fbpx
หลี่เติงฮุย บิดาประชาธิปไตยไต้หวัน รัฐบุรุษหลากสีสันผู้ยิ่งยง

หลี่เติงฮุย บิดาประชาธิปไตยไต้หวัน รัฐบุรุษหลากสีสันผู้ยิ่งยง

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่อง

บุคคลในวงการเมือง เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ก็อาจเปลี่ยนความคิดทางการเมือง เปลี่ยนบทบาทจุดยืนได้ไม่สิ้นสุด แต่การตัดสินว่าบุคคลนั้นเป็นจิ้งจอกปลาไหลเจ้าเล่ห์นักฉวยโอกาส หรือเป็นนักยุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการพลิกแพลงตามสถานการณ์ ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาผู้นั้นได้ลงมือกระทำ ว่าเป็นประโยชน์ต่อเพียงตนเองชั่วครั้งคราว หรือกระทำเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน

หลี่เติงฮุย ประขาธิปไตย

หลี่เติงฮุย (李登輝) หรือที่ข่าวหนังสือพิมพ์ไทยมักเรียกว่า ลีเต็งฮุย อดีตประธานาธิบดีคนที่ 4 แห่งสาธารณรัฐจีน เป็นหนึ่งในรัฐบุรุษผู้เปลี่ยนขั้วพลิกข้างอย่างมีสีสันมากมาย จากการเป็นนักเรียนทหารของจักรวรรดิญี่ปุ่น สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน สู่ประธานพรรคก๊กมินตั๋ง และประธานาธิบดีผู้สืบทอดอำนาจเผด็จการแซ่เจียง ก่อนจะสละอำนาจให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็ชนะอย่างถล่มทลายเป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งคนแรกของไต้หวัน และสุดท้ายคือการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อการแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวันอย่างสมบูรณ์ แต่จุดยืนของประธานาธิบดีหลี่ ไม่ว่าท่านจะเลือกฝักฝ่ายการเมืองแบบใด ล้วนเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญของชาวไต้หวันมาก่อนอันดับแรกเสมอ จึงได้รับการยกย่องในยามอสัญกรรม จากทั้งพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และสาธารณชนไต้หวัน หรือแม้กระทั่งชาวญี่ปุ่นอย่างทั่วถึงกัน

หลี่เติงฮุยถือกำเนิดขึ้นบนเกาะไต้หวันในยุคจังหวัดไทโฮคุแห่งอาณานิคมจักรวรรดิญี่ปุ่น พี่ชายของหลี่เข้ารับราชการในจักรวรรดินาวีและพลีชีพที่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ในช่วงสงครามโลก หลี่เข้าเรียนชั้นมัธยมในโรงเรียนมัธยมปลายไทโฮคุ ฝึกฝนทั้งวิชาเคนโด้และยูโดตามแบบญี่ปุ่น เรียนดีจนได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยจักรวรรดิแห่งเกียวโต (ปัจจุบันคือเกียวได) เข้ารับราชการในกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นจนได้รับยศร้อยตรีแห่งกองทัพบกจนกระทั่งญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในปี 1945

เมื่อสาธารณรัฐจีนเข้าปกครองเกาะไต้หวัน หลี่เติงฮุยกลับมาอยู่แผ่นดินเกิด และเข้าเรียนวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตรในมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (ไถต้า) ก่อนจะเข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาไต้หวันเป็นช่วงสั้นๆ 2 ปี ระหว่างปี 1947-1948 และเกิดผิดหวังกับแนวทางเคลื่อนไหวจนลาออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมา หลี่ศึกษาวิชาการเกษตรอย่างเข้มข้นจนได้ทุนเรียนต่อในมหาวิทยาลัยไอโอวาของสหรัฐอเมริกา สาขาเศรษฐศาสตร์การเกษตร และกลับมาทำงานรัฐการในฐานะเศรษฐกรประจำคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันในช่วงปี 1958-1965

หลี่เติงฮุยกับพี่ชายซึ่งรับราชการในจักรวรรดินาวีญี่ปุ่น
หลี่เติงฮุยกับพี่ชายซึ่งรับราชการในจักรวรรดินาวีญี่ปุ่น

เมื่อการปฏิรูปที่ดินสำเร็จ หลี่เติงฮุยได้รับการเสนอชื่อให้ไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตรที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล โดยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของหลี่เรื่อง ‘การไหลเวียนของทุนระหว่างภาคธุรกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจไต้หวัน 1895-1960’ ได้รับรางวัลดีเยี่ยมและตีพิมพ์เป็นหนังสือ รวมถึงถูกศึกษาในฐานะรากฐานการพัฒนาประเทศของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ต่อมา

เมื่อหลี่กลับมายังไต้หวันอีกครั้ง เขาได้รับเสนอชื่อจากหัวหน้าที่กระทรวงให้รู้จักกับเจียงจิงกว๋อ บุตรชายและทายาทคนโตของเจียงไคเช็ก เจียงจิงกว๋อถูกใจแนวคิดด้านการพัฒนาประเทศด้วยอุตสาหกรรมการเกษตร และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของหลี่ จึงผลักดันเขาเต็มที่ให้เข้าไปมีบทบาทสำคัญต่างๆ ในทางการเมือง เริ่มจากรัฐมนตรีช่วยว่าการด้านเกษตรและเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงไทเปในปี 1978 แก้ปัญหาน้ำประปาไม่ไหล ระบบชลประทานการเกษตร และระบบท่อน้ำทิ้งของเมืองได้สำเร็จอย่างดี

เจียงจิงกว๋อเห็นความสามารถในทางปฏิบัติ และด้วยปัจจัยที่หลี่เป็นชาวไต้หวันที่เกิดบนเกาะไต้หวันแท้ๆ ทำให้เมื่อเจียงจิงกว๋อขึ้นเป็นประธานาธิบดี ก็แต่งตั้งให้หลี่เป็นผู้ว่าการเกาะไต้หวัน และเป็นรองประธานาธิบดี เพื่อวางตัวเป็นทายาทสืบทอดตำแหน่ง แนวทางการปฏิรูปพัฒนาประเทศ และส่งต่อแนวคิดการเปิดเสรีให้ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ในที่สุด

หากเจียงจิงกว๋อ คือเผด็จการคนสุดท้าย หลี่เติงฮุย คือผู้นำประชาธิปไตยคนแรกของไต้หวัน

ในปี 1988 เจียงจิงกว๋อถึงแก่อสัญกรรมพร้อมกับเปิดให้มีเสรีภาพสื่อและเสรีภาพทางการเมือง ถึงปี 1990 นักศึกษา ประชาชน บนเกาะไต้หวัน ออกมาชุมนุมกันอย่างมืดฟ้ามัวดินนับสามแสนคนในการเคลื่อนไหว ‘ดอกลิลลี่ป่า’ เพื่อเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงอย่างเป็นประชาธิปไตย แทนที่หลี่เติงฮุยที่ยังกุมอำนาจเสมอด้วยเผด็จการเต็มมือจะปราบปราม เขากลับเดินเข้าหานักศึกษาประชาชน และสัญญาว่าจะเปลี่ยนถ่ายอำนาจคืนสู่มือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยปลดรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งชั้นสูงที่เคยเกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนในยุค White Terror ออก 14 คน ตั้งคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐจีน และยุบเลิกบทบัญญัติชั่วคราวในช่วงการกบฏคอมมิวนิสต์ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ยุคเจียงไคเช็กกว่า 50 ปีลง และปูทางสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นธรรมและเสรีครั้งแรกในประวัติศาสตร์เกาะไต้หวัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1996

หลี่เติงฮุยเป็นประธานาธิบดีที่แข็งกร้าวกับแผ่นดินใหญ่อย่างมาก และเป็นที่เกลียดชังของทำเนียบจงหนานไห่ที่ปักกิ่ง ไม่ว่าจะในสมัยเติ้งเสี่ยวผิงหรือเจียงเจ๋อหมิน แตกต่างจากเจียงจิงกว๋อที่เจรจากับแผ่นดินใหญ่มากกว่า ในปี 1995-1996 ก่อนการเลือกตั้งครั้งแรกของไต้หวัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนซ้อมรบครั้งใหญ่เพื่อข่มขู่ชาวไต้หวัน จนสหรัฐอเมริกาต้องส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเข้ามาลาดตระเวนเพื่อป้องปราม ก่อนที่หลี่เติงฮุยจะได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง 54% ชนะเป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเต็มใบครั้งแรกของไต้หวัน เอาชนะเผิงหมิงหมินจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าที่ได้คะแนน 21% อย่างขาดลอย

ในวาระการดำรงตำแหน่งของหลี่เติงฮุย ทั้งช่วงที่รับตำแหน่งต่อจากเจียงจิงกว๋อ และผ่านการเลือกตั้งประชาธิปไตย เขามุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจของไต้หวันที่ไม่ขึ้นตรงต่อแผ่นดินใหญ่ และมองความสัมพันธ์ของไต้หวันกับจีนแดงเป็นความสัมพันธ์แบบรัฐต่อรัฐ มากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างจีนเดียวกัน รวมถึงทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่าหลี่เป็นกบฏ ศัตรูแห่งชาติอันดับต้นๆ วาทะเด็ดขาดของหลี่เกี่ยวกับไต้หวันที่ทำให้ปักกิ่งโกรธกริ้วเป็นอันมากคือ “ดัตช์ปกครองไต้หวันอยู่สองร้อยปี ไต้หวันก็ยังไม่ใช่เนเธอร์แลนด์ จีนมาปกครองไต้หวันได้ไม่ถึงร้อยปี ไต้หวันย่อมไม่ใช่จีน ไม่ต้องพูดถึงว่าคอมมิวนิสต์จีนไม่เคยมีอำนาจเหนือไต้หวันเลยแม้แต่วันเดียว”

คุณูปการหนึ่งของหลี่จงถ่งที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย คือหลี่เติงฮุย เป็นประธานาธิบดีที่มีนโยบาย Southbound Policy ครั้งแรก เพื่อส่งเสริมการลงทุน การจ้างงานของไต้หวันในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หลายคนอาจจะจำยุคสวนลำไยที่ทุนไต้หวันมาเหมาสวนในภาคเหนือแล้วเกิดปุ๋ยระเบิดได้) เปิดรับแรงงานไทยเข้าไปทำงานในโรงงานของไต้หวันในปี 1992 และกลายเป็นแหล่งรายได้ของแรงงานข้ามชาติไทยนับแสนๆ คนแต่นั้นเป็นต้นมา แรงงานไทยมักจะจดจำประธานาธิบดีหลี่เติงฮุยว่าเป็นผู้เปิดกว้าง และมักจะไปร่วมภาวนาในโบสถ์เดียวกันกับกลุ่มแรงงานไทยที่นับถือคริสต์ในเมืองเถาหยวนและไทเปเป็นประจำ

หลี่เติงฮุยยังมีความสัมพันธ์เหนียวแน่นกับญี่ปุ่น ด้วยพื้นฐานการเรียนในญี่ปุ่นและปูมหลังอดีตทหาร ป้ายสถิตวิญญาณของพี่ชายประธานาธิบดีหลี่ในฐานะทหารจักรวรรดินาวีก็ได้รับการบูชาที่ศาลเจ้ายาสุคุนิ ทำให้เมื่อหลี่ไปเยือนญี่ปุ่น เขาก็ได้ไปคารวะป้ายวิญญาณพี่ชายที่ยาสุคุนิด้วย ครั้งหนึ่งหลี่เคยพูดว่า ญี่ปุ่นคือแผ่นดินแม่ของเขา ส่งผลให้เกิดการประท้วงทั้งที่บนเกาะไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่และเกาหลีอย่างกว้างขวาง

หลี่คอสเพลย์เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนายร้อยลูกผู้ชาย
หลี่คอสเพลย์เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนายร้อยลูกผู้ชาย

หลี่เติงฮุยยังเป็นแฟนวัฒนธรรมป๊อบ และมังงะสมัยใหม่ โดยชื่นชอบเรื่อง ‘โรงเรียนนายร้อยลูกผู้ชาย’ เป็นพิเศษ ถึงขั้นแต่งคอสเพลย์เป็นผู้อำนวยการเอดะจิม่า เฮฮาจิ ตอนเขาอายุ 84 ปี ที่งานอนิเมเอ็กซ์โปในกรุงไทเป สร้างความฮือฮาให้แฟนการ์ตูนและแฟนการเมืองกันถ้วนหน้า

หลังพ้นตำแหน่งประธานาธิบดี หลี่หันมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวให้ไต้หวันเป็นประเทศอิสระโดยไม่ใช้ชื่อสาธารณรัฐจีน และก่อตั้งแนวร่วมเอกราชไต้หวันกับกลุ่มพันธมิตรสีเขียวของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า สนับสนุนเฉินสุยเปี่ยนในการเลือกตั้งปี 2004 จนถูกขับออกจากพรรคก๊กมินตั๋ง และถูกกล่าวหาดำเนินคดีทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งผลสุดท้ายปรากฏว่าหลี่พ้นจากข้อกล่าวหาทุจริตทุกประการ

ในยามชราวัย หลี่เติงฮุยยังส่งเสียงสนับสนุนความเป็นอิสระของไต้หวันและการพึ่งพาตนเองจากจีนแผ่นดินใหญ่ ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลี่ในวัย 97 ปี สำลักนมระหว่างดื่มและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทหารผ่านศึกไทเป ก่อนจะสิ้นลมอย่างสงบเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2020

เมื่อประชาธิปไตยไต้หวันก้าวผ่านมาครบสองรอบนักษัตร 24 ปี มองย้อนหลังกลับไป หลี่เติงฮุยได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ทำให้ไต้หวันเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตยอย่างไม่ถอยหลัง เป็นปราการคุ้มกันดอกไม้ประชาธิปไตยที่กำลังเริ่มผลิจนได้เบ่งบานเต็มที่ ขัดขวางกำลังฝ่ายอนุรักษนิยมย้อนหลังในก๊กมินตั๋งไม่ให้หวนกลับไปหาระบอบทหารแซ่เจียง และปกป้องเอกราชไต้หวันจากคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ สร้างอัตลักษณ์ตัวตนของคนไต้หวันขึ้นมาใหม่จากมรดกของดัตช์ ญี่ปุ่น ฮกเกี้ยน ฮากกา และจีนใหม่อพยพร่วมกัน

ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน กล่าวยกย่องหลี่เติงฮุยในวาระสุดท้ายเมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรมว่า “หลี่เติงฮุยคือบิดาของประชาธิปไตยไต้หวัน” และพรรคก๊กมินตั๋งปัจจุบัน ก็ยกย่องว่า “เป็นผู้มีประชาชนอยู่ในหัวใจตลอดเวลา” โยชิฮิโระ โมริ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในยุคเดียวกับหลี่ บินมาคารวะศพของท่านถึงกรุงไทเปแม้จะอยู่ในยามโรคระบาด

ขอคำนับคารวะอำลารัฐบุรุษผู้นำประชาธิปไตยมาสู่ไต้หวัน หลี่เติงฮุย

อ้างอิง

ทวิตเตอร์ไช่อิงเหวิน 

https://twitter.com/kuomintang

Lee Teng-hui’s dream of ‘two states’ paved way for Tsai Ing-wen

Trump should honor Lee Teng-hui

Former Japan Premier Mori Meets Taiwan’s Tsai on Mourning Trip

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save