fbpx

ต้องสร้างนักกฎหมายที่รู้รอบ-กล้าหาญทางจริยธรรม: มองปัญหานิติศาสตร์จากคนกระบวนการยุติธรรม

ประเทศไทยในช่วงที่เหตุบ้านการเมืองผันผวนและปรวนแปร กล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมนับเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่สังคมคาดหวังว่าจะนำมาซึ่งความเป็นธรรมและความเท่าเทียม ทว่าหลายครั้งกลับเป็นผู้คนที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรมนั้นเสียเองที่ทำให้ประชาชนต้องกังขาต่อความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมาย นำมาสู่การตั้งคำถามและกระแสวิพากษ์วิจารณ์อันหลากหลายต่อความถูกต้องชอบธรรมในกระบวนการยุติธรรมไทย

การแก้ปัญหานั้นจำเป็นต้องมองย้อนมาที่จุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมคือการศึกษานิติศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานและสถาบันแวดล้อมที่ล้วนมีส่วนในการบ่มเพาะและสร้างนักกฎหมายคนหนึ่งขึ้นมา กับคำถามสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้นักกฎหมายไทยไม่เพียงแต่เชี่ยวชาญในตัวบทกฎหมาย แต่ต้องรอบรู้ในศาสตร์อื่นๆ และไม่ละทิ้งซึ่งความกล้าหาญทางจริยธรรมอันเป็นหัวใจสำคัญของนักกฎหมาย

จากการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์แห่งชาติของคณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ รวมถึงการรับฟังความเห็นจากคนนอกกรอบแวดวงกฎหมายที่ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่านักนิติศาสตร์ไม่อาจใช้เพียงความรู้ทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาสังคมโดยปราศจากความรู้ในแขนงอื่นได้ ในขณะเดียวกัน ในทัศนะของคนที่ทำงานในแวดวงกฎหมายโดยตรง ต่างให้ความเห็นตรงกันว่าการเป็นนักกฎหมายที่ดีได้นั้น ไม่อาจมีเพียงความรู้อันเชี่ยวชาญและหลากหลาย โดยปราศจากการยึดมั่นซึ่งหลักจรรยาบรรณและจริยธรรมได้เช่นกัน

101 ชวนอ่านความเห็นและประสบการณ์จากมุมมองของคนหลากหลายแวดวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นกฤษฎีกา อัยการ ผู้พิพากษา ตำรวจ และทหาร เพื่อให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการให้การศึกษาและอบรมนักกฎหมาย รวมถึงแง่มุมด้านจริยธรรมนักกฎหมายที่น่าสนใจ เพื่อนำไปสู่ทางออกของวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นและเพื่อสร้างนักกฎหมายที่จะสามารถทำงานเพื่อประชาชนและสังคมได้อย่างแท้จริง

‘เนติบัณฑิตยสภา’ องค์กรสำคัญที่จำต้องเปลี่ยนแปลง

ศ.ดร.คณิต ณ นคร กรรมการกฤษฎีกา อดีตอัยการสูงสุดและอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เริ่มต้นให้ความเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงนักกฎหมายไทย คือการที่นักกฎหมายบางคนยังไม่เข้าใจตัวบทกฎหมายดีพอ ดังนั้นสิ่งสำคัญในการปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์ คือการปรับวิธีเรียนตัวบทกฎหมายของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงให้ความรู้ด้านคุณธรรมและจริยธรรมในการเป็นนักกฎหมายแก่นักศึกษา ทั้งยังเสนอว่าเนติบัณฑิตยสภาจำเป็นต้องปฏิรูปบทบาทขององค์กรใหม่ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์

“เนติบัณฑิตยสภา ชื่อก็บอกแล้วว่าสำนักอบรมศึกษากฎหมาย เป็นองค์กรที่มีหน้าที่หลักในการจัดฝึกอบรม แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเนติบัณฑิตยสภามาสอนกฎหมายแข่งกับคณะนิติศาสตร์เสียเอง ซึ่งผิดหลัก เพราะฉะนั้นเนติบัณฑิตยสภาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทแล้ว”

ในด้านวิธีการเรียนการสอนนิติศาสตร์ คณิตเสริมว่าหลักสูตรเกี่ยวกับกฎหมายอาญาควรจะต้องบรรจุลักษณะวิชาอาญาให้ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อให้การศึกษากฎหมายครบวงจร อีกทั้งเป็นภารกิจหลักของคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะปรับปรุงการเรียนการสอนนิติศาสตร์ให้มีวิชาครบถ้วนสมบูรณ์ในแต่ละหลักสูตร เพื่อกระตุ้นให้อาจารย์และนักวิชาการได้พยายามสร้างองค์ความรู้ในวิชานั้นๆ และเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจหลักกฎหมายอย่างถูกต้องและหลากหลาย

“ผมยกตัวอย่างกรณีที่เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ถูกออกหมายจับ คำถามคือตามหลักกฎหมายมีเหตุในการออกหมายจับเพนกวินไหม ผมว่ามันไม่มีเลยนะ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้จับคนมาขังเต็มไปหมดเลย คือเราปฏิบัติกันผิดไปหมด ปัญหาก็มาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เราสังกัดกันนี่แหละ สิ่งสำคัญคือเราต้องปฏิรูปการสอนให้ถูกหลักก่อน

“เรื่องการลดหน่วยกิตลงมา อะไรต่างๆ เหล่านี้มันพูดง่ายแต่ทำยาก เพียงแต่ว่าเราต้องทำความเข้าใจหลักกฎหมายให้ดี ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ กฎหมายของไทยทั้งแพ่งและอาญาก็ทันสมัยไม่น้อย แต่ความเข้าใจกฎหมายของนักกฎหมายไทยยังไม่มากพอ เพราะฉะนั้นเราไม่เพียงต้องปฏิรูปหลักสูตร แต่ต้องปฏิรูปการเรียนการสอนต่างๆ ให้ดีเพื่อจะได้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม” คณิตเน้นย้ำ

ในฐานะผู้คร่ำหวอดในแวดวงนิติศาสตร์ ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ อนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ อดีตผู้พิพากษา อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการนักกฎหมายไทยมีจุดเริ่มต้นจากช่องโหว่ในการเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย ที่ทำให้นิติศาสตรบัณฑิตยังต้องไปฝึกฝนอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยมาแล้วกับสภาวิชาชีพหรือคณะกรรมการวิชาชีพต่างๆ

นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งปฏิรูปแก้ไข คือความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม โดยวิชามองว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยในปัจจุบันไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรมที่ผันแปรและมีความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง จนเกิดเป็นกระแสตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม

“วงการนักกฎหมายตอนนี้เปรียบเหมือนการวิ่งผลัดจากจุดเริ่มต้นคือการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในคณะนิติศาสตร์ ส่งต่อไปให้สภาวิชาชีพหรือคณะกรรมการวิชาชีพต่างๆ ไปฝึกฝนอบรมเพิ่มเติม เราพบว่าผู้เรียนเมื่อจบการศึกษาวิชานิติศาสตร์ไปแล้ว ก็ต้องมีการไปปั้นต่อโดยเอาสิ่งที่เคยเรียนและเคยสอนในระดับชั้นมหาวิทยาลัยไปฝึกซ้ำอีกในตอนที่จะเข้าสู่กระบวนการวิชาชีพแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เสียเวลาอย่างมาก”

วิชาเปรียบเทียบหลักสูตรนิติศาสตร์กับหลักสูตรแพทยศาสตร์ที่มีแพทยสภาคอยควบคุมดูแลการประกอบวิชาชีพและการเรียนการสอนให้เป็นไปตามหลักจริยธรรม โดยให้ความเห็นว่าควรมีการปฏิรูปวงการนิติศาสตร์ให้เป็นไปตามแบบของแพทยศาสตร์ กล่าวคือ เนติบัณฑิตยสภาจะต้องเข้ามามีบทบาทในการควบคุมดูแลการเรียนการสอนนิติศาสตร์ และหลังจากจบการศึกษาแล้วก็ต้องมีการควบคุมดูแลการประกอบวิชาชีพของนักกฎหมายให้เป็นไปตามหลักจริยธรรม โดยเน้นย้ำว่าบทบาทของเนติบัณฑิตยสภาจะต้องควบคุมดูแลการประกอบวิชาชีพครอบคลุมทุกสาขาอาชีพในแวดวงนักกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นทนาย อัยการ ศาล หรือผู้พิพากษา

“ผมขอยกตัวอย่างคดีคุณแตงโม จากกรณีที่คุณแม่ของคุณแตงโมให้ทนายความผู้หนึ่งเข้ามาช่วยดูแลคดี แต่ปรากฏว่าทนายความคนนั้นเต็มไปด้วยการถูกต้องคดีหรือมีการต้องหาว่าฉ้อโกงทรัพย์สินอยู่ ทั้งยังถูกออกหมายจับด้วย กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าทนายความหลุดออกจากวงโคจรของการควบคุมดูแลจริยธรรมไปแล้ว ลองนึกภาพว่าทนายความคนหนึ่งที่มายืนในศาลมีมาตรฐานแตกต่างจากอัยการของฝ่ายตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง แล้วความเท่าเทียมกันของประชาชนจะได้มาจากไหนกัน”

รวมถึงเรื่องการควบคุมดูแลการเรียนการสอนนิติศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน วิชาตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่หลักสูตรแพทย์แตกแขนงสาขาวิชาไปได้หลากหลาย โดยที่ผู้เรียนสามารถเลือกสาขาที่จะฝึกฝนต่อเนื่องไปจนประกอบวิชาชีพได้ แต่หลักสูตรนิติศาสตร์กลับต้องมีการจัดอบรมหลักสูตรให้นักกฎหมายซ้ำๆ หลังเรียนจบ

“ผมมองว่าแพทยสภาก็เปรียบได้กับเนติบัณฑิตยสภา จะเห็นว่าแพทยศาสตร์มีแพทยสภาคอยควบคุมดูแลการเรียนการสอนและการประกอบอาชีพนั้นให้เป็นไปตามหลักจริยธรรม การควบคุมจริยธรรมจึงเป็นการควบคุมที่เข้มแข็งที่สุดของแพทยสภา และเราจะเห็นได้ว่าวิชาสาขาต่างๆ ของการแพทย์ขณะนี้มีจำนวนมากมายมหาศาล แต่ละสาขาก็จะมีราชวิทยาลัยที่จะฝึกต่อเนื่อง หมายความสามารถต่อยอดไปได้เลยว่าคุณจะเป็นแพทย์สาขาไหนต่อไป ตรงกันข้ามกับนิติศาสตร์ของเราเลย”

นอกจากนี้ วิชาให้ความเห็นว่าในกระบวนการของการฝึกอบรม ควรจะต้องมีการแบ่งสายตามวิชาชีพ เช่น อบรมเพื่อเป็นอัยการ อบรมเพื่อเป็นทนาย อบรมเพื่อเป็นผู้พิพากษา ฯลฯ การอบรมที่แยกตามสายอาชีพก็เพื่อให้นักกฎหมายมีพื้นฐานความรู้เพียงพอจะต่อยอดประกอบวิชาชีพที่ตนเองสนใจต่อไป

ทั้งนี้ การอบรมไม่อาจจำกัดไว้แค่สายอาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น แต่การเรียนรู้การทำงานของทุกอาชีพในแวดวงเดียวกันย่อมทำให้นักกฎหมายมีจิตสำนึกในวิชาชีพอื่นๆ ทั้งยังเป็นการบ่มเพาะความรู้ในหลักสูตรนิติศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพต่อการประกอบวิชาชีพมากขึ้น เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกร่วมกันในฐานะนักกฎหมาย และเพื่อให้การพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามหลักจริยธรรม

“คนที่เลือกที่จะฝึกเป็นอัยการก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องฝึกอัยการอย่างเดียว เพราะเราต้องการให้มีจิตสำนึกในวิชาชีพอื่นๆ ด้วย สมมติว่าคุณต้องการจะเป็นตุลาการ คุณก็ต้องเรียนรู้ว่าทนายและอัยการทำงานกันอย่างไรด้วย  เพราะฉะนั้นคนที่อบรมมาก็จะได้เรียนรู้ถึงจิตสำนึกร่วมกับคนในแวดวงกฎหมาย เช่น ทนายความก็จะรู้ว่าผู้พิพากษาที่อยู่บนบัลลังก์เขามีความคิดอย่างไร มีสำนึกอย่างไร ผู้พิพากษาก็ต้องมีความเคารพในความเป็นทนายด้วยเช่นกัน ดังนั้นนักกฎหมายที่เคยฝึกอบรมร่วมกันก็จะมีจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นจิตสำนึกร่วมกันในกระบวนการยุติธรรม”

วิชามองว่าการปรับปรุงหลักสูตรนิติศาสตร์ไม่อาจทำเพียงเพื่อหวังผลในแง่ที่ให้ผู้เรียนสามารถดำเนินกิจการในสายวิชาชีพต่อไปได้เท่านั้น แต่เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกันคือการยกระดับมาตรฐานของความรู้ในสายวิชาชีพต่างๆ เพื่อผลิตคนที่มีพื้นฐานอันดีและสามารถต่อยอดองค์ความรู้นั้นต่อไปได้

เรื่องของการใช้ธรรมาภิบาลก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่ต้องโปร่งใสและเปิดเผยตรวจสอบได้ ดังนั้นการปฏิรูปหลักสูตรนิติศาสตร์จึงต้องนำมาซึ่งการปลูกฝังจิตสำนึกร่วมกันในการผนึกกำลังเพื่อสร้างนักกฎหมายที่ดี เชี่ยวชาญ สามารถรับใช้ประชาชนและสังคมได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ในเรื่องของศาลปกครอง วิชาตั้งข้อสังเกตว่าศาลปกครองนั้นดูประหนึ่งว่าจะไม่ได้อยู่ในข่ายของการเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปนิติศาสตร์หรืออยู่ในโครงสร้างสภานิติศึกษาแห่งชาติ โดยวิชามองว่าศาลปกครองมีผู้ที่มีความรู้หลากหลายทั้งด้านการเมืองการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่ใช่ทุกคนในศาลปกครองที่เป็นนักกฎหมาย แต่ทั้งนี้เมื่อเป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมก็ไม่อาจหลุดไปจากวงจรการดูแลหรือการควบคุมทางกฎหมายได้ เพราะถึงอย่างไรศาลปกครองก็ยังคงเป็นผู้ประกอบหน้าที่วิชาชีพในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย จึงควรจะต้องมีส่วนในการปฏิรูปทางกฎหมายด้วยเช่นกัน

นักกฎหมายในโลกแห่งการทำงานที่ไม่ได้ใช้แค่ตัวบทกฎหมาย

รศ.ดร.วิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่าด้วยความที่หน่วยงานภาครัฐเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง จึงควรจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองด้วย เพราะฉะนั้นขอบเขตของการแบ่งกลุ่มอาชีพของคณะนิติศาสตร์จึงควรจะต้องเตรียมความรู้ให้นักกฎหมายในแวดวงที่กว้างกว่าแค่กลุ่มทนาย อัยการ ผู้พิพากษา หรือตุลาการ แต่ยังต้องผนวกรวมข้าราชการทั่วไปที่เป็นนิติกรในหน่วยงานต่างๆ ด้วย เหล่านี้ทั้งหมดควรจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนอย่างดี และควรมีการจัดอบรมความรู้ทางกฎหมายให้กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะ

“ในขอบเขตของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปฏิรูปการเรียนการสอนกฎหมายในส่วนของกฎหมายมหาชน ผมพบว่าในการวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น มีจำนวนไม่น้อยที่เกิดปัญหาจากการที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเตรียมคำสั่งหรือทำคำสั่งไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่หรือแม้แต่บทบัญญัติของกฎหมายเสียเอง เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเหล่านี้ก็จะต้องได้รับการอบรมให้ความรู้ทางด้านกฎหมายเป็นอย่างดีด้วย”

ในส่วนของข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเรียนการสอนและเนื้อหาในหลักสูตรนิติศาสตร์ วิษณุมองว่าหลักสูตรในปัจจุบันให้น้ำหนักไปที่เนื้อหาในหลักสูตรทางกฎหมายของคณะนิติศาสตร์เพียงเท่านั้น ทว่าในโลกแห่งการทำงานจริง นักกฎหมายจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ในสาขาวิชาอื่นๆ มาประยุกต์ใช้กับหลักกฎหมายที่เรียนมา ดังนั้นหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์จึงควรปรับให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปในศาสตร์อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

“เนื่องจากคณะนิติศาสตร์เป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัย เวลานักศึกษามาเรียนหลักสูตรนิติศาสตร์ก็จำเป็นต้องมีความรู้ที่เกี่ยวโยงกับคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยด้วย เพราะฉะนั้นในกลุ่มวิชาทางเลือกก็ควรจะจัดให้มีความรู้ทั่วไปในทางเศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา หรือรัฐศาสตร์ เป็นต้น ในส่วนนี้คณะนิติศาสตร์อาจจะเชิญอาจารย์จากคณะอื่นๆ มาสอนเป็นพื้นฐานให้นักศึกษานิติศาสตร์ได้”

อย่างไรก็ดี แม้นักเรียนนิติศาสตร์จะได้เรียนวิชาที่หลากหลายซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต แต่วิธีการเรียนการสอนก็นับเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ การปรับปรุงและออกแบบหลักสูตรให้นักเรียนนิติศาสตร์เข้าใจกฎหมายได้อย่างถ่องแท้ รวมถึงสามารถบูรณาการใช้หลักกฎหมายเชื่อมโยงเข้ากับความรู้จากศาสตร์อื่นๆ ได้ถือเป็นโจทย์สำคัญในการปฏิรูปหลักสูตรนิติศาสตร์ครั้งนี้

“แน่นอนว่าเราเห็นความจำเป็นที่นักนิติศาสตร์ต้องรู้ศาสตร์อื่นๆ ด้วย เพียงแต่ประเด็นสำคัญคือกระบวนการการเรียนการสอนในศาสตร์อื่นๆ จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับหลักสูตรนิติศาสตร์ หากสอนไปแล้วเนื้อหาของคณะอื่นไม่เชื่อมโยงกับการเรียนการสอนกฎหมาย มันก็บูรณาการเข้ากันไม่ได้อยู่ดี”

“อย่างวิชาเศรษฐศาสตร์ก็มีความสำคัญมากในการทำความเข้าใจกระบวนการทางกฎหมาย เพราะตอนทำงานจริงสิ่งที่เราต้องใช้ไม่ใช่แค่เฉพาะบทบัญญัติต่างๆ เท่านั้น ดังนั้นจะมาดูแต่ประมวลกฎหมายต่างๆ อย่างเดียวไม่ได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมนักกฎหมายต้องมีความเข้าใจในศาสตร์อื่นๆ อย่างกว้าง และขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับการจะนำไปใช้ในทางกฎหมายด้วย”

ในความเห็นของวิษณุ เขามองว่าหลักสูตรนิติศาสตร์ในปัจจุบันกำหนดหมวดวิชาบังคับสาขาทางกฎหมายมหาชนน้อยเกินไปสำหรับที่จะนำมาใช้ทำหน้าที่ในทางสายกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง และเสริมว่าการจัดหลักสูตรนิติศาสตร์ในระดับปริญญาตรีควรจะจัดสัดส่วนการเรียนการสอนให้เหมาะสมและพอดีกันทั้งกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน

วิษณุเล่าว่าประเทศไทยเป็นระบบศาลคู่ โดยแยกศาลเป็น 2 ศาล คือศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง แต่ในการบังคับใช้กฎหมายยังคงเป็นกฎหมายเดียวกัน เช่น สัญญาทางปกครองก็คือสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางปกครองก็ต้องรู้กฎหมายเอกชนด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเรียนควบคู่กันไป เพียงแต่ว่าต้องจัดสัดส่วนการเรียนทั้งกฎหมายเอกชนกับกฎหมายมหาชนให้เหมาะสม

“ในฐานะที่ผมอยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง ผมมองว่าแม้ปัจจุบันเราจะใช้ระบบศาลคู่ คือมีศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง แต่การเรียนกฎหมายในระดับปริญญาตรีก็ยังมีความจำเป็นที่นิติศาสตรบัณฑิตทุกคนจะต้องรู้ทั้ง กฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน ผมจึงเน้นย้ำว่าต้องจัดสัดส่วนให้เหมาะสม”

ประเด็นเรื่อง Juris Doctor (JD) เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ จากประสบการณ์ส่วนตัวของวิษณุ เขาตั้งข้อสังเกตว่านักศึกษาในภาคบัณฑิตมักจะมีความรู้ความเข้าใจในวิชานิติศาสตร์ได้ดีกว่านักศึกษาภาคปกติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะนักศึกษาภาคปกติยังมีประสบการณ์การเรียนต่างๆ น้อยกว่า ในขณะที่นักศึกษาภาคบัณฑิตค่อนข้างมีประสบการณ์ ตื่นตัวและเรียนรู้ไว

ทั้งนี้ในทัศนะของวิษณุ การจะทำให้นักศึกษาเข้าใจกฎหมายได้ดีนั้น ไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นภาคบัณฑิตที่เรียนนิติศาสตร์เป็นปริญญาตรีใบที่ 2 แต่มองว่าสิ่งสำคัญคือการออกแบบวิธีการเรียนการสอนให้ดี เพื่อให้มีหลักสูตร เนื้อหาและวิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสม รวมถึงเสริมว่าหากมีการเตรียมความพร้อมมาอย่างดีตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมเหมือนระบบการเรียนของต่างประเทศ จะทำให้การเรียนการสอนนิติศาสตร์ในระดับปริญญาตรีมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“การจะเปลี่ยนไปเป็น JD หรือปริญญาตรีใบที่ 2 ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าขัดกับระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (civil law) ของบ้านเรา และไม่เข้ากับบริบทของสังคมไทย เพราะคนที่จะเรียนนิติศาสตร์ก็สามารถไปทำงานอย่างอื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมายเสมอไป ผมมองว่าหลักสำคัญอยู่ที่การเรียนการสอนมากกว่า” วิษณุกล่าว

หลักสูตรนิติศาสตร์ในโรงเรียนตำรวจ

มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยถึงหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่อยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) รศ. พ.ต.อ. นนท์วินิจ เจริญนวชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจอธิบายว่า คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจในปัจจุบันเป็นแค่สาขากฎหมายในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ จึงไม่ใช่หลักสูตรนิติศาสตร์โดยตรง แต่เป็นนิติศาสตร์ควบกับหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต และพึ่งก่อตั้งขึ้นมาปีนี้เป็นปีที่ 5

นนท์วินิจขยายความว่าคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นสาขาที่สามารถเรียนคาบเกี่ยวกับกฎหมายได้หลากหลาย เช่น กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายทางเศรษฐศาสตร์หรือตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ โดยนนท์วินิจยอมรับว่าหากเทียบกับคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในไทย ความชำนาญในตัวบทกฎหมายของนักเรียนนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจอาจจะสู้กับทางสาขานิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่ได้ เพราะคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นหลักสูตรกฎหมายที่เน้นสาขาตำรวจเป็นหลัก

“คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจกำลังพัฒนาและเป็นหน่วยงานที่ไม่ได้อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) แต่เราก็พยายามทำหลักสูตรให้มีมาตรฐานเท่ากับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในไทย

“คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นคณะน้องใหม่ล่าสุดเมื่อเทียบกับพี่ๆ ที่มีประมาณร้อยสถาบัน แต่ทางเราก็จะรับข้อคิดเห็นและพัฒนาความรู้ของผู้บังคับใช้กฎหมายต้นทาง คือ ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษาและราชทัณฑ์ต่อไป”

แม้โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะเพิ่งก่อตั้งสาขานิติศาสตร์ได้เป็นปีที่ 5 ทั้งยังเป็นหลักสูตรที่เรียนนิติศาสตร์ควบกับหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต แต่นนท์วินิจกล่าวว่าหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นหลักสูตรที่มีการเรียนกฎหมายที่หลากหลายพอสมควร เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายยาเสพติด กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง กฎหมายอาวุธปืน หรือ พ.ร.บ.โทษทางอาญาต่างๆ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่ตำรวจจำเป็นต้องรู้ และจุดประสงค์ที่ก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้น นนท์วินิจระบุว่าเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความรู้ความสามารถให้กับตำรวจซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย

“กฎหมายที่เรียนในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ที่ผ่านมาก็ถือว่าสมบูรณ์พอสมควร เราก็ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นคณะนิติศาสตร์ และคิดว่าตำรวจไทยในอนาคตต้องมีความรู้ทั้งในเชิงรัฐประศาสนศาสตร์และในเชิงนิติศาสตร์ เพื่อจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจไทยมีหลักการที่ชัดเจนมากกว่านี้”

นอกจากนี้ ความตั้งใจหนึ่งในการก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจขึ้นก็เพื่อแก้ไขปัญหาที่นักเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจซึ่งจบหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิตมีแนวโน้มออกจากวงการตำรวจ และผันตัวไปทำงานสายวิชาชีพกฎหมายแทน ด้วยการนำหน่วยกิตในวิชากฎหมายที่เรียนไปเบื้องต้นในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ ประมาณ 70-80 หน่วยกิต เทียบโอนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงหรือสุโขทัยธรรมาธิราชแทน ซึ่งนนท์วินิจเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘ภาวะสมองไหล’ ของนักเรียนนายร้อยตำรวจ

“เนื่องจากตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสุโขทัยธรรมาธิราชเปิดให้มีหลักสูตรเทียบโอน เพราะฉะนั้นก็จะมีนักเรียนนายร้อยตำรวจที่จบรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิตซึ่งเรียนกฎหมายมาครึ่งหนึ่งแล้ว เทียบโอนไปเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงหรือไม่ก็สุโขทัยธรรมาธิราช และจากนั้นก็ไปเรียนเนติบัณฑิตต่อ”

ทั้งนี้ นนท์วินิจเน้นย้ำว่าคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่ใช่หลักสูตรภาคบังคับ แต่เป็นทางเลือกให้เรียนได้ตามความสนใจควบคู่กับหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งเป็นหลักสูตรภาคบังคับ

“ตอนนี้คณะนิติศาสตร์ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจยังไม่ได้เป็นนิติศาสตร์ 100% เหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่เราเรียนรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิตแล้วควบมาอยู่ในหลักสูตรนิติศาสตร์ ตอนนี้นักเรียนนิติศาสตร์รุ่นแรกมีประมาณ 146 นาย จาก 265 นาย หมายความว่า 265 นายจบรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิตเรียบร้อยแล้ว และเหลือผู้สมัครใจเรียนนิติศาสตร์ประมาณ 146 นาย ซึ่งนักเรียนนิติศาสตร์รุ่นแรกของโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็สามารถไปเรียนเนติบัณฑิตต่อได้ตามความสมัครใจ โดยที่ไม่ต้องเทียบโอนหน่วยกิตไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอื่นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรนิติศาสตร์ควบรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิตของโรงเรียนนายร้อยตำรวจในปัจจุบันยังไม่ได้รับการรับรองจากเนติบัณฑิตยสภาและสภาทนายความ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจกำลังเร่งดำเนินการ เพื่อให้นักเรียนนายร้อยตำรวจที่กำลังจะจบการศึกษาในสาขานิติศาสตร์สามารถนำวุฒิการศึกษาที่มีไปเรียนต่อหรือนำไปประกอบวิชาชีพในแวดวงกฎหมายต่อไปได้

“ตอนนี้การบ้านของคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจก็คือต้องให้เนติบัณฑิตยสภาและสภาทนายความรับรองหลักสูตร ซึ่งตอนนี้ก็กำลังดำเนินการให้เนติบัณฑิตยสภาเข้ามาตรวจและรับรองหลักสูตรนิติศาสตร์ เพราะวุฒิการศึกษาของพวกเราคือรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต ไม่ใช่นิติศาสตร์บัณฑิต เพียงแต่เราต้องการปรับวุฒิหลักให้มีนิติศาสตร์เกิดขึ้นในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ” นนท์วินิจกล่าวสรุป

 ‘ความกล้าหาญทางจริยธรรม’ คือหัวใจสำคัญของการเป็นนักกฎหมาย

แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายโดยตรง พ.ต.อ. ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการสถาบันส่งเสริมงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล็งเห็นปัญหาสำคัญของการเรียนการสอนนิติศาสตร์ คือการที่ไม่ได้ปลูกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่เพียงพอให้แก่นักเรียนนิติศาสตร์ จนนำมาซึ่งปัญหาการใช้ดุลพินิจในการทำงานที่แตกต่างของนักกฎหมายแต่ละคน พร้อมยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของจริยธรรมนักกฎหมายเป็นอย่างมาก

การปรับปรุงหลักสูตรนิติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กันคือการปลูกฝังให้นักเรียนนิติศาสตร์ตระหนักถึงความสำคัญของหลักจริยธรรม เพื่อให้นักกฎหมายทำงานได้อย่างซื่อตรง และเพื่อไม่ให้เกิดกรณีที่ทำให้สังคมตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของจรรยาบรรณและจริยธรรมของนักกฎหมายไทยอยู่เสมอ

“เมื่อพูดถึงการเรียนการสอนนิติศาสตร์ ผมคิดว่าปัญหาหลักสำคัญคือเราไม่ได้ปลูกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่เพียงพอ ในกรณีสำคัญๆ ที่ต้องใช้ความกล้าหาญในการสั่งการ เราจะพบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์เยอะมากว่าสิทธิเสรีภาพตามหลักการสำคัญๆ หายไปไหนหมด

“สิ่งสำคัญมากคือเราต้องปลูกฝังให้เขามีคุณธรรมจริยธรรมและมีความกล้าหาญเมื่อประสบปัญหาเวลาที่ต้องตัดสิน อย่างกรณีของการให้ประกันตัวในคดีต่างๆ ทำไมคดีอาญาร้ายแรงให้ประกันตัวกันง่าย ในขณะที่บางคดีให้ประกันตัวยากมาก แล้วพอให้ประกันก็กำหนดเงื่อนไขที่ดูเหมือนไม่ให้ประกัน เหล่านี้คือเรื่องของความกล้าหาญทางจริยธรรม”

มากไปกว่านั้น ศิริพลตั้งข้อสังเกตว่าบทบาทของเนติบัณฑิตยสภาไทยควรจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยมองว่าจะต้องเป็นองค์กรที่เข้ามาควบคุมความประพฤติอันถูกต้องเหมาะสมของนักกฎหมาย รวมทั้งควบคุมให้นักกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นอัยการ ทนาย ผู้พิพากษา หรือศาล ไม่หลุดกรอบจริยธรรมในการทำงาน

“ผมพบว่าที่สหรัฐอเมริกาก่อนจะเรียนต้องมีการปฏิญาณตนที่จะเป็นนักกฎหมายที่ดี และทางมหาวิทยาลัยจะต้องมีการรายงานความประพฤติไปยังเนติบัณฑิตยสภาเสมอว่านักศึกษามีความเหมาะสมในการเป็นนักกฎหมายต่อไปหรือไม่ โดยเนติบัณฑิตยสภาของอเมริกาเป็นหน่วยงานที่จะดำเนินการในกรณีที่นักกฎหมายผิดจริยธรรม

“เนติบัณฑิตยสภาก็จะมีบทบาทมากในการควบคุมนักกฎหมายที่มีความประพฤติไม่สอดคล้องกับหลักจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นทนายความ ศาล อัยการ หรือแม้แต่คณาจารย์ก็ต้องถูกควบคุมความประพฤติด้วยเนติบัณฑิตยสภาประจำรัฐของอเมริกาทั้งสิ้น และจะมีการร้องเรียนหรือฟ้องร้องต่อศาลและเนติบัณฑิตยสภาได้โดยตรง”

ในแง่ของจริยธรรม ศิริพลเสนอว่านักกฎหมายไทยควรต้องมีการรายงานความประพฤติอย่างสม่ำเสมอว่ามีความเหมาะสมจะเป็นนักกฎหมายต่อไปในอนาคตหรือไม่ รวมถึงอำนาจหน้าที่ในการจัดการ ดูแล และควบคุมความประพฤติทั้งในแง่ของการทำงานและการรักษาจริยธรรมของนักกฎหมาย องค์กรเนติบัณฑิตยสภาควรจะเข้ามามีบทบาททั้งหมด ส่วนเรื่องของการปรับปรุงหลักสูตรคณะนิติศาสตร์ควรให้เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก

“ประเด็นแรกที่ต้องคุยกันคือเนติบัณฑิตยสภาจะไว้ใจมหาวิทยาลัยในการพัฒนาหลักสูตรมากแค่ไหน ถ้าไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวเลยได้ไหม ให้มีแค่การสอบและการคุมความประพฤติอย่างเดียว หมายถึงต้องคุมจริงๆ ในเรื่องของจริยธรรม ไม่ใช่มีไว้เพื่อเรียน อบรม และเก็บค่าเทอม-ค่าตำรา

“แม้ว่าจะมี ก.ต., ก.อ., สภาทนายความและองค์กรตำรวจดูแลแล้ว แต่ถ้านักกฎหมายประพฤติไม่ชอบด้วยหลักจริยธรรม เนติบัณฑิตยสภาก็ต้องเข้าไปดูแลได้ เช่น ทำไมศาลไม่ให้ประกันตัวในคดีที่ควรต้องได้รับการประกันตัว กรณีนี้เนติบัณฑิตยสภาควรเข้าไปตรวจสอบว่าประพฤติตามจริยธรรมไหม จะถูกเพิกถอนใบปริญญาหรือใบอนุญาตการเป็นนักกฎหมายได้ไหม หรือสามารถส่งเรื่องไปให้มหาวิทยาลัยเพิกถอนใบปริญญาเพราะนักกฎหมายไม่ประพฤติตามหลักจริยธรรมนักกฎหมายได้ไหม ควรจะต้องมีบทบาทนี้เข้ามา”

ศิริพลยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ในประเทศไทย นักกฎหมายก็เปรียบเหมือนช่างทาสี กล่าวคือผู้ที่มีอำนาจในมือหากอยากจะทาสีขาวให้กลายเป็นสีดำ หรืออยากจะทาสีดำให้กลายเป็นสีขาวก็สามารถทำได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าสะท้อนใจที่วงการนิติศาสตร์ของไทยถูกมองว่าเป็นนักกฎหมายที่ไม่ตรงไปตรงมาและไม่มีจริยธรรม เปลี่ยนแปลงไปได้ตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ อีกทั้งองค์กรสำคัญๆ ก็ไม่มีมาตรฐานสูงมากพอจะควบคุมจริยธรรมของนักกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องปฏิรูปไม่แพ้กับการปรับปรุงการเรียนการสอน

ในการปฏิรูปวงการนักกฎหมายไทย มหาวิทยาลัยก็มีส่วนสำคัญในการปลูกฝังจริยธรรมนักกฎหมายให้กับผู้เรียนนิติศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยต้องปรับค่านิยมใหม่จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับการสอบแข่งขันเนติบัณฑิต ต้องเปลี่ยนมามองคุณค่าที่แท้จริงของการเป็นนักกฎหมาย คือนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ช่วยเหลือสังคม รวมถึงยกระดับจริยธรรมของนักกฎหมายไทยให้เป็นค่านิยมใหม่ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องช่วยกันนำร่องให้เป็นมาตรฐานของการเรียนการสอนนิติศาสตร์

“ถ้าอยากให้มีนักกฎหมายที่ดีเราก็ต้องเริ่มที่มหาวิทยาลัย ต้องมีการควบคุมความประพฤติ ไม่ใช่แค่เรียนให้จบๆ ไป ให้นักศึกษาไปสอบเนติบัณฑิตแข่งกันแล้วมาวัดว่าใครสอบได้ที่ 1 แปลว่ามหาวิทยาลัยนั้นเก่งกว่า สิ่งนี้เป็นค่านิยมที่ผิด เราควรต้องมาแข่งกันในเรื่องการตรวจสอบมาตรฐาน ตรวจสอบคุณธรรมจริยธรรมให้ความสำคัญว่าลูกศิษย์ที่จบไปสร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากแค่ไหน ต้องเชิดชูคนที่ทำงานเพื่อสังคม ไม่ใช่แค่เชิดชูคนที่สอบได้ และควรให้คุณค่าของการปฏิบัติตน ไม่ใช่ให้ค่าแค่คะแนนและลำดับที่สอบได้”

นอกเหนือจากการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ศิริพลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการควบคุมจริยธรรมของนักกฎหมาย การปรับปรุงบทบาทของเนติบัณฑิตยสภา ตลอดจนองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการทำงานของนักกฎหมาย รวมถึงการปฏิรูประบบการทำงานที่ควรนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องทุ่นแรง และเปิดให้บุคคลจากหลายหน่วยงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้อำนาจทางกฎหมายผูกขาดอยู่ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจนเกินไป เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปรับปรุงควบคู่กันไป

นอกจากนี้ ศิริพลมองว่าเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาวงการนิติศาสตร์ได้ก็คือเทคโนโลยี เพราะด้วยข้อจำกัดของ ป.วิ.อาญา ที่เขียนไว้ว่าคนที่จะทำการสอบสวนได้ต้องเป็นพนักงานสอบสวนเท่านั้น ทำให้จากตำรวจประมาณ 240,000 คนนั้น คนที่มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานจริงๆ มีอยู่แค่ประมาณ 1 หมื่นคน

“ถ้าอยากจะพัฒนากันจริงๆ ผมคิดว่าต้องเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการสอบสวนและต้องยอมรับการมีผู้ช่วยที่อาจจะเป็นฝ่ายเอกชน นอกเหนือจากคนไม่กี่กลุ่มที่ผูกขาดกันอยู่อย่างนั้น เราควรเอามิติใหม่เข้าไปแทนความคิดเก่าๆ ระบบการเรียนจะต้องมีการควบคุมเรื่องจริยธรรมอย่างจริงจังอยู่ตลอดโดยองค์กรเนติบัณฑิตยสภา และควรคิดระบบใหม่ที่มีผู้แทนจากหน่วยต่างๆ เข้าไปดูแลองค์กรที่เป็นกลางในการควบคุมจริยธรรมของนักกฎหมายทั้งปวง” ศิริพลกล่าว

ภาพนิติศาสตร์ในมุมมองของทหาร

ในแง่มุมของทหารที่ก็มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายไม่น้อย พ.อ.สิรภพ พูลเจริญ รองผู้บัญชาการโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญอธิบายว่า แม้แต่ทหารก็จำเป็นต้องเรียนวิชานิติศาสตร์ โดยโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญมีบทบาทในการจัดการศึกษาอบรมนายทหารพระธรรมนูญ ทั้งทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ ในความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทหาร กฎหมายกระบวนการยุติธรรมทหาร กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันจำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการทหาร

สิรภพระบุว่าสาเหตุที่โรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญต้องการจัดการศึกษาความรู้ดังกล่าวให้กับนายทหารพระธรรมนูญนั้น มี 2 ประการ

ประการแรก เนื่องจากเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเกี่ยวกับศาลทหารไว้ ดังนั้นกรมพระธรรมนูญโดยโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญจึงต้องจัดการศึกษาอบรมให้กับนายทหารเหล่าพระธรรมนูญเพิ่มเติมภายหลังจากที่จบปริญญาตรีทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยไปแล้ว ทั้งในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทหาร เช่น กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลทหารหรือประมวลกฎหมายอาญาทหาร เป็นต้น

ประการที่ 2 จำเป็นต้องจัดการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคง เช่น กฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น โดยเฉพาะในกฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สิรภพกล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ตนจบนิติศาสตร์มา ปัจจุบันหลักสูตรปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยนั้นน่าจะยังไม่มีการจัดการศึกษาในวิชากฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง คือ กฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมองว่าหากมีการจัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายเกี่ยวกับทหารและวิชากฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงในระดับปริญญาตรี จะทำให้ผู้เรียนนำความรู้ไปต่อยอดในวิชาชีพในอนาคตได้

“ถ้ามีการจัดการศึกษาวิชากฎหมายเกี่ยวกับทหารในระดับปริญญาตรีก็จะเป็นทางเลือกให้กับนักศึกษาเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว เพื่อให้พวกเขาสามารถประกอบอาชีพหรือใช้ความรู้ที่เกี่ยวกับกฎหมายทหารหรือกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงที่หากจะมีการเพิ่มเติมในระดับปริญญาตรี ก็จะนำมาใช้ประกอบวิชาชีพในส่วนของนายทหารพระธรรมนูญได้ หรือไปเป็นนิติกรอยู่ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือไปอยู่ในส่วนของงานทางด้านกฎหมายทหารในอีกสายงานหนึ่งคือเหล่าทหารสารวัตร”

ความเห็นส่วนตัวของสิรภพในการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนนิติศาสตร์ เขากล่าวว่าในกลุ่มวิชาแรกคือวิชาทั่วไป 15 หน่วยกิต ส่วนตัวต้องการให้ในหลักสูตรปริญญาตรีทางด้านกฎหมายมีการจัดการเรียนการสอนในวิชาที่เกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติ ไม่จะเป็นสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อให้นักกฎหมายมีพื้นความรู้เกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติเพิ่มเติมยิ่งขึ้น รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือรับรองเกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติในกลุ่มวิชาทั่วไปดังกล่าว


ความคิดเห็นทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติอันหลากหลายของคนที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรม และสะท้อนให้เห็นว่าการปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์ไม่อาจจำกัดแค่ในส่วนของหลักสูตรหรือรายวิชาของคณะนิติศาสตร์เท่านั้น แม้แต่องค์กร หน่วยงาน หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมต่างก็จำเป็นต้องการปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save