fbpx
อิทธิฤทธิ์ของชีวิตคน : สมิงสำแดง

อิทธิฤทธิ์ของชีวิตคน : สมิงสำแดง

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

‘สมิงสำแดง’ หรือ Lelaki Harimau เป็นวรรณกรรมอินโดนีเซีย ที่เขียนโดยนักเขียนผู้มีฝีมือโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคสมัยคือ เอกา กุรณียาวัน (1975-ปัจจุบัน) Lelaki Harimau ตีพิมพ์เป็นภาษาอินโดนีเซียครั้งแรกเมื่อปี 2004 เวลาผ่านไปเกือบสิบปี กว่าผลงานเรื่องนี้จะได้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในปี 2015 (ใช้ชื่อว่า Man Tiger)

นับแต่นั้นชื่อของ เอกา กุรณียาวัน ก็ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง ผลงานได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 20 ภาษา (มีอีกเล่มที่โดดเด่นในช่วงเวลาเดียวกันคือ Cantik Itu Luka หรือ Beauty Is a Wound) นวนิยายทั้งสองเล่มนี้ได้รับความชื่นชมและได้รับรางวัลระดับนานาชาติหลายรางวัล จนชื่อของเขาเป็นที่จับตามองในโลกวรรณกรรมร่วมสมัย

หนังสือเล่มนี้เปิดเรื่องด้วยความตายของอันวาร์ ซาดัต เฒ่าเศรษฐีตัณหากลับคนหนึ่งในหมู่บ้าน ข่าวกระจายไปอย่างรวดเร็วว่าเป็นฝีมือของ มาร์ฆีโอ เด็กหนุ่มนิสัยดีในหมู่บ้าน ชายผู้ไม่มีใครเชื่อว่าจะทำเรื่องแบบนี้ได้ สิ่งที่ยิ่งทำให้ผู้คนตกตะลึงคือสภาพศพของอันวาร์ ซาดัต นั้นชวนให้สยองพองขน ลำคอเกือบขาดจากกัน และยังมีเลือดพุ่งปุดๆ ออกจากลำคอแม้จะนอนแน่นิ่งไปแล้ว ทุกคนให้ความเห็นตรงกันว่า “นี่ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์”

ถัดจากนั้น ผู้เขียนฉายภาพอดีตย้อนกลับไปให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้าน ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ชวนสังเวชครั้งนี้ขึ้น ตัวละครในบทแรกๆ ดูกระจัดกระจาย ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน เด็กหนุ่มมาร์ฆีโอ ผู้เกลียดพ่อตัวเอง แต่ก็เป็นที่รักของเพื่อนฝูงและผู้ใหญ่คนอื่นในหมู่บ้าน เขามีฝีมือเรื่องการล่าหมูป่า ทั้งยังเป็นเด็กเอาการเอางาน ส่วนอันวาร์ ซาดัต เป็นชายแก่ที่ได้แต่งงานกับภรรยาผู้ร่ำรวย มีลูกสาวสวยถึงสามคน แต่ชะตาชีวิตของลูกสาวล้วนพลิกผัน และตกเป็นที่ติฉินนินทา ตัวเขาเองก็เป็นเสือผู้หญิง ใช้ชีวิตผ่านวันชื่นคืนสุขไปกับกามารมณ์และการใช้จ่ายเงิน แต่ถึงอย่างนั้น มาร์ฆีโอก็แทบไม่ได้มีเรื่องผิดข้องหมองใจอะไรกับอันวาร์ การฆ่าอย่างโหดเหี้ยมครั้งนี้จึงกลายเป็นปริศนาที่ไม่มีใครเข้าใจ

“มาร์ฆีโอกลับมาใช้ฟันงับตรงรอยฉีกขาดสีแดงเข้มและชุ่มโชกนั้น จุมพิตครั้งที่สองยิ่งเป็นการตอกย้ำความตายและเถลิงอำนาจเหนือความปรารถนาทั้งมวล งับติดขากรรไกรที่แข็งแรง ได้เศษเนื้อติดปากและคายทิ้งลงพื้น เขาทำซ้ำอีกครั้ง ซ้ำไปซ้ำมาอย่างไร้จังหวะจะโคน จนแผลฉีกขาดนั้นยิ่งลึกเหวอะหวะราวกับถูกกระตุ้นความรู้สึกหิวกระหายโดยไม่รู้จักอิ่มและความตะกรุมตะกรามอย่างมหาศาล แล้วทิ้งรอยเอาไว้เกลื่อนกลาดและฟองเลือดไหลออกทะลักลงพื้นดิน”

เนื้อความนี้ อธิบายความโหดร้ายของสิ่งที่มาร์ฆีโอทำ เมื่ออ่านถึงตรงนี้ เราคงเข้าใจแน่ชัดแล้วว่า มาร์ฆีโอ เด็กหนุ่มผู้อ่อนโยน อาจมีสัตว์ร้ายสิงอยู่ในตัวเขา ก่อนที่ผู้เขียนจะค่อยๆ พาเราเลาะเข้าไปในตัวมาร์ฆีโอ ความรู้สึกนึกคิด สิ่งที่เขาพบพาน และความลับที่ว่า เขาเคยสมสู่กับเสือที่ขาวบริสุทธิ์ดั่งความฝัน เป็นเสือที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ปู่สู่พ่อ และพ่อสู่ลูกชาย เขาได้ยินเรื่องเล่านี้มาตั้งแต่เด็ก และเฝ้ารอว่าวันใดเสือตัวนั้นจะมาให้เขาพานพบ

เขาลอบสังเกตพ่อว่ามีเสือเป็นของตัวเองหรือไม่ เพราะหากเสือยังเป็นของพ่อ ตัวเขาเองที่เป็นลูกชายต้องรอจนกว่าพ่อจะจากไป แต่กี่ปีต่อกี่ปี เขาก็ไม่เห็นว่าพ่อที่ไม่เอาไหนจะมีเสือเป็นของตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่งเสือขาวเพศเมียที่งดงามตัวนั้นก็มาคลอเคลียเขาในยามเช้า หลังจากวันนั้นมาร์ฆีโอก็ไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป

แต่ถึงแม้ว่าเราจะรู้ปูมหลังของมาร์ฆีโอ แต่เหตุผลที่เขาฆ่าอันวาร์ก็ยังไม่แน่ชัด เรื่องค่อยๆ ขยับเล่าไปด้วยตัวละครทีละตัว ผ่านน้องสาวของมาร์ฆีโอ (มาเมะฮ์) ผ่านแม่ของมาร์ฆีโอ (นูราเอนี) และพ่อของมาร์ฆีโอ (กอมาร์ บิน ซูเอิบ) เมื่อนั้นจิ๊กซอว์ของเรื่องจึงค่อยๆ ประกอบร่างขึ้นมาให้เห็น

สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นในงานเขียนของ เอกา กุรณียาวัน คือการเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงปรกติธรรมดา เป็นผู้สังเกตการณ์ที่ละเอียด ไม่ตัดสิน และไม่เอาตัวเองเข้าไปในเรื่อง ตลอดเรื่องเราจึงไม่เห็นน้ำเสียงของผู้เขียนเลย หากแต่เห็นภาพชีวิตของคนในหมู่บ้านเล็กๆ ในอินโดนีเซียได้อย่างกระจ่างชัด มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ผ่านเรื่องเล่าในทุกประโยคจนทำให้เรื่องข้นหนืด ถึงเนื้อถึงหนัง นับเป็นการปรนเปรอผู้อ่านได้อย่างอัจฉริยะ

เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ จะพบว่าเราห่างไกลจากเหตุการณ์ฆาตกรรมไปเรื่อยๆ แต่เห็นตัวละครในมิติที่ลึกขึ้น ไล่ย้อนไปตั้งแต่สมัยที่พ่อกับแม่ของมาร์ฆีโอยังเป็นหนุ่มสาว ในสังคมชายเป็นใหญ่และเคร่งครัดนี้ ส่งผลต่อชะตาชีวิตของคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ จากจุดเล็กๆ นำพามาสู่เรื่องร้ายแรง สืบทอดต่อมาจนถึงยุคของมาร์ฆีโอ

ชั่วชีวิตของมาร์ฆีโอ เขาเห็นกอมาร์ทุบตีนูราเอนีจนฟกช้ำดำเขียวเป็นประจำ ตอนนั้นเขายังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าขัดขวาง บางครั้งตัวเขาเองก็มักจะโดนหางเลขไปด้วยเสมอ เขาได้แต่ยืนพิงประตูกับมาเมะฮ์ที่เอาแต่ยืนกัดชายเสื้อ ขณะที่นูราเอนีคุดคู้อยู่ตรงมุมบ้านและกอมาร์ยืนค้ำอยู่ข้างหน้าเธอ มือกำไม้หวายทุบเบาะ กอมาร์มักมีข้ออ้างทำร้ายเธอได้อยู่เสมอ”

ชีวิตที่ยากจนข้นแค้น ในครอบครัวที่เต็มไปด้วยความรุนแรงทำให้มาร์ฆีโอกลายเป็นเด็กพูดน้อย ไม่ชอบอยู่บ้านและเกลียดพ่อตัวเองเข้าไส้

“ทุกครั้งในที่มืดสลัว มาเมะฮ์สามารถเห็นแววตาที่ยิ่งเปล่งประกายและยิ่งเป็นสีเหลืองเพลิง เธอยังคงจำได้ว่ามาร์ฆีโออยากจะฆ่ากอมาร์ และความต้องการนั้นทวีคูณขึ้นแม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดออกมา นัยน์ตาของเขาส่องประกายจ้า ทุกครั้งที่เหลือบมองราวกับโดนทิ่มแทงและมาเมะฮ์คิดว่าบางทีสายตาคู่นั้นอาจจะฆ่ากอมาร์ บิน ซูเอิบได้ … มาร์ฆีโอผู้อ่อนโยนกำลังปะทะกับมาร์ฆีโอตัวร้าย”

ส่วน มาเมะฮ์ น้องสาวของมาร์ฆีโอก็กลายเป็นเด็กไม่มีปากเสียง ทนเห็นพ่อทำร้ายแม่ และต้องดูแลพ่อที่ตัวเองดูแคลนจนวันสุดท้ายของชีวิต

ชะตากรรมของตัวละครแต่ละตัวล้วนน่าเศร้า ผู้เขียนฉายภาพบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ความพยายามที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน สังคมชายเป็นใหญ่ที่ทำร้ายทุกคนแม้แต่ตัวของผู้ชายเอง ในปกของหนังสือมีคำแนะนำหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า “สมิงสำแดงคือผลงานวรรณกรรมที่เปี่ยมไปด้วยความสดใหม่ของ เอกา กุรณียาวัน นักเขียนหนุ่มชาวอินโดนีเซียที่สานต่อวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ของละตินอเมริกาให้ลงลึกถึงเนื้อโคลนสาบควายในแบบเฉพาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

สิ่งที่ยากของการเล่าเรื่องแบบ Family Saga คือการหยิบเอาเรื่องราวธรรมดาของผู้คนมาฉายให้เห็นรายละเอียด จนผู้อ่านมองเห็นมิติที่ซับซ้อนของความเป็นมนุษย์ และสะท้อนให้เห็นว่าการสาวไปถึงรากของตระกูลนั้น ทำให้เห็นว่าเพราะอะไรเราจึงทำแบบนี้ เราจึงมีชะตากรรมแบบนี้ และมนุษย์ล้วนโยงใยกับครอบครัวอย่างแยกไม่ออก วรรณกรรมอินโดนีเซียเล่มนี้มีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมของไทย ทั้งความเชื่อของคนในชุมชน วิถีการเชื่อฟังพ่อแม่ การเคารพผู้ใหญ่ เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวิถีทางของเด็กหนุ่มและเด็กสาวที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สมิงสำแดง เป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่ทั้งอ่านสนุก เต็มไปด้วยรายละเอียดที่น่าตื่นตา ผ่านภาษาที่งดงามด้วยวิธีการเล่าเรื่องชั้นครู ที่ควรค่าแก่การอ่านสักครั้งในชีวิต

สมิงดำแดง
‘สมิงสำแดง’ (Lelaki Harimau) เอกา กุรณียาวัน เขียน / เพ็ญศรี พานิช แปล / จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ไลต์เฮ้าส์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save