fbpx

จดหมายจากอาจารย์มหา’ลัยชายขอบ

สวัสดีปีใหม่ครับ อาจารย์สมชายที่คิดถึง


น่าจะเป็นเวลานานพอสมควรแล้วที่ไม่ได้เจอกัน ก็อย่างที่อาจารย์รู้แหละครับว่าพอเรียนจบ ผมก็ได้งานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแถวบ้าน ไม่ใช่มหาวิทยาลัยใหญ่โตหรือมีชื่อเสียงอะไรมากนักหรอก อาศัยว่าไม่ไกลจากบ้านมากนักก็เลยตัดสินใจเลือกที่จะลองทำงานนี้ดู

แม้ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมีสภาพเลิศเลอแบบที่เคยเห็นมาตอนเรียนอยู่ แต่ผมกลับพบว่ามันช่างแตกต่างจากที่คาดไว้อยู่ไม่น้อยเลย  

ด้วยความที่เป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ จำนวนนักศึกษาของสาขามีไม่ค่อยมาก แต่ละปีก็มีจำนวน 60-70 คน แน่นอนว่ามันก็รวมไปถึงจำนวนอาจารย์ในสาขาก็มีอยู่ไม่มากเช่นกัน วิชาสอนแต่ละเทอมก็ประมาณ 3-4 วิชา แต่นั่นก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่เป็นกังวลแต่อย่างใด

เรื่องที่ผมรู้สึกหนักใจมากกว่าก็คือ จะพูดอย่างไรดีครับ นักศึกษาที่ผมต้องเจอส่วนใหญ่เป็นคนจน จนในแบบที่ตอนผมเรียนก็ไม่ได้ค่อยได้เจอเพื่อนในแบบนี้มาก่อน เมื่อไม่มีเงินมากพอหลายคนก็เลยต้องไปทำงานพิเศษ ช่วงตอนเย็นถึงกลางคืน พอกลับมาเรียนตอนเช้าก็อย่างที่อาจารย์เดาได้ ก็คือมานั่งหลับคาโต๊ะเรียน แรกๆ ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงได้หลับกันตั้งแต่เช้า พอมารู้เข้าตอนหลังก็ได้แต่แสดงความเห็นใจและไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

อาจารย์อาจจะถามถึงทุน กยศ. ส่วนใหญ่เขาก็ขอกู้กัน แต่ค่าใช้จ่ายสองพันกว่าบาทต่อเดือนก็ไม่ได้มากมายอะไร แถมกว่าเงินจะมาในแต่ละปีก็ช้าเป็นอย่างมาก อาจไม่น่าเชื่อนะครับบางคนก็ต้องแบ่งกลับไปให้ที่บ้าน ส่วนทุนของคณะหรือมหาวิทยาลัยก็มักมีคุณสมบัติแบบ ‘เรียนดีแต่ยากจน’

ชีวิตมันแย่นะครับ นอกจากจะยากจนแล้วยังต้องเรียนดีอีกด้วย ต่อให้ไอน์สไตน์กลับชาติมาเกิดในเมืองไทย ก็คงยากจะขอทุนประเภทนี้

ด้วยเงื่อนไขแบบดังกล่าว แม้ว่าผมจะพยายามชี้ให้พวกเขาเห็นว่ามันเชื่อมโยงกับโครงสร้างหรืออำนาจทางการเมือง ถ้าเรามีการเมืองที่ดีกว่านี้ มันคงทำให้การกระจายทรัพยากรส่วนรวมได้มาถึงในเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่าการไปซื้อเรือดำน้ำ เครื่องบิน หรืออะไรต่อมิอะไรแบบที่เป็นอยู่ แต่มันก็ยากเหลือเกิน หลายคนอาจพอมีความสนใจ แต่โลกที่พวกเขาเผชิญอยู่ข้างหน้าคือ การหาเงินเพื่อมาใช้เรียน กินข้าว จ่ายค่าหอ ทำให้เวลาที่จะขบคิดถึงเรื่องอื่นๆ มันก็น้อยลงไป

ตอนที่เห็นข่าวยืน หยุด ขัง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหลายแห่ง ผมก็ลองเอ่ยปากชวนนักศึกษาหลายคน แต่ดูเหมือนว่าแม้จะเป็นนักเรียนกฎหมายแต่พวกเขาก็ยังไม่พร้อมที่จะแสดงออก ‘ทางการเมือง’ ในพื้นที่สาธารณะ

อันที่จริง มันก็ไม่ใช่แค่นักศึกษาหรอกครับ ผมลองชวนเพื่อนอาจารย์ไปยืน หยุด ขัง หน้ามหาวิทยาลัย จำนวนหนึ่งทำหน้าตาเหรอหรา จำนวนหนึ่งตอบกลับมาว่า “กลัวถูกผู้บริหารเล่นงาน” อาจารย์ครับ เราก็รู้ว่านี่เป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่สามารถกระทำได้ แต่นั่นแหละ ในโลกความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายแบบที่ตัวหนังสือเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ถ้าจะไปยืนหน้ามหาวิทยาลัย ก็คงมีผมยืนอยู่เหงาคนเดียว คนผ่านไปมาคงคิดว่าเป็นคนบ้ามากกว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองแหงๆ

ย้อนกลับไปเรื่องผู้บริหารเล่นงาน อาจารย์อาจไม่รู้ว่าระบบการจ้างงานคนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยของผมมันมีหลายระบบ มีพวกเก่าๆ เป็นข้าราชการแม้เงินเดือนน้อยแต่มีความมั่นคงสูง พนักงานมหาวิทยาลัยก็มีความมั่นคงพอสมควร และยังมีอีกกลุ่มที่เรียกว่า ‘อัตราจ้าง’ กลุ่มนี้จะเป็นพวกที่ต่อสัญญากันปีต่อปี อย่าคิดว่าเงินเดือนเยอะนะครับ แม้จะเป็นจ้างระยะสั้นแต่เงินเดือนก็น้อยกว่าพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ต้องพูดถึงสวัสดิการหรือความมั่นคงที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เอาแค่ว่าเงินเดือนจะไม่ขึ้นเลยตราบเท่าที่ยังเป็นอาจารย์อัตราจ้าง

การต่อสัญญาก็ขึ้นอยู่กับคณะหรือมหาวิทยาลัยว่าพอใจจะจ้างต่อหรือเปล่า มันไม่ใช่การเลิกจ้างนะครับ แต่มันเป็นการ ‘ต่อสัญญา’ ดังนั้น ไม่ต้องไปฟ้องเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอะไรให้เสียเวลา

แต่ส่วนใหญ่เขาก็ต่อสัญญาให้ครับ ท้ายที่สุดแต่ละคนก็จะหาทางเผ่นหนีไปด้วยตัวเอง เพราะค่าตอบแทนมันไม่สามารถทำให้มีชีวิตอยู่ได้ ไหนจะเรื่องอนาคตอีก ยิ่งเป็นอาจารย์อัตราจ้างนานไปก็ยิ่งจะบั่นทอนตัวเองไปมากยิ่งขึ้น ที่ยังเหลืออยู่ก็คือคนที่แทบไม่สามารถไปไหนได้อีกแล้ว

(โชคดีครับ ที่หลังจากทำงานได้ไม่นาน ผมก็ได้บรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ถ้ายังเป็นอัตราจ้างอยู่ ผมก็สงสัยว่าตัวเองจะยังยืนอยู่ในจุดนี้หรือเปล่า)

ได้ยินว่าตำแหน่งอาจารย์แม้ในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ก็หันมาจ้างงานแบบระยะสั้นเหมือนกัน อาจารย์คิดว่าสัญญาจ้างแบบนี้จะสามารถดึงคนเก่งๆ มาทำงานได้จริงหรือครับ ครบ 5 ปี ก็ต้องคอยลุ้นว่าจะได้ต่อสัญญาหรือเปล่า แล้วถ้าในระหว่างนั้นอยากกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถ มันจะได้เหรอครับ ก็สัญญามันระยะสั้นแค่นั้น ธนาคารที่ไหนเขาจะให้กู้ ถ้ากู้ได้ก็คงต้องผ่อนให้เสร็จภายใน 5 ปี ถ้ากู้ 3 ล้าน คงต้องผ่อนเดือนละหกหรือเจ็ดหมื่นเป็นอย่างน้อย เงินเดือนอาจารย์ระดับปริญญาเอกที่เริ่มต้นเกินสี่หมื่นก็เห็นอยู่ว่ามีไม่กี่แห่ง

ไม่ต้องพูดถึงว่าถ้าเกิดผู้บริหารไม่ชอบขี้หน้าขึ้นมา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ล้วนแต่อาจทำให้ผมอาจต้องยุติการทำงานลงตามสัญญา การมีชีวิตอยู่ด้วยการจ้างงานแบบนี้ก็คงทำให้หลายคนต้องยืนกุมเป้า ก้มหน้าก้มตารับคำสั่งของผู้บริหารไปแบบไม่หือไม่อือไปชั่วกัลปาวสาน

ชีวิตของคนสอนหนังสือรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยแบบชายขอบนี่มันก็ง่อนแง่นไม่น้อยเลยนะครับ

ผมมีเรื่องจะปรึกษาอาจารย์หน่อยเกี่ยวกับการประกันคุณภาพ ทำไมมันถึงได้มากมายและเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์อะไรมากมาย แล้วอยากถามพอเป็นความรู้ว่าบรรดาเอกสารที่พวกเราทำกันไปเป็นตั้งๆ มีใครมาอ่านและตรวจสอบหรือเปล่า ขณะที่ผมนั่งดูข้อมูล เรียบเรียงและสรุปผลประกันคุณภาพอย่างจริงจังหามรุ่งหามค่ำ เพื่อนอาจารย์บางคนที่ ‘เก๋า’ เขาก็ไปเอารายงานของปีก่อนมาตัดหัวตัดท้าย เปลี่ยนวัน เดือน ปี แล้วก็ส่งไปก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร

ถ้าแค่สักแต่ว่ามีเอกสารส่งๆ ไป ปีหน้าผมก็คงต้องใช้วิธีการเดียวกันบ้างละ 5555

แต่ผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าอาจารย์จะตอบเรื่องประกันคุณภาพได้ เพราะตอนที่เรียนอยู่ไม่เคยเห็นอาจารย์ต้องทำอะไรแบบนี้ คงมีเจ้าหน้าที่คณะที่รับผิดชอบและทำให้ใช่ไหม งานที่อาจารย์วุ่นวายอยู่ก็ดูเหมือนจะเรื่องสอนหนังสือ เขียนบทความ ทำวิจัย และไปบรรยายตามที่ต่างๆ ส่วนหนึ่งเลยทำให้ผมหลงเข้าใจว่าอาชีพอาจารย์นี่มันช่างน่าพิสมัยเป็นอย่างยิ่ง มันคืออาชีพที่เราจะสามารถมีเวลาในการอ่านหนังสือ ค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมได้อย่างเต็มที่  

แต่มันก็ไม่จริงในทุกแห่ง เพราะที่สาขาของผม พวกเราอาจารย์ต้องทำทุกอย่างนับตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ยิ่งช่วงมีประกันคุณภาพมาตรวจสอบก็ยิ่งวุ่นวายเพิ่มมากขึ้นไปอีก จนแทบไม่มีเวลาเตรียมสอนเลย

สารภาพนะครับว่าเวลาได้ยินคำพูดที่บอกว่า “เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน” ผมอยากเดินเข้าไปตบปากคนพูดจริงๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้งบประมาณปีละมากกว่า 10,000 ล้าน กับมหาวิทยาลัยผมที่ได้ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี คุณภาพมันจะเหมือนกันไปได้ยังไง ระหว่างอาจารย์ที่สามารถทำงานสอน วิจัย ได้อย่างเต็มที่กับอาจารย์กึ่งเจ้าหน้าที่แบบผม ถ้าผลลัพธ์ออกมาเหมือนกันก็ยุบมหิดลทิ้งไปเถอะครับ ในฐานะที่ใช้งบประมาณแบบไม่มีประสิทธิภาพ

สุดท้ายนี้ คงไม่มีอะไรอวยพรอาจารย์นะครับ เพราะผมจะเก็บเอาไว้อวยพรตัวเองมากกว่า โดยหวังว่าจะขอให้ตัวเองยังสามารถมีพลังในการทำงานที่นี่อยู่ต่อไป ได้มีโอกาสสอนหนังสือให้นักศึกษาได้มองเห็นและเข้าใจโลกแห่งความจริงมากขึ้น และหวังว่าพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้สร้างสังคมใหม่ที่น่าอยู่และมีความหวังมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้


ด้วยความระลึกถึง

ลูกศิษย์คนหนึ่ง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save