fbpx
เรื่องซ้ายๆ ขวาๆ

เรื่องซ้ายๆ ขวาๆ

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

 

หลายคนที่ติดตามประเด็นการเมือง รวมถึงอุดมการณ์ทางศาสนา สังคม และเศรษฐกิจ คงเคยได้ยินคำถกเถียงเรื่อง “ซ้าย” และ “ขวา” กันค่อนข้างบ่อย แต่ที่น่าสนใจคือเวลาที่เราเปลี่ยนบริบทของการสนทนาจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง หรือแค่เปลี่ยนบริบทจากนโยบายเศรษฐกิจเป็นนโยบายทางสังคม หรือแม้แต่เปลี่ยนบริบทในประวัติศาสตร์  คำว่า “ซ้าย” กับ “ขวา” อาจเปลี่ยนไปแบบเราไม่ทันรู้ตัว

ประเด็นที่เป็น “ซ้าย” ในบริบทหนึ่ง อาจเป็น “ขวา” ในอีกบริบทหนึ่ง ความคิดแบบ “ซ้าย” ในประเทศหนึ่งอาจกลายเป็น “ขวา” ในอีกประเทศหนึ่ง คนที่เป็น “ซ้าย” ในประเด็นเศรษฐกิจ ก็อาจเป็น “ขวา” ในประเด็นสังคมและการเมืองก็ได้

นอกจากนี้ “ซ้าย” กับ “ขวา” อาจไม่ใช่สิ่งที่วัดกันได้ด้วย 0 กับ 1 แต่อาจจะเป็นจุดหนึ่งใน spectrum ของแนวคิด ซึ่งก็เป็นแค่สิ่งที่คนเรียกขึ้นมาและอาจมีความเสี่ยงจากการเหมารวม (stereotype) แบบง่ายเกินไป

นักรัฐศาสตร์หลายคนยังบอกว่าในโลกที่ยุ่งเหยิงขนาดนี้ การแบ่งแนวคิดทางเศรษฐกิจและการเมือง เป็นแค่ “ซ้าย” กับ “ขวา” อาจจะไม่มีประโยชน์แล้วก็ได้

แต่สรุปแล้ว “ซ้าย” กับ “ขวา” แปลว่าอะไร? และมีที่มาอย่างไร?

ลองมาดูตัวอย่างประเด็นด้านเศรษฐกิจกันก่อน ถ้าใครติดตามการเมืองสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ จะพบว่าคนส่วนใหญ่เรียก พรรครีพับลิกันในสหรัฐอเมริกาและพรรคอนุรักษนิยมในอังกฤษว่าเป็นพรรคฝ่ายขวา

นโยบายทางเศรษฐกิจของทั้งสองพรรคฝ่ายขวาเน้นเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เป็นมิตรกับภาคธุรกิจและเอกชน เน้นกลไกตลาด ลดขนาดและการแทรกแซงจากรัฐบาล ลดข้อจำกัดและกฎระเบียบ เชื่อว่าระบบสวัสดิการ (รวมถึงการศึกษาและสาธารณสุขด้วย) ควรมีเท่าที่จำเป็น และไม่ใช่หน้าที่ของรัฐในการเข้าไปจัดหา และมักจะเสนอให้ลดภาษีธุรกิจและภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ฯลฯ เพื่อให้คนนำไปลงทุนและสร้างงานเพิ่ม

ส่วนพรรคเดโมแครตในสหรัฐอเมริกาหรือพรรคแรงงานในอังกฤษมักจะมีนโยบายตรงกันข้าม กล่าวคือ เชื่อว่ารัฐควรมีบทบาทในการออกกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของแรงงาน สิทธิสตรี และสิทธิของคนกลุ่มน้อยของสังคม แนวนโยบายของพรรคเหล่านี้ เช่น รัฐควรเก็บภาษีคนรวยเพื่อนำไปชดเชยให้คนจน และรัฐมีหน้าที่จัดหาสวัสดิการ เช่น การศึกษา สาธารณสุข และระบบประกันสังคม เพื่อให้แรงงานมีหลักประกันในชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจแล้ว ประเด็นด้านสังคมก็มักเป็นประเด็นที่ “ซ้าย” และ “ขวา” ถกเถียงกันมาตลอด และพรรคการเมืองก็มักจะเป็นตัวแทนแฟนพันธุ์แท้ของฐานเสียงตัวเอง คอยส่งเสียงพูดแทนในเรื่องต่างๆ เช่น การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันควรทำได้หรือไม่ การทำแท้งควรเป็นเรื่องถูกกฎหมายหรือไม่ คนทั่วไปสามารถพกอาวุธปืนได้หรือไม่ ควรเปิดให้มีการแสดงออกทางศาสนาในโรงเรียนหรือไม่ หรือแม้แต่ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องจริงหรือไม่

แต่อย่างที่บอกนะครับ ไม่ได้แปลว่าคนที่นิยมชมชอบพรรคการเมืองเดียวกัน จะเห็นเหมือนกันในทุกเรื่อง เพราะทุกอย่างล้วนมีความอ่อนไหวในประเด็น และมีหลายมิติที่แต่ละคนอาจจะมองไม่ตรงกัน

แต่ระยะหลังนี้ ถ้าใครเพิ่งมาติดตามการเมืองฝรั่งเศสอาจจะสับสนที่ เอ็มมานูเอล มาครง ซึ่งเพิ่งชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ด้วยนโยบายเป็นมิตรกับธุรกิจ ลดภาษีธุรกิจ เพิ่มความยืดหยุ่นของชั่วโมงการทำงาน และแนบแน่นกับสหภาพยุโรป กลับถูกเรียกว่าเป็นพวก “ตรงกลาง” (centrist) เมื่อเทียบกับคู่แข่ง มารีน เลอ แปน ที่ชูนโยบายแบบสุดโต่ง และนโยบายทางเศรษฐกิจฟังดูออกไปทางประชานิยม จนบางคนอาจคิดว่าไปทางซ้ายเสียด้วยซ้ำ แต่กลับถูกเรียกว่า “ขวาจัด”

หลายคนจึงอาจรู้สึกสับสนว่า “ซ้าย” และ “ขวา” คืออะไรกันแน่ ผมเลยขอถือโอกาสเรียบเรียงเพื่อเล่าสู่กันฟังสักเล็กน้อยครับ

 

ถ้าว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว คำว่า “ซ้าย” และ “ขวา”  น่าจะมีที่มาจากประเทศฝรั่งเศส ในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789-1799) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และรูปแบบการปกครองใหม่ยังไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนกลับไปกลับมาอยู่เรื่อยๆ

ในการประชุมสภาแห่งชาติ (National Assembly) ครั้งแรกๆ สภาถูกแบ่งออกเป็นสองฟาก โดยกลุ่มสมาชิกที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ (เช่น กลุ่มขุนนาง) นั่งอยู่ทางขวาของประธาน (ซึ่งปกติแล้วเป็นที่นั่งที่ได้รับเกียรติมากกว่า) และกลุ่มที่สนับสนุนการปฏิวัตินั่งอยู่ทางซ้าย

หลังจากนั้น ธรรมเนียมการจัดที่นั่งก็ถูกปรับเปลี่ยนเรื่อยมา และได้กลายเป็นการแบ่งแยกอุดมคติทางการเมืองในประเทศอื่นๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่แล้ว โดยที่เมื่อเวลาผ่านไปกลุ่มขุนนางที่อยู่ทางขวาก็ถูกแทนที่ด้วยกลุ่มนายทุนเรื่อยๆ

แม้จะมีการตีความหมายที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว “ขวา” มักจะหมายถึงความคิดที่เน้นอุดมคติแบบอนุรักษนิยมตามบริบทของแต่ละประเทศ ในหลายประเทศอาจหมายถึงกลุ่มที่เน้นความมีระเบียบ (order) เน้นเสรีภาพ เน้นระบบทุนนิยม

ในขณะที่ “ซ้าย” มักจะหมายถึง แนวคิดที่เน้นไปทางสายที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือหัวก้าวหน้า ในหลายประเทศมักจะเป็นแนวคิดที่ออกไปทางสังคมนิยม เน้นความเท่าเทียมกันในสังคม ลองดู infographic ของ information is beautiful ชิ้นนี้ ที่พยายามอธิบายมุมมองด้านต่างๆ ของฝั่งซ้ายและขวาโดยทั่วไปสำหรับประเทศตะวันตกบางแห่ง ซึ่งอาจจะถูกแค่สำหรับไม่กี่ประเทศ

นอกจาก “ซ้าย” กับ “ขวา” แล้ว ก็มีกลุ่มกลางๆ (centrist) ซึ่งอาจเป็นกลางเอียงซ้ายหรือกลางเอียงขวาก็ได้ ในขณะที่คำว่า “far right” หรือกลุ่มขวาจัดในยุโรป มักจะหมายถึงกลุ่มที่เน้นชาตินิยม ประชานิยม ต่อต้านคนต่างชาติ หรือไปทางนาซี หรือฟาสซิสม์  ในขณะที่กลุ่ม “far left” หรือกลุ่มซ้ายจัด มักหมายถึงกลุ่มที่นิยมแนวความคิดแบบคอมมิวนิสต์หรือสุดโต่งกว่านั้น

สรุปแล้ว เวลาคนพูดถึง “ซ้าย” กับ “ขวา” ในแต่ละประเทศจะแสดงนัยยะที่แตกต่างกัน และการเรียก “ซ้าย” กับ “ขวา” อาจจะหมายถึงอุดมคติความคิดในมิติทางการเมือง สังคม ศาสนา หรือเศรษฐกิจ ซึ่ง “ซ้าย” กับ “ขวา” ในแต่ละมิติก็อาจจะมีบริบทที่ต่างกันไปในแต่ละประเทศด้วย  แต่สำหรับบางประเด็น “ซ้าย” กับ “ขวา” ก็ไม่มีเส้นแบ่งออกจากกันอย่างชัดเจน ดังนั้น การทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

เราจะเห็นได้ว่า แค่ประเด็นนโยบายด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ก็มีการถกเถียงกันได้อย่างกว้างขวางแบบไม่มีถูกผิด มิพักต้องพูดถึงว่า ความนิยมในคุณค่าของแนวนโยบายแบบหนึ่งก็เปลี่ยนแปลงไปตามอุดมคติของสังคม ณ ขณะนั้น และเปลี่ยนไปตามทิศทางของประเทศ

แต่น่าเสียดายที่ในบางประเทศแทบไม่มีการถกเถียงกันในเชิงอุดมการณ์ มิหนำซ้ำ แนวคิดที่สากลโลกมองเห็นเป็นเรื่องพื้นฐาน เช่น สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการประชาธิปไตย ความรับผิด (accountability) ก็ยังต้องเรียกร้องกัน แถมยังถูกตราหน้าว่าเป็นซ้าย เป็นอันตรายต่อความมั่นคงเสียอีก

สำหรับคนในประเทศนั้น ถ้ารู้สึกเบื่อหรือเหนื่อยหน่าย ก็ติดตามการเมืองต่างประเทศแก้เซ็งไปก่อนละกันนะครับ.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save