fbpx
ชีวิตในโรงพยาบาล : เมื่อความป่วยไข้ไร้สิทธิพิเศษ

ชีวิตในโรงพยาบาล : เมื่อความป่วยไข้ไร้สิทธิพิเศษ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

หากคุณเคยชินกับการนอนบนฟูกนุ่มสบาย ปูด้วยผ้าทอถักละเอียดสี่ร้อยเส้น ห่มตัวด้วยนวมหนา แล้วเปิดแอร์อุณหภูมิ 25 องศาฯ ในทุกคืน การตื่นเช้าขึ้นมาบนเสื่อกก อากาศร้อนจนเหงื่อเหนียวเหนอะหนะ แล้วได้ยินเสียงจอแจของผู้คนรอบข้างคงไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์แน่ๆ — และอันที่จริง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์สำหรับใครทั้งนั้น

แต่กับบางคนก็จำเป็นที่ต้องตื่นมาเจอสถานการณ์แบบนี้ แม้ไม่ใช่ตลอดชีวิต แต่ก็ต้องลุ้นตามระยะเวลาการรักษาผู้ป่วย

ความป่วยไข้มาหาทุกคนแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่สิทธิพิเศษอาจไม่ได้มีไว้เพื่อทุกคน อย่างไรก็ตาม ทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงการรักษา

101 ลงไปสำรวจชีวิตของผู้คนในโรงพยาบาลรัฐ พบเรื่องราวสะเทือนใจจำนวนมาก ภาพผู้คนอมทุกข์นั่งรอการรักษาอย่างเบื่อหน่าย ชายหนุ่มที่ป้อนไส้กรอกจากร้านสะดวกซื้อให้แฟนสาวบนรถเข็น คุณป้าจากสกลนครรอเฝ้าลูกสาวที่เสียลูกไปจากการคลอด คุณป้าจากนครสวรรค์รอคุณลุงผ่าตัดต่อมลูกหมาก หลังทรมานจากปัสสาวะขัดมายาวนานกว่า 16 ปี แม่ที่ร้องไห้ปิ่มใจจะขาดเมื่อลูกชายวัย 11 ขวบจมน้ำเสียชีวิตในอ่างเก็บน้ำ ฯลฯ

1

ปวดไข้ เจ็บป่วย สิทธิ โรงพยาบาล

ในหนึ่งปี ประเทศไทย (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) มีผู้ป่วยนอกที่ไปโรงพยาบาลกว่า 180 ล้านครั้ง โดยโรคที่มีอัตราผู้ป่วยสูงที่สุดลำดับต้นๆ คือโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบไหลเวียนเลือด ยังมีกลุ่มผู้ป่วยในทั่วประเทศอีกกว่า 19 ล้านคนที่เข้ารับการรักษาเป็นระยะเวลานานด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ โภชนาการและเมตะบอลิกอื่นๆ รวมถึงเบาหวานที่เป็นโรคยอดนิยมของคนไทยมาอย่างยาวนาน[1]

หากคุณทำประกันชีวิต หรือมีประกันสังคม ก็อาจไม่ต้องกังวลว่าต้องเสียเงินก้อนเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แต่กับบางคนที่หาเงินได้วันต่อวัน หรือกับบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหันจนรับมือไม่ทัน การเจ็บป่วยอาจเป็นเรื่องที่เปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล เงินก้อนสุดท้ายในชีวิตอาจหมดไปเพื่อรักษาชีวิต

ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนจนเยอะ และมีผู้ป่วยจำนวนมากอย่างไทย ปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิยังเป็นเรื่องถกเถียงและพยายามแก้ปัญหากันมาอย่างยาวนาน ในเชิงโครงสร้างเรารู้กันดีว่า ค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ ไม่สอดคล้องกับรายรับที่ได้จริง และผู้ป่วยที่รอรับการรักษาก็ยังมีจำนวนมาก

ก็อย่างที่รู้กัน สังคมไทยมีต้นเหตุของปัญหาสุขภาพที่ลงลึกถึงราก นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยเขียนไว้ว่า “จำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นเกิดจากสังคมที่เปราะบาง สังคมของเราสร้างผู้ป่วยจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เริ่มตั้งแต่คุณแม่วัยเด็กที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทารกขาดผู้ดูแลหลัก การศึกษาปฐมวัยทำลายสมองและสุขภาพจิตเด็กเล็ก ครูไม่มีคุณภาพ ครัวเรือนที่รายได้ไม่พอรายจ่าย อุบัติเหตุบนท้องถนน โภชนาการเป็นพิษ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ  บุหรี่และยาเสพติดมากมาย กลายเป็นสังคมตัวใครตัวมัน ที่ไม่มีตาข่ายความปลอดภัย (safety net) รองรับ

เอาง่ายๆ แค่ว่าเดินออกจากบ้าน เราจะหนีพ้นฝุ่นควัน หรือรถที่ขับฉวัดเฉวียนไม่สนกฎจราจรได้อย่างไร หรือแค่อยู่ในบ้าน เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอาหารที่เราทานจะไม่มีสารพิษปนเปื้อน เมื่อชีวิตเปราะบางเช่นนี้ เราจึงอาจกลายเป็นคนป่วยได้ตลอดเวลา

ยังมีผู้ป่วยนอกอีกจำนวนมากที่รอเข้ารับการรักษา เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท้องร่วง ปวดหัวเฉียบพลัน โดนสัตว์กัดต่อย เป็นหวัด ตัวร้อนเป็นไข้ ฯลฯ แม้ดูภายนอกจะเป็นเรื่องเล็ก แต่เมื่อใครได้มาสัมผัสเอง ย่อมมองว่าทุกอาการเจ็บไข้เป็นเรื่องใหญ่

ยังไม่นับแผนกผู้ป่วยใน ที่มีคนไข้จำนวนมหาศาลจนเตียงไม่เพียงพอ ไม่ใช่แค่เตียง — พื้นที่หอนอนก็แทบไม่เหลือตารางให้ยัดเตียงเข้าไปได้อีก จนคนไข้ต้องนอนเสียบสายน้ำเกลืออยู่ตามระเบียงทางเดิน ญาติคนไข้หอบข้าวปลาอาหารและเสื่อสาดมานั่งเฝ้าอยู่ด้านนอกจนแทบไม่มีทางเดิน

เราก็ต่างรู้ดีว่าไม่มีใครหรอกที่อยากป่วย แต่เมื่อความป่วยไข้เข้ามาเคาะประตู ทางเลือกที่มีอยู่ก็มักจะค่อยๆ หดแคบลง หากคุณไม่ได้ถือบัตรพรีเมี่ยมโกลด์เพื่อเป็นเจ้าของสิทธิพิเศษในการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน คุณก็อาจเลิกฝันได้เลยว่าจะได้รับการปูพรมแดงตั้งแต่ทางเข้าโรงพยาบาลจนถึงห้องพัก ได้ห้องพิเศษที่มีห้องนอนญาติ มีห้องน้ำสะอาดเอี่ยมสุดหรู และเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุดโดยไม่ต้องต่อคิว เพราะนั่นอาจหมายถึงเงินจำนวนมหาศาล

2

ให้ตับเติบโต

สุขภาพ

ที่โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่หลายแห่ง ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยที่ล้นโรงพยาบาล แต่ญาติผู้ป่วยหลายคนก็ต้องมานอนเฝ้าอยู่ด้วย แม้บางโรงพยาบาลจะมีอาคารที่พักสำหรับญาติ แต่เมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมหาศาล ญาติผู้ป่วยก็จำเป็นต้องนอนเฝ้าที่ศาลาพักญาติที่เหลืออยู่ มีเพียงหลังคากันแดดฝน ไม่มีกำแพงฉาบเพื่อความเป็นส่วนตัว เชือกฟางถูกขึงตึงระหว่างเสาเพื่อเป็นราวตากผ้าชั่วคราว คืนแล้วคืนเล่าเพื่อรอคอยรับผู้ป่วยกลับบ้าน

ภาพคนเดินขวักไขว่ในโรงพยาบาลเป็นภาพที่เราเห็นจนชินตา ยิ่งโดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ ที่นั่งรอตรวจของผู้ป่วยนอกล้นทะลักตั้งแต่ 7 โมงเช้า แน่ละ ว่าพวกเขาตื่นตั้งแต่ไก่ยังไม่ทันแคะขี้ตา เพื่อมาจองบัตรคิว

ใครบอกว่าคนตื่นเช้าเป็นคนสุขภาพดี อาจไม่ใช่เสมอไป

“พี่ดูรอยผ่าตรงข้อเท้าสิ ตรงนี้เขาก็เอาเส้นเลือดไปด้วย” หญิงสาวร่างกะทัดรัดวัย 19 ปี ชี้ไปที่ข้อเท้าของเธอ เรานั่งขัดสมาธิคุยกันในศาลาพักญาติที่โรงพยาบาล ผ้าห่มลายการ์ตูนพับเก็บเรียบร้อย เธอนั่งเฉยๆ บนเสื่อ รอเวลาที่จะเข้าเยี่ยมลูก

ลูกตัวเหลือง ตาเหลือง พุงโตตั้งแต่เด็กเพราะท่อน้ำดีไม่ดี ถ้าเป็นไปเรื่อยๆ ตับจะแข็ง แล้วน้องก็จะเสียชีวิต เราก็เลยต้องพยายามรักษา

มิ้นเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนตับตัวเองให้ลูกได้ 2 อาทิตย์ หมอตัดบางส่วนออกไปแล้วปล่อยให้ตับขยายตัวเองในร่างกายของลูกน้อยวัย 1 ขวบ 7 เดือน แม้เธอจะเพิ่งออกจากห้องพักฟื้น แต่เมื่อหมออนุญาตให้กลับบ้านได้ เธอก็ยังรอเฝ้าลูกอยู่ที่ศาลาพักญาติ สีหน้ายังมีแววของความป่วยไข้อยู่

“หนูท้องตอนเรียนโดยไม่ได้ตั้งใจ เลยต้องออกจาก ปวช. มาเลี้ยงลูก” เธอเริ่มย้อนอดีตให้ฟัง ตอนนั้นเองที่ชายหนุ่มร่างผอมสูงหน้าคมเข้มเดินเข้ามานั่งด้วย “คนนี้แฟนหนู” เธอว่า มิ้นกับแฟน กินนอน อาบน้ำที่นี่มากว่า 2 สัปดาห์ รู้จักร้านอาหาร และเดินในโรงพยาบาลได้อย่างทะลุปรุโปร่ง แต่เส้นทางหลักๆ คือเดินไปห้องพักฟื้นเด็กเพื่อดูลูกสาวตัวเอง

แฟนหนุ่มของมิ้นอายุห่างจากเธอไม่มาก ทำอาชีพกรีดยางอยู่ภาคใต้ เงินที่ได้ก็เอามาเลี้ยงลูก เพราะตัวมิ้นเองหลังจากเลิกเรียนหนังสือก็ยังไม่มีงานเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากเลี้ยงลูก

แม้จะท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่มิ้นก็อยากจะดูแลลูกให้ดีที่สุด แม้ว่าเด็กน้อยจะเกิดมาเจ็บป่วยด้วยโรครุนแรงถึงชีวิต และอาจไม่ได้เติบใหญ่ไปอย่างที่เธอคาดหวัง

เพื่อนสนิทของทารกกลายเป็นหมอ และสนามเด็กเล่นของเธอคือโรงพยาบาล  เธอป่วยออดๆ แอดๆ ตั้งแต่เด็ก พ่อแม่พาย้ายไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุราษฎร์ธานี จนเมื่ออายุ 8 เดือน ยังไม่ทันจะเรียกพ่อแม่ได้เต็มคำ ก็ตรวจเจอว่าท่อน้ำดีตีบและตับโต ทารกเข้ารับการผ่าตัดท่อน้ำดีครั้งแรกตอนอายุ 8 เดือน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น จนหมอให้เข้าโครงการท่อน้ำดีอักเสบ เพื่อรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ

แม้จะดูมีความหวังขึ้นมา แต่มิ้นก็พบว่ามีเด็กอีกมหาศาลที่ป่วยเป็นโรคเดียวกันกับลูกของเธอ คิวรอผ่าตัดเปลี่ยนตับจึงยาวเหยียดไปกว่าค่อนปี และการรักษาต้องทำที่กรุงเทพฯ เท่านั้น

ระหว่างช่วงปีที่รอรักษา มิ้นต้องพาลูกเข้ามาตรวจเลือดและให้ยาเตรียมพร้อมทุกเดือนที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เธอและแฟนหนุ่มนั่งรถไฟชั้น 3 มาจากใต้ ค่ารถคนละ 200 กว่าบาท มือหนึ่งอุ้มลูก มือหนึ่งถือข้าวของ ใช้เวลาเดินทางเกือบวันเพื่อมาเจอความหวังที่เมืองหลวง

“คราวที่แล้วนั่งรถทัวร์มา ตกคนละ 500 บาท สองคนก็พันกว่า แพง เรานั่งรถไฟดีกว่า ถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง เพราะเงินไม่พอ แล้วช่วงนี้ฝนตก กรีดยางไม่ค่อยได้ ยายกับพ่อของน้องก็กรีดยาง แต่พ่อโชคดีหน่อยที่เขาทำเป็นรายเดือน ทำแผ่นยาง แต่ฝนตกยังไงก็กระทบ เพราะไปกรีดยางไม่ได้”

ชีวิตที่ดูเหมือนฝากไว้กับฟ้าฝน กับลูกน้อยที่ต้องการความแม่นยำในการรักษา ทำให้มิ้นต้องดิ้นรนมากกว่าที่เคย พอถึงเวลาเข้ารับการผ่าตัด เธอและลูกต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม การผ่าตัดเกิดขึ้น 2 ครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว บางส่วนของร่างกายแม่เข้าไปเติบโตในร่างกายลูก เพื่อให้มันขยายและเติบโตเองไปอย่างแข็งแรง

ค่ายา ค่านอนโรงพยาบาล และค่าผ่าตัดรวมทั้งหมด 4 แสนกว่าบาท โชคดีที่เธอไม่ต้องควักเอง จากการใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยได้ใบส่งตัวมาจากโรงพยาบาลที่สุราษฎร์ฯ

ตอนนี้เด็กน้อยนอนพักฟื้นจากแผลผ่าตัด ส่วนแม่ก็นอนรอที่ศาลาพักญาติ แม้ตัวเองจะยังเจ็บแผลอยู่บ้าง

“หมอบอกว่าโอกาสหายมีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าลูกหายป่วย เราก็สบายใจ ไม่อยากให้ลูกทรมาน เพราะลูกสู้มาเยอะแล้ว ตอนนี้รอแค่เขาแข็งแรงขึ้นอีกนิด” มิ้นพูดเสียงเบา แต่ยังยิ้มด้วยความหวัง และต่อคำถามที่ว่าถ้าลูกหายดี มีสิ่งไหนที่เธออยากทำต่อไป เธอคิดนิดหนึ่งแล้วว่า

“ก็คงกลับไปเรียนหนังสือ หนูอยากมีงานดีๆ เพื่อเอาเงินมาดูแลลูก”

 3

 แค่ไหนเรียกฉุกเฉิน และความเป็นผู้ป่วยนอก

ห้องฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอก ฉุกเฉิน

 

หากเราเชื่อว่า ‘ชีวิต รอไม่ได้’ ที่ห้องฉุกเฉิน เราอาจจำเป็นต้องรอ

แม้ทุกคนจะเข้าใจคำว่า ‘ฉุกเฉิน’ ตรงกันว่า เป็นความปัจจุบันทันด่วน และต้องแก้ไขในฉับพลันทันใด แต่ ‘ฉุกเฉิน’ ในโรงพยาบาลของคนไข้กับทางการแพทย์อาจไม่เท่ากัน

เด็กหญิงวัย 10 ขวบนั่งหดตัวเอามือกุมท้องมานานกว่าชั่วโมงแล้ว ลำไส้ยังบิดตัวเป็นระยะ คุณแม่นั่งรอด้วยสีหน้าร้อนใจมาตั้งแต่ 10 โมงเช้า จนเวลาล่วงเลยมาเที่ยงกว่าก็ยังไม่ได้เข้าตรวจ “หมอมีคนไข้เยอะ” เธอว่า “ยังไงก็ต้องรอ”

ระหว่างนั้นเองที่เสียงหวอดังสนั่น รถโรงพยาบาลขับมาจอดเทียบหน้าห้องฉุกเฉิน ทีมเปลขยับตัวไวด้วยความเคยชิน เลื่อนคนไข้จากบนรถลงมานอนบนเตียงอย่างเชี่ยวชาญคล่องแคล่ว ชายหนุ่มหลับบนเตียงไม่ได้สติ เสื้อขาดวิ่น สวมกางเกงขาสั้น รอยถลอกและเลือดเต็มตัว ศีรษะเป็นรอยแผลยาวใหญ่ ผมหายไปกว่าครึ่ง ตรงหัวเข่ามีรอยเหวอะจนเห็นกระดูกสีขาว

“ขับมอไซค์แล้วโดนกระบะชน กระเด็นไปไกลมาก ตอนนี้เลือดไหลไม่หยุด ยังไม่รู้สึกตัว” คือคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ ดูเหมือนว่าเด็กหญิงอาจต้องรอไปอีกหน่อย เมื่อมีคนไข้ที่ฉุกเฉินกว่า แม้ว่าแม่เองจะรู้สึกว่าลูกกำลังอยู่ในขั้นวิกฤตแล้วก็ตาม แต่แพทย์และพยาบาลตามกำลังที่มีอยู่ก็อาจไม่เพียงพอต่อคนไข้

ในทางการแพทย์มีการกำหนดระดับของผู้ป่วยฉุกเฉินเอาไว้ 3 ระดับ คือ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ได้รับบาดเจ็บหรือป่วยกะทันหันซึ่งมีภัยคุกคามต่อชีวิต ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะพิการหรือเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่นาที เช่น ภาวะหยุดหายใจ ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว ซึมหมดสติไม่รู้ตัว เลือดออกมากอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เป็นต้น แม้ในกลุ่มผู้ป่วยสีแดงจะได้รับโอกาสถึงมือหมอก่อนใครเพื่อน แต่คงไม่มีใครอยากเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้แน่ๆ

ระดับที่สอง ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) คือภาวะที่ต้องการการช่วยเหลือโดยเร็ว รอได้บ้างแต่ไม่นาน ผู้ป่วยประเภทนี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ให้การดูแลหรือรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง ก็อาจทําให้สูญเสียชีวิตหรือพิการได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เช่น หายใจลำบากหรือหายใจเหนื่อยหอบ ไม่รู้สึกตัว ชัก อัมพาต หรือตาบอดหูหนวกทันที เจ็บปวดมากหรือทุรนทุราย ชีพจรช้ากว่า 40 หรือเร็ว 150 ครั้งต่อนาที โดยเฉพาะถ้าร่วมกับอาการข้ออื่นๆ เป็นต้น

ระดับที่สาม ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) ได้แก่ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันไม่รุนแรง รอรับปฏิบัติการแพทย์ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง หรือเดินทางไปรับบริการได้ด้วยตนเอง แต่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ ถ้าปล่อยไว้อาจรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น แผลรถล้มธรรมดา ปวดท้อง เป็นไข้สูง เป็นต้น

ในบางกรณีพยาบาลมักจะให้ผู้ป่วยในระดับสีเขียว เข้าไปตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก เพื่อลดการใช้ทรัพยากรแพทย์และพยาบาลจากผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริงๆ คนไข้บางคนเดินมุ่งตรงไปยังห้องฉุกเฉิน เพราะเชื่อว่าจะได้รับการบริการอย่างเร่งด่วน แต่ในความเป็นจริง ยังมีคนที่ต้องการความเร่งด่วนกว่าเท่าตัว

หลังจากชายหนุ่มเข้าไปในห้องฉุกเฉินสักพักใหญ่ เด็กสาวค่อยได้พบหมอ และออกมาพร้อมใบสั่งยา สีหน้าคนเป็นแม่ดูคลายกังวลลงมากกว่าเมื่อชั่วโมงที่แล้ว

4

ญาติคนไข้ยังนั่งรอผู้ป่วยที่ศาลาพักญาติ ต่างคนต่างถิ่น แต่มารู้จักกันในระยะเวลาสั้นๆ ที่ศาลานี้ แบ่งปันเสื่อ ส่งต่อพัดลม และบางคืนที่ยุงชุม ก็อาจขยับเข้าไปนอนมุ้งเดียวกันได้ แม้จะต้องเฝ้าตามเวลา แต่ญาติก็ช่วยวิ่งซื้อยาในโรงพยาบาล ถามไถ่ความคืบหน้าอาการจากหมอ เช็ดตัว ปรับเตียง ป้อนข้าวผู้ป่วย ก่อนจะกลับมาที่พักญาติเมื่อหมดเวลาเยี่ยม เฝ้ารอวันได้กลับบ้านอย่างคนแข็งแรง

ผู้ป่วยจำนวนมหาศาลยังเดินทางมาโรงพยาบาลไม่ขาดสาย แพทย์และพยาบาลดูเหมือนมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ยิ่งโดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ต้องรองรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลขนาดเล็ก ยังไม่นับอุปกรณ์ที่ขาดแคลนอยู่มาก โรคที่ยากและเฉพาะทางจริงๆ ยังต้องเข้ามารักษาเฉพาะที่

เมื่อมองลงไปถึงชีวิตคน ยังมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันมาก หากเรายังอยู่ในประเทศที่ไร้ตาข่ายรองรับเช่นนี้ การดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แม้จะมีปัจจัยอีกมากที่เราควบคุมไม่ได้ก็ตาม

เชิงอรรถ

[1] สถิติสาธารณสุข พ.ศ.2558

illustrated by ภาพิมล หล่อตระกูล

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save