fbpx

Life : Editor’s Note “Isolation Issue”

1

ความโดดเดี่ยวเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับมนุษย์

ไม่ใช่ตลอดเวลา, แต่เป็นบางครั้งคราว

โธมัส เมอร์ตัน (Thomas Merton) ซึ่งเป็นพระชาวเดนมาร์กและนักเขียนผู้ชอบใช้ชีวิตอยู่โดดเดี่ยว เคยบอกเอาไว้ว่า – เราไม่อาจเห็นสรรพสิ่งอย่างที่มันเป็นได้จริงหรอก หากเราเอาแต่กอดมันไว้แนบอก

นี่เป็นความจริงอย่างยิ่ง และสิ่งที่เรามักกอดเก็บเอาไว้แนบอกมากที่สุด – ก็คือตัวของเราเอง

 

2

ในศาสนาพุทธ การภาวนามักเป็นเรื่องโดดเดี่ยว ต้องปลีกวิเวกไปอยู่ลำพัง อยู่กับความเงียบ อยู่กับการมองดูความคิดของตัวเองที่ไหลเวียนไปมาไม่สิ้นสุด

ในศาสนาคริสต์ การ ‘เข้าเงียบ’ เพื่ออยู่ลำพังกับตัวเอง เพื่อครุ่นคิดพิจารณาเรื่องราวของชีวิต เพื่อสนทนากับความเป็นไปภายใน เป็นกิจสำคัญที่หลายคนต้องทำอยู่บ่อยๆ

ในบางครั้ง เมื่อตื่นขึ้นมากลางดึก โลกนิ่งสงัด และคุณชงเครื่องดื่มร้อนๆ ไปนั่งอยู่บนโต๊ะในครัว – ตามลำพัง, คล้ายไม่มีใครในโลก คุณอาจตระหนักถึงการดำรงอยู่ของตัวเองมากเสียยิ่งกว่าเมื่อวิ่งวุ่นอยู่กับโลกเพื่อพยายามดำรงอยู่

สำหรับบางคน การอยู่ลำพังจึงเป็นกระบวนการภายในที่ลึกซึ้ง แต่กับอีกบางคน การอยู่ลำพังอาจคือการเผชิญหน้ากับความจริงบางอย่างที่หนักหนาสาหัสเกินไป

 

3

ความโดดเดี่ยวเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับมนุษย์

แต่แน่ละ – ไม่ใช่ตลอดเวลา และยิ่งไม่ใช่ความโดดเดี่ยวที่เลือกไม่ได้

ในโลกนี้ โทษทัณฑ์ร้ายกาจที่สุด – ก็คือการมอบความโดดเดี่ยวที่ไม่ได้เลือกให้กับผู้ถูกลงโทษ ยิ่งความโดดเดี่ยวนั้นยาวนานเพียงใด ความร้ายกาจก็ยิ่งทบทวีจนอาจถึงขั้นบ้าคลั่งได้

บางคนอาจพูดอย่างเด็ดเดี่ยวและเข้าใจถึงความจริงแห่งชีวิตว่า I am going to die alone แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่พูดอย่างนั้นไม่ได้ สิ่งที่พวกเขาพูดบ่อยครั้งกว่า ก็คือ – I am going to die IF I am alone

สองประโยคนี้มีรูปประโยคที่ดูคล้ายคลึงกัน ใช้คำซ้ำๆ กัน แต่สารัตถะที่ซ่อนอยู่ข้างใต้แตกต่างกันเหลือเกิน

สิ่งสำคัญไม่ใช่การพยายามบอกว่า ประโยคไหนถูก ประโยคไหนผิด แต่สิ่งสำคัญคือการพยายามหาความหมายที่ซ่อนอยู่ของทั้งสองประโยค เพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับผู้คนทั้งสองแบบ – ที่ต่างก็เป็นมนุษย์

คำถามสำคัญก็คือ มนุษย์ทุกวันนี้โดดเดี่ยวมากขึ้นหรือเปล่า

คนที่ศึกษาเรื่อง ‘ความเหงา’ และน่าจะรู้เรื่องนี้มากที่สุดในโลกคนหนึ่ง ก็คือ John Cacioppo แห่ง Center for Cognitive and Social Neuroscience ในมหาวิทยาลัยชิคาโก เขาศึกษาเรื่องความเหงามานานกว่า 20 ปี และแม้เป็นตัวเลขของคนอเมริกัน แต่ก็น่าจะพอสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างที่ละม้ายคล้ายคลึงกับสังคมไทย

คาซิออพโพบอกว่า ในยุคเจ็ดศูนย์ถึงแปดศูนย์ คนที่บอกว่าตัวเองเหงานั้นมีอยู่ระหว่าง 11%-20% (ขึ้นอยู่กับการสำรวจในแต่ละครั้ง) แต่ในปี 2010 มีการสำรวจพบว่าตัวเลขพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ราว 40%-45% (ต้องบอกด้วยนะครับ ว่าตัวเลขนี้สำรวจในผู้สูงอายุ) โดยมีตัวเลขเฉลี่ยในระยะยาวอยู่ที่ 26%

ความเหงาคือการ ‘รับรู้’ ถึง ‘ความโดดเดี่ยวทางสังคม’ (Social Isolation) ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่วิวัฒนาการของมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์ฝูง เมื่อไหร่ก็ตามที่มนุษย์พลัดจากฝูงไประยะหนึ่ง สมองจะสั่งการให้มนุษย์เกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมา ทำให้โหยหา มองหา และกระหายหิวการกลับเข้าสู่กลุ่ม มีการสำรวจการทำงานของสมอง พบว่าสมองของสัตว์อื่นๆ ที่อยู่เป็นฝูง ก็ทำงานในลักษณะเดียวกันด้วย แม้กระทั่งในปลา หนู และสัตว์ประเภทไพรเมตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมนุษย์นั้นถ้าอยู่ลำพังก็มักทำอะไรไม่ได้ หากพลัดหลงจากฝูง ที่สุดก็มักต้องตาย ดังนั้น ความเหงาจึงเป็นกลไกการรวมฝูง และเพราะดังนั้น การที่ใครจะโดดเดี่ยวใครออกจากกลุ่ม จึงเป็นเรื่องเจ็บปวดร้าวราน เนื่องจากมันคือการย้อนรอยวิวัฒนาการไปสู่ความเป็นความตาย เพราะการโดดเดี่ยวใครจากฝูงเท่ากับการฆ่า

แล้วเพราะอะไร มนุษย์ในยุคปัจจุบันที่น่าจะยิ่งมีวิวัฒนาการสูงขึ้นเรื่อยๆ – จึงรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากขึ้นเล่า

เป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่ความพยายามจะ ‘ไม่เหงา’ ด้วยการมีชีวิตที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายเหมือนชีวิตสมัยใหม่ในเมืองทุกวันนี้ – จะส่งผลตรงข้าม

แมทธิว โบวเคอร์ (Matthew Bowker) นักจิตวิเคราะห์และนักทฤษฎีการเมืองจาก Medaille College บอกว่า ในการทดลองหนึ่ง อาสาสมัครเลือกที่จะถูกไฟฟ้าช็อตมากกว่าที่จะเผชิญหน้ากับความเหงาและอยู่ลำพังกับความคิดของตัวเอง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราอาจเป็นโรคกระหายหิวการเข้าสังคมมากถึงระดับที่โบวเคอร์เรียกว่าเป็น Groupish Society คือเป็นสังคมรวมฝูง จนยอมแลกด้วยอะไรก็ได้

แต่เพราะอย่างนั้นนั่นเอง ที่ทำให้เรากลับรู้สึกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น

มันอาจเป็นเหมือนที่ โธมัส เมอร์ตัน บอกไว้ก็ได้ว่า – เราไม่อาจเห็นสรรพสิ่งอย่างที่มันเป็นได้จริงหรอก หากเราเอาแต่กอดมันไว้แนบอก

การไม่ยอมมองความเหงาและความโดดเดี่ยว การไม่ยอมเผชิญหน้ากับมันอย่างแท้จริง อาจมีผลทำให้เรายิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวในท่ามกลางความวุ่นวายก็ได้ โบวเคอร์บอกว่าการที่เรา ‘ไม่ไว้ใจ’ ความโดดเดี่ยว ทำให้เรายอมสละ ‘สิทธิ’ ที่จะได้อยู่โดดเดี่ยวในบางคราว ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์มากพอๆ กับการอยู่รวมฝูงด้วย

 

4

ความโดดเดี่ยว การแยกขาด ความเหงา โรคซึมเศร้า ความเศร้าสร้อย เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

101 จะชวนคุณไปสำรวจมิติต่างๆ ของสิ่งเหล่านี้ ที่เราเรียกรวมๆ ว่า Isolation ในช่วงเวลาสองสามสัปดาห์นับจากนี้

ดูเผินๆ เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นปัญหาคนเมืองที่น่ายิ้มขันใส่ แต่แท้จริงแล้วกลับสลับซับซ้อน และเป็นหนึ่งในปัญหาที่จัดการยากที่สุดของมนุษย์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

ไปติดตามกันครับ

MOST READ

editor's note

9 Mar 2022

‘นโยบายสาธารณะ’ ไทยในโลกใหม่: เปิดตัว ‘101 PUB’ – 101 Public Policy Think Tank

101 เปิดตัว 101 PUB ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทำงานบนฐานวิชาการ การพัฒนา และประชาธิปไตย

ปกป้อง จันวิทย์

9 Mar 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save