fbpx
อนาคตของห้องสมุดจะเป็นอย่างไร : 6 เทรนด์ห้องสมุดในสถาบันการศึกษาแห่งอนาคต

อนาคตของห้องสมุดจะเป็นอย่างไร : 6 เทรนด์ห้องสมุดในสถาบันการศึกษาแห่งอนาคต

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

สมัยผมยังเด็กๆ การเข้าห้องสมุดให้ความรู้สึกคล้ายๆ เข้าโบสถ์ อย่างแรกสุดคือต้องเงียบกริบ แค่พลิกหน้ากระดาษยังต้องค่อยๆ ทำ ไม่อย่างนั้นจะเกิดเสียงกรอบแกรบ แม้ไม่มีใครว่าก็รู้สึกผิดได้

ห้องสมุดสมัยก่อนยังมีข้อห้ามสารพัด นอกจากห้ามพูดคุย ยังห้ามเดินเสียงดัง ห้ามกินอาหารและน้ำ ก่อนเข้าอาจต้องตรวจกระเป๋าก่อน ถ้ากินขนมกินอาหารอาจเลอะเทอะเปรอะเปื้อน และถ้าวางแก้วน้ำเอาไว้ ก็อาจปัดหกใส่หนังสือได้ ห้องสมุดจึงเป็นเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

ผลลัพธ์ก็คือ — ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าห้องสมุดกันสักเท่าไหร่!

ที่ห้องสมุดสมัยก่อนเป็นแบบนั้นก็เพราะ ‘สื่อ’ แบบเดียวที่เรามีอยู่ก็คือหนังสือ หนังสือบรรจุความรู้อัดแน่นอยู่ในนั้น การอ่านหนังสือต้องการความเงียบ ห้องสมุดสมัยก่อนจึงได้รับการออกแบบมาเพื่อจัดเก็บและอ่านหนังสือ โดยไม่ได้ ‘เผื่อ’ กิจกรรมอื่นๆ เลย

แต่ในระยะหลัง เราจะพบห้องสมุดแบบอื่นๆ หลากหลายขึ้น เช่น ห้องสมุดศิลปะการแสดง ที่ไม่ได้มีแค่หนังสือ แต่มีห้องสำหรับซ้อมเต้น ห้องสำหรับเปิดสื่อแบบอื่นๆ ดู เช่น เปิดคลิปดูการเต้นรำหรือการแสดงต่างๆ ที่อ่านจากหนังสือไม่มีวันรู้ว่าเป็นอย่างไร ฯลฯ

คำถามก็คือ — แล้วในโลกที่ ‘สื่อ’ หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ เล่า ห้องสมุดแห่งอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ในเรื่องนี้ Horizon Report ว่าด้วยเรื่องเทรนด์ของโลกดิจิทัลกับห้องสมุด ซึ่งจัดทำโดยหลายองค์กรร่วมกันภายใต้ชื่อองค์กรว่า New Media Consortium ได้เปิดเผยผลการสำรวจและวิเคราะห์บางส่วนออกมา พบว่าห้องสมุดในสถาบันการศึกษานั้น มี 6 เทรนด์ใหญ่ๆ ที่จะต้องเดินหน้าไปเพื่อให้ห้องสมุดสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งก็คือเรื่องของเทคโนโลยี AI หรือ Artificial Intelligence กับ IoT หรือ Internet of Things โดย 6 เทรนด์ที่ว่าแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือเทรนด์ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

เทรนด์ระยะสั้น (1-2 ปี)

  • ต้องมีการจัดการข้อมูลวิจัย: ฐานข้อมูลจาการวิจัยต่างๆ ห้องสมุดต้องทำให้เข้าถึงง่ายขึ้น ทั้งกับตัวนักวิจัย นักศึกษา และคนทั่วไป เพราะข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่ความคิดใหม่ๆ ได้ และเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น AI หรือ IoT ก็ทำให้การจัดการฐานข้อมูลเป็นไปได้ง่ายขึ้น
  • ให้คุณค่ากับประสบการณ์ของผู้ใช้: เราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า UX หรือ User Experience เวลาออกแบบเว็บหรือพื้นที่ออนไลน์ แต่ห้องสมุดใหม่ๆ ก็ต้องคิดถึง UX ในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยเหมือนกัน เช่น ทำให้ห้องสมุดมีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้ใช้มากขึ้น (User-Centric) และพื้นที่ของห้องสมุด ก็อาจต้องสนับสนุนการพบปะพูดคุยของผู้คนเพื่อแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ไม่ใช่เข้ามาแล้วต้องนั่งกันเงียบๆ อย่างเดียวเหมือนห้องสมุดสมัยก่อน

เทรนด์ระยะกลาง (3-5 ปี)

  • ทำให้ผู้ใช้ห้องสมุดเป็นผู้สร้างสรรค์ข้อมูลด้วย: แต่เดิม ห้องสมุดมีลักษณะทางเดียว คืออัดแน่นไปด้วยข้อมูลความรู้ แล้วผู้ใช้งานก็เข้ามาตักตวงดึงความรู้ออกไป แต่ห้องสมุดในอนาคตสามารถเป็นสถานที่เปิด และสนับสนุนให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีลักษณะที่เป็น Maker หรือคนที่เข้ามาสร้างสรรค์เรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น เกิดข้อมูลแบบ User-Generated ที่ผู้ใช้ห้องสมุดเป็นผู้สร้างขึ้น แล้วเก็บไว้ในฐานข้อมูลขนาดมหึมาของห้องสมุดได้ ห้องสมุดแห่งอนาคตเลยจะกลายเป็นสถานที่สำหรับสร้างทักษะให้คนได้ด้วย
  • คิดถึงพื้นที่ห้องสมุดแบบใหม่: ข้อนี้คือ Rethinking Library Spaces ซึ่งเป็นผลมาจากข้อก่อนๆ นั่นคือต้องออกแบบให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้แบบเห็นหน้าค่าตากันด้วย โลกออนไลน์ทำให้คนเราคุยกันได้ตลอดเวลาก็จริง แต่นั่นยิ่งทำให้ประสบการณ์แบบ face-to-face ล้ำค่ามากขึ้น

 

เทรนด์ระยะยาว (มากกว่า 5 ปี)

  • เกิดความร่วมมือข้ามสถาบัน: ทุกวันนี้ งบประมาณสำหรับห้องสมุด (โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา — และที่จริงก็ในไทยและที่อื่นๆ ด้วย) ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ แต่ทุกที่จะมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่อยู่ในมือ ดังนั้น การร่วมมือกันเพื่อให้ห้องสมุดกลายเป็นแหล่งความรู้สำหรับสังคมโลกได้อย่างแท้จริง จะกลายเป็นทางออกสำคัญของการสร้างความรู้ให้กับโลก เช่น ห้องสมุดที่จังหวัดเล็กๆ ในภาคอีสาน อาจร่วมมือกับห้องสมุดในเมืองเล็กๆ แถบมิดเวสต์ของอเมริกา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และสามารถทำวิจัยในบางประเด็นที่สอดคล้องต้องกันได้ เป็นต้น นั่นจะก่อให้เกิดโครงการร่วมขึ้นได้มากมายมหาศาล
  • ปรับปรุงธรรมชาติในการสื่อสารของนักวิชาการ: การสื่อสารทางวิชาการนั้น สมัยก่อนจะอยู่ในวารสารวิชาการเป็นหลัก แต่ปัจจุบันสามารถแพร่หลายได้กว้างขวาง ดังนั้น ตัว ‘การสื่อสาร’ ของนักวิชาการจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก นักวิชาการอาจใช้วิธีใหม่ๆ ในการสื่อสาร โดยบรรณารักษ์อาจต้องทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสร้าง ‘ธรรมชาติใหม่’ ในการสื่อสารให้นักวิชาการด้วย เช่น นักวิชาการอาจต้องคิดตั้งแต่ต้นว่างานนั้นๆ จะสื่อสารอย่างไร โดยมีห้องสมุดเป็นศูนย์กลางการสื่อสาร

 

รายงานนี้ยังบอกด้วยว่า ถ้าห้องสมุดจะเดินไปตามเทรนด์ทั้งหกอย่างนี้ จะต้องทำสิ่งที่เป็นรูปธรรมหลายอย่าง ซึ่งก็แบ่งออกเป็น 3 ระยะอีกนั่นแหละครับ เช่นในระยะสั้น (1-2 ปี) ห้องสมุดต้องพัฒนาระบบ Big Data ขึ้นมา เพราะห้องสมุดคือสถานที่สำคัญ เป็นใจกลางของการให้บริการในเรื่องนี้ นั่นแปลว่าจะต้องมีเทคโนโลยีดิจิทัลทางวิชาการต่างๆ มารองรับด้วย ส่วนในระยะกลาง ก็ต้องสร้างแพลตฟอร์มการให้บริการใหม่ๆ เช่น มี Library Automation เป็นต้น รวมไปถึงการสร้างอัตลักษณ์แบบออนไลน์ของห้องสมุดขึ้นมา ส่วนในระยะยาวก็คือการพาห้องสมุดก้าวไปถึงระดับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และนำ IoT หรือ Internet of Things เข้ามาใช้

แต่แน่นอนว่ารูปธรรมต่างๆ เหล่านี้ย่อมมีอุปสรรคและความท้าทายจากหลายด้าน แต่อุปสรรคที่รายงานนี้บอกว่ายากที่สุดมีอยู่สองอย่าง

อย่างแรกก็คือแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะห้องสมุดในสถาบันการศึกษาจะถูกบังคับให้ลดการใช้งบประมาณลง ยิ่งถ้าหันมาทำงานออนไลน์หรือเป็นระบบข้อมูลแบบเปิดมากขึ้น ผู้มีอำนาจก็จะคิดว่าห้องสมุดใช้งบฯ น้อยลง เนื่องจากห้องสมุดอาจได้ข้อมูลจากผู้ใช้งานอยู่แล้ว เรื่องนี้ซับซ้อนและยากจะแก้จริงๆ เพราะถ้างบฯ น้อย ก็ไม่อาจสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างที่ตั้งใจ

อย่างที่สองคือการทำให้สังคมรู้ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน เช่น ห้องสมุดจะไม่ได้มีหน้าที่ใช้สอยแบบเดิมอีกแล้ว แต่จะมีหน้าที่ใหม่ การใช้งานในทางกายภาพและออนไลน์จะเปลี่ยนไป ซึ่งคนจำนวนมากอาจยังไม่เข้าใจ

ทั้งหมดนี้คือเทรนด์ของห้องสมุดแห่งอนาคตในสถาบันการศึกษา เข้าใจว่าห้องสมุดในไทยหลายแห่งเริ่มขยับตัวเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ปัญหาสองข้อหลังอาจทำให้เกิดการสะดุดชะงักบ้าง (โดยเฉพาะข้อแรก) จึงน่าจับตามองต่อไปว่า ห้องสมุดในไทยจะดำเนินไปตามเทรนด์ที่ว่านี้ได้มากน้อยแค่ไหนในอนาคต

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save