fbpx
สำรวจจุดยืนปัญญาชน (ไม่) สาธารณะ

สำรวจจุดยืนปัญญาชน (ไม่) สาธารณะ

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

บันทึกนี้เป็นบันทึกที่ผมอ่านในงานเสวนาเรื่อง “ศิลปศาสตร์กับสาธารณะ” ที่ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ซึ่งคณะศิลปศาสตร์เชิญผมกับวิทยากรอีกสองท่านไปร่วมเสวนาในงานครบรอบ 57 ปี การสถาปนาคณะศิลปศาสตร์ พร้อมทั้งเพื่อแสดงมุทิตาจิตในโอกาส 72 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ผมถือเป็นเกียรติมากที่ได้รับเชิญไปร่วมงานคณะศิลปศาสตร์ ที่ผมเองก็มีมิตรสหายที่เคารพรักอยู่หลายคน และศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ยังเป็นขุมความรู้ที่เสริมต่อและตักเตือนสติปัญญาผมตลอดมา อีกทั้งส่วนตัวแล้วผมก็เคารพนับถือและยินดีที่ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากอาจารย์ธเนศอยู่เสมอ แม้ท่านเกษียณอายุงานมาหลายปีแล้ว อาจารย์ธเนศก็ยังคมเข้ม ลุ่มลึก และขันแข็งในการผลิตผลงานวิชาการที่ทั้งให้ความรู้และให้สติแก่สังคมอย่างสม่ำเสมอ

ว่าด้วยเรื่อง “ศาสตร์กับสาธารณะ” ผมมีเรื่องเล่า 4 เรื่อง จาก 3 ประเทศ ว่าด้วย 2 ประเด็น ได้แก่ เรื่องความหลากหลายของการเข้าสู่สาธารณะ กับจุดยืนของงานวิชาการ ผมจะขอเริ่มด้วยการเล่าเรื่อง 3 เรื่องก่อน

เรื่องแรก ในเวียดนาม เมื่อตอนไปวิจัยที่เวียดนาม ผมทำวิจัยทางมานุษยวิทยา ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่นที่เราจะไปศึกษา กรณีของผมต้องขออนุญาตเก็บข้อมูลไปที่จังหวัดเซอนลา ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม การพิจารณาเป็นไปในระดับสภาประชาชนของจังหวัด ผมขอไป 3 ครั้ง เขาตอบกลับมาด้วยวาจาว่าไม่ให้ แต่ครั้งที่ 4 ผมขอให้เขาตอบเป็นลายลักษณ์อักษร เขาตอบกลับมาด้วยจดหมายทางการของเวียดนาม มีตราประทับประจำหน่วยงานอย่างเป็นทางการ

 

จดหมายตอบกลับจากสภาประชาชนของจังหวัดเซอนลา

 

เขาบอกว่าไม่อนุญาตให้ผมไปทำวิจัย ด้วยเหตุผล 4 ข้อ หนึ่ง มีงานวิจัยด้านมานุษยวิทยาเกี่ยวกับจังหวัดนี้มากแล้ว ควรไปค้นคว้าหาอ่านเอาเอง สอง ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลนักวิจัย (การวิจัยภาคสนามที่นั่นต้องมีเจ้าหน้าที่ร่วมเดินทางด้วยเสมอ) เพราะเขากำลังสาละวนอยู่กับการสร้างเขื่อน สาม นักวิจัยชอบอ้างว่ามาทำวิจัย แต่แล้วกลับฉวยโอกาสไปทำอย่างอื่น (มักหมายถึงการไปเผยแพร่ศาสนา) สี่ ข้อนี้คือข้อที่ทำให้ผมรู้สึกเจ็บแปลบมากที่สุด นั่นคือ นักวิจัยส่วนใหญ่ทำงานวิจัยที่ไม่ก่อประโยชน์อะไรแก่ชุมชน ทำเสร็จแล้วก็กลับไป ชาวบ้านไม่ได้อะไร ผมถามกลับไปว่า แล้วสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ไหม เขาตอบกลับมาว่าได้ ดังนั้น งานวิจัยผมจึงดำเนินต่อได้ด้วยการไปท่องเที่ยว

เรื่องที่สอง ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนกลับจากสหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ผมกับภรรยานับถือรักใคร่ท่านหนึ่งเชิญไปกินข้าวเพือเลี้ยงส่ง เนื่องจากภรรยาผมเคยเรียนภาษาอังกฤษกับภรรยาของอาจารย์ท่านนี้ และเธอสนิทสนมเป็นพิเศษกับภรรยาผม ทั้งสองท่านก็เลยเมตตาพาคนไทยยากจนสองคนนี้ แล้วพาไปกินอาหารดีๆ ในเมมเบอร์คลับหรูๆ เสมอ

ในมื้ออาหารก่อนกลับเมืองไทย ศาสตราจารย์ท่านนี้เตือนผมว่า “เมื่อกลับไปแล้วก็ควรเร่งผลิตงานวิชาการ ทำวิจัย เขียนหนังสือ อย่าไปว่อกแว่กยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จะทำให้เสียเวลาและเสียความเป็นนักวิชาการ” ผมก็ได้แต่พยักหน้า รับปากท่าน แล้วท่านก็ให้หนังสือที่ท่านเขียนมาเล่มหนึ่ง ว่าด้วยการเขียนงานวิชาการทางเศรษฐศาสตร์

เรื่องที่สาม ในประเทศไทยเมื่อสัก 5-6 ปีก่อน มีคนมาทาบทามให้ผมไปเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของสถาบันวิชาการแห่งหนึ่ง นั่นคือก่อนรัฐประหาร 2557 สักปีเดียวได้ ผมคิดทบทวนดูก็มั่นใจว่า อย่างไรเสียก็ไม่มีทางที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของหน่วยงานนั้นจะยินดีให้ผมเข้าไปทำงานที่นั่นได้ แต่ผมอยากรู้ว่าพวกเขาจะปฏิเสธผมอย่างไรมากกว่า ก็เลยลองดู

เมื่อผู้ใหญ่ที่ติดต่อผม ซึ่งเป็นระดับประธานกรรมการบริหารหน่วยงาน นำชื่อผมไปเสนอคณะที่ปรึกษาของกรรมการบริหาร คณะที่ปรึกษาต่างก็ปฏิเสธเสียงแข็ง บอกว่า “คนนี้ไม่ได้เด็ดขาด คนนี้ไม่เอา คนนี้สีแดงมาก” ผู้ที่ติดต่อทาบทามโทรศัพท์มาขอโทษขอโพยผมด้วยตัวท่านเองเสียยกใหญ่ ท่านบอกว่า “ผมไม่เคยเจอการปฏิเสธข้อเสนอของผมอย่างเสียงแข็งแบบนี้มาก่อน ผมยังไม่พร้อมจะหักหาญกับคนเหล่านี้ครับอาจารย์” ส่วนผมก็ได้แต่ฟังแบบยิ้มๆ แล้วถามไปว่า ท่านเหล่านั้นมีใครบ้างครับ ท่านก็กรุณาบอกชื่อคนเหล่านั้น แต่ผมยังไม่บอกชื่อตรงนี้หรอก เพราะท่านเหล่านั้นบางคนยังมีชีวิตอยู่

เรื่องทั้งสามนี้บอกอะไร …

ประการแรก วิชาการกับการเข้าสู่สาธารณะถูกคาดหวังไปในรูปแบบต่างๆ กันเสมอ ขึ้นกับบริบทของสังคมที่โลกวิชาการนั้นสังกัดอยู่ ในประเทศเวียดนาม ความคาดหวังให้นักวิชาการทำงานเพื่อสาธารณะนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องเป็นสาธารณะที่รับใช้นโยบายของรัฐ ใครทำงานสาธารณะในแบบที่รับใช้ประชาชนแต่แตกต่างจากอุดมการณ์ของรัฐก็จะอยู่ยาก

ไม่เฉพาะแต่นักวิชาการ ศิลปินต่างๆ ก็มักถูกคาดหวังให้ทำงานรับใช้อุดมการณ์ของรัฐ ถ้าพูดถึงงานศิลปะ ศิลปะเพื่อประชาชนเป็นบรรทัดฐานหลักของการทำงานศิลปะในเวียดนามมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 1940 คือก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียอีก จนเมื่อไม่นานมานี้เอง คือตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ศิลปะจึงมีที่ทางนอกการเมืองได้บ้าง หรือหากใครจะทำงานศิลปะเชิงการเมือง ก็ห้ามทำในลักษณะวิจารณ์การเมือง หรือแม้แต่จะวิจารณ์ความบกพร่องของประเทศก็ไม่ได้ เพราะจะถูกโยงไปว่าบ่อนทำลายความมั่นคง

เรื่องนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับภาพวาด “ทะเลตายแล้ว” ที่วาดภาพผู้หญิงนั่งเก็บซากปลาที่ลอยเกลื่อนในทะเลเพราะน้ำเสีย และมีเงาของศพคนตายลอยคออยู่ด้านหลัง เพื่อสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคกลางของเวียดนามเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ภาพนี้เมื่อออกแสดงครั้งแรกได้รางวัล แต่ต่อมาเมื่อรัฐท้องถิ่นเห็นว่ากระทบกระเทือนต่อบรรยากาศการลงทุน ศิลปินก็ถูกริบรางวัลคืน แถมยังถูกคาดโทษ

 

ภาพวาด “ทะเลตายแล้ว” ของ Nguyễn Công Nhân (เหงวียน กง เญิน)

 

ในแง่ของงานวิชาการ นักวิชาการเวียดนามจำนวนมากไม่ได้อยากเป็นนักวิชาการที่ไม่มีข้อเสนอทางสังคม หากแต่หลายต่อหลายคนมีข้อเสนอต่อสังคมในลักษณะที่แตกต่างจากแนวทางของรัฐ จึงจำเป็นต้องออกจากงานไป ไปอยู่ต่างประเทศก็มี ส่วนพวกที่ยังทำงานกับรัฐ ก็เติบโตก้าวหน้าทางวิชาการลำบาก หน้าที่การงานก้าวหน้าเชื่องช้ากว่าที่ควรจะเป็น

ประการที่สอง ในโลกวิชาการสากล ที่คาดหวังกับการทำงานวิชาการอย่างปลอดจากค่านิยมทางสังคม ปัญหากลับตาลปัตรไปอีกทางหนึ่ง เขาคาดหวังให้คนทำงานวิชาการปลอดจากค่านิยม ผมคิดว่า แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เป็นตัวแทนของข้อเสนอเช่นนี้อย่างแข็งขัน ดังที่เขาบอกว่า “สำหรับศาสดาและนักปลุกปั่นทางการเมือง ว่ากันว่าต้อง ‘ออกไปบนท้องถนนและปราศรัยอย่างเปิดเผยต่อโลก’ นั่นคือไปพูดในที่ซึ่งการโต้แย้งทางความคิดจะเกิดขึ้นได้ ส่วนในห้องเรียน แม้พวกเราจะยืนอยู่ตรงข้ามกับผู้ฟังของเรา ก็ยังคงต้องสงบเงียบไว้” (ผมแปลจากตอนหนึ่งของบทความ Science as a Vocation, 1918) นั่นหมายความว่า ในห้องเรียนจะต้องไม่มีนักเทศนาและนักโฆษณาชวนเชื่อ มีได้แต่เพียงความรู้ที่ปราศจากการตัดสินเชิงคุณค่า เวเบอร์บอกว่า นักสังคมศาสตร์ต้องมีความแน่วแน่มุ่งมั่น แต่ก็ต้องทำตัวเป็นกลาง ไม่ใส่อารมณ์ ต้องมีความหนักแน่น เน้นการใช้เหตุผล

แต่เราก็จะเห็นทัศนะที่ตรงข้ามกันนี้อยู่ในงานของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ในประโยคซึ่งเป็นวรรคทองที่ต้องอ้างอิงกันเสมอๆ ว่า “นักปรัชญาที่ผ่านมาล้วนตีความโลกด้วยวิถีทางต่างๆ ประเด็นสำคัญก็เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก” (ผมแปลจากตอนหนึ่งในข้อเขียนสั้นๆ ชื่อ Theses on Feuerbach, 1945) สำหรับมาร์กซ์แล้ว เขาไม่เพียงทำงานเพื่อต้องการวิเคราะห์สังคม แต่เขาปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย และการจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ก็ต้องตัดสินความดีชั่วของสังคมที่เป็นอยู่ได้ ต้องมีข้อเสนอต่อสังคม ต้องมีอคติต่อสังคมที่ตนเองศึกษานั่นเอง ทัศนะของมาร์กซ์จึงขัดแย้งอย่างรุนแรงกับทัศนะของเวเบอร์ กล่าวอีกอย่างคือ ในโลกวิชาการสากลก็มีทัศนะต่อบทบาททางวิชาการที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ดี ทัศนะแบบมาร์กซ์ก็เป็นกระแสรองในโลกวิชาการสากล ที่เน้นการทำงานวิชาการที่ปราศจากอคติแบบเวเบอร์มากกว่า การออกสู่สาธารณะจึงเป็นเส้นทางที่แทบไม่ค่อยมีคนเลือกเดิน

ประการที่สาม แล้วงานวิชาการในสังคมไทยเป็นงานแบบไหน มีนักวิชาการบางสาขาที่อาจหลงคิดไปว่า งานวิชาการของตนเองปราศจากค่านิยม และเป็นกลาง เช่น สาขาวิชาที่ผมจากมาสาขาหนึ่ง มักอวดอ้างตนเองเป็น ‘Queen of Science’ ราชินีแแห่งศาสตร์ กล่าวคือไม่อยากถูกนับเป็นสังคมศาสตร์ ซึ่งสำหรับพวกเขามองว่าอ่อนด้อย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และเต็มไปด้วยอคติ

อันที่จริงฉายาที่ตั้งกันเองแบบนี้ มักแย่งกันอยู่ใน 2-3 สาขาทางสังคมศาสตร์ที่ไม่อยากเป็นสังคมศาสตร์ด้วยซ้ำ แต่เอาเข้าจริงๆ ผมคิดว่าเป็นเรื่องตลกร้าย หากมีใครมาเทศนาให้นักวิชาการไทยออกสู่สาธารณะ เนื่องจากนักวิชาการไทยอยู่ในโลกสาธารณะอย่างต่อเนื่องมาเนิ่นนานแล้ว

แต่เรื่องตลกที่ว่าก็เคยเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย นั่นคือเรื่องที่ 4 ที่ผมจะเล่าให้ฟัง

เรื่องที่สี่  เหตุเกิดที่ประเทศไทย หลายปีก่อน ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาอเมริกันที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่ง ชื่อไมเคิล บูราวอย (Michael Burawoy) ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยที่เรียกตนเองว่าเป็นเสาหลักแถวสามย่าน มาบรรยายเรื่องความเป็นสาธารณะของงานวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เขาพูดถึงการทำงานวิชาการที่มีลักษณะดังนี้ หนึ่ง มุ่งเน้นความเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ สอง มุ่งวิพากษ์สังคม สาม มุ่งรับใช้รัฐเชิงนโยบาย สี่ ออกสู่สาธารณะ ในโลกวิชาการสากล หรือถ้าจะให้ถูกคือในโลกวิชาการภาษาอังกฤษ บูราวอยเห็นว่านักวิชาการส่วนใหญ่มุ่งเน้นความเป็นศาสตร์บริสุทธิ์มากกว่า แต่ก็มีบ้างที่ทำงานเชิงวิพากษ์และทำงานตอบสนองนโยบายรัฐ แต่น้อยนักที่จะทำงานตอบสนองสาธารณะในความหมายของการรับใช้สังคม รับใช้มวลชน

ในสังคมไทย แน่นอนว่าเรามีนักวิชาการทุกรูปแบบ แต่ผมแย้งบูราวอยหลังจากเขาเสนอเสร็จว่า เรามีนักวิชาการที่ทำงานเพื่อสาธารณะมากมาย แต่ที่เราจะต้องประเมินกันมากกว่าก็คือ นักวิชาการเหล่านั้นทำงานเพื่อตอบสนองสังคมไปทางไหนมากกว่า

ผมตั้งใจพูดต่อหน้านักสังคมศาสตร์ที่เคยรับตำแหน่ง สนช. หลังการรัฐประหารปี 2549 และต่อหน้าอดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเลือกการทำงานสู่สาธารณะในแนวทางที่แทบจะตรงกันข้ามกับผมและนักวิชาการอีกหลายคนในขณะนั้น สำหรับผม ทางเลือกของการทำงานสู่สาธารณะจึงสำคัญกว่าการเรียกร้องให้นักวิชาการออกสู่สาธารณะ เพราะเมื่อคุณออกมาแล้ว คุณทำงานให้ใครกันแน่ คุณทำงานหรือสร้างสรรค์ผลประโยชน์ของมวลชนแค่ไหนกันแน่ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องทบทวนกันในสังคมนี้ ซึ่งมีนักวิชาการทำงานสาธารณะอย่างเป็นปกติอยู่แล้ว

ย้อนกลับมาที่สถาบันทางวิชาการที่ปฏิเสธผมเข้าทำงาน เขาไม่ได้ปฏิเสธเพราะผมเป็นนักวิชาการเพื่อมุ่งสู่ความเป็นวิทยาศาสตร์มากไป หรือเพราะผมเป็นนักวิชาการน้อยไป อันที่จริงการที่ชื่อผมไปอยู่ตรงนั้นก็เพราะงานทางวิชาการของผมมากกว่า ผู้ที่ผลักดันและชักชวนให้ผมไปรับตำแหน่งได้อ่านงานวิชาการที่ผมเขียนแล้ว ซึ่งปกติแทบไม่มีคนอ่านด้วยซ้ำ ประเด็นคือผมกลับถูกปฏิเสธจากจุดยืนทางการเมือง หรือจุดยืนต่อสาธารณะของผมเสียมากกว่า

ดังนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญกว่าการคำนึงว่าจะต้องผลักดันให้นักวิชาการทำงานสาธารณะ คือเรื่องที่ว่าเขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะทำงานสาธารณะมากน้อยแค่ไหน มีจุดยืนอย่างไรมากกว่า พวกเขาสมควรที่จะต้องรู้ว่าจุดยืนตนเองคืออะไร แล้วจุดยืนนั้นไปสร้างข้อจำกัด ส่งผลกระทบต่อใครอย่างไรบ้างหรือไม่ หรือจุดยืนนั้นเป็นคุณหรือให้โทษกับใครอย่างไร

พูดเรื่องจุดยืน ผมหมายถึงความเป็นอัตวิสัย หรือ subjectivity ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมศาสตร์ หรือไม่ว่าจะศาสตร์ไหนๆ หนีไม่พ้นพลังของมนุษยศาสตร์หรือศิลปศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับอัตวิสัย ถึงตรงนี้ ผมจึงอยากชวนให้นักสังคมศาสตร์ นักศิลปศาสตร์ และแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ สำรวจอัตวิสัยของตนเองว่าเป็นอย่างไรกันแน่ แล้วใช้มันให้เกิดประโยชน์แก่การทำงานวิจัย แก่สังคม มากกว่าที่จะหนีจากมันหรือลดทอนมันเพื่อมุ่งสู่ความเป็นศาสตร์บริสุทธิ์ เพราะผมเชื่อว่า ไม่ว่าเราจะคิดว่าเราทำงานอย่างปลอดคุณค่าแค่ไหน เราย่อมหนีการมีจุดยืนไม่พ้นอยู่ดี

ถึงตรงนี้ ผมขอยกงานของเรนาโต โรซัลโด (Renato Rosaldo) นักมานุษยวิทยาอเมริกันที่เขียนเรื่องอัตวิสัยในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (Subjectivity in Social Analysis, 1989) โรซัลโดวิจารณ์เวเบอร์จากอัตวิสัยของเขาเองในเชิงแนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยทางสังคม โรซัลโดแย้งเวเบอร์ว่า ทัศนะแบบเวเบอร์มีแนวโน้มที่จะให้คุณค่ากับการวิจัยในลักษณะหนึ่ง กล่าวคือมีอคติเอนเอียงไปทางวิธีการศึกษาแบบหนึ่งมากกว่า คือแนวคิดที่เน้น “ความเป็นชาย” เหนือ “ความเป็นหญิง” แต่สำหรับเขาเอง เขาเสนอให้นักวิจัยใช้ความอ่อนไหวทางอารมณ์ในการเข้าใจสังคมให้มากขึ้น

โรซัลโดสะท้อนความเห็นนี้จากประสบการณ์ของเขาเอง เขากับภรรยาชื่อมิเชล โรซัลโด (Michelle Rosaldo) ทำวิจัยกลุ่มชนอิลองก็อต (Ilongot) ในฟิลิปปินส์ช่วงทศวรรษ 1970 เดิมทีก่อนหน้านั้น มิเชล โรซัลโด โด่งดังจากการบุกเบิกการศึกษามานุษยวิทยาสตรี (Feminist anthropology) หลังจากนั้น ทั้งคู่เดินทางไปเก็บข้อมูลภาคสนามในชุมชนชาวอิลองก็อต ชาวอิลองก็อตมีธรรมเนียมปฏิบัติที่น่าสยองเกล้าและอธิบายยากอยู่อย่างหนึ่ง คือการล่าหัวมนุษย์

ชาวอิลองก็อตอธิบายว่า เมื่อพวกเขาโศกเศร้าอย่างหาที่สุดมิได้ พวกเขาจะต้องออกไปตัดหัวใครสักคน ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นศัตรูเขา ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนต่างเผ่า งานของโรซัลโดทั้งสองคนพยายามจะอธิบายเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวของเรนาโตเอง เขาไม่พอใจกับคำอธิบายของเขาที่มีมาก่อนหน้านัก

หลังจากเสร็จสิ้นการตีพิมพ์งานเรื่องชาวอิลองก็อตไปแล้ว ทั้งสองยังคงกลับไปทำวิจัยที่นั่นอีก ในปี 1981 เมื่อทั้งสองเดินทางอยู่ในเขตป่าเขา มิเชลเกิดอุบัติเหตุพลัดตกเขา เสียชีวิต การจากไปของมิเชล ยังความเศร้าโศกแก่เรนาโตเป็นอย่างยิ่ง เมื่อนั้นเองที่ทำให้เขาเข้าใจว่า ความโศกเศร้าในระดับที่ชาวอิลองก็อตพยายามอธิบายให้เขาเข้าใจนั้น มันเป็นลักษณะเดียวกับที่เขากำลังเผชิญจากการตายของภรรยานั่นเอง และนั่นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาเริ่มทบทวนว่า การมีอคติ เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ไม่จำเป็นต้องเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาทางสังคมศาสตร์เสมอไป อารมณ์ความรู้สึกร่วม หรืออัตวิสัย อาจสามารถแปลงเป็นแนวทางสำหรับการเข้าใจสังคมได้เช่นกัน

โรซัลโดจึงตอบโต้เวเบอร์ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น แล้วเขาก็สำรวจงานทางมานุษยวิทยาที่อาศัยอัตวิสัยแบบต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจสังคม เข้าใจมนุษย์ โดยมีลักษณะสำคัญ 4 ประการดังนี้

  • จุดยืนจากความเป็นวิทยาศาสตร์  โรซัลโดเสนอว่า นักวิทยาศาสตร์บางครั้งก็อาจทำงานอย่างมีจุดยืนได้ หากตระหนักดีว่างานที่ตนทำอยู่นั้น จะสามารถตอบโจทย์ในการปกป้องสังคมที่ถูกทำให้เข้าใจผิด เช่น งานวิจัยการเพาะปลูกเคลื่อนที่ (shifting cultivation) ในฟิลิปปินส์ ซึ่งทำอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ก็สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า การเพาะปลูกแบบเคลื่อนที่ไม่ได้ทำลายป่า แต่กลับจะสร้างสมดุลให้ป่า และยังแสดงให้เห็นว่าคนสามารถอยู่ในป่าได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

 

  • มุมมองคนนอก  โรซัลโดยกงานของนักมานุษยวิทยาอเมริกันชื่อ เจน บริกส์ (Jean Briggs) ที่ศึกษาสังคมชาวเอสกิโม เมื่อบริกส์เข้าไปศึกษาสังคมนี้ใหม่ๆ เธอต้องเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่มากมาย รวมทั้งอุณหภูมิที่เหน็บหนาว เธอจึงอดกลั้นควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ส่วนชนพื้นเมืองเอง แทนที่จะเห็นใจเธอ กลับหัวเราะเยาะเธอ ล้อเลียนเธอ อย่างไรก็ดี บริกส์บันทึกภาวะความตระหนกทางวัฒนธรรม (culture shock) ในการแสดงออกทางอารมณ์ของเธอไว้ แล้วนำมาเป็นข้อมูลสำคัญในการทำความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ทำให้เธอต้องต่อสู้ทางอารมณ์นั้น ดังนั้น หากนักวิจัยรู้จักบันทึก และสำรวจบันทึกอารมณ์ของตนเองที่เกิดจากการเผชิญหน้ากับความท้าทายแปลกใหม่ของสังคมที่เข้าไปศึกษา ก็จะสามารถเข้าใจสังคมนั้นได้เช่นกัน

 

  • มุมมองลูกครึ่ง  โรซัลโดยกตัวอย่างดอรีน คอนโด (Dorrine Kondo) นักมานุษยวิทยาลูกครึ่งญี่ปุ่น ที่เกิดและเติบโตในสหรัฐอเมริกา แต่ไปทำวิจัยในญี่ปุ่น เธอสะท้อนประสบการณ์ว่าเมื่อไปญี่ปุ่นครั้งแรก เธอพูดภาษาญี่ปุ่นโดยมีสำเนียงอเมริกัน คนขับแท็กซี่ก็ประชดว่าเธอเป็นชาวญี่ปุ่น ไปอยู่เมืองนอกกลับมาแล้วทำไมต้องทำเป็นพูดญี่ปุ่นไม่ชัดด้วย เมื่อเธอเริ่มทำวิจัยจริงๆ ก็พบว่า การเป็นคนญี่ปุ่นปนอเมริกัน เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค กล่าวคือคนในอาจไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลบางลักษณะได้ แต่การเป็นกึ่งคนใน หรือลูกครึ่ง ก็ทำให้เธอเข้าถึงข้อมูลบางอย่างที่คนนอกเข้าถึงยาก และท้ายที่สุดเธอพบว่าตนเองกลายเป็นคนญี่ปุ่นมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

 

  • มุมมองคนยากไร้  โรซัลโดยกตัวอย่างคาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งมองสังคมผ่านมุมมองของคนยากไร้ แต่ก็ไม่ได้ไปอยู่ในจุดเดียวกับคนยากไร้ด้วยตัวเอง ขณะที่งานของนักวิชาการผิวดำ เช่น ฟรานซ์ ฟานอง (Franz Fanon) เป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นนักสังคมศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวจากมุมมองความเป็นคนยากไร้ของตนเอง ผ่านเรื่องราวหลายเรื่องที่คนดำประสบ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในฐานะทางสังคมระดับไหน ฟานองเล่าว่า หลายต่อหลายครั้งเมื่อเขาเดินผ่านเด็กๆ ผิวขาว พวกเด็กๆ จะกลัวเขา หรือเรื่องราวของวุฒิสมาชิกอเมริกัน ที่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร้านอาหาร เนื่องจากสาเหตุเดียวคือเขาเป็นคนดำ การอยู่ในตำแหน่งทางสังคมบางฐานะ ไม่ว่าจะเป็นคนดำ ผู้หญิง หรือผู้ยากไร้อื่นๆ จะทำให้ได้เห็นสังคมที่แตกต่างออกไปจากการอยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้ได้เปรียบในสังคม

 

ด้วยเหตุที่ว่ามา โรซัลโดจึงยืนยันว่า แทนที่จะต้องละเลิกการมีอคติเพื่อที่จะทำวิจัยทางสังคม ตรงกันข้าม การมีอคติและการรู้ที่ทางทางสังคมของตนเองต่างหากที่จะทำให้เราเข้าใจสังคมมากขึ้นได้ อย่างน้อยการมีอคติก็สามารถเป็นหนทางที่นำไปสู่การเข้าใจสังคมอย่างลึกซึ้งได้เช่นกัน

คำถามคือปัจจุบันนี้ ในโลกวิชาการของประเทศไทย พวกเรากำลังเผชิญกับอะไรบ้าง

เรากำลังเผชิญกับการต้องกรอก มคอ. (ผมอยากให้บูราวอยมาช่วยต่อต้าน มคอ. บ้าง แล้วค่อยมาเรียกร้องให้นักวิชาการไทยออกสู่สาธารณะ) กับสัญญาทาสที่ต้องทำตำแหน่งให้ได้ภายในกี่ปี เราเผชิญกับการห้ามเอางานวิทยานิพนธ์ ซึ่งสำหรับหลายคนเป็นงานที่ดีที่สุดในชีวิต มาพัฒนาเป็นหนังสือแล้วขอตำแแหน่งทางวิชาการ (การเป็นศาสตราจารย์ในประเทศนี้ยากยิ่งกว่าในสหรัฐอเมริกาเสียอีก) เราเผชิญกับข้อต่อรองว่า ต้องทำงานหลังต่ออายุเกษียณครบ 5 ปีก่อน จึงจะได้เงินบำเหน็จที่สะสมมาจากการทำงานก่อนหน้านี้ และเรายังเผชิญกับการที่จะทำวิจัยแต่ละที ต้องตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องตอบให้ได้ว่าประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไร

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าแม้ว่าเราจะต้องต่อสู้กับอุปสรรคที่ปิดกั้น “ความเป็นอิสระทางวิชาการ” ซึ่งเป็นคำที่เดี๋ยวนี้แทบจะไม่มีใครพูดถึงกันอีกแล้ว ต่างๆ นานา ผมก็ยังอยากคาดหวังให้นักวิชาการ ไม่ว่าจะสาขาไหน ตอบตนเองให้ได้ว่างานวิชาการของคุณทำไปเพื่อเปิดโปงหรือสนับสนุนอำนาจใคร งานวิชาการของคุณมีแนวทางที่จะช่วยให้สังคมดีขึ้นมาได้อย่างไร คุณรู้หรือไม่ว่างานวิชาการของคุณไม่ได้ปลอดอคติ และอาจส่งผลต่อคนหมู่มากอย่างไร แค่นี้ก็ถือว่าเป็นการทำงานสู่สาธารณะที่ดีมากเท่าที่เงื่อนไขทางวิชาการในประเทศนี้จะเอื้อให้แล้ว

ขอเพียงอย่าคิดว่า เมื่อออกสู่สาธารณะแล้ว จะเป็นคุณกับสังคมเสมอไปก็พอ

ขอเพียงอย่าคิดว่า เมื่อทำงานให้ประเทศชาติแล้ว คุณจะไม่เป็นภัยต่อประชาชนก็พอ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save