fbpx

‘ทำแท้งถูกกฎหมาย’ การขยับเพดานกฎหมายยุติการตั้งครรภ์จากโคลอมเบียถึงฝรั่งเศส

ในห้วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ประเด็นการทำแท้งถูกกฎหมายนับเป็นหนึ่งในวาระที่หลายประเทศกำลังผลักดัน ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกาเรื่อยมาจนถึงประเทศไทย ที่เมื่อต้นปีก่อน วุฒิสภามีมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการทำแท้ง ให้ผู้ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด ขณะที่หากมีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้โดยมีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด และในประเด็นเดียวกันนี้ที่สหรัฐฯ ก็ร้อนแรงจนคนออกมาเดินขบวนประท้วงกันครั้งใหญ่ เมื่อศาลสูงสหรัฐฯ อนุญาตให้รัฐเท็กซัสประกาศบังคับใช้กฎหมายห้ามทำแท้ง สร้างความไม่พอใจให้แก่หลายคนที่รู้สึกว่ารัฐไม่ควรมีสิทธิมาก้าวก่ายต่อการตัดสินใจในเนื้อตัว ร่างกายของตัวเอง

อย่างไรก็ดี ล่าสุด ประเด็นการทำแท้งถูกกฎหมาย กลายมาเป็นประเด็นระดับโลกอีกครั้ง เมื่อประเทศโคลอมเบียเพิ่งประกาศให้การยุติการตั้งครรภ์นั้นสามารถทำได้ภายในระยะเวลา 24 สัปดาห์ ตามหลังอาร์เจนตินาซึ่งประกาศการทำแท้งถูกกฎหมายไปเมื่อปี 2020 และเม็กซิโกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หากมองในภาพรวม นี่จึงเป็นมวลพลังการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับประเทศในแถบอเมริกาใต้

สำหรับโคลอมเบีย ประเด็นการทำแท้งนั้นกลายเป็นหัวข้อที่สุ่มเสี่ยงและล่อแหลมมานาน อันเนื่องมาจากประชากรส่วนใหญ่ในประเทศนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาธอลิก ซึ่งเชื่อกันว่าการทำแท้งคือการคร่าชีวิตมนุษย์อันเป็นเรื่องผิดต่อพระเจ้า โดยก่อนหน้านี้ การผลักเพดานเรื่องการทำแท้งนั้นมาสุดอยู่ที่ อนุญาตให้ทำแท้งได้ก็ต่อเมื่อ การตั้งครรภ์นั้นเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตของผู้เป็นแม่, ทารกในครรภ์เป็นอันตราย หรือเมื่อการตั้งครรภ์นั้นเป็นผลมาจากการโดนข่มขืน ร่วมรักในเครือญาติ เป็นต้น

ดังนั้น นี่จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นชัยชนะสำหรับคนที่อยากเห็นมนุษย์เป็นเจ้าของเรือนร่างตนเองอย่างแท้จริง มิใช่รัฐหรือศาสนา

ภายหลังการประกาศใช้กฎหมาย จึงมีผู้คนออกมาเดินขบวนเฉลิมฉลองกันครั้งใหญ่ คาตาลินา มาร์ติเนซ โกรัล ผู้อำนวยการศูนย์เรียกร้องสิทธิในการตั้งครรภ์แถลงว่า “วันนี้ เป็นวันที่ผู้หญิงในประเทศนี้ได้รับชัยชนะในที่สุด นี่เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของลาตินอเมริกาและคาบสมุทรคาริบเบียนด้วย” ขณะเดียวกัน เอริกา เกบารา-โฆซาส ผู้อำนวยการจากองค์การนิรโทษกรรมสากล อเมริกา ประกาศในแถลงการณ์ว่า “เราต่างออกมาเฉลิมฉลองต่อชัยชนะในการพิจารณาคดีอันเป็นประวัติการณ์ของการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในโคลอมเบีย ซึ่งร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองกันมานานหลายทศวรรษ ผู้หญิง เด็กสาวและคนที่ตั้งครรภ์คือคนเดียวที่ควรเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเหนือร่างกายตนเอง

“และเวลานี้ แทนที่จะลงโทษพวกเธอ ในที่สุดรัฐโคลอมเบียก็ยอมรับว่าสิทธิของเนื้อตัวและการวางแผนอนาคตชีวิตให้ตัวเองนั้น เป็นของประชาชนเสียที”

ขณะที่ โจนาธาน ซิลวา นักเคลื่อนไหวต่อต้านการทำแท้งถูกกฎหมายกล่าวว่า เขาออกจะ ‘คาดไม่ถึง’ กับการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ของโคลอมเบีย “เราไม่เข้าใจเลยว่าเรื่องนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง” เขาบอก “แต่เราตั้งใจว่าจะประท้วงกฎหมายนี้ต่อไป พร้อมกับเรียกร้องให้สภาคองเกรสส์ออกมาพิจารณาควบคุมกฎหมายทำแท้งนี้ใหม่อีกหน”

ในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ อีกประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านของกฎหมายการทำแท้งที่น่าสนใจคือฝรั่งเศส แม้ที่ผ่านมาการทำแท้งนั้นจะเป็นเรื่องถูกกฎหมายด้วยเงื่อนไขว่าให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ในกรณีที่อายุครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์ โดยล่าสุดขยับให้เป็น 14 สัปดาห์ตามคำเรียกร้องของหลายๆ คนที่ลงถนนประท้วงด้วยความรู้สึกว่า ระยะเวลา 12 สัปดาห์นั้นสั้นเกินกว่าที่หลายคนจะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อายุครรภ์เกินจนยุติโดยถูกกฎหมายไม่ได้แล้ว ทำให้หลายคนต้องออกเดินทางไปทำแท้งที่ประเทศใกล้เคียงที่ขยายระยะเวลานานกว่าฝรั่งเศส ไม่ว่าจะสเปนที่อนุญาตให้ทำแท้งได้หากอายุครรภ์ต่ำกว่า 14 สัปดาห์, เนเธอร์แลนด์กำหนดที่ 21 สัปดาห์ และอังกฤษซึ่งกำหนดไว้ที่ 24 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม การยื่นเรื่องยุติการตั้งครรภ์ภายใน 14 สัปดาห์ของฝรั่งเศสนั้นยืดเยื้อมานับปี หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ที่ดูปราศจากความกระตือรือร้นจะเดินเรื่องประเด็นนี้ จนร่างกฎหมายนี้เพิ่งผ่านเข้าสภาอย่างฉิวเฉียดก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ซึ่งหากช้ากว่านี้อีกไม่กี่วัน ก็เป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนผ่านกฎหมายอาจต้องล่าช้าไปอีกหลายเดือน กว่าจะเลือกตั้งหรือตั้งคณะรัฐมนตรีได้ใหม่

นอกจากนี้ ตัวมาครงยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูเมื่อครั้งที่เขาให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Elle ว่าไม่เห็นด้วยในการขยายเวลายุติการตั้งครรภ์จาก 12 มาเป็น 14 สัปดาห์ว่า จะยิ่ง “เพิ่มบาดแผลทางจิตใจ (traumatising)” ให้แก่ผู้หญิงที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ในเวลานั้น จนถูก ลอเรนซ์ รอสซิญอล อดีตรัฐมนตรีจากพรรคสังคมนิยมตอกกลับอย่างเผ็ดร้อนว่า มาครงยัง ‘ติดแหง็ก’ อยู่กับวิธีคิดที่เชื่อว่า การทำแท้งจะสร้างบาดแผลทางจิตใจให้แก่ผู้ตั้งครรภ์ “นับตั้งแต่ปี 1975 ที่การทำแท้งถูกกฎหมายในฝรั่งเศส ผู้หญิงก็ไม่ควรถูกทำให้รู้สึกผิด หรือเป็นความพลาดพลั่งของพวกเธอหากจะยุติการตั้งครรภ์ “ฉันเองก็ไปทำแท้งนะ และไม่เห็นรู้สึกว่าได้รับบาดแผลทางจิตใจอะไรเลย” เธอกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลายๆ ประเทศจะเริ่มขยับขยายเพดานการทำแท้งออกไปให้ไกลกว่าที่เคยเป็น แต่ก็มีอีกหลายประเทศและหลายรัฐที่การยุติการตั้งครรภ์นั้นยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่ เช่นเดียวกับรัฐเท็กซัสในสหรัฐฯ ที่เวลานี้มีผู้ประท้วงต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายห้ามทำแท้ง เพื่อบีบให้ศาลสูงสหรัฐฯ พิจารณาการบังคับใช้กฎหมายนี้อีกครั้ง ด้วยจุดยืนเดิมคือผู้ตั้งครรภ์เท่านั้นที่ควรมีสิทธิเหนือร่างกายตนเอง ไม่ใช่รัฐ รวมทั้งหลายประเทศในอเมริกาใต้ ได้แก่ เอล ซัลวาดอร์, สาธารณรัฐโดมินิกัน, นิการากัวและฮอนดูรัส ที่ยังประกาศให้การทำแท้งทุกกรณีผิดกฎหมาย (กรณีเอล ซัลวาดอร์ มีผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องโทษจำคุกเนื่องจากทำแท้งผิดกฎหมาย)

การเรียกร้องเรื่องการยุติการตั้งครรภ์จึงยังเป็นเรื่องที่อีกหลายประเทศและหลายรัฐทั่วโลกต้องขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งหากวัดจากระยะเวลา ก็ดูเป็นหนทางที่ยาวไกลและยาวนานเหลือเกินสำหรับการเรียกร้องในสิทธิอันพึงมีเหนือร่างกายตัวเอง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save