fbpx
วิชาชีวิตบ้านกาญจนา คืนเยาวชนผู้ก้าวพลาดสู่สังคม

วิชาชีวิตบ้านกาญจนา คืนเยาวชนผู้ก้าวพลาดสู่สังคม

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่องและภาพ

“ผมติดคุกคดียาเสพติดมาสองรอบแล้ว รอบแรกติดอยู่ที่บ้านต้นทาง (ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกฯ แห่งหนึ่ง) ประมาณเจ็ดเดือน ตอนอยู่ที่นั่นได้เรียนวิชามุมมืดจากรุ่นพี่เพิ่มเติม พอออกจากคุกไปไม่นานก็ไปก่อคดีเดิมอีกครั้ง และกลับเข้ามาใหม่เป็นรอบที่สอง แต่รอบนี้ผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับวิชาชีวิตบ้านกาญจนาฯ ได้ยินว่าที่นี่ให้โอกาสเรากลับตัวเป็นคนดี รุ่นพี่ที่นี่สอนให้คิดแต่ด้านสว่าง ตอนอยู่ที่โน่น แม่นอนร้องไห้ทุกวัน ผมไม่เคยมีรอยยิ้มเลย แต่มาที่นี่ผมยิ้มและแม่ยิ้มได้แล้ว ผมมั่นใจว่าเวลาอีกห้าหกปีที่นี่จะทำให้ผมเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น และกลับออกไปเป็นคนใหม่ไม่เป็นภาระของสังคม ไม่กระทำผิดซ้ำกลับมาอยู่ในมุมมืดอีก”

ข้างต้นเป็นบทสนทนาของโอ๊ต (นามสมมติ) เยาวชนผู้ก้าวพลาดที่เพิ่งย้ายจากบ้านต้นทางมาอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษกได้เพียงสองสัปดาห์

ที่นี่จัดเป็นสถานควบคุมเยาวชนหลังคำพิพากษา ที่มีกระบวนการบริหารแตกต่างจากสถานควบคุมอื่นแบบขั้วตรงข้าม หรือเป็น ‘บ้านในฝัน’ ของเยาวชนผู้ก้าวพลาดและอยากคืนกลับเป็นคนดีของสังคม

ที่นี่ได้รับการออกแบบอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมเหมือนบ้านหลังใหญ่ ไร้กำแพงสูง ไม้กระบอง และเครื่องแบบอันทรงอำนาจของเจ้าหน้าที่

ที่นี่ให้เสรีภาพในการแต่งกายกับเยาวชนผู้ก้าวพลาดได้เลือกตั้งแต่ทรงผม ต่างหู เสื้อยืด กางเกง สไตล์ที่ชอบ

ที่นี่ให้เสรีภาพในการสื่อสารกับครอบครัวทั้งทางโทรศัพท์ และเปิดโอกาสให้ครอบครัวมารับเยาวชนกลับเยี่ยมบ้านทุกสิ้นเดือน

และที่นี่มีหลักสูตร ‘วิชาชีวิต’ ที่ช่วยหล่อหลอมจิตใจให้พวกเขาคืนกลับเป็นคนดีของสังคม เปิดโอกาสให้พวกเขาได้กลับตัวกลับใจ เปลี่ยนจากคนปลายน้ำสู่คนต้นน้ำ ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘มนุษย์เปลี่ยนแปลงได้’

บ้านกาญจนา

ต่างหูกอบกู้ความเชื่อมั่น

“เราเชื่อว่า จุดเด่นของมนุษย์คือความแตกต่าง แล้วมนุษย์ต้องเข้าถึงความแตกต่างนั้นด้วยความรู้สึกที่ตนเองเป็นผู้เลือก ไม่ใช่คนอื่นเลือกให้ ความบาดเจ็บของเขาเป็นเรื่องของการไม่มีตัวตน ไร้คุณค่า ดังนั้นเมื่อเขามาถึงบ้านกาญจนาฯ  เราจะบอกเขาว่าเดี๋ยวหนูเข้าไปในห้องน้ำ ดูตัวเองในกระจก หนูลองดูสิว่า ต่างหูคู่ไหน ผมทรงไหน ที่กอบกู้ความเชื่อมั่นของหนูทั้งหมดกลับคืนมา  เด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน บางคนเข้มแข็ง อ่อนแอ เปราะบาง ต้นทุนเดิมของเขาไม่ได้เท่ากัน  เราต้องมีเครื่องมือทำงานให้เหมาะกับตัวตนของเขา”

ทิชา ณ นคร หรือ ‘ป้ามล’ ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก เล่าถึงก้าวย่างแรกเมื่อเยาวชนผู้ก้าวพลาดมาถึงบ้านหลังนี้ ประสบการณ์สิบห้าปีของหญิงแกร่งแห่งบ้านกาญจนาฯ สะท้อนผ่านแววตาอันมุ่งมั่น น้ำเสียงหนักแน่นฉะฉาน มองเห็นโอกาสที่ผ่านเข้ามาตรงหน้าแล้วไขว่คว้าไว้อย่างรวดเร็ว

ทุกนาทีของเยาวชนที่ก้าวย่างเข้ามาในบ้านแห่งนี้คือโอกาสที่ป้ามลไม่เคยปล่อยให้ผ่านเลยไป โดยเฉพาะ ‘First impression’ ของเด็กทุกคน

“เครื่องมือที่สำคัญอันหนึ่งคือ เราต้องทำให้เขารู้สึกอย่างรวดเร็วว่าเขามีคุณค่า ซึ่งมันเป็นนามธรรมมากๆ ดังนั้นเราต้องแปลงให้เป็นรูปธรรมตั้งแต่นาทีแรกๆ ที่เขาก้าวเท้าเข้ามาที่นี่  เริ่มจากเรื่องง่ายๆ เลย คือ เราไม่อบรมสั่งสอน ที่นี่เคยมีเด็กทำให้คนเสียชีวิตสูงสุดหกคน เพราะพลัดหลงเข้าไปอยู่ในซุ้มมือปืนรับจ้าง พอเขามายืนตรงหน้าเรา เราไม่อบรมสั่งสอนเขานะ แต่เรากอดเขา แล้วก็บอกให้เขารู้ว่า เราเชื่อว่า ถ้าปาฏิหาริย์มีจริง พาหนูกลับไปในค่ำคืนนั้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อห้าหกปีที่แล้ว เราเชื่อว่า หนูจะไม่ฆ่า แต่มันไม่มีปาฏิหาริย์ยังไงล่ะ ตอนนี้มีคนตายจริง มีผู้สูญเสียจริง มีคนที่ได้รับความเจ็บปวด เสียหายจากการกระทำนั้นจริง มีพ่อแม่ของหนูอับอายจริง มีพ่อแม่ของเหยื่อที่ทุกข์ทรมานจากการสูญเสียจริง และมีหนูที่ต้องถูกกักขังอิสรภาพจริง ทุกอย่างมันจริงไปหมดแล้ว แต่เราก็ยังเชื่อว่า ถ้ามีโอกาสอีกสักครั้งหนึ่งให้หนูได้กลับไปยืน ณ ที่จุดนั้น หนูจะไม่ทำ

“นี่เป็นความเชื่อที่เราทอดสะพานให้เขา สิ่งที่คนอื่นบอกว่า เขาเปลี่ยนไม่ได้ ตอนนี้เราไปสั่นคลอนความเชื่อเก่าๆ เดิมๆ ที่พัดพาเขาไปอยู่ในที่มืดมิด แล้วจากนั้นเราก็เริ่มผลิตซ้ำรูปธรรมของคุณค่าหลากหลายรูปแบบให้เขาซึมซับไปเรื่อยๆ จนเขาเชื่อว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคนดีได้เหมือนกัน”

สิ่งแรกที่บ้านหลังนี้เชื่อมั่น คือ มนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อมีหลายปัจจัยผลักดันให้เขากระทำความผิดก็จะต้องมีปัจจัยผลักดันให้เขากลับไปเป็นคนทำถูกได้เช่นกัน

หากเรามี ‘เครื่องมือที่ถูกต้อง’ เราก็สามารถทำให้คนๆ หนึ่งเปลี่ยนแปลงจากปีศาจหรือซาตาน เป็นมนุษย์ที่มีหัวใจงดงามอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น โจทย์ที่ท้าทายของบ้านกาญจนาฯ คือ การสร้างเครื่องมือที่ถูกต้องหลากหลายรูปแบบ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ

ในแต่ละปี บ้านกาญจนาฯ รับเด็กใหม่ 6 ครั้ง ครั้งละ 15 – 20 คน หรือเฉลี่ยมีเด็กอยู่ในความดูแลประมาณ 100 – 120 คนต่อเดือน จากประสบการณ์ของเยาวชนที่เคยต้องคดีอยู่ที่บ้านต้นทาง รุ่นพี่มักทำหน้าที่สอน ‘วิชามุมมืด’ ให้กับรุ่นน้อง แต่รุ่นพี่ที่นี่จะทำหน้าที่สอน ‘วิชามุมสว่าง’ ภายใต้ภารกิจ ‘จิตอาสาดูแลต้นไม้ย้ายกระถาง’ ผ่านกระบวนการจิตวิทยาที่แยบยลของป้ามล

“เด็กที่มาสมัครเป็นจิตอาสาเขาจะรู้ดีว่า ในวันที่เขาอ่อนแอ เขาต้องการอะไร ในวันที่เขาฟุ้งซ่าน คำอธิบายแบบไหนเหมาะสม ซึ่งเด็กเหล่านี้จะทำหน้าที่แทนเรา ทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่นว่า บ้านหลังนี้จะไม่ตอกย้ำเขา ไม่ตีตราเขา แต่บ้านหลังนี้จะพยายามหาแสงสว่างในตัวเขา ทั้งหมดนี้จะทำให้เขามีความหวัง แสงสว่างแห่งความหวังที่ไม่เคยมีจะค่อยๆ เจิดจ้าขึ้นจนเขามั่นใจว่าเขาเปลี่ยนแปลงได้”

หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่บ้านกาญจนาฯ นำมาใช้ควบคู่กันไป คือกระบวนการเยียวยาครอบครัว เพราะถึงที่สุดแล้วเด็กก็ต้องคืนกลับสู่ครอบครัว หากปัจจัยผลักดันที่ทำให้เด็กเข้าสู่การกระทำผิด คือความกระพร่องกระแพร่ง ความชำรุดเสียหายจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของครอบครัวก่อนเด็กพ้นโทษ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำให้เด็กไม่ย้อนกลับมากระทำผิดซ้ำหรือดิ่งลงเหวที่ลึกกว่าเดิม

“ถ้าหากเด็กอยู่ในบ้านต้นทาง พ่อแม่จะถูกแยกให้อยู่หลังกำแพงสูง ได้พบลูกภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด คำถามคือถ้าอีกสองสามปีเด็กพ้นโทษแล้วส่งลูกคืนกลับไป พ่อแม่จะอยู่ร่วมกับลูกได้ไหม เพราะฉะนั้นเด็กที่สมัครเข้ามาอยู่ที่นี่ เราจะต้องขอความเป็นหุ้นส่วนของพ่อแม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึงกระบวนการเพื่อเปลี่ยน Mindset หรือวิธีคิดของพ่อแม่ด้วย ถามว่าพ่อแม่จะไหวไหม คำตอบคือต่อให้เขาจนขนาดไหน ลำบากขนาดไหน เขาก็ไหว ถ้าเขาอยากได้ลูกที่เป็นคนดีคืนกลับสู่ครอบครัว”

ทิชา ณ นคร หรือ 'ป้ามล' ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก
ทิชา ณ นคร หรือ ‘ป้ามล’ ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก

ซาเล้งแห่งความรัก

ทุกๆ วันศุกร์สิ้นเดือน รถซาเล้งบุโรทั่งของชายสูงวัยจะขับฝ่าการจราจรหนาแน่น แดดร้อนจ้า จากแถวพระประแดงมายังจังหวัดนครปฐมเพื่อมารับลูกชายผู้เคยก้าวพลาดกลับบ้านด้วยกัน

ในอดีตชายสูงวัยคนนี้เคยติดคุกมานับครั้งไม่ถ้วน เมื่อลูกชายเติบโตขึ้นมาจึงก้าวเดินตามจนถูกกักขังเสรีภาพ แต่ในวันนี้ ผู้เป็นพ่อกลับตัวกลับใจใหม่ ทำงานบริสุทธิ์ด้วยการเก็บขยะขายเลี้ยงชีพ และขับรถซาเล้งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักมารับลูกชายจากรั้วบ้านกาญจนาฯ กลับบ้านพร้อมกัน

เยาวชนที่สะสมคะแนนความประพฤติดีจะได้รับโอกาสกลับไปอยู่กับครอบครัวเดือนละหนึ่งครั้ง ช่วงวันศุกร์ถึงเช้าวันจันทร์ โดยมีเงื่อนไขว่าครอบครัวจะต้องมารับและส่งลูกด้วยตนเอง และต้องร่วมกิจกรรมกลุ่มที่บ้านกาญจนาฯ ออกแบบทุกครั้ง กระบวนการนี้นับเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้เด็กอยากกลับตัวเป็นคนใหม่ที่ไม่เป็นภาระใคร

ดังเช่นเหตุผลของเอ (นามสมมติ)  “จุดประสงค์ของผมที่อยากมาที่นี่คือกลับบ้าน เพราะผมโทษเยอะ มาที่นี่เดือนแรกก็ได้กลับบ้านเลย ตอนผมอยู่ที่บ้านต้นทาง ต้องรอสามปีถึงจะได้กลับบ้าน”

ส่วนเหตุผลของบี (นามสมมติ) “ผมมาเพื่อตู้โทรศัพท์ เพราะที่นี่สามารถใช้โทรศัพท์ได้ทุกวันตามเวลาที่กำหนด  ตอนนี้ผมประพฤติตัวดีจนได้ย้ายไปอยู่บ้านชนะใจ สามารถพกโทรศัพท์มือถือของตนเองได้แล้ว ก่อนเข้ามาผมไม่ได้คิดว่าจะเปลี่ยนตัวเองได้อย่างนี้ เมื่อก่อนผมไม่เคยอยู่บ้านเลย เหมือนเราขาดความอบอุ่น เราไม่อยู่กับครอบครัวเลย หลังจากทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับครอบครัวที่นี่ วันนั้นเป็นวันแรกที่ผมได้ถ่ายรูปร่วมกับครอบครัว เดี๋ยวนี้พอผมกลับบ้านไป ผมจะไปซื้อกับข้าวให้พ่อกิน และไม่อยากออกจากบ้านไปไหน เมื่อก่อนผมไม่เคยทำแบบนี้เลย”

ตลอดเวลาสิบห้าปีของการเป็นผู้อำนวยการบ้านหลังนี้ ป้ามลพบว่าปัจจัยที่ผลักดันให้เด็กก่ออาชญากรรม เป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถจัดการกับด้านดีของตนเองให้แข็งแรงกว่าด้านร้าย การเสริมแรงความรักจากครอบครัวจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้ด้านดีแข็งแรงมากขึ้น และด้านร้ายอ่อนแอลงจนไม่สามารถมีอำนาจควบคุมให้เด็กกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกต่อไป

“หากเราย้อนไปดูประวัติการก่ออาชญากรรมของเด็กเหล่านี้ เราจะพบว่ามีปัจจัยผลักดันที่ทำให้เขาก่ออาชญากรรม เพราะไม่มีใครจู่ๆ เกิดมาพร้อมกับความตั้งใจก่ออาชญากรรม เขาไม่ได้มีความฝันอยากฆ่าคน ไม่มีเด็กคนไหนที่โตขึ้นอยากเป็นโจร อยากติดคุก แต่ถึงที่สุดเด็กเหล่านี้ก็ไปก่ออาชญากรรม มันสะท้อนให้เห็นว่า เด็กเหล่านี้มีปัจจัยแวดล้อมที่ไม่สามารถจัดการด้านดีของตนเองได้ ส่งผลให้ด้านร้ายถูกกระตุ้นจนแข็งแรง ที่นี่จึงต้องทำงานกับพ่อแม่เชิงลึกเพื่อเปลี่ยน mindset และเปิดโอกาสให้ครอบครัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยา โดยวิธีการคือเปิดโอกาสให้พ่อแม่รับลูกกลับบ้าน

“การให้กลับบ้านอย่างสม่ำเสมอในทุกเดือน มันเป็นการทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของเสรีภาพ ความหอมหวานของการอยู่ร่วมกันกับครอบครัว ซึ่งความรู้สึกแบบนี้มันมีความหมายและเป็นข้อท้าทายที่มากกว่าการให้ท่องคำว่าอดทน   เมื่อเขาได้กลับไปอยู่บ้านเขาจะได้รู้ว่าโลกข้างนอกมันเปลี่ยนไปน่าดูเลย ขณะที่เขาอยู่กับเรา เราก็ทำงานทางความคิดกับเขาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อเป็นต้นทุนในการปรับตัว แล้วเราก็ทำงานกับพ่อแม่ด้วยว่า ต้องตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของลูกอย่างไร ทุกปัจจัยเป็นลมใต้ปีกของกันและกัน การที่บอกว่าพ่อแม่ต้องมีส่วนร่วม ไม่ได้เกิดขึ้นบนฐานที่ว่างเปล่า พ่อแม่มีความรู้สึกเช่นนี้อยู่แล้ว จะให้เขาทำอะไรที่เขาจะได้ลูกกลับคืนไปโดยที่ไม่สร้างปัญหาอีก เชื่อว่าพ่อแม่มีสิ่งนี้อยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์”

บ้านกาญจนา

จากคนปลายน้ำสู่คนต้นน้ำ

เครื่องมือสำคัญที่ทำให้บ้านกาญจนาฯ แตกต่างจากสถานพินิจฯ อื่นๆ ในประเทศไทย คือ หลักสูตรวิชาชีวิตที่ได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถออกไปเผชิญโลกภายนอกด้วยความแข็งแกร่งมากขึ้น

โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มสาระ 8 วิชา เหมือนหลักสูตรโรงเรียนทั่วไป เพียงแต่เนื้อหาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาทิ วิชาผู้รอดบนความขาดพร่อง,  วิชาความรุนแรงและอาชญากรรม,  วิชากระตุ้นความเป็นมนุษย์ สำนึกดี ใฝ่ดี , วิชาการหลบหนีและผลลัพธ์ที่ตามมา หรือวิชาชมภาพยนตร์ เป็นต้น โดยทุกๆ กิจกรรมจะมีครูพี่เลี้ยงเพื่อชวนคุยตามกลุ่มย่อย

ครูบุ๋ม หรือ ชนาภา ศุภชาติ ครูนักสังคมสงเคราะห์น้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานที่บ้านหลังนี้ได้หนึ่งปี เล่าถึงกระบวนการจิตวิทยาที่นำมาใช้ผ่านหลักสูตรวิชาชีวิตและบทบาทสำคัญของครูพี่เลี้ยงว่า

“ป้ามลจะทำให้ทุกคนรู้สึกว่าความคิดเห็นของตนเองมีค่า ไม่มีใครถูกหรือผิด เด็กทุกคนจึงเกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เขาเขียนคำตอบออกมา บางข้อความที่สื่อสารได้ชัดเจน ป้าก็จะเอาความคิดของเขามาทำกิจกรรม ‘หนึ่งความคิด’ เพื่อให้เขาถูกพูดถึง ทำให้เขารู้สึกว่ามีตัวตน

“เวลาที่เขามาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ จะไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ถ้าใครเขียนได้เท่าไหนก็เอาเท่านั้น เราก็ค่อยๆ บ่มไป แล้วความคิดของเขาก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เรามั่นใจว่า วิชาชีวิตจะช่วยให้เขาไม่อยากกระทำความผิดซ้ำ เพราะมันจะมีหลักคิดบางอย่างที่ติดตัวเขาไป เช่น ทุกการตัดสินใจผูกพันกับชีวิต ความคิดเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยน เขาจะมีต่อม ‘เอ๊ะ’ ขึ้นมาว่า ถ้าทำแบบนี้จะเกิดสิ่งนี้ขึ้น ถ้าเขามีต้นทุนความคิดที่สะสมทุกวัน การกระทำผิดก็น้อยลง ถ้าเขาเลือกที่จะแคร์ครอบครัว แคร์สังคมมากขึ้น เขาก็เลือกที่จะไม่ทำร้ายใคร”

ในฐานะครูประจำบ้าน หน้าที่สำคัญคือการเสริมแรง ให้กำลังใจ โดยเฉพาะเด็กใหม่ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ที่นี่ จะประสบปัญหาเรื่องการเขียนเพื่อถ่ายทอดความคิดเห็นของตนเอง เพราะเด็กส่วนใหญ่เคยเป็นเด็กหลังห้องมาก่อน ดังเช่นเด็กหนุ่มชื่อเอ (นามสมมติ) บอกกับเราว่า

“ตอนอยู่บ้านต้นทาง เราไม่ได้เขียนหนังสือมาเกือบปี ตอนแรกไม่ค่อยเข้าใจโจทย์ เพราะภาษาเข้าใจยาก หลังๆ เริ่มจับสาระได้เอง มันซึมซับเข้ามาทุกวัน พอความคิดชุดเก่าออกไป ความคิดชุดใหม่ก็เข้ามา เหมือนจะมีคลังภาษาอยู่ในหัว รอแค่วันที่จะเอาออกมาใช้เฉยๆ อยู่ที่นี่ใช้ความคิดตั้งแต่เช้ายันเย็นเลย หนักกว่าอยู่ที่โรงเรียนอีก แรกๆ เราตอบเหมือนกำปั้นทุบดิน หลังๆ เริ่มมีคำเยอะขึ้น”

ครูบุ๋มเล่าถึงวิธีเสริมกำลังใจให้เด็กใหม่ผ่านพ้นช่วงปรับตัวไปให้ได้ว่า

“ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เด็กส่วนใหญ่จะค่อยๆ เติบโต มาแรกๆ อาจไม่ได้แสดงความคิดเห็น แต่พอเรากระตุ้น เขาจะเริ่มแสดงความเห็นมากขึ้น เราก็จะเขียนสมุดก่อนนอนว่าเราขอบคุณที่เขาร่วมแลกเปลี่ยน เขาก็จะอยากแลกเปลี่ยนมากขึ้น ตอนนี้เขาสะสมคลังคำมากขึ้น ถ้าเขาเจอคำศัพท์ยากๆ เขาก็จะค่อยๆ เก็บไป เด็กบางคนมาใหม่ๆ ร้องไห้เลย เขารู้สึกว่าความคิดไม่ทันเพื่อน เพราะคนที่มาอยู่นานแล้วจะตอบฉะฉาน เขาจะรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้แน่เลย แต่เราก็ค่อยเสริมแรงเขา ให้เพื่อนช่วยเพื่อน แต่ถ้าเขาไม่ไหวก็มาหาครู”

ก่อนหน้านี้ครูบุ๋มเป็นเหมือนคนทั่วไปที่เคยมองภาพเยาวชนผู้ก้าวพลาดเป็นกลุ่มคนอันตราย และหวาดกลัวในช่วงแรกที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ ทว่าในวันนี้ความหวาดกลัวได้แปรเปลี่ยนเป็นความสุขใจที่ได้มองเห็น ‘ความเป็นเด็ก’ ซุกซ่อนอยู่ในหัวใจของเยาวชนผู้ก้าวพลาดเฉกเช่นเด็กทั่วไป

หากสังคมให้โอกาส พวกเขาก็จะกลายเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่อยากเป็นคนดีของสังคม ไม่แตกต่างกับเด็กทุกคนบนโลกใบนี้

“ยอมรับว่าเคยกลัวนะ แต่พอเข้ามาแล้ว เรามาถอดบทเรียนว่าทำไมเขาถึงกระทำผิด เราก็เข้าใจแล้วหายกลัว เราได้รู้ว่า เด็กหนึ่งคนไม่ได้เกิดมาแล้วอยากกระทำผิด แต่เขาต้องผ่านความทุกข์โศกมามากแค่ไหน เราก็เปลี่ยนความคิดเหมือนกันว่า จะมองเด็กแบบไหน มองที่พฤติกรรมสุดท้ายว่าเขาเป็นอาชญากร หรือมองความยากลำบากที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขา

“ถึงตอนนี้ที่เขาพยายามจะเปลี่ยนตัวเอง ครูเชื่อมั่นเต็มร้อยเลย ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี ไม่มีใครอยากเป็นที่เกลียดชัง ปัจจัยที่ผลักดันให้เขากระทำผิดมันซับซ้อนมาก ทั้งสังคมและครอบครัว แต่สิ่งที่เขาทำไปแล้ว เขาต้องรับผิดชอบ การมาอยู่ตรงนี้คือการแสดงความรับผิดชอบต่อเหยื่อ เราภูมิใจที่สามารถคืนเขากลับสู่สังคมด้วยการเปลี่ยนแปลงเด็ก วันหนึ่งเขาต้องเป็นต้นน้ำของสังคม เขาต้องเป็นพ่อของเด็กอีกคนหนึ่ง ถ้าเขาเป็นคนต้นน้ำที่ดี ปลายน้ำก็จะดีขึ้น การคืนเขาสู่สังคมเป็นสิ่งที่สุดยอดที่สุดแล้ว”

บ้านกาญจนา

 

วิชาชีพสร้างงาน วิชาชีวิตสร้างคน

ตามปกติ ภายในคุกทั่วไปผู้ต้องขังจะได้เรียนทักษะวิชาชีพต่างๆ แต่ที่บ้านกาญจนาฯ ไม่ได้เน้นการเรียนวิชาชีพ เพราะเชื่อว่าปัจจัยผลักดันของการกระทำความผิดไม่ได้มาจากการไม่มีอาชีพ แต่เพราะไม่มีทักษะรับมือกับปัญหาชีวิตมากกว่า ป้ามลกล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนก่ออาชญากรรมว่า

“ถ้าเราลองไปดูคนที่ติดคุก คนเหล่านั้นไม่ใช่พวกคนไร้บ้าน แต่เป็นคนที่มีอาชีพอยู่แล้ว ทั้งตำรวจ ทนายความ หมอ พยาบาล เขาติดคุกเพราะเขารับมือกับปัญหาที่อยู่รอบตัวไม่ได้ จึงไม่มีเหตุผลที่เราจะเอาเด็กมาฝึกอาชีพ เพราะคุกไม่ได้บอกว่ามนุษย์ไม่มีอาชีพแล้วไปก่ออาชญากรรม แต่มันเป็นเพราะมนุษย์ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง ไม่สามารถรักษาด้านดีของตนเองได้

“บ้านกาญจนาภิเษกจึงมุ่งให้ความหมายกับสิ่งรอบตัว ที่นี่ฝึกอาชีพอาทิตย์ละวันเท่านั้น เราพบว่าเด็กที่ออกจากบ้านกาญจนาฯ ไป ไม่มีใครทำอาชีพที่เคยฝึกจากบ้านกาญจนาฯ เลยสักคนเดียว ข้อสงสัยของผู้เสียภาษีอย่างเราก็คือ การที่คุกใช้งบมากมายมหาศาลเพื่อฝึกอาชีพนักโทษแต่คนที่ออกจากคุกส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพที่ฝึกมาจากในคุก นอกจากการยอมรับของสังคมแล้วมันสะท้อนอะไรอีก?”

ความเชื่อของบ้านกาญจนาฯ เริ่มจากการทำให้เด็กมองเห็นคุณค่าของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจึงมองเห็นคุณค่าของผู้คนรอบตัว เมื่อเขามองเห็นคุณค่าของทั้งสองสิ่งอย่างชัดเจน เขาจะเกิดความยับยั้งชั่งใจก่อนลงมือกระทำผิด สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้สถิติการกระทำผิดซ้ำของเด็กที่ออกจากบ้านกาญจนาในรอบสิบห้าปี มีไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กอีกเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ออกไปแสวงหาประกอบอาชีพบนเส้นทางที่ตนเองใฝ่ฝัน บางคนออกไปเป็นคนขายหนังสือวิชาการตามงานอีเว้นท์เพราะชอบอ่านหนังสือ บางคนออกไปทำงานบริษัทจนเติบโตได้ตำแหน่งสูงขึ้น บางคนออกไปเป็นเจ้านายตัวเองด้วยการประกอบกิจการเล็กๆ

เด็กเหล่านี้เลือกเดินบนเส้นทางที่สว่างขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่คิดย้อนกลับมาเดินบนเส้นทางสู่หุบเหวลึกอันมืดมิดอีกต่อไป เพราะทุกคนได้รับทักษะวิชาชีวิตอันเข้มแข็งจากบ้านหลังนี้ติดตัวไป

“บ้านกาญจนาฯ ไม่มีประตู กำแพง รั้ว แต่เด็กส่วนใหญ่หรือ 99 เปอร์เซ็นต์ไม่หลบหนี เกิดจากปัจจัยร่วมหลายอย่างเช่น เวลาทำกิจกรรมกลุ่มก่อนกลับบ้านทุกเดือน พ่อแม่และเด็กต้องคำนวณค่าความเสี่ยงของบ้านกาญจนาฯ และของป้าไปพร้อมๆ กัน ป้าจะต้องให้เขารู้วิธีลดค่าความเสี่ยงว่าหมายถึงอะไร ในมุมมองของเด็ก เขาตอบว่าค่าความเสี่ยงของป้าอยู่ที่ผม ในมุมของพ่อแม่ ค่าความเสี่ยงของป้าอยู่ที่ลูกหนูเอง ลูกผมเอง ถ้าเราจะลดค่าความเสี่ยงกัน ต้องให้ป้าทำอะไร เด็กก็จะบอกว่า ป้าไม่ต้องทำอะไร เหลือแต่ผมครับ ส่วนพ่อกับแม่ก็จะบอกว่าเหลือแต่ลูกของเรา และพวกเรา นี่คือเหตุผลที่เด็กส่วนใหญ่ไม่หลบหนี เด็กจะหนีต่อเมื่อเขามีปัจจัยอื่นเสริมเช่น อกหัก รักคุด แฟนเลี้ยว หรือลุ่มหลง หรือมีเรื่องทะเลาะกับพ่อแม่ แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะตัดสินใจแบบเดียวกันหมด”

บี (นามสมมติ) นับเป็นหนึ่งในเยาวชนที่มีความเปลี่ยนแปลงตนเองดีขึ้นจนเข้าเกณฑ์การขอย้ายเข้าไปอยู่ใน ‘บ้านชนะใจ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของบ้านกาญจนาฯ ที่ต้องการสร้างแรงจูงใจให้เด็กควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ดีขึ้น

“การเรียนวิชาชีวิตทำให้เรามองเห็นตัวเองมากขึ้น ก่อนหน้านี้ เราไม่เคยนึกถึงคนข้างหลังว่าเขาคิดยังไง เขาเดือดร้อนไหม หลังจากเรียนวิชาชีวิต เราจะมองเห็นเลยว่า ถ้าเราทำไป ผลลัพธ์จะออกมายังไง มันทำให้เราคิดมากขึ้นและคิดรอบคอบด้วย เราได้เครื่องมือในการใช้ชีวิต ถ้ามีวิชาชีวิตสอนอยู่ในโรงเรียนตั้งแต่แรก ผมคงไม่ต้องมาติดคุกเหมือนวันนี้”

เอ (นามสมมติ) เป็นเยาวชนอีกคนหนึ่งที่เคยผ่านการติดคุกที่บ้านต้นทางมาหลายครั้ง เขาบอกเล่าถึงความแตกต่างของวิชาชีพที่เคยฝึกในบ้านต้นทางกับวิชาชีวิตที่บ้านกาญจนาฯ ว่า

“ตอนอยู่บ้านต้นทาง เวลาเรียนวิชาชีพ ครูมักจะเขียนบนกระดานแล้วให้เด็กทำเอง หลังจากนั้นครูก็หลบเข้าไปในห้องพัก พวกเราก็นอนหลับรอหมดเวลา แต่วิชาชีวิตที่นี่ต้องใช้สมองขบคิดแล้วเขียนออกมา ตอนมาใหม่ๆ ผมรู้สึกว่ายาก เพราะตอนอยู่บ้านต้นทางไม่ได้เขียนหนังสือมาเกือบปี แต่อยู่ที่นี่ต้องเขียนเยอะมาก ใช้ความคิดตั้งแต่เช้ายันเย็นเลย หนักกว่าอยู่ที่โรงเรียนอีก

“สิ่งที่เราเรียนรู้คือ การออกไปเป็นผู้รอด โดยฝึกการสมมติตนเองเข้าไปในสถานการณ์จำลองเหล่านี้ ถ้าเป็นเราจะทำยังไง เหมือนฝึกให้เราคิดเป็นโดยอัตโนมัติ ผมเคยเป็นเด็กตั้งใจเรียนคนหนึ่ง แต่ขาดวิชาชีวิต คิดเองไม่เป็น ได้แต่ทำตามเพื่อน การเรียนวิชาชีวิตทำให้ผมตัดสินใจด้วยตนเองว่าอะไรถูกหรือผิด คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา ทำให้เราไม่อยากออกไปกระทำผิดซ้ำอีก”

อาจกล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลาสิบห้าปีที่ผ่านมา บ้านกาญจนาฯ เปรียบเสมือนไม้ขีดไฟก้านเล็กที่ช่วยจุดประกายความหวัง เปลี่ยนเยาวชนผู้ก้าวพลาดจากปลายน้ำคืนกลับเป็นคนต้นน้ำของสังคม แม้ว่าจำนวนเด็กที่จบไปจากบ้านหลังนี้จะมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับคนที่ยังล้นคุกในสังคมไทย แต่ถ้าหากเราเชื่อมั่นในพลังของความดีที่ส่งต่อถึงกันได้ พลังเล็กๆ เหล่านี้ก็จะกลายเป็นต้นน้ำแห่งความดีที่ไหลผ่านไปสู่ผู้คนอีกมากมายในสังคมไทย

ใครเลยจะรู้ว่า วันหนึ่งข้างหน้าบรรดาเยาวชนผู้เคยก้าวพลาดและกลับตัวเป็นคนดีเหล่านี้ อาจกลายเป็นผู้นำ นักธุรกิจ นักวิชาการ และคนที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ ขอเพียงเราเชื่อมั่นในพลังแห่งความดีและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้คืนกลับสู่สังคมอีกครั้งก็พอ

บ้านกาญจนา กิจกรรม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save