fbpx

เด็กเล็กไทยสูญเสียการเรียนรู้แค่ไหนจากโควิด-19?

การปิดโรงเรียนเพราะโรคระบาดอันเป็นผลมาจากโควิด-19 กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างผลร้ายให้ระบบการศึกษาทั่วโลก ข้อสำคัญประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการเรียนการสอนในห้องเรียนไม่สามารถทำได้ตามปกติ ส่วนการเรียนออนไลน์ที่ถูกนำมาใช้ทดแทนก็มีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ ทั้งยังสร้างข้อจำกัดแก่ผู้เรียนที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต หรืออาศัยอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การนั่งเรียนทางหน้าจอ

ร้ายที่สุดคือการเรียนออนไลน์ของเด็กในช่วงวัยที่ไม่สามารถนั่งจดจ่อกับจอเล็กๆ เป็นเวลานานได้ อย่างเด็กปฐมวัย ซึ่งต้องการการเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การเล่น ทำกิจกรรม และมีพื้นที่ให้วิ่งเล่น

ขณะเดียวกันช่วงปฐมวัยเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์ การต้องอยู่แต่ในบ้าน เรียนผ่านหน้าจอหรือไม่ได้เรียนเลย จึงส่งผลร้ายถ้วนหน้าต่อ ‘เด็กยุคโควิด’ อย่างเลี่ยงไม่ได้

ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเมินว่า เด็กและเยาวชนกว่า 1.6 พันล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) และเกินครึ่งมาจากกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง

ภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้มีความสัมพันธ์จากการที่แต่ละประเทศต้องปิดสถานศึกษาเพื่อป้องกันโรคระบาด จากการประเมินการเรียนรู้ที่เด็กสูญเสียไปจากการไม่ได้ไปโรงเรียนในหลายประเทศพบว่า ยิ่งปิดโรงเรียนยาวนาน ก็ยิ่งทำให้ผู้เรียนสูญเสียการเรียนรู้มากขึ้นไปด้วย เช่น ประเทศเม็กซิโกที่ปิดโรงเรียนไป 48 สัปดาห์ เมื่อเทียบตัวเลขออกมาแล้วพบว่าทำให้นักเรียนมีความรู้ถดถอยลงมา 1.7 ปีการศึกษา หรือนอร์เวย์ที่ปิดเรียนไป 7 สัปดาห์ก็ทำให้นักเรียนความรู้ถดถอยไป 0.7 ปีการศึกษา

สำหรับประเทศไทยมีข้อมูลจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ระบุว่า จากปี 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2565 สถานศึกษาทุกพื้นที่ถูกปิดทั้งหมด 16 สัปดาห์ และบางพื้นที่ถูกปิดยาวนานถึง 53 สัปดาห์

ในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะในระดับปฐมวัย จาก การสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) โดยสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าการปิดโรงเรียนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยกับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นการสำรวจและประเมินว่าเด็กปฐมวัยมีความพร้อมที่จะเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่การศึกษาระดับประถมศึกษาหรือไม่ โดยมีการเก็บวัดทักษะด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ ความจำใช้งาน (working memory) รวมถึงสำรวจข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนและสถานศึกษาของเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ

ระหว่างที่เก็บข้อมูลนี้เองก็เกิดการระบาดของโควิด-19 จนทำให้มีชุดข้อมูลเปรียบเทียบระดับความพร้อมของเด็กปฐมวัยในแต่ละช่วงเวลา ตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 (ปี 2563) ช่วงที่โควิด-19 ระบาดไม่รุนแรงมาก (ปี 2564) จนถึงช่วงที่โควิด-19 ระบาดรุนแรง (ปี 2565) ซึ่งทำให้เห็นว่าสถานการณ์เมื่อโควิด-19 ระบาดรุนแรงซึ่งเป็นช่วงที่มีการปิดโรงเรียนอย่างยาวนั้น ในภาพรวมเด็กปฐมวัยมีระดับความพร้อมน้อยลง

(ภาพจาก RIPED)

ส่วนข้อมูลที่ RIPED นำมาวิเคราะห์ภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็กปฐมวัยไทยนั้น เป็นข้อมูลที่เก็บจากจังหวัดกลุ่มตัวอย่าง ในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งมีจำนวนวันปิดโรงเรียนเนื่องจากโควิด-19 สูงสุดคือ 35 วัน พบว่า การหยุดเรียนแต่ละวันส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยด้านวิชาการประมาณร้อยละ 99 ด้านความจำใช้งานประมาณร้อยละ 98 ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง อีกทางหนึ่งสามารถมองได้ว่าประสิทธิภาพของการเรียนออนไลน์เมื่อเทียบกับการเรียนที่โรงเรียน สำหรับด้านวิชาการมีค่าประมาณร้อยละ 1 และด้านความจำใช้งานมีค่าประมาณร้อยละ 2 แต่ไม่พบหลักฐานว่าการปิดเรียนส่งผลเสียต่อทักษะด้านพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ RIPED ยังพบว่าระดับเศรษฐฐานะของครอบครัวส่งผลต่อความพร้อมของเด็กปฐมวัย กล่าวคือเด็กปฐมวัยจากครอบครัวยากจนมีค่าเฉลี่ยความพร้อมต่ำกว่าเด็กจากครอบครัวรวย และระดับความพร้อมของเด็กจะเพิ่มขึ้นตามระดับเศรษฐฐานะของครอบครัว

ค่าเฉลี่ยความพร้อมแบ่งตามระดับเศรษฐฐานะของครอบครัวในปี 2563-2564-2565 โดยแบ่งครัวเรือนออกเป็นห้ากลุ่มเรียงลำดับตาม wealth index ซึ่งวัดจากทรัพย์สินของครอบครัว (ภาพจาก RIPED)

จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนว่าเด็กปฐมวัยที่เผชิญการปิดโรงเรียนช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย อันเป็นโจทย์ทางการศึกษาที่สังคมต้องร่วมกันหาทางออก ซึ่ง RIPED เสนอไว้ว่านโยบายระยะสั้นที่ควรจะเร่งดำเนินการคือ การเปิดเรียนให้นานและปิดให้น้อย โดยควรจะเปิดเรียนในช่วงเวลาปิดภาคเรียนปกติ เพื่อชดเชยเวลาคุณภาพที่ขาดหายไปในช่วงที่ผ่านมา ส่วนนโยบายระยะยาวที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูทักษะให้กับเด็กปฐมวัยคือ การพัฒนาทักษะให้ผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมที่มีคุณภาพร่วมกับบุตรหลานของตนและการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนระดับปฐมวัยโดยเฉพาะสำหรับเด็กที่ขาดโอกาสหรือเด็กยากจน

อ้างอิง

UNESCO, “Thailand,” Global monitoring of school closures caused by covid-19.

UNICEF, The State of the Global Education Crisis, 2021.

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์), เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว ปี 2022, 2022.

สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์และการขยายผลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยสำหรับประเทศไทย (Thailand School Readiness Survey: Phase 4), 2022.


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save