fbpx
ชั่วชีวิตคนลุ่มน้ำบางกอก เมื่อเวลาไม่อยู่ข้างเรา

ชั่วชีวิตคนลุ่มน้ำบางกอก เมื่อเวลาไม่อยู่ข้างเรา

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ และ ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

“ที่นี่ไม่มีเสียงรถม้าหรือเสียงเครื่องยนต์ ไม่ว่าจะเดินทางไปธุระหรือพักผ่อนหย่อนใจ ท่านจำต้องลงเรือขึ้นล่องไปตามแม่น้ำ บางกอกคือนครเวนิสแห่งดินแดนตะวันออก เราจะได้ยินก็แค่เสียงพายกระทบน้ำหรือสมอที่ทอดลง เสียงเพลงจากพวกกะลาสี ไม่ก็เสียงร้องของคนแจวเรือที่เรียกกันว่าฝีพาย แม่น้ำเป็นทั้งลานกว้างและบูเลอร์วารด์สายใหญ่ ส่วนคลองใช้สัญจรแทนถนนและตรอกซอกซอย สำหรับคนต่างถิ่นที่อยากเฝ้าดูความเป็นไปของบ้านนี้เมืองนี้ มีกิริยาให้เลือกทำอยู่ 2 อย่าง ไม่นั่งเท้าศอกมองจากระเบียง ก็นอนเอกเขนกในท้องเรือที่ลอยล่องอยู่เหนือน้ำ”

ถ้อยความข้างต้นเป็นมุมมองของอ็องรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เขียนถึง ‘บางกอก’ เมื่อครั้งสัมผัสด้วยตาตัวเองครั้งแรกใน พ.ศ. 2401 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4

ต่างกันพอสมควร ตอนนี้แม้ฉันจะอยู่ริมเจ้าพระยาแต่ก็ไม่ได้นั่งเท้าศอกมองจากระเบียง หรือนอนเอกเขนกในท้องเรือที่ลอยล่องอยู่เหนือน้ำ เหตุผลหลักคืออากาศร้อนจัดเกินกว่าจะทำได้

เสียงเพลง เถียนมีมี่ ของเติ้งลี่จวิน ดังออกมาจากเรือสำราญของนักท่องเที่ยวจีนตรงใต้สะพานพระราม 8 แข่งกับเสียงรถที่ขับดัง ขวับ ขวับ ผ่านถนนด้านบน เสียงสเก็ตบอร์ดรูดผ่านราวเหล็กของกลุ่มวัยรุ่นดังมาสมทบไกลๆ สิ่งเดียวที่ฉันยังเห็นตรงกับอ็องรี มูโอต์ คือที่นี่ไม่มีเสียงรถม้าเท่านั้นเอง

 

 

เรือเถียนมีมี่ล่องผ่านไปแล้ว รถทัวร์คันแล้วคันเล่าขับมาส่งนักท่องเที่ยวตรงใต้สะพานพระราม 8 เพื่อรอเรือลำใหม่มารับ เมื่อพื้นที่ตรงนี้กลายเป็นท่าเรือรับส่งนักท่องเที่ยว คนในชุมชนบ้านปูนที่อยู่ริมเจ้าพระยาจึงได้อานิสงส์จากการขายน้ำอัดลม ข้าวไข่เจียว และลูกชิ้นด้วย แต่อีกหนึ่งธุรกิจที่ทำเงินเป็นกอบเป็นกำมากกว่าที่ว่ามาทั้งหมด คือการเปิดห้องน้ำให้เข้า คิดค่าบริการครั้งละ 5 บาท นักท่องเที่ยวเวียนเข้ามาวันหนึ่งไม่ต่ำกว่าร้อยครั้ง

คุณลุงวัย 71 ปี เจ้าของห้องน้ำและร้านขายของชำ คนเก่าแก่ของชุมชนบ้านปูนเล่าให้ฟังถึงสถิตินี้ และยังพาเราเดินไปดูบ้านโบราณที่ซ่อนตัวอยู่หลังประตูเหล็กโทรม หญ้าขึ้นรกชัฎ แต่ยังเห็นแววความสวยงามอยู่ จับใจความได้ว่าเป็นบ้านขุนนางเก่า อายุกว่าร้อยปีแล้ว

ชุมชนบ้านปูน เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย มีอายุกว่า 200 ปี มีศาลาโรงธรรมเก่าแก่ อดีตเคยเป็นที่ทำปูนหมากที่มีชื่อเสียง รวมถึงมีศาลเจ้าปึงเถ่ากงที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้าน ที่นี่เคยเปิดตัวเป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนาชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว โดยตั้งใจจะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งประวัติศาสตร์

แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้ ชุมชนบ้านปูนดูสงบเงียบเกินกว่าจะรับมือกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ ศาลาโรงธรรมที่เป็นจุดศูนย์รวมของชาวบ้านก็ตั้งเงียบเหงาอยู่ตรงมุมก่อนถึงทางออกถนนใหญ่ มีนิตยสารเก่าวางตั้งอยู่บนโต๊ะจำนวนหนึ่ง บางเล่มตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2535 กระดาษแห้งแข็งไปแล้วก็มาก แต่ถึงอย่างนั้น ทุกเสียงของชาวบ้านต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ศาลาโรงธรรมแห่งนี้สำคัญกับพวกเขา แม้จะดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีใครเข้าไปใช้งานก็ตาม

 

 

ตลอดทางเดินเล็กแคบที่เราลัดเลาะผ่าน มีทั้งตึกแถวสร้างด้วยปูน บ้านไม้ สลับกับผนังสังกะสี เห็นสติ๊กเกอร์ ‘หยุดสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’ เป็นระยะ รู้จากคนในหมู่บ้านว่า ชุมชนบ้านปูนเป็นหนึ่งในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบหากมีการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

“จริงๆ ผมยังไงก็ได้นะ แต่ถ้าสร้างแล้วมันบังบ้านเรา ทำไง ไม่อึดอัดแย่เหรอ” คุณลุงอายุ 71 ปีเจ้าของร้านขายของชำคนเดิมว่า

เรานั่งคุยสารทุกข์สุขดิบกับคุณลุงอยู่นาน เขาเล่าว่าคนทยอยย้ายออกไปกันเยอะพอสมควร เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็อยู่น้อยลง เหลือแต่คนเฒ่าคนแก่ที่ไม่รู้ว่าวันไหนจะต้องโดนเวนคืนที่ ต้องหาทางหนีทีไล่ให้ดี ระหว่างพูดคุยพร้อมดื่มน้ำอัดลมจากร้านคุณลุง ก็มีนักท่องเที่ยวจีน สวมชุดกระโปรงสวย ใส่หมวกสานเดินมาเข้าห้องน้ำเป็นระยะ ซึ่งแทบจะเป็นรายได้หลักของบ้านหลังนี้

 

 

ในบริเวณชุมชนชนบ้านปูน มีร้านตรงหัวมุมอยู่สองร้าน ร้านแรกคือของคุณลุงขายของชำ ส่วนร้านที่สองคือลานต้นไทรขายอาหารตามสั่ง คนในชุมชนทั้งลูกเด็กเล็กแดงจะมานั่งรวมกันเมื่อมื้ออาหารมาถึง

คุณฐาพัช เจ้าของบ้าน นั่งเล่นอยู่ตรงลานดิน กิ่งของต้นไทรขยายปกคลุมทั่วบริเวณ เมื่อเดินเข้าไปตรงนั้นจึงเย็นสบายกว่าที่อื่น เสียงทีวีเครื่องเล็กดังจากบ้านหลังติดกัน เราคุยกันเรื่องการพัฒนาชุมชนริมน้ำ เขาบอกชัดเจนว่า “ไม่ใช่ผมไม่เห็นด้วยกับการพัฒนา แต่เราต้องดูผลกระทบทางนิเวศให้ครบถ้วน ไม่ใช่ทำให้แม่น้ำกลายเป็นท่อน้ำเสียเหมือนอย่างทุกวันนี้”

ที่เขาว่าไม่ใช่เรื่องเกินเลย เพราะคูคลองที่พาดผ่านชุมชนบ้านปูนกลายเป็นสีดำสนิท เต็มไปด้วยสารเคมีจากโรงตีเหล็กทางต้นน้ำ รวมถึงช่วงของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณบ้านปูนก็ไม่มีปลาผ่านมานานแล้ว น้ำที่ซัดตรงตลิ่งมีเศษขยะลอยติดมาให้เห็นจนชินตา

 

 

“คุณไปดูสิ ตรงแม่น้ำทางสะพานพุทธก่อนจะมาถึงพวกผม น้ำใส ปลาสวาย ปลาดุก ว่ายเต็ม แต่ตรงบ้านปูน ไม่มีเลย จับไม่ได้ เพราะระบบนิเวศเสียไปหมดแล้ว” คุณฐาพัชอธิบายให้เห็นภาพ แล้วพูดต่อว่า

“ยังไม่นับว่าถ้าทำทางเลียบแล้วจะไปบดบังทัศนียภาพ วัด วัง หมู่บ้าน ตลอดเส้นแม่น้ำที่มีมาตั้งนาน วิวแบบนี้กลายเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ไปแล้ว เราจะเอาอะไรไปบังทำไม” เขาพูดถึงผลกระทบหากมีการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมา

“เราอยู่กันมานาน แล้วอยู่กันแบบสงบ เราโชคดีที่ใกล้แม่น้ำ อากาศยังดีอยู่” ลุงฐาพัชเสียงพูดฟังชัด ท่ามกลางเสียงผัดกะเพราดังฉ่า “แต่ของบางอย่างก็หายไปหมดแล้ว อย่างเตาทำปูนหมากก็ไม่มีแล้ว ทั้งที่แต่ก่อนก็ทำกัน”

 

 

ไม่มีอะไรยืนยันคำพูดของลุงฐาพัชได้ชัดเจนเท่าโรงเตาทำปูนที่ไว้กินกับหมากกลายเป็นบ้านไม้โล่ง มองเข้าไปมืดสนิท มีเพียงป้ายเก่าๆ ติดอยู่ ตัวหนังสือเลือนรางไปหมดแล้ว

เมื่อเดินเข้าไปส่องดู ได้ความว่าเจ้าของชื่อลุงเนี้ยว เปิดร้านขายของเล็กๆ อยู่บ้านข้างๆ โรงเตา แม้จะอายุ 80 กว่าแล้ว แต่ยังเดินและพูดจาคล่องแคล่ว คุณลุงบอกเราด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยว่า “ไม่มีแล้ว ไม่ได้ทำนานแล้ว ตอนเผาขี้ผงมันเยอะ เขาก็ห้าม กลัวไฟไหม้ เลยต้องหยุดไปเลย”

“สมัยก่อนใช้ขาเหยียบ เดี๋ยวนี้เขาใช้เครื่องปั่น เอาดินท้องนามาทำ แต่เราเอามาจากในคลอง ผมทำตั้งแต่ 9 ขวบ อยู่นี่ไม่ไปไหนหรอก เราเคยเป็นลูกจ้างเขา ทีแรกก็เป็นลูกจ้างบ้านนี้ แล้วตอนหลัง ผมก็มีครอบครัว มาเปิดทำเองตรงนี้ เป็นที่เช่า เช่าเดือนละหลายพัน”

 

 

ไม่ใช่แค่ลุงเนี้ยวที่ต้องเช่าที่ดิน แต่จากที่คุยกับคนในบ้านปูน ที่ดินทั้งหมดล้วนมีเจ้าของเป็นตระกูลเก่าแก่ ชาวบ้านจึงต้องเช่าอยู่กันมาอย่างยาวนาน แม้ว่าจะอยู่กันมาหลายรุ่นแล้วก็ตาม หลายคนพูดตรงกันว่า “เขาจะให้ออกวันไหนก็ไม่รู้ เราก็ต้องเตรียมใจ ถึงแม้ว่าบ้านเราจะสร้างเองก็ตามนะ”

ยิ่งเมื่อความเปลี่ยนแปลงขยับเข้ามาสู่ชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา แรงเสียดทานและสภาพการณ์ของแต่ละชุมชนก็แตกต่างกันไป บางที่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต คนในชุมชนเปลี่ยนตัวเองให้รับมือทันกับนักท่องเที่ยว มีสถานที่ทางประวัติศาสตร์เปิดให้เข้าชมได้จริง แต่เรายังไม่ได้พูดถึง ‘ราคา’ ในการดูแลรักษาพื้นที่เหล่านั้นว่าใครจัดการ

กับบางชุมชน การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยก็ไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนขนาดนั้น บางครอบครัวเหลือเพียงผู้สูงอายุนั่งดูทีวีที่บ้าน บางคนไม่ได้มีเงินพอจะหาของมาขาย คนวัยทำงานหลายคนก็ย้ายออกไปทำงานที่อื่น หาบ้านที่กว้างขวางและมีที่จอดรถ เด็กวัยรุ่นหลายคนก็ไม่ได้อยู่ในร่องในรอยอย่างที่พ่อแม่ต้องการ

แม้จะดูเหมือนว่าพื้นที่ริมน้ำเป็นทำเลทอง ใครก็อยากจะมีวิวเจ้าพระยาเป็นของตัวเอง แต่คนที่อยู่จริงๆ กลับต้องรับมือกับปัญหาหลายอย่าง ทั้งอาชญากรรมจากคนนอก การสร้างทางเลียบแม่น้ำ การอยู่ในพื้นที่เล็กแคบ ถ้ามีรถ ต้องเสียค่าจอดเดือนละ 800-1,500 บาทในลานที่ห่างจากบ้านไปหลายร้อยเมตร รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เข้ามาในวันที่วัฒนธรรมหายไปมากแล้ว

 

 

มีคำกล่าวที่ว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ แต่ดูเหมือนว่ามีผู้คนริมแม่น้ำอีกมากที่ไม่ได้รับการหล่อเลี้ยงจากเจ้าพระยาที่เปลี่ยนไป

แม่น้ำเจ้าพระยาลากสายยาวกว่า 360 กิโลเมตร ผ่ากลางสยามประเทศ เริ่มต้นที่แม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน มาบรรจบกันที่ตำบลปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ไปสิ้นสุดที่เมืองสมุทรปราการ และตั้งแต่ใต้เมืองอ่างทองลงมา มีคลองแยกลัดไปหลายทาง หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมานานนับร้อยๆ ปี

ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในแถบบางกอกมีผู้คนอาศัยอยู่มากตั้งแต่สมัยอยุธยา ในหนังสือ เวียงวังฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม เขียนเล่าไว้ว่าในสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ การค้าทางทะเลเจริญรุ่งเรืองมาก ชาวตะวันตกเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบครองเมืองท่าแถบนี้กันมากขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานีการค้า และแสวงหาวัตถุดิบราคาถูก ธนบุรีในฐานะที่เป็นเมืองท่า เมืองหน้าด่าน และเป็นแหล่งผลิตผลไม้รสดีให้อยุธยามาแต่เดิมจึงถูกยกฐานะขึ้นเป็นเมือง ‘ทณบุรีศรีมหาสมุทร’ และต่อมามีการสร้างป้อมรบอย่างใหญ่โตขึ้นทั้งสองฟากน้ำในสมัยพระนารายณ์ และก่อนสมัยพระเจ้าตากสิน ธนบุรีกับบางกอกคือที่เดียวกัน แต่ชาวบ้านและชาวต่างชาติจะรู้จักชื่อบางกอกมากกว่า

ช่วงสมัยพระนารายณ์ สมัยธนบุรี เรื่อยมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงบริเวณบางกอก นับเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญและยิ่งใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการค้าในสายน้ำนี้ คอยสูบฉีดเลือดไปสู่ที่อื่นๆ เพราะนอกจากจะเป็นจุดจอดเรือที่จะเดินทางไปอ่าวไทยแล้ว ยังเป็นเส้นทางไปสู่ลุ่มแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างราชธานีกับหัวเมืองที่สำคัญ มีคำกล่าวขานกันว่าลุ่มแม่น้ำบริเวณนี้มีประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์

ในจดหมายเหตุลาลูแบรฺ์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามานำทูลพระราชสาส์นครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวถึงบางกอกไว้ว่า

“…ข้าพเจ้าต้องกล่าวตามที่เห็นแก่ตาว่ากรุงสยามมีราษฎรอยู่ตามชายฝั่งทะเลสยามนั้นน้อยนักน้อยหนา ที่จริงฝั่งชายทะเลก็ไม่ไกลจากบางกอกเท่าไหร่นัก แต่ราษฎรเกือบจะทั้งหมดตั้งบ้านเรือนอยู่แต่ตามลำแม่น้ำ ใช้เรือแพได้สะดวกพอที่จะช่วยให้ทำการค้าขายทางทะเลได้ ชื่อตำบลที่เหล่านี้โดยมาก โดยเหตุที่กล่าวแล้วน่าจะเรียกว่าเมืองท่าเรือที่ชาวต่างประเทศไปมาค้าขาย เมื่อเช่นนี้เมืองบางกอกฝ่ายสยามเรียกเมืองธน แต่ชาวต่างประเทศไม่มีใครรู้เหมือนชื่อบางกอก”

ผู้คนนิยมตั้งถิ่นฐานอยู่ริมน้ำ จนเมื่อพื้นที่ริมน้ำอัดแน่นแล้ว คนจึงเริ่มขุดลอกคลองจากแม่น้ำใหญ่ชักเข้าไปในพื้นที่ที่ตนอยู่ มีชื่อเรียกว่า ‘คลองขุด’  ส.พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือ ชื่อเสียง เรียงนาม ความรู้เรื่องแม่น้ำลำคลอง ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 คือช่วงที่มีการขุดคลองมากกว่าทุกรัชกาล มีการจัดตั้งกรมคลอง ในยุคนั้นการค้าและการคมนาคมคึกคักเฟื่องฟูมาก จนถึงขั้นมี ‘ผู้ร้ายตีเรือ’ คอยดักปล้นชิงคนบนเรือ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีกฎหมายระบุไว้ว่า ถ้าผู้ใดจะขุดคลองต้องแจ้งทางราชการ เพื่อตรวจดูความเหมาะสม และได้กำหนดไว้ว่า “แนวคลองสองข้างซึ่งขุดใหม่แบ่งเป็นที่นา ที่ไร่ ที่สวนให้ข้าเจ้าบ่าวข้าราชการและราษฎร ซึ่งได้ออกเงินออกแรงช่วยในการขุดคลอง จับจองพอสมควรแก่กำลัง”

 

 

ที่ริมน้ำในยุคนั้น หมายถึงที่ติดถนนในยุคนี้ ใครมีกำลังมีสินทรัพย์ก็ได้ครอบครองบ้านริมน้ำ จนกระทั่งเริ่มมีการตัดถนนให้รถม้าและรถลากผ่าน จากการพัฒนาตามแบบตะวันตกและการขยายเมืองไปสู่ส่วนที่ไกลจากแม่น้ำขึ้น พัฒนาจนเกิดเป็นห้องแถวพาณิชย์ เกิดเป็นย่านแห่งใหม่ในบางกอกในช่วงรัชกาลที่ 5 เช่น ถนนสาทร ถนนราชดำเนิน ถนนสามเสน เป็นต้น ซึ่งส่วนมากเป็นถนนที่เลียบไปกับคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มเป็นเส้นทางการเดินรถรองรับการขยายของเมือง

เมืองของคนบางกอกธนบุรี ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป จากอยู่กับแม่น้ำ ก็ค่อยๆ หันหน้าเข้าสู่ถนน ถนนเส้นใหญ่ที่เคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เปลี่ยนไปสู่ถนนกลางแหล่งค้าขายแบบใหม่ หากอ็องรี มูโอต์ มาเห็น อาจต้องเปลี่ยนคำบรรยายเรื่องเสียงรถม้ากันอีกครั้ง

ถัดจากชุมชนบ้านปูนไปไม่ไกล มีชุมชนมุสลิมตั้งอยู่ตรงบางอ้อ ถ้าล่องเรือไปก็พายยังไม่ทันปวดแขน แต่เสียดายที่ท่าเรือบางอ้อเหงาสนิทไปนานแล้ว เราจึงขับรถเข้าไปทางถนนจรัญสนิทวงศ์ สู่ที่ตั้งของมัสยิดที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในบางกอก

ภาพแรกที่ชุมชนมัสยิดบางอ้อต้อนรับเราคือวัว

ชายสวมหมวกแก็ปกำลังพาเจ้าหูลูบวัยละอ่อนมาเดินเล่นตรงสนามหญ้า ถ้าป้ายไม่บอกว่าเราอยู่ตรงถนนจรัญสนิทวงศ์ ฉันคงนึกว่าตัวเองอยู่กลางทุ่งนาที่ไหนสักที่

ตรงหัวมุมสนามหญ้ามีป้านั่งย่างปลาดุก กับคุณลุงสวมหมวกกะปิเยาะห์นั่งบนรถเข็น มองเจ้านกกรงหัวจุกเกาะบนคานไม้อย่างสบายอกสบายใจ ลึกเข้าไปในหมู่บ้านทางมัสยิดริมน้ำ มีคนจับกลุ่มพูดคุยกันรับลมตรงชานบ้าน วัวตัวใหญ่ยืนอยู่หน้าบ้านส่งแววตาเฉยชามาให้พวกเรา

 

 

มัสยิดกินพื้นที่ชุมชนไปมากโข ต้นไม้ ศาสนสถาน และบ้านเรือนตั้งอยู่รวมกันอย่างเป็นธรรมชาติ พื้นที่ตรงกลางลานมัสยิดคือกุโบร์ที่เอาไว้ฝังคนในหมู่บ้านที่ล่วงลับมารุ่นต่อรุ่น

“ถมดินกันมา 3 รอบแล้ว” ชายเจ้าถิ่นชี้ไปทางกุโบร์ที่อัดแน่นไปด้วยป้ายไม้ปักอยู่บนเนินดิน กำแพงที่เคยสูงท่วมหัว บัดนี้เหลือแค่หัวเข่า

“อยู่กันมาตั้งแต่นู่นน จำไม่ได้ นาน” เขาตอบคำถามที่ว่าอยู่กันมากี่ชั่วอายุคนแล้ว แล้วเล่าต่อว่า

“แต่ก่อนตรงนี้เป็นป่าอ้อหมดเลย” ว่าแล้วก็ชี้มือไปทางบ้านที่เรียงกันเป็นแถวยาว ฉันมองตาม ไม่มีวี่แววว่าจะเคยเป็นป่าอ้อสักนิด “ตรงนี้มีทางเดินเล็กๆ เลียบกุโบร์กับป่าอ้อ ไปไหนดึกๆ ก็ต้องเดินผ่านทางนี้ เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อ 40-50 ปีก่อน”

 

 

น้าต่อผู้เล่าเรื่อง อาศัยอยู่บางอ้อตั้งแต่เด็ก รับเหมาก่อสร้างและเปิดร้านอาหารตามสั่ง เขาพาเข้าไปดูในบ้านที่สร้างติดกันเป็นพรืด ก่อนชี้ให้ดูใต้ถุนบ้านที่เป็นดินโคลนแห้ง และมีเรือเก่าๆ วางอยู่

“ตรงนี้เคยเป็นคลอง ตัดผ่านเข้ามาในหมู่บ้านเลย” น้าต่อเล่า แต่ภาพที่เห็นตรงหน้าคือคลองถูกถมสนิท มีเพียงเสาบ้านที่ฝังลงไปในดินที่บอกเราว่าใต้ถุนบ้านเคยมีเรือล่องผ่าน

 

 

ณ ตอนนี้วิถีริมน้ำเปลี่ยนไป มีเพียงมัสยิดบางอ้อที่ตั้งหันหน้าสู่ริมน้ำท้ากาลเวลา กำแพงปูนถูกก่อขึ้นมาบดบังทัศนียภาพ แต่ในแง่หนึ่ง กำแพงก็มีไว้กันน้ำที่กัดเซาะริมตลิ่งขึ้นมาเรื่อยๆ

ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำคือถนนสามเสน ที่ตั้งของบริษัทเบียร์เก่าแก่ มองเห็นสัปปายะสภาสถาน รัฐสภาใหม่แห่งสยามประเทศที่กำลังก่อสร้าง เสียงโป๊ะเรือโคลงเคลงดังเอี๊ยดอ๊าดกระทบสายน้ำที่พัดมาเป็นระลอก แสงแดดตอนบ่ายแรงกล้า แต่ยังมีคนยืนตกปลาอยู่บนโป๊ะเรือ

อันที่จริงใช้คำว่าตกปลาคงไม่ถูกต้องเท่าไรนัก เพราะพี่แกเล่นแหวี่ยงแหลงไปทั้งอัน ที่น่าทึ่งคือมีปลาสวายติดมา 2 ตัวทันที

“เอาไปขายเหรอคะ” ฉันถาม

“เปล่า เอาไปกินนี่แหละ” เขาตอบ

แดดยังส่งแสงแรงขึ้น เราจึงปล่อยให้พี่เขาหาปลาต่อไปแล้วถอยทัพหลบเข้ามาพึ่งพิงมัสยิดและบ้านที่หันหน้าเข้าหาแม่น้ำ แม้จะเป็นบ้านไม้เก่า แต่ยังเห็นความสวยสง่าจากรูปทรงสถาปัตยกรรม พื้นดินหน้าบ้านยังเป็นโคลน และมีต้นไม้ขึ้นรกเรื้อ

 

 

เดินถัดเข้าไปในหมู่บ้าน แต่ละหลังตั้งติดเรียงกัน ในบางจังหวะเราต้องเดินผ่าน ‘ห้องนั่งเล่น’ ที่ตั้งทีวีไว้กลางทางเดิน หลายหลังมีนกกรงหัวจุกแขวนอยู่หน้าบ้าน จนเมื่อเดินออกมาเกือบสุดเส้น เสียงไก่ร้องกระต๊ากก็ดังระงม

เจ้าของบ้านเล่าว่าที่ลานบ้านเป็นที่อยู่ของไก่ชนเกือบสิบตัว ตัวไหนตีไม่ค่อยเก่งก็ให้นอนนอกบ้าน ส่วนตัวไหนพันธุ์ดีมีเขี้ยวเล็บ คุณลุงก็จะให้เข้ามานอนในบ้าน ประคบประหงมวางฟูกและครอบกรงเอาไว้อย่างดี

“ไก่พม่า พันธุ์ดี ราคาขายอยู่ที่ 5,000 – 6,000 บาท เอามั้ย จะซื้อเหรอ” ลุงจิบชาไป พูดไป เมื่อฉันถามว่า ทำไมต้องให้ไก่นอนในบ้าน ตัวนี้พิเศษกว่าตัวอื่นอย่างไร

คุณลุงเลี้ยงไก่ไว้ตั้งแต่ยังเป็นไข่ บางตัวก็ซื้อพันธุ์ดีมาผสม เพื่อเอาไว้ขายต่อ แต่ถ้าตัวไหนทดลองตีแล้วไม่ไหว ก็อาจกลายเป็นมื้อเย็นในวันถัดมา

แม้ดูเหมือนชีวิตจะสุขสบายดี แต่คุณลุงอดีตสตั๊นท์แมน นักเลี้ยงไก่ชนคนนี้ บอกว่าถ้าเป็นไปได้อยากจะย้ายออกจากที่นี่ ไปอยู่บ้านที่วังน้อยกับลูกชาย ติดอยู่เรื่องเดียว เงิน และก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป

 

 

ที่ชุมชนบางอ้อคล้ายๆ บ้านปูนตรงที่ต้องเช่าที่ดินอยู่ แม้จะจ่ายในราคาต่ำมาก แต่บ้านก็ไม่เคยเป็นของพวกเขาอย่างแท้จริง ซึ่งหลายชุมชนในแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นแบบนี้ ผลจากการจับจองพื้นที่ของขุนนางและเศรษฐีเก่าตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ มาสู่การขยับขยายของผู้คนเข้ามาสู่เมือง

ทุกคนต่างรู้ดีว่าที่ดินริมน้ำเจ้าพระยามีค่าแค่ไหน แต่การเปลี่ยนแปลงของเมืองก็ทิ้งคนไว้ข้างหลังจำนวนมาก หลายชุมชนโดนน้ำท่วมครั้งแล้วครั้งเล่า ต้องทนกับน้ำคลองเน่าที่ส่งกลิ่นเหม็น และต้องพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อ้างสิทธิ์ได้ไม่เต็มร้อย

มาถึงวันนี้ เป็นที่แน่ชัดว่า แม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนไปมาก ส่วนเรื่องดีหรือไม่ดี สุดแท้แต่สายตาจะมองเห็น ที่แน่ๆ เจ้าพระยามีชีวิต เพราะผู้คนมีชีวิต

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save