fbpx

โชติชีวิตบรรลัยของแพทริก ชั่ยฯ : ชนชั้น วัฒนธรรม และคนเจนเอ็กซ์

ในบรรดานักเขียนไทยร่วมสมัยที่น่าสนใจแล้ว อุทิศ เหมะมูล เป็นหนึ่งในนักเขียนจำนวนไม่มากไม่น้อยที่จะต้องได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอ ผลงานของอุทิศนั้นเป็นสิ่งที่คอวรรณกรรมทั้งสายแข็ง สายไม่แข็ง สายหวานและไม่หวาน มักจะนำมาพูดถึงกันอยู่เสมอ กลวิธีทางวรรณกรรมที่แยบยลก็กลายเป็นหัวข้อการสนทนาในแวดวงวิชาการวรรณกรรมอยู่บ่อยครั้ง ผมเองมีส่วนที่ประทับใจและมักจะแซวกันอยู่ในหมู่มิตรสหายวงแคบๆ ก็คือผลงานของอุทิศนั้นมักจะวนเวียนอยู่กับปมของครอบครัว คือพ่อแม่นั่นเอง ‘เรา’ มักจะแซวผลงานของอุทิศกันว่าทะเลาะกับพ่อหรือทะเลาะกับแม่อีกแล้ว อุทิศได้ฟังก็ยิ้มหัวเราะน้อยๆ

ครั้งหนึ่งผมเคยมีโอกาสได้พูดเวทีเดียวกันกับอุทิศ ระหว่างพักครึ่ง เราลงไปดื่มกาแฟกัน ผมเริ่มต้นบทสนทนาอย่างลำลองว่า เวลาอ่านงานของคนนี้ก็จะมีแต่เรื่องแบบนี้นะ เดาได้เลยว่าจะเล่าถึงเรื่องอะไร แล้วก็ไพล่ไปพูดถึงนักเขียนคนอื่นๆ อุทิศเหมือนจะอดรนทนไม่ได้จึงอธิบายกับผมว่า นักเขียนแต่ละคนก็มีเรื่องที่ตัวองอยากเล่า มี ‘พื้นที่’ บางอย่างที่เป็นของตัวเอง บางทีมันเป็นปม มันเป็นจุดที่เขาอยากเล่าและเล่าซ้ำๆ กัน ผมก็ถึงบางอ้อว่า เออ เนอะ นักเขียนแต่ละคนก็มีวิธีการจัดการกับเรื่องของตัวเองและเรื่องที่ตัวเองอยากจะเล่าที่แตกต่างกัน ดังนั้นใครจะเล่าถึงเรื่องบางเรื่องซ้ำๆ มันก็ไม่น่าจะแปลกอะไร ตั้งแต่นั้นมุมมองที่ผมมีต่อ ‘เรื่อง’ ที่นักเขียนแต่ละคนอยากจะเล่าก็เปลี่ยนไป คือมันกว้างขึ้นน่ะครับ หลังจากคับแคบมานาน

อย่างไรก็ตาม ‘โชตชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ’ ก็ไม่ใช่นวนิยายที่ทะเลาะกับ ‘ที่บ้าน’ ของอุทิศแล้ว และมันก็มีความน่าสนใจสำหรับผมมาก ในฐานะคนอ่านที่ติดตามงานเขียนของอุทิศอยู่ในหลายวาระ…

แพทริก “ชั่ยฯ”

‘โชตชีวิตบรรลัยของ แพทริก ชั่ยฯ’ เล่าเรื่องของแพทริก แพทริก ชั่ยฯ หรือ ชั่ว หรือแพทริก หรืออาเพ็ก หรือพัฒนพงศ์ ชัยวัฒนาการกิจ ที่ทั้งโชติช่วงและบรรลัยของเขา ‘แพทริก’ คือลูกคนจีนอพยพรุ่นที่สองที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย พ่อและแม่ของเขาอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่หนี เหมา เจ๋อตุง มาพร้อมกับปู่ย่าตายาย พ่อของแพทริกเริ่มธุรกิจค้าขายขนมแป้งทอดกรอบแถวบางขุนเทียนและประสบความสำเร็จจนกลายเป็นบริษัทใหญ่โตขึ้นมาได้ ดังนั้น แพทริกจึงเติบโตมาท่ามกลางความร่ำรวยที่มาจากความสำเร็จของคนรุ่นพ่อนั่นเอง นอกจากความร่ำรวยแล้ว แพทริกยังมี ‘รูป’ เป็นสมบัติอีกด้วย ความหล่อเหลาของเขาคือที่มาของเสน่ห์อันยั่วยวนใจต่อเพศตรงข้ามอยู่ตลอดชีวิตของเขาและยังนำมาทั้งความ ‘โชติช่วง’ และ ‘บรรลัย’ ในชีวิตของเขาด้วยเช่นกัน

โลกทัศน์ทางวัฒนธรรมของแพทริกนั้น ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากครอบครัวที่แวดล้อมไปด้วยคนที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นพวกคนรวยนั่นแหละ ดังที่กล่าวไว้ด้านบนว่าชีวิตของแพทริกนั้นเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับความสำเร็จทางเศรษฐกิจของคนรุ่นพ่อ เขาเล่าเอาไว้ในตอนต้นของเรื่องว่า ชีวิตของเขานั้น ‘โต’ กว่าวัยของตนเอง อยู่ในแวดล้อมของคนใหญ่โต “ได้รับมอบเวลาในอนาคตมาใช้ก่อน เป็นกลุ่มคนที่ได้อยู่ใกล้และได้ใช้ความรู้ ความก้าวหน้า เทคโนโลยีและวัฒนธรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลง มีโอกาสก่อนคนอีกชนชั้น ในขณะที่คนอื่นๆ อยู่กับช่วงเวลาปัจจุบัน” (หน้า 30-31)

ในแง่หนึ่งเราจะเห็นได้ว่าความแตกต่างทางชนชั้นนั้นก่อให้เกิดการรับเอาโลกทัศน์ที่แตกต่างกันระหว่างชนชั้น คนที่อยู่ในชนชั้นสูงมีโอกาสที่จะได้สัมผัสและเรียนรู้ ‘โลก’ ในอนาคตหรือความเปลี่ยนแปลงของโลกก่อนชนชั้นอื่นอยู่เสมอ ชนชั้นสูงจึงก้าวนำชนชั้นที่ต่ำกว่าอยู่ตลอดเวลา แพทริกเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยมาแล้ว ได้รับการศึกษาในโรงเรียนที่เต็มไปด้วยคนรวย มีโอกาสได้ไปเรียนต่างประเทศ ชีวิตของแพทริกแทบจะไม่ต้องดิ้นรนอะไรทางเศรษฐกิจเลยเขาจึงมีโอกาสที่จะได้รับรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกมากกว่าคนในวัยเดียวแต่ต่างชนชั้นกัน

สิ่งที่น่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ ความพยายามในการเล่าเรื่องชีวิตของแพทริกไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมของโลกในยุคตั้งแต่ช่วง 70s จนถึง 90s ที่ถูกเล่าอยู่กว่าครึ่งเรื่องในนวนิยายเรื่องนี้ แต่ความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมโลกที่ส่งผลต่อโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมของแพทริกนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอังกฤษเกือบทั้งสิ้น เนื่องจากแพทริกได้ไปเรียนที่อังกฤษ และที่อังกฤษนี้เองเขาได้รู้จักกับชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่ง

เขาเป็นคนแนะนำให้ผมรู้จักกับวงนิวออร์เดอร์ วงเดเพเชโหมด วงเพ็ตช็อปบอยส์ กระทั่งเดวิด โบวี่ ในแง่นี้เขามาถึงอังกฤษก่อนผมเสียอีก (เขาบอกว่าเขาย้ายสถานศึกษามาจากแอล.เอ.) เป็นผู้จัดการดนตรีชีวิตร่วมยุคสมัย “หน้าบีไซด์” ให้ผมอย่างแท้จริง เขาไม่บอกตรงๆ ว่าโยนทิ้งไอ้หนุ่มผิวสีคิงออฟป๊อบไปเสีย โยนกากอเมริกันออกไปจากหูเสียบ้าง เพราะว่าเราอยู่ที่นี่ ในดินแดนแห่งตำนานการปฏิวัติวัฒนธรรมและนวัตกรรมทางดนตรี “ดิสอีสอิงแลนด์ ยูโน้ว” อีกเพียงไม่กี่ปีอัลเทอเนทีฟร็อกกำลังจะมา เพลงอินดี้ค่อยๆ ก่อเกิด พร้อมๆ กับแนวเพลงอิเล็กทรอนิก  (หน้า 70)

แพทริก ชั่ยฯ หรือ ชั่ว หรือแพทริก หรืออาเพ็ก หรือพัฒนพงศ์ ชัยวัฒนาการกิจ กำลังแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับเพื่อนคนสำคัญของเขา คือ ฮิเดยูกิ ชายชาวญี่ปุ่นผู้ “เงียบหงิม เบื้องแรกดูสุภาพแต่เบื้องหลังปากจัดช่างจิกช่างเสียดสี” ฮิเดยูกิมีอิทธิพลกับแพทริกมากในด้านการมอบโลกทัศน์ใหม่ๆ ทางวัฒนธรรมให้กับแพทริกตัวละครเอกของเรื่อง ทั้งคู่พบกันเมื่อครั้งที่แพทริกต้องไปเรียนที่อังกฤษและกลายเป็นเพื่อนสนิทกันในเวลาต่อมา ฮิเดยูกิเป็นตัวละครที่ผมสนใจมากๆ เนื่องจากเกือบทั้งเรื่องเราจะได้เห็นรสนิยมที่น่าสนใจในการเลือกฟังเพลงและดูหนังตลอดจนการเสพงานศิลปะ และความคิดความอ่านที่ล้ำยุคตลอดเวลาที่พวกเขาอยู่ที่อังกฤษ มุกตลกจิกกัดเสียดสีแบบหน้าตายตามสไตล์คนอังกฤษเป็นสิ่งที่ร่วงพรูออกมาจากปากของฮิเดยูกิอยู่เป็นประจำ เช่น ตอนที่แพทริกบอกกับฮิเดยูกิว่าเขาชอบ ‘จอร์จ ไมเคิล’ จากนั้น “เขายิ้มและพยักหน้า ดีมาก คล้ายจะบอกผมว่าอย่างนั้น แล้วเขาก็ฮัมเพลง ลาสต์คริสต์มาสของวงแวม![1]ออกมา ไม่แน่ใจว่ามันจงใจถากถางผมหรือไม่”​ (หน้า 71)

จะไปอังกฤษหรืออเมริกา: ผู้ดีเก่ากับกระฎุมพีใหม่

ผมยอมรับว่าในช่วงเวลาที่อ่านนวนิยายเล่มนี้ บ่อยครั้งต้องหยุดอ่านเพื่อไปฟังเพลงของวงต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในตัวเรื่อง ในแง่หนึ่งมันเป็นการเปิดประสบการณ์และเปิดโลกใหม่ๆ ให้กับการฟังเพลงของผม แต่ถ้าหากพิจารณาให้ดีว่าศูนย์กลางของความเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมโลกที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้คืออังกฤษแล้ว มันมีแง่มุมที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาระเบียบโลกอย่างใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา ในสังคมไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมาก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของอเมริกาอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรม

เมื่อพิจารณาว่าชีวิตของแพทริกนั้นเขาเกิดในปี 1971 คือในช่วงต้นของทศวรรษ 70 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยได้รับอิทธิพลจากอเมริกามากจนทำให้เกิดขบวนการต่อต้านอเมริกาในฐานะจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ซึ่งก็คือขบวนการนักศึกษาใน ‘ยุคตุลา’ นั่นเอง[2] อย่างไรก็ตามกระแสการต่อต้านอเมริกาก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนักเพราะในท้ายที่สุดความพ่ายแพ้ของอุดมการณ์แบบสังคมนิยมและชัยชนะของสหรัฐอเมริกาในสงครามเย็นก็ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลกไม้เว้นแม้แต่ในประเทศไทยเอง

การที่เขาไปเรียนที่อังกฤษนั้นมีคำอธิบายที่น่าสนใจอยู่ในตัวเรื่อง นั่นก็คือ การไปเรียนต่างประเทศของนักเรียนไทยนั้นมีประเด็นเรื่องชนชั้นอยู่ สำหรับเด็กที่ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาในช่วง 80s นั้น โดยมาก “คือไปเรียนด้วยหางานทำด้วย กลุ่มคนเหล่านี้เป็นลูกชนชั้นกลางใหม่ แสวงหาประสบการณ์และการผจญภัยต่างแดน ไปเป็นเด็กเสิร์ฟร้านอาหารไทย ไปเป็น โรบินฮู้ด พวกสายร็อกแอนด์โรล สายเสรีภาพ สันติภาพ และต่อต้านสงคราม” (หน้า 67) แต่พวกที่ไปเรียนอังกฤษนั้น “ดูจะเป็นพื้นที่ที่ให้ครอบครัวมีฐานะ พวกร่ำรวยมีกิจการ  พวกคนเชื้อเจ้าตระกูลขุนนางเก่าแก่ทั้งหลายนั้นที่จะสามารถมาเรียนอังกฤษได้ เพราะในตอนนั้นอังกฤษมีกฎหมายเข้มงวด ไม่ให้นักเรียนต่างด้าวทำงานไปด้วย…” (หน้า 67)

สิ่งที่ผมสนใจก็คือ ความแตกต่างของการไปเรียนอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของแกนอำนาจตะวันตกที่มีบทบาทต่อสังคมไทยโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ การเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่ของไทยนั้นมีสิ่งที่ควรพิจารณาก่อนคือเป็นการเข้าสู่ยุคสมัยโดยผ่านอิทธิพลของชนชั้นนำ/ชนชั้นปกครอง วิทยาการ ความรู้ และวัฒนธรรมแบบตะวันตกผ่านเข้ามาในสังคมไทยโดยผ่านชนชั้นปกครองทั้งสิ้น

ในช่วงต้นของยุคสมัยใหม่ของไทยนั้นคือสมัยรัชกาลที่ 5 อังกฤษเป็นชาติที่มีอิทธิพลและบทบาทต่อชนชั้นนำไทยมากที่สุดชาติหนึ่ง ในขณะนั้นลูกเจ้าขุนมูลนายทั้งหลายที่เป็น ‘นักเรียนนอก’ นั้นโดยมากได้ไปเรียนที่อังกฤษ  ในแง่หนึ่งผมอยากเสนอว่า อังกฤษนั้นเป็นเสมือนเสาหลักทางภูมิปัญญาสมัยใหม่ของชนชั้นนำไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชนชั้นนำไทยเปลี่ยนมือไปมาระหว่างชนกลางใหม่กับชนชั้นนำแบบจารีตต่อมาชนชั้นจารีตได้อำนาจกลับมาอีกครั้งด้วยอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาขณะนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับการศึกษาและการเลื่อนสถานะทางชนชั้นก่อให้เกิดชนชั้นกลางจำนวนมากขึ้น ชนชั้นกลางในช่วง ‘ต้นกึ่งพุทธกาล’ ในแง่หนึ่งจึงมีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลางของภูมิปัญญาในโลกสมัยใหม่เช่นกัน

ชนชั้น matters

เราอาจมองได้อีกเช่นกันว่า ครอบครัวของแพทริกในฐานะที่เป็นชนชั้นกลางลูกจีนอพยพที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจจนร่ำรวยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบชนชั้นในสังคมไทยที่เปิดโอกาสให้พ่อค้าชาวจีนเข้ามามีบทบาททางธุรกิจโดยที่ยังประโยชน์ให้กับชนชั้นปกครองได้ ดังนั้น ผมจึงมีข้อสังเกตอย่างลำลองว่า ครอบครัว ‘ชัยวัฒนาการกิจ’ ของแพทริกนั้นคือส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ ในสังคมไทย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นครอบครัว ‘กระฎุมพีแบบไทยๆ’ ที่ไม่ได้แยกตัวออกมาจากชนชั้นปกครองจารีตเหมือนกับกระฎุมพีในยุโรป

อย่างไรก็ตาม แม้วิถีชีวิตของแพทริกจะดูเหมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำไทย แต่โลกทัศน์ที่ถูกสั่งสมมาตั้งแต่วัยเยาว์ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง เช่นการอยู่ในประเทศอังกฤษในช่วงที่ศิลปะวัฒนธรรมสมัยใหม่กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและส่งอิทธิพลไปทั่วทุกมุมโลกนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้โลกทัศน์ของแพทริก ‘แตกต่าง’ ไปจากคนรุ่นเดียวกันในสังคมไทย เช่น หม่อมฤกษ์ แม้แพทริกและหม่อมฤกษ์จะมีส่วนที่ ‘แชร์’ ร่วมกันหลายเรื่อง (ดนตรี, การเที่ยวแบบสุดเหวี่ยง การใช้ยาและเรื่องเซ็กส์) แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ หม่อมฤกษ์นั้นแม้จะใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงมีรสนิยมที่ ‘ทันสมัย’ อย่างไรก็ตาม ในโลกทัศน์ทางสังคมการเมืองของหม่อมฤกษ์นั้นเขายินดีที่จะรักษาระเบียบแบบแผนต่างๆ เอาไว้เช่นเดิม นั่นเป็นเพราะมันอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เขายังคงมีอภิสิทธิ์เหนือชนชั้นที่ต่ำกว่า ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่แพทริกเล่าเกี่ยวกับหม่อมฤกษ์

เขา ‘จับตา’ ดูทักษิณเสมอมา เขาโทษว่าระบบระเบียบอะไรต่างๆ ที่เคยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาก่อนหน้านี้มันเปลี่ยนไป เขาได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายนี้ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะทำให้ผู้คนมาฉวยใช้ของแพงจากโรงพยาบาลโดยจ่ายเพียง 30 บาท “มันไม่ใช่เรื่อง” ทำให้ประเทศขาดทุนและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมอและพยาบาลเหนื่อยเปล่า “แม่งกินแรงหมอ” ให้ข้าราชการทำตัวนอบน้อมกับชาวบ้าน เปลี่ยนรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นบริการ เป็นธุรกิจการค้าไปหมดแม้แต่การบริหารประเทศ “ไอ้สัตว์ต้องกดรับบัตรคิวไปหมดทุกที่” แล้วยังเรื่องบัตรเครดิต บัตรเติมเงินที่ให้ชาวบ้านร้านช่องไม่รู้จักคำว่าพอดีนั่นอีก (หน้า 45-46)

ผมคิดว่าอาจเป็นไปได้ในแง่ที่ว่า การที่แพทริกมีโลกทัศน์ที่กว้างกว่าคนทั่วไปตั้งแต่เด็กเนื่องมาจากฐานะทางบ้านที่ร่ำรวยจึงมีโอกาสในการเข้าถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายกว่าคนในวัยเดียวกันและการมีโอกาสได้ไปเรียนประเทศอังกฤษในช่วงที่ศิลปะวัฒนธรรมของอังกฤษกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ดนตรี ศิลปะ รูปแบบใหม่ๆ ที่ท้าทายสังคมมากขึ้น ความเป็นขบถสังคมทางด้านศิลปะวัฒนธรรม ความเป็นดนตรีและศิลปะนอกกระแสที่แพทริกเคยได้ประสบพบเจอ  นี่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้โลกทัศน์ของแพทริกนั้นแตกต่างจากคนในวัยเดียวกันในสังคมไทย

ส่งท้าย: ว่าด้วยคนเจนเอ็กซ์

แพทริกวิจารณ์คนรุ่นเขาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่าคนรุ่นเขานั้นเป็นพวก

เจนหลบหนี หนีไปเรียนเมืองนอก หลงรักแนวคิดแบบปัจเจกบุคคล…ยึดหลักการทำตัวเองให้ดีก่อนแล้วค่อยคิดจะเปลี่ยนแปลงสังคม ปัจเจกชนผู้หลีกหนีไปทำตัวเองให้ดีก่อน เรียนรู้ที่จะพอใจในสิ่งที่มีเมื่อกลับมาอยู่ในสังคมหรือในประเทศที่ไม่น่าพอใจนัก ความเร่าร้อน วิญญาณขบถวัยหนุ่มสาวที่เคยมีเอาไปสุรุ่ยสุร่ายเททิ้งที่เมืองนอกหมดแล้ว กลับมาก็เป็นคนอยู่ในร่องในรอย เป็นผู้ใหญ่และคอยเหน็บแนมคอยด้อยค่าขบถหนุ่มสาวในเจนฯ ถัดๆ มา ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่เลือกเผชิญหน้าหรือตั้งคำถามเป็นอย่างแรก จนกว่าจะหนีต่อไม่ได้ สุดทางแล้ว จนกว่าจะจนมุมหลังพิงกำแพงแล้วนั่นแหละจึงจะหันมาเผชิญหน้ากับปัญหาหรือกล้าตั้งคำถามกับมัน (หน้า 234)

แพทริกเคยดูแคลนคนรุ่นใหม่ๆ ว่าไม่มีคุณภาพ ติดหน้าจอ หลงรูปตัวเอง ไม่สนใจปัญหาบ้านเมืองและสังคม แต่ความคิดของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่เขาทำงานกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น เขาค้นพบว่าเด็กรุ่นใหม่นั้นมีความฝัน มีพลัง มีความเป็นขบถอันแรงกล้า มีอุดมการณ์ ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าไม่ต่างอะไรกับคนรุ่นเขา แต่สิ่งที่แตกต่างกันอาจจะเป็นเรื่องของ ‘ความกล้าหาญ’​ ที่จะลุกขึ้นมาสู้ ท้าทายอย่างตรงไปตรงมากับอำนาจรัฐอันดิบเถื่อน ราวกับว่าพลังของคนรุ่นใหม่นั้นกระตุ้นเตือนให้แพทริกกลับรู้ไปสึกถึงความเป็นขบถในตัวเอง ความทะเยอทะยานและความฝันที่เขาไม่อาจทำได้อีกแล้ว ดังนั้นเขาจึงเป็นผู้ไม่ประสงค์ออกนามช่วยเหลือกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ในการต่อต้านรัฐทุกกิจกรรม

ในท้ายที่สุด ไม่ว่าแพทริกจะเป็นตัวละครที่ไม่ได้เป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพื่อความเป็นธรรม เพื่อความยุติธรรมในสังคม หรือเพื่อชีวิตอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เราได้เห็นพัฒนาการของโลกทัศน์ทางสังคม การเมือง ของคนอย่างแพทริกหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นพัฒนาการของคนเจนเอ็กซ์ที่ยังโหยหาความกระชุ่มกระชวยจากความเป็นขบถทางสังคม โดยที่ไม่ต้องกลับมาเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในร่องในรอยที่คอยกระแนะกระแหนการต่อสู้ทางสังคมการเมืองของคนรุ่นหลัง ทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีโอกาสที่จะทำแต่กลับขาดความกล้าหาญ พูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็อาจจะกล่าวได้ว่า ราดิกัลป์ (radical) มากๆ ในทางศิลปะ วัฒนธรรม และชีวิต แต่ขาจะสั่นมากๆ ถ้ามันเป็นเรื่องที่ต้องปะทะกันทางการเมือง

แพทริกไม่ใช่คนใจกล้าอะไรนักในทางสังคมการเมือง แต่เขาก็ยอมรับว่าโลกมันหมุนไปแล้ว มันไปจากมือของเขาแล้วแม้ว่ามันจะไม่เคยเป็นของเขาเลยก็ตาม และเขาก็ยินดีที่จะช่วยเหลือมันหมุนต่อไปอย่างมีความหวัง


[1] ต้องมีเครื่องหมายตกใจด้วยจึงจะถูกต้อง

[2] ต่อประเด็นนี้โปรดอ่านต่อในบทนำอันยอดเยี่ยมของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ใน “ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save