fbpx
จากอารยาถึงศศิธร: Let Me Tell You What I Mean

จากอารยาถึงศศิธร: Let Me Tell You What I Mean

“เริ่มจากศศิธรบอกกับชัยยุทธ์ว่าไม่อยากมีลูกโดยเด็ดขาดในตอนต้นปีที่สี่หลังการแต่งงาน หลังจากที่เธอบอกกับเขาในคืนแต่งงานว่ารออีกสักปีนะค่อยมีลูก ขอให้เราได้เตรียมตัวก่อน ทว่า เมื่อครบหนึ่งปีตามที่ได้เคยพูดคุยกันไว้กลับเป็นไปอีกอย่าง คำตอบที่ชัยยุทธ์รอคอยได้กลายเป็นขอเลื่อนไปอีกหนึ่งปีนะ และพอล่วงมาถึงอีกปีก็เป็นปีหน้านะ และก็ปีหน้าแน่นอน เราสัญญา แต่สุดท้ายก็ไม่เคยมีปีหน้าเกิดขึ้นแต่อย่างใด” (24-7/1)

ในจำนวน 751 หน้าของมหากาพย์แห่งตระกูลวงศ์คำดีโดย ภู กระดาษ (2563) โครงเรื่องที่ว่าด้วยการสืบตระกูลอันสัมพันธ์กับการรักษาฐานอำนาจ ศักดิ์ศรีหน้าตา และการผลิตที่ค้ำจุนความมั่งคั่งพรั่งพร้อมให้จำเริญยิ่งๆ ขึ้นไปได้รับการบรรยายผ่านเรื่องเล่าของ “ศศิธร” หรือ “เดือน” เธอใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการท้าทายขนบธรรมเนียมที่ว่านั้น

“และแม่หรือผัวของฉันต้องการให้ฉันมีลูกก็เพื่อจะได้สืบต่อวงศ์ตระกูล สืบต่อทุกอย่างที่พวกเรามีอยู่ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” (24-7/1)

ศศิธรเตือนใจให้หวนนึกถึงใครคนหนึ่งที่มาก่อนหน้าในหนังสืออีกเล่ม ผู้หญิงไร้ชื่อในเรื่องสั้น ติดสัด ของอารยา ราษฎร์จำเริญสุข (2538)

“มันไม่ใช่แค่ฝืนธรรมชาติหรอก แต่มันสวนทางกับผู้คนรอบตัวที่ต่างพากันฉลองการสืบพันธุ์แล้วส่งเสียงไชโยโห่ร้อง ฉันคิดอย่างที่คุณคิด หาลูกหมาสักตัวมาเลี้ยง เอาลูกหมาตัวเล็กๆ ข้างถนนที่ไม่มีคนเหลียวแลมาประคบประหงมเลี้ยงดู ให้ข้าวน้ำ ปลอบตัวเองว่าทำบุญ แต่มันไม่ช่วยให้ดีขึ้น เพราะเวลาเราไปไหนด้วยกัน คนที่รู้จักทักว่า …ดีแล้ว ไม่มีลูกนี่นะ เลี้ยงหมาจะได้ไม่เหงา เขามองหน้าหมาที่เล็กกว่ากำปั้นแล้วมองหน้าที่กำลังโรยของฉัน ไม่มีใครพบความเมตตาหรอก เขาเพียงแต่คิดว่าผู้หญิงคนหนึ่งกำลังบำบัดความใคร่ในบทบาทแม่กับสัตว์ที่ไม่รู้เดียงสาไร้ขนตัวนั้น ทุกขณะที่ฉันอุ้มเขาไปไหนๆ มันไม่ใช่ภาพของคนซึ่งแบกบุญไปด้วย แต่แบกกรรมของตัวต่างหาก กรรมที่อยากอยู่คนเดียว เลือกที่จะอยู่คนเดียว” (ติดสัด)

‘หมา’ และ ‘การต่อต้านการสืบพันธุ์’ ดำเนินควบคู่กันต่อมาอีกเนิ่นนานทั้งในงานเขียนและงานศิลปะของอารยา บางทีก็มาด้วยกัน แต่บางทีก็ไม่ ครั้งหนึ่ง การต่อต้านที่ว่าเผยร่างใหม่ในรูปของอารมณ์ขันแบบร้ายๆ เมื่อเธอทำเพอร์ฟอร์มานซ์ การท้องเก้าวันของรองศาสตราจารย์วัยกลางคนผู้เป็นโสด (2546) หลังกลับจากการไปพำนักที่เยอรมนีเป็นเวลาหลายเดือน อารยาใส่ชุดคลุมท้องไปสอนหนังสือที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้คนที่พบเห็นมีปฏิกิริยาแตกต่างกันออกไป พวกผู้ชายชะงัก พวกผู้หญิงดีใจ… หลังจากการเฉลยความจริงเมื่อระยะเวลาเก้าวันผ่านพ้นไป อารยาเล่าไว้ใบบทสัมภาษณ์หนึ่งว่า

“เมื่อรู้ว่าไม่จริง ผู้หญิงคือคนที่เจ็บมากที่สุดเลยค่ะ คนที่ดีใจมากเท่าไหร่ ก็เจ็บมากเท่านั้น…” (อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ผู้หญิงที่หลงรักความตาย, บทสัมภาษณ์โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, นิตยสารฟรีฟอร์ม ฉบับพิเศษ, 2550)

ผู้หญิงสองคน ศศิธรและอารยา ตั้งแง่ต่อบทบาทของผู้หญิงที่สังคมมอบให้คือการเป็นแม่ มีทางเลือกอื่นไหมสำหรับผู้หญิงที่ไม่ต้องการตั้งครรภ์เพื่อผลิตทายาท? ไม่ได้หมายถึงการทำแท้ง แต่หมายถึงการปฏิเสธแต่แรกต่อการสืบพันธุ์ ในกรณีของศศิธร เธอปรารถนาความสัมพันธ์ที่ปราศจากการครอบครอง มีเพศสัมพันธ์ตามความพอใจ เธอไม่เป็นเจ้าของใครและใครก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของเธอได้ (อันนำไปสู่ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานหลายร้อยหน้ากระดาษกับสามีตามกฎหมายและแม่ของตัวเอง) ในกรณีของอารยา เป็น “การถือบวชทางเพศ” เพื่อคงตัวตนในการทำงานศิลปะ

ทั้งสองได้แสดงให้เห็นว่าคำตอบต่อคำถามดังกล่าวคือ ‘มี’ แต่เป็นการ ‘มี’ ที่มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย และราคาที่แพงที่สุดมาจากคนใกล้ตัวเสมอ

ศศิธร

“ศรีสกุลก็ด่าเธอเสียๆ หายๆ ข่มขู่และคุกคาม กูอยากจะถลกหนังหัวมึงจริงๆ ป่นปี้หมดแล้ว ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลของกู มึงมันลูกผีลูกสางจริงๆ ลูกผีป่าผีอาฮักจริงๆ อีผีคอมมิวนิสต์มาเกิด

ศศิธรตอบกลับด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า ‘มึงนั่นแหละที่เป็นแม่กู อีแม่’ ” (24-7/1)

อารยา

“นอกเหนือจากปฏิกิริยาของคนใกล้ชิดเมื่อการท้องจบลง เช่น การไม่สนทนาด้วย การใส่ชุดดำ ประท้วง การแสดงความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น รวมทั้งการตั้งคำถามถึงการทำแท้ง ทั้งหมด เป็นการยืนยันว่า ‘การท้อง’ แม้ก่อกำเนิดในความเป็นส่วนตัวของคนคนหนึ่ง แต่ก็เป็นเรื่องสาธารณะด้วย” (นิตยสารฟรีฟอร์ม ฉบับพิเศษ)

ศรีสกุล แม่ของศศิธร ลูกสาวคนโตของพ่อใหญ่สิม มีความน่าสนใจพิเศษอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคุณลักษณะที่เป็นทั้งหญิงและชายในตัว (ไม่ใช่ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนไหลของสถานะ/สภาวะทางเพศ) ศรีสกุลมีลูกสองคน ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ตอบโจทย์การสืบตระกูลตามบทบาทของแม่และเมียตามขนบ (สกุลที่เชื้อสายของเธอจะสืบต่อไปจึงไม่ใช่ “วงศ์คำดี” เพราะหลังแต่งงานเธอเปลี่ยนนามสกุลเป็น “หลักคำ” ตามบุญครองผู้เป็นสามี) แต่เธอก็ยังคงเป็นผู้นำของบ้านใหญ่ตระกูลวงศ์คำดีและหมู่บ้านโนนทองคำอยู่ด้วย นี่ไม่ใช่เพียงเพราะว่าลูกชายอีกคนของสิมคือ บุญสม เป็นลูกคนรอง หรือเพราะว่าบุญสมมีคนรักเป็นเพศเดียวกันเท่านั้น (จึงไม่สามารถผลิตทายาทสืบต่อวงศ์ตระกูล) หากยังเป็นเพราะความแข็งแกร่งเหี้ยมเกรียมของเธอด้วยที่ทำให้สิมถึงกับต้องรำพึงออกมาในฉากการลงทัณฑ์ผู้ทรยศ

“ศรีสกุลก้าวเข้าหา ยกชายผ้าถุงขึ้น แล้วจึงก้าวขาข้ามหัวของหัวหน้าโจรและพ่อของสองพี่น้อง ก้าวข้ามไปมาสามรอบ จากนั้นคนรับใช้เข้าประกบ ทีละคนที่เสื้อผ้าอาภรณ์ถูกปลดเปลื้องจนหมดทุกชิ้น ร่างกายกลับคืนสู่ห้วงแรกเกิดอีกครั้ง ทีละเสาที่ถูกส่งขึ้นไปตรึงไว้ ท่อนไม้ปลายแหลมสองท่อนถูกนำเข้ามา สิมรับมาพร้อมกับค้อนตอก เดินเข้าหาร่างของสองชาย ศรีสกุลพร้อมคนรับใช้ตามติดเข้าไป ก่อนที่ศรีสกุลจะพูดขึ้นว่า ‘กูเองอีพ่อ’

สิมหันมาจ้องหน้าลูกสาว ใจของเขาสั่นสะท้านขึ้นมา ทำไมมึงไม่เป็นลูกชาย ทำไม” (24-7/1)

ราวกับว่าความเด็ดขาดนี้เป็นคุณสมบัติเฉพาะของผู้ชาย แต่จริงหรือ? สิมรักลูกสาวของเขา และศรีสกุลก็คือผู้ปกครองตระกูลในรุ่นต่อมา กระนั้น เขาก็ยังอดเสียดายไม่ได้ที่เธอไม่ได้เป็นลูกชาย

เรื่องราวของศรีสกุลยังชี้ให้เห็นว่าการสืบตระกูลกับการสืบทอดนามสกุลไม่ใช่เรื่องเดียวกัน การที่นามสกุล “วงศ์คำดี” ที่ปรากฏในเอกสารราชการจะต้องด้วนกุดไปในรุ่นนี้นั้นเป็นเรื่องที่ไม่กระไรนัก เพราะสิ่งที่ลึกล้ำและจริงแท้กว่าคือ ‘สายเลือด’ ที่ไหลเวียนอยู่ในเนื้อตัวของลูกหลาน

“ศศิธรเกิด เติบโต เป็นลูกหลานบ้านใหญ่ตระกูลวงศ์คำดี เป็นพวกเลือดร้อยของวงศ์คำดี”

“บ้านหลังใหญ่ที่ศรีสกุลอาศัยอยู่ เธอมีความตั้งใจว่าในวันใดวันหนึ่งจะยกให้กับลูกชายเพียงคนเดียวคือชัยศิริ หลักคำ” (24-7/1)

ตระกูลวงศ์คำดีจะยืนยาวต่อไปได้ในนามสกุลอื่นซึ่งมีชัยศิริ ลูกชายคนโตของศรีสกุลเป็นผู้สืบทอด ชัยศิริแต่งงานแล้วมีลูกสามคน ในโลกทัศน์ที่ให้ความสำคัญยิ่งกับการสืบพันธุ์ยิ่งกว่าการสืบนามสกุลนี้ ศศิธรก็ควรมีลูกเช่นกัน ศรีสกุลจึงเป็นทุกข์นักเมื่อศศิธรยืนยันว่าจะไม่ตั้งท้อง ดังนั้นจึงเข้าข้างลูกเขยมากกว่าลูกสาวของตัวเอง เพื่อสืบต่อวงศ์ตระกูลที่ไม่ใช่เพียงของตัวเท่านั้น แต่ของเจ๊กเติ้ง พ่อของชัยยุทธ์ พันธมิตรเก่าแก่ของครอบครัวด้วย

เช่นเดียวกับแวดวงชนชั้นสูง ณ แห่งหนตำบลใดก็ตามในโลก การแต่งงานและการสืบพันธุ์สัมพันธ์กับการสืบอำนาจ ความมั่นคงและความมั่งคั่ง แกะดำอย่างศศิธรจึงเผาใจแม่และผัวจนลุกเป็นไฟ

ในโลกอีกใบ การแกล้งท้องในบริบทของศิลปะก่อความเจ็บปวดต่อหมู่ชนผู้เชื่อในการท้องพอๆ กับการไม่ยอมท้องในนิยาย…

“แล้วอาจารย์รับมือกับความผิดหวังของคนรอบข้างที่ ‘เขารู้สึกเจ็บ’ อย่างไรครับ

ก็ขอโทษเขา ไปซื้อดอกกุหลาบมาเลยนะ วันที่เฉลยเนี่ย ใส่ตะกร้าไปเลย ถือไป แล้วก็แจกดอก กุหลาบไปทั่วคณะเลย (ยิ้ม)” (นิตยสารฟรีฟอร์ม ฉบับพิเศษ)

การตั้งท้องและมีลูกอย่างที่คนส่วนใหญ่เขาทำกันนั้นมีปัญหาอย่างไร? ทั้งศศิธรและอารยาต่างมองว่าสิ่งนั้นเป็นอุปสรรคต่องานการที่เลือก หากมีลูก การเรียนแพทย์ของศศิธรก็ไร้ความหมาย “ฉันคงกลายเป็นเพียงโรงงานผลิตเด็กและโรงงานเลี้ยงดูเด็กเท่านั้น” (24-7/1) เช่นเดียวกันกับเส้นทางของศิลปินหญิง อารยาเคยเขียนไว้ในบทความ มือแม่ ว่า

“อาจารย์สอนศิลปะวิจารณ์บางท่านในยุคนั้นถึงกับบอกว่า “…นักศึกษาหญิงได้รางวัลประกวดงานกันตอนเรียนอยู่ แต่ผมก็ยังไม่กล้ายกตัวอย่างพวกคุณให้นักศึกษาในชั้นเรียนผมฟัง ไม่กล้าจัดเป็นยุคสมัย เดี๋ยวพอเรียนจบแต่งงานมีลูกแล้วก็เลิกรากันไป” ความเชื่อหนึ่งรุกคืบมาสู่บทบาทของผู้หญิงคนทำงานศิลปะว่าแล้วก็จะไปไม่ถึงไหน ชื่อและผลงานของเราไม่อาจเข้ารับการวิเคราะห์ในวิชาศิลปวิจารณ์ นอกเหนือไปจากผู้ชายเป็นผู้กุมกลไกวงการศิลปะส่วนใหญ่, เป็นผู้บริหารสถาบัน, เป็นอาจารย์, เป็นกรรมการตัดสินงาน, เป็นผู้อำนวยการหอศิลป์ เป็นแม้กระทั่งศิลปินห้าวเจ๊า” (มือแม่)

มือแม่ เป็นบทความที่อยู่ใน (ผม)เป็นศิลปิน (2548) หนังสือรวมบทความของอารยาที่เขียนขึ้นจากสองมุมมองของ “ภาคผู้” และ “ภาคเมีย” คำแทนตัวในแต่ละบทความแตกต่างกันไปตามแต่ผู้เขียนจะเป็น “ผม” (ภาคผู้) หรือ “ฉัน” (ภาคเมีย) มือแม่ เขียนโดยภาคเมีย เนื้อหาว่าด้วยข้อสังเกตต่างๆ เกี่ยวกับการเป็นผู้หญิงในวงการศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมในวงการศิลปะและวงการศึกษาศิลปะที่ไม่เอื้อให้กับผู้หญิง กรอบการทำงานของศิลปินหญิง และความคาดหวังที่มีต่อการทำงานของศิลปินหญิงที่เป็นกับดักทางความคิดมากกว่าจะเป็นพื้นที่ให้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว

“หนังสือของวิทนีย์ ช้าดวิคชื่อผู้หญิง, ศิลปะ และสังคม พูดถึงงานศิลปะและบทบาทของศิลปินหญิงไทยว่า เป็นผู้หญิงจำนน ขยายความได้ว่ามีอาการจำยอม, ไม่ดิ้นรน ซึ่งก็สอดคล้องกับครั้งหนึ่งเมื่อศิลปินหญิงได้รับเชิญไปบรรยายผลงานในชั้นเรียนปริญญาโทวิชาการจัดการวัฒนธรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้หญิงอเมริกันสูงวัยนักศึกษาในชั้นเรียนคนหนึ่งซึ่งพกพาเอาวัฒนธรรมชาติตัวมาเต็มๆ มาพร้อมกับความคาดหวังลุกขึ้นมาบอกในชั้นว่า “รู้สึกผิดหวัง ฉันอยากพบผู้หญิงคนทำงานสร้างสรรค์แบบเดือดดาล ไม่ใช่อย่างเสงี่ยมหงิม” (มือแม่)

คำถามของอารยาคือ ความเดือดดาลเป็นทางเดียวสำหรับการแสดงออกทางศิลปะของศิลปินหญิงอย่างนั้นหรือ?

“ทำไมกองเลือดหลั่งนองหลังน้ำอสุจิจึงให้ภาพน่าเวทนาและสะเทือนใจไปมากกว่าภาระเงียบๆ บนบ่าของคนในบ้าน ทำไมความบาดเจ็บทางกายจากการทำแท้งจึงจะล้นเกินความรู้สึกหนักของการกระเตงเด็กโข่งไปจนกว่าจะตายจากกันเล่า ความตายจากการทำแท้งทั้งของแม่และลูกก็อาจงดงามไปกว่าหน้าแห้งๆ ของผู้หญิงสูงวัยใต้เงามืดของชายคาบ้านชั่วนาตาปีจน….รู้สึกหงุดหงิดกับอารมณ์ร้ายชั่ววูบของตัวเอง จน…อยากจะวางทิ้งความอดกลั้นของตัวเองลงแรงๆ แล้วด่ากราดทุกสิ่งทั้งปวงที่มีในโลก” (มือแม่)

ความคาดหวังถึงความเดือดดาลจึงนำมาซึ่งความเดือดดาล ณ จุดหนึ่งคงต้องถามเหมือนคำถามของอารยา “หรือไม่ก็ระดับของปัญหามันผิดกัน แต่จริงหรือ…” ???

คำถามในบทสัมภาษณ์อารยาใน นิตยสารฟรีฟอร์ม ฉบับพิเศษ นั้นมีข้อหนึ่งเกี่ยวกับการเรียนประติมากรรม อารยาไม่ได้เรียนประติมากรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะว่าในตอนนั้นเธอ ‘ผอม’ เกินไป อาจารย์จึงแนะนำให้เรียนอย่างอื่นคือภาพพิมพ์ แต่ต่อมาก็ได้เรียนประติมากรรมที่ต่างประเทศ เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงตอนที่ตัวเองยังเป็นนักศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ (หลายสิบปีหลังจากสมัยของอารยา) รุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้หญิงเช่นกันได้พูดถึงนักศึกษาหญิงต่างคณะที่เลือกเรียนเอกประติมากรรมอย่างชื่นชมแกมประหลาดใจว่า “ตัวเล็กนิดเดียวขึ้นรูปใหญ่ๆ ได้”

คำชมนั้นบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการเป็นผู้หญิงกับการทำงานประติมากรรมที่ตกทอดมาจากยุคสมัยที่อารยาเป็นนักศึกษา ซึ่งดูจะเชื่อมโยงกับความคิดที่ว่าประติมากรรมเป็นงานที่ต้อง ‘ใหญ่’ (ความคิดนี้มาจากความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานประติมากรรมกับงานอนุสาวรีย์ซึ่งเป็นความผูกพันนานมาระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากรกับกรมศิลปากรกระมัง) ปัจจุบันเธอคนนั้นก็ยังคงทำงานศิลปะ ทำประติมากรรม (แต่ขนาดใหญ่หรือเปล่าไม่รู้)

ปัญหาและข้อจำกัดของการเป็นผู้หญิงทำงานศิลปะพัลวันพัลเกอยู่กับร่างกายที่สังคมกำหนดบทบาทหลักไว้ที่การสืบพันธุ์และประเด็นเชิงกายภาพอื่นๆ ในขณะที่ ‘นามสกุล’ ดูจะไม่เป็นเรื่องใหญ่ใน 24-7/1 กรณีหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะได้ชี้ให้เห็นในทางตรงกันข้าม บทความ What’s in a surname? The female artists got lost to history because they got married เล่าถึงปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการแต่งงานของศิลปินหญิงคือการเปลี่ยนนามสกุล เมื่อนามสกุลเปลี่ยน ‘นาม’ ที่เรียกขานกันก็เปลี่ยน (ฝรั่งเรียกกันด้วยนามสกุลมากกว่าชื่อตัว) และด้วยเหตุนั้นก็ทำให้ใครหลายคนหล่นหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะ ศิลปิน Isabel Rawsthorne เป็นหนึ่งในหลายตัวอย่าง

“When Rawsthorne died no one connected her to the artist known as Isabel Lambert, who had created so many designs during the Festival of Britain, nor to the bohemian muse Isabel Delmer, and certainly not to the promising artist Isabel Nicholas, who had exhibited in London in the 1930s.”

ไม่ได้มีแต่(ศิลปิน)หญิงไทยเท่านั้นหรอกที่ทำงานบนเงื่อนไขที่เกิดจากเหตุแห่งเพศกำเนิด และสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เคยทำให้พวกเธอหยุดยั้งความพยายาม

“ฉันไม่มีอะไรหลงเหลือหรือต้องไปพะวงอีกแล้ว แม่ สามี ทะเบียนสมรส ความเป็นครอบครัว วงศ์ตระกูล มันยังไหลเวียนอยู่ในและรายรอบตัวฉัน ฉันไม่ได้ต่อต้านพวกเขาอีกแล้ว มันเคยอยู่แบบไหนก็ให้มันอยู่แบบนั้นไปเถอะ ขณะเดียวกัน ฉันก็ไม่ได้เข้าร่วมกับพวกเขาแต่อย่างใด ฉันยืนยันที่จะเป็นคนบ้า” (24-7/1)

หลายทศวรรษผ่านพ้น งานศิลปะของอารยาเคลื่อนออกจากการต่อต้านการผลิตในรูปของการสืบพันธุ์ไปสู่ความพยายามในการหยุดการบริโภคทุกรูปแบบ ขั้นสุดท้ายของการหยุดวงจรชีวิตในระบบทุนนิยมก็คือความตายนั่นเอง ไม่สร้าง-ไม่เสพ-ไม่ดำรงอยู่ ปัจจุบันอารยากำลังทำโครงการศิลปะชิ้นใหม่ (ที่ยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จตอนไหน) นั่นคือ Put her to sleep, save us and ours ศิลปินจะหยุดการบริโภคของตัวเองด้วยการทำการุณยฆาตเพื่อแลกเปลี่ยนกับการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือสุนัขและสัตว์จรจัด ไม่มีชิ้นงานศิลปะที่จะต้องผลิตขึ้นมา เธอจะตายและถูกเผาจนไม่เหลือเถ้าถ่านเพื่อแลกกับความช่วยเหลือที่จะให้กับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น

จากจุดตั้งต้นคือการ ‘ต่อต้านการสืบพันธุ์’ ศศิธรกับอารยาแยก ‘ความบ้า’ ของตนออกไปคนละเส้นทาง ในการยืนยันที่จะเป็นคนบ้าของศศิธร เธอมุ่งมั่นกับโครงการในฝันที่จะสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นธรรมกับทุกคน เลือกต่อต้านทุนนิยมด้วยความเชื่อที่อวลกลิ่นคอมมิวนิสต์ ในขณะที่อารยาตั้งใจจะทำงานศิลปะด้วยการไม่ผลิตอะไรเลย เป็นศิลปะที่ไร้ศิลปวัตถุ โดยมีสาระอยู่ที่การแลกเปลี่ยนความตายของตัวเองกับเงินระดมทุนให้สรรพสัตว์ หนึ่งชีวิตของมนุษย์ที่จะหายไปจากโลกคือหนึ่งการบริโภคที่จะสลายหายไป ตายเพื่อตัดวงจรทุนนิยม

มีสองส่วนขำๆ นะ หนึ่ง–เราไม่มีสิทธิอะไรที่จะไปบอกให้ใครคนอื่นต้องตาย กับ สอง–ก็แล้วใครเลยจะบ้าได้เท่าศิลปิน” (อารยา)

เขียนในวาระครบรอบ 50 ปีของบทความ Why Have There Been No Great Women Artists? (1971) โดย Linda Nochlin นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้บุกเบิก feminist art history

“Silly questions deserve long answers.” Nochlin ว่าไว้เช่นนั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save