fbpx

“เพราะนักกฎหมายต้องเข้าใจบริบทของสังคม” อ่าน 6 ข้อเสนอปฏิรูปนิติศาสตร์ไทยให้ก้าวไกลทันโลก

กระบวนการยุติธรรมถือเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวของสังคม – คงไม่มีใครปฏิเสธความจริงในข้อนี้ เพราะสังคมย่อมคาดหวังให้ระบบประสิทธิ์และประสาทความยุติธรรมอย่างเต็มที่เมื่อมีผู้เรียกหา ทว่าที่ผ่านมา เห็นแล้วว่าสังคมเริ่มตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม เพราะหลายครั้งที่ตาชั่งคล้ายจะเอนเอียงไปทางฝั่งผู้ที่มีอำนาจหรือมีปากมีเสียงในสังคมมากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมจึงเริ่มตั้งคำถามและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า เราไม่สามารถปฏิรูปกระบวนการโดยปราศจากการตั้งคำถามกับระบบต้นทางของการผลิตนักกฎหมาย ไล่เรียงตั้งแต่คณะนิติศาสตร์ไปจนถึงสภาวิชาชีพต่างๆ – ทำอย่างไรเราจะจึงได้นักกฎหมายที่ไม่ใช่นักกฎหมาย ‘หัวสี่เหลี่ยม’ แต่เป็นนักกฎหมายที่รู้รอบ เข้าใจบริบทของสังคม ตัดสินอย่างเที่ยงธรรม พร้อมไปกับการเห็นอกเห็นใจและมองเห็นความเป็นมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ในหน้ากระดาษฎีกา

หนึ่งในความพยายามดังกล่าวคือการจัดตั้งคณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ เพื่อยกเครื่องการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในไทย รวมถึงการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ซึ่งต่อมา คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวได้จัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์แห่งชาติ รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากคนหลายแวดวง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่ครอบคลุมในทุกมิติของสังคม

101 ชวนรับฟังข้อเสนอจากคนหลายแวดวง ทั้งแวดวงการเรียนการสอนนิติศาสตร์และภาคธุรกิจ เพื่อหาทางนำไปสู่การสร้างกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ใช่แค่กระบวนการ แต่เป็นสิ่งที่มอบความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

อ่านโจทย์ต่อไปของการปฏิรูปการเรียนการสอนกฎหมายไทย – ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์

“แม้ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาจะมีความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการศึกษาเป็นระยะ แต่ผมคิดว่าโลกของเราเปลี่ยนเร็วกว่า และการปรับการศึกษาและวิชาชีพต่างๆ ของเรายังเดินไปช้ากว่าความเปลี่ยนแปลงนี้”

ข้างต้นคือคำกล่าวนำจาก ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ อนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติและกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีคนสนใจเรียนกฎหมายเยอะขึ้น มองแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องความน่าสนใจในวิชาชีพกฎหมายที่เพิ่มขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่งก็สะท้อนว่าเข็มทิศหรือทิศทางการเดินทางมีความหลากหลายมากขึ้นทำให้การตัดสินใจของคนยากขึ้นตามลำดับ นี่จึงอาจเป็นจุดหนึ่งที่สะท้อนว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดควรมาร่วมกันออกแบบการเรียนกฎหมายหรือแม้กระทั่งวิชาชีพต่างๆ กันใหม่

“ผมคิดว่าวิชาชีพกฎหมายในฐานะคนที่มีส่วนในการออกแบบสังคมเป็นเรื่องสำคัญ บทบาทของนักกฎหมายแทรกซึมอยู่ทุกที่ ทุกองคาพยพขององค์กร เพราะฉะนั้น คำถามสำคัญคือเราอยากจะปฏิรูปการเรียนการสอนกฎหมายไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร และเราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง”

ทวีลาภชี้ให้เห็นคำตอบของคำถามข้อแรกว่า การมุ่งปฏิรูปการเรียนการสอนกฎหมายไม่ได้มุ่งหมายจะฟังเฉพาะกลุ่มนักกฎหมายเท่านั้น แต่อยากรับฟังเสียงของสังคมหรือคนที่ต้องพึ่งพานักกฎหมายว่าพวกเขามองเรื่องนี้อย่างไร

ทั้งนี้ แม้จะถือเป็นเรื่องปกติของการรับฟังความคิดเห็นที่จะมีความเห็นต่าง ความไม่สอดคล้อง ความไม่อยากเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่ความเห็นใหม่ๆ ที่อาจไม่เคยมีใครคิดถึงมาก่อน แต่ทวีลาภชี้ว่า นี่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพนิติศาสตร์ เพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็น ทำการใช้เหตุผล หาข้อโต้แย้ง ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันในที่สุด

“เพราะฉะนั้น ข้อสรุปสุดท้ายของเราอาจไม่ใช่อะไรที่ทุกคนพอใจ แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราได้ข้อสรุปที่ทุกคนเห็นร่วมกัน อย่างน้อยเราจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังได้”

สำหรับคำถามที่สอง – เราจะปฏิรูปการเรียนการสอนกฎหมายไปเพื่ออะไร – ทวีลาภตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า การกระทำเช่นนี้จะทำให้เรา “ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น”

“กระบวนการทำงานของเราจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษานิติศาสตร์อยู่ หลายคนอาจมองว่าการให้ความเห็นเวลานี้จะสายเกินไปไหม แต่ผมคิดว่านี่คือกระบวนการเรียนรู้และหล่อหลอมวิชาชีพกฎหมาย เพราะฉะนั้น มันไม่สายเกินไป กระบวนการเรียนการสอนจากนี้ไปจะเป็นกระบวนการที่ไม่หยุดอยู่กับที่หรือไม่หยุดอยู่แค่ในมหาวิทยาลัย แต่จะเป็นกระบวนการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

“ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงธุรกิจ เห็นความจำเป็นที่เราต้องมีเทรนด์ใหม่ๆ เสมอ ทั้งการทบทวนทักษะ (reskill) และการฝึกฝนทักษะใหม่ๆ (upskill) วิชาชีพกฎหมายก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เช่นเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ที่ถูกพูดถึงกันเยอะมาก รวมไปถึงเรื่องการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นใหม่เรียกร้อง ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าเราต้องการความเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุง”

และคำถามสุดท้าย เราจะได้ประโยชน์อะไรจากการปฏิรูปการเรียนการสอนกฎหมายในครั้งนี้

“ผมคิดว่าเรากำลังช่วยกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการจัดการดูแลวิชาชีพของเราเอง” ทวีลาภกล่าว “ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่รอให้คนอื่นมาเปลี่ยนเรา ผมว่ามันอาจจะสายเกินไป”

ในฐานะของนักกฎหมายที่ทำงานอยู่ในภาคการเงิน ทวีลาภสะท้อนมุมมองที่น่าสนใจของภาคธุรกิจที่มีต่อกฎหมายในปัจจุบันออกมาได้หลายประการ ทั้งการที่กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและการที่มีกฎหมายออกมาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี เขายังชี้ให้เห็นทิศทางที่น่าสนใจว่ารูปแบบการกำกับดูแลจะเปลี่ยนจากการกำกับดูแลที่ตั้งอยู่บนกฎระเบียบ (rule-based) ไปเป็นการตั้งอยู่บนหลักการ (principle-based) แทน

“ถ้าพูดให้ชัดขึ้น การกำกับดูแลจะไปพึ่งพิงกับผู้ที่ถูกกำกับ เท่ากับบทบาทของหน่วยงาน กรรมการ และผู้บริหารจะมีความสำคัญ องค์กรก็ต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ซึ่งผมว่าเป็นทิศทางที่น่าสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างมาก แต่มันจะก่อให้เกิดความท้าทายอย่างฉับพลันทันทีกับหน่วยงานเช่นกัน”

ประเด็นท้าทายที่ทวีลาภชี้ให้เห็นคือ เรื่องการกำกับดูแล ซึ่งถือเป็นฟังก์ชันที่ค่อนข้างสำคัญและต้องการทักษะอย่างมาก “ดังนั้น สิ่งที่ภาคธุรกิจอยากเห็นคือกฎเกณฑ์ที่มีต้นทุนน้อย และจะนำไปสู่หลักการที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องการให้เกิดขึ้นได้ นี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยอาจจะลองนำมาพิจารณาดูว่า จะสร้างทักษะหรือศาสตร์ความรู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างไร และจะทำงานร่วมกับภาคธุรกิจอย่างไรบ้าง”

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ทวีลาภยกตัวอย่างว่า การให้ความเห็นด้านกฎหมายในต่างประเทศจะมีทั้งการยกหลักการ ข้อคิดเห็น และการศึกษาวิจัยผลกระทบต่างๆ อันจะนำมาสู่การมีกฎหมายที่มีคุณภาพมากขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไปพร้อมกัน

อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องแนวคิดการออกกฎหมายสมัยใหม่ รวมไปถึงการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป (regulatory guillotine) โดยทวีลาภแสดงความคิดเห็นว่า การรื้อกฎหมายเก่าให้กระชับและสะดวกมาขึ้นเป็นเรื่องท้าทาย แต่อีกเรื่องที่ท้าทายไม่แพ้กันคือการออกแบบกฎหมายใหม่ โดยเฉพาะกระบวนการทำการประเมินผลกระทบของการออกกฎหมาย (regulatory impact assessment: RIA) ที่ต้องอาศัยทักษะทั้งด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ รวมถึงศาสตร์ต่างๆ เข้ามาผสมผสานกัน

“นี่เป็นประเด็นท้าทายสำคัญในการออกแบบการศึกษาต่อไป ซึ่งนี่คงไม่ใช่โจทย์ท้าทายเฉพาะสำหรับมหาวิทยาลัย แต่สำหรับภาคธุรกิจด้วยในการเติมเต็มทักษะให้มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ควรมีความพร้อมด้วยเช่นกัน” ทวีลาภทิ้งท้าย

การปฏิรูปต้องมองถึงระบบนิเวศของนิติศาสตร์ – เพียงพนอ บุญกล่ำ

อีกหนึ่งมุมมองจากผู้ที่ทำงานในภาคธุรกิจมาจาก เพียงพนอ บุญกล่ำ อนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท. จำกัด โดยเพียงพนอตั้งต้นด้วยคำถามที่ว่า “ทำไมวันนี้เราต้องลุกขึ้นมาพูดเรื่องการปฏิรูป?”

“เรามักจะพูดถึงเรื่อง pain point มักจะถามว่าอะไรคือปัญหา คือสิ่งที่เราเจอแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องเจ็บปวดและจำเป็นต้องแก้ไข วันนี้เราจึงอาจต้องมาพิจารณาเรื่อง pain point และ gain point กัน”

เพียงพนอเริ่มต้นด้วยการยกตัวอย่างงานที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (law firm) ที่ได้รายได้ปีหนึ่งเป็นหมื่นล้าน แต่ผลกระทบ (impact) ที่เกิดขึ้นจริงๆ จะต้องมีมูลค่ามากกว่านั้นหลายล้าน หรืออาจจะมากกว่างบประมาณของประเทศด้วยซ้ำไป ดังนั้น จึงไม่อาจปฏิเสธเลยว่าการทำงานด้านนี้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

“ถ้าเราบอกว่า law firm เป็นด้านอุปทาน (supply side) คณะนิติศาสตร์ก็เป็นด้านอุปสงค์ (demand side) แต่หลายคนอาจจะบอกว่า ไม่มีปัญหาอะไรหรอก เพราะไม่ว่าคณะนิติศาสตร์จะผลิตบัณฑิตออกมาอย่างไร สุดท้ายเราก็เลือก top talent ที่จบมาอยู่ดี แต่อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้ว คนที่เหลือก็จะต้องไปทำงานในหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเราต้องทำงานติดต่อประสานงานกับเขาอยู่ดี

“เพราะฉะนั้น นี่เป็นโอกาสอันดีที่คณะนิติศาสตร์และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงกฎหมายมีโอกาสพูดคุยกัน และถ้าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้น เราก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน”

แต่เมื่อย้อนไปถึงคำถามเกี่ยวกับการปฏิรูปข้างต้น เพียงพนอชี้ให้เห็นว่า การ ‘ปฏิรูป’ ไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราเคยได้ยินประโยคประมาณนี้ไหม “โชคดีจังที่ได้อัยการท่านนี้ เพราะเขาเป็นคนตรงไปตรงมา” หรือ “โชคดีจังที่ทนายฝั่งตรงข้ามเป็นคนนี้ เพราะเขามีเหตุผล มีตรรกะ” คำถามคือพวกเราอยู่แวดวงเดียวกัน เรียนตำราเล่มเดียวกัน จบมาแบบเดียวกัน ทำไมเราต้องมีคำถามแบบนี้ นี่สะท้อนให้เห็นปัญหาสองด้าน คือด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณ”

ดังนั้น เพียงพนอจึงชี้ให้เห็นว่า เรื่อง ‘ผลกระทบ’ ไม่ใช่แค่การคัดคนเก่งคนดีแล้วจบไป เพราะพวกเราไม่ได้อยู่กันตามลำพังเท่านี้ แต่วงการนิติศาสตร์มีระบบนิเวศที่กว้างกว่านั้นมาก อีกทั้งผู้บริหารในภาคธุรกิจหลายคนยังมองว่านักกฎหมายมักเป็นพวกหัวสี่เหลี่ยม (square head) พูดภาษาที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ นี่จึงสะท้อนว่าบัณฑิตที่จบมาอาจมีทักษะบางประเภทที่องค์กรเองก็ไม่สามารถฝึกได้ คำถามจึงย้อนกลับมาที่คณะนิติศาสตร์ในการช่วยฝึกฝนเด็กกลุ่มนี้มาก่อน

“เราคุยกันเยอะมากเรื่องทักษะในศตวรรษที่ 21 ทักษะดิจิทัล ความร่วมมือหรือการสื่อสารต่างๆ รวมไปถึงความเห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathy) ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยิ่งถูกตอกย้ำด้วยสถานการณ์โควิด-19 เราอยากเห็นทักษะเหล่านี้ในบัณฑิตที่จบออกมา ไม่ใช่ว่าพอจบออกมาแล้วลืมคณะไปเลย ทำไมเราต้องตัดคณะนิติศาสตร์เป็นศูนย์หรือหนึ่งด้วย”

ในตอนท้าย เพียงพนอสรุปว่า ความพยายามปฏิรูปการศึกษาดังกล่าวคือความพยายามเชื่อมโยงการเรียนการสอนและส่งต่อให้ภาคปฏิบัติได้ หรืออาจถึงขั้นลงลึกไปในรายละเอียดว่าองค์กรวิชาชีพ เช่น เนติบัณฑิตยสภา หรือสภาทนายความ ควรมีบทบาทอย่างไร

“แน่นอนว่าในทุกการเปลี่ยนแปลงประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายด้าน พวกเราจึงอาจจะต้องลองถอยลงมาและมองด้วยความเป็นกลางสักนิด ยอมรับว่ามันมีปัญหาและมาช่วยกันปฏิรูป เพราะเรื่องนี้เราคงไม่ได้จะต้องเป็นผู้ชนะในทุกๆ ด้าน หรืออันที่จริง นี่ไม่ใช่เรื่องของการแพ้ชนะ แต่เป็นเรื่องของการนำข้อคิดเห็นที่แตกต่างมาใช้ประโยชน์ ดูว่าเราจะปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ทุกคนได้ดีที่สุด” เพียงพนอกล่าว

การปฏิรูปการศึกษาวิชานิติศาสตร์จำเป็นต้องปฏิรูปทั้งกระบวนการ – ปารีณา ศรีวนิชย์

ในฐานะของผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษานิติศาสตร์มายาวนาน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ อนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ และคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นปัญหาหลักของการศึกษานิติศาสตร์ในปัจจุบัน ดังนี้

“ตลอดระยะเวลาประมาณหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา กระบวนการทางการศึกษาของเราเป็นแบบที่ตั้งใจจะผลิตผู้พิพากษาออกไปใช้กฎหมายเลย แต่ต่อมา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเชิงองค์กรต่างๆ เกิดขึ้นเป็นระยะ จนเราพบว่ากระบวนการผลิตนักกฎหมายในปัจจุบันมีความแยกส่วนและเต็มไปด้วยหลายองค์กรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นับตั้งแต่มหาวิทยาลัย สภาทนายความ และเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบทบาทแยกแตกต่างกันออกไปและไม่มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของตนเอง”

แม้องค์กรทั้งหมดที่ว่ามาจะมีความแตกต่างกันในแง่ของบทบาทหน้าที่ แต่ปารีณาชี้ให้เห็นว่า องค์กรเหล่านี้ก็มีบางส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่เช่นกัน กล่าวคือเป็นองค์กรที่เน้นเชิงวิชาการและเน้นทฤษฎีเสียมากกว่า

“เมื่อมองนักกฎหมาย เราต้องแยกเป็นฝั่งของวิชาการและส่วนของทักษะภาคปฏิบัติในการใช้กฎหมาย ในลักษณะวิชาชีพ แต่กระบวนการของเรายังแยกส่วนกันอยู่ค่อนข้างเยอะ”

ปารีณาอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อบัณฑิตเรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่เน้นในเชิงวิชาการแล้วไปศึกษาในระดับเนติบัณฑิต ผลที่เกิดขึ้นคือการเรียนในระดับดังกล่าวยังเป็นลักษณะเดียวกับที่เรียนในมหาวิทยาลัย แตกต่างจากในหลายประเทศที่มีการแบ่งบทบาทชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยควรเป็นเรื่องวิชาการ และองค์กรวิชาชีพควรเป็นภาคปฏิบัติและการนำตัวบทกฎหมายไปใช้

“ความขัดแย้งอย่างหนึ่งคือ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตในมหาวิทยาลัยยังถูกกำกับว่าต้องมีโครงสร้างหลักสูตรเท่าไหร่ มีวิชาเรียนกฎหมายเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อมองดูบริบทสังคมในปัจจุบัน เราต้องตั้งคำถามแล้วว่าเราจำเป็นต้องเรียนกฎหมายทุกฉบับจริงๆ หรือแต่ละมหาวิทยาลัยควรสามารถออกแบบหลักสูตรได้เองเพื่อให้ทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลง เราไม่เคยนำประเด็นนี้มาคุยกันเลยสักครั้ง และยังไม่นับความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรระหว่างมหาวิทยาลัยในเมืองกับมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดที่มีความไม่เท่าเทียมกันอยู่อีก”

เมื่อพูดถึงประเด็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ถูกกำกับ ปารีณาชี้ให้เห็นต่อว่า นี่เป็นผลมาจากเกณฑ์การคัดเลือกผู้ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหรืออัยการที่ทำให้เกิดการจำกัดและกำหนดรายวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ขณะที่มหาวิทยาลัยก็พยายามที่จะส่งบุคลากรของตนไปเรียนต่อต่างประเทศในสาขาที่จำเป็นต่อบริบทของโลก อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหรือกฎหมายอวกาศ ทว่าวิชาเหล่านี้กลับไม่ได้รับความสนใจเพราะนิสิตนักศึกษามุ่งเน้นจะเรียนในรายวิชาที่สามารถนำไปสู่การสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการได้

“จะเห็นว่าแม้จะไม่ได้มีการกำหนดรายวิชาในทางตรง แต่การกำหนดกฎเกณฑ์เช่นนี้ก็เป็นเหมือนการส่งผลกระทบต่อการจัดหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในทางอ้อม”

ปารีณายกตัวอย่างประเทศสหรัฐฯ ที่มุ่งเน้นผลิตนักกฎหมาย (lawyer) และผู้ที่จะสามารถเป็นผู้พิพากษาได้นั้นจะต้องผ่านการเป็นนักกฎหมายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โรงเรียนกฎหมายของสหรัฐฯ จึงถูกออกแบบมาเพื่อฝึกทักษะและกระบวนการคิดและเป็นปริญญาใบที่สอง ส่วนระบบแบบอังกฤษจะเน้นที่วิชาการตั้งแต่อยู่ในระดับชั้นปริญญาตรี จึงมีกระบวนการฝึกฝนก่อนจะออกไปสู่การปฏิบัติจริง ขณะที่ของไทย ปารีณาชี้ว่า ระบบการเรียนการสอนของไทยไม่ได้คิดว่าเราต้องการจะผลิตบัณฑิตแบบใดออกไปจนทำให้เกิดเป็นความซ้ำซ้อนกัน

“อาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนอยากให้มีการอภิปรายถกเถียงกันในชั้นเรียน แต่สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้เพราะผู้เรียนไม่ได้เตรียมตัวมาขนาดนั้น ซึ่งจริงๆ ก็ย้อนกลับไปสู่มัธยมอีกว่า เราไม่ได้ถูกฝึกให้คิดวิพากษ์มาตั้งแต่ต้น หรือถ้าจะพูดให้ถึงที่สุด ต่อให้คิดวิพากษ์ได้ก็ไม่ได้ชัดเจนอีกว่าจะถูกนำไปใช้ยังไง

“เพราะฉะนั้น เราอาจจะต้องมาตั้งต้นกันตรงนี้ว่าเราต้องการจะผลิตนักกฎหมายแบบไหนออกสู่สังคม เพราะเราไม่อาจปฏิรูปการศึกษาวิชานิติศาสตร์ได้โดยไม่สามารถปฏิรูปทั้งกระบวนการได้เลย” ปารีณาทิ้งท้าย

ต้องอ่านกฎหมายเป็น นำกฎหมายไปใช้ได้ – ชัยวัธ มะระพฤกษ์วรรณ

ด้าน ชัยวัธ มะระพฤกษ์วรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้ก่อตั้งสำนักงานทนายความชัยวัธ-บัณฑูรย์ แสดงความเห็นพ้องเรื่องการปฏิรูปการศึกษา รวมไปถึงการจัดการฝึกอบรมก่อนที่จะบัณฑิตจะเข้าสู่โลกของการทำงานจริง

“ถ้าพูดถึงระดับการศึกษา เราเห็นกันอยู่ว่าตอนนี้ประเทศไทยมีกฎหมายเยอะมากและอาจจะยิ่งเยอะขึ้นไปอีกในอนาคต แต่ปัญหาสำคัญของกฎหมายคือเราไม่เข้าใจว่าสิ่งที่กฎหมายบัญญัติออกมาเพื่อใช้บังคับและใช้คุ้มครองมีเบื้องหลังอย่างไร ธรรมชาติของสิ่งที่เราจะเอาไปทำงานต่อคืออะไร”

ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างด้วยเรื่องของดิจิทัล ที่น้อยคนนักจะเข้าใจถ่องแท้ว่าดิจิทัลสามารถเกี่ยวพันกับการกระทำความผิดได้อย่างไร และธรรมชาติของดิจิทัลจริงๆ เป็นอย่างไร นำมาสู่ข้อสังเกตที่ว่าการเรียนกฎหมายสมัยใหม่ไม่ได้มีรูปธรรมจำเจเหมือนที่เรารู้จักกันดี แต่เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้กันต่อไป

“สำหรับผม การเรียนกฎหมายคือการอ่านกฎหมายเป็น นำกฎหมายไปใช้ได้ นี่คือหัวใจของการเรียนกฎหมาย แต่คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไร นอกจากนี้ เวลาเราพูดเรื่องกฎหมายที่ไม่ใช่วิชาแกนหรือเป็นวิชาเลือก นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจสำหรับมหาวิทยาลัยนะครับ เพราะถ้าเราเปิดวิชาเลือกเยอะจะถูกใจท้องตลาดไหม เราจะมีอาจารย์ไหม และถ้าเปิดวิชานั้นแล้วไม่มีผู้เรียนหรือมีผู้เรียนน้อย สุดท้ายก็ต้องปิด นี่ก็โยงมาถึงว่าแล้วผู้เรียนจะเลือกอะไร”

สำหรับชัยวัธ การปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นเรื่องจำเป็น เช่นเดียวกับการฝึกงาน อย่างไรก็ดี ชัยวัธชี้ว่าการฝึกงานไม่ควรเป็นเพียงแค่การนั่งประจำโต๊ะ แต่ควรเข้าใจแนวความคิดว่าเด็กฝึกงานควรเข้าใจอะไร ควรดูอะไร และจะสามารถกลับมาคิดอะไรต่อได้หลังจากนั้น เพื่อจะนำไปต่อยอดในเส้นทางอาชีพต่อไป

ในตอนท้าย ชัยวัธแสดงความเห็นด้วยกับการเรียนกฎหมายในรูปแบบสหกิจศึกษา (การผสมผสานการเรียนในห้องกับการทำงานจริง) โดยชัยวัธมองว่า กฎหมายไม่ได้มีเพียงแค่วิชาแกน แต่มีวิชาในเชิงธุรกิจที่จำเป็น พร้อมทั้งเสนอให้คณะนิติศาสตร์ประสานงานกับคณะที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การเรียนเกี่ยวกับธุรกิจควรจะได้เรียนบัญชีหรือเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เพื่อให้สามารถต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป

นักกฎหมายต้องเข้าใจสังคมและบริบทของสังคม – พีรภัทร ฝอยทอง

อีกหนึ่งมุมมองของภาคเอกชนมาจาก พีรภัทร ฝอยทอง ที่ปรึกษากฎหมายสถาบันการเงินและธุรกิจประกันภัย โดยพีรภัทรแชร์ประสบการณ์ในฐานะผู้ที่ทำงานในสายงานกำกับตรวจสอบ (compliance) ว่า สายงานดังกล่าวเป็นสายงานที่สำคัญจนถึงขั้นขาดแคลนเนื่องจากมีกฎหมายบังคับ ทำให้เกิดปัญหาที่ว่าหน่วยงานกำกับดูแลมีกฎเกณฑ์หรือออกกฎหมายมาค่อนข้างเยอะ แต่ไม่สามารถนำกฎเหล่านั้นไปสู่การปฏิบัติจริงได้

“สมมติว่ามีการออกกฎเกณฑ์มาหนึ่งตัว รู้ไหมว่าต้องวิเคราะห์ช่องว่าง (gap analysis) อย่างไร คือต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าสิ่งที่กฎหมายต้องการบังคับกับสิ่งที่องค์กรของเราทำอยู่ปัจจุบันยังมีช่องว่างอะไรอยู่บ้าง มีส่วนไหนที่ยังไม่ได้ทำหรือยังขาดอยู่ ตรงจุดนี้เป็นปัญหาค่อนข้างเยอะ เพราะนักเรียนกฎหมายไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะส่วนของสถาบันการเงิน”

พีรภัทรชี้ให้เห็นว่า แม้ตอนเรียนกฎหมายจะมีวิชาเลือกเกี่ยวกับกฎหมายสถาบันการเงิน หรือมีการเรียนต่อยอดด้านกฎหมายธุรกิจ ทว่าการเรียนดังกล่าวเป็นแค่การสอนตัวกฎหมาย ไม่ได้สอนลึกไปถึงรายละเอียดของธุรกิจต่างๆ ทำให้เกิดการขาดแคลนคนที่ทำงานได้จริง

“ตอนนี้มีเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ออกมา ตลาดก็ต้องการคนที่รู้เรื่องนี้ แต่ปัญหาที่เจอคือหลายคนอ่านกฎหมาย PDPA เข้าใจ แต่พอเอามาใช้จริงแล้วกลับให้คำแนะนำที่ถูกต้องไม่ได้ กลายเป็นว่าหลายที่เก็บเงินแพงๆ แต่ทำได้แค่เขียนข้อมูลที่เหมือนล้อกฎหมาย GDPR (กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของสหภาพยุโรป) ออกมา ทั้งที่จริงๆ ยังมีประเด็นถกเถียงอีกมากมาย”

เช่นเดียวกับหลายๆ คน พีรภัทรมองว่าการเรียนการสอนกฎหมายในปัจจุบันคือการเทรนคนไปเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ แต่ยังขาดคนที่จะมาทำงานในภาคธุรกิจจริงๆ ได้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่เคยมีการฝึกฝนคนกันอย่างจริงจัง ซึ่งทางแก้ปัญหาของพีรภัทรในฐานะคนทำงานคือ การรับสมัครคนเข้ามาและฝึกฝนกันในองค์กรต่อไป

“ในมุมมองของคนที่อยู่ในภาคธุรกิจ ผมอยากฝากอย่างหนึ่งว่านอกจากจะเข้าใจฝั่งของกฎหมายแล้ว อยากให้เข้าใจเรื่องของธุรกิจด้วย เพราะกฎหมายเป็นแค่ส่วนหนึ่งของสังคมเท่านั้น ถ้าคุณยังไม่เข้าใจสังคม ไม่เข้าใจบริบท ไม่เข้าใจธุรกิจ นักกฎหมายที่ออกมาเหล่านั้นก็เหมือนยังใช้การไม่ได้”

พีรภัทรชี้ให้เห็นต่อว่า การเรียนการสอนกฎหมายที่คาบเกี่ยวกับภาคธุรกิจไม่ควรเป็นการเรียนแบบออกข้อสอบแล้วต้องตอบตามธงคำตอบเดิม แต่ควรฝึกให้สามารถเขียนตอบแบบให้คำแนะนำ (advice) ที่ไม่ใช่เป็นความคิดเห็นด้านกฎหมาย (legal opinion)

“เวลามีอะไรเกิดขึ้น คำถามคือคุณจะแนะนำหน่วยงานของคุณอย่างไร เพราะภาคธุรกิจไม่ได้อยากรู้แค่ว่าทำได้หรือทำไม่ได้ แต่ต้องรู้ไปถึงว่าถ้าทำแบบนี้ไม่ได้แล้วจะต้องทำแบบไหน ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องฝึกฝนกันตั้งแต่เด็กๆ เพราะตอนนี้นักเรียนกฎหมายจะรู้แค่ว่าถูกหรือผิด เป็นธงคำตอบไปเลย ซึ่งองค์ความรู้ตรงนี้อาจจะต้องได้รับการเสริมจากคนภาคธุรกิจหรือคนในสายงานกำกับตรวจสอบให้เข้าไปสอนในมหาวิทยาลัยมากขึ้น”

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดบางอย่างของมหาวิทยาลัยที่อาจจะยังผูกติดกับหลักสูตรหรือการสอนเพื่อไปสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการต่อไป ทำให้พีรภัทรเสนอทิ้งท้ายว่า อาจมีการพิจารณาว่าการเชิญคนในสายงานกำกับตรวจสอบหรือภาคธุรกิจไปสอนนักเรียนกฎหมายจะช่วยเพิ่มคะแนน (score) ให้มหาวิทยาลัยได้หรือไม่ และยังจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากขึ้นตามลำดับด้วย

ปัญหาของกฎหมาย ปัญหาของกระบวนการนิติบัญญัติ: ฟังเสียงสะท้อนจาก 2 อดีตนักเรียนกฎหมาย

ในมุมมองของ ปณิธาน อดีตนักศึกษาวิชากฎหมายซึ่งปัจจุบันทำงานร่วมกับผู้ลี้ภัยนั้น ปัญหาอย่างหนึ่งของการเรียนกฎหมายคือ กฎหมายที่เรียนไม่สามารถปรับใช้ได้เต็มที่กับพื้นที่การทำงานจริง

“การทำงานในประเด็นที่อยู่ชายขอบของสังคมมากๆ ทำให้เราเจอปัญหาว่า กฎหมายที่มีอยู่ในตำราเรียนหรือบทบัญญัติต่างๆ ไม่ฟังก์ชันกับการทำงานจริง เช่น เรื่องของผู้ลี้ภัย เราจะพบอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่การเดินทาง อุปสรรคทางภาษา ความเชื่อเรื่องระบบกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกสอนในระดับอุดมศึกษาเลย”

ปณิธานย้อนไปถึงตอนเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่ตนเองได้มีโอกาสลองลงเรียนในสาขาวิชาอื่นนอกเหนือจากนิติศาสตร์ พร้อมทั้งเสนอความคิดเห็นว่า หลักสูตรอาจลองเปิดโอกาสให้นักเรียนกฎหมายได้มีโอกาสไปเรียนอย่างอื่นบ้าง หรือแม้แต่ในสาขาวิชานิติศาสตร์เองก็อาจเปิดโอกาสให้เรียนวิชาจำพวกนิติปรัชญาหรือกฎหมายกับสังคม เพื่อที่นักเรียนกฎหมายจะได้มองให้รอบด้าน รวมถึงมองเห็นวิธีปฏิบัติทางกฎหมายอื่นๆ นอกเหนือไปจากที่รู้จักกัน

“ผมว่าการเรียนวิชาเหล่านี้จะช่วยเปิดบทสนทนาหลายๆ อย่าง ทำให้พอทำงานจริงไม่เกิด culture shock เพราะเรามองเห็นชุดความเชื่อที่แตกต่างกัน มีบทสนทนาร่วมกัน คุยกันแล้วทำงานร่วมกันได้”

อีกประเด็นที่ปณิธานฝากไว้คือ การทำงานด้านกฎหมายแบบไม่แสวงหาผลกำไร (pro bono) ที่สามารถทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติหรือผู้ลี้ภัย ซึ่งต้องการผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายอย่างมาก โดยปณิธานชี้ว่า นี่เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่น่าสนใจและสามารถเข้ามาเป็นกลไกเพื่ออุดช่องว่างการทำงานในพื้นที่ และสามารถเป็นการเรียนรู้ของนักเรียนกฎหมายในอีกทางหนึ่งได้ด้วย

เมื่อพูดถึงงานด้านกฎหมาย หนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญน่าจะเป็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการด้านนิติบัญญัติ แต่สำหรับอีกหนึ่งอดีตนักเรียนกฎหมายอย่างภาคภูมิ ซึ่งทำงานอยู่ในส่วนดังกล่าวแล้ว การทำงานในส่วนนี้กลับกลายเป็นส่วนที่เหมือน ‘ดินแดนอันเวิ้งว้าง’

“คนที่จบนิติศาสตร์ส่วนใหญ่ในไทยมักจะมุ่งเป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความมากกว่า ขณะที่ในส่วนของนิติบัญญัติ แม้ว่าการทำงานในส่วนนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบ (impact) ที่ค่อนข้างสูงกับสังคม แต่กลับกลายเป็นว่านักเรียนกฎหมายในไทยไม่ค่อยรู้จัก พอไม่ค่อยรู้จักก็ไม่ค่อยสนใจ พอไม่ค่อยสนใจก็ทำให้การขับเคลื่อนส่วนต่างๆ รวมถึงองค์ความรู้ ไม่ได้พัฒนาไปกว้างขวางอย่างที่ควรจะเป็น”

ภาคภูมิชี้ให้เห็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากเรื่องดังกล่าวว่า เมื่อนักเรียนกฎหมายเรียนจบออกจากรั้วมหาวิทยาลัยและไปทำงานในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนแล้ว พวกเขาก็จะไม่มีความรู้เกี่ยวกับการยกร่างกฎหมาย รวมถึงกระบวนการทางนิติบัญญัติต่างๆ

“หลายเรื่องเนื้อหาดีมาก แต่มาถูกปัดตกตอนเจอกระบวนการนิติบัญญัติหรือกระบวนการยกร่างเข้าไป อันนี้เป็นสิ่งที่นักกฎหมายอาจไม่ค่อยได้คำนึงถึงเท่าไรนัก แต่ถ้าเรามีการพัฒนาตรงนี้ไปสู่การเรียนในระดับต่างๆ ก็จะทำให้มีการสั่งสมองค์ความรู้และพัฒนาให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น”

นี่นำมาสู่ข้อเสนอเพื่อพัฒนาเรื่องกระบวนการยุติธรรมไทยของภาคภูมิ โดยข้อแรก ภาคภูมิหยิบยกเรื่องการจัดระบบการศึกษานิติศาสตร์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพ พบว่าหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ค่อนข้างจำกัดหรือคัดเลือกคนที่จะเข้าสู่การศึกษากฎหมาย คล้ายกับการศึกษาแพทยศาสตร์ที่มีแพทยสภาซึ่งเป็นผู้กำหนดจำนวนและกระจายไปยังโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ทั่วประเทศ

“ถ้าเรามีสภานิติศึกษาแล้วเราให้ตัวเลขไป แล้วกระจายไปทั่วประเทศว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะผลิตบัณฑิตที่จบกฎหมายได้เท่าไหร่ ผมคิดว่าตรงนี้จะสัมพันธ์กับการเปิดคณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศด้วย เพราะถ้าเราเริ่มคัดเลือกและมีการจำกัดจำนวนนักเรียนกฎหมายตั้งแต่ตรงนี้ จะทำให้การยกระดับวิชาชีพของเราเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

ข้อต่อมาคือเรื่องการกำกับมาตรฐานวิชาชีพด้านกฎหมายที่หลายคนมองว่า ยังไม่เป็นเอกภาพเท่าที่ควร โดยภาคภูมิลองยกตัวอย่างมีการสภาวิชาชีพเดียวกับการกำหนดมาตรฐานด้านกฎหมาย อาทิ การแบ่งสายกระบวนการยุติธรรมให้ทางเนติบัณฑิตยสภาดูแล และอาจจะมีอีกสภาหนึ่งที่แยกออกไปและรับผิดชอบการสอบใบประกอบวิชาชีพหรือใบอนุญาตต่างๆ ของฝั่งที่ปรึกษาทางกฎหมาย

และ ข้อสุดท้าย คือเรื่องการปฏิรูประบบค่าตอบแทนของนักกฎหมาย โดยภาคภูมิทิ้งท้ายว่า หลายครั้งที่ค่าตอบแทนของนักกฎหมายมีความเหลื่อมล้ำหรือก้ำกึ่งกันมากจนเกินไป แตกต่างจากฝั่งสภาวิชาชีพอื่น เช่น บัญชีหรือวิศวกร ที่มีชั้นของค่าตอบแทนที่ค่อนข้างมีมาตรฐานชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปรับระบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ หรืออาจมองไปถึงขั้นกระบวนการยุติธรรมไทยในภาพรวมต่อไป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save