fbpx
‘สังคมผลักไส’ หรือ ‘อุปนิสัย’ อะไรกันแน่ที่ชี้ชะตาคน ?

‘สังคมผลักไส’ หรือ ‘อุปนิสัย’ อะไรกันแน่ที่ชี้ชะตาคน ?

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เมื่อครั้งทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกว่าด้วย ‘ชีวิตของผู้หญิงไทยในต่างประเทศหลังจากที่แต่งงานและย้ายถิ่น’

หนึ่งในคำถามที่ผู้เขียนเคยสงสัยในตัวเองมาตลอดคือ การทำวิจัยเรื่องการแต่งงานข้ามชาติและการย้ายถิ่นให้อะไรกับสังคม ?

แม้ความสงสัยจะคลี่คลายขึ้นตามลำดับ แต่ ‘ดราม่า’ เกี่ยวกับการแต่งงานเพื่อย้ายถิ่นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คำถามนี้กระจ่างขึ้นมาก

แรงบันดาลใจของงานวิจัยนี้มาจากการที่ผู้เขียนมีคนรู้จักใกล้ตัวที่แต่งงานกับชาวต่างชาติหลายคน ซึ่งก็ชวนให้ตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยว่า ชีวิตของผู้หญิงไทยหลังจากแต่งงานย้ายถิ่นไปอยู่ต่างประเทศนั้นเป็นอย่างไร

สิ่งสำคัญที่เรียนรู้ระหว่างการทำวิทยานิพนธ์คือ ผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับฝรั่งมีประสบการณ์ชีวิตแตกต่างหลากหลายมาก และเรื่องราวจำนวนมากก็ต่างจากวาทกรรม ‘เมียฝรั่ง’ ที่เรามักได้ยินได้ฟังตามสื่อกระแสหลัก  ผู้เขียนจะไม่ลงรายละเอียดของผลการวิจัยตรงนี้ แต่พูดได้สั้นๆ ว่า ชีวิตของพวกเธอนั้นไม่ง่ายเลย

สองสามวันที่ผ่านมา ‘ดราม่า’ บนโลกโซเชียลเกิดจากการที่บทความหนึ่งกล่าวถึงการแต่งงานเพื่อย้ายถิ่นว่า เกิดจากอุปนิสัยของผู้หญิงชาวอีสานที่รักสบาย ทำงานง่ายๆ หวังพึ่งพาหนุ่มฝรั่งเพื่อมีชีวิตง่ายๆ และมีการเปรียบเทียบว่าชายหญิงอีสานมีความมุมานะในการศึกษาหาความรู้ไม่เท่ากัน แถมยังเหมาเอาว่าผู้หญิงอีสานส่วนใหญ่ไม่ขวนขวายถีบตัวขึ้นให้สูงเหมือนรัฐมนตรีท่านหนึ่ง (ซึ่งก็เป็นคนอีสานเหมือนกัน แต่มี ‘อุปนิสัยเฉพาะตัว’ ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ)

สิ่งเหล่านี้วางอยู่บนความคิดเห็นของผู้เขียนบทความล้วนๆ โดยไม่ได้มีหลักฐานหรือการศึกษาใดๆ มารองรับ ที่สำคัญคือ มีการอ้างว่าไม่มีคนทำการศึกษาเรื่อง marriage migration

หากลองเสียเวลาอันน้อยนิดเพื่อเสิร์ชคำว่า ‘research on marriage migration’ จะพบว่าเรื่องนี้มีคนศึกษามาแล้วหลายสิบปี หากกล่าวเฉพาะ marriage migration ของคนไทย ก็มีนักวิชาการทั้งไทยและเทศเคยทำการศึกษาหลายสิบคน

เพื่อความเป็นธรรม การมองว่าผู้หญิงย้ายถิ่นเพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ปัญหาคือการมองแบบนี้ทำให้มองข้ามปัจจัยอื่นๆ ที่แวดล้อมและมีพลังในการอธิบายมากกว่าไปทั้งหมด  เช่น ช่วงชั้นทางสังคม (social hierarchy) ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การพัฒนาเมือง-ชนบทที่ไม่เท่าเทียม ค่านิยมชายเป็นใหญ่ ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ องค์ความรู้เรื่องการแต่งงานข้ามชาติไม่ได้หยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและเงื่อนไขทางสังคม เช่น การเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทและสังคมอีสาน อันที่จริง งานวิจัยพบว่า คนท้องถิ่นเริ่มกลับสู่ท้องถิ่น เรียนในท้องถิ่นมากขึ้น ผู้หญิงอีสานหลายคนเรียนจนถึงระดับปริญญาตรีในจังหวัดท้องถิ่นของตนเอง แต่ปริญญาบัตรก็ไม่ได้เป็นใบเบิกทางให้พวกเธอได้เลื่อนชั้นทางสังคมเท่ากับผู้หญิงชนชั้นกลางในเมือง ที่เข้าถึงทุนทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและวัฒนธรรมมากกว่า

ดังนั้น การตัดสินใจแต่งงานและย้ายถิ่นจึงมีความซับซ้อนมากกว่าเรื่อง ‘อุปนิสัย’ แต่เป็นสภาพสังคมที่ปิดกั้นและผลักไสให้ผู้หญิงหลายคนเลือกย้ายไปอยู่ในสังคมที่ ‘ดีกว่า’ พูดอีกแบบคือ สังคมไทยมีเพดานที่กดทับผู้หญิงกลุ่มนี้อยู่ แต่ก็เป็นเพดานแก้ว (glass ceiling) ที่ยากจะมองเห็น

สิ่งที่ผู้เขียนอยากเน้นย้ำคือ การแต่งงานย้ายถิ่นไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายแต่อย่างใด เพราะเป็นการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลที่มีการชั่งน้ำหนักว่าจะอยู่หรือจะย้าย แบบไหนชีวิตดีมากกว่ากัน ยิ่งเป็นการตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขของการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียม ยึดค่านิยมอำมาตย์ ตัดสินคนที่บ้านเกิด ชาติพันธุ์ และชนชั้นแล้ว สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือ โครงสร้างทางสังคมต่างหากที่ผลักไสให้คนออกไป ?

นอกจากนี้ เราไม่ควรมองข้ามว่ามีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ตัดสินใจแต่งงานและย้ายไปอยู่กับสามีในต่างประเทศเพราะความรักและต้องการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นในต่างประเทศ รวมไปถึงว่า ผู้หญิงที่แต่งงานและย้ายถิ่นไม่ได้มาจากภูมิภาคอีสานเพียงอย่างเดียว แต่มีทุกภูมิภาค และทุกชนชั้น

พูดให้ถึงที่สุด การแต่งงานข้ามชาติของผู้หญิงไทยมีแรงผลัก (push) หลายรูปแบบ ตั้งแต่ความรัก ปัญหาทางการเงินและความเป็นอยู่ การหลีกหนีจากชีวิตคู่ที่ไม่ประสบความสำเร็จ หลีกหนีจากสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและแบ่งแยกทางชนชั้น เป็นต้น ในขณะเดียวกัน แรงดึงดูด (pull) ทางฝั่งต่างประเทศก็เป็นปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นเหตุผลอีกด้านของการย้ายถิ่น เช่น โอกาสทางอาชีพและการเงินที่ดีกว่า สวัสดิการถ้วนหน้า การรักษาพยาบาลที่ครอบคลุม สภาพสังคมที่เท่าเทียมกว่าและเอื้อให้สามารถสร้างครอบครัวที่อบอุ่น อนาคตการศึกษาและความเป็นอยู่ของลูกๆ ที่ดีกว่าในต่างประเทศ เป็นต้น

ในปี 2019 บางคนอาจจะไม่เชื่อว่า ยังมีคนแสดงอคติและภาพเหมารวมถึงวาทกรรม ‘เมียฝรั่ง’ อยู่ แต่นั่นก็เป็นตัวอย่างอันดีที่สะท้อนว่า สังคมไทยยังขาดการตื่นรู้ทางสังคม (social awareness) ในวงกว้าง และขาดความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์และตั้งคำถามกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการหล่อเลี้ยงอคติและภาพเหมารวมที่มีต่อกลุ่มคนอื่นที่ไม่ใช่ตนเอง ทั้งหมดนี้ย่อมนำไปสู่การขาดความความรู้ ความเห็นอกเห็นใจ และเป็นอันตรายของสังคมไทยด้วยกันเอง

บางทีการหาความรู้และการเปิดใจกว้างก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยากนัก ลองพูดคุยกับคนที่ย้ายถิ่นไปสร้างครอบครัวในต่างประเทศดูว่าต้องพบเจออะไรบ้าง หรือหากท่านไม่รู้จักผู้หญิงเหล่านั้น ก็ลองไปชมสารคดีเรื่อง Heartbound ที่ฉายอยู่ตอนนี้ จะได้เข้าใจถึงประสบการณ์การแต่งงานย้ายถิ่นของผู้หญิงไทยไปเดนมาร์ก เพื่อให้เห็นโอกาสและอุปสรรคต่างๆ ที่พวกเธอได้พบเจอ และได้รับรู้ว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยบีบคั้นผู้หญิงไทยในชนบทมากเพียงใด

ผู้เขียนได้แต่หวังว่าการศึกษาเรื่องผู้หญิงไทยในต่างประเทศจะทำให้สังคมไทยในวงกว้างได้รับรู้เรื่องราวและประสบการณ์ของผู้หญิงเหล่านี้ได้มากขึ้น และหวังว่าทัศนคติแบ่งแยก อคติทางชนชั้นและชาติพันธุ์จะถูกท้าทาย และจุดประกายเล็กๆ ให้สังคมมีความตื่นรู้ในประเด็นนี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save