fbpx

คนข้ามเพศสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ในอินโดนีเซีย ≠ ความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับในสังคม

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นเดือนแห่งเทศกาลไพรด์ (Pride Month)  มีการจัดเฉลิมฉลองของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT+) ในหลายประเทศทั่วโลกในหลายรูปแบบ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และความเท่าเทียมทางเพศ ไฮไลต์ที่สำคัญคือการเดินขบวนไพรด์พาเหรดซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และแพร่หลายไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศอินโดนีเซียที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และยังเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก เนื่องจาก LGBT+ ไม่ค่อยได้รับการยอมรับในอินโดนีเซียทั้งด้านสังคมและกฎหมาย การจัดงานเฉลิมฉลองไพรด์ที่อินโดนีเซียเป็นไปแบบเงียบๆ โดยปีนี้มีการจัดที่บาหลีในวันที่ 5 มิถุนายน จัดโดยองค์กรเอกชนด้านสิทธิ LBGT+ ที่ชื่อว่า Pelangi Nusantara ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมนี้ส่วนมากเป็นสมาชิกองค์กรเอกชนในบาหลีเช่น Yayasan Gaya Dewata, Yayasan Gaya Nusantara, QLC Bali, GSHR Udayana, Kwir, Kabar Sejuk, Komunitas Teman Baik, Queer Archive, Lokahita Yogyakarta, LBH Apik และ Persatuan Waria[1]

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม มีการประดับธงสีรุ้งสัญลักษณ์ของ LGBT+ ที่หน้าสถานทูตอังกฤษ ณ กรุงจาการ์ตาเพื่อเป็นการรำลึกถึงวันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (the International Day against homophobia, transphobia and biphobia) และมีการโพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมทางการของสถานทูตอังกฤษสนับสนุนสิทธิของกลุ่ม LGBT+ ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทวงการต่างประเทศออกมากล่าวว่าจะเรียกทูตอังกฤษเข้าพบเพื่อชี้แจงเรื่องนี้ และกล่าวว่าการประดับธงสีรุ้งและโพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นการไม่ละเอียดอ่อนมากพอของฝ่ายสถานทูตอังกฤษต่อวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย และจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอินโดนีเซีย[2]

การแสดงออกของชาวอินโดนีเซียในเชิงต่อต้านกลุ่ม LGBT+ มีมาอยู่เสมอและยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษนับตั้งแต่การสิ้นสุดยุคระเบียบใหม่ที่กลุ่มอิสลามแนวอนุรักษนิยมกำเนิดขึ้นมากมายและมีบทบาทในสังคมการเมืองอินโดนีเซียมากขึ้น ประเด็นเรื่อง LGBT+ มักนำไปสู่การถกเถียงอย่างรุนแรงในสังคมอินโดนีเซีย จากทั้งผู้ที่สนับสนุนสิทธิของกลุ่ม LGBT+ และกลุ่มที่ต่อต้านสุดตัว

LGBT+ ในสังคมอินโดนีเซีย

ในสังคมวัฒนธรรมตะวันออกและศาสนามีอิทธิพลในสังคมสูงอย่างอินโดนีเซียที่เป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก กลุ่ม LGBT+ ค่อนข้างมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิตหรือการเปิดเผยตัวตน การเป็น LGBT+ ถูกอธิบายว่าขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เป็นบาปและเป็นเรื่องต้องห้ามของชาวมุสลิม ทั้งๆ ที่บุคคลที่เป็น LGBT+ ดำรงอยู่ในสังคมอินโดนีเซียมาอย่างนาน

ในอดีตในบางสังคมในบริเวณหมู่เกาะอินโดนีเซียการเป็นบุคคลข้ามเพศได้รับการยอมรับและยังได้รับความเคารพในฐานะเพศที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นในอาณาจักรบูกิส ที่เกาะสุลาเวสี มีหญิงข้ามเพศที่เรียกว่า ‘บิซซู’ (Bissu) ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเพื่อปกป้องอาณาจักรทำให้ได้รับความเคารพจากผู้คนและได้รับสถานะพิเศษในสังคม[3] ในปัจจุบันกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมีอยู่ทั่วไปในประเทศอินโดนีเซีย แต่การเปิดเผยหรือแสดงออกด้านอัตลักษณ์ทางเพศยังไม่สามารถกระทำได้โดยเสรี มีคำที่ใช้เรียกหญิงข้ามเพศในสังคมอินโดนีเซียและเป็นที่รู้จักกันดีคือคำว่า ‘วาเรีย’ (waria) มาจากคำว่า wanita ที่แปลว่าผู้หญิง และ pria ที่แปลว่าผู้ชาย วาเรียคือชายที่แต่งกายแบบหญิงโดยส่วนมากยังไม่ได้มีการแปลงเพศ ก่อนหน้านี้วาเรียมีที่ทางในสังคม มีรายการโทรทัศน์ที่ผู้ดำเนินรายการเป็นวาเรียชื่อดัง วาเรียปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ต่างๆ เป็นปกติแม้จะถูกวางบทบาทให้ดูตลกขบขัน แต่ในตอนต้นปี 2016 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎหมายห้ามวาเรียปรากฏในรายการโทรทัศน์ เหตุผลของการห้ามคือการที่ชายแต่งกายแบบหญิงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่เด็กๆ และเยาวชน[4]

นอกจากคำว่าวาเรียแล้ว ยังมีคำอื่นๆ ที่เรียกกลุ่ม LGBT+ เช่น คำว่า ‘บันจี’ (banci) หรือ ‘เบ็นจ็อง’ (bencong) และคำว่า ‘วาดัม’ (wadam) มาจากคำว่า wanita adam ซึ่งเริ่มใช้ในปี 1968 แทนคำว่า บันจี และ เบ็นจ็อง ในขณะที่บันจีและเบ็นจ็องมักหมายถึงชายที่ใส่เสื้อผ้าและมีพฤติกรรมเป็นหญิง วาดัมใช้เรียกทั้งชายที่มีพฤติกรรมบทบาทและการแสดงออกเป็นหญิงและในทางกลับกัน[5] ในพจนานุกรมหลักของอินโดนีเซียให้นิยามความหมายของคำว่าวาดัมว่า คือ hawa และ adam

กลุ่มบุคคลที่เป็น LGBT+ ในอินโดนีเซียมักได้รับการปฏิบัติในทางลบจากคนในสังคมที่ไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย หรือต่อต้านกลุ่ม LGBT+ นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกพูดจาดูถูกดูหมิ่น ล้อเลียน แสดงความรังเกียจ ไปจนถึงการการทำร้ายร่างกาย นอกจากนั้นพวกเขามักถูกเลือกปฏิบัติทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า กลุ่ม LGBT+ ในหลายพื้นที่ทั้งในจาการ์ตาและเมืองอื่นๆ ออกมาเปิดเผยว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนชายขอบที่ถูกละเลยจากรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ เนื่องจากหลายคนไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการเข้ารับการฉีดวัคซีน และหลายคนไม่กล้าไปที่ศูนย์ฉีดวีคซีนเนื่องจากกลัวถูกผู้คนแสดงความรังเกียจ ข้อมูลจาก Forum Waria Indonesia เปิดเผยว่าประมาณ 50-60% ของหญิงข้ามเพศสูงอายุในอินโดนีเซียไม่มีบัตรประชาชน เนื่องจากว่าส่วนมากแล้วพวกเขามักจะเลือกออกจากบ้านหรือไม่ก็ถูกทางบ้านขับไล่ออกจากบ้านตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ไม่มีหลักฐานหรือเอกสารทางการเพื่อจะนำมาทำบัตรประชาชน[6] ผลสืบเนื่องจากการที่กลุ่ม LGBT+ มักจะออกจากบ้านทำให้พวกเขาไม่ได้รับการศึกษา ส่งผลให้โอกาสในการประกอบอาชีพลดน้อยลง ส่วนใหญ่พวกเขาจึงมักทำงานในร้านเสริมสวยหรือขายบริการ

แม้ว่าการเป็น LGBT+ ในสังคมอินโดนีเซียยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ในสังคมและยังไม่มีกฎหมายรองรับการสมรสของคนเพศเดียวกัน แต่ว่ากลุ่มคนข้ามเพศสามารถเปลี่ยนแปลงสถานะเพศได้ด้วยการผ่าตัดแปลงเพศและยื่นคำร้องต่อศาลในท้องที่ให้เพื่อขอให้ศาลรับรองสถานทางเพศตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวไม่ได้เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยง่าย มีกระบวนการหลายขั้นตอนตั้งแต่การรับคำปรึกษา การตรวจทางจิตเวช การตรวจทางสรีระ การตรวจร่างกาย เป็นต้น[7] เมื่อกลุ่มคนข้ามเพศที่แปลงเพศแล้วได้รับการยอมรับและศาลพิจารณาให้เปลี่ยนสถานะทางเพศและเปลี่ยนคำนำหน้านามอย่างเป็นทางการในเอกสารต่างๆ ก็สามารถสมรสกับบุคคลต่างเพศตามที่ระบุในเอกสารทางการได้

LGBT+ กฎหมาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยูทูบเบอร์ชื่อดังชาวอินโดนีเซีย เด็ดดี กอร์บูซีร์ (Deddy Corbuzier) ซึ่งมีผู้ติดตามอยู่ราว 18.6 ล้านคนได้เผยแพร่คลิปวีดีโอหัวข้อ “Tutorial Jadi G4y di Indo – Kami happy loh.. – Ragil and Fred” (ติวเป็นเกย์ในอินโดนีเซีย – พวกเรามีความสุขเหอะ – รากิลและเฟร็ด) เกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของ รากิล มาฮาร์ดีกา (Ragil Mahardika) กับคู่สมรสเพศเดียวกัน โดยรากิลเป็นชาวอินโดนีเซียเกิดที่เมืองเมดาน เกาะสุมาตรา และในตอนนี้เขาได้สัญชาติเยอรมันและแต่งงานกับ เฟรเดอริค ฟอลลาร์ต (Frederick Vollert) ชาวเยอรมันเมื่อปี 2018 หลังจากมีการเผยแพร่วีดีโอดังกล่าว ปรากฏว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อออนไลน์อย่างรุนแรงจากผู้ต่อต้าน LGBT+ ว่าไม่เหมาะสม จนในที่สุด เด็ดดีได้ลบวีดีโอดังกล่าวและออกมากล่าวขอโทษ พร้อมทั้งกล่าวว่า “ตั้งแต่แรกผมบอกแล้วว่าไม่ได้สนับสนุน LBGT ผมเพียงแค่เห็นพวกเขาเป็นมนุษย์ เพียงแค่เปิดเผยข้อเท็จจริงว่าพวกเขามีอยู่จริงรอบๆ พวกเขาและผมเองรู้สึกว่าไม่มีสิทธิไปตัดสินพวกเขา”[8]

กรณีของรากิลได้จุดประเด็นการโต้เถียงเกี่ยวกับ LGBT+ อีกครั้งในสังคมอินโดนีเซีย มีผู้ที่เรียกร้องให้มีการลงโทษกลุ่มบุคคลที่เป็น LGBT+ หมายความว่าโดยที่ไม่ต้องกระทำผิดใดๆ แค่เป็น LGBT+ ก็ถือว่ามีความผิดอาญา ก่อนหน้านั้นในช่วงระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมามีการพูดถึงการแก้ไขกฎหมายอาญาให้การเป็น LGBT+ เป็นความผิดและมีบทลงโทษ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้คนออกมาถกเถียงอภิปรายกันอย่างเผ็ดร้อน ทั้งผู้นำศาสนา นักการศาสนา นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นักการเมือง ตลอดจนประชาชนทั่วไป

นาย มาห์ฝุด เอ็มเด (Mahfud MD) อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันดำรงตำแห่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานด้านการเมือง กฎหมาย และสิทธิมนุษยชนได้ออกมากล่าวว่ากฎหมายเกี่ยวกับ LGBT+ มีการบรรจุในประมวลกฎหมายอาญาที่กำลังมีการอภิปรายในสภาและจะมีการรับรองในเดือนกรกฎาคมนี้ (2022) และเขายังพูดอีกว่าหากใครไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่มีการรับรองก็สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ตามมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าดำเนินการเรื่องนี้ล่าช้า ซึ่งนายมาห์ฝุดชี้แจงว่า ที่มีความล่าช้าในการอภิปรายในสภาเนื่องจากว่ามีแรงกดดันจากภาคประชาสังคมและองค์กรเอกชนต่างๆ อย่างไรก็ตาม นาย อัสรุล ซานี (Asrul Sani) สมาชิกคณะกรรมาธิการที่ 3 ของสภาพผู้แทนประชาชนที่รับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงกล่าวว่าไม่มีการลงโทษดำเนินคดีกับกลุ่ม LGBT+ ในประมวลกฎหมายอาญาและได้กล่าวว่าที่เรียกกันว่า “บทบัญญัติความผิดทางอาญา” ของ LGBT+ นั้นแท้จริงแล้วไม่ตรงสักเท่าไหร่ ที่ถูกคือบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำลามกจากเพศเดียวกัน นอกจากนี้นาย เอ็ดเวิร์ด เฮียริจ (Edward Hiariej) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนก็ได้กล่าวว่าประมวลกฎหมายอาญาฉบับปรับปรุงที่เสนอโดยรัฐบาลไม่ดำเนินคดีอาญากับกลุ่ม LGBT+ และร่างกฎหมายดังกล่าวมีความเป็นกลางทางเพศ[9] ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำกล่าวของนายอัสรุล ซานีและเอ็ดเวิร์ด เฮียริจ ขัดแย้งกับนายมาห์ฝุด เอ็มเด

สภาผู้นำศาสนาอิสลามอินโดนีเซีย (Majelis Ulama Indonesia หรือ MUI) ได้เคยออกฟัตวา คำวินิจฉัยเลขที่ 57 ปี 2014 เกี่ยวกับ “เลสเบี้ยน, เกย์, การร่วมเพศทางทวารหนัก และการกระทำอนาจาร” โดยฟัตวาว่าการรักและมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกันเป็นความผิดทางศาสนา อย่างไรก็ตามฟัตวาดังกล่าวไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายของรัฐ และสภาผู้นำศาสนาอิสลามอินโดนีเซียยังอธิบายว่ารสนิยมทางเพศที่มีต่อเพศเดียวกันนั้นเป็นความผิดปกติที่ต้องรักษาและเป็นความเบี่ยงเบนที่ต้องทำให้ถูกต้องเข้าที่เข้าทาง[10]

ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาที่เผยแพร่ในปี 2019 มีบทบัญญัติสองข้อที่เกี่ยวข้องกับความลามกอนาจาร ได้แก่

“บทที่ 420 วรรค 1:

ทุกคนที่กระทำลามกอนาจารต่อบุคคลอื่นที่เป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ

  1. ในที่สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดหนึ่งปีหกเดือน หรือปรับสูงสุดในหมวดสาม
  2. โดยการบังคับหรือข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดเก้าปี
  3. ซึ่งตีพิมพ์เนื้อหาลามากอนาจารต้องระวางโทษจำคุกสูงสูงเก้าปี

บทที่ 420 วรรค 2:

ทุกคนที่ใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงบังคับให้บุคคลอื่นกระทำลามกอนาจารต่อตนเองต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดเก้าปี

บทที่ 421:

โทษจำคุกสูงสุดเก้าปีต่อทุกคนที่

  1. กระทำลามกอนาจารต่อบุคคลที่ทราบว่าหมดสติหรือไร้ความสามารถ
  2. กระทำลามกอนาจารต่อบุคคลที่ทราบหรือมีเหตุผลอันควรสงสัยว่าเป็นเด็ก หรือ
  3. โดยการชักชวนหรือหลอกลวงให้เด็กกระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำลามกอนาจาร”

จะเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวไม่ได้มีจุดมุ่งหมายพุ่งตรงไปยังเพศใดเพศหนึ่ง แต่เน้นถึงกระทำลามกอนาจารที่เกี่ยวข้องกับเด็กและการใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตามมีความกังวลจากนักกิจกรรมด้านกฎหมายที่ทำงานเพื่อชุมชน LGBTQ+ ว่าหากมีการประกาศใช้กฎหมายอาญาฉบับแก้ไขจะนำไปสู่ความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ เพิ่มมากขึ้น เดเด อูโตโม (Dede Oetomo) ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ อินโดนีเซียมากกว่า 40 ปี ได้กล่าวว่าหากมีการใช้กฎหมายอาญากับกลุ่ม LBGTQ+ อินโดนีเซียจะถอยหลังเข้าคลองและกลายเป็นประเทศที่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

แม้ว่าในทางทฤษฎีจนถึงปัจจุบันอินโดนีเซียไม่มีกฎหมายลงโทษกลุ่มบุคคล LGBT+ แต่ในทางปฏิบัติการไม่ยอมรับของคนในสังคมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้กฎหมายยังไม่คุ้มครองกลุ่มบุคคล LGBT+ จากการถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกใช้ความรุนแรง อนึ่ง ในประเทศอินโดนีเซียไม่ได้มีการใช้กฎหมายอิสลามเป็นกฎหมายประจำชาติ ยกเว้นที่จังหวัดปกครองพิเศษอาเจะห์เพียงแห่งเดียวที่มีการประกาศใช้กฎหมายอิสลาม แม้กระนั้นก็ตามกฎหมายอิสลามที่บังคับใช้ที่อาเจะห์ไม่มีการระบุโทษหรือความผิดโทษฐานที่เป็น LGBT+ หากแต่ว่ามีการบัญญัติว่า “ห้ามมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกัน” กล่าวคือเป็น LGBT+ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ห้ามมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตามมีการกวาดล้างตามสถานที่ต่างๆ จับบุคคลที่เป็น LBGT+ มาอบรม มากร้อนผม มาบังคับเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือประจานในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน[11] แต่ดูเหมือนเจ้าหน้าที่ไม่ได้ออกมาว่ากล่าวหรือกระทำอันใดต่อกลุ่มคนดังกล่าว ดังนั้นสิ่งที่กลุ่ม LGBT+ ในอินโดนีเซียต้องเผชิญไม่ใช่แค่กฎหมายที่มีการบัญญัติอย่างเป็นทางการเท่านั้นหากแต่พวกเขาต้องเผชิญกับ ‘ศาลเตี้ย’ ที่ตั้งตนเป็นผู้ผูกขาดการตีความความถูกต้องชอบธรรมและทำตัวเป็นผู้พิพากษาเถื่อนที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นอย่างไรก็ได้


[1] Amahl S. Azwar, “Quietly Proud: LGBTQIA+ Indonesians in Bali Celebrate Pride Month Solemnly Amid Rising Backlash,” Coconuts Bali, https://coconuts.co/bali/features/quietly-proud-lgbtqia-indonesians-in-bali-celebrate-pride-month-solemnly-amid-rising-backlash/

[2] Thea Fathanah Arbar, “Heboh Kedubes Inggris di Jakarta Kibarkan Bendera LGBT,” CNBC Indonesia, https://www.cnbcindonesia.com/news/20220523115028-4-341025/heboh-kedubes-inggris-di-jakarta-kibarkan-bendera-lgbt

[3] ธนิษฐา สุกกล่ำ, “การสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ของหญิงข้ามเพศในเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย: กรณีศึกษา ปอเนาะ เปอซันเตร็น วาเรีย อัลฟาตาห์,” ภาคนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562, หน้า 2.

[4] “Mulai Hari Ini, Tak Boleh Lagi Ada Siaran Pria Bergaya Wanita,” JPNN.Com, https://www.jpnn.com/news/mulai-hari-ini-tak-boleh-lagi-ada-siaran-pria-bergaya-wanita

[5] Stella Maris, “Menguak asal-usal istilah wadam yang beredar di media sosial,” merdeka.com, https://m.merdeka.com/feedid/story/menguak-asal-usul-istilah-wadam-yang-beredar-di-media-sosial-1804014.html#:~:text=Wadam%20merupakan%20kelainan%20identifikasi%20diri,pengganti%20kata%20banci%20atau%20bencong.

[6] “Transgender: Menanti vaksin untuk komunitas marginal – ‘Saya merasa tidak diperhatikan pemerintah’,” BBC News/Indonesia, https://www.bbc.com/indonesia/majalah-57331790

[7] I Nyoman Satria Perwira, Ida Ayu Putu Widiati and Diah Gayatri Sudibya, “Perubahan Status Jenis Kelamin dalam Perspektif Hukum Positif di Indonesia,” Jurnal Interpretasi Hukum, Vol 2. No. 1 – April 2021, pp. 74-78.

[8] “Podcast Deddy Corbuzier? Aktivus LGBTQ sayangkan permintaan maaf dan penghapusan konten Ragil-Fred – ‘Seolah sentiment dan diskrimunasi itu dibenarkan’,” BBC News/Indonesia, https://www.bbc.com/indonesia/trensosial-61389820

[9] Ayomi Amindoni, “RKUHP: Wacana kriminalisasi LGBT, ‘Indonesia akan jadi negara paria’,” BBC News/Indonesia, https://www.bbc.com/indonesia/indonesia-61567481

[10] Khairuddin & Julius Barnawy, “Kajian terhadap Fatwa MUI Nomor 57 Tahun 2014 tentang Lesbian, Gay, Sodomi dan Pencabulan,” Legitimasi, Vol. 8 No. 1, Januari – Juni 2019, pp. 1-21.

[11] ดูตัวอย่างเช่น “Setelah ditangkap, para waria di Aceh ‘dibina agar jadi laki-laki’,” BBC News/Indonesia, https://www.bbc.com/indonesia/indonesia-42850327

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save