fbpx

Learning Losses in Covid กับภารกิจกู้คืนการเรียนรู้แห่งศตวรรษ

2 ปีกว่าเป็นเวลาที่มากพอสำหรับการทำให้สังคมไทยคุ้นชินกับอะไรสักอย่าง – โรคระบาดคือหนึ่งในนั้น ปัจจุบันข่าวคราวเรื่องโควิดสายพันธุ์ใหม่ไม่อาจสร้างความตระหนกตกใจได้เท่าเดิม ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความเชื่อมั่นในพลังแห่งวัคซีน (ที่มีอยู่เต็มแขน) และอีกส่วนหนึ่ง คือเราเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ในเมื่อยังไม่เห็นวี่แววว่าเชื้อร้ายจะสร่างซาลงสักที

หลายคนเริ่มมองว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้ไม่ใช่ความรุนแรงของโรคระบาด แต่เป็นปัญหาที่โรคระบาดทิ้งไว้ให้ ซึ่งถ้าถามว่ามีอะไรบ้างที่บอบช้ำจากโควิด-19 (และการบริหารอันล้มเหลวผิดพลาดของรัฐบาล) อย่างสาหัสสากรรจ์ นักเรียนในระบบการศึกษาคงติดโผอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน – 2 ปีที่ผ่านมา โลกการศึกษาต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลายโรงเรียนปิดและเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ กลายเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ ประสิทธิภาพของการเรียนรู้ของผู้เรียนต่ำกว่าที่ควร เด็กหลุดออกนอกระบบ และอีกนานัปการ

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคโควิดเหล่านี้ เราไม่อาจมองโลกในแง่ดีว่า ‘แค่เปิดโรงเรียนแล้วทุกอย่างจะกลับไปปกติเหมือนเดิม’ โดยไม่ต้องลงมือทำอะไร เพราะในรายงานเรื่อง “The state of the global education crisis: a path to recovery” ของ UNESCO ร่วมกับ UNICEF และ World Bank ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาร้ายแรงอีกหนึ่งเรื่องที่แฝงมากับการปิดโรงเรียน และอาจกลายเป็นภารกิจใหญ่ที่รัฐและผู้กำหนดนโยบายต้องเอาใจใส่ฟื้นฟูแก้ไขในระยะยาว นั่นคือภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (learning losses) ของเด็กทั่วโลก


สูญเสีย (ความรู้) กันไปเท่าไหร่ในช่วงโควิด


ภาวะสูญเสียทางการเรียนรู้ หรือภาวะถดถอยทางการเรียนรู้คืออะไร?

ก่อนหน้านี้ บทความเรื่อง Covid Slide: บาดแผลใหญ่ทางการศึกษา ใน 101 เคยพูดถึงประเด็นดังกล่าวผ่านกรณีเปรียบเทียบผลสอบของนักเรียนชั้นป.6 แต่ละรุ่นที่จบการศึกษาระหว่างปี 2015-2020 ในเบลเยียม ซึ่งพบว่านักเรียนรุ่น 2020 ที่เจอการปิดโรงเรียน 3 เดือนเพราะโควิดมีคะแนนลดลงทุกวิชา ส่วนประเทศอังกฤษเองก็พบว่า ทักษะความรู้ของนักเรียนชั้นม.1 ที่ปิดเรียนไป 2 เดือน พัฒนาล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นถึง 22 เดือน

นี่น่าจะพอทำให้ใครหลายคนเห็นภาพว่าภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (learning losses) คือการสูญเสียความสามารถหรือทักษะที่เคยร่ำเรียนมา และศักยภาพที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ในภายภาคหน้าได้อย่างเต็มที่ ในความเป็นจริงภาวะสูญเสียการเรียนรู้นี้สามารถเกิดขึ้นกับนักเรียนได้ในยามปกติ เช่น ตอนปิดเทอม หรือหยุดเรียนเป็นเวลานาน กล่าวได้ว่าไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่มีนักเรียนสูญเสียการเรียนรู้มากเท่ายุคโควิดมาก่อน

โรคระบาดทำให้โรงเรียนต้องปิด และมีเด็กอย่างน้อย 1.6 พันล้านใน 188 ประเทศสุ่มเสี่ยงประสบกับอาการ ‘ต่อไม่ติด’ ‘เรียนไม่รู้เรื่อง’ พร้อมๆ กัน ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้น คือต่อให้พวกเขากลับไปเรียนในโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศเหมาะสม ก็อาจจะกู้คืนทักษะความสามารถ รวมถึงศักยภาพในการเรียนรู้ให้กลับมาเป็นเหมือนเก่าได้ยาก เนื่องจากการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เปรียบเหมือนการสร้างพีระมิด – ต้องเริ่มจากฐานแล้วสะสมถมกันเป็นชั้นจนถึงยอด เมื่อโควิดทำให้ฐานความรู้ที่มีอยู่แต่เดิมพังทลายหรือหายไป การก่อสร้างจึงต้องเริ่มต้นใหม่ และอาจสำเร็จลุล่วงช้าลง

ในรายงานของ UNESCO เผยหลักฐานชี้ชัดว่าถ้าเราปราศจากแผนช่วยฟื้นฟูที่เข้าใจสถานการณ์ของผู้เรียนจริงๆ ในระยะยาว เด็กที่ผ่านประสบการณ์ปิดโรงเรียนเป็นเวลานานเพราะโรคระบาดจะมีแนวโน้มเรียนรู้ช้าลงกว่าช่วงก่อนโควิด ติดตัวไปจนกระทั่งเติบโต จนส่งผลต่อระดับการศึกษา หน้าที่การงาน คุณภาพชีวิต รวมถึงมูลค่าที่ประชากรคนหนึ่งสามารถสร้างให้แก่เศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย จากประมาณการของธนาคารโลกด้วยข้อมูลในปี 2020 การปิดโรงเรียนยาวนาน 7 เดือน อาจทำให้เด็กคนหนึ่งสูญเสียความสามารถในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในชีวิตของเขาถึง 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 830,000 บาท) และถ้ารวมมูลค่าที่ต้องสูญเสียจากจำนวนเด็กทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบเข้าด้วยกัน โลกอาจกำลังสูญเสียเงินสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเลวร้ายที่สุดคือ 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 560 ล้านล้านบาท)

เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย บ้านเราปิดโรงเรียนกันมานานเท่าไหร่และสูญเสียไปแค่ไหนแล้ว? ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางส่วนใหญ่มักใช้มาตรการปิดสถานศึกษาเพราะเชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อได้ แม้เป็นนโยบายที่มาจากเจตนาดี แต่ประเทศเหล่านี้ก็ยังติดหล่มเรื่องวิธีจัดการศึกษาในยุคโควิดอยู่เนืองๆ ที่ผ่านมาเราเห็นภาพอย่างชัดแจ้งว่าการเรียนออนไลน์ อาจกลายเป็นสิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษายิ่งกว่าเดิม เพราะนักเรียนหลายคน – โดยเฉพาะนักเรียนที่ยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนอย่างสัญญาณอินเทอร์เน็ต แท็บเล็ต หรือกระทั่งไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาโดยง่าย นอกจากนี้ ครูและผู้บริหารโรงเรียนบางส่วนยังขาดความพร้อมในการสอน ทรัพยากร และขาดการสนับสนุนจากรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจถ้านโยบายเรียนออนไลน์ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจะไม่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดจากภาวะสูญเสียการเรียนรู้ของนักเรียนได้เท่าที่ควร

ไม่เพียงปัจจัยด้านสถานะทางเศรษฐกิจและวิธีจัดการเรียนการสอนเท่านั้นที่ทำให้เด็กเจ็บหนัก ปัจจัยอื่นๆ อาทิ อายุ เพศ และภูมิหลังทางสังคมของผู้เรียนก็ส่งผลต่อระดับความรุนแรงของภาวะสูญเสียการเรียนรู้เช่นกัน โดยข้อมูลจากรายงานของ UNESCO ระบุว่า

1. เด็กเล็กมีแนวโน้มสูญเสียการเรียนรู้มากกว่าเด็กโต เพราะการเรียนออนไลน์อาจไม่เหมาะต่อพัฒนาการตามช่วงวัยและไม่ใช่ผู้ปกครองทุกครอบครัวที่สะดวกมานั่งสอนลูกเล็กเรียนรู้เพิ่มเติม

2. เด็กผู้หญิงเสี่ยงสูญเสียการเรียนรู้และหลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่าเด็กผู้ชาย จากปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศและเงื่อนไขทางวัฒนธรรมในบางประเทศ ทำให้เด็กหญิงไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลอย่างสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือมีความรู้ด้านเทคโนโลยีเทียบเท่าเด็กชาย จึงเรียนออนไลน์ได้ไม่เต็มที่ แถมมีบางบ้านเลือกส่งลูกสาวไปแต่งงานแทนเรียนหนังสือเพื่อพยุงสถานะการเงินอีกด้วย

3. เด็กที่มีลักษณะภูมิหลังทางสังคมและครอบครัวบางประการ เช่น เป็นกลุ่มคนชายขอบ ผู้ปกครองจบการศึกษาระดับต่ำ เด็กที่มีความพิการ เสี่ยงต่อการสูญเสียการเรียนรู้มากกว่าเด็กปกติ เพราะพวกเขาอาจต้องเจอกับสภาพแวดล้อมทางบ้านที่ไม่เอื้ออำนวย ปัญหาสุขภาพส่วนตัวซึ่งไม่เหมาะกับการเรียนทางไกล ไปจนถึงการตกหล่นหรือถูกกีดกันจากโอกาสทางสังคมจนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในช่วงโควิด 

ยังมีข้อมูลปลีกย่อยอีกว่าเด็กในชนบทมีแนวโน้มสูญเสียการเรียนรู้มากกว่าเด็กในเมือง และระดับความรู้อาจถดถอยแตกต่างกันไปในแต่ละวิชา – เด็กๆ ลืมเนื้อหาคณิตศาสตร์มากกว่าทักษะการอ่าน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนว่าภาวะสูญเสียการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดมีรายละเอียดทับซ้อนหลายชั้น เด็กในประเทศเดียวกัน แต่อยู่ต่างที่ ต่างภูมิหลัง ความรุนแรงก็ต่างกัน ปัญหาดังกล่าวจึงต้องการความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อสร้างแผนรับมือที่ถูกจุด รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ


กอบกู้การเรียนรู้อย่างไรให้ได้ผล


ในเมื่อเรารู้แล้วว่าการปิดโรงเรียนก่อให้เกิดภาวะสูญเสียการเรียนรู้แก่เด็กจำนวนมาก ชนิดที่การศึกษาทางไกลก็ไม่อาจยับยั้ง เราคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกลับมาเปิดโรงเรียนเต็มรูปแบบอีกครั้งให้เร็วที่สุด

แม้อาจจะฟังดูน่าหวั่นใจ แต่รู้หรือไม่ว่าจากผลการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ที่ก่อให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่หรือทำให้อัตราการแพร่ระบาดของโควิดในชุมชนโดยรอบเพิ่มสูงขึ้น กระทั่งรายงานการติดเชื้อของนักเรียน ครู หรือบุคลากรอื่นๆ จากสถานศึกษายังต่ำมาก — ถ้าหากเรากลับมาเปิดโรงเรียนภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาดและดูแลสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด นอกจากจะลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในสถานศึกษา ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับก้าวแรกของการแก้ไขปัญหาสูญเสียการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะจากรายงานของ UNESCO คาดการณ์ว่าการกลับมาเรียนในโรงเรียน แม้จะเป็นเพียงการเปิดเรียนเพียงบางพื้นที่ของประเทศ ก็สามารถบรรเทาความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวในภาพรวมได้

แต่อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า – ใช่ว่าเราจะสามารถเปิดโรงเรียนแล้วหวังให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายตามครรลอง สิ่งที่รัฐควรให้ความสำคัญเป็นลำดับถัดมาหลังเปิดสถานศึกษา คือการวางแผนกู้คืนการเรียนรู้ของเด็กๆ กลับมา ซึ่งแผนที่ว่าไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะนักเรียนแต่ละประเทศต่างบาดเจ็บจากโควิดไม่เท่ากัน เรียนรู้ได้มากน้อยต่างกัน รัฐจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ในประเทศและออกแบบนโยบายช่วยเหลือที่เหมาะสมด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม UNESCO ได้เสนอแนวทางกว้างๆ สำหรับการเริ่มต้นภารกิจช่วยเหลือนักเรียนครั้งใหญ่ โดยขั้นแรกหลังจากเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัย รัฐควรเปิดให้ผู้เรียนลงทะเบียนยืนยันตัวตนว่าใครบ้างที่กลับมาเรียน และใครบ้างที่ตกหล่น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างฐานข้อมูลติดตามสถานการณ์การศึกษาในภาพรวม

ที่ขาดไม่ได้คือการประเมิน วัดระดับทักษะการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้รัฐเห็นภาพว่าภาวะสูญเสียการเรียนรู้ในช่วงโควิดรุนแรงแค่ไหน ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานให้รัฐต่อยอดต่อไปว่า อะไรคือสิ่งที่ผู้เรียนต้องการภายใต้บริบทสังคมที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ และท้ายที่สุดแล้ว ทรัพยากรที่ลงทุนไปนั้น ช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้นจริงไหมเมื่อวัดจากระดับทักษะในตอนแรก UNESCO พยายามเน้นย้ำให้รัฐสร้างฐานข้อมูลและงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาสูญเสียการเรียนรู้ในประเทศตนเอง เพราะหลายประเทศ – โดยเฉพาะกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง แทบไม่เคยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การเรียนรู้ของเด็กๆ เลย ซึ่งการวางแผนโดยขาดข้อมูลและงานวิจัยอาจทำให้นโยบายที่ออกมาแก้ปัญหาไม่ถูกจุดเสียที มีแต่จะทำให้สภาพการณ์ย่ำแย่เรื้อรังกว่าเดิม  

ทุกนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ของรัฐจึงควรมีที่มาจากงานวิจัยหรือหลักฐานรองรับ โดยผ่านการพิจารณาด้านทรัพยากร งบประมาณ และปัจจัยอื่นๆ ประกอบกัน สำหรับนโยบายที่ UNESCO แนะนำแก่ทุกประเทศในเบื้องต้น ได้แก่

1. ทบทวนและปรับเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ให้ทันต่อสถานการณ์ เมื่อโควิดทำให้ระดับความรู้ที่เด็กๆ เคยมีอยู่เปลี่ยนแปลงไป หลักสูตรที่เคยใช้อาจไม่เหมาะกับผู้เรียนในตอนนี้ – นี่เป็นโอกาสอันดีสำหรับการทบทวนและเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเสียใหม่ ว่าบทเรียนของเราล้าสมัยหรือไม่ และถึงที่สุดแล้ว เราต้องการผลิตอนาคตของชาติแบบไหน เราควรตั้งเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ ทักษะ ศักยภาพ ที่ชัดเจน (อย่างน้อยที่สุดคืออ่านออกเขียนได้ คิดคำนวณได้ และมีทักษะทางสังคมที่ดี) และเปิดโอกาสให้มีทางเลือกการเรียนรู้แบบใหม่ๆ นอกเหนือไปจากเดิม ซึ่งหมายความว่ารัฐต้องเข้ามาสนับสนุนด้านทรัพยากรเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษาด้วย

2. ขยายช่วงเวลาการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยหลักฐานจากงานศึกษาช่วงก่อนหน้าโควิดระบาดระบุว่าการเพิ่มเวลาเรียนสามารถเพิ่มผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีขึ้นได้ โดยรัฐอาจจะประกาศให้เพิ่มชั่วโมงการเรียนการสอนในแต่ละวัน ขยายช่วงเวลาภาคการศึกษา หรือสอนชดเชยในช่วงปิดเทอมเพิ่มเติมเฉพาะกลุ่ม ทั้งนี้ นโยบายขยายเวลาดังกล่าวต้องไม่ลืมคำนึงถึงภาระหน้าที่ สภาพความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจของนักเรียน ครู รวมไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างครอบครัว

3. เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ด้วยวิธีอื่นๆ นอกเหนือจากการเรียนในห้อง เช่น จัดคลาสเรียนสอนหลักสูตรที่ออกแบบจากความชำนาญหรือทักษะของผู้เรียน ไม่ได้แบ่งแยกห้องเรียนตามอายุ ระดับการศึกษา หรือเริ่มต้นสอนจากหน้าแรกของบทเรียนเสมอ, จัดกลุ่มกวดวิชาขนาดเล็กที่เป็นมิตรและเข้าถึงนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ, จัดคู่มือหรือทรัพยากรให้ผู้เรียนเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองหลากหลายทาง ตั้งแต่ชีทเรียน ไปจนถึงอุปกรณ์ดิจิทัลและสัญญาณอินเทอร์เน็ต

สุดท้าย คือปรับปรุงศาสตร์การสอน (Pedagogy) เพื่อให้มั่นใจว่าวิธีการเรียนการสอนจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เหมาะสมกับผู้เรียนที่สุด โดยแนวทางอย่างหลังนี้อาจกล่าวได้ว่าครอบคลุมถึงการพัฒนาศักยภาพของครูหลังโควิดเช่นกัน เพราะการที่จะฟื้นฟูระดับการเรียนรู้ที่สูญเสียไปของนักเรียนได้นั้น ครูถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่อยู่หน้าด่านและเข้าใจสถานการณ์ของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี ช่วงที่ผ่านมาเราพบว่าครูหลายคนประสบปัญหาการเรียนการสอนออนไลน์ไม่แพ้ผู้เรียน และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐหรือผู้บริหาร ทั้งในแง่ทรัพยากร องค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการสอนในยุคใหม่ ทำให้ปรับตัวได้ลำบาก – ถ้าหากเราต้องการให้แผนฟื้นฟูการเรียนรู้ลุล่วงด้วยดี ก็จำเป็นต้องสร้างทักษะการสอน สังเกต และประเมินผลวัดระดับความรู้แก่ครู รวมถึงดูแลความเป็นอยู่ ทำให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย


สร้างระบบการศึกษาใหม่ ให้ไม่มีเด็กเจ็บหนักในอนาคต


มีคำกล่าวหนึ่งซึ่งยังคงอมตะและเป็นดั่งข้อคิดเตือนใจ – เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เมื่อโรคระบาดพรากความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กนับพันล้านคน จนกลายเป็นวิกฤตการศึกษาร่วมกันทั้งโลก เราจะทำอย่างไรให้เกิดโอกาสมากไปกว่าการสร้างแผนฟื้นฟูเฉพาะหน้า เพราะนี่คือโอกาสในการพลิกฟื้นประสิทธิภาพของระบบการศึกษาครั้งใหญ่ที่ทำได้ยากในเวลาปกติ

คำแนะนำจาก UNESCO คือรัฐทุกประเทศควรถือโอกาสนี้ก่อร่างสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นในระยะยาว โดยเริ่มต้นจากการใส่ใจทุกองคาพยพที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างถ้วนทั่ว เนื่องจากโควิดทำให้เราเห็นว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และเพื่อความต่อเนื่อง การเรียนรู้จึงควรเกิดได้ทุกที่ ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน ผู้กำหนดนโยบายควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของผู้เรียนในการวางแผนพัฒนาระบบการศึกษา ช่วยสร้างสิ่งที่เรียกว่าระบบนิเวศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ผ่านการลงทุนทรัพยากรสำคัญ เช่น อุปกรณ์ดิจิทัล สัญญาณอินเทอร์เน็ต กระแสไฟฟ้า หนังสือ ห้องสมุด หรือแม้แต่ศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ในชุมชน เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น จากการเรียนออนไลน์ในช่วงโรคระบาดทำให้เรารู้ว่าคนรอบตัวนักเรียนอย่างผู้ปกครอง พี่เลี้ยงและคนในชุมชน ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่ต้องการความเอาใจใส่ขณะเรียนหนังสือที่บ้านเป็นพิเศษ ครอบครัวถือเป็นผู้เล่นคนสำคัญที่ขาดไม่ได้ ปัญหาคือที่ผ่านมาเราไม่เคยช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำเรื่องการช่วยลูกเรียนที่บ้านสำหรับพ่อแม่เด็กเล็กเลย ถ้าเชื่อว่าครอบครัวมีบทบาทช่วยให้เด็กเรียนรู้ไม่น้อยหน้าไปกว่าครู พ่อแม่เหล่านี้ก็จำเป็นต้องได้รับความรู้ คำแนะนำหรือแนวทางการรับมือเมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์เช่นกัน

อันที่จริง การเรียนออนไลน์อาจไม่ได้ถือว่าเลวร้ายไปเสียทั้งหมด มันยังคงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีสำหรับการขยายโอกาสทางการศึกษา แต่โจทย์มีอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนทุกกลุ่ม (หรืออย่างน้อยก็ส่วนใหญ่ในประเทศ) เข้าถึงการเรียนออนไลน์ และทำให้เนื้อหาของการเรียนออนไลน์ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ตามช่วงอายุ บริบททางสังคมของนักเรียน รวมถึงนักเรียนที่มีความพิการ หรือภูมิหลังเฉพาะด้าน เช่น เป็นนักเรียนชายขอบ ชาติพันธุ์ หรือกระทั่งนักเรียนหญิงที่ต้องอยู่ใต้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่อันเข้มข้น – นี่อาจเป็นโจทย์ที่ต้องคิดควบคู่บูรณาการกับนโยบายด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน เช่น นโยบายส่งเสริมให้เยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย นโยบายปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ เป็นต้น

สิ่งสำคัญคือเราต้องมองย้อนกลับไปและถอดบทเรียนจากนโยบายการศึกษาที่เคยใช้ในช่วงโควิด พินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน และเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพราะดังที่ UNESCO แนะนำไว้ – ต่อไปทุกนโยบายการศึกษาควรมีที่มาและหลักฐานงานวิจัยที่ชัดเจน มิฉะนั้นระบบการศึกษาในประเทศจะพัฒนาอย่างไร้ทิศหลงทาง และคงไม่สามารถรับมือกับวิกฤตอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้เลย

ท้ายที่สุดนี้ เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่ดีขึ้น ครอบคลุมและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น นโยบายที่ว่าด้วยการศึกษาต้องถูกนำมาพิจารณาเป็นวาระสำคัญของประเทศ เป็นเรื่องรัฐต้องให้ความใส่ใจ จริงใจในการแก้ไขปัญหา รวมถึงให้งบประมาณการพัฒนาที่เพียงพอ และตรวจสอบว่าถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด

คนโบราณเขาว่าไว้ – ไม่มีสมบัติใดล้ำค่าไปกว่าการมอบการศึกษาให้แก่ลูกหลาน ภารกิจฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนและปฏิรูประบบการศึกษาของรัฐบาล น่าจะเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐประเทศใดบ้างที่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้



ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world


ภาพประกอบจาก Muneer ahmed ok

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save