fbpx

เปลี่ยนการเรียนการสอบนิติศาสตร์ ด้วยกระดาษ A4 หนึ่งใบ

ทุกครั้งที่ต้องมีการประเมินวัดความรู้ความสามารถของนักเรียนกฎหมายโดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี หากเป็นกรณีที่เป็นห้องเรียนขนาดเล็ก ผมก็สามารถออกแบบการประเมินได้หลากหลายเพื่อประเมินถึงความรู้ของผู้เรียนในวิชานั้นๆ แต่ก็มีหลายวิชาที่รับผิดชอบซึ่งเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่และมีผู้เรียนในระดับหลักร้อย ซึ่งการทดสอบก็จำเป็นต้องใช้วิธีการสอบในห้องเรียนเป็นหลัก

ในอดีตที่ผ่านมา ผมเคยใช้ทั้งวิธีแบบที่ตัวเองมีประสบการณ์มาก็คือ การห้ามนำเอกสารใดๆ เข้าห้องสอบ นักศึกษาต้องอ่านและจดจำข้อมูลทั้งหมดมาสำหรับการสอบ หรือในบางวิชาก็เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถนำเอกสารทุกชนิดเข้าห้องสอบได้ (หรือที่เรียกกันว่า open book exam)

แต่ในระยะหลัง โดยเฉพาะก่อนสถานการณ์โควิดเมื่อสามสี่ปีก่อน ผมได้ทดลองใช้อีกหนึ่งวิธี ด้วยการแจกกระดาษขาว A4 ให้คนละหนึ่งใบ ซึ่งเป็นกระดาษที่จะนำเข้าไปในห้องสอบได้ นักศึกษาสามารถเขียนทุกสิ่งที่คิดว่าจำเป็นและเป็นประโยชน์ลงไปในกระดาษ จะเป็นตัวบทกฎหมาย คำพิพากษา คำอธิบาย สรุปย่อ หรืออะไรก็ได้ จะไม่มีตรวจสอบกระดาษใบนี้แต่อย่างใด

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ผมทดลองการสอบพร้อมกับกระดาษ A4 หนึ่งใบ

การประเมินวัดความรู้ซึ่งเป็นที่นิยมกันในโรงเรียนกฎหมายในสังคมไทย จะเป็นรูปแบบการวัดผลด้วยการสอบในรูปแบบที่นักเรียนต้องเดินตัวเปล่าเข้าไปในห้องสอบพร้อมกับอุปกรณ์การเขียนเท่านั้น นักเรียนก็จะต้องอ่านและจดจำข้อมูลอันมีอยู่อย่างมหาศาลทั้งหมดเข้าไปในหัวสมองของตน เนื่องจากรูปแบบการเรียนกฎหมายที่ต้องผูกอยู่กับตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นภาระพื้นฐานหากต้องการสอบผ่านในวิชานั้นๆ

การอ่านหนังสือสำหรับเตรียมสอบของนักเรียนกฎหมายจึงมักเป็น ‘การท่องหนังสือ’ เพื่อให้สามารถจดจำได้เป็นหลัก

หากพิจารณาจากพฤติกรรมทางสติปัญญาตามแนวทางของ Bloom’s taxonomy[1] ที่จำแนกความสามารถทางด้านปัญญาออกเป็น 6 ระดับ คือ การจำ (remembering), การเข้าใจ (understanding), การประยุกต์ใช้ (applying), การวิเคราะห์ (analyzing), การประเมินผล (evaluating) และการสร้างสรรค์ (creating) การจำจะถือเป็นความสามารถทางด้านสติปัญญาในระดับต้น การสร้างสรรค์จะถูกอธิบายว่าเป็นระดับสูงสุดของการเรียนรู้ที่ทำให้บุคคลสามารถสังเคราะห์และนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้น  

เท่าที่มีประสบการณ์จากการเรียนและการประเมินข้อสอบจำนวนหนึ่ง ผมพบว่าการออกข้อสอบของผู้สอนส่วนใหญ่ก็มักจะเน้นไปที่การทดสอบความรู้ในระดับการจดจำและความเข้าใจ คำตอบของผู้เรียนที่จะได้คะแนนเป็นอย่างดีคือ สามารถแสดงถึงความสามารถในการจดจำหรือการใช้ความรู้ผ่านข้อมูลที่จดจำมา หรือพูดอีกแบบก็คือจำขี้ปากของผู้สอนมาตอบเป็นสำคัญ

ตัวอย่างข้อสอบแบบพื้นๆ ที่มักจะพบเห็นก็มักจะปรากฏออกมา เช่น โมฆะ-โมฆียะคืออะไร, ระบบรัฐสภามีองค์ประกอบสำคัญอย่างไร, เจตนาทางอาญามีองค์ประกอบอะไรบ้าง (คำถามเช่นนี้อาจคล้ายคลึงการถามในทางประวัติศาสตร์ว่าอยุธยาแพ้แก่พม่าเมื่อ พ.ศ. อะไร) หรือแม้ในบางครั้งอาจเป็นข้อสอบที่ใกล้เคียงกับการประยุกต์ใช้ ดังการออกข้อสอบด้วยการยกตัวอย่างขึ้นมาแล้วให้นักศึกษาปรับใช้ตัวบทกฎหมาย แต่ก็จะมี ‘ธง’ คำตอบที่เป็นไปตามคำอธิบายของผู้สอน ตำรา หรือคำพิพากษา มากกว่าการพิจารณาที่เหตุผลของผู้ตอบเอง

นักเรียนกฎหมายมักจะภาคภูมิใจกับความสามารถในการจดจำ และอาจรวมไปถึงแวดวงที่ถูกนับว่าเป็นสถาบันกฎหมายชั้นนำในสังคมไทยด้วย ดังการกล่าวชื่นชมถึงประธานศาลฎีกาบางคนว่าเปรียบเสมือน ‘ตู้ฎีกาเคลื่อนที่’ ก็แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าข้อมูลจากความจำนั้นมีความหมายต่อการวิเคราะห์ การประเมินผลหรือการสร้างสรรค์ความรู้ในทิศทางใหม่ๆ อย่างแน่นอน แต่การจำกัดการศึกษานิติศาสตร์ให้อยู่เพียงแค่ระดับความจำนั้นเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมาก

เช่น ถ้าถามนักเรียนกฎหมายว่าบรรลุนิติภาวะอายุเท่าไหร่ ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งอายุเท่าไหร่ เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่ตอบได้ทั้งสิ้น แต่จะเงียบงันเมื่อถามต่อไปว่าทำไมการตัดสินใจในเรื่องส่วนตัวใช้อายุ 20 ปี แต่ตัดสินใจประเทศชาติใช้ 18 ปี ทั้งที่เรื่องประเทศชาติมีความสำคัญที่ควรต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจไม่น้อยกว่าเรื่องส่วนตัวมิใช่หรือ

ที่กล่าวว่าการมุ่งเฉพาะความจำในการศึกษานิติศาสตร์เป็นปัญหาอย่างมาก ก็เพราะว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับโลกของความเป็นจริง ไม่ว่าจะในด้านของการทำงานหรือในชีวิตประจำวันทั่วไป เมื่อเวลาที่นักกฎหมายต้องทำงานไม่ว่าจะในฐานะใด ไม่มีใครท่องตัวบทกฎหมายมาสาดใส่กัน นึกถึงการพิจารณาคดีในศาลก็เห็นภาพที่ชัดเจน อัยการไม่ได้มาตัวเปล่า ทนายก็ไม่ได้มาตัวเปล่า คนตัดสินก็ไม่ได้มาตัวเปล่า ทั้งหมดล้วนแต่ต้องใช้ข้อมูลและเอกสารจำนวนมากทั้งสิ้น หรือในโลกสมัยใหม่ เมื่อเราอยากได้ข้อมูลในเรื่องใดก็เพียงแต่ค้นหาในอินเทอร์เน็ตก็จะมีข้อมูลหลั่งไหลออกมาจนอ่านไม่หวาดไม่ไหว

ไม่ต้องพูดถึงการพยายามประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการเข้ามาทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทที่กำลังมีการทดลองกันในหลายแห่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ในอนาคตอันไม่ไกล แค่ Chatbot ที่มีอยู่ก็ทำให้โลกของการศึกษาที่เน้นความจำแทบพังพินาศลงไปเลย

สิ่งที่จะมีสำคัญต่อการจัดการข้อมูลข่าวสารก็คือ พฤติกรรมทางด้านปัญญาในการประยุกต์ วิเคราะห์ ประเมินผล หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นักเรียนกฎหมายจึงต้องถูกฝึกให้มีทักษะในแง่มุมเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

แทนที่จะปล่อยให้หมกหมุ่นกับการท่องจำ ผมพบว่าเมื่อนักเรียนกฎหมายได้รับกระดาษ A4 ก่อนจะจดข้อมูลและเนื้อหาลงไป ส่วนใหญ่ได้ผ่านการอ่าน การประเมิน และตัดสินใจว่าเนื้อหาส่วนใดมีความสำคัญ ส่วนใดควรถูกเขียนในกระดาษ และก็จะถูกเขียนในลักษณะที่สามารถไปใช้เป็นประโยชน์ในการตอบคำถาม กรณีเช่นนี้จึงอาจต่างจากการสอบแบบ open book ที่ผู้เรียนจำนวนหนึ่งจะนำหนังสือเข้าห้องสอบแล้วมาเปิดหาคำตอบว่าอยู่ส่วนไหนของหนังสือและทำการคัดลอกลงในกระดาษคำตอบ

(กล่าวเช่นนี้คงไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับการแจก A4 มีจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการคัดลอกสิ่งที่คิดว่าจะไปตอบในห้องสอบ)

เช่นเดียวกับผู้สอน หากอนุญาตให้มีการแจกกระดาษ A4 ให้กับผู้เข้าสอบ หากผู้สอนออกข้อสอบในลักษณะของการทดสอบความจำก็จะเผชิญปัญหาอย่างแน่นอน เพราะนักเรียนกฎหมายย่อมจดเอาข้อมูลต่างๆ ที่คิดว่ามีความสำคัญ เมื่อเป็นคำถามในลักษณะของความจำ นักเรียนก็เพียงแต่ลอกเอาสิ่งที่ตนเองจดมา แต่ถ้าหากเป็นคำถามที่เขยิบมากไปกว่าความจำ ข้อมูลที่ถูกจดมาจะเป็นเพียงฐานเพื่อให้นักเรียนได้ใช้สติปัญญาของตนเองในการตอบมากยิ่งขึ้น

ผมก็คงไม่ตั้งคำถามว่า “โมฆะคืออะไร” หรือ “การดื้อแพ่งต่อกฎหมายคืออะไร มีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างไรบ้าง” แต่อาจเปลี่ยนคำถามเป็นว่า “มีเหตุในลักษณะใดอีกบ้างที่ควรทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะ” หรืออาจเป็น “นักศึกษาจะสามารถออกแบบระบบกฎหมายเพื่อรองรับการดื้อแพ่งต่อกฎหมายได้หรือไม่ อย่างไร”  

ความสามารถทางด้านปัญญาจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในยุคสมัยที่เทคโนโลยีสามารถจัดการกับข้อมูลได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ความจำของมนุษย์จะพัฒนาอย่างไรก็ไม่มีวันเทียบเท่ากับความจำของระบบดิจิทัลได้ การเรียนการสอนทางนิติศาสตร์จำเป็นต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ จะรับมือกับยุคสมัยนี้อย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดเป็นอย่างมาก เราคงไม่อาจใช้ระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นการท่องจำเป็นหลักแบบที่เคยเป็นมา หากต้องพยายามสร้างเสริมความสามารถทางปัญญาที่กว้างขวางและลึกซึ้งเพิ่มมากขึ้น

ส่วนจะต้องทำอะไร และทำอย่างไรบ้าง การสอบพร้อมกระดาษ A4 หนึ่งใบคงเป็นหนึ่งในความพยายามที่หวังว่าน่าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง


[1] สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการประเมินวัดพฤติกรรมด้านสติปัญญาที่เรียกว่า Bloom’s taxonomy สามารถหาอ่านได้ในเอกสารที่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง แน่นอนว่าอาจมีข้อวิจารณ์ต่อการจัดแบ่งระดับดังกล่าวได้ แต่การจำแนกพฤติกรรมทางปัญญาแต่ละประเภทก็สามารถทำให้เรามองเห็นลักษณะของความรู้ได้เป็นระบบมากขึ้น

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save