fbpx

Life : Editor’s Note “Coming of Age Issue”

มนุษย์ในแต่ละช่วงชีวิต มี ‘หมุดหมาย’ แห่งการเติบโตของตัวเองอยู่

เรามักหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองเสมอ จากการเป็นเด็ก ก้าวเข้าโรงเรียน เรียนจบ เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เรียนจบอีกครั้ง แล้วกระโจนก้าวใหญ่เข้าสู่โลกแห่งการทำงาน เพียงเพื่อจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และพานพบกับความเจ็บปวดในการเติบโตนั้น – ครั้งแล้วครั้งเล่า

Coming of Age เดิมทีใช้เรียกสภาวะที่ ‘เด็ก’ เติบโตเป็น ‘ผู้ใหญ่’ นั่นคือ Age (หรือวันวัยแห่งการแก่ตัว) ได้เดินทางมาถึงแล้ว

นี่คือช่วงเวลาอันเปราะบาง พร้อมหักพักแหลกสลาย พร้อมเกิดร่องรอยขีดข่วน สร้างบาดแผลและความบกพร่องเว้าแหว่งหลากหลายขึ้นกับชีวิต ดังนั้น ในหลายวัฒนธรรมจึงมีประเพณีในการประคับประคองช่วงเวลานี้แตกต่างกัน

ในศาสนาคริสต์ เด็กที่อายุครบ 7 ขวบเป็นต้นไป จะถือว่าเริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้ว สามารถสารภาพบาปที่ตัวเองทำผิดได้ ได้รับศีลที่เรียกว่า ‘ศีลกำลัง’ เพื่อเป็นการเสริมกำลังใจและความแข็งแกร่งให้กับด้านใน เพื่อจะก้าวเข้าช่วงเวลายากยิ่งของชีวิต ซึ่งก็คือช่วงวัยรุ่น

ในศาสนาพุทธก็เช่นกัน การประคับประคองผู้คนเกิดขึ้นผ่านการบวช คือการ ‘ย้าย’ จากอยู่กับพ่อแม่เข้าไปอยู่ในการอบรมเลี้ยงดูของศาสนา ไปอยู่ร่วมกับเด็กอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสภาวะสามเณร และก่อนจะเติบใหญ่เต็มตัว ก็ต้องผ่านการบวชเป็นพระภิกษุ เพื่อกล่อมเกลาตัวเองให้กลมเกลี้ยงและอยู่ในร่องในรอยเสียก่อน

พิธีกรรมเพื่อประคับประคองการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้พบเห็นได้ทั่วไปในหลากหลายชนเผ่า แต่ในสังคมสมัยใหม่ เราจะพบว่าในช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งเหล่านี้ กลับไม่ค่อยมีการ ‘ประคับประคอง’ มากเท่ากับการ ‘บีบคั้น’

ช่วงที่เด็กมัธยมจะก้าวเข้าสู่โลกแห่งมหาวิทยาลัย แทนที่จะมีการฟูมฟักชี้นำและโอบอุ้ม พวกเขากลับต้องกระโดดลงสู่สนามการต่อสู้ฟาดฟันที่เหน็ดเหนื่อยสาหัสที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เป็นการต่อสู้เพื่อกำหนดชะตากรรมแห่งชีวิตทั้งหมดในคราวเดียว จึงโหดร้าย และเป็นการพลิกกลับจากการประคับประคองเป็นแส้ที่ฟาดโบยตี

เมื่อเรียนจบและก้าวเข้าสู่โลกการทำงานก็เช่นกัน แทบไม่มีใครมีโอกาสได้นั่งนิ่งๆ ใช้เวลาสักปีเพื่อเรียนรู้ความต้องการของตัวเอง แต่ทุกคนต้องกระโจนเข้าสู่โลกโหดร้ายของการทำงานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง และเอาตัวให้รอดในท่ามกลางสังคมแบบ Rat Race ที่เต็มไปด้วยการขันแข่ง

ชีวิตแบบนี้บีบให้เมื่อเติบโตขึ้นถึงวัยสามสิบปี ผู้คนมักเริ่มอ่อนล้าโรยแรง บางคนเพิ่งค้นพบเมื่อเวลาผ่านไปแล้วเกือบครึ่ง ว่าที่ทำมาทั้งหมดไม่ใช่ชีวิตที่ตัวเองต้องการ หลายคนอดทนทำต่อไป อดทนอยู่กับชีวิตที่ไม่ใช่ต่อไป เพียงเพราะได้หยั่งรากลงไปแล้ว และระอากับการต้องเริ่มต้นใหม่อันเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่บางคนก็เลือกสลัดชีวิตเก่าทิ้งเพื่อเริ่มต้นใหม่ ซึ่งแน่นอน, ไม่ใช่เรื่องง่าย

Coming of Age ไม่ได้มาถึงเราเฉพาะจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ หรือเฉพาะบางช่วงวัยแล้วจบสิ้น แต่มันจะวนเวียนมาหาเราครั้งแล้วครั้งเล่าไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อเรากำหราบมันลงไปได้ เราคิดว่ามันสงบนิ่งลงแล้ว อีกสักพัก อีกสักห้าปี อีกสักสิบปี ความรู้สึกเปราะบางไม่แน่ใจกับชีวิต หรือความรู้สึกเหนื่อยหน่ายอ่อนล้ากับความเป็นไปทั้งปวง-ก็จะกลับมาอีกหน…และอีกหน

แต่ละสังคมมีวิธีประคับประคองความรู้สึกแบบนี้แตกต่างกันไป บางสังคมเลือกประคับประคองด้วยวิธีคิดทางศาสนา การดิ่งลึกเข้าไปภายใน การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและตัวตน (เช่นในสังคมฮินดูที่ให้คนชราแปลงร่างเป็นสันยาสีเปลี่ยนวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง จากครอบครัวเข้าไปอยู่ในป่า) แต่ในบางสังคมก็ประคับประคองผู้คนของตนให้เดินทางผ่านช่วงเปราะบางได้ด้วย Choices อันหลากหลาย เช่นสังคมอเมริกันที่ผู้คนแทบจะสามารถ ‘เริ่มต้นใหม่’ ได้ทุกเมื่อ

คำถามที่เกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งความละล้าละลัง ยุคสมัยแห่งความเพ้อคลั่ง เดียวดาย และยุคสมัยแห่งการถูกทอดทิ้งนี้-ก็คือ,

แล้วในสังคมไทยของเรา มีกลไกประคับประคองช่วงเวลาเปราะบางแบบนี้ของผู้คนมากน้อยแค่ไหน

หรือกระทั่ง…มีหรือเปล่า,

ด้วยซ้ำ!

MOST READ

editor's note

9 Mar 2022

‘นโยบายสาธารณะ’ ไทยในโลกใหม่: เปิดตัว ‘101 PUB’ – 101 Public Policy Think Tank

101 เปิดตัว 101 PUB ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทำงานบนฐานวิชาการ การพัฒนา และประชาธิปไตย

ปกป้อง จันวิทย์

9 Mar 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save