fbpx

เพราะอนาคตรอไม่ได้! เปิดตำราการศึกษาฉบับเลื่อนไหลหลังโควิด-19

20 ปีที่แล้ว ไม่มีใครสักคนรู้ว่าวันหนึ่งสมุดหน้าเหลืองจะสิ้นความหมาย ภาษาเกาหลีจะเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญซึ่งดึงดูดความสนใจของนายจ้าง การงานที่เคยคุ้นจะกระจัดพลัดพราย หลีกทางให้อาชีพอุบัติใหม่ในดินแดนออนไลน์อันขยายกว้าง

เพราะไม่มีใครรู้ว่าเด็กๆ ในอนาคตต้องเผชิญความท้าทายหรือภัยคุกคามใด แนวทางการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อบ่มเพาะผู้เรียนที่พัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิตจึงได้รับความสนใจจากนักการศึกษายิ่งขึ้นทุกขณะ

ทว่าความพยายามซ่อมแซมระบบการศึกษาเดิมยังไม่สัมฤทธิ์ผล โรคอุบัติใหม่ก็ฉวยโอกาสกัดกินสารพัดบาดแผลการศึกษาจนลุกลาม ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ คุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่ไม่คงเส้นคงวา และทรัพยากรทางการศึกษาที่ไม่ถูกจัดสรรอย่างเท่าเทียม

ความเสียหายจากการปิดโรงเรียนหลายแห่งตลอดระยะเวลาการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นสัญญาณว่าการปรับปรุงระบบการศึกษาไม่ใช่ความท้าทายที่รอได้อีกต่อไป แต่ต้องเร่งดำเนินการ เดี๋ยวนี้ เพื่ออุดช่องโหว่ทางในเรียนรู้ของเยาวชนก่อนจะสายเกินแก้

องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือ UNICEF รวมถึงองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD ได้ถอดบทเรียนการจัดการศึกษายุคโควิด-19 พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขจากการรวบรวมและประมวลแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพทั่วโลก เพื่อสร้างระบบการศึกษาแห่งอนาคตที่พร้อมรับมือความผันผวนในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง ดังนี้

ข้อเสนอระบบการศึกษาใหม่ของ UNICEF

UNICEF เปิดเผยว่าเด็กที่ครอบครัวมีรายได้น้อย อาศัยในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร เด็กที่เป็นชนกลุ่มน้อย มีความต้องการพิเศษ เป็นผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย ตลอดจนเด็กที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ต้องเผชิญปัญหาการเรียนรู้และปัญหาสุขภาพจิตระหว่างการปิดโรงเรียนที่รุนแรงกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้ ไม่เพียงเพราะเด็กๆ เหล่านี้เป็นเด็กกลุ่มเปราะบางทางสังคมอยู่เดิม แต่การให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการติดต่อขอความช่วยเหลือของพวกเขาชะงักงันเป็นเวลานานอีกด้วย

ดังนั้น หัวใจของการแก้ไขปัญหาการศึกษายุคหลังโควิด-19 จึงประกอบด้วย

1) การรับประกันว่าเด็กทุกคนจะมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นโดยเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือด้านการเรียนรู้ หรือความช่วยเหลือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชน

2) การพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น พร้อมรับมืออุบัติภัยในอนาคต ผ่านการปรับปรุงกลไกในโรงเรียน สร้างสรรค์ทรัพยากรทางการศึกษาที่หลากหลาย ส่งเสริมองค์ความรู้และทักษะของครู รวมถึงศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสนับสนุนผู้เรียนอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ ยูนิเซฟจำแนกแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้นเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

  1. Access to education provision: ประเภทแนวปฏิบัติเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษา
  2. Quality and inclusive learning: ประเภทแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพและความครอบคลุมของการจัดการศึกษา
  3. Well-being: mental health and psychosocial support: ประเภทแนวปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียน ครอบครัว ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษา
  4. Safe schools: ประเภทแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนากลไกและสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการรับมือวิกฤตในปัจจุบันและอนาคตของสถานศึกษา

นอกจากการจำแนกแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายแล้ว UNICEF ยังแจกแจงรายละเอียดของแต่ละแนวปฏิบัติอย่างรัดกุม โดยแบ่งเป็นแนวปฏิบัติ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงจำแนกขอบเขตของแนวปฏิบัติเหล่านี้เป็นที่ ระดับโรงเรียน ระดับชุมชน และระดับเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อ่านสามารถดูตารางแจกแจงรายละเอียดของแนวปฏิบัติดังกล่าวได้ที่นี่

สำหรับการปรับใช้แนวปฏิบัติเหล่านี้ UNICEF ได้กำหนดขั้นตอนการปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ (Asses) ขั้นตอนการกำหนดแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ (Plan) ขั้นตอนการดำเนินการ (Do) และขั้นตอนการสะท้อนคิดเพื่อปรับปรุงการดำเนินการในอนาคต (Review)

กระนั้นก็ยังมีอีกความท้าทายหนึ่งซึ่งจะมองข้ามไม่ได้ คือสถานการณ์การระบาดขณะนี้เป็นสถานการณ์ ‘สามวันดีสี่วันไข้’ ที่มีความเป็นไปได้หลากหลาย ดังที่ UNICEF อธิบายว่า

ขณะที่ไวรัสยังแพร่กระจาย และยังไม่มีวัคซีนที่ยุติปัญหาดังกล่าวได้ <UNICEF จัดทำรายงานฉบับนี้ในปี 2020> สังคมต้องพร้อมเผชิญชีวิตวิถีใหม่ (new normal) เช่นเดียวกับระบบการศึกษาซึ่งจะแตกต่างจากทั้งที่ผู้ปกครอง ครู และเด็กเคยรู้จัก

โรงเรียนที่กลับมาเปิดทำการย่อมไม่สามารถดูแลนักเรียนทุกคนได้เต็มเวลาด้วยข้อจำกัดจากการรักษาระยะห่างและมาตรการควบคุมโรคอื่นๆ… โดยเวลาเรียนที่ลดลงจะได้รับการชดเชยด้วยการเรียนรู้ทางไกล และการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบที่แตกต่างกันต่อนักเรียนแต่ละคน เป็นไปได้ที่เด็กจะมีโอกาสเรียนรู้ซึ่งหน้ามากน้อยลดหลั่นกันไป ขึ้นอยู่กับอายุ ระดับการศึกษา ลักษณะการเรียนรู้ และสถานการณ์การระบาด

ด้วยเหตุนี้ ข้อควรระวังในการกำหนดแผนการดำเนินงานในสถานการณ์ ‘สามวันดีสี่วันไข้’ (Planing in a context of uncertainty) จึงเป็นอีกหนึ่ง นิว นอร์มอล ที่ UNICEF คำนึงถึง ดังแสดงในแผนภาพด้านล่าง

ข้อเสนอระบบการศึกษาใหม่ของ OECD

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะนำแนวปฏิบัติของ UNICEF ไปปรับใช้ ยังอีกข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจและควรกล่าวถึงในที่นี้ คือข้อเสนอของ OECD ซึ่งเน้นถอดบทเรียนการรับมือโควิด-19 จากนานาประเทศ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพิจารณาของผู้กำหนดนโยบายในอนาคต

โดย OECD แบ่งบทเรียนการรับมือโควิด-19 เป็น 3 บท และให้ข้อเสนออย่างกว้างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับมือ ดังนี้

บทเรียนที่ 1: แนวทางการจัดการเรียนรู้ต้องมีความยืดหยุ่น ตลอดจนยึดโยงกับความต้องการของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายมากกว่าสถานที่และเครื่องมือจัดการเรียนรู้

การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เขย่ามายาคติว่าด้วยสถานที่หรือแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ผู้เรียนแต่ละคนย่อมมีกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการเข้าถึงการเรียนรู้แตกต่างกัน การยกระดับความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงสนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการจัดการเรียนรู้ จึงจำเป็นต่อการสร้างระบบการศึกษาเลื่อนไหลหลังโควิด-19

บทเรียนที่ 2: บุคลากรทางการศึกษาต้องพัฒนาทักษะและศักยภาพของตนให้สามารถสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของผู้เรียนได้ตรงจุด

เพราะบุคลากรทางการศึกษาคือฟันเฟืองซึ่งจะขับเคลื่อนระบบการศึกษาใหม่หลังโควิด-19 พวกเขาจึงควรได้รับโอกาสตลอดจนการสนับสนุนที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ สวัสดิการที่เหมาะสม การส่งเสริมสุขภาพจิต โอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่หลากหลาย ทรัพยากรทางการศึกษา หรือ ‘เวลาว่าง’ เพื่อพัฒนาตนเอง เพราะการเสริมสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักการศึกษาที่ล้วนเผชิญและก้าวข้ามวิกฤตมาด้วยกัน จะเป็นก้าวแรกที่มั่นคงของการพัฒนาระบบการศึกษาที่เลื่อนไหลต่อไป

บทเรียนที่ 3: สำรวจแนวโน้มและรวบรวมข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่ออุดช่องโหว่เหล่านั้น โดยให้การสนับสนุนพิเศษแก่ผู้ได้รับผลกระทบรุนแรง

ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล บริการให้คำปรึกษา อุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ หรือการสนับสนุนอื่นๆ เพื่อผลักดันผู้เรียนกลุ่มนี้ให้สามารถเรียนรู้ได้ทัดเทียมผู้เรียนที่มีโอกาสมากกว่า ล้วนเป็นความช่วยเหลือที่จำเป็นทั้งสิ้น

การรวบรวมข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยลดความเป็นไปได้ที่ช่องว่างเหล่านั้นจะยิ่งถ่างกว้างด้วยมาตรการปิดเมืองในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ นอกจากการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นแล้ว การให้คำมั่นและกำหนดแผนการให้การสนับสนุนระยะยาวก็จำเป็นต่อการยกระดับความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

ยิ่งกว่านั้น OECD ยังระบุอย่างชัดเจนว่า ความช่วยเหลือเหล่านี้ต้องเป็นความช่วยเหลือที่ ‘ครบวงจร’ คือไม่เพียงสนับสนุนการเรียนรู้ แต่ต้องออกแบบการวัดและประเมินผลการศึกษาโดยคำนึงถึงข้อจำกัดของผู้เรียนกลุ่มนี้ด้วย เพราะการวัดและประเมินผลการศึกษาที่แม่นยำจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้เรียนกลุ่มเปราะบาง และแก้ไขปัญหาของพวกเขาได้ในระยะยาวที่สุด

เมื่อสองแนวทางสอดประสาน

เห็นได้ชัดว่าข้อเสนอของ UNICEF และ OECD มีทั้งองค์ประกอบที่แตกต่างและคล้ายคลึงกัน คือข้อเสนอทั้งสองล้วนให้ความสำคัญแก่การจัดการศึกษาที่คำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงการยกระดับความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่จะค้ำจุนการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืนของประชากร ผ่านการจัดสรรงบประมาณและการสนับสนุนอื่นๆ เพื่อส่งเสริมบุคลากรทางการศึกษาและพัฒนาแหล่งเรียนรู้

ข้อเสนอของ OECD ที่เน้นถอดบทเรียนจากผลกระทบของมาตรการควบคุมโรคต่อการจัดการศึกษานั้นเผยข้อจำกัดของระบบการศึกษาในปัจจุบันอย่างชัดเจน เพียงแต่ขาดข้อเสนอเชิงนโยบายที่รัดกุม จึงจำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับแนวปฏิบัติระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวของ UNICEF ที่แม้จะครอบคลุมกว่า ทว่ายังขาดกรอบความคิดที่ชี้ให้เห็นว่าแนวปฏิบัติเหล่านี้จะเกื้อหนุนระบบการศึกษาใหม่อย่างไร

ในที่นี้จึงนำจุดแข็งของสองข้อเสนอมาผนวกรวมกัน โดยใช้สามบทเรียนของ OECD เป็นปลายทางของการปฏิรูปการจัดการศึกษา และใช้ข้อเสนอ UNICEF เป็นแนวทางขับเคลื่อนระบบการศึกษาปัจจุบันสู่เป้าหมายดังกล่าว ดังตารางที่ได้จัดทำต่อไปนี้

  ปลายทาง: การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาจัดการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น
ยึดโยงกับความต้องการของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย
สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
 

 แนวปฏิบัติระยะสั้น:

I. กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อการเปิดโรงเรียนที่รัดกุมเพื่อเป็นคู่มือของผู้ปฏิบัติงาน สื่อสารกับผู้ปกครองตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นความคาดหวัง และความรับผิดชอบของทุกฝ่าย เพื่อพัฒนาความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างองค์กรต่างๆ

II. จัดตั้งเครือข่ายโรงเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

III. ประเมินผลกระทบของการปิดโรงเรียนเพื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณในอนาคต

IV. ปรับเปลี่ยนปฏิทินโรงเรียน รวมถึงแนวทางติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนและแนวทางจัดสอบให้มีความยืดหยุ่น ตลอดจนสอดคล้องกับสถานการณ์

V. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองในประเด็นการสนับสนุนการเรียนรู้ออนไลน์หรือการเรียนรู้ทางไกลของเด็ก

VI. สำรวจความต้องการทางสาธารณสุขของโรงเรียนต่างๆ และให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น

VII. สำรวจและประเมินความเข้าใจของผู้ปกครอง ครู และนักเรียน เกี่ยวกับการป้องกันโรค รวมถึงให้ข้อมูลที่ชัดเจน

VIII. จัดทำแนวทางการเปิดโรงเรียนในสถานการณ์การระบาดระดับชาติที่รัดกุมและชัดเจน ทุกโรงเรียนสามารถปรับใช้ได้

 แนวปฏิบัติระยะกลาง:

I. มีแนวทางปรับพื้นฐานเพื่อต้อนรับนักเรียนกลับสู่โรงเรียนโดยต้องสื่อสารกับทั้งนักเรียนและผู้ปกครองให้ชัดเจน

II. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนโอกาสฝึกอาชีพแก่นักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา

III. พัฒนาระบบติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน รวมถึงแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง

IV. จัดทำคู่มือเยียวยาการเรียนรู้ถดถอยสำหรับครูและโรงเรียน และร่วมกันกำหนดแนวทางการวัดและประเมินผลการศึกษาใหม่

V. ติดตามผลการควบคุมโรคในโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิด

นโยบายระยะยาว:

I. เพิ่มการลงทุนในระบบติดตามความก้าวหน้าของเด็กๆ ที่หลากหลายและแม่นยำยิ่งขึ้น

II. คงไว้ซึ่งความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการมีส่วนร่วมของนักเรียนทุกกลุ่ม

III. กำหนดให้การส่งเสริมทักษะทางอารมณ์และสังคมเพื่อรับมือสถานการณ์ไม่คาดฝันเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรและพันธกิจโรงเรียน

IV. กำหนดให้การส่งเสริมทักษะทางอารมณ์และสังคมเพื่อรับมือสถานการณ์ไม่คาดฝันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านการศึกษาและมาตรฐานการเรียนรู้

V. ติดตามผลการควบคุมโรคและจัดหาเครื่องมือควบคุมโรคสำหรับทุกโรงเรียนในระยะยาว
  ปลายทาง: การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะและศักยภาพ
ในการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของผู้เรียนอย่างตรงจุด
 

นโยบายระยะสั้น:

I. พัฒนาชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่เข้มแข็งของครูทั้งในและระหว่างโรงเรียน

II. จัดหาครูผู้นำหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อฝึกฝนครูให้สามารถจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ได้อย่างเหมาะสม

III. จัดหาอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับครูทุกคน

IV. ลดภาระงานครูและให้ความช่วยเหลือด้านอารมณ์แก่ครู ตลอดจนให้เงินเดือนครูและสวัสดิการอื่นๆ ตามปกติ แม้จะปิดโรงเรียนก็ตาม

V. ฝึกฝนครูให้สามารถดำเนินมาตรการควบคุมโรคของโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม

นโยบายระยะกลาง:

I. ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่องของครูทั้งในและระหว่างโรงเรียน ตลอดจนพัฒนาให้ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ อาทิ การรับมือปัญหาสุขภาพจิตของตนเองและนักเรียน ระหว่างการปิดโรงเรียนและการจัดการเรียนรู้ออนไลน์

II. จัดทำคู่มือสำหรับครูและโรงเรียนในการเยียวยาการเรียนรู้และแนวทางการวัดและประเมินผลการศึกษาใหม่

III. ออกแบบภาระงานครูใหม่ให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับสถานการณ์ และรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

IV. พัฒนาระบบป้องกันความอ่อนล้า (burnout) ของครูอย่างครบวงจร ทั้งในโรงเรียนและในความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ

นโยบายระยะยาว:

I. คงไว้ซึ่งความร่วมมือระหว่างโรงเรียนเพื่อโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่หลากหลายของครู

II. บรรจุองค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะทางอารมณ์และสังคม ตลอดจนแนวทางพัฒนาทักษะดังกล่าวในการฝึกหัดครู

III. ประเมินผลกระทบของการปิดโรงเรียนต่อสุขภาพจิตของครูอย่างต่อเนื่อง และให้ความช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ
  ปลายทาง: การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
ผ่านการรวบรวมและประมวลข้อมูลความเหลื่อมล้ำ
เพื่อให้การสนับสนุนพิเศษแก่ผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างตรงจุด
 
  นโยบายระยะสั้น:

I. ระบุนักเรียนกลุ่มเสี่ยงและให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนรู้ที่จำเป็นอย่างรวดเร็วที่สุด

II. จัดหาอุปกรณ์การเรียนรู้ที่จำเป็นในการเรียนรู้ทางไกลหรือออนไลน์สำหรับนักเรียนทันที

III. สงวนงบประมาณจำนวนหนึ่งไว้สำหรับโรงเรียนและนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดมากที่สุด ตลอดจนให้ความช่วยเหลืออย่างฉับไว

IV. ระบุครอบครัวหรือชุมชนกลุ่มเสี่ยง และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น เช่น บริการให้คำปรึกษา การส่งเสริมสุขภาพจิต การส่งเสริมการควบคุมโรคในชุมชน ฯลฯ

V. คงไว้ซึ่งประโยชน์อื่นๆ ที่เด็กๆ ได้รับจากโรงเรียนเป็นปกติ อาทิ อาหารกลางวัน

VI. ให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคและจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการควบคุมโรคโรงเรียนที่ขาดแคลน
 
นโยบายระยะกลาง:

I. ให้ความช่วยเหลือพิเศษอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนกลุ่มเสี่ยง รวมถึงพัฒนาแนวทางส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกอาชีพของนักเรียนกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง กรณีหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว

II. รวบรวมข้อมูลและประเมินสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่อย่างละเอียด

III. กำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนรู้สำหรับนักเรียนกลุ่มเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงให้การสนับสนุนแก่ผู้ปกครองเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ

IV. ติดตามผลการควบคุมโรคในโรงเรียนที่ขาดแคลนอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น
 
นโยบายระยะยาว:

I. คงไว้ซึ่งความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การสนับสนุนพิเศษแก่นักเรียนกลุ่มเสี่ยง นักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครองของนักเรียนกลุ่มนี้

II. ศึกษาแนวโน้มความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนรู้และเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว

III. ถอดบทเรียนระยะยาวว่าด้วยผลกระทบของการปิดโรงเรียนต่อผู้เรียนแต่ละกลุ่ม เพื่อการกำหนดนโยบายที่รัดกุมยิ่งขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ข้อควรระวังประการสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ คือข้อเสนอจากการถอดบทเรียนของ OECD ตลอดจนแนวปฏิบัติของ UNICEF ที่ต่อยอดจากผลกระทบของการปิดโรงเรียนในยุโรปและภูมิภาคเอเชียกลาง ล้วนเป็นข้อเสนอในบริบทการศึกษาต่างประเทศทั้งสิ้น และแม้ว่าการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 จะเป็นวิกฤตที่ประชากรทั่วโลกเผชิญร่วมกัน บริบทการศึกษา ตลอดจนบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของไทย ก็แตกต่างจากหลายประเทศในรายงานสองฉบับนี้มากทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ การปรับใช้ข้อเสนอดังกล่าวเพื่อยกระดับการจัดการศึกษา จึงไม่อาจมีประสิทธิภาพหากปราศจากความร่วมมือของทุกฝ่าย และไม่อาจเริ่มต้นหากผู้กำหนดนโยบายขาดความเข้าใจบริบทการศึกษา เพราะความเข้าใจเท่านั้นที่จะนำไปสู่การแบ่งปันประสบการณ์ และเรียนรู้ความต้องการของแต่ละภาคส่วนเพื่อพัฒนานโยบายที่ตอบโจทย์ การสนับสนุนฟันเฟืองในระบบการศึกษาอย่างตรงจุดให้สามารถปรับใช้แนวทางเหล่านี้ได้ ตลอดจนการสื่อสารเพื่อลดความกังวลของนักเรียนและผู้ปกครองอย่างจริงใจ

เพราะระบบการศึกษาแห่งการมีส่วนร่วม เพื่อตอบสนองความต้องการและกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายจะถือกำเนิดได้อย่างไร หากปราศจากความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจที่แท้จริง

หมายเหตุ: บทความนี้อ้างอิงสาระสำคัญจากรายงาน Lessons for Education from COVID-19 ของ OECD และ Building Resilient Education Systems beyond the COVID-19 Pandemic: Considerations for education decision-makers at national, local and school levels ของ UNICEF


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save