fbpx

Life is Suffering การมีชีวิตมันยากเสียจริง (โว้ย!)

นานมากแล้ว เมื่อช่วงสิ้นปีของสักปีหนึ่งที่มนุษยชาติยังร่วมเฉลิมฉลองการผลัดเปลี่ยนของวันเวลาด้วยกันได้โดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ไม่ต้องเว้นระยะห่าง กอดคอร่วมดื่มน้ำเมาจนเขาจุดพลุเปลี่ยนผ่านศักราชกันก็ไม่รู้เรื่องเพราะมัวแต่ไปโก่งคออ้วกอยู่ในห้องน้ำ 

นั่งกอดขวดเบียร์ด้วยกัน มองตัวเลขปีเปลี่ยนผ่าน เสียงรอบข้างยังอื้ออึงด้วยผู้คนกับดนตรี ใครสักคนโยนคำถามตามประสาคนเพ้อฤทธิ์เหล้า

“ชาติหน้าเกิดเป็นอะไรกันดีวะ”

นิ่งเงียบเป็นคำตอบอยู่อึดใจ แล้วมีเสียงใครสักคนคำรามกลับมา “เกิดห่าอะไรหลายชาติ แค่ชีวิตนี้ก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ไอ้ฉิบหาย!”

เป็นความทรงจำเก่าแก่ที่ก็จำไม่ได้แล้วว่าเกิดขึ้นเมื่อขวบปีอะไร สถานที่ไหน (แต่ถ้าเข้าใจไม่ผิด น่าจะแถวๆ ถนนข้าวสาร) แต่ยังจำมุกตลกเสียดเย้ยชีวิตของใครสักคนในคืนวันนั้นได้แม่นยำ อันที่จริง มันเป็นประโยคที่ผู้เขียนหวนกลับมาคิดถึงบ่อยๆ ทั้งในเชิงขำขันและจริงจังกับมัน เพราะเอาเข้าจริง ไอเดียการต้องหวนกลับมามีชีวิตอีกรอบนี่ฟังกี่ครั้งก็ดูไม่ใช่เรื่องน่าพิศมัย ซึ่งตลกร้ายกว่านั้น (และอาจจะดัดจริตด้วย) คือทั้งผู้เขียนและคนพูดก็เป็นชนชั้นกลาง (อาจจะค่อนลงไปทางล่างๆ อยู่บ้าง) พนักงานออฟฟิศที่ยังมีเงินไปจับจ่ายหาความรุ่มรวย สุรุ่ยสุร่ายให้ชีวิตแม้จะนานๆ ครั้ง ก็ออกปากบ่นเหนื่อยรำคาญความชอกช้ำของการต้องมีชีวิตอยู่ 

ไม่รู้เหตุการณ์กับความรู้สึกนี้เริ่มต้นขึ้นในปีไหน แต่มั่นใจว่าหลังเกิดรัฐประหาร 2557 ความแล้งไร้ในชีวิตงอกเงยคู่ขนานกับจำนวนขวบปีของคณะฉีกรัฐธรรมนูญ อะไรที่มันดูจะรุ่งโรจน์ มีอนาคต ก็กลายเป็นตายด้านอยู่ตรงไหนสักแห่งของช่วงเวลา โดยเฉพาะในแวดวงศิลปะหลายแขนง ที่ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งเห็นความถดถอยของวงการที่ถูกอำนาจปืนบดขยี้จนความคิดสร้างสรรค์ของคนทำงานมอดไหม้ไม่เหลือรูปร่าง ทำงานสร้างสรรค์ออกมาแทบไม่ได้

และยิ่งโหมทวีเมื่อโลกทั้งใบเผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษอย่างโควิด-19 บรรยากาศของการ ‘ขอเกิดหนเดียวพอจ้า’ แทบจะเป็นเสมือนบรรยากาศร่วมของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก บวกกันกับการระเบิดตัวของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ได้เห็นมีม (meme) หรือภาพล้อต่างๆ เช่น “ทำไมการมีชีวิตอยู่แม่งแพงชิบเป๋งเลยวะ แล้วไม่เห็นจะได้มีเวลาดีๆ จากมันเลย”, “กูเกิดมาแบบไม่มีใครถามความเห็นชอบซักกะคำแถมยังถูกคาดหวังให้ต้องใช้ชีวิตได้ดีอีกด้วยนะ”, “ชีวิตเรามีสามขั้นตอน 1. เกิด 2. เหี้ย’ไรเนี่ย 3. ตาย” และ “บอกตรงๆ กูดีใจมากที่มนุษย์เราเกิดมาแค่ครั้งเดียว เพราะถ้ามีรอบต่อไปกูคงไม่ไหวแล้วพวก” ฯลฯ

ภาพจาก starecat.com

หากแบ่งช่วงเวลากันคร่าวๆ คนในรุ่นหลังๆ โดยเฉพาะคนที่เกิดและโตในช่วงปลายยุค 1980s มีแนวโน้มจะเผชิญกับความรู้สึก ‘ไม่มั่นคง’ ของชีวิตมากกว่าคนรุ่นพ่อแม่ ไม่ว่าจะการผ่านเหตุการณ์ 9/11 ที่พลิกโฉมการเมืองสหรัฐฯ และการเมืองโลกหลังจากนั้นโดยสิ้นเชิง, วิกฤตสินเชื่อซับไพร์มที่ทำให้พวกเขาซื้อบ้านและมีสินทรัพย์ของตัวเองได้ยากขึ้น, โลกอินเทอร์เน็ตที่เติบโตอย่างรวดเร็วและทรงพลังจนพลิกการรับรู้สื่อและข่าวในฉับพลัน ฯลฯ เว็บไซต์ Aperion Care ชี้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังผลให้คนเหล่านี้เติบโตมาโดยรู้สึกว่าโลกนั้นไม่มีอะไรเที่ยงแท้มั่นคงอย่างที่พวกพ่อแม่เชื่อและบอก มิหนำซ้ำ พวกเขายังควานหางานประจำที่ ‘มั่นคง’ ได้ยากกว่าคนรุ่นพ่อแม่เป็นเท่าตัวเพราะโลกเคลื่อนหน้าเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ แทบจะเป็นรายปี อุตสาหกรรมหนึ่งอาจได้รับความนิยมในปีนี้เพื่อจะพบว่าในปีหน้ามันก็กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมหรือไร้ความหมายไปในที่สุด เทียบกันกับคนรุ่นก่อนๆ ที่แม้ความเปลี่ยนแปลงจะมาเยือนก็จริงอยู่ แต่ก็ด้วยระยะเวลาและจังหวะที่ช้ากว่ามาก จนด้านหนึ่ง ความรู้สึกของการดิ้นรนต่อสู้เพื่อจะปรับตัวให้ทันโลกเสมอนี้ สร้างความรู้สึกเหนื่อยหน่ายแก่คนรุ่นใหม่ๆ เสียจนพวกเขาไม่คิดอีกต่อไปแล้วว่าชีวิตเป็นสิ่งที่น่าพิศมัยขนาดนั้น การจินตนาการว่าตัวเองต้องถูลู่ถูกังมีชีวิตไปจนถึงวัยชราในสภาพที่ต้องดิ้นรนไปเรื่อยๆ นั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นนัก

ขณะที่หันมามองคนรุ่นถัดมาอย่างเจเนอเรชัน z คือคนที่โตมาในยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์กเบ่งบานเต็มรูปแบบ หากว่าคนรุ่นก่อนหน้าค้นหาความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตในคอมพิวเตอร์ พวกเขาก็แค่พิมพ์สิ่งที่สงสัยลงบนสมาร์ตโฟนแล้วรอคำตอบให้ปรากฏแค่ชั่วอึดใจ จึงพอจะกล่าวได้ว่าพวกเขาเผชิญกับอัตราเร่งแห่งความเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเป็นเท่าตัวจากคนรุ่นก่อน มิหนำซ้ำ นี่คือกลุ่มคนที่จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่รุนแรงที่สุดโดยที่พวกเขาแทบไม่มีส่วนในการรู้เห็นหรือก่อร่างมันขึ้นมา นิตยสาร science ประมาณการคร่าวๆ ว่าเทียบกันกับคนที่เกิดมาแล้ว 60 ปี คนรุ่นนี้และหลังจากนี้เสี่ยงจะต้องเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อนมากกว่าที่เคยเป็นเจ็ดเท่า, ไฟป่ามากกว่าเดิมสองเท่า, ภัยแล้งหนักหนาขึ้นสามเท่ารวมทั้งปัญหาน้ำท่วมและปัญหาขาดแคลนสารอาหาร

“นั่นแปลว่าตอนนี้คนที่อายุต่ำกว่า 40 ลงไปจะต้องใช้ชีวิตในรูปแบบที่ไม่มีใครเคยได้ใช้มาก่อน แม้กระทั่งในกรณีที่สภาพอากาศอาจดีขึ้นกว่าที่เราประเมินไว้ก็ตาม” วิม เธียรี นักวิจัยจากอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนชี้ “เราพยายามเน้นย้ำเรื่องภัยคุกคามซึ่งส่งผลรุนแรงอย่างมากต่อชีวิตของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงต้องเรียกร้องให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมหาศาลเพื่อปกป้องอนาคตของพวกเขาเหล่านี้”

ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจจะเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมเราจึงเห็นมุกตลกเกี่ยวกับความสิ้นหวังของชีวิตอยู่เนืองๆ เรายิ้มและหัวเราะแห้งๆ ให้กับมุก ‘การดำรงอยู่คือความเจ็บปวด’ (existence is suffering) เพราะมันแสนจะจริง เราถูกบอกให้เชื่อมาตั้งแต่เด็กว่าชีวิตคือความรื่นรมย์ คือการวิ่งโลดโผนไปในทุ่งดอกไม้ อาจจะต้องเผชิญอุปสรรคบ้างแต่จะต้องพบเจอปลายทางที่งามงดเป็นแน่ แต่เอาเข้าจริง เทียบเคียงกันตรงๆ แล้วเราอาจวิ่งเท้าเปล่าอยู่บนหนามมาเกือบทั้งชีวิตโดยแทบไม่เห็นปลายทางหรือความหวังในการจะมีความสุขเลยเสียด้วยซ้ำ

ใช่แล้ว พวกเรารู้สึกสุดล้ากับการประคับประคองชีวิตเหลือเกิน แน่แท้ว่าคนรุ่นพ่อแม่ก็คงจะเหนื่อยเมื่อพวกเขายังหนุ่มสาว แต่ภาวะที่ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงเป็นรายปีหรือแม้กระทั่งรายเดือนนั้นก็ส่งผลต่อคนรุ่นเราหรือหลังจากนี้ไม่มากก็น้อย ชีวิตอาจจะยังเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ รอให้เราได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ เพียงแต่ก็ไม่ได้ชวนปรารถนาในการมีชีวิตที่สองอีกครั้ง (หากว่าการกลับมาเกิดนั้นมีจริง) การดำรงอยู่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เกิดเพื่อกลายเป็นโปรตีนในวันใดวันหนึ่ง ระหว่างนั้นก็อาจพยายามทำและสร้างอะไรลงไปบ้างเพื่อไม่ให้การดำรงอยู่นี้ว่างเปล่าเกินไปนัก (อย่างที่เราหลายคนอาจกำลังรู้สึกอยู่) สำหรับผู้เขียน เท่านี้ก็ดูจะเป็นเป้าหมายที่แข็งแรงมากพอแล้ว 

โดยเฉพาะเมื่อนึกได้ว่า ที่ผ่านมาประเทศนี้ลิดรอนเอาความใฝ่ฝันและความทะเยอทะยานในการจะใช้ชีวิตไปมากแค่ไหน นับตั้งแต่การได้ตื่นมาอยู่กับความหวัง กับยิ้มของคนรุ่นพ่อแม่และเศรษฐกิจ -ที่แม้แต่คนเป็นเด็กก็สัมผัสได้เอง- ว่ากำลังโจนทะยานไปสู่ความรุ่งโรจน์ และในอีกไม่กี่ขวบปีหลังจากนั้นก็ต้องเจอการพลิกกระดานโดยทหารครั้งใหญ่เมื่อปี 2549 แผนพัฒนาต่างๆ ในทางการเมืองที่สร้างฝัน สร้างชีวิตให้คนตาดำๆ หลุดหายไปต่อหน้าต่อตา, รู้ข่าวการสังหารผู้ชุมนุมกลางเมืองที่ไม่ต้องมีใครมารับผิดชอบอะไร, อีกหลายปีถัดมาเผชิญหน้ากับม็อบที่เรียกร้องให้ล้มเลือกตั้งและออกใบเชิญให้มีการรัฐประหาร นำมาสู่การล้มกระดานครั้งที่สองของชีวิต คนรุ่นนี้หลายคนจึงตั้งต้นจากความสับสน งุนงงของกลไกทางการเมือง ตำราเรียนบอกว่าเราปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยแต่ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไรตอนปี 2549 และยิ่งหนักข้อเข้าไปใหญ่เมื่อเห็นการยินดีให้ทหารเข้ามายึดอำนาจในอีกแปดปีให้หลัง

เราคือกลุ่มคนที่จมอยู่กับทหารมาหลายขวบปีของชีวิต สภาวะโรคระบาดยิ่งทำให้ชิงชังรังเกียจเท่ากันกับสุขภาพจิตถูกทำลายอย่างรวดเร็ว เมื่อตระหนักได้ว่าเราต่างกำลังแขวนชีวิตอยู่บนรัฐบาลที่บริหารประเทศราวกับอยู่ในยุคสงครามเย็น เรามองคนล้มตายเป็นจำนวนมาก -ทั้งในโรงพยาบาล ในบ้านหรือข้างถนน- ไม่เพียงแต่ปราศจากคำขอโทษจากรัฐบาล แต่ยังเต็มไปด้วยคำเยอะเย้ยถากถาง ปัดความรับผิดชอบ เราโกรธแต่เราทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าก่นด่าและลงถนน เราจึงได้เห็นรัฐใช้กำลังอย่างรุนแรงต่อผู้ชุมนุมผ่านกระสุนยางและผ่านทางกฎหมายที่ทำให้คนที่ออกไปเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าถูกจับขังคุก ทั้งหมดทั้งมวลนี้เราทำความเข้าใจอะไรด้วยตรรกะตามปกติของโลกประชาธิปไตยไม่ได้เลยแม้นายกฯ จะยังยืนกรานเรียกการปกครองนี้แบบนั้น 

ขวบปี 2564 ที่ผ่านมาจึงเป็นขวบปีที่เหนื่อยอย่างสาหัส ยากลำบากทั้งในเชิงดำรงชีวิตและประคองสภาพจิตใจ ชีวิตจึงไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เมื่ออยู่ในยุคสมัยนี้ ภายใต้การปกครองเช่นนี้ หากแต่ด้านหนึ่ง แม้มันจะเต็มไปด้วยการบดขยี้ ชวนให้แตกสลายซ้ำไปซ้ำมาอยู่ร่ำไป เราก็ไม่ได้ปรารถนาจะเดินไปสู่การปิดฉากแต่อย่างใด เราเพียงแต่หวังว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปจนถึงวันที่พวกมันล่มสลาย ได้ลิ้มชิมรสอิสรภาพและหอมกลิ่นประชาธิปไตยเต็มใบสักหน่อย เท่านั้นก็น่าจะเพียงพอแล้วโดยที่ไม่ต้องกลับมาพบมาเจอชีวิตเช่นนี้อีก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save