fbpx

“ต้องออกไปนอกอาณาจักรกฎหมาย” เมื่อสังคมไม่ได้ต้องการแค่นักท่องฎีกา

ปัญหาจำนวนมากที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเกี่ยวพันกับกระบวนการยุติธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ประชาชนมีความคาดหวังว่าองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมจะทำงานเพื่อสร้างความยุติธรรมและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น แต่เมื่อผลลัพธ์ออกมาในทางตรงกันข้ามในหลายกรณี นำมาสู่คำถามว่าเราต้องปรับปรุงส่วนใดบ้างเพื่อให้กลไกการสร้างความยุติธรรมดีขึ้น

ด้านนักกฎหมายเองมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความเป็นธรรม ท่ามกลางข้อวิจารณ์ต่อกระบวนการยุติธรรมเกิดคำถามสำคัญว่าทำอย่างไรสังคมไทยจึงจะสามารถสร้างนักกฎหมายที่มีบทบาทในการส่งเสริมความเป็นธรรมได้ ไม่ใช่เพียง ‘นักท่องฎีกา’ ที่หวังเพียงทำข้อสอบได้ดีและไต่เต้าในหน้าที่การงานโดยไม่สนใจสังคมภายนอก

หากมองที่ต้นทางการสร้างนักกฎหมาย คือระบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ก็มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสำคัญที่สังคมวิพากษ์ คือทำอย่างไรให้นักกฎหมายยึดโยงกับสังคมมากขึ้น

ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติได้จัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์แห่งชาติและเปิดรับฟังความเห็นหลายครั้งจากผู้คนหลากแวดวง ทั้งในแวดวงกฎหมายและคนทั่วไป น่าสนใจว่าข้อวิจารณ์โดย ‘คนที่มาจากโลกอื่น’ คือบุคคลที่ไม่ได้ทำงานด้านนิติศาสตร์โดยตรงมีความเห็นตรงกันว่า การเรียนนิติศาสตร์สมควรเพิ่มความรู้ในศาสตร์อื่นๆ ให้ผู้เรียนมีความเท่าทันโลก เพื่อจะสามารถออกไปช่วยแก้ปัญหาในสังคมได้

101 จึงรวบรวมความเห็นทั้งจากมุมมองสิทธิมนุษยชน เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และมานุษยวิทยา จากการรับฟังความเห็นของคณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้เห็นข้อเสนอการปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์ที่หลากหลายและช่วยสะท้อนภาพนักกฎหมายที่สังคมต้องการ

‘Law in Action’ ออกไปนอกอาณาจักรกฎหมาย

นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่าหลักสูตรนิติศาสตร์ของไทยในสถาบันส่วนมากจะเรียนเป็นปริญญาตรีใบแรก ผู้เรียนมาจากนักเรียนที่เพิ่งจบ ม.6 มีบางสถาบันที่มีภาคบัณฑิตคือเป็นปริญญาตรีใบที่สองสำหรับคนที่จบจากศาสตร์อื่นๆ แล้วสนใจเข้ามาเรียนกฎหมาย คล้าย Juris Doctor (JD) ของสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ยังมีระบบพรีดีกรีที่นักเรียนสามารถเรียนสะสมหน่วยกิตได้ก่อน ทำให้เรียนจบแล้วไปสอบตั๋วทนายหรือสอบเนติบัณฑิตได้เร็ว จนทำให้เห็นผู้พิพากษาที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งมาพร้อมกับประสบการณ์ที่น้อยลง

เมื่อผู้เรียนสามารถสอบเข้าเรียนหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตได้แล้ว จะมีเพียงช่วงปี 1 ที่ได้เรียนศาสตร์อื่นๆ จากวิชาพื้นฐานทั่วไป (General Education) เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาต่างประเทศอื่นๆ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บัญชีสำหรับนักกฎหมาย จากนั้นก็จะเข้าสู่การเรียนวิชากฎหมาย แบบ pure law

“การพยายามทำให้นิติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง มีระบบวิธีคิด ระเบียบวิธีวิจัยของตัวเอง ทำให้นักเรียนกฎหมายอยู่ในแวดวงอาณาจักรของกฎหมายของตัวเอง ศึกษาทฤษฎี ดูตัวบท ดูฎีกา พอจบมหาวิทยาลัยก็ไปสู่รั้วของสถาบันอบรมในทางวิชาชีพ อบรมเพื่อสอบใบอนุญาตว่าความหรืออบรมของเนติบัณฑิตยสภา

“การบ่มเพาะนักกฎหมายในบ้านเราจะเป็นในลักษณะการอยู่ในอาณาจักรของตัวเอง พอเรียนลึกลงไปเรื่อยๆ ในเชิงวิชาชีพ ก็จะเป็นการเรียนในเชิงเป็นช่างเทคนิค อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยให้ข้อสังเกตว่านักกฎหมายบ้านเราเป็นนักนิติในเชิงอักษรศาสตร์ และเป็นช่างเทคนิค แบบที่เห็นสังคมพูดถึงเนติบริกร มีคนอยากให้ออกกฎหมายแบบนี้ เราก็รับมาประกอบสร้าง ผลิตกฎหมายออกไปเพื่อที่จะบังคับใช้ในสังคม”

เหล่านี้จะเห็นว่าการเชื่อมโยงความรู้ระหว่างนิติศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ มีน้อยมาก เมื่อถึงกระบวนการเชิงวิชาชีพ เช่นการพิพากษาในศาลจะมีการเชิญพยานผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาให้ความรู้แก่ผู้พิพากษา ซึ่งนัทมนเห็นว่าวิธีการนี้อาจไม่เพียงพอที่จะเปิดมุมมองความเข้าใจอย่างถ่องแท้ การศึกษากฎหมายจึงไม่ควรศึกษาเฉพาะในส่วนที่เป็นตัวบท (law in book) เท่านั้น แต่ควรมีการศึกษากฎหมายในเชิงการปฏิบัติ (law in action) เช่นศึกษาว่ากฎหมายฉบับนี้เมื่อนำไปใช้ในสังคมแล้วใช้ได้จริงหรือเปล่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นอย่างไร ซึ่งการศึกษากฎหมายในลักษณะนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้มุมมองในศาสตร์อื่นๆ เข้ามาด้วย เช่น กฎหมายกับเศรษฐศาสตร์ กฎหมายกับเพศภาวะ กฎหมายกับสุขภาพ กฎหมายกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

นัทมนย้ำว่า การศึกษาในเชิงปฏิบัติเช่นนี้จะเป็นการเปิดมุมมองที่ทำให้นักเรียนกฎหมายมีความตระหนักในศาสตร์อื่นๆ นอกเหนือไปจากการอยู่เฉพาะในอาณาจักรกฎหมายของตัวเองอย่างที่เป็นมา

ปัญหาของนักกฎหมายในบทบาทการอำนวยความยุติธรรม

จำเป็นอย่างยิ่งที่นักกฎหมายต้องรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในแวดวงอื่น จากการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่านับจากปี 2475 ผ่านมา 90 ปี ปัจจุบันนี้เป็นช่วงที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมรุนแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ปัญหาเหล่านี้นอกจากจะสัมพันธ์กับปัญหาทางการเมืองที่สังคมเผชิญหน้าอยู่โดยตรงแล้ว ยังมีหลายปมปัญหาที่ดำรงมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวบทกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรและเรื่องสิทธิมนุษยชนหลายเรื่องก็ยังไม่ได้แก้ไขมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540

นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญคือท่าทีหรือมุมมองของผู้ใช้กฎหมายต่อประชาชน ซึ่งขาดความตระหนักว่าบทบาทของตนเองคือผู้อำนวยความยุติธรรม โดยเฉพาะในองค์กรวิชาชีพทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา หรือราชทัณฑ์

“ปัจจุบันเราเห็นบทบาทของเจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆ ในการเป็นเครื่องมือของรัฐในการจำกัดหรือปราบปรามการเรียกร้องสิทธิของประชาชน ปัญหาคือเรื่องมุมมองของผู้ใช้กฎหมายหรือจะเรียกว่าการบิดเบือนกฎหมายก็ได้ คนที่มีหน้าที่ตีความกฎหมายไม่ได้ทำงานโดยใช้หลักวิชาและความรู้ หลายครั้งทำให้ตั้งคำถามได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมีอคติ มีผลประโยชน์ หรือมีความไม่รู้ ไม่เข้าใจแอบแฝงอยู่หรือเปล่า เราเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“นี่คือปัญหาใหญ่ของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมซึ่งจัดตั้งอยู่บนความไว้วางใจของสาธารณะ เมื่อไรที่ความไว้วางใจของสังคมที่มีต่อองค์กรต่างๆ เหล่านี้ลดน้อยหรือหดหายลง ผมคิดว่าสังคมนั้นมีปัญหาแน่ๆ ในสังคมที่มีความขัดแย้ง ถ้านักกฎหมายยังสามารถทำหน้าที่ตามหลักวิชา ตรงไปตรงมาและเป็นอิสระได้ จะเป็นส่วนที่ทำให้สังคมสามารถเดินฝ่าความยุ่งยากไปได้”

แน่นอนว่าการเรียนการสอนนิติศาสตร์ไม่ใช่ต้นเหตุเดียวที่ทำให้เกิดสภาพปัญหานี้ แต่ยังมีเรื่องโครงสร้างองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงอุดมการณ์การทำงานของวิชาชีพต่างๆ ที่ไม่สัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตย

“ต่อให้เราสอนดีขนาดไหน สอนให้นักศึกษามีความรู้เพียบพร้อมขนาดไหน แต่พอจบออกไปทำงานภายใต้โครงสร้างที่ไม่เปิดโอกาสให้ใช้หลักวิชาได้อย่างเต็มที่ก็อาจจะทำให้นักเรียนกฎหมายที่มีความรู้ดีไม่อาจทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้” สมชายกล่าว

นอกจากนี้สมชายมีข้อเสนอว่า ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เผชิญปมปัญหาทางกฎหมาย สิ่งที่ขาดหายไปคือนักกฎหมายที่มีความรู้เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ซึ่งเป็นบทบาทที่คณะนิติศาสตร์ของสถาบันในพื้นที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ทั้งในแง่ความรู้ งานวิจัย หรือประเด็นปัญหาเฉพาะของท้องถิ่น

“ผมเคยเสนอว่าคณะนิติศาสตร์ในภูมิภาคควรมีฐานความรู้ในประเด็นท้องถิ่น เช่นนักกฎหมายที่เชียงใหม่ควรมีความรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิทธิชุมชน ควรเป็นภาระของสถาบันการศึกษาที่จะต้องตระหนักถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น

“นอกจากการเรียนการสอนแล้ว ภาระหน้าที่หนึ่งของคณะนิติศาสตร์คือการทำงานวิจัย เช่น ในการต่อสู้เรื่องสิทธิท้องถิ่นหรือสิทธิชุมชน เมื่อมีการผลักดันประเด็นเหล่านี้สู่ศาล อาจทำให้ถูกปฏิเสธในศาลยากขึ้น หากมีงานวิจัยเป็นฐานในการสู้คดี ทั้งงานวิจัยทางกฎหมาย ทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา หรือทางประวัติศาสตร์” สมชายกล่าว

ในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้สัมผัสปมปัญหาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะคดีความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ทำให้เธอมองเห็น ‘อคติ’ ในระบบยุติธรรม โดยเฉพาะกับผู้ต้องหาชาวมลายูมุสลิมหรือแรงงานข้ามชาติที่ถูกฟ้องร้องคดีความมั่นคง เหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้พรเพ็ญสมัครเรียนนิติศาสตร์ภาคบัณฑิตที่ธรรมศาสตร์ เพื่อจะได้เข้าไปมีบทบาทในคดีเหล่านี้ในฐานะทนายความ

สภาพปัญหาในบทบาทของนักกฎหมายที่พรเพ็ญพบจากการทำงาน ได้แก่

1. คดีนโยบายที่นำกระบวนการยุติธรรมไปใช้แก้ปัญหาสังคม เช่น คดีความมั่นคง คดีที่ดินป่าไม้ คดียาเสพติด คดี 112 และคดีเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม สังเกตว่ามีแนวนโยบายล่วงหน้าในกระบวนการต่างๆ เช่น ตั้งข้อหารุนแรงไว้ก่อนเพื่อไม่ให้ประกันตัว, กำหนดหลักทรัพย์ในการประกันตัวสูง หรือมีเงื่อนไขการประกันตัวที่จำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดเห็น

2. กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการประกาศกฎหมายพิเศษทับซ้อนกับกฎหมายปกติ ทำให้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมละเลยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

3. หลักการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายและความยุติธรรม ไม่ได้ผูกเข้ากับระบบการศึกษานิติศาสตร์ของไทย ทั้งที่ไทยก็ลงนามในอนุสัญญาฉบับต่างๆ ทำให้เมื่อมีการอ้างกฎหมายระหว่างประเทศในอนุสัญญาเหล่านี้เพื่อใช้ต่อสู้คดีในศาล กลับไม่ได้ถูกพิจารณา โดยอ้างว่าเป็นของต่างชาติ

“บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจำนวนมากเรียนจบจากต่างประเทศแล้วมาสอบผู้พิพากษาหรืออัยการ แต่ในคดีนโยบายต่างๆ ที่มีลักษณะขัดแย้งกันในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น หลักการสากลจะถูกปัดตกไปไว้ข้างๆ แล้วเอาหลักประเพณีปฏิบัติ ยี่ต๊อก หรือคำพิพากษาศาลฎีกาที่เก่ามากเอามาอ้างอิง เราควรจะก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลังไปอยู่จุดเดิมแล้วอ้างเรื่องความเป็นชาตินิยมในระบบกฎหมายไทย”

พรเพ็ญจึงมีข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนนิติศาสตร์ ดังนี้

1. การแก้ปัญหาขาดแคลนนักกฎหมายในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความขัดแย้งหรือมีคดีนโยบายต่างๆ ข้อเสนอเบื้องต้นคือคณะนิติศาสตร์ในพื้นที่นั้นๆ ควรเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษานิติศาสตร์ภาคบัณฑิตได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าเทอม หรือมีทุนการศึกษาด้านนิติศาสตร์สำหรับภาคประชาสังคมหรือประชาชนทั่วไป

2. การจะทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมตั้งแต่ต้นจนจบจะต้องมีผู้สังเกตการณ์ในลักษณะ paralegal เช่นที่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้สร้างกลไกภาคประชาสังคมอบรมความรู้ทางกฎหมายให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจนสามารถเป็นผู้ช่วยทนายความได้ คอยรับเรื่องร้องเรียนเบื้องต้น เขียนจดหมายร้องเรียนแบบง่ายๆ ส่งไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานสภาทนายความหรือกรรมการสิทธิมนุษยชนหรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายของคณะนิติศาสตร์ ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ฝึกงานของนักศึกษากฎหมายได้ด้วย

3. การมีระบบล่ามในกระบวนการยุติธรรม สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์มลายูมุสลิม แรงงานข้ามชาติหรือผู้ลี้ภัย ซึ่งสถาบันการศึกษาอาจเปิดวิชาล่ามในกระบวนการยุติธรรมหรืออาจมีการอบรมร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์กับอักษรศาสตร์

4. การแสดงความเห็นทางกฎหมายต่อสาธารณะของนักกฎหมายที่อ้างอิงกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ความขัดแย้งลดลง

“อยากจะให้มีระบบการศึกษาหรือทำความเข้าใจเรื่องคดีความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น คำฟ้องที่ตำรวจเขียนตั้งแต่ 2547 จนปัจจุบันแทบจะไม่เปลี่ยนเลยทั้งที่สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไปมากแล้ว กลไกต่างๆ ของการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงถูกเอามาใช้ในระดับชาติอย่างกว้างขวางมากขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ในคดีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามผู้ชุมนุมต่างๆ

“กรณีผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ข้างล่างยังมีปัญหาอีกมากของกระบวนการยุติธรรมที่มีการครอบงำแนวคิดด้านความมั่นคงของทหาร ทั้งการบังคับใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อเนื่องมาถึงมาตรา 112 เป็น big elephant in the room แต่นิติศาสตร์ทำเหมือนไม่มองเห็น ปิดโอกาสของสังคมที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ร่วมกัน

“กระบวนการยุติธรรมที่มีลักษณะเป็นคดีนโยบายสร้างความบอบช้ำกับหลักนิติรัฐ-นิติธรรมที่หลายคนพยายามจะประคับประคอง จนมันล่มสลายไปแล้ว โดยเฉพาะในบริบทของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีนโยบายเรื่องที่ดินป่าไม้ การบังคับใช้มาตรา 112 และคดีเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของประชาชน อยากให้มีการศึกษา ทำความเข้าใจ แล้วร่วมผลักดันให้พวกเราออกจากหลุมดำนี้ร่วมกัน” พรเพ็ญกล่าวทิ้งท้าย

‘ความเหลื่อมล้ำ-ความเป็นธรรม’

หัวใจที่ขาดหายในการออกแบบกติกา

เมื่อกฎหมายเป็นกติกาที่บังคับใช้ทุกคนในสังคม ทำให้กฎหมายมีส่วนเข้าไปเกี่ยวพันประเด็นปัญหาต่างๆ ในทุกแวดวง แต่สิ่งที่หายไปคือการขาดความเชื่อมโยงระหว่างนักกฎหมายกับศาสตร์อื่นๆ ในฐานะนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ เดชรัต สุขกำเนิด มองความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์กับนิติศาสตร์โดยยกตัวอย่างเรื่องการควบรวมบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้น ว่านิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จะเข้ามาร่วมตอบปัญหาอย่างในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ได้

“นักเศรษฐศาสตร์มีความกังวลใจว่าจะควบรวมกันจริงเหรอ จึงหันไปมองว่านักนิติศาสตร์จะตีความประเด็นเหล่านี้อย่างไร ส่วนนักนิติศาสตร์ก็คงคิดว่าจะใช้ข้อกฎหมายในแง่มุมไหนถ้ามีคนบอกว่าประสิทธิภาพมันจะลดลงหรือมีคนแย้งว่าค่าใช้จ่ายมันจะแพงขึ้นถ้ามีการควบรวมกัน ก็หันมามองว่านักเศรษฐศาสตร์จะตอบอย่างไร นี่คือตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดว่าในอนาคตเราคงจะต้องเจอคำถามเหล่านี้”

เดชรัตขยายความว่า ในมุมเศรษฐศาสตร์ ทุกการแลกเปลี่ยนในสังคมมีกติกากำกับอยู่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย การเก็บภาษี หรือการตกลงกัน การแลกเปลี่ยนทั้งหลายจะมีความเป็นธรรมหรือมีประสิทธิภาพหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับกติกา แต่เรื่องที่ต้องเน้นย้ำคือกติกาในสังคมไม่ได้มีเฉพาะส่วนที่เป็นกฎหมาย เพราะมีกติกาที่ไม่ใช่กฎหมายด้วย

‘กติกา’ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสานสัมพันธ์ระหว่างนิติศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ คำถามสำคัญคือทุกวันนี้เรามองวงจรของกติกาครบถ้วนหรือไม่ คือ 1. การออกแบบ 2. การนำไปใช้ 3. การบังคับใช้ 4. การประเมินผล

“ทุกวันนี้เราโฟกัสเพียงบางจุดหรือเปล่า เช่นโฟกัสที่การบังคับใช้เป็นหลักและอาจมองเรื่องการนำไปใช้นิดหน่อย จึงกลายเป็นว่าบังคับใช้กติกาแล้วไม่ได้มองต่อไปว่าผลออกมาอย่างไร คำถามคือถ้าเราไม่ได้ให้ความสำคัญสี่ขั้นตอนนี้อย่างเท่าเทียมกันจะนำไปสู่ปัญหาอะไร” เดชรัตกล่าวและยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่กำหนดว่าพื้นที่ใดก็ตามที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ถือว่าเป็นพื้นที่ป่า ขณะที่กฎหมายนี้มีอายุ 81 ปี ที่ผ่านมามีการประเมินไหมว่ากฎหมายสร้างผลอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา แล้วทำไมกฎหมายนี้ยังดำรงอยู่ ทำไมนักกฎหมายมองกฎหมายนี้ในฐานะการดำรงอยู่เฉยๆ แต่ไม่ประเมินผลว่ากฎหมายนี้ควรดำรงอยู่หรือไม่

“การที่จะร่วมกันออกแบบกติกาให้ดีอย่างน้อยที่สุดต้องมองสี่ด้าน คือ 1. ทางเลือกในสังคมที่เรามีอยู่คืออะไร 2. มีใครเกี่ยวข้องบ้าง 3. อำนาจต่อรองของแต่ละคนที่เกี่ยวข้องคืออะไร 4. ผลกระทบต่อเนื่องในแต่ละทางเลือกคืออะไร สี่ข้อนี้จะนำไปสู่คำถามสำคัญคือเรื่องความเหลื่อมล้ำกับความเป็นธรรม ซึ่งคือหัวใจที่ทั้งนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จะต้องเรียน เพื่อที่จะตอบคำถามต่างๆ ในสังคม เช่น เรื่องการสมรส คนต่างเพศกันสมรสได้ เพศเดียวกันสมรสไม่ได้ อะไรคือคำอธิบายเรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในคำถามเหล่านี้ อะไรคือตัวตั้งต้นที่จะเป็นคำตอบ และเราอาจต้องตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำมาในอดีตนั้นเท่ากับความเป็นธรรมโดยอัตโนมัติหรือเปล่า”

อีกด้านหนึ่ง การจะตอบคำถามในแต่ละเรื่องนั้นต้องมีข้อมูลจากสถานการณ์ความเป็นจริง ซึ่งการจะเพิ่มมุมมองแบบนี้ให้บัณฑิตกฎหมายอาจต้องใช้ ‘socio-techno imaginary’ คือการจินตนาการความสัมพันธ์ของส่วนที่เป็นเทคนิคกับส่วนที่เป็นสังคมว่าจะเชื่อมโยงกันแล้วมีไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ส่วนที่เดชรัตมองว่ายังหายไปในแวดวงนิติศาสตร์คือ ‘งานวิจัยเชิงทดลองในทางกฎหมาย’ เช่น กรณีมาตรา 112 ทดลองให้ผู้พูดเป็นคนละคนแล้วพูดข้อความเดียวกัน แล้วให้คนทั่วไปประเมินว่าการพูดเช่นนี้ผิดหรือไม่ แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งอาจไม่ได้ให้คำตอบสุดท้าย แต่จะช่วยเปิดแง่มุมอื่นๆ ได้ นอกจากนี้คือเรื่อง ‘การประเมินผลกระทบของกฎหมาย’ (regulatory impact assessment – RIA) ซึ่งต้องทำตั้งแต่ต้นทางคือการออกแบบ จนถึงปลายทางคือการประเมินผล

“สุดท้ายเราอาจจะตกหล่มที่ ‘ชื่อวิชา’ เพราะปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเรียนวิชาอะไร แต่อยู่ที่ว่าจะเรียนวิชานั้นอย่างไร อาจเป็นจุดบอดของมหาวิทยาลัยไทยที่เราเลือกได้แค่ชื่อวิชา ทำให้ชื่อวิชาตรงกันแต่กระบวนการเรียนอาจไม่ได้ตอบโจทย์” เดชรัตกล่าว

แน่นอนว่ากติกาที่บังคับใช้กับทุกคนในสังคมย่อมมีส่วนสร้างความเป็นธรรมขึ้นได้ แต่กติกาจำนวนมากก็สร้างผลในด้านตรงข้าม เรื่องนี้สะท้อนผ่านประสบการณ์ของ สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและบ่อยครั้งพบเห็นคดีฟ้องปิดปาก (SLAPP) ซึ่งเป็นเครื่องมือกฎหมายที่ใช้ตอบโต้ผู้ที่ออกมาชี้ปัญหาและเรียกร้องความเป็นธรรม นอกจากนี้การต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมจำต้องเกี่ยวพันกับคดีความจำนวนมากเพื่อหวังใช้เป็นทางออกจากปมปัญหา

เงื่อนปมสำคัญคือกฎหมายที่สังคมไทยมีอาจไม่เอื้อต่อการใช้เป็นกลไกหาทางออกในปัญหาทรัพยากร เมื่อกฎหมายจำนวนมาก ‘เก่าเกินไป’ รวมถึงวิธีคิดของผู้ที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรมส่วนต่างๆ ยังไม่มีองค์ความรู้ด้านอื่นๆ ให้สอดรับกับโลกสมัยใหม่

“กฎหมายหลายฉบับเรายังใช้กฎหมายเดิม แม้ว่าในยุครัฐธรรมนูญ 2560 มีความพยายามปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้ทันสมัย แต่ยิ่งปรับปรุงกลับเพิ่มความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมมากขึ้น เพราะนักกฎหมายที่เข้ามาปรับปรุงส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายรุ่นเก่า มีความคิดแบบเก่า ยังอยู่ในศตวรรษที่ 20 มีอะไรก็ต้องไปดูฎีกาเก่า สมัย 50-70 ปีก่อน

“นักกฎหมายรุ่นใหญ่ที่มีในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทหาร ตำรวจ มีความเก่าเกินไป นักกฎหมายศตวรรษที่ 21 ต้องมีองค์ความรู้อย่างอื่นเพิ่มด้วย การจะสร้างนักกฎหมายให้ไม่ต้องไปยืมลมหายใจของผู้เชี่ยวชาญจะเกิดขึ้นไม่ได้เพียงแค่การไปเยี่ยมพื้นที่แค่ 1-2 วัน แต่เราต้องเพิ่มวิชาเข้าไป” สมนึกกล่าว

ในมุมของเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาเสนอว่าสิ่งที่ต้องเพิ่มเข้ามาสำหรับนักกฎหมายคือหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

“เรื่องสิทธิมนุษยชน กสม. พยายามให้มีศูนย์สิทธิมนุษยชนกระจายในตามมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาค คำถามคือเราเรียนสิทธิมนุษยชนแบบสากล แต่ไม่ได้เรียนรู้ในบริบทของประเทศไทยหรือเปล่า เช่นคำว่า ‘สิทธิชุมชน’ ในสิทธิมนุษยชนสากลปรากฏในลักษณะสิทธิแบบชาติพันธุ์ นักกฎหมายไทยก็ทำวิจัยเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย อาจจะเพราะเราอิงกับหลักสากลจนลืมดูหลักบริบทท้องถิ่น

“ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบคือการต่อสู้ในชั้นศาลมีความล่าช้า กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม คดีสิ่งแวดล้อมหลายคดีไปจบลงที่ว่าตกลงให้มีการฟื้นฟูเยียวยา แต่การฟื้นฟูเยียวยาก็ช้ามาก ต้องรองบประมาณ คดีคลิตี้ที่ยาวนานหลายสิบปี ปัจจุบันนี้การฟื้นฟูก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร”

สมนึกเสนอว่าเรื่องจำเป็นสำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อมคือการประเมินผลกระทบของกฎหมาย (RIA) ที่มีอยู่ นักกฎหมายต่างๆ ต้องเข้ามาช่วยกันดูว่ามีกฎหมายอะไรบ้างที่ต้องรีบพิจารณาโดยด่วน ให้มีการพิจารณา ปรับปรุง ยกเลิก หรือพัฒนา โดยต้องมีการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

“ตอนนี้นักกฎหมายที่เราผลิตออกมากำลังเกิดอาการไม่เคลียร์ ไม่แคร์ ไม่แฟร์ ไม่แชร์ และไม่ไว ทำให้นักกฎหมายไม่ทันสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับโลก เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือเทคโนโลยี ปัญหาหลายเรื่องในสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งนักกฎหมายที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ”

ในการเรียนการสอนของนักกฎหมายเพื่อให้เกิดความรู้เหล่านี้ สมนึกเสนอว่าอาจให้มีวิชาสัมมนาที่มีผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มาร่วมพูดคุย จากนั้นจึงให้ผู้เรียนไปลงพื้นที่พบปะประชาชน ศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา เจาะลึกไปถึงรากเหง้าปัญหา แล้วพูดคุยกันเรื่องปรับปรุงกฎหมายระเบียบหรือแก้ไขกติกาส่วนอื่นๆ ซึ่งเหล่านี้เป็นองค์ความรู้ที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน

เติมมิติ ‘ความเป็นมนุษย์’

แน่นอนว่าผู้ที่เรียนนิติศาสตร์ เมื่อเรียนจบไปแล้วสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ไม่จำกัดอยู่เฉพาะการทำงานในกระบวนการยุติธรรม ในความเห็นของ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อพิจารณาข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์แห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติแล้วเห็นว่า สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือการจินตนาการถึงโลกการทำงานที่หลากหลายของบัณฑิตนิติศาสตร์

เขาเห็นว่าแผนปฏิรูปของคณะอนุกรรมการฯ ยังเน้นสายวิชาชีพมากกว่าวิชาการ คล้ายมีจินตภาพว่าจะสร้างผู้เรียนเพื่อให้ไปทำงานเฉพาะในส่วนราชการหรือเอกชน ทั้งที่คนเรียนนิติศาสตร์สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย โดยเฉพาะในมิติสังคมหรือการเคลื่อนไหวทางสังคม

“เวลาเราผลิตบัณฑิต ต้องมองว่าผู้ใช้บัณฑิตเขาต้องการอะไร ซึ่งในส่วนราชการหรือเอกชนไม่ค่อยมีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับบัณฑิตเท่าไร แต่พ้นไปจากผู้ใช้บัณฑิตโดยตรง มีคำถามของสังคมที่มีต่อผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายที่เข้ามามีบทบาทในส่วนต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะในราชการ ส่วนของผู้พิพากษา อัยการ เนติบริกร หรือผู้ที่มีส่วนในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากประชาชน ตรงนี้เป็นคำถามใหญ่มากกว่า ไม่ใช่โจทย์ว่าเรายังผลิตบัณฑิตที่ท่องฎีกาได้ไม่มากพอ

“เราไม่สามารถมีอำนาจไปบงการว่าอัยการหรือผู้พิพากษาต้องเป็นยังไง แต่เราฝึกนักศึกษาได้ ทำอย่างไรให้บัณฑิตที่จบออกไปแล้วจะไม่เป็นเนติบริกรที่ไม่สนใจเรื่องความถูกต้องเป็นธรรมทางการเมือง จนถึงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากประชาชน”

เมื่อมองในมุมมองมานุษยวิทยา อนุสรณ์เห็นว่าสิ่งที่ต้องเติมเข้าไปในการเรียนกฎหมายคือ ‘มิติความเป็นมนุษย์’ เช่น สร้างความเข้าใจในผู้คน ไม่ให้นักกฎหมายรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนทั่วไป สำหรับผู้ที่เป็นอัยการหรือผู้พิพากษาในอนาคตก็ต้องทำให้เขาเข้าใจมนุษย์อย่างรอบด้าน มองผู้คนเป็นมนุษย์สามัญเท่าๆ กัน ไม่สำคัญตนเองว่าสำคัญหรือพิเศษไปกว่าคนธรรมดาทั่วไปเมื่อไปนั่งหลังบัลลังก์

“มานุษยวิทยาก็ศึกษาเกี่ยวกับกฎหมาย เรามีวิชามานุษยวิทยาที่ว่าด้วยกฎหมาย (anthropology of law หรือ legal anthropology) คือชี้ให้เห็นว่ากฎหมายคือหนึ่งในระเบียบทางสังคมที่ไว้ควบคุมพฤติกรรมของผู้คน ท่ามกลางระเบียบอื่นๆ ในแต่ละสังคมวัฒนธรรมจะมีกฎระเบียบที่ผันแปรแตกต่างกันไป วิชานี้สามารถนำมาปรับใช้ได้ในการเติมมิติความเป็นมนุษย์”

นอกจากนี้ยังสามารถให้ผู้เรียนศึกษาข้ามสาขาวิชาที่สามารถใส่ไปในรายวิชาศึกษาทั่วไปได้ เช่น ประเด็นทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม ศาสนา ชาติพันธุ์ เพศสภาวะ ให้ผู้เรียนเห็นข้อถกเถียงในประเด็นต่างๆ โดยหลักสูตรต้องพาผู้เรียนไปเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับโลกภายนอกมากขึ้น

“เป็นไปได้ไหมที่ในการฝึกงานจะให้นักศึกษาไปดูว่าผู้คนในสังคมเผชิญหน้ากับโจทย์ทางกฎหมายอย่างไร กฎหมายถูกบังคับใช้แบบไหน ผู้คนต่อสู้ดิ้นรนกับมันยังไง แล้วเราในฐานะผู้เรียนแล้วจะทำให้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการผดุงความยุติธรรมในสังคมอย่างไร”

อนุสรณ์ยังเสนอเรื่องการให้ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาอื่นๆ มาสอนวิชาเลือกเสรี รวมถึงการใส่ประเด็นความเคลื่อนไหวในสังคมเข้าไปในรายวิชาบังคับ เช่น ในวิชากฎหมายอาญาให้มีการอภิปรายเรื่องมาตรา 112 ในวิชากฎหมายมหาชนก็สามารถเรียนรู้จากความเคลื่อนไหวผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของกลุ่มต่างๆ ได้

“แบบนี้เราจะสามารถสร้างบัณฑิตที่ไม่ได้ฝักใฝ่แต่ในเส้นทางราชการหรือการอยู่ในลอว์เฟิร์ม เราอยากได้นักกฎหมายที่เข้ามาทำกิจกรรมทางสังคม เข้ามาแก้โจทย์ที่สังคมกำลังตั้งคำถามกับนักนิติศาสตร์ไทย”

นอกจากนี้คือการสร้างบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการ เพราะปัจจุบันการศึกษานิติศาสตร์เน้นสร้างแต่บัณฑิตที่เชี่ยวชาญเชิงวิชาชีพ

“สิ่งที่เราประสบคือนิติศาสตร์ไม่ตอบโจทย์สังคม คล้ายกับไม่ให้ความสำคัญในสร้างความรู้ให้เท่าเทียมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในรายวิชาควรให้เขาได้แลกเปลี่ยนถกเถียงกันมากขึ้น คิดถึงประเด็นสังคมมากขึ้น เป็นไปได้ไหมที่จะให้เขาทำสารนิพนธ์ ให้ออกไปดูโลกภายนอกว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไร กฎหมายที่มีอยู่มันเท่าทันไหม ในการทำวิจัยจะมีไหมในรายวิชาที่นักศึกษาจะได้เรียนทฤษฎีและวิธีวิจัยทางนิติศาสตร์เป็นการเฉพาะเจาะจง ถ้าทำได้เราจะสามารถสร้างบัณฑิตที่ไม่ใช่แค่นักท่องตำรา ไม่ใช่แค่นักท่องฎีกา แต่เขาสามารถมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ”

อนุสรณ์หยิบยกประเด็นน่าสนใจว่าในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์สาขาสังคมศาสตร์ของธรรมศาสตร์ ซึ่งรวมถึงนิติศาสตร์ด้วย เขาพบว่าแทบไม่มีงานวิจัยจากคณะนิติศาสตร์มาขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์เลย ทั้งที่วิชานิติศาสตร์ส่งผลต่อผู้คนอย่างมหาศาล ถ้าวิธีวิจัยจำกัดอยู่เฉพาะในเอกสารเช่นนี้ ปัญหาตามมาก็คือการไม่รู้จักคนและไม่เจอประเด็นทางสังคมเลย

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่านอกจากการปรับหลักสูตรนิติศาสตร์เพื่อให้ผู้เรียนเท่าทันกับสังคมแล้ว ด้านผู้สอนนิติศาสตร์เองก็ต้องมีการปรับตัวให้สัมพันธ์กับผู้คนเช่นกัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save