fbpx
บทเรียนจากความตาย

บทเรียนจากความตาย

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่อง

 

ไม่กี่วันก่อนผมเพิ่งได้อ่านทวิตเตอร์ของครูท่านหนึ่งในสหรัฐฯ เธอบอกเล่าประสบการณ์การเรียนการสอนออนไลน์ท่ามกลางสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19

เรื่องที่เธอเล่าส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเทคนิคการสอนหรือการวัดประเมินผล แต่เป็นประสบการณ์เมื่อนักเรียนของเธอเริ่มทยอยอีเมลมาขอเลื่อนนัดส่งงานด้วยเหตุผลคล้ายๆ กัน คือคนในครอบครัวกำลังป่วยหนักหรือคนสำคัญบางคนเพิ่งจากไป คำถามที่เธอชวนคิดคือครูควรรับมือกับมันอย่างไร และอะไรคือสิ่งที่เราควรต้องสอนนักเรียนในเวลานี้

ในฐานะครูผมเองก็ยังตอบได้ไม่เต็มปาก แต่ผมอยากลองชวนเราคิดในมุมกลับคือ ไม่ใช่ควรสอนอะไรนักเรียน แต่ความตายของผู้คนนับแสนคนในครั้งนี้กำลังให้บทเรียนอะไรกับเรา

ผมอยากเริ่มต้นด้วยข้อสังเกตสำคัญที่สุดจากหนังสือ วาระสุดท้าย: คู่มือสบตาความตายอย่างอบอุ่นและซื่อตรง โดยแซลลี ทิสเดล (Sallie Tisdale) นั่นคือความตายเป็น “สิ่งพิเศษเสมอไม่เปลี่ยนแปลง” (15)

 

วาระสุดท้าย: คู่มือสบตาความตายอย่างอบอุ่นและซื่อตรง

 

อาจฟังดูแปลกๆ อยู่สักหน่อย แต่ในสายตาของผู้เขียนซึ่งทำงานเป็นพยาบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยหนักเรื้อรังมาหลายสิบปี ทิสเดลคิดว่าความตายไม่ใช่และไม่เคยเป็นเรื่องสามัญธรรมดา เป็นความจริงที่มัน ‘เกิดขึ้น’ กับเราทุกคนในที่สุด แต่ ‘เกิดขึ้นอย่างไร’ ล้วนไม่เคยเหมือนกัน

ทิสเดลเห็นความแตกต่างนี้ได้ชัดเจน เพราะสำหรับเธอความตายไม่ใช่เพียงชั่วขณะก่อนหรือหลังหมดลมหายใจ แต่คือกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่เมื่อเราตระหนักจริงๆ ว่ามันกำลังจะมาถึง ตระหนักถึงความเปราะบางและผุพังของร่างกายที่กำลังโรยราและตัวตนซึ่งกำลังเปลี่ยนไปในทางที่เราไม่อยากให้มันเป็น ความตายเริ่มต้นทันทีที่เราคิดว่า ‘ทำไมต้องเป็นฉัน’ ‘ฉันยังไม่อยากตาย’ (101)

การเผชิญหน้ากับความตายส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องของการยอมรับในสัจธรรมของความสูญเสีย แต่ก็อาจไม่มีอะไรยากไปกว่าเรื่องนั้นเลย เพราะแม้ประสบการณ์ส่วนตัวทั้งจากการฝึกฝนพุทธศาสนานิกายโซโตเซนและจากการใกล้ชิดกับผู้คนที่กำลังจากไปมากมายจะทำให้เธอคุ้นเคยกับความตายมากกว่าคนทั่วไป แต่ทิสเดลยอมรับเช่นเดียวกันว่า “ยากที่จะเชื่อว่าวันหนึ่งฉันจะตาย…พวกเราจะตาย แต่ไม่ใช่ที่นี่และตอนนี้…ฉันพยายามเจรจากับจักรวาลอยู่หลายครั้งและเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น ฉันพร้อมจะตาย…เพียงแต่ยังไม่ใช่ตอนนี้” (51-52)

ความกลัวตายเป็นสิ่งสามัญ การพูดว่ายังไม่ใช่ตอนนี้จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่สิ่งที่ทำให้ความตายพิเศษคือกระบวนการที่เราแต่ละคนก้าวเข้าไปสำรวจความกลัวนี้อย่างซื่อตรง

แน่นอนว่าสาเหตุหลักของความกลัวตายอาจมาจากปริศนาที่เรายังไม่รู้ เช่นว่า หลังจากสิ้นลมหายใจแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ชีวิตหลังความตายมีจริงหรือไม่ มนุษย์เรามีแนวโน้มจะตื่นตระหนกเมื่อรู้ว่ากำลังหมดเวลา แต่ทิสเดลยังชี้ให้เห็นด้วยว่าเมื่อเรามองความตายเป็นกระบวนการ สาเหตุของความกลัวจึงซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่านั้นมาก

หลายคนกลัวตายเพราะความตายเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเสียศักดิ์ศรี ไม่เพียงร่างกายภายนอกของผู้กำลังจะตายที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยแข็งแกร่งและงดงาม แต่ตัวตนภายในในภาวะใกล้ตายยังค่อยๆ เสื่อมสลายจนกลายเป็นสิ่งน่าสังเวชในสายตาของผู้ที่อยู่รอบข้าง หรือแม้แต่ในสายตาของตัวเอง

ทิสเดลอธิบายว่านี่เองจึงเป็นเหตุผลให้หลายคนเรียกความตายโดยการช่วยเหลือทางการแพทย์ (assisted death) ว่าเป็นความตายที่มีศักดิ์ศรี เพราะผู้ตายได้แสดงเจตจำนงสุดท้าย พวกเขาได้เลือกเส้นทางของตัวเอง (67)

ในบางกรณี การเผชิญหน้ากับความตายอย่างซื่อตรงจึงไม่จำเป็นต้องให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจในสายตาคนทั่วไป เธอยกตัวอย่างการตัดสินใจสุดท้ายของแพร์รี อดีตทหารผ่านศึกที่ตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แต่แทนที่จะเข้ารับการรักษาหรือรอวันจากไป ‘อย่างสงบ’ แพร์รีเลือกการตาย ‘เยี่ยงสัตว์’ คือปฏิเสธการรักษาทุกชนิด ยอมรับกับความเจ็บปวดทรมาน และพร้อมจะตายอย่างโดดเดี่ยว “นั่นคือความหมายของความตายสำหรับแพร์รี ร่างกายล้มเหลว เสื่อมสลายลงช้าๆ และชีวิตที่ผุพังเป็นชิ้นๆ” (67)

ทิสเดลเห็นว่าความตายแบบนี้อาจไม่เข้าข่ายความตายที่ดีนักสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่เธอเห็นว่ามันคือความตายที่เกิดจากการตัดสินใจ “ความตายที่ได้รับการกอบกู้ ความตายที่ไม่ปิดบัง หรือก็คือความตายที่ดีนั่นเอง” (78)

เสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือทิสเดลชักชวนให้เราพิจารณาแง่มุมของความตายของคนอื่นด้วยความเข้าอกเข้าใจและไม่ด่วนตัดสิน เธอให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์มากมายว่าเราควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไรหากต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้คนที่กำลังมุ่งหน้าสู่ความตายโดยตระหนักรู้ตัว

หลักใหญ่ใจความของคำแนะนำเหล่านี้คือหลักการง่ายๆ แต่ต้องอาศัยการฝึกฝน ‘จงเคารพผู้อื่น’

“การตายถือเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างยิ่ง อย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ จนเกินไป เคารพความเป็นส่วนตัวของอีกฝ่ายด้วย…เวลาที่คนเราป่วยจนไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ต้องถอดเสื้อผ้าต่อหน้าหมอและพยาบาล ต้องถูกเข็มเจาะ สอดท่อ และเข้าเครื่องสแกน เขาอาจจะรู้สึกอยากเก็บตัวมากกว่าปกติหากมีโอกาสทำได้ พอผู้ป่วยทราบว่าอาการป่วยส่งผลกระทบต่อกิริยาอาการอันเหมาะสม และโรคภัยไข้เจ็บจะคอยย่ำยีทีละน้อยจนเปิดเปลือยทุกอณูของร่างกาย เขาอาจจะไม่อยากบอกผลตรวจล่าสุดกับคุณ ไม่ยอมให้คุณพาไปห้องน้ำ หรือไม่ยอมตอบคำถามอีกแม้แต่ข้อเดียว” (93)

ทิสเดลมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่เราควรทำเมื่อเผชิญหน้ากับความตายของผู้อื่น คือตระหนักเสมอว่ามี ‘ผู้อื่น’ ที่มีชีวิตจิตใจอยู่ตรงนั้น ตระหนักว่าคนตรงหน้าเรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิตที่กระทบไปจนถึงแก่นรากของตัวตนที่ไม่ได้มั่นคงอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ “ขอให้เตรียมใจรับอารมณ์ฉุนเฉียว…เตรียมใจเห็นอีกฝ่ายเปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ…พวกเขากำลังพยายามรับมือกับสิ่งที่ต้องเผชิญ และคุณก็ควรจะทำด้วยเช่นกัน” (94)

อีกด้านหนึ่ง ความตายจึงเป็นสิ่งประหลาดเพราะในขณะที่มันเป็น ‘เรื่องส่วนตัว’ อย่างถึงที่สุด มันกลับไม่ใช่เพียง ‘เรื่องของเรา’ เท่านั้น เช่นเดียวกับชีวิต ความตายของเราอยู่ในมือเราแค่ส่วนเดียว

ทิสเดลเล่าให้ฟังว่านอกจากการตายที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ไม่ทันตั้งตัว หรือที่หลายคนมักเรียกว่า ‘ก่อนวัยอันควร’ หลายต่อหลายครั้งอุปสรรคต่อความตายที่ดีในกรณีของผู้ป่วยที่รู้ตัวและมีเวลานับถอยหลังสู่วาระสุดท้ายคือ “การที่ผู้ตายไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการพยาบาลที่ดีจากผู้ดูแลที่มีประสบการณ์” (121)

เธอให้ข้อมูลว่าชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 40 ได้ใช้บริการสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแค่สามวันก่อนเสียชีวิต สถานดูแลประเภทนี้ยังมักไม่ได้ให้บริการอื่นใดนอกเหนือไปจากการจ่ายยาบรรเทาอาการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่ล้วนมาพร้อมกับโรคเรื้อรังและรุนแรงอื่นๆ อีกมาก ยังไม่นับว่า “ผู้ป่วย 1 ใน 5 คนที่เข้ารับการรักษาได้รับแจ้งให้ออกจากศูนย์ ก่อน เสียชีวิตและมักจะทราบล่วงหน้าแค่สองวัน ศูนย์ที่มีประวัติการกระทำลักษณะนี้มากที่สุดคือศูนย์ที่มีกำไรสูงสุด” (121-122)

ขณะเดียวกัน การเลือกให้ส่งพยาบาลไปดูแลผู้ป่วยที่บ้านก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกำลังคนซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ ไม่นับว่าบ้านอาจไม่ใช่สถานที่ตายที่ดีนักสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย เพราะความทรุดโทรมถึงขีดสุดของร่างกายและจิตใจมักเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งบาดหมางระหว่างผู้ป่วยกับคนในครอบครัวหรือระหว่างคนในครอบครัวด้วยกันเอง (124-125)

ทางออกสู่ความตายที่ดีจึงอาจเป็นโรงพยาบาล ‘ที่ดี’ เพราะ

‘เมื่อคุณอยู่ในโรงพยาบาลที่ดี ยาแก้ปวดของคุณจะมาตรงเวลา และพยาบาลที่นำยามาให้นั้นอ่านสัญญาณของความตายออก เธอรู้ว่าต้องเจออะไรบ้าง รวมทั้งรู้ว่าอะไรที่แก้ไขได้และไม่ได้ ในโรงพยาบาลดีๆ มืออันแข็งแรงจะช่วยทำความสะอาดให้คุณเมื่อคุณลุกไปห้องน้ำเองไม่ไหว และจะไม่มีใครชักสีหน้าหรือพูดจาแสลงหูในห้วงขณะที่คุณกำลังจะหลุดพ้นจากวังวนบนโลกมนุษย์…พยาบาลจะพิถีพิถัน ไม่รีบเร่ง พวกเขาจะเข้ามาเงียบๆ และชำระร่างกายให้อย่างเบามือ หวีผม เก็บกวาด แล้วกลับออกไปอย่างเงียบเชียบอีกครั้ง’ (131)

แต่เราจะเข้าถึงสถานที่ในฝันแห่งนี้ได้อย่างไร ถ้า ‘ดี’ เป็นเรื่องของคุณภาพที่แปรผันตรงกับราคา ไม่ใช่สวัสดิการพื้นฐานจากการใช้งบประมาณของรัฐอย่างคุ้มค่า ก็คงมีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเข้าถึงบริการเช่นนั้นได้

ลองนึกภาพในวันที่ตัวคุณแก่ชรา คุณเห็นตัวเองอยู่ในโรงพยาบาลที่ ‘ดี’ หรือเปล่า

ความตายยังซับซ้อนไปอีกระดับเพราะผู้ที่กำลังเผชิญความตายมากมายมักมีบ่วงที่ยังรอสะสาง บางคนอาจครุ่นคิดถึงภาระที่ตัวเองทิ้งไว้ให้คนข้างหลังและพยายามฮึดเฮือกสุดท้ายเพื่อกลับไปมีชีวิตที่อาจไม่ได้น่าใช้เท่าใดนัก แต่ถึงอย่างนั้นร่างกายที่ต่อสู้จนสุดแรงก็ไม่อาจทำอะไรได้มากไปกว่าเปลี่ยนภาระในใจให้กลายเป็นคำสั่งเสียสุดท้ายของชีวิต คำสั่งเสียที่อาจไม่เคยถูกเอ่ยออกไป

บุคลากรทางการแพทย์ในสหรัฐฯ คนหนึ่งเพิ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ถึงเหตุการณ์สะเทือนใจที่สุดจากสถานการณ์ของโรคระบาด เขาเล่าว่าผู้ป่วยโควิด-19 รายหนึ่งพึมพำก่อนต้องสวมเครื่องช่วยหายใจและสิ้นใจในที่สุดว่า “ใครจะเป็นคนจ่ายค่ารักษาต่างๆ ให้ผม” ความกังวลสุดท้ายของชายคนนั้นคือความกังวลทางการเงิน

การจ้องมองความตายอย่างซื่อตรงจริงๆ จึงเป็นมากกว่าการแค่ยอมรับไปอย่างนั้นว่าท้ายที่สุดเราทุกคนก็ต้องตายหรือเราทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้าความตาย

แต่คือการตระหนักด้วยว่าในขณะที่ความตายเป็นเรื่องส่วนตัวที่สุด กระบวนการของการตายกลับไม่เคยเป็นเรื่องของเราล้วนๆ ทุกวันนี้ความตายที่ดีในความหมายว่าเป็นการตายอย่างมีศักดิ์ศรีและได้รับการดูแลโดยผู้คนที่เข้าอกเข้าใจไม่ใช่ประสบการณ์ที่หาได้ทั่วไป ทว่ามักต้องซื้อหาและมีราคาแพง ไม่นับว่าความตายที่ไม่ดียังมักติดสอยห้อยตายมาด้วยปัญหาคาราคาซังที่อาจสืบทอดต่อไปยังผู้ที่มีชีวิตอยู่

น่าเศร้าที่ความตายที่ดีมักอยู่เกินเอื้อมสำหรับผู้คนที่ยังไม่มีกระทั่งโอกาสจะมี ‘ชีวิตที่ดี’ โดยแทบไม่เกี่ยวเลยว่าพวกเขาเผชิญหน้ากับความตายอย่างไร

ความตายที่มากับโรคระบาดเช่นในครั้งนี้ยิ่งเป็นภาระหนักอกขึ้นไปอีก เพราะนอกจากความตายที่มาไวไปไวจะฉุดกระชากผู้คนจากชีวิตที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวตาย ภาพที่เราเห็นยังเป็นขบวนรถที่เคลื่อนศพจำนวนมากไปฝังหรือเผายังที่ใดที่หนึ่งโดยที่คนรักไม่มีโอกาสได้อำลา ธรรมเนียมดั้งเดิมของหลายวัฒนธรรม เช่น คำสั่งเสียของผู้ตายว่าอยากให้จัดการศพของตนอย่างไร หรือการได้พิจารณาศพในฐานะ ‘ศูนย์กลางของแรงดึงดูดแห่งเรื่องราว’ ชิ้นสุดท้ายของผู้ที่เคยมีชีวิตไม่มีความสำคัญอีกแล้วในสถานการณ์นี้ ทุกอย่างจำเป็นต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด (183)

ผมสงสัยว่าจะมีอะไรเจ็บปวดไปกว่าสิ่งเหล่านี้อีก ความตายที่เห็นอยู่ต่อหน้า แต่ไม่มีโอกาสได้ร่ำลากัน

ความตายจึงเป็นบทเรียนที่ท้าทายสำหรับผู้กำลังตายและผู้เฝ้ามองเสมอ การจ้องมองความตายอย่างซื่อตรงเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการมองเห็นชีวิตและเลือดเนื้อของผู้ที่จากไปและผู้คนที่เขาหรือเธอผูกสัมพันธ์ด้วย

สำหรับผู้กำลังจะจากไปและผู้สูญเสียคนอันเป็นที่รัก ความตายเป็นทั้งเครื่องยืนยันถึงความเปราะบางของชีวิตและเป็นเงื่อนไขให้ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งเช่นความรักเกิดขึ้นได้ ความรักมีความหมายก็เพราะเราไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดไป

ทิสเดลสรุปโดยอ้างถึงวลียอดนิยมบนป้ายหลุมฝังศพในศตวรรษที่ 19 ว่า “การรักสิ่งที่ความตายแตะต้องได้นั้นช่างน่ากลัว”

แต่กระนั้น “หลังจากได้พบพานความตายแล้วสักครั้ง ก็ไม่มีอะไรให้กลัวอีกต่อไป และสุดท้ายเราก็สูญเสียสิ่งที่เราต้องการรักษาไว้มากที่สุด จากนั้นก็ไม่มีอะไรให้สูญเสียไปมากกว่านั้นแล้ว…เมื่อเราครุ่นคำนึงถึงคนที่เราสูญเสียไป หัวใจของเราก็จะเป็นอิสระจากความลังเลและไม่แข็งขืนต่อสิ่งใดอีกเลย ความโศกเศร้าเป็นโอกาสให้เราแสดงความรักต่อผู้อื่นโดยไม่สงวนท่าที ความโศกเศร้าคือลมหายใจที่คงอยู่หลังลมหายใจสุดท้าย” (243)

สำหรับเราทั่วไปที่อยู่ท่ามกลางบรรยากาศของความตายครั้งใหญ่ที่พรากชีวิตของคนมากมายไปพร้อมๆ กัน การสบตากับความตายอย่างซื่อตรงที่สุดอาจหมายถึง การยับยั้งตัวเองไม่ให้มองความตายเป็นเพียงตัวเลขสถิติรายวันที่เราอาจเผลอดีใจเมื่อตัวเลขเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป

ควรตระหนักไว้ด้วยเสมอว่าทุกตัวเลขที่ปรากฏคือประสบการณ์จริง เป็นความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจริง ความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นจริง ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นจริง ชีวิตเป็นแบบนี้และสักวันมันจะเกิดขึ้นกับเรา เราอาจโชคดีหรือโชคร้ายกว่านี้ แต่มันจะเกิดขึ้นกับเรา

ในทุกๆ ความตายจึงประกอบด้วยชีวิต ทั้งชีวิตที่ต้องเผชิญกับความตายด้วยตัวเองและชีวิตที่ต้องอยู่ต่อไปหลังสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

น่าจะมีทางนี้ทางเดียวที่ช่วยให้เราใจเย็นพอจะไม่ด่วนสรุปไปว่าความตายของผู้คนนับแสนเป็นเพียงเรื่องดีๆ ที่ทำให้ ‘แผ่นดินได้พัก’ ไม่หัวใจมืดบอดจนเสียงเดียวที่ได้ยินคือ “เสียงกรีดร้องบนเตียง…พึมพำว่าเขาเบื่อ” และไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งจนพูดออกมาหน้าตาเฉยว่าน้ำตาของผู้สูญเสียไร้ค่าเมื่อเทียบกับ “น้ำตาแห่งความยินดีจากสวรรค์”

หากความตายครั้งใหญ่นี้จะให้บทเรียนอะไรสักอย่าง สิ่งนั้นย่อมต้องไม่ใช่เรื่องโรแมนติกตื้นเขินประเภทโรคระบาดกวาดล้าง ‘มนุษย์’ เพื่อให้สัตว์ป่าและธรรมชาติได้พักผ่อน เพราะหากใครเชื่อด้วยสัตย์จริงว่าความตายของมนุษย์ทุกคนล้วนเป็นสิ่งที่ดีต่อธรรมชาติ ก็น่าสงสัยเหลือเกินว่าทำไมจนถึงตอนนี้ตัวเขาเองจึงยังมีชีวิตอยู่

หากความตายจะให้บทเรียนอะไรสักอย่าง บทเรียนที่ว่าน่าจะมาจากการคิดใคร่ครวญทบทวนชีวิตของเราและคนอื่นอย่างจริงจังที่สุด เราไม่จำเป็นต้องเศร้าโศกกับทุกการสูญเสียโดยเฉพาะที่อยู่ห่างไกลออกไป แต่เหมือนที่จูเลียน แบกกินี นักปรัชญาชาวอังกฤษเคยกล่าวไว้ เงื่อนไขพื้นฐานที่สุดของการเป็นคนดีมีศีลธรรมอาจไม่ใช่การเชื่อในพระเจ้าหรือการนับถือศาสนา แต่เป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ในตัว นั่นคือการพยายามเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

ผมคิดว่านี่เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะกวาดตาให้กว้างถึงความทุกข์นานาที่ผู้คนต้องเผชิญ ความทุกข์ทั้งที่เกิดกับผู้ที่กำลังจากไป ผู้ที่จำใจต้องจ้องมองความตายของคนอันเป็นที่รัก และผู้ที่ต้องทุกข์ทรมานกับการมีชีวิตอยู่

หากความตายจะให้บทเรียนอะไรสักอย่าง ผมคิดว่าสิ่งนั้นคือการที่เราจำเป็นต้องยอมรับอย่างกล้าหาญด้วยว่า แม้ในบั้นปลายทุกคนต่างต้องเผชิญกับ ‘การตาย’ เหมือนๆ กัน แต่ความเท่าเทียมกันต่อหน้ากระบวนการของ ‘ความตาย’ กลับสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับความเท่าเทียมหรือไม่เท่าเทียมกันระหว่างที่เรามีชีวิต.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save