fbpx

บทเรียนจากการถล่มเลนินกราดถึงสมรภูมิเคียฟ

หลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองหลวงเก่าของรัสเซีย และเป็นบ้านเกิดของวลาดีมีร์ วลาดีมีโรวิช ปูติน ประธานาธิบดีผู้ปกครองประเทศมายาวนานร่วม 20 ปี

นครแห่งนี้สร้างโดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช เป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ ค.ศ. 1713-1918 ต่อมาภายหลังจากการปฎิวัติรัสเซียในปี 1917 พรรคบอลเชวิคย้ายเมืองหลวงไปที่กรุงมอสโก และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเลนินกราด เพื่อรำลึกถึงนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ผู้สามารถโค่นล้มพระเจ้าซาร์ลงได้สำเร็จ ก่อนจะเปลี่ยนกลับมาเป็นชื่อเดิมเมื่อไม่นานมานี้

ช่วงเวลาที่ผมไปรัสเซียคือปี 2017 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 100 ปี การปฏิวัติรัสเซีย ตอนนั้นมีการเฉลิมฉลองกันทั่วกรุง และมีนิทรรศการใหญ่ในแอร์มิทาช (Hermitage Museum) พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งที่มีงานศิลปะในความครอบครองเป็นจำนวนราว 3 ล้านชิ้น โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในพระราชวังฤดูหนาว (Winter Palace)

ในอดีต พระราชวังฤดูหนาวแห่งนี้คือพระราชวังหลวงของราชวงศ์โรมานอฟมายาวนานร่วม 200 ปี ระหว่างปี 1732-1917 พระราชวังแห่งนี้ถูกสร้างให้มีขนาดใหญ่มาก มีห้องมากกว่า 1,500 ห้อง เพื่อแสดงถึงอำนาจและความรุ่งโรจน์ของซาร์แห่งจักรวรรดิรัสเซีย

สถานที่แห่งนี้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการการปฏิวัติรัสเซียครบรอบ 100 ปี  เพราะสมัยที่เกิดการปฏิวัติ มวลชนจำนวนมากได้บุกมายึดวังแห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของระบอบกษัตริย์

หลังจากเมืองหลวงแห่งนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็นเลนินกราดได้ไม่กี่สิบปี สงครามโลกครั้งที่สองก็อุบัติขึ้น และเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1941 ฮิตเลอร์ก็สั่งกองทัพนาซีบุกรัสเซียอย่างสายฟ้าแลบด้วยกำลังทหารเกือบ 3 ล้านนาย เป็นกองกำลังผสมของกองทัพเยอรมันและพันธมิตรบางส่วน ได้แก่ กองทหารจากฟินแลนด์ อิตาลี และสเปน (ฟินแลนด์ขณะนั้นเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี เพราะในปี 1939 เกิดสงครามฟินแลนด์-รัสเซีย เมื่อฟินแลนด์ปฏิเสธไม่ยอมยกดินแดนบางส่วนให้รัสเซีย ผลของสงครามรัสเซียชนะ ยึดเอาหลายพื้นที่ของฟินแลนด์ไปครอง พอเยอรมนีบุกรัสเซีย ฟินแลนด์จึงเข้าร่วมโจมตีรัสเซีย)

การบุกครั้งนั้นถือเป็นการปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ฮิตเลอร์แบ่งกองทัพเป็น 3 ทาง คือเส้นทางเหนือ ซึ่งมีเป้าหมายคือเลนินกราด เส้นทางกลาง ซึ่งมีเป้าหมายคือยึดมอสโก และเส้นทางใต้คือบุกยูเครน ซึ่งมีเป้าหมายคือยึดเมืองเคียฟ

แม้จะทราบดีว่า หลังจากการบุกถล่มรัสเซียหลายปี สุดท้ายเยอรมนีไม่สามารถเอาชนะได้ ต้องล่าถอยกลับไปพร้อมความสูญเสียทางทหารมหาศาล และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

แต่เหตุการณ์การล้อมปราบและปิดล้อมกรุงเลนินกราดของกองทัพนาซี ได้กลายเป็นโศกนาฎกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ

ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม Siege of Leningrad เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการบุกโจมตีกรุงเลนินกราดโดยกองทัพนาซี

ที่นี่เป็นที่จัดแสดงเรื่องราวการต่อสู้ของชาวเลนินกราดที่ต่อสู้กับกองทัพเยอรมันอย่างเด็ดเดี่ยว มีภาพถ่ายที่เล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ อย่างละเอียด เห็นชีวิตของคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาสู้กับผู้รุกราน จำลองชีวิตผู้คนยามสงคราม และจัดแสดงสิ่งของ เครื่องใช้ประจำวัน ไปจนถึงอุปกรณ์ อาวุธยุทโธปกรณ์ และเครื่องแบบทหารที่ยังหลงเหลืออยู่

เวลานั้นเลนินกราดมีคนอาศัยอยู่ 3 ล้านกว่าคน โดยถือเป็นเมืองท่าและฐานทัพเรือสำคัญของรัสเซีย ทั้งยังเป็นเขตอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และเป็นที่ตั้งของโรงงานอาวุธจำนวนมาก

มีรายงานว่าเป้าหมายอันสูงสุดของฮิตเลอร์คือการเผาทำลายเลนินกราดให้ราบ และมีการส่งคำสั่งไปแนวหน้าว่า หลังจากกองทัพนาซีโอบล้อมเมืองและทำลายล้างด้วยแรงระเบิด ไม่ต้องมีการเจรจาสงบศึกใดๆ หรือเปิดโอกาสให้พลเรือนอพยพออกมา แต่ให้ทำลายเมืองให้พินาศ และลบล้างเลนินกราดให้หายไปจากพื้นโลก

กองทัพเยอรมันหลายแสนนายพากันปิดล้อมกรุงเลนินกราด ท่ามกลางการต่อสู้อย่างทรหดของทหารรัสเซีย เยอรมนีได้วางแผนปิดล้อมเมือง ตัดขาดชาวเมืองจากการสื่อสารและเสบียงอาหารจากโลกภายนอก เพื่อจะทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันได้คำนวณว่า ภายในไม่กี่สัปดาห์ ชาวเมืองนับล้านคนจะเริ่มอดตาย

ดูเหมือนฮิตเลอร์ตั้งใจจะกวาดล้างเผ่าพันธุ์ของชาวสลาฟให้หมดสิ้นไปจริงๆ ด้วยความเกลียดชังชาวสลาฟ อันไม่ต่างจากชาวยิว

22 กันยายน 1941 ฮิตเลอร์ประกาศว่า “….เราไม่ได้ประโยชน์ในการรักษาชีวิตของประชากรพลเรือน” และ “เลนินกราดจะต้องตายด้วยความอดอยาก”

ช่วงเวลาที่เยอรมนีปิดล้อมในระหว่าง 8 กันยายน 1941 – 27 มกราคม 1944 รวม 872 วัน ด้วยการปิดถนน ปิดทางรถไฟทุกเส้นทางที่มุ่งสู่เลนินกราด และยิงปืนถล่มเมือง ตอนนั้นถือเป็นช่วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดของชาวเมือง

ภาพเก่าที่จัดแสดง แสดงให้เห็นถึงชาวเมืองเลนินกราดที่ต่างระดมกำลังออกมาปกป้องเมืองอย่างเต็มที่ ภาพชาวเมืองร่วมแรงร่วมใจกันสร้างป้อมปืนจากไม้และคอนกรีต สร้างรั้วลวดหนาม สนามเพลาะ คูน้ำป้องกันรถถัง ท่ามกลางการยิงถล่มจากฝ่ายเยอรมนีด้วยปืนใหญ่และเครื่องบินที่บินมาทิ้งระเบิดแบบปูพรมแทบทุกวัน

สภาสามัญของฝ่ายปกครองเลนินกราดได้จัดตั้ง ‘กลุ่มตอบโต้แรก’ ของพลเรือน ประชากรจำนวนกว่าล้านคนถูกระดมเพื่อสร้างป้อมปราการ แนวป้องกันหลายแนวถูกสร้างขึ้นตามปริมณฑลของเมืองเพื่อขับไล่กองทัพข้าศึกที่เข้ามาใกล้จากทางเหนือและทางใต้ด้วยวิธีต่อต้านของพลเรือน

ผู้เขียนสะดุดตากับเรื่องราวของเหล่านักแม่นปืนอาสาสมัครอันถือเป็นอาวุธลับในการทำลายขวัญของศัตรู โดยบรรดานักแม่นปืนพลเรือนนับพันคนได้เข้าสู่แนวหน้า พร้อมปืนไรเฟิลและกล้องเล็ง โดยเฉลี่ยนักแม่นปืนหนึ่งคนฆ่าทหารเยอรมันได้ 10-50 คน

นิทรรศการอีกด้านหนึ่งก็แสดงถึงความอดอยากในเมืองเลนินกราด มีการบันทึกว่า ผลพวงของความอดอยากทำให้ชาวเมืองได้รับปันส่วนอาหารเป็นก้อนขนมปัง 125 กรัมต่อวัน โดยส่วนผสมครึ่งหนึ่งคือขี้เลื่อยและสิ่งที่กินไม่ได้ ชาวเมืองต้องเอากระเป๋า เข็มขัด รองเท้าหนังมาต้มกิน มีไดอารีของเด็กชายวัย 10 ขวบบันทึกการกินเนื้อแมวด้วยความหิวโหย ในขณะที่แต่ละเดือนมีคนอดตายนับแสนคน ภาพรถบรรทุกนำศพหลายพันมาทิ้งลงหลุมขนาดใหญ่

เมื่อเข้าหน้าหนาว จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจากความหนาวยะเยือก การขาดแคลนเชื้อเพลิงอย่างรุนแรง ทุกแห่งหนประชาชนต้องเผาหนังสือ เฟอร์นิเจอร์ พื้นไม้ โต๊ะ เก้าอี้ ผิงไฟป้องกันความหนาวตาย

และพอฤดูใบไม้ผลิมาถึง อากาศอบอุ่นขึ้น น้ำแข็งเริ่มละลาย ชาวเมืองต้องมีภาระช่วยกันฝังศพคนที่หนาวแข็งตาย ก่อนที่ศพจะเน่าเปื่อย จนเกิดโรคระบาด ประมาณว่าหน้าหนาวมีคนหนาวตายประมาณสองแสนคน

ภายในพิพิธภัณฑ์ มีรูปถ่ายแสดงชีวิตของเด็กระหว่างการปิดล้อม ประมาณว่ามีเด็กร่วม 400,000 คนที่ติดอยู่ในกรุง ช่วงแรก ๆ ของสงคราม โรงเรียนยังเปิดทำการสอนอยู่ แต่เมื่อถูกทิ้งระเบิด โดยไม่สนใจว่าเป็นโรงเรียนหรือโรงพยาบาล การเรียนการสอนจึงยุติลง โรงเรียนต้องเปลี่ยนเป็นสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าที่พ่อแม่ตายไป โดยทุกวันอาสาสมัครจากกาชาดจะไปสำรวจตามตึกที่โดนถล่มหรือถูกทิ้งร้างว่ามีเด็กมีชีวิตรอดหรือไม่ หากรอด ก็จะนำกลับไปดูแล โดยตอนนั้นมีตัวเลขเด็กกำพร้าสูงนับหมื่นคน

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงไดอารีของ Tanya Savicheva เด็กหญิงวัย 11 ปี ที่เล่าเรื่องความอดอยากและคนใกล้ชิดที่ค่อย ๆ ตาย เธอเขียนไว้ว่า “พี่สาว คุณยาย พี่ชาย คุณลุง ลุง คนอื่นๆ และแม่ ตายแล้ว ทุกคนตายหมดแล้ว เหลือแต่ Tanya ไว้เพียงคนเดียว”  ต่อมาเธอเสียชีวิตด้วยโรคขาดอาหารอย่างรุนแรง

แต่อีกด้าน นิทรรศการยังถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของศิลปิน นักแสดง จิตรกร นักแต่งเพลง นักดนตรี นักเขียน ที่ยังทำงานตลอดเวลา เพื่อสร้างความบันเทิง ความหวังให้กับชาวเมืองมีชีวิตชีวา แม้ท่ามกลางสงคราม ในโรงละครยังมีการแสดงบัลเลต์ หรือการแสดงของวงออร์เคสตราเป็นประจำ เพื่อให้รู้สึกว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป เสียงเพลงที่แว่วออกมาด้านนอกปลุกใจให้ผู้คนร่วมใจกันต่อสู้กับศัตรูต่อไป

ตลอดการปิดล้อมเกือบ 900 วัน มีเครื่องบินทิ้งระเบิดมากกว่า 100,000 เที่ยว การระดมยิงด้วยปืนใหญ่นับล้านลูก แต่สุดท้าย จากความทรหดของชาวเลนินกราดทั้งมวลที่ร่วมกันต่อสู้ยิบตา กองทัพเยอรมันก็ไม่สามารถยึดครองกรุงเลนินกราดได้ จำต้องล่าถอยออกไปในที่สุด

ผู้คนอดตายและเสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดในช่วงปิดล้อมร่วม 900 วัน ประมาณ 1,500,000 คน การทำลายทางเศรษฐกิจและความสูญเสียมนุษย์ในเลนินกราด มีมากกว่าการบุกสตาลินกราดและมอสโก เพราะฮิตเลอร์ตั้งใจจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวสลาฟให้หมดสิ้น

ขณะที่ผู้เขียนกำลังเดินชมนิทรรศการ มีเด็กนักศึกษาหนุ่มสาวชาวรัสเซียกลุ่มหนึ่ง มาดูนิทรรศการ โดยมีอาจารย์ท่านหนึ่งกำลังบรรยายเรื่องราวโศกนาฎกรรมและความโหดร้ายของสงครามที่เกิดขึ้นกับชาวเลนินกราดในอดีต

80 ปีผ่านไป ชะตากรรมเดียวกันกำลังเกิดขึ้นกับชาวยูเครน ที่ถูกปิดล้อมและถูกยิงถล่มอย่างหนักในหลายเมือง ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล อาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ด้วยน้ำมือกองทัพรัสเซีย ไม่ต่างจากชาวรัสเซียโดนทหารเยอรมันถล่มและปิดล้อมกรุงเลนินกราด

ประวัติศาสตร์สอนเราเสมอว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save