระทั่งอาจารย์ด้วยกัน เรียนจบมาจากที่เดียวกัน ก็ไม่ได้แปลว่าทั้งสองคนจะเห็นว่าฟันที่อยู่ตรงหน้าเป็นฟันที่สวยเหมือนกัน ดังนั้นความเครียดของนักศึกษา ก็คือการที่ต้องรับมือกับอาจารย์ที่มี subjective ต่างกันด้วย

ปัจจัยทั้งหลายที่ว่ามา ทำให้นักศึกษาทันตแพทย์มีความเครียด หนึ่งคือเรื่องสกิล สองคือเรื่องเวลา สามคือเรื่องความสวยงาม เวลาของตัวเองไม่สำคัญเท่ากับเวลาของคนไข้ ความสวยงามของตัวเองไม่สำคัญเท่ากับความสวยงามของอาจารย์

นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่อยู่เหนือความควบคุม เช่น เพื่อนผมคนหนึ่ง ทำฟันปลอมให้คนไข้ไปได้ประมาณ 70% แล้วคนไข้เป็นไตวาย เสียชีวิต ก็ต้องเอาฟันปลอมที่ยังทำไม่เสร็จสมบูรณ์นั้นใส่ไปในโลง แล้วก็เผาไปด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องรับเคสใหม่ด้วย ต้องกลับมาโฟกัสกับงานที่อยู่ตรงหน้าให้ได้

ดังนั้น คนที่เรียนคณะนี้ได้จึงต้องมีทั้งความวิริยะอุตสาหะ และการรู้จักปล่อยวางให้เป็น

 

แล้วในฐานะที่คุณเป็นอาจารย์ มีความคาดหวังอย่างไรกับลูกศิษย์ที่จะจบไปเป็นทันตแพทย์

ส่วนตัวผม ผมต้องการให้เขาออกไปรับใช้สังคมอย่างเข้าใจ ไม่ต้องเก่งมากก็ได้ แต่คุณต้องรู้ว่าหน้าที่ของคุณคือการไป serve เขา คุณคือเพื่อนเขา คุณไม่ได้อยู่ในฐานะที่สูงกว่าเขา ฉะนั้นคุณต้องทำให้เขาไว้ใจและสบายใจที่จะมารักษากับคุณ ไม่ใช่ถือตัวเองว่าเป็นหมอแล้วจะปฏิบัติต่อคนไข้อย่างไรก็ได้

ในส่วนของม.ขอนแก่น จะมีข้อดีอย่างหนึ่ง ด้วยความที่เป็นภาคอีสาน เราจะเจอคนหลายระดับ แล้วเราสัมผัสได้เลยว่า คนไข้ที่มารักษากับนักศึกษาหลายคน เขาต้องเสียสละมาก เพราะการที่เขาเอาค่าแรงที่หาเช้ากินค่ำในแต่ละวันมารักษากับนักศึกษา แปลว่าเขาต้องไว้ใจ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่นักศึกษาที่นี่จะได้รับ ก็คือเรื่องบุญคุณของคนไข้ ที่ไว้ใจเขา มารักษากับเขา ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้เขาได้พบเจอกลุ่มคนที่หลากหลาย

อย่างเรื่องภาษา เราก็สอนภาษาอีสานที่ใช้ทางทันตกรรมเพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วย เช่น แข่วโคก แปลว่า ฟันกราม หรือแข่วค่วย แปลว่า ฟันโยก คนที่เป็นทันตแพทย์ที่นี่จะต้องเรียนรู้ศัพท์เหล่านี้ด้วย เช่นเดียวกับศัพท์ภาษาอังกฤษ เพราะขอนแก่นมีชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่เยอะพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเขยอีสาน ดังนั้นเรานักศึกษาจึงต้องสื่อสารได้ทั้งสามภาษา คือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอีสาน ไม่งั้นจะคุยกับคนไข้ไม่รู้เรื่อง

ลักษณะคนไข้ในภาคอีสานก็ต่างจากที่อื่นด้วยถูกไหม

ใช่ครับ ภาคอีสานไม่เหมือนภาคอื่น ด้วยความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม และฐานะทางเศรษฐกิจ ทำให้คนที่มาเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมมีความหลากหลายมาก

คนในภาคอีสานมีประมาณ 22 ล้านคน โดยที่คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เจริญนัก คนแก่ที่อยู่ตามหมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะรอเงินจากลูกหลานที่ส่งมาให้จากส่วนกลาง ขณะเดียวกันก็ต้องเลี้ยงหลานไปด้วย ฉะนั้น ถ้าเขาไม่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากตัวเองได้ ดูแลหลานไม่ได้ ก็จบ จบหมดเลยทั้งเด็กและคนแก่

ดังนั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างของคณะทันตแพทย์ที่นี่ ก็คือการส่งเสริมการลงชุมชน ออกไปให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปาก ช่วยให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้ อีกส่วนคือการประสานงานกับคนที่อยู่ในท้องถิ่น ทันตแพทย์ประจำพื้นที่ กระทั่งสำนักงานสาธารณสุขต่างๆ เราจะมีโครงการที่ให้นักศึกษาออกไปรณรงค์ ให้ความรู้ ตามชุมชนต่างๆ ทุกปี

ทุกวันนี้มีคนที่อยากเรียนทันตแพทย์จริงๆ มากน้อยแค่ไหน

ผมเพิ่งทำวิจัยเสร็จเมื่อไม่นานนี้ ทำแบบสอบถามกับนักศึกษาเกือบ 400 คนในคณะ ว่าทำไมถึงเลือกเรียนคณะนี้ ผลปรากฏว่า คนที่เลือกเองเพราะชอบด้านนี้ มีประมาณ 40% พ่อแม่ช่วยตัดสินใจ ประมาณ 40% อีก 20% คือเลือกเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร

ถามว่าเด็กที่ชอบจริงๆ มีกี่เปอร์เซ็นต์ ผมก็ตอบได้ไม่เต็มปาก เพราะมันมีหลายประเภทมาก บางคนเข้ามาเรียนเพราะชอบจริงๆ แต่อยู่ๆ ไปแล้วเกลียดก็มี หรือเข้ามาเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร แต่อยู่ไปจนประสบความสำเร็จก็มี

อชิรวุธ สุพรรณเภสัช

แล้วถ้าย้อนไปตอนเป็นนักศึกษา คุณเป็นแบบไหน

จริงๆ ผมอยากทำงานในสาขานิเทศศาสตร์มาก เคยฝันอยากเป็นพิธีกรรายการทีวี อยากสัมภาษณ์บุคคลที่ประสบความสำเร็จ คนที่เป็นแรงบันดาลใจ หรือคนธรรมดาๆ ที่ลุกขึ้นมาทำตามความฝันของตัวเองในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

แต่เนื่องจากที่บ้านไม่สนับสนุน เขาอยากให้ผมเรียนในสาขาวิชาชีพที่ไม่กว้างเกินไป จบแล้วจะได้รู้ว่าตัวเองจะต้องไปทำงานอะไร เลยบังคับให้เรียนทันตแพทย์ต่อ จ้างด้วยเงินเดือน ด้วยทริปไปต่างประเทศ ซื้อรถใหม่ให้ขับ ทั้งที่ตอนนั้นผมสอบเอ็นทรานซ์เข้านิเทศศาสตร์จุฬาฯ ได้แล้ว สุดท้ายเลยตัดใจเรียนทันตแพทย์ต่อด้วยความงก (หัวเราะ)

แต่สุดท้ายผมก็เรียนจนจบ แล้วก็เข้ามาเป็นอาจารย์ต่อ ถึงตอนนี้ก็เป็นอาจารย์มา 20 ปีแล้ว แสดงว่าผมก็ต้องเห็นคุณค่าและความดีของคณะนี้อยู่บ้าง ไม่งั้นผมคงไม่อยู่มานานขนาดนี้

แต่ด้วยความสนใจงานด้านนิเทศศาสตร์มากกว่าทันตแพทยศาสตร์ หลังเรียนจบ ผมก็ยังผลักดันตัวเองให้ได้ทำสิ่งที่ชอบอยู่บ้างพอสมควร อย่างตอนนี้ สิ่งที่ทำประจำมาเกือบสิบปีแล้ว คือการจัดรายการวิทยุชื่อ ‘ฟันดีมีสุข คุยสนุกกับหมอฟัน’ เป็นรายการส่งเสริมความรู้ด้านการดูแลสุขภาพช่องปาก ออกอากาศทางคลื่นวิทยุ FM 103 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีคนฟังอยู่พอสมควร ก็ถือเป็นงานที่สนุกดีครับ

ส่วนงานพิธีกรทั้งภาคไทยและอังกฤษ ไม่ว่าจะงานประชุม งานอิเวนต์ หรืองานแต่งงาน ก็ยังทำอยู่บ้างตามโอกาส บางครั้งก็ไปช่วยทำให้ฟรีๆ กับคนที่สนิทชิดเชื้อกัน

สารภาพก่อนว่าจริงๆ แล้วผมเป็นคน introvert คือมีความกลัวเวที กลัวการพูดในที่สาธารณะมากๆ แต่เมื่อรู้ว่าตัวเองกลัว ก็เลยพยายามหาโอกาสรับงานเพื่อฝึกฝน และลดความกลัว ซึ่งพอมีประสบการณ์มากขึ้น มันก็ช่วยให้เรากลัวน้อยลงและทำงานเหล่านี้ได้ดีขึ้น เป็นธรรมชาติมากขึ้น

ทราบมาว่าคุณเคยเล่นละครเวทีด้วย อันนี้ถือเป็นอีกความฝันหนึ่งรึเปล่า

ความสนใจที่จะเริ่มต้นเล่นละครเวที เกิดขึ้นตอนที่เรียนทันตแพทย์ปีสอง ตอนนั้นมีละครเวทีของมหาวิทยาลัยเรื่อง ราโชมอน บทประพันธ์ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยมีผู้กำกับละครคือ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา เปิดออดิชั่นบทของซามูไร และขุนโจรตาโจมารุ ผมเลยไปลองดู ปรากฏว่าได้เล่นเป็นโจร ข่มขืนฆ่า สงสัยว่าหน้าจะให้ (หัวเราะ)

จากนั้นก็ได้เล่นละครบทประพันธ์ของหม่อมคึกฤทธิ์อีกเรื่อง คือ ซูสีไทเฮา เล่นเป็นจักรพรรดิขี้ขลาดชื่อกวางสู ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของพระนางซูสี ทำให้ได้ลองค้นหาคาแรกเตอร์ที่แตกต่างไปอีก เลยรู้สึกสนุกและมีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นละครเวที

ต่อมาเมื่อผมเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้เล่นละครเวทีในสเกลที่ใหญ่ขึ้น  เรื่องแรกคือ ‘ทางเลือกของหัวใจ’ ของคณะ 8×8 กำกับโดยคุณนิกร แซ่ตั้ง และอีกสองเรื่องกับค่ายแดส เอนเตอร์เทนเม้นท์ (ปัจจุบันคือ บริษัท ดรีมบ๊อกซ์) เป็นมิวสิคัลสองเรื่องเลย คือเรื่อง ‘นางพญางูขาว’ รับบทเป็น ซือเซียน คู่กับนางเอกคือ คุณอุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส และเรื่อง ‘คู่กรรม’ รับบทเป็นหมอโยชิ ทั้งสองเรื่องมีผู้เขียนบทคือ คุณดารกา วงศ์ศิริ และผู้กำกับคือ คุณสุวรรณดี จักราวรวุธ การได้ร่วมงานกับผู้เขียนบทและผู้กำกับมืออาชีพเหล่านี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก

ส่วนเรื่องล่าสุด เมื่อปี 2559 ผมมีโอกาสเล่นละครเวทีกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น เรื่อง ‘เมฆเหินน้ำไหล’ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์แปลภาษาจีนของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งเนื้อเรื่องตรงกับชีวิตจริงมากๆ คือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่กำลังถึงทางแยกในชีวิตว่า จะยังทำงานเป็นอาจารย์ต่อไปดีหรือไม่ ในเมื่อสังคมเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการศึกษาน้อยลงทุกที

เรื่องนี้ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีครับ เพราะได้ร่วมงานกับนักศึกษาหลายคณะ ต่างเจเนอเรชั่น ทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น มองความแตกต่างของเจเนอเรชั่นในแง่บวกมากขึ้น และทำให้ผมมีกำลังใจที่จะประกอบอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยต่อไป

ได้เรียนรู้อะไรจากศาสตร์ละครเวทีบ้าง

ความท้าทายของละครเวที คือ การควบคุมสติ ทั้งในแง่ของบท ทั้ง Monologue และ Dialogue การดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี เพราะถ้าเราเล่นดรอปลง พลังในการแสดงอาจจะส่งไปไม่ถึงเพื่อนร่วมแสดง ทำให้การแสดงโดยรวมอาจจะดรอปลงด้วย นับว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อตกลงที่จะลงเรือลำเดียวกันแล้ว ก็ต้องช่วยกันพาย

สิ่งที่ทำให้ผมรักละครเวที คือการทำงานเป็นทีม การที่ทุกคนต้องช่วยเหลือดูแลกัน การแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า เพื่อให้การแสดงที่เกิดขึ้นสดๆ เพียงครั้งเดียวผ่านพ้นไปด้วยดี รวมถึงการที่นักแสดงต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง รู้ว่าข่วงไหนที่สปอตไลท์ส่องใคร แล้วจะส่งให้เพื่อนร่วมเวทีได้โมเมนต์นั้นไป มันเป็นการฝึกมุทิตาจิต ถ้อยทีถ้อยอาศัย บางครั้งเป็นการช่วยเหลือกันด้วยความห่วงใยโดยไม่ต้องร้องขอ ซึ่งหาได้ยากในชีวิตจริง

จริงๆ แล้ว การเล่นละครเวที ง่ายกว่าการเล่นละครในชีวิตจริงมากๆ อาจเป็นเพราะละครเวทีมีบทเป็นตัวควบคุม มี direction ของผู้กำกับเป็นตัวกำกับการแสดงและการตีความบทของตัวละคร ดังนั้น เราในฐานะนักแสดง ไม่ต้องด้นสดเอง ไม่ต้องแก้สถานการณ์เองถ้าไม่จำเป็น และสามารถจริงใจกับบทและเพื่อนร่วมแสดงได้มากกว่าชีวิตจริงด้วยซ้ำ

การเล่นละครเวที รวมถึงการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่อยู่นอกสายงาน มีส่วนเกื้อหนุนหรือเติมเต็มอาชีพทันตแพทย์ด้วยไหม

การที่ผมมีความสนใจหลายๆ ด้าน และสามารถทำกิจกรรมที่เรารักและสนใจควบคู่ไปกับอาชีพหลักที่มีพื้นฐานแตกต่างกันค่อนข้างมากนั้น ถือเป็นความท้าทายของชีวิต และเป็นความสุขที่บางครั้งก็อธิบายให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้

หลายคนอาจไม่เห็นด้วย อาจมองว่าเราไม่โฟกัส ไม่เก่งสักทาง รู้อย่างเป็ด เป็น Jack of all trades แต่ผมกลับมองว่าโลกนี้มีคนที่เคลมว่าตัวเองเป็นกูรู กูรู้ อยู่เยอะแล้ว ฉะนั้นผมขอเป็นเป็ดอย่างมีความสุขดีกว่า ผมอยากใช้เวลาชีวิตที่ยังเหลือ เรียนรู้ในสิ่งที่อยากรู้ พัฒนาศักยภาพของตนเองเรื่อยไป และถ้ามีโอกาสถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจ ผมก็ยินดีและเต็มใจอย่างยิ่ง

อชิรวุธ สุพรรณเภสัช

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save