fbpx
Richard Mille บอกอะไรเรา

Richard Mille บอกอะไรเรา

วันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

 

กลางกรุงปารีสเมื่อสิบปีก่อน ผู้เขียนเคยมีโอกาสไปเดินเล่นย่านร้านนาฬิกาหรูกับเพื่อนคนไทยผู้ใช้ชีวิตในฝรั่งเศสมาครึ่งชีวิต และรู้จักคนมีชื่อเสียงเมืองไทยมากมายที่ไปเที่ยวปารีส

เพื่อนคนนี้เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเคยดูแลเถ้าแก่ มหาเศรษฐีไทยชื่อดังคนหนึ่ง มาทำธุรกิจซื้อขายกิจการที่ปารีส

วันแรกเพื่อนพาเถ้าแก่ไปพักโรงแรมหรูแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าเถ้าแก่ทิปให้กับพนักงานต้อนรับคนละ 500 ยูโร เพื่อนตกใจมากบอกว่า

“ท่านครับ ทิปให้ 20 ยูโร ก็หรูแล้วครับ”

เถ้าแก่สอนเขาว่า

“คุณอยู่ปารีสมายี่สิบกว่าปี คนรู้จักคนหลายร้อยคน ผมมีเวลาน้อย อยู่แค่สองวัน พอทิปให้ 500 ยูโร ต้องมีคนไปพูดต่อแน่ๆ ป่านนี้คนปารีสคงรู้จักผมเยอะแล้ว”

เพื่อนเล่าว่า ตอนมีเวลาว่าง ได้พาเถ้าแก่มาเดินเล่นแถวย่านนี้ พอเดินผ่านร้านนาฬิกาชื่อดังราคาแพงยี่ห้อหนึ่ง เถ้าแก่สะดุดใจนาฬิกาเรือนหนึ่งที่ตั้งโชว์ จึงเดินเข้าไปในร้าน และสนใจซื้อ สอบถามราคา ปรากฏว่าเรือนละประมาณ 200,000 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 8-9 ล้านบาท

เถ้าแก่ไม่รู้สึกแปลกใจ เรียกผู้จัดการมาบอกว่า

“ขอซื้อนาฬิกานี้สองโหล”

ผู้จัดการทำท่าตกใจและปฏิเสธไปว่า

“เราขายนาฬิการุ่นนี้ทีละเรือน บริษัทเราไม่มีนโยบายขายนาฬิกาครั้งละหลายเรือน”

เถ้าแก่ยืนกรานว่าจะซื้อให้ได้ บอกว่า

“ผมไม่อยากเสียเวลาเดินเลือกซื้อนาฬิกาบ่อยๆ อีก อยากซื้อทีเดียวจบเลย เพราะต้องซื้อหลายเรือน ไปฝากผู้ใหญ่ นักการเมือง นายพลคนโน้นคนนี้ เยอะไปหมด”

ผู้จัดการจึงโทรไปปรึกษาผู้บริหารระดับสูงของบริษัท

สักพักผู้บริหารคนหนึ่งเดินทางมาที่ร้าน ยืนกรานปฏิเสธไปอย่างสุภาพ และบอกว่า

“นาฬิการุ่นนี้ เรือนหนึ่งใช้เวลาผลิตหลายปี มีกลไกซับซ้อนมาก และไขลานครั้งเดียวเดินได้หลายปี ผลิตไม่ง่าย และเป็นงานศิลปะชั้นสูง ไม่ใช่นาฬิกาโหลๆ เราไม่สามารถขายให้ทีละหลายเรือนได้ครับ”

คนมีตังค์กับคนมีตังค์คุยกัน เรื่องศักดิ์ศรีจึงบังเกิดขึ้น

สุดท้ายเถ้าแก่ก็ไม่ต้องเสียเงินหลายสิบล้านเพื่อซื้อนาฬิกามาแจกคนใหญ่คนโตในเวลานั้น

เรื่องราวนี้บอกเราว่า การที่นักธุรกิจให้นาฬิการะดับหลักล้านเป็นของกำนัลกับคนใหญ่คนโต หรือผู้มีอำนาจบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง คนในเครื่องแบบ เพื่อความสิเน่หา ความสนิทสนม หรือเพื่อแลกกับผลประโยชน์บางอย่าง เป็นเรื่องปกติที่ทำกันมานานแล้ว

ทำไมต้องเป็นนาฬิกาหรูระดับสุดยอด

สำหรับสุภาพสตรี อาภรณ์ประดับเรือนกายที่บ่งบอกถึงฐานะ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือความมั่งมี นอกจากเสื้อผ้า ยังมีทั้งกระเป๋า แหวน สร้อยคอ นาฬิกา

แต่สำหรับสุภาพบุรุษ น่าจะมีเพียงหนึ่งเดียว คือนาฬิกา

ในโลกของการตลาด นาฬิกาน่าจะเป็นสินค้าไม่กี่ชนิดที่มีราคาขายแพงกว่าต้นทุนอย่างมหาศาล ทั้งจากมูลค่าของแบรนด์ที่ทำให้สูงขึ้นเรื่อยๆ และจากความนิยมที่ถูกสร้างขึ้นจากการทำการตลาดในกลุ่มคนชั้นสูง

นาฬิการะดับหรูในโลกนี้ บางเรือนจึงมีราคาหลักล้านไปจนถึงร้อยล้านบาท

อีกด้านหนึ่งเป็นที่รู้กันว่า นาฬิกาบางรุ่นถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากซื้อถูกรุ่น โดยเฉพาะรุ่นที่ได้รับความนิยมแต่ผลิตน้อย ประเภท limited edition

นาฬิกาหลายรุ่นจึงมีคนเก็บสะสมแทนเงินตราที่มีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ แม้จะราคาแพงมหาศาล และกลายเป็นของกำนัลอันสุดเสน่หาทั้งผู้ให้และผู้รับ

ลองมาดูนาฬิกาของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีข่าวครอบครองนาฬิกาหรูยี่ห้อ RICHARD MILLE เป็นเรือนแรก ต่อมาได้มีการสืบค้นจนพบว่า ท่านเคยใส่นาฬิกาหรูบนข้อมือนับได้ 11 เรือน

โดยเป็นนาฬิกา RICHARD MILLE 3 เรือน นาฬิกา Rolex 4 เรือน นาฬิกา AUDEMARS PIGUET 1 เรือน และนาฬิกา PATEK PHILLIPPE 3 เรือน รวมมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท

นาฬิกาสามรุ่นหลังมีประวัติมาช้านาน เป็นแบรนด์เก่าแก่ รุ่นคลาสสิกมีมูลค่าสูงมาก ผู้คนรู้จักดี

แต่สำหรับ RICHARD MILLE เป็นนาฬิกาน้องใหม่ ก่อตั้งขึ้นไม่ถึงยี่สิบปี ความโดดเด่นของนาฬิกาแบรนด์นี้คือ ใช้วัสดุชนิดเดียวกับตัวถังของรถแข่งฟอร์มูล่าวัน จนทำให้มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง ได้รับความนิยมจากบรรดาเซเล็บรุ่นใหม่ ในวงการหนังฮอลลีวูดหรือนักกีฬาชื่อดัง

โดยเฉพาะที่เมืองไทย RICHARD MILLE กลายเป็นแบรนด์หรูที่คนไทยรู้จักมากที่สุดในขณะนี้ โดยไม่ต้องเสียเงินค่าทำการตลาดเลย เพราะมีผู้ยิ่งใหญ่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ชื่อดังให้โดยไม่ตั้งใจแล้ว

นาฬิกาเหล่านี้ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่เคยอยู่ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องยื่นต่อ ป.ป.ช. จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และถูกตั้งข้อสังเกตอย่างมาก

แม้ว่าจะมีคนสนิทออกมาโยนหินถามทางว่า เป็นนาฬิกาของเพื่อนสนิทที่เพิ่งเสียชีวิตให้ยืมมา จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เพื่อน ‘ให้ยืม’ หรือ ‘ให้เลย’ กันแน่

สังคมกำลังจับตาดูว่า ป.ป.ช.จะทำการตรวจสอบอย่างไร เพราะทราบกันดีว่า ประธาน ป.ป.ช. เคยเป็นอดีตคนสนิทของพล.อ.ประวิตร

แต่เชื่อแน่ว่า ขณะนี้เซียนกฎหมายหลายคนกำลังหาทางออกหรือทางลงให้เรื่องนี้อย่างเนียนๆ

ภายใต้ร่มเงาของคสช. ไม่มีอะไรทำไม่ได้ ตราบใดที่ยังต้องขี่หลังเสือต่อไปอีกหลายปี

MOST READ

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

Politics

12 Sep 2018

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

อายุษ ประทีป ณ ถลาง

12 Sep 2018

Politics

14 Jul 2020

การเกิดอีกครั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ธนาพล อิ๋วสกุล เขียนถึงการเปลี่ยนความหมายของจอมพล ป. พิบูลสงครามจาก ‘ผู้ร้ายในประวัติศาตร์การเมืองไทย’ มาเป็นนายทหารฝ่ายคณะราษฎรที่สามารถกำราบฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติอย่างราบคาบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแหลมคมการเมืองร่วมสมัยของไทย

ธนาพล อิ๋วสกุล

14 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save