“ฆ่าคนคนหนึ่งชื่อว่าเป็นผู้ร้าย ถ้าฆ่าได้ถึงสิบถึงร้อย ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษ และถ้าคนในจำนวนถูกฆ่ามีผู้ครองราชสมบัติรวมอยู่ด้วย ผู้ฆ่าก็ปีนขึ้นบัลลังก์ตั้งตัวเองเป็นเจ้าของได้เลย” (อ้ายเข็มขัดเพชร)
โดยไม่ตั้งใจเลย แต่ครูอบ ไชยวสุ หรือฮิวเมอริสต์ ผู้เขียนเรื่องสั้น ‘อ้ายเข็มขัดเพชร’ นี้ ได้ให้การศึกษาผู้เขียนบทความนี้ถึงความสัมพันธ์อันน่าฉงนระหว่างกฎหมายกับการเมืองไว้ตั้งแต่ก่อนที่ผู้เขียนจะเข้าเรียนนิติศาสตร์เสียอีก
ความรับผิดทางกฎหมายของการกระทำทางการเมือง
เดือนกันยายนเริ่มต้น ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เริ่มเปิดเมือง
เป็นการเปิดเมืองแบบกล้าๆ กลัวๆ กรกฎาคมและสิงหาคมสองเดือนรวมกัน ประเทศไทยอยู่ใต้นโยบายเน้นการกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ต่ำที่สุดให้ได้โดยสังเวยเศรษฐกิจ มีคนตายจากโควิด-19 อย่างน้อย 9,566 คน นี่คืออย่างน้อยเพราะคนติดเชื้อตายอีกจำนวนมากไม่ได้ถูกตรวจและนับรวม รวมทั้งคนที่ไม่ได้ตายจากเชื้อโรคโดยตรง แต่อดตาย หรือเครียดตาย หรือฆ่าตัวตาย หรือรอการรับการผ่าตัดจากโรคอื่นจนตายจากนโยบายการรับมือโควิด-19 ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้ถูกนับรวม
ขณะที่มาตรการปิดเมืองไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง มาตรการที่มีควรมีประสิทธิภาพอย่างการจัดหาวัคซีนก็ล้มเหลวซ้ำซาก จนอาจกล่าวได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินในช่วงปิดเมืองนั้นสูญเปล่า
การประกาศเปิดเมืองบ่งชี้การเปลี่ยนนโยบายของรัฐกะทันหัน ทั้งที่ตัวเลขสถิติต่างๆ ไม่ได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่รัฐผลักให้ประชาชนออกไปรับความเสี่ยงกันเอง เคราะห์ดีที่เมื่อเปิดเมืองแล้วตัวเลขการติดเชื้อไม่ได้พุ่งขึ้นอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านทำนายไว้
ถึงกระนั้นก็ดี ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งชีวิตและเศรษฐกิจไม่ควรถูกปล่อยผ่านไป โดยทั่วไปแล้ว การดำเนินนโยบายผิดพลาดเช่นนี้ก่อให้เกิดความรับผิดทางการเมือง (political liability) อย่างไม่ต้องสงสัย รัฐบาลต้องถูกลงโทษผ่านกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วิพากษ์วิจารณ์โดยสื่อมวลชน และกระบวนการเลือกตั้ง แต่ความจริงที่น่าเศร้าคือ ในประเทศไทยนั้น กลไกการเมืองเหล่านี้มันไม่ทำงานอีกต่อไปแล้ว เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมใจสนับสนุนนายกรัฐมนตรีโดยไม่สนใจพฤติกรรม และการเลือกตั้งก็มีวี่แววว่าจะตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลชุดปัจจุบันอีกอยู่ดี คำถามคือเราสามารถเอาผิดทางกฎหมาย (legal liability) กับการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลหรือไม่
คำถามดังกล่าว นำเราไปสู่เส้นขอบอันพร่าเลือน ไม่ชัดเจน และออกจะไร้เหตุผลระหว่างกฎหมายกับการเมือง
กฎหมายกับการเมือง
หัวข้อกฎหมายกับการเมืองนั้นอาจผลิตหนังสือออกมาได้หลายสิบเล่มและนำไปสู่การถกเถียงอีกหลายร้อยชั่วโมง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปสุดท้าย และผู้เขียนเองก็ได้แต่ปะติดปะต่อจากความเข้าใจทั้งสองสิ่งอย่างผิวเผินที่สุด
แต่นักกฎหมายนั้น แยกกฎหมายออกจากการเมืองค่อนข้างเด็ดขาดทีเดียว สรุปอย่างหยาบๆ กฎหมาย คือ ถ้อยคำ ตัวบทลายลักษณ์อักษร ซึ่งร่างขึ้นตามหลักวิชาการนิติศาสตร์และความเป็นเหตุเป็นผล ผู้จะใช้กฎหมายได้จึงต้องร่ำเรียนความรู้นิติศาสตร์มาเท่านั้น
ส่วนการเมืองนั้น คือ เรื่องของนโยบาย ซึ่งมาจากความต้องการของประชาชน ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน นักการเมืองไม่ต้องเล่าเรียนอะไรมาเป็นการเฉพาะ แต่มาจากความนิยมของปวงชน
กฎหมายจึงเป็นเรื่องของความแน่นอนมั่นคงและเหตุผล การเมืองเป็นเรื่องความไม่แน่นอน อารมณ์ความปรารถนาซึ่งเปลี่ยนแปรไปได้โดยไม่มีหลัก
แน่นอนว่าวิธีคิดเช่นนี้ออกจะดูแคลนการเมืองมากทีเดียว และนักรัฐศาสตร์ นักปรัชญาการเมือง หรือแม้แต่นักนิติศาสตร์หลายคนก็ชี้ให้เห็นความเป็นการเมืองของกฎหมายและเตือนถึงวิธีคิดเรื่องนิติศาสตร์บริสุทธิ์ว่าไม่มีอยู่จริง กระบวนการตรากฎหมายย่อมเป็นกระบวนการทางการเมือง ซึ่งถูกชี้นำด้วยผลประโยชน์มากเท่าๆ กับ หรือมากกว่าเหตุผลหรือหลักนิติศาสตร์ด้วยซ้ำ และแม้แต่ในกฎหมายเองก็เปิดพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจซึ่งก็เป็นเรื่องความเหมาะสมทางนโยบายได้เหมือนกัน
แต่เส้นแบ่งระหว่างกฎหมายกับการเมืองก็ยังมีอยู่จริง โดยเฉพาะเมื่อมาถึงเรื่องความรับผิด
ฆ่าทางนโยบาย
ย้อนกลับไปที่คำสอนของแม่อ้ายบาลเมืองในเรื่องอ้ายเข็มขัดเพชร (ในเรื่องนี้อ้ายบาลเมืองเป็นตัวเอก แต่เป็นพระเอกโดยการปราบอ้ายเข็มขัดเพชรได้ ชื่ออ้ายเข็มขัดเพชรจึงเด่นกว่าจนครูอบใช้เป็นชื่อเรื่อง) ธรรมชาติของกฎหมายนั้น ใช้เอาผิดปัจเจกชนแต่ละคนในการกระทำที่ประสงค์ผลหรือเล็งเห็นผลเท่านั้นเอง
ดังนั้น การฆ่าคนหนึ่งคนจึงเป็นอาชญากรรม แต่เมื่อความเสียหายขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และผลนั้นห่างไกลจากความคาดหมายเฉพาะหน้าของผู้กระทำแล้ว ทฤษฎีความรับผิดทางกฎหมายอาญา ไม่ว่าจะเรื่องเจตนาก็ดีหรือความเป็นผลธรรมดาอันเล็งเห็นได้ของความเสียหายนั้นก็ดี เริ่มจะตามไปเอาโทษไม่ทัน
ดังนั้น เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นกับคนทั้งแผ่นดิน จึงกลายเป็นเรื่องการเมืองไปจนได้
ลองเทียบตัวอย่าง คือ ระหว่างเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ฉีดวัคซีนผิดพลาดจนผู้รับวัคซีนป่วยหรือพิการนั้น ต้องรับผิดตามกฎหมายในการกระทำเฉพาะของตนเองแน่แท้ แต่การตัดสินใจเลือกแทงม้าผิดตัวของรัฐมนตรีหรือการลงลายมือชื่อในเอกสารรับบริจาควัคซีนล่าช้าไปเดือนกว่าๆ นั้น ยากกว่าที่จะเชื่อมโยงความตายของประชาชนที่เกิดขึ้นห่างไกลเข้ากับตัวรัฐมนตรีว่ามีเจตนาจะฆ่าประชาชนนั้นๆ แม้จะอ้างเรื่องเล็งเห็นผลก็ตาม หากไม่มีเรื่องทุจริต ก็ยากจะเรียกให้รัฐมนตรีมารับผิดทางกฎหมายได้
การปิดเมืองนั้น ทุกคนทราบว่าจะเกิดความเสียหาย แต่เกิดกับใคร อย่างไร เกินที่จะคิดออก การเปิดเมืองก็เช่นกัน สมมติการเปิดเมืองทำให้เกิดระลอกที่ห้าหรือหกต่อ จนผู้คนล้มตายอีกครั้ง ก็ยากจะโทษว่าผู้มีอำนาจจงใจฆ่าประชาชน ซึ่งห่างไกล ไม่รู้จัก เป็นเพียงแค่ตัวเลขที่รายงานเข้ามาทุกเช้า
การที่นักดนตรีขาดรายได้ร่วมหกเดือนหรือร้านผับบาร์ต้องปิดกิจการก็ไม่ใช่ว่าผู้สั่งนโยบายมีเจตนาเจาะจงให้ร้านไหน คนไหน เสียหายเป็นการเฉพาะ
พูดง่ายๆ คือ ถ้าบุคคลธรรมดาฆ่าคนตาย ย่อมเป็นฆาตกรรม ต้องรับผิด แต่การฆ่าทางนโยบายนั้น แม้ผู้คิดนโยบายจะรับทราบล่วงหน้าถึงผลกระทบ และสั่งการไปโดยมีสติอันเต็มที่ หากจะเอาผิดได้ต้องพยายามเชื่อมโยงการตัดสินใจทางการเมืองให้ถึงผลให้จนได้
แน่นอนว่าการเอาผิดการฆ่าทางนโยบายนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะถึงที่สุดมันอาจเปิดประตูเชื้อเชิญให้ฝ่ายตุลาการเข้าไปยุ่งกับฝ่ายการเมืองมากขึ้นไปกว่าตุลาการภิวัตน์ในปัจจุบันเสียอีก
แต่ถ้าสังคมไทยจะผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปโดยผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับสูงที่สุดหลุดพ้นไปจากความรับผิดทั้งมวลแล้ว ก็เท่ากับว่าเราทิ้งโอกาสที่จะเรียนรู้ สร้างบทเรียนร่วมกัน และสังคมที่ปฏิเสธจะสร้างบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีต ก็คือสังคมที่รอความผิดพลาดนั้นจะเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต