fbpx
สิ่งที่ฉันคิด สิ่งที่ฉันหมายถึง

สิ่งที่ฉันคิด สิ่งที่ฉันหมายถึง

แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง

 

ผมสนใจ Joan Didion (ออกเสียงว่า โจน ดิเดียน) เป็นครั้งแรกจากภาพยนตร์สารคดี The 50 Year Argument ที่มีเนื้อหาว่าด้วยประวัติศาสตร์และอิทธิพลที่มีต่อวงการวรรณกรรมของนิตยสาร New York Review of Books ชื่อของ Didion ได้รับการกล่าวถึงจากความสำคัญของบทความ New York: Sentimental Journeys ที่ว่าด้วยเหตุการณ์ Central Park Five ซึ่งเธอได้ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องเล่าในสังคมที่มีอคติเรื่องเชื้อชาติและสีผิวส่งผลต่อความยุติธรรมในคำพิพากษาของศาล

ความสนใจครั้งนั้นทำให้ผมมาติดตามเธอต่อใน The Year of Magical Thinking หนังสือที่ว่าด้วยการหวนอาลัยและพิจารณาถึงความโศกเศร้าในการจากไปอย่างไม่คาดฝันของสามีของเธอ หลังจากนั้น ชื่อของเธอก็ถูกบรรจุไว้ในรายชื่อของนักเขียนที่ถ้ามีโอกาสก็ต้องอ่าน (ยังไม่ถึงขั้นต้องขวนขวายเดี๋ยวนั้น)

แต่เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา บทความชื่อ Why I Write ของเธอที่ Literary Hub นำมาเผยแพร่เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์หนังสือเล่มล่าสุดของเธอทำให้ผมต้องวางแผนออกไปร้านหนังสือทันทีที่อ่านบทความจบ

ผ่านไปห้าวันอย่างกระวนกระวายใจเพราะไม่มีเวลาว่าง ในที่สุดหนังสือเล่มเล็กก็มาอยู่ในมือ แล้วผมก็ต้องตกตะลึงเมื่อพบว่า Why I write นั้นเผยแพร่ครั้งแรกใน The New York Times ตั้งแต่ปี 1976

จะไม่ให้ตกตะลึงได้อย่างไรเล่า ก็ความหมายในบทความสดใหม่เหลือเกิน ร่วมสมัยเหลือเกิน ทรงพลังเหลือเกิน

Let me tell you what I mean (2021) เป็นหนังสือรวมบทความคัดสรร 12 ชิ้นที่เขียนขึ้นในช่วงปี 1968-2000 เนื้อหาของบทความครอบคลุมตั้งแต่ภาพชีวิตและเหตุการณ์ที่เธอพบเห็นในยุคบุปผาชน เรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเธอในการเป็นนักเขียน ไปจนถึงคุณค่าของความเป็นผู้หญิง

 

 

Didion วิจารณ์อย่างเจ็บแสบถึงการนำเสนอข่าวสารของสื่อใหญ่ในอเมริกาเมื่อเทียบกับสื่อเล็กๆ ในท้องถิ่น เมื่อสื่อเล็กที่มีชั้นเชิงการนำเสนอด้อยกว่ากลับมีความจริงใจกว่าในการบอกเล่าเรื่องราวที่รับรู้

เธอเล่าเรื่องราวที่เธอพบเห็นในศูนย์บำบัดการเสพติดพนัน สถานที่ที่ทุกคนแสวงหาความสงบสุขจากการหลุดพ้นปัญหา การที่ทุกคนพูดถึงแต่ความสงบสุขทำให้เธออึดอัดจนต้องหลบออกมา เพราะคำว่าสงบสุขที่ทุกคนแสวงหานั้นมีนัยยะของความตาย ชีวิตที่ไร้สีสันเหล่านั้นทำให้เธอคิดถึงแสงสี เรื่องเล่านี้ของเธอทำให้ผมคิดถึงพวกเมาคุณธรรมจนไม่คิดถึงด้านอื่นของชีวิตและใช้ความมึนเมาของตัวเองชี้ถูกชี้ผิดใส่คนอื่น บางทีพวกเขาอาจไม่รู้ตัวว่าพวกเขากำลังเสพติดอย่างอื่นที่อันตรายไม่แพ้กัน

หลังจากนำเสนอเรื่องราวจากภายนอกที่เธอพบเห็น เรื่องราวในบทความต่อๆ มาก็เริ่มเปิดเผยภาพชีวิตของการเป็นนักเขียนของเธอตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นให้ได้รับรู้ ตั้งแต่การพาเราไปพิจารณาคำพูดในจดหมายปฏิเสธการตอบรับเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่ Stanford จนทำให้เธอต้องไปเรียนที่ UC Berkeley ความตลกร้ายที่เมื่อเธอเขียนงานเกี่ยวกับนวนิยายของ Conrad ให้เพื่อนคนหนึ่งที่เรียนที่นั่น เพื่อนของเธอได้ A จากบทความชิ้นนั้น แต่เมื่อเธอส่งบทความชิ้นเดียวกันในชั้นเรียน เธอได้ B แต่นั่นทำให้ปีศาจร้ายที่แฝงมากับคำปฏิเสธในจดหมายสิ้นฤทธิ์ลง

สิ่งที่เธอสะท้อนให้เห็นผ่านเรื่องราวเหล่านี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กที่พลาดหวัง ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความต้องการของพ่อแม่ที่บรรจุไปในตัวลูก โชคดีที่ครอบครัวของเธอไม่บรรจุความคาดหวังแบบนั้นไว้กับเธอ และโชคไม่ดีที่ความคาดหวังเหล่านั้นไม่เคยหมดไปจากโลก เราจึงได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาความซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายของเยาวชนอยู่เสมอ

Didion พาเราเข้าสู่ทัศนคติและกระบวนการทำงานทางความคิดของเธอผ่าน Why I write ก่อนจะค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นว่าเธอเองที่ตอนนั้นเป็นนักเขียนมีชื่อแล้วก็ถูกปฏิเสธผลงานจากนิตยสารหลายฉบับ ก่อนที่จะปิดท้ายเรื่องราวว่าด้วยของการเขียนของเธอด้วยบทความแห่งการถอดรหัสและทำความเข้าใจกับ Hemingway นักเขียนคนสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมากกับการสร้างรสชาติและทำความเข้าใจโลกด้วยถ้อยคำของเธอ

สำหรับเรื่องราวของคุณค่าความเป็นผู้หญิง Didion ใช้แง่มุมที่เธอพบเห็นจาก Nancy Reagan จากนางแบบของช่างภาพชื่อดัง Robert Mapplethorpe และจากภาพลักษณ์ของ Martha Stewart มาประสานเข้าด้วยกันให้เห็นภาพของสิ่งที่ผู้หญิงเป็น สิ่งที่ผู้หญิงต้องแสดงออก และสิ่งที่ผู้หญิงถูกคาดหวังจากสังคม

ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นในความคิดของผมเมื่ออ่าน Let me tell you what I mean จนจบ คือการตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่เธอคิด? อะไรคือสิ่งที่เธอหมายถึง?

ความคิดแรกที่ตอบโต้กับคำถามคือภาพของ Susan Sontag และการให้ความหมายมุมกลับที่แฝงอยู่ในอุปลักษณ์ ทั้งสองมีความคล้ายกัน ผมอดคิดไม่ได้ว่านี่คือพลังของแม่มดที่เกิดในยุค 40s ทั้งสองเปิดเผยความลับของถ้อยคำที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หลงผิด และสร้างความเชื่อผิดๆ ขึ้นมา แต่ทั้งสองมีสไตล์ที่แตกต่างกัน Sontag นั้นใช้วิธีปะทะด้วยความคิดจากมุมตรงกันข้ามเพื่อหาจุดบกพร่อง แต่ Didion ใช้วิธีคลี่การถักทอของถ้อยคำเพื่อหาตำหนิที่ซ่อนเร้นอยู่

ภายใต้รูปประโยคสวย ที่เธอมิได้ปิดบังว่าเป็นผลสืบเนื่อง หรือกล่าวอีกแบบว่าเป็นมรดกมาจาก Hemingway และการทำงานที่ Vogue เธอแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เธอกล่าวถึงคือปัญหาที่ถูกละเลยในสังคมอเมริกัน ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต่อมาได้กลายเป็นปัญหาของโลกจากการขยายตัวของวัฒนธรรมและความคิดแบบอเมริกันตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะมาถึงจุดสูงสุดในสงครามเย็น และหลังจากนั้นคือผลสืบเนื่อง

ความคิดที่สองที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกแปลกใจต่อรูปแบบการนำเสนอ Let me tell you what I mean เรียงลำดับบทความตามระยะเวลาในการตีพิมพ์ครั้งแรกตามนิตยสารต่างๆ ซึ่งทำให้ประเด็นหลักๆ สามประเด็นที่กล่าวไปแล้วข้างต้นของเล่มขาดความต่อเนื่องและไม่เป็นเอกภาพ ทำไมเธอจึงเลือกเรียงบทความแบบนี้? ความรู้สึกแปลกนี้ติดค้างอยู่ในใจผมหลายวัน จนกระทั่งค่อยๆ คิดออกในขณะที่เขียนบทความนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วจะใช้คำว่าคิดออกก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก ควรจะใช้คำว่าฉุกคิดได้จากข้อความหนึ่งของเธอ

“… Make a place available to the eyes, and in certain ways it is no longer available to the imagination.”

เพราะในความเป็นจริงไม่มีอะไรตรงไปตรงมาชัดเจนในชีวิต ทุกอย่างถูกปิดบังถูกซ่อนเร้นไว้ด้วยอะไรบางอย่างเสมอ แม้แต่คำอธิบายที่กระจ่างที่สุดก็มีความต้องการบางอย่างแฝงเร้นอยู่ในนั้น สิ่งสำคัญคือการมองให้เห็นถึงความต่อเนื่องในเหตุผลของบางอย่างที่ถูกเว้นไว้

และเมื่อนำประโยคนี้มาวางลงบนประโยคสำคัญของ Why I write ที่ผมประทับใจ

“… I write entirely to find out what I am thinking, what I am looking at, what I see and what it means. …”

ผมก็พบว่า Let me tell you what I mean ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักที่จะนำเสนอว่าเธอคิดอะไรจากประเด็นทั้งสาม หากเป็นการนำเสนอวิธีคิดของเธอในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าหากัน การนำเสนอที่ไม่บอกตรงๆ แต่ค่อยๆ ทำให้เราทบทวนว่าการเขียนมีความสำคัญอย่างไรต่อวิธีคิด และสิ่งที่เป็นความหมายที่สำคัญที่สุดของสิ่งต่างๆ ทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้คือประโยคที่ว่า

“… listen to me, see it my way, change your mind.”

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่เธอคิดและสิ่งที่เธอหมายถึง กล่าวได้อีกแบบว่ามันเป็นเพียงผลที่ได้จากสิ่งที่ผมคิดและสิ่งที่ผมหมายถึง ความหมายที่หนังสือเล่มนี้เสนอไว้จะสมบูรณ์มากขึ้นเมื่อได้รับการเติมเต็มจากสิ่งที่คุณคิดและสิ่งที่คุณหมายถึง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save