fbpx
กัญชาสนทนา กับ 'เล็กฮิป' พันธุ์หมาบ้า

กัญชาสนทนา กับ ‘เล็กฮิป’ พันธุ์หมาบ้า

ภูริช วรรธโนรมณ์ เรื่องและภาพ

 

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1960 ‘ฮิปปี้’ หรือ ‘บุปผาชน’ กลุ่มวัฒนธรรมที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของหมู่คนหนุ่มสาวก็เผยแพร่ความนิยมไปทั่วทุกมุมโลก ด้วยแนวคิดใช้ชีวิตอย่างอิสระ บูชาเสรีภาพ ไม่ยึดติดวัตถุนิยม มาพร้อมกับรูปลักษณ์ภายนอกที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด รักดนตรี ชอบเดินทาง และนิยมสมุนไพรกัญชา

สำหรับในไทย เรื่องราวชีวิตวัยแสวงหาได้รับการจารึกลงบนแผ่นกระดาษ ผ่านปลายปากกาของนักคิดนักเขียนมากมาย และนวนิยายเรื่อง พันธุ์หมาบ้า ของ ชาติ กอบจิตติ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ก็เป็นอีกหนึ่งวรรณกรรมคัมภีร์ของวัยหนุ่มสาวที่ข้ามกาลเวลาเสมอ

หนึ่งในอรรถรสของ พันธุ์หมาบ้า หนีไม่พ้นความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อน โดยเฉพาะตัวละครอย่าง ‘เล็กฮิป’ ที่สะท้อนภาพบุปผาชนอย่างถึงแก่น จนถูกอกถูกใจคนอ่านมหาศาล และอีกไม่น้อยที่โหยหาให้ยุคสมัยแห่งสีสันนั้นวนกลับมาใหม่

เพื่อให้เห็นร่วมกันว่าอดีตฮิปปี้มองชีวิตในยุค 5G อย่างไร โดยเฉพาะทัศนะเกี่ยวกับกัญชาที่วันดีคืนดีก็ได้รับพิสูจน์ว่าเป็นยารักษาโรค

ภูริช วรรธโนรมณ์ สนทนากับ เปี๊ยก-วิสูจน์ ศรีสัจจะลักษณ์ วัย 66 ปี มิตรสหายที่ชาติ กอบจิตติ นำมาสร้างเป็นตัวละครนาม ‘เล็กฮิป’ ผู้มีลักษณะลุ่มหลงและเคลิบเคลิ้มไปกับมนต์เสน่ห์แห่งกัญชามาทั้งชีวิต

เมื่อบทสนทาพูดถึงวัยแสวงหาและกัญชาแล้ว ก็หนีไม่พ้นต้องแตะไปที่การเมืองสักหน่อยให้พอหอมปากหอมคอด้วย

เปี๊ยก-วิสูจน์ ศรีสัจจะลักษณ์

ชีวิตวัยหนุ่มของคุณเป็นอย่างไร

เรื่องพวกนี้มันเริ่มต้นเมื่อตอนผมเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง สมัยนั้นเราก็เป็นนักเรียนศิลปะ เน้นสนุกลูกเดียว ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้มาเจอเพื่อนอีกหลายๆ คน รวมถึง ชาติ กอบจิตติ ที่เรียนรุ่นเดียวกันด้วย

ถามว่าตอนนั้นเราตั้งเป็นก๊วนไหมมันก็ไม่เชิงหรอก เรียนหนังสือนี่แหละ แล้วมันก็อยู่รวมๆ กันจึงได้เจอคนที่แปลกๆ ชาติแม่งก็แปลก ไอ้คนนั้นก็แปลก ไอ้คนนี้ก็แปลก คือทุกคนมันพยายามสร้างความแปลกใหม่ ซึ่งเอาเข้าจริงศิลปะก็คือการหลีกหนีความจำเจ ถ้าเราทำอะไรตามคนอื่นเขา เราก็จะไม่เกิด ในเมื่อเราเรียนศิลปะ เราต้องฉีก อะไรที่มันแหวกแนว อะไรที่เขาไม่เคยเห็น นั่นล่ะก็คือศิลปะ

อะไรคือวันวานที่น่าจดจำในรั้วเพาะช่าง

เราเรียนสาขาภาพพิมพ์ ซึ่งมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง คือมันเรียนด้วยตัวเองไม่ได้ มันต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือ และไม่ใช่ว่าจะหาได้ง่ายนัก พวกเครื่องพิมพ์สมัยก่อน นักเรียนอย่างพวกเราไม่มีเงินซื้อ ขนาดสมัยนี้คนในวงการศิลปะเองก็ยังมีน้อยเลย ช่วงเรียนตอนนั้นก็มีทำนิทรรศการ หรือทำพวกสูจิบัตร เราก็เป็นหนี้โรงพิมพ์เพราะไม่มีเงิน พอต้องหาสตางค์ไปใช้หนี้เขา ทำให้เราเริ่มดูว่าคนอื่นเขาหาเงินกันยังไง

สมัยก่อนคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาจะดังมากในเรื่องของการขายหนังพากษ์เอง อย่างตอนนั้นที่ดังๆ ก็จะมีหนังจีเเรื่อง เดชไอ้ด้วน พวกเด็กศิลปากรเขาก็เอามาพากย์ใหม่แล้วก็เอามาวางขาย เราก็ไปเห็นจากพวกนั้นมา ก็คิดว่ามันแปลกดี ก็เริ่มหาอะไรทำกันเพื่อหาเงิน จัดละครบ้าง จัดหนังบ้าง มีดนตรีโฟล์คซอง แล้วเก็บค่าดู 5-6 บาท ทยอยใช้หนี้โรงพิมพ์เขาไป ตอนนั้น ชาติ กอบจิตติ เป็นคนเขียนบทละครให้ ซึ่งเขาชอบเขียนอยู่แล้ว ใครมีฝีมือทางด้านไหนก็ทำด้านนั้น จริงๆ ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าใครจะทำอะไรต่อไปดี ใช้ชีวิตเสเพลเฮฮาไปวันๆ

ช่วงวัยหนุ่ม เพื่อนถือเป็นปัจจัยสำคัญในชี้นำความคิดและการดำเนินชีวิต ?

ใช่ แต่บางที่เพื่อนก็ไม่ได้กำหนดทุกอย่างเสมอไปหรอก เราก็เลือกที่จะคบกับใคร หรือจะอยู่กับกลุ่มไหนได้ จะไปในทางเหี้ยๆ รึเปล่า หรืออยากจะไปอยู่แบบธรรมดาๆ เราก็เลือกได้ เพราะเพื่อนมันก็มีหมดทุกแบบ ทั้งติดผง ซึ่งถ้ามึงติดผงกูก็อยู่ไม่ได้แล้ว เพราะว่าเดี๋ยวกูอยู่ไปกูก็อาจจะติดผงตามมึง คือเราต้องพยายามหา ต้องรู้ตัวเราเองว่าต้องการอะไร และควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอะไร

ในรุ่นผมมีเรียนภาพพิมพ์อยู่ทั้งหมดประมาณ 40 กว่าคน และเด็กทุกคนจะต้องทำงานส่งอาจารย์ 1-2 ชิ้นในแต่ละสัปดาห์ มันก็ทำงานกันไม่ทัน ก็ต้องแบ่งกันเรียน 2 รอบ ไอ้คนเรียนรอบกลางวันส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเรียน แต่สำหรับเด็กเกเรอย่างพวกเรา ก็จะมาขออาจารย์เรียนกันรอบกลางคืน มันก็เลยเกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพราะเรียนรอบดึกมันต้องนอนโรงเรียน ก็เลยสนิทกันไปเอง

ตอนเรียนเพาะช่าง รู้สึกแปลกแยกจากนักเรียนศิลปะคนอื่นๆ หรือเปล่า

เราใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ แล้วก็เลียนแบบจากรุ่นพี่บ้าง จำได้ว่าช่วงตอนเรียนมันมีหนังวู้ดสต๊อก (Woodstock) เราก็ไปดู อะไรที่มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับฮิปปี้เราก็ซื้อมา จริงๆ เราก็ใช้ชีวิตแปลกกว่าพวกนักเรียนธรรมดาอยู่แล้ว ยิ่งสำหรับนักเรียนสายศิลปะ ทุกที่จะมีความเป็นเอกลักษณ์ พวกนักเรียนศิลปากรก็แบบนึง เด็กเพาะช่างก็แบบนึง

ในยุคของคุณ ชีวิตแบบบุปผาชนเป็นอย่างไร

คำว่าบุปผาชนถ้าจำไม่ผิด คนที่นิยามคนแรกน่าจะเป็น ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ช่วงยุค 60 ปลายๆ ที่สหรัฐอเมริกามีคนประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่าพวกฮิปปี้ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่หนีออกจากบ้านไปทำตัวแปลกๆ ไว้ผมยาว แต่งตัวรุงรัง เพื่อหลีกหนีสภาพสังคมอเมริกันทั่วไป ประเภทที่คนจบมหาวิทยาลัยมาแล้วต้องเข้าทำงาน พูดง่ายๆ คือหลีกหนีสังคมทุนนิยม

ผมคิดว่าเอาเข้าจริงๆ มันเป็นการเลียนแบบคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมนี่แหละ เพราะแนวคิดฮิปปี้มันต่อต้านวัตถุนิยม ในกลุ่มที่มารวมกันไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไรทั้งสิ้น ใช้อะไรร่วมกัน หาอะไรใหม่ๆ ร่วมกัน

ขณะที่ฮิปปี้ในต่างประเทศนั้นมีบทบาทในเรื่องการแสดงออกทางการเมือง แล้วฮิปปี้ในไทยล่ะ

มีอยู่แล้ว เช่น ตอน 14 ตุลาฯ ตอนนั้นผมไม่ได้เป็นตัวแนวหน้า แต่อยู่ในส่วนของแนวร่วมศิลปิน ผมไม่ได้เข้าป่านะ สำหรับพวกที่หนีเข้าป่านี่คือพวกที่มีชื่อเสียง พอเขาดังเขาก็โดนตามจับ ก็ต้องหนี ผมโนเนมก็ไม่โดนอะไร

และตอนนี้ผมไม่อยากร่วมอะไรทั้งนั้น บางทีบ้านเรามันไม่มีคนที่อยากจะเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวมจริงๆ ดูอย่างตอนนี้สิ ตั้งรัฐบาลกัน มันไม่คิดกันบ้างว่าเข้ามาเพื่อช่วยประชาชน มัวแต่คิดว่าอยากนั่งเป็นรัฐมนตรี

 

เปี๊ยก-วิสูจน์ ศรีสัจจะลักษณ์

‘เล็กฮิป’ ในพันธุ์หมาบ้า มีความเป็นคุณจริงๆ อยู่กี่เปอร์เซ็นต์

ชาติเขาชอบเขียนนวนิยายอยู่แล้ว แต่ พันธุ์หมาบ้า มันเป็นทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง เพื่อนที่ปรากฏตัวในหนังสือแต่ละคนก็เป็นเพื่อนที่ใช้ชีวิตกันด้วยความโลดโผน มีครบทุกรสชาติ ซึ่งชาติเขาก็จะใช้ลักษณะเด่นของเพื่อนมาเขียนเป็นตัวละคร โดยอาจจะมีการชูความเป็นเอกลักษณ์ของเพื่อนคนนั้น แล้วเพิ่มเติมเสริมแต่งให้ดูมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น อย่างเช่น ‘ทัย’ ภาพในหัวของชาติก็คือ อารักษ์ อาภากาศ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่นิสัยของอารักษ์ทั้งหมด บางอย่างก็เขียนเพิ่ม

หลายๆ ตัวละครอาจมีการแต่งเติมเรื่องราวบ้าง แต่สำหรับเล็กฮิป แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เป็นผมเลยก็ว่าได้ มันใกล้เคียงกับชีวิตของเรา อย่างอ๊อตโต้นี่ก็เหมือนกัน

จริงแค่ไหนที่มีคนบอกว่า เพื่อนๆ ในกลุ่มดื่มเหล้า แต่คุณกลับเลือกกัญชาแทน

จริงๆ ในกลุ่มเราก็สูบกัญชากันหมดทุกคนแหละ แต่เราจะสูบจัดกว่าคนอื่น เนื่องจากร่างกายเราจะมีปัญหาเวลาดื่มเหล้า คือเราดื่มได้ไม่เยอะ เพราะแพ้แอลกอฮอล์ ถ้าสมมติเพื่อนนั่งกินเหล้ากันถึงเที่ยงคืน เราก็จะหลับไปตั้งแต่หัวค่ำแล้ว ก็มาคิดว่าดูดกัญชาก็ได้วะกู (หัวเราะ)

เริ่มต้นเข้าแวดวงสายเขียวได้ยังไง

ผมรู้จักและพบเห็นกัญชามาตั้งแต่เล็กๆ เพราะก๋งของผมเป็นคนจีน เขามีโรงฝิ่น พอช่วงปี 2500 รัฐบาลเริ่มมีการจับฝิ่นกันเพราะมันผิดกฎหมาย โรงฝิ่นต่างก็ทยอยปิดกันไป คนก็เริ่มหันไปสูบกัญชาแทน ผมก็เห็นจากญาติพี่น้องในครอบครัวนี่แหละ ทั้งรุ่นน้า รุ่นพี่ เขาติดฝิ่นมาก่อนแล้วก็เริ่มหันมาสูบกัญชาแทน

ผมเริ่มตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น แต่ไม่ได้สูบเป็นเรื่องเป็นราว แค่ลองกันเฉยๆ อาทิตย์ละครั้ง นัดกับเพื่อนๆ มารวมตัวกัน ตอนนั้นมันหาง่าย แล้วการซื้อกัญชาในตอนนั้นต้องไปซื้อตามร้านสมุนไพรนะ พวกร้านหมอยาแบบต้มเป็นหม้อๆ สมัยนั้นเขาก็ไม่ได้เอามาใช้สูบกันมากเหมือนทุกวันนี้ เพราะเขาจะเอามาใช้ในการรักษามากกว่า เอาไปเข้าเครื่องยาไทยนี่เยอะมาก

ปัจจุบันยังใช้กัญชาอยู่ไหม

ใช้ แต่ส่วนใหญ่จะใช้เป็นน้ำมันมากกว่า เพราะช่วยในเรื่องการนอนหลับ แต่ก็ยังสูบเวลาสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเป็นครั้งคราว หรือเวลาเราทำงานศิลปะ ก็ต้องมีบ้าง มันทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ เพราะผมเขียนรูป บางครั้งต้องใช้เวลา กัญชามันก็ทำให้เรามีสมาธิจดจ่อกับงานมากขึ้น ในอีกแง่หนึ่งก็ใช้เพื่อเป็นการสร้างสมาธินี่แหละ แต่สำหรับพวกที่ขีดๆ เขียนๆ มันก็จะไหลไปเรื่อยแบบบทกวีร้อยแก้วร้อยกรอง

อะไรคือความแตกต่างระหว่างการสูบกับการใช้น้ำมัน

มันก็แตกต่างกันแค่รูปลักษณ์เท่านั้น หากเราสูบ ควันมันจะวิ่งเข้าไปยังปอด พอถึงปอดมันก็วิ่งไปสู่สมองของเรา เรามีสิทธิที่จะเมาได้ภายใน 2 วินาที บางคนสูบปุ๊บก็เมาเลย แต่ขณะที่น้ำมันกัญชามันจะหนืดกว่า ผมใช้ทาใต้ลิ้นแล้วมันก็เข้าซึมเข้าเส้นเลือดฝอยใต้ลิ้น ซึ่งก็จะซึมไปที่สมองเหมือนกัน เพียงแต่จะช้ากว่าการสูบ บางทีมันก็ลงไปในท้องด้วย เพราะมันก็เหมือนการกิน

เวลาเมากัญชา คุณเป็นอย่างไร

ส่วนตัวผมจะรู้สึกว่ามันผ่อนคลาย แต่ก็มีเพื่อนที่สูบแล้วเมาจนไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันเกิดจากกัญชาหรือมาจากสมองเขาเอง เพราะว่าสูบกัน 20 คนแต่มันเป็นอยู่คนเดียว ก็แล้วแต่คน ส่วนตัวผมไม่เคยเป็น ขนาดสมัยวัยรุ่นผมใช้หนักๆ ก็ไม่เคยเป็น มันจะมีแค่ช่วงแรกที่เรารู้สึกว่าดูดแล้วแม่งโคตรเมาเลย แต่พอพูดๆ ไปมันก็จะไม่เมา มันเหมือนร่างกายเราได้กินยา คือมันก็มีการต่อต้านและรับรู้ว่าเราโดนอย่างนี้มาแล้ว เราเป็นอย่างนี้มาแล้ว อยู่ที่เราจะรู้ลิมิตในการใช้ อยู่ที่ร่างกายของเราจะรับมันได้มากแค่ไหนมากกว่า จะลึกขนาดไหนเราต้องรู้ตัว

ในยุคสมัยคุณ ถูกดำเนินคดีง่ายไหม

ไม่ว่าสมัยไหนมันก็มีความเสี่ยงเท่ากันหมดแหละ อยู่ที่ว่าเราจะเกมหรือเปล่า จะโดนค้นหรือเปล่า จะโดนตรวจฉี่หรือเปล่า แค่นั้นเอง มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของกฎหมายเท่าไหร่ มันขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผมก็ไม่อยากจะพูด แต่ถามว่าผมกลัวไหม ผมไม่เคยกลัวนะ ผมใช้มาทั้งชีวิต จะไปกลัวทำไม แต่แค่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ใช้ข้างนอก เพราะใช้ในเรื่องของการนอนหลับเท่านั้น และใช้ในทางสันทนาการบ้างเวลารวมเพื่อนฝูงเก่าๆ

ว่ากันว่าเดี๋ยวนี้กัญชามีทั้งแบบ ‘ออแกนิค’ กับ ‘ทั่วไป’ มันแตกต่างกันมากไหม

สมัยก่อนมันมีแต่แบบออแกนิค เพราะว่ายังไม่มีปุ๋ยเคมี อย่าลืมสิว่าบางทีกัญชามันไม่ต้องปลูกด้วย ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติก็มี แต่พอระยะหลังเริ่มกลายเป็นเรื่องของธุรกิจและการค้า คนจึงหันมาปลูกเพื่อนำมาขาย ยิ่งคนมีความต้องการที่จะใช้เยอะ ก็ต้องเร่งการผลิต ผู้ปลูกก็ต้องหาปุ๋ยหายามาใส่ให้งอกงามตามอุปสงค์ของผู้ใช้ พูดกันตามตรง มันไม่น่าจะใส่แค่ปุ๋ยเคมี บางทีก็ฉีดยาฆ่าแมลงด้วย จริงๆ ไม่ต้องไปดูแลอะไรมากเพราะมันแข็งแรงอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีตัวอะไรมากิน

การรักษาด้วยกัญชามันมีมานานแล้วหรือยัง

มีมานานแล้ว แต่พวกอเมริกันมันบอกว่าไม่ดี เราก็ต้องบอกไม่ดี พอไม่ดีก็คือจบ คนที่เคยทำยามันก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพราะมันผิดกฎหมาย เขาก็เลือกไม่ทำดีกว่า แต่จริงๆ แล้วกัญชามันเป็นยา พอตอนนี้มีกระแสกลับมาอีกแล้ว ซึ่งอเมริกันมันรู้ก่อนเราอีกว่ากัญชานำมารักษาโรคได้

จริงๆ มันต้องย้อนกลับไปเมื่อสมัยสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพที่ประเทศไทย ตอนนั้นกัญชาไทยมันดังมาก เพราะบ้านเราของดี ฝรั่งเขาเรียกว่า Thai stick พวกอเมริกันนำไปสูบกัน แล้วมันจึงเป็นจุดเริ่มต้นในเรื่องความผิดทางกฎหมาย เพราะหลังๆ ทหารจีไอมันสูบจนไม่ยอมออกไปรบ วันๆ เมาแต่กัญชา แล้วเผลอๆ ช่วงนั้นพวกอเมริกันก็เอากัญชาจากบ้านเรากลับไปยังประเทศเขาเยอะ ทุกวันนี้มันอาจจะกลับมาขายให้กับเราอีกก็ได้ ใครจะไปรู้

พูดตามตรง ผมว่าเป็นเพราะอเมริกันมันบอกว่ากัญชาผิดนี่แหละ ที่ทำให้มันผิดกฎหมาย เพราะเราต้องเชื่อมัน เพราะประเทศมันใหญ่กว่าเรา มันก็มาบอกว่ากัญชาไม่ดีนะ คอมมิวนิสต์มันก็บอกไม่ดี เราก็ต้องเชื่อมัน

เปี๊ยก-วิสูจน์ ศรีสัจจะลักษณ์

คุณคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายการนำกัญชาเข้ามาสู่วงการแพทย์

ผมว่าโอเค แต่คงเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะว่ามันเป็นเรื่องธุรกิจเยอะเกินไป และถามกลับว่าเขาจะอนุญาตให้ปลูกได้จริงหรือเปล่า เหมือนกับตอนนี้ที่ทางการห้ามคนไทยผลิตน้ำมันกัญชาเอง แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับจะมีแผนไปนำเข้ามาจากเมืองนอก เพื่อเอามาขาย ซึ่งจะยิ่งแพงไปใหญ่ ทั้งที่เราสามารถผลิตเองได้ ถ้ามันเป็นยาจริง คนเชื่อถือว่ามันเป็นยา ก็ควรจะผลิตในเมืองไทย ไม่งั้นคนที่ต้องการก็ไม่มีกำลังซื้อ

ส่วนตัวคุณมองยังไง หากในอนาคตประเทศไทยจะมีการเปิดเสรีกัญชา

มันไม่มีทางเสรีได้ เพราะมันเป็นการผูกขาดการค้าไปแล้ว เหมือนกับบุหรี่ เหล้า ก็เป็นมานานแล้ว ดูสมัยก่อนสิ มีแค่เหล้าแม่โขง มีเบียร์อยู่เจ้าเดียว กว่ารายเล็กๆ เขาจะต่อสู้ขึ้นมาถึงทุกวันนี้ ต้องต่อสู้กับทุนผุกขาด บุหรี่เองก็ไม่มียี่ห้ออื่น ต้องมาจากโรงงานยาสูบเจ้าเดียว ทุกวันนี้ที่มันยังมีกั๊กกันอยู่ เพราะว่าถ้าเขาให้ประชาชนปุ๊ป รัฐก็ไม่ได้เงินจากประชาชน

ส่วนเรื่องค่านิยมความเชื่อต่างๆ ในสังคมไทย อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความคิดของคน สมมติว่ากลับบ้านไปวันนี้ พ่อแม่ด่าเรื่องสูบกัญชา วันต่อมารัฐบาลประกาศว่ากัญชาเป็นเรื่องถูกกฎหมาย สามารถใช้กันได้อย่างมีเสรีภาพ พ่อแม่เราก็อาจด่าเราอย่างเก่าก็ได้ ใครจะไปรู้ ความเชื่อคนมันเปลี่ยนกันไม่ได้ง่าย

แล้วคุณคิดอย่างไรกับสรรพคุณรักษาสุขภาพโดยกัญชา

ผมมองว่ามีส่วนช่วยในการรักษาโรคพาร์กินสัน ในวิดีโอคลิปของพวกหมอฝรั่งทำให้เห็นว่าคนที่มีอาการสั่น พอสูบเข้าไปมวนเดียว มันก็เข้าไปปรับสมองทำให้หายสั่นได้ แต่สำหรับเรื่องโรคมะเร็ง ผมยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่ากัญชาจะรักษาได้จริง เพียงแต่ว่าถ้าคุณกินไม่ได้นอนไม่หลับ มันก็ไม่ดี ถ้าคุณใช้กัญชาคุณสามารถกินได้นอนหลับ ก็ทำให้ร่างกายของเราได้รับสารอาหาร ได้รับการพักผ่อน สุขภาพของเราก็ต้องดีขึ้นอยู่แล้ว

มีคนบอกว่ากัญชาทำให้เลิกเหล้าเลิกบุหรี่ได้จริงไหม

ไม่จริงอ่ะ คนจะกินมันก็กิน คนจะสูบมันก็สูบ ไม่เกี่ยวกับใช้กัญชาแล้วจะเลิกสิ่งเหล่านั้นได้ เพื่อนผมมันก็ยังกินเหล้ายังสูบบุหรี่กันเหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับคนว่าจะเลือกใช้อะไรมากกว่า แต่ส่วนตัวผมมองว่าถ้าจะให้เลิกกัญชา น่าจะง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการเลิกเหล้าหรือบุหรี่ เพราะถึงจะติดแต่คุณสามารถเลิกได้ ถ้าคุณท้องเสียสักอาทิตย์นึง มันก็จบแล้ว ไม่อยากจะสูบแล้ว แต่ถ้าเป็นเหล้า เราติดแล้วมันจะลึกขนาดไหน ยิ่งบุหรี่นี่เลิกยากกว่ามาก

 

ตอนนี้เลยเวลาของวัยแสวงหาไปนานแล้ว เพื่อนยังคงมีความสำคัญต่อชีวิตคุณอยู่หรือเปล่า

สำคัญอยู่แล้ว เพราะเพื่อนมันไม่ได้เป็นกันง่ายๆ จะคบกันทีเราต้องรู้จักกันนานๆ ที่สำคัญคือพอเป็นเพื่อนกันแล้วมันเลิกกันไม่ได้หรอก จะเลวทรามต่ำช้าแค่ไหนก็ต้องเป็นเพื่อน บางคนมันไม่เหมือนกัน เขาเลวกับคนอื่นแต่ดีกับเรา แต่ต้องดูกับบริบทว่าเขามีความเลวในระดับไหน ถ้าเลวกับสังคมก็ไม่ไหว

ถ้าต้องเลือกระหว่างกัญชากับเพื่อน คุณจะเลือกอะไร

ผมเลือกไม่ได้ เพราะชีวิตผมขาดทั้งคู่ไม่ได้ (หัวเราะ) แต่ถ้าพูดกันเปิดอก ผมว่ากัญชามันเลิกได้อยู่แล้ว แต่สำหรับเพื่อนอย่างที่บอก ลองได้คบกันมันก็ไม่มีวันที่จะเลิกลา อย่างที่ชาติ กอบจิตติ เคยนิยามไว้ว่า “เพื่อนเป็นศาสนา” แค่นั้น

เปี๊ยก-วิสูจน์ ศรีสัจจะลักษณ์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save