fbpx

ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์แห่งชาติเบื้องต้น: ถอดรื้อการเรียนกฎหมายแบบ ‘เนติบัณฑิตไทย’

ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมไทยจำนวนมากต่างตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทย เราได้พบเห็นการใช้กฎหมายที่ค้ำจุนให้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง การใช้บังคับกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างขยันขันแข็ง รวมถึงการเพิกเฉยไม่ใยดีต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จนนำมาสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ในข้อเขียนเรื่องรื้อการเรียนการสอนนิติศาสตร์ไทย เปลี่ยน ‘นักกฎหมายใบ้’ ให้เป็น ‘ผู้พิทักษ์สิทธิประชาชน’ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจว่าต้นเหตุของปัญหาดังกล่าวอยู่ที่ “ความพิกลพิการของ ‘ระบบการศึกษากฎหมาย’ ทั้งในทางวิชาการและการอบรมในทางวิชาชีพ ไม่ได้ทำให้นักกฎหมายรู้สึกว่าตนมีภารกิจต่อประชาชนในฐานะ ‘ผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’”และ “หากการปฏิรูปการเมืองและกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รวมการปฏิรูปกระบวนการผลิตนักกฎหมายอยู่ด้วย ไม่ว่าสังคมไทยจะปฏิรูปการเมืองและกฎหมายอีกสักครั้ง เราก็จะมีนักกฎหมายพันธุ์เดิมอีกหลายคนที่พร้อมจะเป็น ‘เนติบริกร’ หรือพร้อมที่จะนิ่งเฉยเพื่อให้เผด็จการฟื้นคืนชีพและสืบทอดอำนาจอย่างไม่มีวันจบสิ้น”

ปัญหาสำคัญของการศึกษานิติศาสตร์ที่ได้เสนอในงานเขียนดังกล่าวคือ การศึกษากฎหมายแบบแยกส่วน ซึ่งการศึกษาอบรมกฎหมายในระดับเนติบัณฑิตเป็นรากเหง้าของการศึกษาแบบแยกส่วนข้างต้น และทำให้นักกฎหมายกลายเป็น ‘ตู้ฎีกาเคลื่อนที่’ เป็นระบบการศึกษาที่ไม่ได้มุ่งเน้นสร้าง ‘นักกฎหมายหัวก้าวหน้า’ แต่เป็น ‘นักกฎหมายหัวสี่เหลี่ยมที่อยู่ในกรอบ’ มิใช่ นักกฎหมายเป็น ‘มนุษย์’ เป็น ‘บัณฑิต’ ที่มี ‘จิตวิญญาณของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย’

ความพยายามในการปรับเปลี่ยนหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตของคณะนิติศาสตร์ในหลายสถาบันไม่สามารถลดทอนหรือทำลายอิทธิพลของการศึกษาแบบ ‘เนติบัณฑิตไทย’ ที่เป็นการศึกษาแบบ Black-letter Law เน้นการตีความกฎหมายตามตัวอักษรและการวางตำแหน่งแห่งที่ของกฎหมายที่อยู่นอกเหนือการโต้แย้งหรือวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงเหตุผล ซึ่งเป็นการศึกษาที่ครอบงำการศึกษานิติศาสตร์ไทย เนื่องจากนักศึกษาโดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การสอบเป็นเนติบัณฑิต ยังมิพักต้องพูดถึงระบบการสอบคัดเลือกผู้พิพากษาหรืออัยการที่ผู้เรียนกฎหมายส่วนใหญ่มุ่งหวังที่จะไปสู่ตำแหน่งดังกล่าวนั้นส่งผลและมีอิทธิพลต่อการศึกษากฎหมายทั้งระบบอย่างไร น่าเสียดายที่ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์แห่งชาติเบื้องต้นนี้จำกัดขอบเขตเอาไว้เพียงการศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยและในระดับเนติบัณฑิตเท่านั้น

ข้อเสนอเบื้องต้นของการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์แห่งชาติจึงมุ่งเน้นที่การพยายามถอดรื้อการศึกษากฎหมายแบบ ‘เนติบัณฑิตไทย’ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ส่วนคือ

1) การสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษากฎหมายทั้งระบบ มีพื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกันขององค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตนักกฎหมายเพื่อกำหนดทิศทางการสร้างนักกฎหมายอย่างสอดประสานกัน แต่ในขณะเดียวกันองค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมก็จะต้องมีการจัดแบ่งหน้าที่ในการกระบวนการสร้างนักกฎหมาอย่างชัดเจน

2) กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของหลักสูตรระดับปริญญาตรี ที่ไม่มุ่งเน้นเรียนเฉพาะแต่กฎหมายสี่มุมเมืองเหมือนอย่างในอดีต แต่มีพื้นที่ให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนรายวิชากฎหมายที่หลากหลายมากขึ้น และสถาบันสามารถพัฒนารายวิชากฎหมายที่ทันสมัยตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงการพัฒนา soft skills ของนักกฎหมาย

3) ทำให้การศึกษาอบรมกฎหมายในระดับเนติบัณฑิตเป็นการศึกษาอบรมความรู้และทักษะในทางปฏิบัติ เพื่อทำให้นักกฎหมายมีความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะทางวิชาชีพกฎหมายเพียงพอที่จะปฏิบัติงานทางกฎหมายได้

‘สภานิติศึกษาแห่งชาติ

ข้อเสนอเบื้องต้นนี้ได้เสนอให้มีการจัดตั้ง ‘สภานิติศึกษาแห่งชาติ’ (Thailand Institute of Legal Education) เพื่อเป็นกลไกในการกำหนดนโยบายในการผลิตนักกฎหมาอย่างเป็นเอกภาพ โดยสภานิติศึกษาจะเป็นเวทีสำหรับตัวแทนของนักกฎหมายในทุกวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ทนายความ นักกฎหมายภาครัฐ นักกฎหมายภาคเอกชน นักวิชาการทางนิติศาสตร์ สภานิติศึกษาแห่งชาติจะเป็นองค์กรหลักที่กำหนดนโยบาย พัฒนา ควบคุมและกำกับการจัดการเรียนการสอนและการจัดอบรมในทางนิติศาสตร์ร่วมกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะและเป็นเอกภาพ

สภานิติศึกษาแห่งชาติจะประกอบด้วยคณะกรรมการ 2 ส่วน คือ

1) คณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติประกอบด้วยผู้แทนจากผู้พิพากษา อัยการ ตุลาการ ทนายความ กระทรวงยุติธรรม ผู้แทนคณบดีคณะนิติศาสตร์ทั้งจากมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ผู้แทนจากนักกฎหมายภาครัฐ และนักกฎหมายภาคเอกชน โดยมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการผลิตนักกฎหมายทั้งระบบ กำหนดมาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา และรับผิดชอบการศึกษาชั้นเนติบัณฑิต

2) คณะกรรมการสภาทนายความ ประกอบด้วยตัวแทนทนายความที่มาจากการเลือกของทนายความด้วยกันเอง มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลเรื่องการขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตให้เป็นทนายความ มรรยาทและจรรยาบรรณวิชาชีพทนายความ และการพัฒนาทนายความ

การจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยและสภานิติศึกษาแห่งชาติ

ข้อเสนอเบื้องต้นนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแบ่งบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนระหว่างสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษานิติศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษารับผิดชอบการศึกษาทางทฤษฎีหรือในทางวิชาการ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้พื้นฐานในทางทฤษฎี มีความสามารถโต้แย้งและให้เหตุผลในทางกฎหมาย และมีทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้และการปรับตัวในการใช้ชีวิตและการทำงาน ผ่านการพัฒนาทักษะทางสังคมหรือ soft skills ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา และเพื่อให้มหาวิทยาลัยได้เป็นแหล่งของการพัฒนาความรู้ในทางวิชาการกฎหมายได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้โดยการกำกับดูแลผ่านการกำหนดมาตรฐานหลักสูตรโดยสภานิติศึกษาแห่งชาติ

ในขณะที่สภานิติศึกษาแห่งชาติรับผิดชอบการฝึกและทดสอบในทางปฏิบัติ และการศึกษาอบรมกฎหมายในชั้นเนติบัณฑิต เพื่อให้การศึกษาในชั้นเนติบัณฑิตเป็นการศึกษาเพื่อฝึกทักษะในทางปฏิบัติ เป็นองค์กรในการอบรมในทางวิชาชีพอย่างแท้จริงสอดคล้องกับการเป็นเนติบัณฑิตที่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในทางทฤษฎีกฎหมายและทักษะในทางปฏิบัติวิชาชีพกฎหมายที่เพียงพอสามารถปฏิบัติงานกฎหมายได้

ข้อเสนอโครงสร้างหลักสูตรปริญญาตรี

หลักสูตรปริญญาตรีไม่ควรให้นักศึกษาต้องเรียนวิชาความรู้พื้นฐานที่นักศึกษาควรจะได้รับความรู้มาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้วในการศึกษาก่อนมหาวิทยาลัย จึงเสนอให้มีการเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปไม่เกิน 15 หน่วยกิต และวิชาที่เรียนก็ไม่ควรซ้ำซ้อนกับความรู้จากการเรียนในระดับพื้นฐานก่อนมหาวิทยาลัย แต่ควรจะเรียนรายวิชาที่สามารถบูรณาการหรือเชื่อมโยงกับการศึกษากฎหมายได้ เช่น สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ บัญชี หรือรายวิชาที่พัฒนา soft skills และกำหนดรายวิชาเลือกเสรีเอาไว้ที่ 6 หน่วยกิต

ในส่วนรายวิชาบังคับทางกฎหมาย ผู้ศึกษากฎหมายควรได้เรียนรู้เนื้อหากฎหมายพื้นฐานที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นสาขากฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายมหาชน หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าผู้ศึกษากฎหมายต้องการจะประกอบวิชาชีพใด จึงเสนอให้มีการเรียนในรายวิชาบังคับทางกฎหมายไม่เกิน 60 หน่วยกิต การกำหนดหน่วยกิตขั้นสูงเอาไว้ที่ 60 หน่วยกิตเท่านั้นก็เพื่อให้ผู้เรียนในระดับปริญญาตรีได้เรียนรู้กฎหมายพื้นฐานที่สำคัญจำเป็นสำหรับการจบการศึกษาไปเป็น ‘นักกฎหมาย’ เท่านั้น เนื้อหากฎหมายใดที่อาจจะมีความสำคัญสำหรับบางวิชาชีพทางกฎหมายแต่ไม่ได้เป็นพื้นฐานจำเป็นสำหรับการเป็นนักกฎหมายก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นวิชาบังคับ แต่สามารถกำหนดเป็นรายวิชาเลือกทางกฎหมายได้

ทั้งนี้ รายวิชาบังคับทางกฎหมายต้องครอบคลุมกลุ่มรายวิชาดังต่อไปนี้ คือ วิชาหลักทั่วไปแห่งกฎหมาย (ได้แก่ หลักการทั่วไปแห่งกฎหมาย ระบบกฎหมาย ประวัติศาสตร์ข้อความคิดและสถาบันทางกฎหมาย จริยธรรม/จรรยาบรรณวิชาชีพ การใช้การตีความกฎหมาย นิติปรัชญา) วิชากฎหมายแพ่ง (ได้แก่ บุคคล นิติกรรม หนี้ ทรัพย์สิน ละเมิด ครอบครัว มรดก) วิชากฎหมายอาญา (ได้แก่ กฎหมายอาญา ภาคทั่วไป ภาคความผิด อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา) วิชากฎหมายมหาชน (ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และวิธีพิจารณาคดีทางมหาชน) วิชากฎหมายพาณิชย์ (เอกเทศสัญญาที่สำคัญ เช่น ซื้อขาย เช่าทรัพย์ จ้างทำของ ตัวแทน หุ้นส่วนบริษัท) วิชากฎหมายวิธีสบัญญัติ (ได้แก่ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา พยานหลักฐาน วิชาข้อเท็จจริง) และวิชากฎหมายระหว่างประเทศ (ได้แก่ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง และแผนกคดีคดีบุคคล)

ในขณะที่รายวิชาเลือก เสนอให้ผู้เรียนได้เรียนไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต การกำหนดหน่วยกิตขั้นต่ำเอาไว้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้เรียนจะสามารถเลือกเรียนรายวิชาที่หลากหลายได้ และหากสถาบันใดมีความพร้อมก็สามารถกำหนดจำนวนหน่วยกิตรายวิชาเลือกให้มากกว่า 24 หน่วยกิตก็ได้ ส่วนสถาบันการศึกษาใดจะกำหนดรายวิชาเลือกอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของแต่ละสถาบัน โดยอาจกำหนดให้มีการฝึกงานด้วยก็ได้ การเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษากำหนดรายวิชาเลือกทางกฎหมายได้ค่อนข้างมากนี้ก็เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ และสถาบันการศึกษาสามารถพัฒนาองค์ความรู้กฎหมายที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้นั่นเอง

โครงสร้างหลักสูตรปริญญาตรีทางนิติศาสตร์นี้มีหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 105 ถือเป็นจำนวนหน่วยกิตที่ถือได้ว่าไม่มาก ซึ่งการกำหนดหน่วยกิตที่ไม่มากนักเพื่อให้ผู้เรียนมีเวลาที่จะเรียนรู้ชีวิตในด้านอื่นๆ และพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นจาการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย และเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมทั้งหลายที่เชื่อมโยงกับชุมชนและสังคมเพื่อพัฒนานักศึกษาให้เป็นนักกฎหมายที่ เป็น ‘มนุษย์’ เป็น ‘บัณฑิต’ ที่มี ‘จิตวิญญาณของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย’

การประเมินผลที่หลากหลายและสะท้อนการปรับใช้กฎหมายในชีวิตจริง

การศึกษานิติศาสตร์ตั้งแต่ในอดีตมาจะใช้วิธีการสอบแบบอัตนัย ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบอุทาหรณ์ ข้อสอบบรรยาย หรือข้อสอบกึ่งบรรยายกึ่งอุทาหรณ์ โดยมักจะใช้วิธีการสอบปลายภาคเพื่อวัดผลการศึกษาทั้งรายวิชา เพิ่งจะในระยะหลังที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนให้มีการสอบกลางภาคด้วย รวมถึงเริ่มมีการยอมรับให้มีการเก็บคะแนนนอกเหนือจากการสอบแบบอัตนัย

กาประเมินผลข้างต้นสามารถประเมินได้เฉพาะทักษะทางความรู้และทักษะทางปัญญาในการปรับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ไม่อาจประเมินทักษะทางด้านอื่นได้เลย และอาจไม่สามารถประเมินทักษะข้างต้นได้อย่างสอดคล้องกับการใช้กฎหมายในชีวิตจริง เพราะมีการประเมินผลอย่างแยกส่วนตามรายวิชา ในขณะที่การใช้กฎหมายในความเป็นจริงนั้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกฎหมายจำนวนมาก

ข้อเสนอเบื้องต้นนี้จึงเสนอให้ในการประเมินแต่ละรายวิชานั้นมีการประเมินที่หลากหลายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีการสอบอัตนัยแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมีการมอบหมายงาน การนำเสนอ การวิเคราะห์ประเด็นในทางกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อประเมินผลทักษะให้ครอบคลุมทุกด้าน และทำให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ด้วย

นอกจากนี้เพื่อให้ผู้เรียนเป็นนักกฎหมายที่สามารถปรับใช้กฎหมายได้อย่างสอดคล้องกับชีวิตจริง จึงเสนอให้มีการสอบ comprehensive เพื่อประมวลความรู้ของผู้เรียน ในการสอบแต่ละข้ออาจจะมีหลายประเด็นที่เชื่อมโยงกฎหมายหลายวิชา และมีประเด็นทั้งในเรื่องกฎหมายสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติด้วย โดยมีการสอบประมวลผลที่ครอบคลุมสาขากฎหมายพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายมหาชน ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาอาจจมีการจัดให้สอบประมวลความรู้ก่อนสำเร็จการศึกษา หรืออาจมีการสอบประมวลความรู้ระหว่างศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 2 หรือ 3 และก่อนสำเร็จการศึกษาด้วยก็ได้

การกำหนดให้มีการสอบประมวลความรู้ (comprehensive) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การประเมินผลสอดคล้องกับความเป็นจริงในการปรับใช้กฎหมายในชีวิตจริง และเพื่อไม่ให้มีการเรียนการสอนในลักษณะแยกส่วนเป็นรายวิชา

การศึกษาอบรมกฎหมายชั้นเนติบัณฑิตที่เป็นการอบรมทางวิชาชีพอย่างแท้จริง

หัวใจสำคัญของข้อเสนอเบื้องต้นตามที่ได้กล่าวไว้แล้วคือ การถอดรื้อการศึกษากฎหมายแบบเนติบัณฑิตไทย ระบบการศึกษาอบรมเนติบัณฑิตในปัจจุบันใช้ระบบการสอบออก (exit examination) กล่าวคือนิติศาสตรบัณฑิตที่จบจากหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากเนติบัณฑิตยสภาสามารถเข้าศึกษาอบรมในชั้นเนติบัณฑิตได้ทุกคน ส่วนที่ว่าจะสอบผ่านได้เป็นเนติบัณฑิตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าสอบผ่านตามเกณฑ์หรือไม่ ทำให้ในแต่ละปีมีผู้เข้าศึกษาอบรมเนติบัณฑิตกว่าสองหมื่นคน และมีผู้สอบผ่านได้เป็นเนติบัณฑิตประมาณ 1,500 – 2,000 คน ด้วยระบบการสอบออกและผู้เรียนที่มีจำนวนมากข้างต้น ทำให้การศึกษาอบรมในชั้นเนติบัณฑิตไม่สามารถทำหน้าที่ฝึกอบรมทักษะทางปฏิบัติในวิชาชีพกฎหมายได้ แต่กลับทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับมหาวิทยาลัยที่เน้นการศึกษาในทางทฤษฎีโดยอาศัยการบรรยายและใช้คำพิพากษาศาลฎีกาเป็นตัวอย่าง

ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอการปฏิรูปฯ จึงได้เสนอให้การศึกษาอบรมกฎหมายในชั้นเนติบัณฑิตอยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของสภานิติศึกษาแห่งชาติ และแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

1) การอบรมภาคทฤษฎี การอบรมในส่วนนี้จะเปิดโอกาสให้นิติศาสตรบัณฑิตทุกท่านที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่ผ่านมาตรฐานหลักสูตรที่สภานิติศึกษากำหนดสามารถเข้าอบรมได้ โดยจะมีการอบรมในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และจะไม่มีการอบรมแยกตามรายวิชาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่จะเป็นการสอนในเชิงบูรณาการกฎหมายที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนเชื่อมโยงเนื้อหากฎหมายได้ รวมทั้งการอบรมที่เน้นความรู้ในทางปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการอบรมในภาคปฏิบัติ และเมื่ออบรมเสร็จสิ้นแล้วจะต้องสอบวัดผลโดยการสอบข้อเขียน 4 ข้อ ประกอบด้วยข้อสอบกฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายอาญา และกฎหมายมหาชน และเป็นข้อสอบที่บูรณาการเนื้อหากฎหมายหลายวิชา ทั้งในส่วนสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติ

สำหรับผู้ที่สอบผ่านนั้นจะได้เข้ารับการอบรมภาคปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้สภานิติศึกษาแห่งชาติอาจจะกำหนดเกณฑ์และจำนวนผู้ที่สอบผ่านเอาไว้โดยคำนึงถึงทรัพยากรทั้งหลายที่มีของสภานิติศึกษาแห่งชาติว่า จะสามารถทำการฝึกปฏิบัติทางวิชาชีพได้ในจำนวนมากน้อยเพียงใด เช่น อาจจะกำหนดจำนวนผู้สอบผ่านไว้ที่จำนวน 1,500 คน เป็นต้น

2) การอบรมภาคปฏิบัติ การอบรมภาคปฏิบัตินี้จะจำกัดเฉพาะผู้ที่สอบผ่านการอบรมในภาคทฤษฎีเท่านั้น ซึ่งจะมีจำนวนจำกัดตามที่สภานิติศึกษาแห่งชาติกำหนด ทั้งนี้เพื่อให้สามารถฝึกอบรมทักษะในทางปฏิบัติวิชาชีพได้อย่างจริงจังและเข้มข้น

ผู้ที่เข้าอบรมภาคปฏิบัติจะต้องฝึกปฏิบัติตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความ โดยจะมีระยะเวลาฝึกอบรม 9 – 12 เดือน แต่ละหน่วยการฝึกปฏิบัติ (station) จะใช้เวลาในการฝึกอบรมประมาณ 3 – 4 เดือน เมื่อครบระยะเวลาสำหรับแต่ละหน่วยการฝึกปฏิบัติก็จะมีการหมุนเวียนเพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รับการฝึกปฏิบัติทางวิชาชีพครอบคลุมทั้งการทำงานของผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ โดยการฝึกปฏิบัติสามารถกระจายออกไปตามภูมิภาคได้ ไม่จำเป็นต้องกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลาง

การอบรมภาคปฏิบัติจึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศาล อัยการ กระทรวงยุติธรรม รวมถึงสำนักงานทนายความ โดยมีสภานิติศึกษาแห่งชาติเป็นผู้กำกับดูแลและรับผิดชอบ และผู้ที่ผ่านการอบรมภาคปฏิบัติจะมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติวิชาชีพทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ

เมื่ออบรมภาคปฏิบัติเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ที่จะผ่านการอบรมภาคปฏิบัติได้จะต้องผ่านการสอบทั้งข้อเขียนและสอบปฏิบัติ

ผู้ที่สอบผ่านการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติทั้งสองส่วนจึงจะถือได้ว่าสอบผ่านได้เป็น ‘เนติบัณฑิตไทย’

ภายใต้รูปแบบโครงสร้างการศึกษาอบรมกฎหมายในชั้นเนติบัณฑิตที่ได้นำเสนอนี้จะทำให้การศึกษาชั้นเนติบัณฑิตเป็นการอบรมในทางวิชาชีพ ทำให้ ‘เนติบัณฑิตไทย’ เป็นเนติบัณฑิตอย่างแท้จริง และไม่มีบทบาทซ้ำซ้อนกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา

‘เนติบัณฑิตไทย’ สามารถเป็นทนายว่าความได้

ภายใต้การอบรมศึกษากฎหมายในชั้นเนติบัณฑิตที่กล่าวถึงข้างต้น ผู้ที่สอบได้เป็น ‘เนติบัณฑิตไทย’ จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในทางทฤษฎีและในทางวิชาชีพอย่างเพียงพอที่จะปฏิบัติงานทางกฎหมายได้ ด้วยเหตุนี้ การเป็นเนติบัณฑิตไทยจึงเป็นคุณสมบัติที่สามารถทำให้ขอขึ้นทะเบียนเป็นทนายความและได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความต่อคณะกรรมการสภาทนายความได้

ถอดรื้อการเรียนกฎหมายแบบ ‘เนติบัณฑิตไทย’ เพื่อพัฒนา เปิดพื้นที่ และสร้างทางเลือกให้กับการศึกษากฎหมายในรูปแบบอื่นๆ

ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นว่า ปัญหาหลักสำคัญประการหนึ่งของการศึกษากฎหมายไทยมีรากเหง้ามาจากการเรียนกฎหมายแบบเนติบัณฑิตไทย ด้วยเหตุนี้ หากไม่มีการถอดรื้อการเรียนกฎหมายแบบเนติบัณฑิตไทย ทลายการศึกษากฎหมายแบบ Black-letter law  และทำให้การศึกษาอบรมเนติบัณฑิตได้ทำหน้าที่ในการฝึกฝนในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริงแล้ว ก็คงเป็นการยากที่จะพัฒนา เปิดพื้นที่ สร้างทางเลือกให้กับการศึกษากฎหมายในรูปแบบอื่นๆ ได้เติบโตและสร้าง ‘นักกฎหมายหัวก้าวหน้า’ได้

ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์แห่งชาติเบื้องต้นจะทำให้การศึกษาในชั้นเนติบัณฑิตเป็นการอบรมในทางวิชาชีพอย่างแท้จริง ไม่ซ้ำซ้อนกับการศึกษาทางทฤษฎีหรือทางวิชาการในมหาวิทยาลัย แต่ยังคงประสานและส่งเสริมซึ่งกันและกันโดยการแบ่งบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน ภายใต้การกำกับดูแลโดยสภานิติศึกษาแห่งชาติที่จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ

ต่อเมื่อการถอดรื้อการเรียนกฎหมายแบบ ‘เนติบัณฑิตไทย’ ประสบความสำเร็จเท่านั้น การผลิตนักกฎหมายให้เป็น ‘ผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ให้กับคนในสังคม จึงจะมีโอกาสเป็นไปได้ และหากเราจะคิดถึงความเป็นไปได้ในการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้วยแล้ว การถอดรื้อการเรียนกฎหมายแบบ ‘เนติบัณฑิตไทย’ คงไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องถอดรื้อระบบการสอบคัดเลือกผู้พิพากษาและอัยการทั้งระบบอีกด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save