fbpx
Life From the Live Stage : บทเรียนเจนเวทีของเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี

Life From the Live Stage : บทเรียนเจนเวทีของเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี

[et_pb_section transparent_background=”off” allow_player_pause=”off” inner_shadow=”off” parallax=”off” parallax_method=”on” make_fullwidth=”off” use_custom_width=”off” width_unit=”off” custom_width_px=”1080px” custom_width_percent=”80%” make_equal=”off” use_custom_gutter=”off” fullwidth=”off” specialty=”off” admin_label=”section” disabled=”off”][et_pb_row make_fullwidth=”off” use_custom_width=”off” width_unit=”off” custom_width_px=”1080px” custom_width_percent=”80%” use_custom_gutter=”off” gutter_width=”3″ allow_player_pause=”off” parallax=”off” parallax_method=”on” make_equal=”off” parallax_1=”off” parallax_method_1=”on” parallax_2=”off” parallax_method_2=”on” parallax_3=”off” parallax_method_3=”on” parallax_4=”off” parallax_method_4=”on” admin_label=”row” disabled=”off”][et_pb_column type=”4_4″ disabled=”off” parallax=”off” parallax_method=”on”][et_pb_text background_layout=”light” text_orientation=”left” admin_label=”Text” use_border_color=”off” border_style=”solid” disabled=”off”]

เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ เรื่อง

ปัญญารัชต์ ลือวานิช ภาพ

 

หากคุณเคยแวะเวียนไปฟังงานเสวนาวิชาการหลากหลายหัวข้อ โดยเฉพาะงานที่จัดแถวท่าพระจันทร์และทุ่งรังสิต ชื่อของ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี น่าจะเคยผ่านตาอยู่บ้าง ในฐานะพิธีกร หรือผู้ดำเนินรายการในงานเสวนาที่งานชุกที่สุดคนหนึ่ง

ใช่ เราไม่ได้พูดเกินความจริง ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่แวะเวียนไปฟังอยู่บ้าง ภาพของชายตัวใหญ่ใส่สูทผู้ทำหน้าที่แนะนำ จับประเด็น โยนคำถาม ตัดเวลานักวิชาการในงาน กลายเป็นภาพจำของเขา (และเรา) ไปแล้ว

จากเด็กมัธยมที่จับพลัดจับผลูมาเรียนรัฐศาสตร์แบบไม่ได้ตั้งใจ กลายมาเป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่เข้ามาเคลื่อนให้แวดวงประชาธิปไตยไทยไหวกระเพื่อม จากนักศึกษาธรรมศาสตร์และพิธีกรงานรับเพื่อนใหม่ กลายมาเป็นนักข่าว คอลัมนิสต์ พิธีกรรายการออนไลน์ และล่าสุดในบทบาทที่เขาถนัด – นักหั่นเวลาผู้แจกไพ่ในมือให้คนรอบวงสนทนาในรายการ Tonight Thailand ทาง Voice TV

เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าในวัยยี่สิบต้นๆ ของเจนวิทย์ เขากำลังเลือกที่จะลงหลักปักฐานในบทบาทอะไร – สื่อมวลชน, นักกิจกรรม, นักพูด หรือพิธีกร

กว่าคำตอบสุดท้ายของเขาจะมาถึงคงอีกสักพัก แต่เราอยากพาคุณไปรู้จักตัวตนของเจนวิทย์ก่อนจะตัดสิน

เพราะไม่ว่าคุณจะเลือกให้เขาเป็น หรือเขาเลือกที่จะเป็นอะไรในตอนสุดท้าย

ทุกบทบาทบนเวทีของชายหนุ่มคนนี้ก็น่าสนใจมากพอที่คุณควรจับตา

 

ตอนที่ Voice TV โดนสั่งพักออกอากาศ คุณเริ่มทำ Tonight Thailand ไปได้กี่วัน

เริ่มไปแปดเทป เดือนนึงพอดี (หัวเราะ) จนโดนเค้าแซวว่าผมไปที่ไหนหัวหน้าแก๊งค์ตายหมด

 

 

 

บทบาทการทำงานการเมืองลดลงมากไหมหลังเริ่มเป็นสื่อมวลชนแบบเต็มตัว

น้อยลง จะไปเป็นพิธีกรแบบที่เคยทำตอนงานปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะออกไปเดินขบวนไม่ได้แล้ว อย่างน้อยที่สุดมันเป็นจรรยาบรรณอย่างหนึ่งว่าเราต้องอ่านข่าว จะมาอ่านข่าวที่เราออกไปเคลื่อนไหวเองก็เป็นตลกร้าย เลยทำให้เราได้ทำงานที่รักน้อยลง

แต่มันก็เป็นทางที่เราเลือกแล้ว ถึงจุดนึงถ้าคุณต้องการรายได้มาใช้ชีวิต เราก็ต้องบาลานซ์มัน แต่ผมก็ไม่เคยปฏิเสธ [งานเสวนา] นะ ทุกวันนี้ถ้าได้ไปช่วยงานน้องๆ แล้วมีค่ารถให้ ผมก็ให้เค้ากลับ หรือเอาไปเลี้ยงข้าวน้องๆ แถวนั้น เพราะถือว่าตัวเองมีงานอื่นๆ ที่ทำให้เรามีรายได้อยู่ เรารับงานด้วยความชอบ เร็วๆ นี้มีงานนึงต้องไปที่รังสิต ซึ่งจริงๆ เกลียดการไปรังสิตมากเพราะไกล แต่เราก็ไป เพราะเราชอบงานเสวนา

 

เขียนบรรยายตัวเองในเฟซบุ๊กว่าเป็นหลายอย่างมาก บอกได้ไหมว่าจริงๆ คุณนิยามตัวเองเป็นอะไร

ถ้าดูกันจริงๆ มันก็คือการพูดกับเขียน งานเขียนคือสิ่งที่กำลังเรียนอยู่และอยากเป็นในระยะยาว งานเขียนหลักคือธีสิสที่ไม่ค่อยก้าวหน้า (หัวเราะ) งานเขียนรองก็อย่างงานเขียนเรื่องเลือกตั้งสหรัฐฯเมื่อปลายปีที่แล้วที่เว็บไซต์โมเมนตัม กับงานเขียนเรื่องนายกรัฐมนตรีในรัชกาลที่ 9 ที่กำลังอยากทำเป็นซีรีส์ยาวๆ

ส่วนงานพูดก็เป็นสิ่งที่รัก มันแตกแขนงไปเรื่อยๆ หลังเรียนจบก็มาเป็นนักข่าว ทำทั้งพูด เขียน สัมภาษณ์ งานพิธีกรเสวนาซึ่งเป็นงานที่รักที่สุดก็ทำมาตั้งแต่มหาวิทยาลัย ทำไปทำมาก็ทำให้ได้เป็นพิธีกรในงานชุมนุมทางการเมืองบ้าง จนไปสู่การจัดรายการที่ Voice TV ส่วนรายการหมายเหตุประเพทไทย ที่ได้มาทำก็เพราะพี่แขก คำผกา และพี่ดอจ โปรดิวเซอร์รายการ เขาเห็นว่าน่าจะทำได้ แล้วก็เรียนปริญญาโท ค้นคว้างานอยู่บ้าง น่าจะมีเรื่องอะไรไปแชร์ไปคุยในรายการได้ก็เลยได้ทำ ก็เป็นโอกาสใหม่ๆ ที่ค่อยๆ ลากออกไปเรื่อยๆ ตลอดสามปีหลังเรียนจบปริญญาตรี

 

งานเขียนที่ทำอยู่ตอนนี้ศึกษาเรื่องนายกฯ ไทยกับในหลวงรัชกาลที่เก้า, เพลงเฉลิมพระเกียรติหลังสวรรคต, สื่อเฉลิมพระเกียรติแบบต่างๆ อะไรทำให้หันมาสนใจเรื่องแบบนี้

คณะที่ผมอยากเข้ามากๆ ตอนแรกคือคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการแสดงและกำกับการแสดงที่ มศว  ผมชอบดูละครเวที ชอบฟังเพลงละครเพลง ตอนเด็กๆตอนเรียนมัธยม ถ้า บอย – ถกลเกียรติ จัดแสดงละครเวที เราจะพยายามมาจากขอนแก่นเพื่อดูให้ได้ ความชอบดูตอนนั้น ทำให้อยากเรียนสาขานี้มาก  เลยเป็นความสนใจมาจนถึงตอนนี้

ลองมามองดูตัวเองย้อนหลัง ถ้าได้ไปทางนั้นเลยมันก็คงไม่ได้มาเจอเรื่องการเมืองแบบตอนนี้ คงไม่ได้เป็นผู้ดำเนินรายการ พระเจ้าคงจัดสรรมาแล้วล่ะ เพราะหลังจากไม่ติด มศว สอบตกรอบสัมภาษณ์ ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นก็มาติดที่ รัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เราเลยมาทางนี้เลย ตอนนั้นร้องไห้เสียใจอยู่หลายวันมาก แต่มาคิดตอนนี้ไม่มีอะไรต้องเสียใจเลย มันมีอะไรที่ไม่คาดว่าจะได้เจอเกิดขึ้นเยอะมาก

 

แสดงว่าก่อนหน้านั้นไม่ได้สนใจเกี่ยวกับการเมืองเลย

เหมือนผมมีชอยส์ไว้ในใจอยู่แล้ว อันนึงเป็นความรัก อีกอันเป็นจุดกึ่งกลางที่พอจะเป็นไปได้ระหว่าง ‘ความรัก’ กับ ‘ทำให้รักได้ – พอเรียนได้’  เลยติวรัฐศาสตร์ไว้ก่อน ได้ไม่ได้ก็ว่ากัน แต่ถ้าวันนั้นได้เรียนละคร ก็เอานะ

ผมมาเรียนติวเข้ารัฐศาสตร์ที่กรุงเทพฯ ตอนปี 2552 เป็นช่วงปิดเทอม ม.5 ขึ้น ม.6 เป็นช่วงที่การเมืองเริ่มแรงมาก เขาออกมาขับไล่อภิสิทธิ์กัน แล้วโชคดีด้วยว่าที่ที่เราไปเรียน เขาไม่ได้ติวข้อสอบอย่างเดียว แต่เป็นการติวในเชิงวิธีคิด เริ่มได้ฟังคนพูดเรื่องการเมือง เจอเพื่อนที่มาติวพูดเรื่องการเมือง เจออาจารย์ที่ชวนคุยเรื่องการเมือง บริบทแวดล้อมที่เจอตอนนั้นมันไม่พูดเรื่องการเมืองไม่ได้ ยิ่งมาเข้ารัฐศาสตร์ ใครบ้างจะไม่พูด

แต่ผมก็ไม่ทิ้งความฝันนะ พอเข้ามาเรียน ป.ตรี ที่รัฐศาสตร์ มธ. ก็ยังไปลงเรียนวิชาโทที่สาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มธ. ลงวิชาเน้นเขียนบทละครเวที เรียนเจ็ดตัวตลอดสี่ปีจนได้เป็นวิชาโท ไม่ได้ทิ้งสิ่งที่รักไปแบบชนิดตัดขาด

 

ถ้าได้เรียนละคร คิดว่าตอนนี้คุณจะเป็นยังไง

(หัวเราะ) คิดอยู่ตลอดเวลาเลยว่าจะเป็นยังไง ทุกวันนี้นั่งดูละครเวที ยังคิดถึงอนาคตในดินแดนฝั่งนั้นอยู่ตลอด เราทำอะไรอยู่วะ เขียนบท กำกับ หรือแสดง แสดงไม่น่า เพราะอ้วนมาก คงไม่ได้รู้จักขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คงไม่ได้ขึ้นปราศรัย คงไม่ได้เป็นพิธีกรงานเสวนา คงไม่ได้ทำงานที่ Voice TV เป็นไปได้ที่จะได้ไปทางละครเวทีฝั่งสถาบันปรีดีฯ แต่ตอนนั้นแนวคิดเรื่องละครเวทีของผมเป็นแนวแมสมาก พาณิชย์มาก รัชดาลัยมาก เป็นละครเพลงที่ไม่ได้มีแง่มุมเรื่องการเมืองอะไร ไม่แน่นะ ตอนนี้ผมอาจจะผลิตละครแนวอนุรักษ์นิยมอยู่ก็ได้

ผมชอบงานของบอยมาก เท่าๆ กับที่ตั้งคำถามกับงานของบอย รายงานวิชาปลายภาคปริญญาโท ผมเขียนเรื่องสี่แผ่นดินเวอร์ชั่นละครเวทีส่งอาจารย์ว่ามันผลิตซ้ำอุดมการณ์กษัตริย์นิยมอย่างไรบ้าง  ถูกผลิตขึ้นในบริบทที่เหตุการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างไร แล้วก็เขียนเล่าว่าสารของละครมันตอกย้ำถึงข้อเสียของระบอบประชาธิปไตยอย่างน่ากลัว แล้วพอคนบริโภคของแบบนี้มากๆ คิดเอาแล้วกัน สังคมเราจะเป็นแบบไหน

 

เขียนบทอะไรไปบ้างตอนที่เรียน

เป็นเรื่องการเมืองทั้งหมดเลย อาจารย์ก็จะรู้กันว่าผมจะส่งเรื่องการเมือง แต่เราก็ไม่ได้เล่าแบบตรงๆ ว่าพูดถึงเรื่องอะไร เป็นการใช้ความรู้จากรัฐศาสตร์มารวมกับเทคนิคละครเวที ตอนส่งงานเขาก็ใช้วิธีให้เพื่อนๆ ในคลาสมาช่วยกันอ่านบท จำได้ว่าผมเขียนบทเกี่ยวกับเสื้อสีบ้าง เกี่ยวกับกรอบรูปบ้าง

 

อยากเอามาเล่นจริงๆ ไหม

เยส (ตอบทันที) อย่างหนึ่งที่อยากทำแต่ไม่ได้ทำซักทีคือละครเวที ไม่ว่าจะการเป็นคนเขียนบทหรือนักแสดง เรามีความฝันอยากทำละครเพลง อยากเขียนบท อยากทำอะไรบางอย่างในวงการนี้

 

คิดว่าอีกนานไหมที่จะเป็นจริง

ใน 3-4 ปีนี้ต้องได้ทำ อันนี้ตอบไว้ก่อน ผมเจอพี่คาเงะ (ธีรวัฒน์ มุลวิไล) กับพี่จ๋า (จารุนันท์ พันธชาติ) จาก B-Floor ก็ยังแซวเค้าทุกครั้งว่าถ้ามีบทก็บอกหน่อย แต่ไม่น่าไปเต้นกับเขาได้ เจออาจารย์ที่เคยเรียนละครด้วยก็ยังแซวเค้าอยู่เรื่อยๆ เจอเพื่อนที่เรียนละครด้วยกันตอน ป.ตรี แล้วเขาจบมาทำละคร เราก็แซวเขาเมื่อเจอ

ที่บอกว่าธีสิสปริญญาโททำเรื่องสื่อเฉลิมพระเกียรติ ผมก็เลือกไม่กี่สื่อ เพลง ละคร ภาพยนตร์ ละครเวที โฆษณา มันคือสิ่งที่เราสนใจสมัยเรียนที่มางอกเงยเอา ณ ปัจจุบัน เราไม่ได้เรียน ไม่ได้ทำละครอย่างที่อยากทำ แต่มันก็มาออกผ่านสิ่งที่เราสนใจ

การเป็นพิธีกรบนเวทีก็อาศัยทักษะบางอย่างจากวิชาเขียนบท งานเขียนบทสุนทรพจน์ก็ด้วย อยู่บนเวที จะตรึงผู้ชมยังไงให้หัวเราะ ให้ดราม่า ให้ร้องไห้ มันก็ใช้เทคนิคจากวิชาเขียนบทละครวิชาละครเหมือนกัน มันเอามาใช้ได้เรื่อยๆ

 

 

จับมาหลายงานมาก พอจะบอกได้ไหมว่าสิ่งที่คุณชอบที่สุดตั้งแต่ทำมาคืออะไร

ผู้ดำเนินรายการในงานเสวนาคือสิ่งที่ผมชอบที่สุด ใครมาชวนไปทำงานนี้ก็จะไม่ปฏิเสธ

คือทำงานทีวีตัวเลขมันก็โอเค วันก่อนตอนเงินเดือนออกก็นั่งนึกถึงตัวเองตอนห้าปีที่แล้วที่เริ่มทำงานเสวนางานแรก นึกถึงงานที่ไม่มีค่ารถ ไปทำฟรีๆ เค้าชวนมาก็อยากไปทำ คือผมไม่ค่อยได้รับเป็นพิธีกรงานอื่น งานแต่งก็รับเฉพาะคนที่สนิทกัน แล้วก็ด้วยหุ่นผมด้วยมั้งที่คงไปเป็นพิธีกรงานเปิดตัวสินค้าหรืองานอีเวนต์ไม่ได้แน่ๆ แต่ในงานเสวนา เราไม่เคยพลาดเลยตั้งแต่ตอนนั้น ถ้าไปไล่ดูชื่อ ไปไล่ดูโปสเตอร์ก็จะเห็นผมแว้บไปแว้บมาตลอด เหมือนมันทำแล้วลงล็อก มันเลยทำมาตลอด

วันนี้ที่ทำ Tonight Thailand บทบาทก็คือการเป็น moderator ผมเลยนึกถึงงานฟรีๆ มากมายที่เราได้ทำไป ต้นทุนที่เราสะสมมา วันนึงมันทำเงินให้เราได้ แล้ววันที่รายได้มาประกบกับงานที่รักได้พอดี มันเป็นอะไรที่ดีมาก

มีงานนึงที่จำได้เลย 30 มิถุนายน 2556 จัดที่หอประชุมเล็กธรรมศาตร์ เป็นงานใหญ่มาก คนมาฟังกันเต็มทุกที่นั่ง น่าจะเป็นงานที่สามที่ได้ไปทำ วิทยากรมี สุลักษณ์  ศิวรักษ์, อลงกรณ์  พลบุตร, วีรพัฒน์  ปริยวงศ์, บก.ลายจุด, นายแพทย์ตุลย์  สิทธิสมวงศ์ มาเสวนากันหัวข้อ การเมืองกับอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ : ทิศทางอนาคต และการปฏิรูปการเมือง เท่าที่ดูชื่อคนมา กับชื่อหัวข้อ คุณจะทำยังไงที่จะรับมือเวทีนั้นได้ ในช่วงเวลาที่คนเห็นต่างกันมากๆ คนจัดกลัวคนฟังจะตีกันมาก เพราะมาจากทุกสี หรือกลัวคนฟังจะทำอะไรกับวิทยากรมาก พอพูดไม่ชอบใจ

ผมจำคำพูดของ ปรัชญา นงนุช เพื่อนผมที่ตอนนี้ไปเป็นผู้สื่อข่าวสายทหารที่ มติชน บอกว่า ‘ถ้าทำเวทีนี้ได้ เราจะทำเวทีที่เหลือต่อจากนี้ได้หมดเลย’ ผมรู้สึกว่าคำพูดนี้จริงมาก เพราะพอเริ่มต้นด้วยงานยาก คุณก็ได้ประสบการณ์ที่แข็งแรง งานที่เหลือมันยิ่งทำให้เราแข็งแรงไปเรื่อยๆ มันเป็นต้นทุนที่ดีมาก สรุปคืองานนั้นก็ราบรื่นดีไม่มีคนตีกัน เลยเป็นงานที่รักที่สุด ทั้งหมดนี้เริ่มจากต้นทุนที่ไปทำแบบฟรีๆ

 

อะไรเป็นสิ่งที่ผลักให้อยากไปทำทั้งที่ไม่ได้ผลตอบแทนเป็นเงินกลับมา

ไม่รู้ว่าเป็นคำตอบที่ดีไหม บนเวทีคุณได้ถือพลังอะไรบางอย่าง ได้จัดการเวที จัดการคนฟัง จัดการอารมณ์ของคน จับประเด็น ได้ฟัง ได้รู้จักนักวิชาการหลายคน ผมว่าเซนส์ของการได้ ‘จัดการ’ ทำให้เราได้วางแผนอะไรบางอย่าง ทางหนึ่งก็เหมือนเล่นละครเวทีนะ เราไม่ได้เรียนละครอย่างที่อยาก แต่เราก็ได้ทำอาชีพอะไรที่มันใกล้กับละครไม่น้อย เหมือนมันตอบสนองอะไรบางอย่างที่เราขาด

มันอาจเป็นการซ่อมแซมบางอย่างที่ขาดในใจเรามั้งว่าในอดีตเราไม่ได้ทำตรงนั้น แต่เราก็มีตรงนี้ ถ้าเป็นคนใกล้ตัวก็จะรู้ว่า ก่อนขึ้นเวทีแต่ละเวที ผมซ้อมมันเหมือนซ้อมละครเวทีเลย อย่าลืมว่าการเป็นพิธีกรงานเสวนาไม่มีบท มันคือการอิมโพรไวส์ไปกับการพูดคุยที่เกิดขึ้น ก่อนขึ้นเวทีผมเดินไปไหนก็คิดตลอดว่าตอนต้นจะพูดอะไร จบจะพูดอะไร จะจัดการเวทียังไง บางทีก่อนงานเริ่มจะเห็นผมยืนพูดอยู่คนเดียว หรือเดินไปไหนมาไหนก็จะพูดไปเรื่อยๆ ซ้อมจังหวะ ซ้อมประโยค ขอให้รู้ว่าไม่ได้บ้า แต่กำลังซ้อมอยู่

ตอนเรียนละคร ในคลาสวิชาการแสดง มีประโยคหนึ่งที่ครูเคยสอน บอกว่า จงซ้อม ซ้อมและซ้อม ถ้าเราซ้อม 120% บนเวทีเราพลาด 40% มันก็ยังดีสัก 80% แต่ถ้าซ้อมแค่ร้อย แล้วคุณพลาด 40% คุณดีแค่ 60% นะ คุณจะเอาแบบไหน ผมเลยคิดเรื่องการเป็นผู้ดำเนินรายการในงานเสวนาเหมือนทำละครเวทีมาก ต้องขอบคุณครูละครในคลาสนั้น

 

เป็นพิธีกรงานเสวนาหลายหัวข้อ แสดงว่าคุณต้องเป็นคนที่รู้รอบมากเลยใช่ไหม

เราเดินไปด้วยความสงสัยมากกว่า ไม่น่าจะเรียกว่ารู้รอบ เวลานั่งอยู่บนเวทีต้องคิดว่าตัวเองเป็นคนฟัง ถ้ามีศัพท์บางคำที่เค้าไม่รู้เรื่อง หน้าที่ของเราคือพยายามคิดอย่างคนฟัง ทำหน้าที่แทนเค้า ไม่รู้ก็ต้องถาม แต่ก็ต้องรู้แบคกราวด์

แต่ก่อนผมเตรียมบทพูดหนักมากเลยนะ สามนาทีแรกจะพูดเรื่องอะไร ใครจะพูดอะไรต่อ ผมพิมพ์บทหนักมาก แต่หลังๆ ก็เตรียมน้อยลง ไม่ใช่เพราะเจนเวทีแล้ว ทำบ่อยแล้ว แต่เพราะรู้สึกว่าวงเสวนาที่ดีคือวงที่เจอของสดๆ ได้แลกเปลี่ยนในช่วงเวลานั้น ฟังตอนนั้น ถามตอนนั้น เราไม่เข้าใจอะไรก็ถามกลับ มันเลยไม่จำเป็นต้องรู้ลึก แต่ต้องมีประเด็นคำถามในใจ คำถามอะไรที่ถามแล้วมันส์ ถามแล้วทำให้วงไม่เงียบ ถามแล้วตื่นตัว กระตุ้นให้มีจุดเดือดตลอดเวลาในงาน

ช่วงแรกๆ ผมให้เวลาวิทยากรบนเวทีคนละครึ่งชั่วโมง ตอนนี้เหลือแค่แปดนาที เพราะยิ่งสั้นก็ยิ่งดี เราจะได้เหลือเวลาพูดคุยกันมากขึ้น หรือถามตอบกันมากขึ้นในตอนสุดท้าย ถ้าใครเคยมาฟังงานที่ผมเป็นพิธีกรจะรู้ว่าผมชอบหั่นมาก ไม่เกรงใจ เพราะเราทำหน้าที่ตรงนี้ เรามีหน้าที่ตัดเวลา เราต้องใช้อำนาจที่มีบนเวทีจัดการให้อยู่ในความสงบ แต่ก็ต้องพุ่งถึงจุดเดือดอยู่เป็นระยะในความสงบนั้น ผมดูหน้าคนฟังนะ ถ้าหน้าเขาไม่รับแล้ว อยากกลับแล้ว ผมต้องทำอะไรสักอย่าง แต่ถ้าหน้าเขาสนุกอยู่ ผมก็กระตุ้นไปอีกทาง

 

เคยลองถามคนที่มาชวนไหมว่าทำไมเขาถึงเลือกคุณ

ต้องลองไปถามคนอื่นๆ (หัวเราะ) ไม่ใช่เพราะเป็นนักหั่นเวลาหรอก พูดว่ายังไงดี… (นิ่งคิด) ผมก็ไม่เคยถามเขานะ คงเพราะทำมาเรื่อยๆ มั้ง

 

มีสิ่งที่คุณเคยทำพลาดแล้วได้เรียนรู้จากมันบ้างไหม

เยอะมาก (หัวเราะ) เช่น มีเรื่องนึงที่ผมไม่ค่อยบอกใครเลย อ.ปกป้องคงลืมแล้ว แต่ผมจำได้แม่นและรู้สึกขอบคุณ ตอนนั้นผมเป็นนักข่าว ได้สัมภาษณ์พี่เป็ด – วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง แล้วเอาไปพาดหัวข่าวซึ่งมันเกินไปจากที่เราสัมภาษณ์ เอาตรงๆ คือมัน Misleading เลย  แต่ตอนนั้นเป็นนักข่าวได้ไม่กี่เดือน คิดแค่ว่าทำให้มันดราม่าขึ้นจะได้ดึงดูดคนให้มาอ่าน หลังจากนั้นไปเจอ อ.ปกป้อง จันวิทย์ ที่งานเลี้ยงส่ง มาร์ก ศักซาร์ ไปอินเดีย ถ้าจำวันไม่ผิดคือ 28 มกราคม อาจารย์ก็บอกว่าเค้ามีความคาดหวังต่อผม แล้วก็เล่าว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมไปทำให้ดราม่าเกินจริง

ประโยคหนึ่งที่อาจารย์พูดแล้ว ผมจำได้เลยคือ ประมาณว่า ‘อยากให้คนจำชื่อเจนวิทย์แบบไหน อยากให้คนพูดถึงคุณแบบไหน นักข่าวคนนี้มันทำข่าวเกินจริง พาดหัวทำให้คนเสียหาย ต่อไปคนก็จะไม่อยากให้สัมภาษณ์กับคุณ คุณจะทำให้คนพูดถึงคุณแบบนั้นเหรอ’ เป็นหนึ่งในเป็นวันที่สำคัญมากตลอดการนักข่าวหนึ่งปีครึ่งของผม ผมได้รับคำเตือนเร็ว เลยปรับตัวได้เร็ว เลยแก้ได้เร็ว แล้วก็ยึดถือมาตลอดในทุกการทำงาน

หรือพี่เป๋า – ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก ilaw เขาหวังดีกับผมมาก หลังงานคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ที่เราจัดกันเมื่อต้นปี 2559 เพื่อระดมทุน หลังงานจบ วันต่อมา พี่เป๋าโทรหาผมเลย บอกว่ามีเรื่องอยากแนะนำ วันนั้นฟังผมแล้วต้องเดินออกจากหอประชุมเลย เพราะมันกึกก้องตลอดเวลา เรียกร้องพลังงานจากคนฟังตลอดเวลา อยากเห็นผมผ่อนหนัก ผ่อนเบา ใช้หลายจังหวะ ไม่ใช่รุกเร้าหนักแน่นอยู่ตลอดเวลา อะไรแบบนี้ก็จำถึงทุกวันนี้

 

อะไรทำให้คุณกล้าออกไปเป็นพิธีกรในงานปราศรัยทางการเมือง

ทุกวันนี้ยังคิดอยู่เลยนะว่าตอนโรม (รังสิมันต์ โรม) ชวนไป ผมคิดอะไรอยู่ ก่อนหน้านั้นผมไม่เคยรับงานปราศรัยอย่างนี้เลย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นงานแรกที่พูดต่อหน้ามวลชน จำได้ว่ามันเป็นงานในปี 2558 เนื่องในโอกาส 9 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย. งานนั้นก็ทำให้มีงานถัดๆ มา คนจัดเค้ามาบอกว่าที่ได้ไปเป็นพิธีกรงานปราศรัย งานชุมนุมถัดๆ มาก็เพราะเราเอาเวทีวันนั้นอยู่ เรารับมือกับคนจำนวนมากได้ ก็น่าจะทำงานต่อๆ ไปได้

การทำเวทีนั้น ทำให้เรารู้ว่า เราก็สามารถทำงานได้อีกหนึ่งแขนงคือ งานปราศรัย งานพิธีกรในงานชุมนุมทางการเมือง งานแรกผ่านไปมันก็เซอร์ไพรส์ตัวเอง เป็นอีกพาร์ทนึงที่เราทำได้ เพราะบนเวทีปราศรัยต้องใช้ความสามารถหลายแบบมาก บางช่วงต้องนำคนร้องเพลง ต้องช่วยอ่านกลอน ต้องช่วยไฮด์ปาร์ก พาเค้าพูดประโยคซ้ำๆ มันคือเวทีปราศรัยที่คุณเห็นจากการชุมนุมทางการเมืองเลย

และผมก็ย้ำอีกครั้งว่าเทคนิคเหล่านี้มาจากความรักในละครจากอดีต งานแบบนี้เขียนบทไม่ได้ แต่คุณเรียนมา คุณรู้ว่าจะทำอย่างไร เมื่อไหร่ที่จะให้คนฟังเศร้า สนุก รู้สึกสู้ด้วยประโยคแบบไหน ถ้าคุณเสพตัวอย่างที่ดีมามากพอ คุณก็จัดการเวทีให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้

 

เคยกลัวไหม เพราะก็เสี่ยงอยู่เหมือนกัน

หลังงานปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปลายปี 2558 ผมถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติที่ สน.ชนะสงคราม มีทนายพี่แอน จากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนไปเป็นเพื่อนกัน ตอนนั้นก็ปิดเฟซบุ๊กไปช่วงนึง ไม่ได้บอกใคร เงียบไปเลยสามเดือน เหตุผลของคือตำรวจคือเขาโดนทหารสั่งมา เค้าถอดเสียงคำปราศรัยของเราแบบละเอียดมาก คำต่อคำ แล้วบอกว่าจะพูดอะไรก็ได้ แต่อย่าพูดถึงนายของเค้า อย่าพูดถึงทหารในทางที่ไม่ดี

มันก็กระทบชีวิตเราไปช่วงนึง ปิดเฟซบุ๊กปิดทวิตเตอร์ไปอยู่เงียบๆ แต่งานการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ ถ้าคุณเหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยแล้วค่อยกลับมา ใครทำอะไรได้ก็ทำไป พูดไม่ได้ ก็เขียน

ช่วงที่หยุดพักไปสามเดือนคิดอะไรในตอนนั้น

ทุกวันนี้พยายามทำให้ตัวเองเป็นคนเปิดและปิดลิ้นชักเร็ว เปิดให้เร็ว ปิดให้เร็ว รับเข้า ออกเร็ว ไม่เอาความทุกข์ ความเครียดอยู่กับตัวไว้นาน คนสอนเรื่องนี้คือพี่แอน จากศูนย์ทนายฯ นอกจากเขาเป็นทนาย ตอนนี้เขาก็กลายเป็นที่ปรึกษาชีวิตไปด้วย

ตอนนั้นซัฟเฟอร์จากการพูด คิดไปคิดมาเยอะมากๆ เปิดปิดลิ้นชักยังไม่เร็ว กลัวด้วย เครียดด้วย ทำไมสังคมเป็นแบบนี้ จะพูดเรื่องนี้ก็พูดไม่ได้ เราก็พัก สองสามเดือนนั้นก็กลับไปบ้านที่ขอนแก่น อ่านหนังสือ ทำงานที่ต้องส่ง คือหายไปเลย แต่ถ้าเจอเหตุการณ์แบบเดิมวันนี้ คงพักสามวันไม่ถึงสามเดือน เพราะเดี๋ยวนี้เปิดปิดลิ้นชักไวมาก

แต่ก็ค้นพบว่าเรายังต้องพูดต่อด้วยวิธีการที่แยบยลขึ้น ตอนเค้าบอกผมว่าอย่าพูดชื่อทหารคนนั้นคนนี้ ผมบอกว่า ผมไม่พูดก็ได้ แต่ก็มีวิธีอีกมากที่จะสื่อให้เห็นว่าคนที่ผมพูดถึงคือใคร วันก่อนเพิ่งพูดกับเพื่อนว่า ยิ่งเราอยู่กับระบอบเผด็จการนานเท่าไหร่ มันยิ่งทำให้เราเรียนรู้วิธีการพูดที่หลากหลายขึ้นมากเท่านั้น อยู่บนเวทีเสวนาจะทำยังไง ให้มันจัดต่อไปได้จนจบโดยไม่มีใครถูกฟ้อง จะตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจในรายการยังไง ให้ไม่มีคนเดือดร้อน

มันบีบให้เราหาวิธีการพูดที่เราได้พูดเรื่องนั้นแล้วใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่มีอะไรเกิดกับตัวเอง หรือมีก็ให้น้อยที่สุด

เราก็รอวันนะ วันนึงที่จะสว่างไสว ให้เราพูดได้ด้วยภาษาแบบเดิม แต่ระหว่างนี้ จะพูด ‘อย่างไร’ ก็สำคัญพอๆ กับการพูด ‘อะไร’ วันที่โดนเรียกไปวันนั้นก็ทำให้ได้คิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนวิธีการพูดต่อไปยังไงในสังคมนี้ เหมือนเป็นการเรียนรู้แบบนึง แต่ถ้าให้ดี ก็ควรจะออกไปซะทีนะ (หัวเราะ)

 

เหนื่อยบ้างไหมเวลาเห็นสังคมยังอยู่กับที่ ทั้งที่ทำอะไรไปเยอะแยะ

เหนื่อยน่ะดีแล้ว ยิ่งเหนื่อย ชีวิตก็ยิ่งตื่นเต้น มีชีวิตชีวา ดีกว่านอนซม มันก็มีช่วงเบื่อบ้าง เจอหน้าคนเดิมๆ ก็บ่นว่าไม่ไปถึงไหนเลยวะ สามปีแล้วยังอยู่กับที่ อย่างที่รู้ว่าเพดานเรายิ่งต่ำลงทุกวัน เจอหน้าใครตอนนี้ก็ทำได้แค่บอกว่ารักษาเนื้อรักษาตัว เพราะเพดานมันก็ต่ำลงเรื่อยๆ

สมัยเรียนปริญญาตรีมีบทความชิ้นนึงที่ทำแต่ไม่ได้ตีพิมพ์ ส่งประกวดได้รางวัล แต่โดนแบนจากคณะรัฐศาสตร์จนไม่ได้ตีพิมพ์ คณบดีกับรองคณบดีก็เรียกพบ เค้าบอกว่ามันเป็นงานที่ดี เห็นความพยายาม เห็นการค้นคว้า แต่เสี่ยงเกินไป ส่งผมไปคุยกับ อ.ประจักษ์ (ก้องกีรติ) อาจารย์ก็บอกว่าเขาบอกรองคณบดีไปแล้วว่างานนี้ไม่ได้มีปัญหาในทางวิชาการ ถ้ามองบนฐานวิชาการไม่มีปัญหาอะไรเลย

แล้วเขาก็บอกผมว่า ‘ขอให้มองมันเป็นการต่อสู้ในการเมืองวัฒนธรรม นี่จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องค่อยๆ ขยับเพดานทางสังคมขึ้นไปเรื่อยๆ วันนี้มันมีเรื่องที่เราพูดไม่ได้ ก็ยอมรับว่ามันพูดไม่ได้ในช่วงนี้ แต่หน้าที่เราคือต้องพยายามขยับเพดานขึ้นไปเรื่อยๆ’ นี่เลยเป็นอีกประโยคที่ผมยึดถือมาจนถึงตอนนี้ สิ่งที่เราทำอยู่ มันคือความหวังว่าเพดานที่ต่ำลงมันต้องสูงขึ้น ค่อยๆ ขยับผ่านงาน คุณไปเป็นพิธีกรบนเวที พูดอะไรออกไปก็เหมือนไปชวนให้คนได้คิดกัน  ตั้งคำถามในวงเสวนากันไว้ ทำงานเขียนก็ตั้งคำถามกันไว้  เพดานมันต่ำ แต่เราก็ต้องผลักกันไป

เหมือนจัดรายการที่ Voice TV ไม่ต้องพูดอะไรเยอะ คนฟังเขารู้ เมื่อเพดานมันต่ำขนาดนี้ เมื่อการพูดอาจทำให้ชีวิตของคุณไม่ปลอดภัยได้ สิ่งที่คุณต้องคิดต่อก็คือ ได้โปรดต่อจิ๊กซอว์กันเอา ให้จิ๊กซอว์แต่ละชิ้นค่อยๆ ประกอบเป็นภาพ แล้วเล่าเรื่องของมันเอง ผมอ่านคอมเม้นต์เวลาจัดรายการ คนฟังเขาต่อจิ๊กซอว์เก่งมาก เขารู้คำตอบของหลายๆ คำถาม

 

อยู่กับเวทีต่างๆ มานาน คำแนะนำที่อยากจะให้กับนักต่อสู้ทางการเมืองรุ่นใหม่ๆ คืออะไร

ผมก็รุ่นใหม่นะ ให้คำแนะนำใครไม่ได้ คนที่ให้คำแนะนำ หรือคติกับเราได้ คือการมองดูไผ่ ดาวดิน อันนี้เขาข้ามพ้นการต่อสู้ไปอีกขั้นเลย ผมไปสัมภาษณ์นักเขียนหลายคน ถามเขาให้พูดถึงไผ่ ทุกคนแสดงความนับถือไผ่หมด นักเขียนซีไรต์คนหนึ่งบอกว่า “ไผ่ เป็นคนที่เขาสามารถยกมือไหว้ได้” ผมไปเยี่ยมไผ่ หน้าเขาแจ่มใสมาก ขอบอกทุกคนสามารถใช้เรื่องเขาต่อสู้กันข้างนอกได้เลย (ไปชมคลิปกันได้ที่เพจไรท์เตอร์) ผมเลยคิดว่า นักกิจกรรมทั้งหลายก็ดูไผ่แล้วกันว่า เดิมพันการต่อสู้ของเขาสูงขนาดไหน

และแน่นอนแต่ละคนมีลิมิตไม่เท่ากัน วิธีการสู้เองก็มีหลายแบบ บางคนออกหน้า บางคนออกหลัง ถ้าพูดไม่ได้ก็ไปเขียน บังเอิญว่าผมถนัดพูด ผมก็มาช่วยเรื่องการพูด ใครถนัดอะไรก็ออกมาช่วยกัน ล่าสุดเขาก็ชวนไปเป็นพิธีกรในวงเสวนา ครบรอบ สามปีรัฐประหาร 22  พฤษภาคมนี้

ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเราไม่ได้แบกสังคมอยู่คนเดียว ทุกคนช่วยกันแบก ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน เหนื่อยก็พักบ้าง กลับมาเคลื่อนไหวบ้าง ทำอย่างอื่นสลับไป

ตอบตัวเองได้หรือยังว่าอยากให้คนจำเจนวิทย์ในฐานะอะไร

อยากให้คนชวนไปทำงานพิธีกร ผู้ดำเนินรายการในงานเสวนาไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) ผมจะได้มีลิสต์ยาวเป็นหางว่าวว่าได้ทำงานเสวนา เท่าที่ประเทศนี้มีการจัดงาน ส่วนงานการเมืองถ้าเคลื่อนไหวได้น้อยลงก็ไปทำด้านอื่นๆ ทำงานเขียน ทำงานผ่านความคิดบ้าง ทั้งหมดคือการสู้ทางความคิดในอีกทางนึง

ทุกวันนี้มีหลายคนที่กำลังจะไปเป็นพิธีกรงานเสวนามาถามผมว่าควรทำอย่างไรดี ผมก็พิมพ์กลับไปว่าควรเตรียมตัวยังไงบ้าง หลังๆ เริ่มก็อปแปะแล้วว่าควรทำประมาณนี้ ไม่รู้ว่าเรียกว่าโค้ชได้มั้ย แต่ก็เออ… มีคนนึกถึงด้วยเว้ย โมเมนต์อะไรแบบนี้คงบอกได้แหละว่าคนจำเราในแบบไหนอยู่

 

ว่าแต่คุณมีชื่อเล่นไหม เห็นคนเรียกว่า เจนวิทย์ตลอดเลย

คนเรียกเจนวิทย์หมดเลยครับ มีน้อยมากที่เรียก ‘เป๊ปซี่’ ที่เป็นชื่อเล่นจริงๆ ยุคนั้นเป๊ปซี่ดังมาก พ่อเลยตั้งชื่อว่าอย่างนี้ เพราะสโลแกนมันคือ ‘เป๊ปซี่ดีที่สุด’ แต่ไม่ค่อยมีคนเรียกชื่อเล่น จริงๆ มีคนพยายามเรียกชื่อเล่น แต่ผมก็บอกว่าอย่าเรียก เพราะหมอดูบอกให้เรียกชื่อจริง (หัวเราะ)

 

[/et_pb_text][et_pb_text background_layout=”light” text_orientation=”left” admin_label=”box” background_color=”#eaeaea” use_border_color=”off” border_color=”#969696″ border_style=”solid” custom_margin=”|10px||10px” custom_padding=”10px|10px|10px|10px” disabled=”off”]

เมาท์กลุ่มแอคทิวิสต์ไทยให้เราฟังหน่อย

มีไม่กี่เรื่องหรอก แอคทิวิสต์ไทยฝ่ายประชาธิปไตยเป็นพวกที่ไม่มีระเบียบ ไม่ตรงต่อเวลา บางคนก็ใช้ได้ แต่บางคนนี่ดาเมจ แต่ผมว่าเป็นบุคลิกที่ดีนะ จะหัวเราะเวลาพูดเรื่องนี้ อีกอย่างก็คือชอบทะเลาะกันเอง มีความสามารถในการทะเลาะกันเองสูงมาก มันเป็นอัตลักษณ์ของเรานะ ก็ยอมรับได้ และคิดว่าหลายคนรับได้ มันทำให้ข้อถกเถียงของพวกเราไปไกลขึ้นเรื่อยๆ แต่ส่วนตัวผมเบื่อนะ ลึกๆชอบความสามัคคี (หัวเราะ)

วิธีจัดการกับคู่เกาเหลาบนเวทีเสวนาของคุณคืออะไร

เค้าเป็นมืออาชีพ มีกัดๆ แซวๆ บ้าง แต่ก็ไม่มีมาทะเลาะกันนะ แต่ละคนบนเวทีก็มีหน้ากากที่ต้องใส่ ละครที่ต้องเล่น เค้าทะเลาะกันขนาดไหนจะไม่มาโชว์ข้างหน้า หลังไมค์เค้าคุยกันตลอดเวลา สิ่งที่ต้องจัดการคือคนฟังข้างล่างต่างหาก เพราะถ้าเค้าไม่ถูกกับคนข้างบน เราจะไปยังไงต่อ บางทีมันก็เตือนเราว่าอย่าไปทำให้เดือดมากจนเกินไป

คุณอยากเชิญใครมาพูดในงานเสวนาในฝันของตัวเองบ้าง

ในช่วงชีวิตนี้อยากเห็นวงเสวนานึงที่มี เกษียร เตชะพีระ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับธงชัย วินิจจะกูลมาอยู่บนเวทีเดียวกัน ที่ผ่านมาเราจะเห็นเค้าตอบโต้กันผ่านงานเขียน ผ่านเฟซบุ๊ก แต่ไม่เคยเห็นมาคุยบนเวทีเดียวกันเลย

ส่วนเรื่องที่อยากให้คุยกัน คงเป็นหัวข้อที่ตอนนี้จัดไม่ได้เลยน่ะครับ (หัวเราะ)

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save