fbpx
'Leh Ladakh' จากสมรภูมิสู่แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

‘Leh Ladakh’ จากสมรภูมิสู่แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่องและภาพ

ช่วงนี้คงมีคนไทยหลายคนแบกเป้ขึ้นเครื่องบินไปเที่ยวอินเดียกันเป็นจำนวนมาก และบางส่วนคงมีจุดหมายเป็นเมืองเลห์ แคว้นลาดักห์ ในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ เพราะช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมของทุกปี จัดเป็นฤดูกาลการท่องเที่ยวของเมือง ซึ่งจะรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกที่รักการผจญภัย ชอบดื่มด่ำความสวยงามของธรรมชาติ และชื่นชมอารยธรรมพุทธศาสนามหายาน

แต่อีกหนึ่งสิ่งซึ่งนักท่องเที่ยวหลายคนจะต้องพบเจอระหว่างท่องเที่ยวในแคว้นลาดักห์ คงหนีไม่พ้นค่ายทหารที่เรียงรายตลอดระยะการเดินทาง นักท่องเที่ยวหลายคนคงยังไม่ทราบว่าเลห์ ลาดักห์ ที่เราเห็นกันในวันนี้นั้น แลกมาด้วยเลือดเนื้อของทหารอินเดีย และต้องเผชิญสงครามสามฝ่ายระหว่างอินเดีย จีน และปากีสถานมาก่อน มันจึงเป็นคำถามใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้นในดินแดนลาดักห์ในอดีต และลาดักห์มาถึงจุดที่พัฒนาตัวเองสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกได้อย่างไร

พิพิธภัณฑ์สงครามในตัวเมืองเลห์

ประวัติศาสตร์ ดินแดน และความขัดแย้งบนแผ่นดินทิเบตน้อย

ในอดีตนั้นการไปมาหาสู่ ค้าขายระหว่างประเทศ ไม่ถูกจำกัดโดยแผนที่ หรือเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ ฉะนั้นการเคลื่อนผ่านทางวัฒนธรรม และการค้าจึงสามารถเคลื่อนไหวโดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ และหนึ่งในเส้นทางการค้าที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก คือเส้นทางสายไหมที่เชื่อมโยงการค้าระหว่างเอเชียและยุโรปนานหลายศตวรรษ

เส้นทางสายไหมประกอบไปด้วยสาขาย่อยมากมาย และหนึ่งในนั้นคือเส้นทางเชื่อมโยงการค้าระหว่างทิเบตตะวันออกและแคชเมียร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเส้นเชื่อมการค้าระหว่างอาณาจักรจีนและอินเดียด้วย ปัจจัยนี้ส่งเสริมให้เลห์ในอดีตเป็นชุมทางการค้าสำคัญระหว่างประเทศ และถูกปกครองโดยอาณาจักรทิเบต ก่อนจะสูญเสียอำนาจให้กับอาณาจักรมุสลิมจากแคชเมียร์ในปลายศตวรรษที่ 17

เมืองเลห์ได้ชื่อว่าเป็น ‘ทิเบตน้อยแห่งอินเดีย’ (The Little Tibet) เพราะอิทธิพลทางด้านศาสนา และภาษาจากทิเบตที่ยังคงหยั่งรากลึก หลายคนที่ได้ไปเยือนเลห์ คงได้ยินคำชินหูอย่าง ‘จูลเลย์’ (Julley) ซึ่งเป็นการทักทายตามสำเนียงแบบชาวเลห์ คำนี้มีรากศัพท์สำคัญมาจากคำทักทายในภาษาทิเบต อย่าง ‘ทาชิเดเลย์’ (bkra shis bde legs / Tashi Deleh) นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างสำคัญที่เมืองเลห์ได้รับสมญานามตามที่กล่าวมา

ยุคสมัยโบราณนั้นประกอบไปด้วยอาณาจักรเล็กน้อยมากมายภายใต้พื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งผู้ปกครองก็จะช่วงชิงอำนาจกันเพื่อเป็นใหญ่เหนือดินแดนดังกล่าว การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและศาสนาจึงทำได้ง่าย เมื่ออาณาจักรพุทธเริ่มเสื่อมอำนาจลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 และเสื่อมถึงขีดสุดเมื่ออาณาจักรทิเบตพ่ายแพ้สงครามต่อราชวงศ์ชิง ยิ่งส่งผลให้อำนาจทางฝั่งตะวันตกถอยลงเรื่อยๆ และยังผลให้อิทธิพลของอาณาจักรมุสลิมแผ่เข้ามาได้มากยิ่งขึ้น กระทั่งในยุคอาณานิคม อาณาจักรลาดักห์ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาราชาแห่งแคชเมียร์ ซึ่งลงนามเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียในวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1947

ถึงแม้ว่าลาดักห์จะมีความแตกต่างในเชิงชาติพันธุ์จากอินเดียและปากีสถาน แต่ก็ถูกผนวกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาชายแดนของทั้งสองประเทศบริเวณแคชเมียร์ด้วย และต่อมาเมื่อจีนสามารถยึดครองทิเบตได้สำเร็จ ก็อาศัยข้ออ้างทางประวัติศาสตร์ในการยึดครองลาดักห์ ในทศวรรษที่ 1960-1970 ลาดักห์จึงกลายเป็นสมรภูมิสำคัญระหว่าง 3 ประเทศ

แผนที่รัฐโบราณในเขตรัฐจัมมูและแคชห์เมียร์

สมรภูมิที่ยังไม่สิ้นสุด

ปัจจุบันนี้ทั้งอินเดีย ปากีสถาน และจีน ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรม ย้อนกลับไปในปี 1962 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญด้านความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-จีน เพราะกองกำลังทหารจีนได้บุกรุกเข้ามาเลยเส้น McMahon ตามสนธิสัญญาที่อังกฤษทำไว้กับอาณาจักรชิง โดยรัฐบาลจีนอาศัยข้ออ้างเรื่องทิเบตในการผนวกกลืนดินแดนลาดักห์ สงครามในครั้งนั้นส่งผลให้ปัจจุบันพื้นที่พิพาทเหนือลาดักห์ระหว่างอินเดียและจีนยังไม่สิ้นสุด เพราะรัฐบาลอินเดียยึดถือตามสนธิสัญญาของอังกฤษ ในขณะที่จีนถือตามเส้นการควบคุมที่แท้จริง (Line of Actual Control: LAC)

รัฐบาลอินเดียพ่ายแพ้ต่อกองกำลังทหารของจีน และต้องสูญเสียพื้นที่บริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของลาดักห์ไป เรียกว่า Aksai Chin  ซึ่งมีขนาดเทียบเท่าประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ความสำคัญของการผนวกกลืนพื้นที่ดังกล่าวของรัฐบาลจีนคือ Aksai Chin เป็นจุดเชื่อมสำคัญระหว่างเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกู กับเขตปกครองตนเองทิเบต ทั้งยังเป็นบ่อเกิดแม่น้ำสำคัญหลายสายของอินเดียและปากีสถานด้วย การครอบครองบริเวณนั้นได้ ช่วยให้จีนสามารถสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างสองเขตปกครองตนเอง และมีอำนาจต่อรองในประเด็นเรื่องน้ำได้

ในอีกด้านหนึ่ง พื้นที่ลาดักห์มีเขตติดต่อกับปากีสถานด้วย และยังเป็นปัญหากันไม่รู้จบ หากใครได้เดินทางไปเยือนหุบเขา Nubra และเลยต่อไปเที่ยวหมู่บ้าน Turtuk  หลายคนอาจไม่ทราบว่าบริเวณนั้นก็ผลัดกันเป็นของอินเดียและปากีสถานมาเหมือนกัน กล่าวคือมีความพร้อมที่จะมีสงครามกันอยู่เนืองๆ เพราะเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ อินเดียได้ส่งเครื่องบินไปถล่มฐานทัพกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายในเขตแดนปากีสถานมาแล้ว บอกได้คำเดียวว่าสองประเทศนี้ ถ้าพูดเรื่องสงครามระหว่างกัน ไม่เคยมีใครยอมใคร

ทางช้างเผือก ณ หมู่บ้าน Turtuk พรมแดนอินเดีย-ปากีสถาน

ฉะนั้นคงหายสงสัยกันแล้วว่า ทำไมระหว่างทางที่ท่องเที่ยวในลาดักห์ถึงพบเจอค่ายทหารเป็นระยะๆ แม้แต่สนามบินในเมืองเลห์เองก็เป็นฐานทัพอากาศของอินเดียมาก่อน ก่อนที่จะดำเนินการในเชิงพาณิชย์ นี่เป็นเพราะเขาพร้อมจะรบกันอยู่ตลอดเวลา กองทัพก็เลยต้องพร้อมเอามากๆ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเที่ยวลาดักห์แล้วเหมือนอยู่ในค่ายทหารตลอดเวลา ยังไม่นับรวมกองกำลังแบ่งแยกดินแดนจากแคชเมียร์ที่เคลื่อนไหวอยู่เนืองๆ ในพื้นที่เช่นเดียวกัน

ปัจจุบันทหารราบมากกว่า 7 แสนนายจากทั้งสิ้น 1.3 ล้านนาย อยู่ในรัฐจัมมูร์และแคชเมียร์ หากเทียบเป็นสัดส่วนก็คือมากกว่าร้อยละ 50 ของกองทัพอินเดีย อยู่ในเขตพื้นที่รัฐดังกล่าวซึ่งรวมถึงแคว้นลาดักห์ด้วย

การพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก และความหลากหลายที่เริ่มลงตัว

หากมองย้อนไปที่ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งเหนือดินแดนลาดักห์ หลายคนคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยความสูญเสียทั้งในเชิงชีวิตและทรัพย์สิน และต้องวนเวียนอยู่กับปัญหาที่ไม่รู้จบ แต่ถ้าเรื่องมีเท่านี้ ก็คงไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะมาคุยกันเรื่องลาดักห์ เพราะทุกพื้นที่ความขัดแย้งต่างก็เผชิญปัญหาเช่นนี้เหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะมากหรือน้อย

รูปองค์ดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ณ งานเทศกาลประจำปีของวัด Diskit

แต่สำหรับลาดักห์ ความพิเศษที่น่าสนใจคือ แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนสำคัญของสังคมอินเดียที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรมและประเพณี เพราะนอกจากประชากรส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทิเบตแล้ว มากกว่าร้อยละ 44 ของประชากรยังนับถือพุทธมหายานอีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากประชากรกลุ่มหลักของประเทศที่นับถือศาสนาฮินดู

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลอินเดียมีความพยายามในการดึงจุดแข็งเพื่ออุดจุดบอดของพื้นที่ นั่นคือความสวยงามของวัดวาอารามซึ่งสร้างตามขนบทิเบตตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น วัด Alchi , วัด Sankar , วิหาร Likir , วิหาร Spituk , วิหาร Thiksey , วิหาร Lamayuru , พระราชวัง Leh เป็นต้น ในขณะที่สภาพภูมิประเทศของแคว้นลาดักห์ที่วางตัวอยู่ตามแนวเทือกเขาหิมาลัย ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติกลายเป็นอีกจุดสนใจของเหล่านักผจญภัย ไม่ว่าจะเป็น หุบเขา Nubra  หมู่บ้าน Turtuk  ทะเลสาบ Pangong จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำสินธุและซันสการ์ เป็นต้น นำมาซึ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี 1974 แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ไม่สูงมากนัก

ในเวลาต่อมา ลาดักห์กลายเป็นจุดสนใจอย่างมากของคนอินเดียก่อนจะแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงชาวไทย ผ่านภาพยนตร์เรื่อง ‘3 Idiots’ ที่ออกฉายในปี 2009 ซึ่งได้ซุปเปอร์สตาร์อย่าง Aamir Khan มารับบทนำ และโลเคชั่นสำคัญของเรื่องก็คือทะเลสาบ Pangong ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของลาดักห์ในสายตาคนอินเดีย นำมาซึ่งการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ แม้ว่าบริเวณดังกล่าวจะยังคงเผชิญปัญหาด้านความไม่สงบอยู่ก็ตาม

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง 3 Idiots ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเลห์ ลาดักห์ ไปตลอดกาล
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง 3 Idiots ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเลห์ ลาดักห์ ไปตลอดกาล | ภาพจากเว็บไซต์ imdb.com

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ จากในช่วงปี 2008 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนแคว้นลาดักห์เพียง 72,000 คน แต่เมื่อถึงปี 2011 ตัวเลขนักท่องเที่ยวปรับตัวเป็น 1.8 แสนคน ถือเป็นสัดส่วนตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และตัวเลขดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวไปเยือนลาดักห์สูงถึง 2.77 แสนคน ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่าร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาคของลาดักห์

ทุกวันนี้คนที่ไปเยือนเลห์ ลาดักห์ คงหลงลืมไปแล้วว่าพื้นที่ที่ตนเองกำลังเหยียบย้ำอยู่ทุกย่างก้าว คือระเบิดเวลาจากยุคสมัยอาณานิคมที่พร้อมจะกลายเป็นสมรภูมิรบอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าโลกจะมีแนวโน้มสงบสุขมากน้อยเพียงใด แต่นั่นไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าสงครามจะไม่มีทางเกิดขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใด ต้องยอมรับว่าความกล้าของรัฐบาลอินเดียในการเปิดพื้นที่ความมั่นคงของประเทศ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นก้าวย่างที่สำคัญซึ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆ ในพื้นที่ จนทำให้เลห์ ลาดักห์ กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องไปเยือนสักครั้งในชีวิต เพราะนอกจากจะได้เดินทางบนถนนที่สูงที่สุดในโลกแล้ว ยังได้ดื่มด่ำบรรยากาศที่ธรรมชาติรังสรรค์ให้โลกอีกด้วย

หวังว่าบทความชิ้นนี้จะไม่ได้สร้างความท้อใจให้เหล่าสาวกนักผจญภัยที่กำลังวางแผนจะไปเยือนเลห์ ลาดักห์ ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะผู้เขียนมองว่าการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของพื้นที่เพียงเล็กน้อย จะช่วยให้การเดินทางมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save