fbpx
แก้เกมโกง กับ ประจักษ์ ก้องกีรติ

แก้เกมโกง กับ ประจักษ์ ก้องกีรติ

หลายคนอาจสิ้นหวังว่า ไม่ว่าจะทำอย่างไร พวกเราก็ไม่มีวันแก้ไขคอร์รัปชันได้ เพราะคอรัปชันฝังรากลึกในสังคมราวกับว่าต้นตอของมันมาจากพันธุกรรมหรือธรรมชาติของมนุษย์ เช่นนั้นแล้ว กฎหมายหรือมาตรการใดๆ ก็ยากที่จะกำจัดคอร์รัปชันให้หมดสิ้นไปอยู่ดี

แต่นั่นอาจเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

 

ในงาน SHIFT HAPPENS : พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักคิดนักเขียนผู้สนใจติดตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองของไทยและโลก ชี้ให้เห็นอีกมุมว่า “ไม่มีสังคมไหนถูกสาปให้ต้องมีคอร์รัปชันตลอดไป และคอร์รัปชันไม่ได้อยู่ในดีเอ็นเอ”

ประจักษ์มองว่าเรายังมีพอมีหนทางที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้อยู่ สิ่งที่ต้องทำคือเปลี่ยนระบบและวิธีคิดของสังคม ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ โดยในงานนี้ เขาได้พาผู้ฟังออกไปสำรวจตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ อิตาลี อินเดีย และอินโดนิเซีย ที่ต่างเคยประสบปัญหาคอร์รัปชันอย่างหนักหน่วงไม่แพ้ประเทศไทย โดยบางประเทศยังเคยประสบปัญหาคอร์รัปชันหนักว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ แต่ก็สามารถ ‘พลิกสังคม’ ขึ้นมาเพื่อต่อกรและแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างน่าชื่นชม และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับการต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก

 

 

อิตาลี : ลาก่อน ‘ค่าคุ้มครอง’

 

ประจักษ์เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของเมืองปาแลร์โม ดินแดนอันสวยงามในแคว้นซิซิลี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลี หนุ่มสาว 7 คนอยากเปิดบาร์เป็นของตัวเอง พวกเขามีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน แผนธุรกิจ และทำเลร้าน แต่หนึ่งในปัญหาที่พวกเขาคิดไม่ตกคือ พวกเขาจะเอาอย่างไรกับการจ่าย ‘ค่าคุ้มครอง’ ให้มาเฟียท้องถิ่น

“มีสถิติบอกว่าผู้ประกอบการประมาณ 80% ที่อยากจะทำธุรกิจในเมืองนี้ ล้วนต้องจ่ายค่าคุ้มครองให้มาเฟีย มาเฟียพวกนี้มีรายได้จากการเก็บค่าคุ้มครองต่อปีมากกว่า 3 หมื่นล้านยูโร ฉะนั้นจึงเป็นปัญหาสำคัญที่กวนใจนักธุรกิจทุกคนที่มีฝันอยากจะทำธุรกิจของตัวเอง”

หนุ่มสาวทั้ง 7 คน จึงปรึกษากันอย่างเคร่งเครียด จนเกิดข้อตกลงกันว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อสร้างธุรกิจในฝันของพวกเขาให้เป็นจริงโดยไม่ต้องจำนนต่อวัฒนธรรมการจ่ายค่าคุ้มครอง พวกเขาจึงริเริ่มทำแคมเปญ  ‘AddioPizzo’ หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘Goodbye Pizzo’ ซึ่งแปลว่า ‘ลาก่อนค่าคุ้มครอง’

‘คนที่จ่ายค่าคุ้มครองคือ คนไร้ศักดิ์ศรี’ นี่คือข้อความในใบปลิวที่วัยรุ่นทั้ง 7 คนแอบเอาไปติดทั่วเมืองในตอนกลางคืน วันรุ่งขึ้นเมื่อชาวเมืองตื่นขึ้นมาและเขียนใบปลิวดังกล่าวติดอยู่ทั่วเมือง มีคนให้ความสนใจมากมายและอยากรู้คนที่ติดใบปลิวนี้เป็นใคร และต้องการจะทำอะไร

ในที่สุดหนุ่มสาวทั้ง 7 คน จึงเปิดเว็บไซต์ของแคมเปญอย่างเป็นทางการ มีแบบฟอร์มให้ผู้บริโภคและเจ้าของร้านค้าในเมืองมาลงชื่อสนับสนุนแคมเปญนี้ อย่างไรก็ตาม ในตอนแรกชาวบ้านยังไม่กล้ามาร่วมสักเท่าไหร่ เพราะยังกลัวพวกมาเฟียอยู่ พวกเขาเกรงว่าหากเข้ามาร่วมแคมเปญจะโดนเล่นงาน

“ปรากฏว่ามีคนโดนจริงๆ ในบรรดาร้านค้าร้อยกว่าร้านที่เข้ามาร่วมในตอนแรก มีอยู่ร้านหนึ่งถูกสั่งสอนจากมาเฟีย คือร้านของมิสเตอร์กราซี่ ซึ่งมาเฟียส่งลูกน้องไปเผาโกดังสินค้าของร้าน เพื่อสั่งสอนและข่มขู่ให้คนอื่นหวาดกลัว ไม่กล้ามาร่วมแคมเปญนี้” ประจักษ์ยกตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่เกิดเรื่องขึ้น กลุ่มผู้ปฏิบัติการและชาวบ้านกลับไม่ได้หวาดกลัวหรือเลิกล้มแคมเปญ แต่พวกเขาสู้กลับโดยการช่วยกันลงขันบริจาคเงิน ซ่อมแซมโกดังสินค้าของมิสเตอร์กราซี่ที่ถูกเผาจนสามารถกลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้ง ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นการปลุกพลังของชาวเมืองและผู้ประกอบการอย่างมีนัยยะสำคัญ

ปฏิบัติการต่อมาคือการแจกจ่ายสติกเกอร์ที่มีข้อความว่า “ร้านนี้ไม่จ่ายส่วย” ให้ร้านค้าต่างๆ นำไปติดไว้หน้าร้าน ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการสนใจร่วมแคมเปญและติดสติกเกอร์ไว้หน้าร้านของตนกันอย่างล้นหลาม ปัจจุบันมีมากกว่าหนึ่งพันร้านในเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย AddioPizzo

 

 

ผลของแคมเปญนี้ส่งผลให้กลุ่มมาเฟียไม่กล้าเรียกเก็บค่าคุ้มครองจากร้านที่ติดสติกเกอร์ เพราะรู้ว่าร้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย AddioPizzo ที่มีผู้สนับสนุนอยู่เป็นจำนวนมาก

“กลุ่ม AddioPizzo มีสโลแกนง่ายๆ ว่า ‘consume critically, shop ethically’ สิ่งที่เขาเรียกร้องคือถ้าคุณเป็นผู้บริโภค ขอให้สนับสนุนกิจการที่ไม่จ่ายค่าคุ้มครอง แล้วก็บอยคอตร้านที่ยังยอมจำนนและจ่ายค่าคุ้มครอง เพื่อไม่ให้ระบบมาเฟียดำรงอยู่ได้”

ปฏิบัติการของ AddioPizzo สร้างผลสะเทือนต่อสังคมอย่างมาก มีการเปลี่ยนกฎหมายที่ส่งผลให้รัฐสามารถยึดทรัพย์สินจากเจ้าของที่ดำเนินธุรกิจไม่โปร่งใส ขณะเดียวกันก็สร้างความกดดันต่อพวกมาเฟียอย่างหนัก จนถึงขั้นที่หัวหน้ามาเฟียอิตาลีชื่อดังต้องออกมายอมรับว่าแคมเปญนี้เป็น “fucking disaster” สำหรับธุรกิจมาเฟีย

ประจักษ์สรุปบทเรียนจากการต่อสู้คอร์รัปชันของชาวเมืองปาแลร์โมไว้ 2 ข้อ ข้อแรกคือ “คอร์รัปชันไม่ได้ถูกฟังไว้อยู่ใน DNA และไม่มีสังคมหรือประเทศไหนที่ถูกสาปให้เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชันตลอดไป” และข้อสอง “ผู้บริโภคและผู้ประกอบการสามารถเป็นพลังในการสู้กับคอร์รัปชันได้ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่รัฐหรือ NGO เท่านั้น”

 

 

อินเดีย : เมื่อ ‘สินบน’ กลายเป็นเรื่องเปิดเผย

 

จากอิตาลี ประจักษ์ชวนผู้ฟังไปรู้เรียนรู้การต่อสู้คอร์รัปชันในประเทศอินเดีย ประเทศที่ว่ากันว่าเป็นประเทศที่ประชาชน ‘ต้องจ่ายสินบนให้แก่ข้าราชการตั้งแต่เกิดจนตาย’ (A lifetime of bribes)

“แค่จะไปขอใบสูติบัตรก็ต้องจ่ายสินบนให้ได้มา ลูกจะเข้าโรงเรียน มหาวิทยาลัย ใบขับขี่ พาสปอร์ต แต่งงาน ทุกจังหวะของชีวิตต้องมีสินบนเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้ได้บริการจากรัฐ ทั้งๆ ที่ไม่ควรมีค่าใช้จ่าย กระทั่งตอนที่พ่อแม่ตายแล้ว จะไปขอใบมรณบัตร ยังต้องจ่ายสินบนเพื่อให้หน่วยงานรัฐออกใบมรณบัตรให้เรา”

ประจักษ์เล่าต่อว่า จุดเริ่มต้นของการต่อสู้กับปัญหานี้ มาจากสองสามีภรรยาชาวอินเดียคู่หนึ่งที่ไปทำงานต่างประเทศมานาน และอยากกลับมาเปิดมูลนิธิที่มีชื่อว่า ‘Janaagraha’ แปลว่า ‘พลังของพลเมือง’ โดยในตอนแรกเป้าหมายของมูลนิธิคือ พัฒนาเมืองในอินเดียให้น่าอยู่ ปรับปรุงที่พักอาศัย จัดสรรที่พักราคาถูกให้คนจน รวมถึงจัดการศึกษาให้เด็กยากไร้ แต่พวกเขากลับพบปัญหากวนใจบางอย่าง

“เรื่องที่ตลกร้ายและกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้สองคนนี้หันมาสนใจคอร์รัปชัน คือเขาจะไปจดทะเบียนมูลนิธิเพื่อทำงานด้านสังคมที่ไม่แสวงหากำไร ปรากฏว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตการจัดตั้งมูลนิธิ เรียกเงินสินบนจากเขา เขาเลยตระหนักว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ร้ายแรง กัดกินสังคม ทำให้สังคมอินเดียไม่พัฒนา”

จากเหตุการณ์นี้ สองสามีภรรยาจึงลุกขึ้นมาทำแคมเปญหนึ่งชื่อว่า “I Paid a Bribe – IPAB” หรือที่แปลเป็นไทยว่า “ฉันจ่ายสินบน” เริ่มต้นจากการเปิดเว็บไซต์หนึ่งขึ้นมา เพื่อให้ชาวอินเดียที่ถูกเรียกสินบนเขียนรายงานเข้ามา โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อและนามสกุลจริง หลังจากได้ข้อมูลมา เจ้าหน้าที่ดูเว็บไซต์จะรวบรวมมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ให้คนอื่นๆ เห็น

“ปรากฏว่าภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากเปิดเว็บ มีเรื่องรายงานเข้าไปเป็นหมื่นเรื่อง ครอบคลุมทั้งประเทศ เกี่ยวพันกับหน่วยงานรัฐ 19 แห่ง ที่น่าสนใจคือในเว็บไซต์นี้ จะมีแผนที่เปิดเผยว่าเมืองไหนเรียกรับสินบนเท่าไร และเมืองไหนมีอัตราการรับสินบนสูงที่สุด”

 

การเปิดเผยข้อมูลการติดสินบนในลักษณะนี้ ทำให้ประชาชนอินเดียเห็นว่าคนอื่นๆ ก็ตกเป็นเหยื่อเหมือนกับตนอย่างไรบ้าง และมันช่วยตอกย้ำว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การติดสินบนของหน่วยงานราชการเป็นเรื่อง ‘เปิดเผย’ จากที่เคยเป็นเรื่องมืดดำมานาน

“สิ่งที่เขากำลังทำคือเอากลไกของตลาดมาสู้กับคอร์รัปชัน ตอนนี้คนอินเดียเห็นแล้วว่าราคากลางของการจ่ายสินบนอยู่ที่เท่าไหร่ เช่น ราคากลางสำหรับได้ใบขับขี่อยู่ที่ 500 บาท และสมมติว่าคนในนิวเดลีจ่าย 1000 เขาจะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมของเราเยอะขนาดนี้” ประจักษ์เล่าถึงกลไกการทำงานของเว็บอย่างติดตลก

การเปิดเผยข้อมูลสินบนทำให้ประชาชนรู้สึกอัดอั้น และลุกขึ้นมากดดันหน่วยงานราชการในเมืองที่ตนเองอาศัยจนเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น เจ้าหน้าที่รัฐที่โดนร้องเรียนได้รับการสอบสวนมากขึ้น และคนที่ตรวจสอบแล้วว่าทำผิดโดนพักงานหรือถูกไล่ออกมากกว่าแต่ก่อน รวมถึงคุณภาพของบริการภาครัฐก็ได้รับการยกระดับ เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อย เกิดอาการ ‘เกร็ง’ เมื่อประชาชนมาขอรับบริการ เพราะไม่รู้ว่าถ้าเรียกสินบนแล้ว จะโดนแฉหรือหัวหน้าจะเรียกไปสอบสวนหรือไม่

จากผลดังกล่าว ประจักษ์ชี้ว่าเว็บไซต์ I Paid a Bribe ได้กลายเป็น ‘Online Crowd-Source’ ที่ต่อสู้คอร์รัปชันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะว่ามันช่วย ‘เพิ่มต้นทุนของผู้เรียกสินบน’ และ ‘ลดต้นทุนของประชาชนที่ต้องการเปิดเผยข้อมูลการโกง’

“แคมเปญนี้ทำให้การสู้คอร์รัปชันมีต้นทุนที่ถูกลงอย่างมากสำหรับประชาชน แค่มีสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต เราก็คลิกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว โดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิต”

ประจักษ์สรุปบทเรียนที่ได้จากกรณีนี้ว่า “หากต้องการสู้กับคอร์รัปชัน ต้องทำให้มันโปร่งใส” โดยใช้ความได้เปรียบของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน และหากเราต้องต่อสู้คอร์รัปชันในระบบและสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี หนทางเดียวที่ทำได้คือ “ประชาชนต้องรวมพลังกัน เพื่อไม่ให้เราโดดเดี่ยว ที่สำคัญคือแก้ที่ตัวคุณอย่างเดียวไม่พอ ต้องแก้ที่ระบบให้ได้”

 

 

อินโดนีเซีย : ปลอดคอร์รัปชันด้วยวิธีคิดใหม่

 

จากอินเดีย ประจักษ์ชวนผู้ฟังมาเรียนรู้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในอินโดนิเซีย ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การ ‘พลิกวิธีคิด’ หรือ ‘Shifting Paradigm’

ประเทศอินโดนีเซียเคยเป็นประเทศหนึ่งที่มีคอร์รัปชันมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะช่วง 1965-1998 ซึ่งเป็นช่วงที่นายพลซูฮาร์โตยังเรืองอำนาจอยู่ ต่อมาเมื่อระบอบซูฮาร์โตสิ้นสุดลงในปี 1998 ปัญหาคอร์รัปชันก็ค่อยๆ คลี่คลาย อันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ในปี 2016 ของอินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 90 ส่วนไทยอยู่ที่ 101

ประจักษ์เล่าว่าภายหลังที่ซูฮาร์โต้ลงจากอำนาจ บรรยากาศประชาธิปไตยก็เริ่มเบ่งบานมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น ประชาชนในประเทศก็ตระหนักดีว่า ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองแบบไหน หากไม่มีระบบการตรวจสอบจากประชาชนและสื่อที่ดี คอร์รัปชันก็คงเกิดขึ้นอยู่ดี

จากความตระหนักดังกล่าว ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากรวมกลุ่มกันอย่างกว้างขวาง เพื่อพยายามเปลี่ยนกระบวนทัศน์หลายๆ อย่างที่จะเอื้อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

สิ่งที่ภาคประชาสังคมในอินโดนีเซียทำ ณ เวลานั้นคือ การสร้างความเข้าใจใหม่ว่า พลังทางสังคมใดบ้างที่มีส่วนสร้างและทำลายคอร์รัปชันกันบ้าง ในอินโดนีเซีย ประชาชนเขาบอกว่ามีสิ่งที่เรียกว่า 3 ประสานคอร์รัปชันที่ทำให้มันฝังลึก คือ ข้าราชการ นักการเมือง และภาคเอกชน นักการเมืองเป็นกองหน้า ข้าราชการเป็นกองกลาง และภาคเอกชนเป็นกองหลัง 3 ประสานนี้ทำให้ระบบคอรัปชันมันถูกหล่อเลี้ยงในสังคมอินโดนีเซีย แต่เขาสู้ด้วยพวกมากกว่าคือ 4 ประสานสู้คอร์รัปชัน มีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ภาคธุรกิจ สื่อ และภาคประชาสังคม

หัวหอกสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชันในอินโดนีเซียคือ องค์กร ‘Komsit Pemberantasan Korupsi’  (KPK) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีลักษณะคล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของไทย KPK เป็นองค์กรใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2003 แต่ก็สามารถทำงานได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ โดยปัจจัยที่ทำให้ KPK ทำงานได้ดีนั้น ไม่ใช่เพราะตัวองค์กรเพียงอย่างเดียว หากขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของประชาชน ภาคธุรกิจ สื่อ นักวิชาการ รวมถึงเหล่าดาราอีกด้วย เช่น ครั้งหนึ่งเมื่อรัฐบาลพยายามตัดงบประมาณของ KPK ประชาชนรวมถึงดารานักร้องก็ออกมาทำแคมเปญ ‘Save KPK’ เพื่อลงขันกันบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือองค์กรอย่างแข็งขัน

 

 

มีกรณีที่เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริง คือ ญาติของอดีตประธานาธิบดียูโทโยโน ที่ใช้อำนาจยักยอกเงิน กระทั่งผันงบประมาณไปให้นักการเมือง แล้วโดนจับได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงถูกโอบอุ้ม ปกป้องด้วยประธานาธิบดี แต่ปรากฏว่าประธานาธิบดีไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะประชาชนจับตามองอย่างเข้มข้น ในที่สุด เขาต้องยอมให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปอย่างปกติ ญาติของประธานาธิบดีถูกตัดสินจำคุก 4 ปี

“ผลของการต่อสู้จากภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ก็คือการเปลี่ยนจินตนาการใหม่ คือต่อให้คุณมีอำนาจ มีเส้นสายมากมายขนาดไหน ถ้าคุณทำผิด โกง คุณสามารถถูกนำตัวมาลงโทษได้ มีข้าราชการมากมายโดนจับ หลายอาชีพที่เป็นชนชั้นนำก็พาเหรดเขาคุกกันเป็นแถว”

บทเรียนสำคัญอีก 2 ข้อจากอินโดนีเซีย คือ ข้อแรก การต่อสู้คอร์รัปชันต้องเกิดจากความร่วมมือขององค์กรข้างบนซึ่งก็คือหน่วยงานรัฐ กับองค์กรข้างล่างซึ่งก็คือภาคประชาชน ข้อสอง การสร้างประชาธิปไตยกับสังคมปลอดคอร์รัปชันคือเรื่องเดียวกัน เราไม่สามารถละเลยอีกสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เพราะแท้จริงแล้วการสร้างทั้งสองสิ่ง ก็คือการสร้างระบบที่ไม่ให้ใครมาผูกขาดทั้งในการเมืองและเศรษฐกิจ และเป็นระบบที่ผู้มีอำนาจทุกคนต้องถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน

สิ่งที่เราเรียนรู้จากการต่อสู้กับคอร์รัปชันจากทั่วโลกคือ การต่อสู้กับคอร์รัปชันไม่มีคำว่าสายเกินไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน การต่อสู้ต้องใช้เวลา และที่สำคัญคือ อย่าคิดว่าคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ผูกติดอยู่กับความเป็นชาติ แต่เป็นผลผลิตของระบบที่ไม่ดีซึ่งผลิตพฤติกรรมที่ไม่ดีต่างหาก

 

“กลับมาที่ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา พร้อมแล้วหรือยังที่จะลุกขึ้นมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง” ประจักษ์ทิ้งท้าย

 

 

ชมคลิปทอล์ก แก้เกมโกง โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ในงาน Shift Happens: พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ โดยดีแทค และ 101

เมื่อวันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2560

 

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save