fbpx
คำสำคัญคือความเท่าเทียม: 'ม็อบตุ้งติ้งฯ' กับพันธมิตร 'สายรุ้ง'

คำสำคัญคือความเท่าเทียม: ‘ม็อบตุ้งติ้งฯ’ กับพันธมิตร ‘สายรุ้ง’

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

“ที่เจ้ด่าหนูชังชาติ หนูไม่ว่าอะไร แต่ที่เจ้ไล่หนูออกจากบ้าน…”

………

“นี่บ้านมึงเหรอออออ”

 

ดูเผินๆ แล้ว ‘#ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม 2020 ที่จัดโดยกลุ่มผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยและเครือข่ายนั้น คล้ายกับกิจกรรมสันทนาการที่เราๆ ท่านๆ อาจเคยเห็นกันในรั้วมหาวิทยาลัย

แต่นอกเหนือไปจากความบันเทิง ม็อบตุ้งติ้งฯ เป็นปรากฏการณ์การเมืองภาคประชาชนที่น่าสนใจและมีนัยสำคัญอย่างยิ่งที่คนศึกษาเรื่องการประท้วงและขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมไทยควร take seriously’

ก่อนหน้านี้ มีประเด็นดราม่าว่าด้วยพระราชบัญญัติคู่ชีวิต vs. พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม โดยที่รัฐบาลผ่านพ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งมิได้ให้สิทธิคู่สมรสเพศเดียวกันเท่ากับข้อเสนอที่ระบุในพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของคู่ชีวิต

ประเด็นนี้จุดประกายข้อถกเถียงหลายเรื่อง เช่น ข้อสังเกตที่ว่ารัฐบาลสืบอำนาจเผด็จการย่อมไม่มีทางให้สิทธิคู่สมรสเพศเดียวกัน เพราะขนาดสิทธิของประชาชนเรื่องอื่นก็ยังให้ได้ไม่เท่ากับผู้อำนาจในสังคม นำไปสู่การตีความและถกเถียงว่าความเห็นนี้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยก่อนเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมด้านเพศสภาพหรือไม่ กลายเป็นว่าการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยแยกขาดออกจากการต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศหรือ?

เข้าใจได้ว่าสุ้มเสียงชาว LGBTQI ในโลกโซเชียลไม่พอใจต่อวิธิคิดเช่นนี้ อาจเรียกได้ว่าหลายคนรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง

กระนั้นก็ดี แทนที่จะ ‘งอน’ หรือแยกการต่อสู้ของตนออกจากเครือข่ายประชาธิปไตย กลุ่มผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศยังคงยืนหยัดต่อสู้เพื่อและร่วมกับประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าประชาธิปไตยคือการให้สิทธิพลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าประชาชนคนนั้นจะมีเพศสภาพเช่นใด

ม็อบตุ้งติ้งฯ เมื่อวันเสาร์สะท้อนให้เห็นประเด็นนี้ในสองมิติใหญ่ๆ

ประการที่หนึ่ง คำปราศรัยของนักกิจกรรมอย่างคุณแรปเตอร์ในชุดแดรกควีนสีแดงสดใส ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างปัญหาการกีดกันเพศสภาพในสังคมไทย (ดังที่สะท้อนในพ.ร.บ. คู่ชีวิต) กับระบอบอำนาจนิยมซึ่งไม่ใยดีกับหลักนิติธรรม กลับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นนำ ซึ่งยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สวัสดิการอันจำกัดจำเขียดของประชาชนรากหญ้า การใช้กำลังและกฎหมายคุกคามผู้เห็นต่าง และการดำเนินนโยบายอันไร้ประสิทธิภาพอันเห็นได้จากการแก้ปัญหาโควิด-19 (อย่างน้อยในช่วงแรก) และพิษเศรษฐกิจจากการปิดเมืองช่วงโรคระบาด

บทปราศรัยตอนหนึ่งชี้ชวนให้เราเห็นความเชื่อมโยงเรื่องสิทธิเพศสภาพและสิทธิพลเมืองได้อย่างทรงพลัง

 

“เราไม่มีปัญญาซื้อหมู เขาก็ไล่ให้เราไปซื้อไก่ เราไม่มีปัญญาซื้อของ เขาก็ยื่นแบงค์พันให้ เราที่เขาจะอุ้มหาย หรือจะสั่งให้เราเป็นบ้ายังไงก็ได้ ขนาดตำรวจที่เป็นฝั่งเดียวกับเขาแท้ๆ แต่พอโดนรถชนเขาก็ไม่ดูดำดูดี…ความเท่าเทียมกันทางกฎหมายของเขา หรือของรัฐบาลจะไม่บังคับใช้กับคนที่ให้ผลประโยชน์กับรัฐบาล วันนี้ต่อให้เขาไม่เห็นคุณค่าของเรา ของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศนี้…ต่อให้สิ่งที่ดิฉันพูดมาทั้งหมดจะน่าเศร้าและน่าสิ้นหวังขนาดไหน…แต่ดิฉันอยากจะยืนยันค่ะว่า ดิฉันเชื่อว่าประเทศไทยเราจะต้องดีขึ้น จะต้องมีภาพดิฉันใส่ส้นสูง 6 นิ้ว เดินบนฟุตบาทได้ เด็กนักเรียนไม่ต้องมาแสดงความสามารถเพื่อหาเงิน คู่รักต้องจดทะเบียนสมรสกับคนรักได้ ไม่ใช่แค่ผู้ชายและผู้หญิง ดิฉันอยากเห็นวันที่เราไม่ต้องอาย ไม่ต้องปกปิด ไม่ต้องโกหกพ่อแม่ ว่าเราเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ”

 

ประการที่สอง กิจกรรมประท้วงเต็มไปด้วยสีสัน เสียงหัวเราะ และการมีส่วนร่วมของผู้ร่วมชุมนุม ทว่าก็ไม่ทิ้งประเด็นจริงจังทางการเมือง รูปแบบกิจกรรมผสานสันทนาการเช่นนี้เข้ากับลักษณะความเป็น ‘คาร์นิวัล’

คาร์นิวัลมิใช่เพียงงานรื่นเริงอย่างที่เราเข้าใจเท่านั้น แต่มีประวัติศาสตร์อันลึกซึ้ง

ในยุคกรีก-โรมันและยุคกลางในยุโรป กิจกรรมคาร์นิวัลเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมซึ่งเป็น ‘ไพร่’ ได้วิจารณ์เจ้าขุนมูลนาย อนุญาตให้ภรรยาสลับบทบาทเป็นสามีและสามีเป็นภรรยา หรือให้พระลองสวมบทบาทเป็นฆราวาสได้ เรียกอีกอย่างคือ กิจกรรมคาร์นิวัลสลับความสัมพันธ์ทางอำนาจเดิมให้กลับหัวกลับหาง ระเบียบทางอำนาจเดิมจึงถูกยกเว้นชั่วคราว

นักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งชี้ว่ากิจกรรมคาร์นิวัลมีลักษณะต้านโครงสร้างสังคม (anti-structure) ยุโรปในยุคกลาง บางโอกาส กิจกรรมคาร์นิวัลปะทุเป็น ‘กบฎไพร่’ จนต่อมาผู้มีอำนาจพยายาม ‘ถอดเขี้ยวเล็บ’ ของกิจกรรมคาร์นิวัลให้เหลือแต่ความบันเทิงเท่านั้น ดังที่เรายังพอเห็นร่องรอยในกิจกรรมอย่างคาร์นิวัลริโอ ในประเทศบราซิล หรือคาร์นิวัลช่วงสิ้นฤดูหนาวในหลายเมืองของยุโรป[i]

นอกจากกิจกรรมคาร์นิวัลจะเป็นการวิจารณ์ผู้มีอำนาจแล้ว ก็ยังเน้นสร้างความรู้สึกเป็นพวกพ้องเดียวกัน คนที่ไม่ถูกกันเมื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารก็สามารถมีบทสนทนากันได้ (ซึ่งมักเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมคาร์นิวัล) บรรยากาศความสนุกในกิจกรรมคาร์นิวัลทำให้คนที่เห็นต่างกันหัวเราะร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องกับเรื่องที่ถูกล้อหรือเสียดสี แต่ที่ขำเพราะ ‘วิธีการ’ ล้อเลียนชวนให้ขำ คาร์นิวัลจึงเป็นพื้นที่แห่งความเป็นไปได้อันหลากหลาย (heterotopia) อำนาจเปลี่ยนหน้าตา และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มถูกเปลี่ยนผ่านเป็นอย่างอื่น[ii]

ลักษณะคาร์นิวัลในม็อบตุ้งติ้งฯ ปรากฎชัดในกิจกรรม ‘ต่อบทหอแต๋วแตก’ และ ‘แจว’

การต่อบทละครหอแต๋วแตกมีสองตอน คือตอนหุ่น ‘อตอห’ และ ‘นี่บ้านมึงเหรอ’ (ดังที่เกริ่นไว้ช่วงเริ่มต้นของบทความ) เป็นการวิจารณ์เสียดสีผู้มีอำนาจ และวาทกรรมชาตินิยมซึ่งค้ำจุนระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย ในขณะที่กิจกรรมแจว[iii]มีลักษณะ ‘ชวนกันเล่น’ โดยอาศัยรูปแบบกิจกรรมสันทนาการในรั้วมหาวิทยาลัยพูดถึงปัญหาทางสังคมและเน้นย้ำข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยและกลุ่มที่สิทธิเพศสภาพที่เท่าเทียมกัน ดังที่สะท้อนใน ‘บทแจว’

 

“แจวเรือจะไปซื้อยำ แจวเรือจะไปซื้อยำ ไหนว่าประเทศเราควรแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้ลุกขึ้นมาแจว”

“แจวเรือไปซื้อปากกา แจวเรือไปซื้อปากกา ไหนใครว่าควรยุบสภาให้ลุกขึ้นมาแจว”

“แจวเรือไปซื้อพริกป่น แจวเรือไปซื้อพริกป่น ไหนใครว่าควรหยุดคุกคามประชาชน ให้ลุกขึ้นมาแจว”

“แจวเรือจะไปลำพูน แจวเรือจะไปลำพูน ไหนใครว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ลุกขึ้นมาแจว”

“แจวเรือจะไปหาอาจารย์สมเจียม แจวเรือจะไปหาอาจารย์สมเจียม ไหนใครสนับสนุนสมรสเท่าเทียม ให้ทุกขึ้นมาแจว”

“แจวเรือไปแล้วรัฐบาลไม่ได้ยิน แจวเรือไปแล้วรัฐบาลไม่ยิน ไหนใครว่าประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ให้ลุกขึ้นมาแจว”

 

ในแง่นี้ บทแจวดูเหมือนจะประสานรอยร้าวที่ปรากฏในเครือข่ายก้าวหน้า อันมาจากข้อถกเถียงเรื่องพ.ร.บ.คู่ชีวิต vs. สมรมเท่าเทียม เพราะในท้ายที่สุดสิทธิการสมรสเพศเดียวกันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งยึดโยงกับเสียงของประชาชน ผู้ที่มีเพศหลากหลายก็คือประชาชน และควรได้รับสิทธิดังกล่าว

ที่สำคัญคือ กิจกรรมแจวล้อเล่นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ประท้วง

โดยทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจค่อนข้างตึงเครียด ตำรวจต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในการควบคุมการชุมนุม (ในนัยของ ‘ตามคำสั่งนาย’ หรือ ‘ตามกฎหมาย’ เป็นต้น) ซึ่งผลักให้เจ้าหน้าที่เป็นคู่กรณีกับผู้ชุมนุมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อถูกห้ามหรือผลักดันมากๆ เข้า ผู้ชุมนุมมักหงุดหงิด จนในหลายกรณี (ทั้งในไทยและเทศ) กลายเป็นการปะทะคารมกับเจ้าหน้าที่ อารมณ์ขันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจในพื้นที่จึงเป็นการ ‘ล้อเลียน’ มากกว่า ‘ล้อเล่น’ แต่กิจกรรมแจวของม็อบตุ้งติ้งฯ ต่างออกไป มุกบางมุกหยอกล้อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่นก่อนเริ่มกิจกรรม ผู้จัดชี้แจงว่าผู้ชุมนุมที่ลุกขึ้นเต้นแจวควรอยู่บนทางเข้า (ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่อนุญาต) ไม่ควรลงถนน แต่ก็บอกเพิ่มว่า

 

“ถ้าสนุกลงถนนแล้วต้องปีนกลับมา สัญญามั้ยคะ อย่าให้ลำบากคุณตำรวจเลยค่ะ เขาคุกคามเรามามากพอแล้ว อย่าไปคุกคามเขาเพิ่มเติมเลยค่ะ”

 

ระหว่างกิจกรรมแจว ช่วงหนึ่งผู้ชุมนุมได้ชวนตำรวจให้ลุกขึ้นเต้นแจว

 

“แจวเรือจะไปโกนหนวด คุณตำรวจ คุณตำรวจ….”

 

แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถลุกขึ้นแจวได้ แต่ผู้จัดยังคงกดดันต่อไปด้วยการป่าวร้องพร้อมๆกับผู้ชุมนุมว่า “สปิริต สปิริต สปิริต…” ณ จุดนี้ทุกสายตาจ้องไปที่เจ้าหน้าที่ว่าจะมีใครเต้นแจวหรือไม่ คงต้องมีใครลองสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจในตอนนั้นดูว่าคิดอย่างไร บันเทิงถึงขนาดเกือบเต้นพร้อมกับผู้ชุมนุมหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ การชวนตำรวจแจวได้เปลี่ยนบทบาทของตำรวจ จากฝ่ายตรงข้ามกับผู้ชุมนุม มาเป็นคนที่ผู้ชุมนุมล้อเล่นและชวนเล่นด้วยได้

นี่เป็นอีกครั้งที่กิจกรรมคาร์นิวัลเปิดพื้นที่แห่งความเป็นไปได้อันหลากหลาย (heterotopia)

ม็อบตุ้งติ้งฯ อาจเป็นหมุดหมายสำคัญของการสร้าง ‘พันธมิตรสายรุ้ง’ (rainbow coalition) ซึ่งรวมกลุ่มที่ต่อสู้ในประเด็นหลากหลาย ทว่ามีเป้าหมายร่วมกันนั่นคือสรรสร้างสังคมไทยให้มีความเท่าเทียม

พันธมิตรสายรุ้งสำคัญในการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่รวมตัวเป็นเครือข่ายใหญ่ และมีพลังมากพอในการเปล่งร้องว่า “we are the people”

 

 


 

เชิงอรรถ

[i] ดูงานศึกษาเกี่ยวการเมืองวัฒนธรรมของคาร์นิวัลเพิ่มเติมได้ใน Mikhail Bakhtin, Rabelias and His World, trans. Helene Iswolsky (Indiana: Indiana University Press, 1984); David Kunzle, “World Upside Down: The Iconography of a European Broadsheet Type,” in The Reversible World: Symbolic Inversion in Art and Society, ed. Barbara A. Babcock (Ithaca: Cornell University Press, 1978), 39-90; Peter Burke, Popular Culture in Early Modern Europe (New York: Harper and Row, 1978); Don Handelman, “The Ritual-Clown: Attributes and Affinities,” Anthropos 76 (1981): 321-70; Jacques le Goff, “Laughter in the Middle Ages,” in A Cultural History of Humour: From Antiquity to the Present Day, eds. Jan Bremmer and Herman Roodenburg (Cambridge: Polity Press, 1997), 40-53; and Mikhail Bakhtin, The Dialogic Imagination: Four Essays, trans. Vadim Liapunov and Kenneth Brostrom, ed. Michael Holquist (Texas: University of Texas Press, 1981).

[ii] Michel Foucault, “Of Other Spaces: Heterotopias and Utopias,Architecture /Mouvement/ Continuit (October 1984).

[iii] สำหรับใครที่ไม่คุ้นกับกิจกรรมแจว การแจวคือการร้องด้นสด ซึ่งมีประโยคเริ่มว่า “แจวมะแจวจ้ำจึก น้ำนิ่งไหลลึก นึกถึงคนแจว” จากนั้นผู้ร้องจะต่อประโยคว่า “แจวเรือจะไป… แจวเรือจะไป… ไหนใคร…. ให้ลุกขึ้นมาแจว” โดยเพิ่มคำที่คล้องจองกันเพื่อสร้างเนื้อเพลงใหม่ ระหว่างมีการนำร้อง คนฟังก็จะมีส่วนร่วมด้วยการลุกขึ้นเต้น ‘แจว’

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save