fbpx
เมื่อโลกเรียน(เลียน)จากจีน

เมื่อโลกเรียน(เลียน)จากจีน

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ทุกวันนี้โลกดิจิทัลต้องคอยจับตามองจีนมากยิ่งกว่าเดิม ไม่ใช่แค่เพราะจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่เพราะจีนเป็นยักษ์ใหญ่แห่งยุคเทคโนโลยีที่เป็นผู้นำทั้งเทคโนโลยี 5G เศรษฐกิจไร้เงินสด และมีบริษัทชั้นนำจำนวนมาก แต่เป็นเพราะจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางความคิดที่แม้แต่บริษัทเทคโนโลยีเจ้าใหญ่ในอเมริกายังต้องเรียนรู้และเลียนแบบ 

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทุกคนที่สนใจวงการดิจิทัลนอกจากจะต้องตามอ่าน The Internet Trends Report ของ Mary Meeker แล้วยังต้องเปิดดูรายงาน China Internet Report 2019 ที่จัดทำโดย South China Morning Post (SCMP) และ Abacus ส่องมังกรดิจิทัลเพื่อหาคำบอกใบ้ว่าอนาคตโลก 4.0 จะหน้าตาเป็นอย่างไร วันนี้จึงขอหยิบธีมหลักบางส่วนจากรายงานนี้มาเปิดประเด็นชวนคิดกันต่อ

 

Scale ขนาดรู้อยู่แล้วยังอดตกใจไม่ได้

 

สิ่งแรกที่ต้องไม่ลืมคือ ขนาดของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยิ่งใหญ่ของจีน ในปัจจุบัน 60% ของประชากรจีนใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งแปลว่าประชากรชาวเน็ตของจีนมีมากกว่าอเมริกาถึงเกือบสามเท่า จีนยังเป็นผู้นำด้านอีเพย์เมนต์มีจำนวนผู้ชำระเงินผ่านโทรศัพท์อยู่ที่ 583 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรอเมริกาทั้งประเทศเสียอีก 

ในโลกของเศรษฐกิจและแพลตฟอร์มดิจิทัล Scale นั้นมีความสำคัญยิ่งนัก เพราะการจะสร้างเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ตลาดให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่แค่ว่าสร้างแอปพลิเคชันมาแล้วจบดั่งแนวคิดที่ว่าสร้างเมืองแล้วเขาจะมาเองแต่ต้องใช้ทุนและความพยายามมหาศาลในการสร้างระบบนิเวศน์ที่ดี เสมือนเมืองที่ต้องมีระบบสาธารณูประโภคที่ทำให้น่าอยู่ 

เท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีการดึงลูกค้าต่างๆ เข้ามาในระบบเพื่อให้เกิด network effect (พูดง่ายๆก็คือ ผมมาอยู่เมืองนี้เพราะเพื่อนฝูงญาติพี่น้องผมอยู่ที่นี่กันหมด และพวกเขาอยู่ที่นี่กันเพราะคนรู้จักเขาอยู่ที่นี่กันหมด) การมีตลาดขนาดใหญ่จึงมีความสำคัญเพราะทำให้การลงทุนสร้างเมืองในลักษณะนี้คุ้มค่าในระยะยาว

เมื่อสร้าง Scale ได้ ในระบบนิเวศน์ของแอปพลิเคชันก็สามารถต่อยอดได้สารพัด ยกตัวอย่างเช่น วีแชทของบริษัทเทนเซนต์ในจีน ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของซูเปอร์แอป” (Super Apps) หรือบางคนเรียกว่าแอปตัวแม่คือแอปพลิเคชันที่รวบรวมและเชื่อมโยงหลายแอปพลิเคชัน หลายบริการไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็น คุยกับเพื่อน ออกกำลัง เล่นเกม ซื้อของ ดูหนัง หาร้านอาหาร จองโต้ะ เรียกรถ รวมทั้งบริการการเงินเช่นเพย์เม้นท์ กู้เงิน ลงทุน ซื้อประกัน 

นอกจากนี้การมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมหาศาลที่ต่างก็ใช้เวลาอยู่ในโลกดิจิทัลนานขึ้นๆ ก็ได้สร้างฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย (Big data) เป็นอาหารอย่างดีให้กับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อพัฒนาให้ฉลาขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

 

สังคมปัญญาประดิษฐ์ (AI โซไซตี้)

 

ด้วยความที่จีนมีข้อมูลมหาศาล มีเทคโนโลยีที่อยู่ระดับแนวหน้าของโลก บวกกับการที่นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้นแตกต่างจากโลกตะวันตกอย่างสิ้นเชิง จีนจึงนำ AI มาใช้ ในการอำนวยความสะดวกและการบริหารจัดระเบียบสังคมจนอาจเรียกได้ว่าทะลุซอย เช่น ผู้เดินทางเข้าเมืองจาก Futian ในตอนใต้ของเสิ่นเจิ้น สามารถแสกนหน้าตนเองที่หน้าทางเข้าเพื่อจ่ายเงินจากบัญชีตนเองโดยอัตโนมัติได้ แต่ในทางกลับกัน เทคโนโลยี computer vision และ facial recognition ก็ถูกนำมาใช้เพื่อจับผู้ฝ่าฝืนกฎต่างๆ

แน่นอน ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันมากที่สุดก็คือระบบโซเชี่ยลเครดิตที่เสมือนติดสมุดพกห้ประชาชนทุกคนมีคะแนนสะสมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมว่าปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ แค่ไหน เช่น ไม่จ่ายภาษี ไม่ทำตามกฎจราจร หรือแม้กระทั่งพาสุนัขออกจากบ้านโดยไม่ใช้สายจูง หากคะแนนไม่ผ่านอาจถูกระงับไม่ให้เดินทาง ไม่ให้เป็นผู้บริหารระดับสูง หรือถูกริดรอนสิทธิอื่นๆ ได้ โดยรายงาน China Internet Report 2019 ได้กล่าวว่า ในความเป็นจริงระบบสมุดพกนี้ ปัจจุบันยังไม่ได้เป็นระบบเดียวทั้งประเทศแบบรวมศูนย์อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน แต่มีหลายระบบเก็บคะแนนจากหลายแอปพลิเคชันและกฎเกณฑ์การให้คะแนนก็แตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด 

 

โตต่อนอกกรุง ไม่รอแล้ว

 

นอกจากนี้ตลาดดิจิทัลจีนยังไม่หยุดโต แต่การเจริญเติบโตเริ่มทะลุออกไปที่เมืองรองและชนบท ในรายงานระบุว่าปีที่แล้วผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีนในชนบทเพิ่มขึ้นจาก 13 ล้านคน ไปอยู่ที่ 222 ล้านคน หรือสัดส่วน 38% ของประชากรชนบท ในขณะที่การใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 30% และเมืองรองของจีนยังมีโอกาสโตอีกมาก เช่น ในเมืองระดับสาม (Tier 3) มีประชากรที่ยังไม่เคยซื้ออะไรออนไลน์เลยอยู่ถึง 128 ล้านคน 

ที่น่าสนใจคือเทรนด์นี้มีความคล้ายคลึงกับในอาเซียนและประเทศไทย การใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะการซื้อขายของออนไลน์นอกเมืองหลวง เช่นกรุงเทพ เติบโตอย่างรวดเร็วกว่าในเมืองด้วยซ้ำ 

ในการศึกษา SME ผู้ขายของออนไลน์บนแพลตฟอร์มช้อปปี้โดยบริษัท Sea Group ร่วมกับ ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ พบว่าก่อนหันมาใช้อีคอมเมิร์ซประมาณ 50% ของSME เป็นคนขายระดับประเทศคือขายของไปภูมิภาคต่างๆ ได้ทั่วประเทศ อีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้ขายระดับจังหวัด คือต้องพึ่งพาเศรษฐกิจและตลาดในจังหวัดของตนเองเท่านั้น แต่หลังจากเข้าสู่โลกออนไลน์แล้วเกือบ 90% ขายของนอกจังหวัดหรือแม้แต่ภูมิภาคของตนเอง โดยสัดส่วนของคนขายที่กลายมาเป็คนขายระดับประเทศนั้นเพิ่มมากที่สุดในภาคเหนือและภาคอีสาน ตรงกับประเด็นที่ว่าเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจดิจทัลยุคใหม่มักจะอยู่นอกเมืองกรุง

โลกของอินเทอร์เน็ตจะแบ่งเป็นสองซีก?

 

รายงานอินเทอร์เน็ตยุคนี้คงไม่สามารถปิดเล่มได้หากไม่พูดถึงเรื่องที่โลกอินเทอร์เน็ตอาจแบ่งเป็นสองซีก โดยจีนอาจจะมีระบบนิเวศน์ทางดิจิทัลของตนเองที่แตกต่างจากที่อื่นแบบที่เราเห็นอยู่แล้วว่า ทุกวันนี้ที่ชาวเน็ตจีนมีระบบโซเชี่ยล อีคอมเมิร์ซ วีดีโอสตรีมมิ่ง ของตัวเองแทนที่ Facebook Amazon Google Youtube ที่คนใช้กันทั่วโลก 

ในขณะเดียวกันสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีน-อเมริกายิ่งทำให้ Huawei เร่งคลอดระบบปฏิบัติการของตนเองที่สามารถมาแข่งกับแอนดรอยด์ของกูเกิ้ล บางคนในวงการดิจิทัลจึงคาดการณ์ว่าวันหน้าอาจถึงขั้นที่ประเทศต่างๆ ต้องเลือกว่าจะใช้ระบบ 5G ของจีนหรือคนอื่น และสองระบบอาจไม่คุยกัน ทำให้โลกอินเทอร์เน็ตยิ่งแตกแยกเป็นบล็อกๆ

 

เมื่ออินทรีก๊อปมังกร?

 

แต่ในขณะที่บางคนกำลังมองว่าจีนจะแยกไปมีระบบตนเอง บริษัทดิจิทัลทั่วโลกก็กำลังจับตาดูว่ามีอะไรบ้างที่จะสามารถเรียนรู้จากจีนได้ แม้แต่บริษัทเจ้าแห่งเทคโนโลยีของอเมริกาอย่าง Facebook Amazon หรือ Google ก็เริ่มมีเค้าว่าจะเรียน(เลียน)รู้จากจีน เช่น เรื่องฟีเจอร์การซื้อเป็นกลุ่ม หรือ group buy และ การทำ Live stream ขายของกับผู้ซื้อโดยตรง ล้วนเริ่มมาจากจีนและได้แพร่ไปสู่ Amazon และ Instagram

แม้แต่เงินสกุล Libra ของเฟสบุ๊คที่เป็นประเด็นร้อนตอนนี้ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าได้ไอเดียมาจากจีน เพราะในจีนทั้งเทนเซนต์และอาลีบาบาล้วนมีระบบชำระเงินอีเพย์เมนต์ของตนเองที่เชื่อมโยงกับบริการออนไลน์ต่างๆ มากมาย สร้างข้อมูลคุณภาพสูงปริมาณมหาศาลให้กับยักษ์ใหญ่ทั้งสองเจ้าให้ไปทำธุรกิจการเงินต่อยอดเช่น สินเชื่อ ลงทุน ประกัน ได้อีกมากมาย 

และแท้จริงแล้วก่อนเทนเซนต์จะมีวีแชท เคยมีแอปพลิเคชันแชทที่สำเร็จอีกอันชื่อ QQ มีเหรียญของตนเองชื่อ Q coin ที่ผู้ใช้สามารถใช้ซื้อสินค้าดิจิทัลต่างๆ ในระบบได้ แม้เหรียญนี้จะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและไม่ได้เป็นเงินคริปโต แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างมากจนสุดท้ายธนาคารกลางต้องออกมาดูแล จึงมีความเป็นไปได้ว่านวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้จากจีนมีส่วนสร้างแรงบันดาลใจให้กับการสร้างเงิน Libra ของเฟซบุ๊กไม่มากก็น้อย

เรียนอย่างมีสติ อย่าเลียนโดยไม่ระวัง

 

ทุกวันนี้จีนเริ่มกลายเป็นผู้นำไม่ใช่แค่ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นผู้นำทางความคิดและนวัตกรรมในหลายด้านที่ทั่วโลกต้องจับตามองและศึกษาเรียนรู้ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าพอเหล่ดูเขาแล้วเราต้องรีบเดินตาม เพราะไม่ใช่ว่าทุกเทรนด์ที่เห็นในจีนเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป และที่สำคัญไม่ไช่ทุกอย่างจะเหมาะสมกับบริบทไทยหรือตลาดที่เราสนใจ จีนนั้นมีหลายอย่างที่ค่อนข้างไม่เหมือนใครและแตกต่างจากประเทศไทย 

ตัวอย่างเช่น Scale ที่ใหญ่มหาศาลของจีนจนเกือบจะเรียกว่า แค่สร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ได้ใจในตลาดของตัวเองก็พอแล้วไม่ต้องออกนอกบ้านก็เป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยแม้จะมีตลาดในประเทศที่ใหญ่พอให้สตาร์ทอัพต่างๆ อยู่ได้แต่ก็ไม่ใหญ่พอที่จะทำให้เกิดยูนิคอร์นขึ้นมาได้หลายตัวดั่งจีน หรือแม้แต่อินโดนีเซีย หากมองยูนิคอร์นที่มาจากประเทศเล็กไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือ อาร์เจนตินา ล้วนแล้วแต่ก้าวออกสู่ตลาดภูมิภาคหรือตลาดโลก เพื่อขยายขนาดให้ตลาดลูกค้าของตนทั้งนั้น

ด้านวัฒนธรรมเรื่องข้อมูล ไม่ใช่ทุกประเทศจะเหมาะกับระบบแนวโซเชียลเครดิตที่ให้รัฐเป็นพี่ใหญ่คอยส่องดูทุกพฤติกรรมแล้วให้คะแนนประชาชนทุกคน และใช้มันในการทำโทษให้รางวัลคน เพื่อจัดระเบียบสังคม ในหลายประเทศสิ่งที่คนต้องการอาจกลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม คือผลักดันให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ให้ฝั่งประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานภาครัฐได้ง่ายกว่าเดิม เช่นการทำ Open Data หรือชุดข้อมูลเปิด 

ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำทางความคิดเราก็ต้องเรียนรู้จากเขาอย่างมีสติ กลั่นบทเรียนแล้วปรับให้เหมาะสมกับบริบทเรา ดังคำที่ว่า รู้เขาแล้วต้องรู้เรา ถึงจะรบร้อยชนะร้อย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save