fbpx

ชีวิตเส็งเคร็งในประเทศดิสโทเปีย ดินแดนต้องสาปสิ้นหวังในนามรัฐไทย

เราอาจสรุปภาพรวมของเดือนเมษายนปี 2021 ว่าเป็นเดือนแห่งความบัดซบ เริ่มจากการระบาดระลอกสามของโควิด-19 ข่าวการจัดซื้อวัคซีนล่าช้าเหมือนรัฐบาลเป็นเด็กอมมือหัดเล่นขายของ ความช้ำใจที่ต้องมองเห็นประเทศอื่นๆ กระโจนหนีไวรัสด้วยการจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลที่มีความสามารถ ความเหลื่อมล้ำดิบเถื่อนตอนต้องเห็นผู้คนเสียชีวิตคาที่พักเพียงเพราะรัฐจัดการหาเตียงให้ไม่ได้ หรือตอนต้องอ่านข่าวผลข้างเคียงของวัคซีนที่รัฐเลือกให้ตาปริบๆ เพราะไม่มีสิทธิได้เลือกเอง ขณะที่คนมีเงินทยอยบินข้ามประเทศเพื่อไปเลือกยี่ห้อวัคซีนอย่างที่ใจอยากบนแผ่นดินที่เจริญแล้ว

ยิ่งในช่วงปลายเดือน เราพบว่าความหวังมาถึงจุดมอดไหม้ เมื่อศาลประกาศไม่ให้ประกันตัว เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งสุขภาพทรุดโทรม หลังจากอดอาหารประท้วงความยุติธรรมเข้าวันที่ 44 หลายคนที่เปิด ‘เครื่องด่า’ มาตั้งแต่ต้นเดือนเลือกเปลี่ยนโหมดเป็น ‘เครื่องแช่ง’ แทน เพราะเมื่อเวลาแห่งความอัดอั้นถึงที่สุด การเปิดเครื่องแช่งดูจะเป็นทางเดียวที่ช่วยเยียวยาและระบายความโกรธออกมาได้

ยากจะปฏิเสธ แต่เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงการใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิสโทเปียในนิยายไซไฟหลายๆ เรื่อง และเอาเข้าจริงๆ มากต่อมากก็ยังไม่อาจจินตนาการความข้นแค้นดิบเถื่อนได้มากเท่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยซ้ำไป

อันที่จริง คิดว่าหลายคนคงเข้าใจคอนเซ็ปต์ของสังคมดิสโทเปียคร่าวๆ แล้ว แต่ขอเล่าโดยสรุปอีกทีว่า มันคือสังคมสมมติจากเรื่องแต่งที่น่าสะพรึงกลัว ประชาชนใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก อัตราก่อเหตุอาชญากรรมสูง และเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง สังคมดิสโทเปียในนิยายมักมีองค์ประกอบหลักๆ คือ มีรัฐบาลเผด็จการ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ รวมถึงมีลักษณะที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของประชาชน

นิยายเรื่องเด่นๆ ที่ว่าด้วยสังคมอัน ‘ไม่พึงปรารถนา’ เช่นนี้ คือ Nineteen Eighty-Four (1984) ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ตีพิมพ์เมื่อปี 1949 ที่ว่าด้วยเมืองซึ่งรัฐบาลมีอำนาจในการสอดส่องและควบคุมประชาชนเต็มรูปแบบ จนกลายเป็นต้นธารสำคัญของการเขียนงานว่าด้วยสังคมดิสโทเปียในยุคหลังๆ เพราะงานของออร์เวลล์เต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อย อย่างการสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่เพื่อกล่อมเกลาประชาชน การสร้าง ‘ศัพท์ทางการเมือง’ ขึ้นเพื่อเรียงร้อยความเข้าใจตลอดจนภาพจำของผู้คน หรือแม้แต่การสร้างศัตรูในอุดมคติเพื่อแบ่งแยกและปกครอง

หรือนิยายปี 1932 ของ อัลดอส ฮักซ์ลีย์ อย่างนิยายเรื่อง Brave New World ที่ถูกนำมาเทียบเคียงกับงานของออร์เวลล์อยู่เนืองๆ เพียงแต่งานของฮักซ์ลีย์พูดถึงโลกในอุดมคติที่ประชากรถูกปกครองโดยไม่แบ่งแยกเป็นประเทศ โลกทั้งผองคือหนึ่งเดียว มนุษย์ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรมจนไร้ที่ติ เป็นโลกที่ไร้ความทุกข์เพราะถ้าทุกข์เมื่อไหร่ รัฐก็จะแจกจำหน่าย ‘โซมา’ หรือยากล่อมประสาทที่ทำให้คนลืมเศร้าและเชื่องกับรัฐ

หรือถ้าร่วมสมัยขึ้นมาหน่อย อาจเป็นวรรณกรรมเยาวชนพูดถึงโลกหม่นหมองอย่างเรื่อง The Hunger Games นิยายปี 2008 ของ ซูซานน์ คอลลินส์ ว่าด้วยสังคมที่กลุ่มผู้นำจำนวนเพียงหยิบมือออกกฎให้คนจนแร้นแค้นอีก 12 เขตในปกครองส่งตัวแทนมาห้ำหั่นกันเพื่อความอยู่รอด การต่อสู้ที่ว่าถูกนำมาเป็นเรียลลิตีโชว์เพื่อความบันเทิงให้เหล่าอีลีตทั้งหลายได้รับชม (ภายหลังนิยายถูกดัดแปลงเป็นหนังเมื่อปี 2012 และเป็นต้นธารของ ‘สัญลักษณ์สามนิ้ว’ ซึ่งในนิยายหมายถึงการแสดงความรักและเคารพต่อผู้ที่จากไป)

รวมถึง The Maze Runner นิยายปี 2009 ของ เจมส์ แดชเนอร์ เล่าถึงโลกที่พินาศสิ้นจนมนุษย์มีชีวิตอยู่ไม่ได้ ทั้งจากสภาพแวดล้อมเป็นพิษและไวรัสประหลาดที่ทำลายสมองผู้คน ผู้ปกครองจึงล้างความทรงจำของเยาวชน แล้วโยนพวกเขาเข้าไปในโลกจำลองอันโหดร้ายและเต็มไปด้วยเขาวงกต เพื่อหาภูมิคุ้มกันในตัวคนรุ่นใหม่ให้ออกมาใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริงได้ เพราะคนรุ่นก่อนหน้านั้นสิ้นหวังและสร้างความอัปยศไว้จนเกินเยียวยา ความหวังเดียวที่มนุษยชาติยังมีเหลือจึงตกอยู่บนบ่าของกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ต้องหาทางเยียวยาโลกทั้งใบขึ้นมา

เว็บไซต์เรียนออนไลน์ MasterClass จากวิชาการเขียนวรรณกรรม จำแนกลักษณะของโลกดิสโทเปียไว้คร่าวๆ ว่า สังคมอันไม่พึงประสงค์นั้นต้องมีองค์ประกอบต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งข้อ ได้แก่ 1. การถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาล 2. ภาคเศรษฐกิจพังทลาย 3. เทคโนโลยีถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมประชากร 4. ผู้คนตกอยู่ในสภาพที่ต้องหนีเอาตัวรอด และ 5. มนุษย์สูญเสียความเป็นปัจเจกหรือเอกลักษณ์ส่วนตัวไปโดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้ หากจะจำแนกกันให้ละเอียด สังคมแบบดิสโทเปียยังมีลักษณะของการแบ่งชนชั้นที่ชัดเจนและเด็ดขาด โดยชนชั้นที่มีอภิสิทธิ์มากที่สุดและมีจำนวนน้อยที่สุด เป็นผู้ควบคุมทรัพยากรส่วนใหญ่ของสังคมไว้ ขณะที่ชนชั้นอื่นซึ่งซอยย่อยออกไปอีกหลายลำดับขั้นต่างเข้าถึงทรัพยากรได้ตามแต่กำลังที่ตัวเองมี ทั้งยังมีศาสนาเป็นผู้ควบคุมหรือเอื้อผลประโยชน์ให้อภิสิทธิ์ชนอีกขั้นหนึ่ง หรือไม่ ศาสนาก็อาจเป็นผู้ครอบครองการเข้าถึงทรัพยากรทั้งหมดในสังคมเสียเอง 

เล่ามาเท่านี้ก็คงรู้สึกคุ้นเคยกับบรรยากาศยะเยือกของการถูกปกครองและการครอบงำกันพอสมควร แน่นอนว่าเราไม่ได้คาดหวังให้รัฐทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือสร้างสังคมอุดมคติยูโทเปีย (ด้านกลับของดิสโทเปีย) ขึ้นมา เพราะมันไม่อาจเป็นไปได้ ฟังก์ชันโดยธรรมชาติของรัฐบาลนั้นไม่อาจ ‘เป็นที่รัก’ หรือถูกใจคนทุกคนจนสร้างสังคมวิเศษที่เต็มไปด้วยความดีงามเป็นระเบียบ ทั้งคำว่ายูโทเปียเองก็เป็นคำหยิบยืมมาจากชื่อนิยายเรื่องดังในปี 1516 ของโธมัส มอร์ เล่าถึงดินแดนในเรื่องเล่าซึ่งเป็นสังคมสมบูรณ์พร้อม มีกลไกที่สนองตอบต่อความเป็นมนุษย์อันดีงามทุกรูปแบบ สมกับเป็นนิยายที่ถูกเขียนขึ้นมาในช่วงเรอเนซองส์ (Renaissance) ซึ่งแนวคิดยกยอเทิดทูนความเป็นมนุษย์กำลังแพร่ไปทั่วยุโรป

แต่เราย่อมคาดหวังได้ว่า รัฐควรทำหน้าที่ในการดูแลปกครองประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรียกตัวเองว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าจะมีหรือไม่มีคำอื่นใดห้อยหลังอยู่ก็ตาม หากรัฐไม่อาจทำหน้าที่หรือตอบสนองฟังก์ชันนี้ต่อประชาชนได้ ก็เท่ากับว่าสังคมนั้นขยับเคลื่อนเข้าไปสู่โลกของความเป็นดิสโทเปียอีกก้าวหนึ่ง ยังไม่นับว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนายิ่งทำให้ความฟอนเฟะของสังคมที่เราอยู่พุพองกลายเป็นหนอง อย่างที่จะหลับตาทำเป็นไม่เห็นก็ไม่ได้ จนเราเกือบจะพูดได้เต็มปากว่า หากเช็กลิสต์คุณสมบัติความเป็นดิสโทเปีย บ้านเมืองเราน่าจะได้คะแนนเต็ม แถมเผลอๆ ได้เขียนดอกจันแนบรายละเอียดหยุมหยิมถึงสิ่งที่เป็นพิษต่อประชาชนห้อยท้ายได้ไม่รู้จบ

หากวนเข้าสูตรของการเป็นเมืองดิสโทเปีย รัฐย่อมมีวิธีการกล่อมเกลาประชาชนเพื่อไม่ให้ลุกขึ้นคัดง้างต่อระบบอันเป็นพิษต่อความเป็นมนุษย์ อย่างในนิยายของออร์เวลล์ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งความเกลียดชังที่สร้างเสร็จใหม่ๆ มากมาย หรือการบัญญัติศัพท์ทางการเมืองเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นอื่นตลอดจนความเกลียดชัง กระทั่งใน Brave New World ที่ใช้ยาทำให้ผู้คน ‘หัวอ่อน’ ยอมรับไปกับความวิปริตของรัฐโดยไม่มีเงื่อนไขและไม่ตั้งคำถามใดๆ

ซึ่งหากจะวัดจากสูตรนี้ เราก็อาจจะบอกได้ว่ารัฐไทยไม่น้อยหน้ามหารัฐโอเชียเนียใน Nineteen Eighty-Four หรือรัฐโลกของ Brave New World เลย หากวัดจากความไม่ลืมหูลืมตาหรือยอบตัวให้ถูกโบยตี เต็มใจจะเป็นทาสของคนบางกลุ่มอย่างที่ยากจะเชื่อว่ายังมีอยู่ในศตวรรษที่ 21 นี้

เราคือประเทศที่ผ่านการรัฐประหารมาแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง แต่ละครั้งมีผู้คนที่มองอย่างเฉยเมย รับได้ กระทั่งกวักมือเรียกให้ทหารเข้ามาพลิกกระดานการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการปลูกฝังหน่ออ่อน เชื้อราบางอย่างผ่านภาพยนตร์ บทเพลง หรือกระทั่งข่าวที่ออกฉายไม่รู้จักจบจักสิ้น ผ่านวัฒนธรรมที่บอกให้เราจำยอม เพราะ ‘แข่งเรือแข่งพายนั้นแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาไม่ได้’ เราจึงถูกวัฒนธรรมที่รัฐหยิบไปเป็นเครื่องมือในการกล่อมและจัดการประชาชนอีกต่อหนึ่งกดหัวไว้ตั้งแต่ลืมตาดูโลก

โลกที่เราเกิดมาจึงเป็นโลกที่บอกเราตั้งแต่วันแรกแห่งการมีชีวิตว่าจงยอมรับชีวิต พอใจกับสิ่งที่มี และก้มหน้าก้มตาใช้ชีวิตต่อไปอย่างว่าง่ายและเชื่อฟัง ไม่ต่างจากฝูงวัวผูกกระดึงไว้ที่คอ และเมื่อมีคนพยายามปลดแอกโซ่ตรวนเหล่านั้นก็จะถูกกำราบอย่างรุนแรงทั้งในเชิงกฎหมาย วัฒนธรรมและสังคมรอบตัว

‘ความเชื่อง’ และว่าง่ายในประเทศเราอาจฟ้องผ่านการยังเห็นดีเห็นงามต่อความล้มเหลวของรัฐในการจัดการปัญหาในหลายๆ ปีที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร เศรษฐกิจที่ดิ่งลงเหวเรื่อยๆ และการปล่อยให้นายทุนขยับเข้ามากินรวบอย่างเงียบเชียบ แม้สัญญาณการคอร์รัปชันจะเด่นชัดแต่ก็ยังมีคนพร้อมจะหลับหูหลับตาเชื่อว่านี่เป็นนาฬิกายืมเพื่อน หรือนั่นเป็นรถถังที่ประเทศจำเป็นต้องใช้ ตลอดจนการรับมือกับโรคระบาดซึ่งล้มเหลวอย่างน่ารังเกียจ ก็ยังมีคนมาแก้ตัวแทนว่าอย่ารอรัฐบาล จงเริ่มที่ตัวเอง (แต่ไม่บอกว่าเริ่มอย่างไร อาจจะด้วยการกวนวัคซีนป้าเช็งเองกระมัง) หรือกระทั่งความเหลื่อมล้ำบาดหัวใจเมื่อคนทยอยเสียชีวิตจากความบกพร่องในการรับมือ เราก็ยังพบว่าในสายตาของหลายๆ คน รัฐไม่ผิด 

และในระยะยาว ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐได้สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและความสิ้นหวังขึ้นมาในหมู่ผู้คน ภาวะสูญสิ้นยินดีในการจะใช้ชีวิต ในการจะมีความหวังหลังจากเจ็บช้ำจากความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำที่บาดตามาชั่วชีวิต ความรุนแรงและเลวทรามเช่นนี้ อย่างการปล่อยให้ผู้ต้องหาฝากขังทางการเมืองที่ประกาศเจตนารมณ์อดอาหารเพื่อประท้วงความยุติธรรม ป่วยไข้ลงเรื่อยๆ ในเรือนจำกลางกองน้ำตาของผู้เป็นแม่ ครอบครัวและเพื่อนฝูง เผลอๆ เราอาจสรุปได้ว่าแม้แต่นิยายดิสโทเปียบางเรื่องก็ไม่อาจจินตนาการถึงเสียด้วยซ้ำ

มันช่างขมขื่น เลือดเย็น และหน้าด้านเกินไป

แต่ก็อีกเช่นกัน ในพื้นที่แห่งความแห้งแล้งและดำมืดของ ‘รัฐอันไม่พึงปรารถนา’ นี้ ก็ยังมีหน่ออ่อนของความหวัง ดอกใบของการต่อสู้ที่ส่งต่อผ่านคนจากรุ่นสู่รุ่นมาครั้งแล้วครั้งเล่า มันอาจไม่ได้ทำลายเรื่องเล่าและกำแพงที่รัฐและชนชั้นนำสร้างไว้ในชั่วข้ามคืน ทั้งยังถูกทำลายด้วยความอำมหิตอยู่ร่ำไป แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว และเมื่อใดที่ความหวังเกิดขึ้นใหม่ ก็ได้ปลุกผู้คนที่ยังซึมเซาง่วงงุนจากยากล่อมประสาทของรัฐอย่างช้าๆ ทว่ายั่งยืน และสิ่งเดียวที่เราพอทำได้ในเวลานี้คือฉกฉวยเรื่องราว ประวัติศาสตร์ และปกป้องดอกใบเหล่านั้นไว้

เราไม่ได้หวังสังคมยูโทเปีย เพราะมันอาจไม่มีอยู่จริง แต่เราต้องไปให้พ้นจากสังคมดิสโทเปียแห่งนี้ให้ได้ เพราะมันมีอยู่จริง และกำลังเกิดขึ้นจริงแล้ว ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามที

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save