fbpx
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเมื่อเด็กไทยต้อง Learn From Home

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเมื่อเด็กไทยต้อง Learn From Home

ภัททา เกิดเรือง[1] เรื่อง

 

ด้วยแนวคิด ‘โรงเรียนหยุดได้แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้’ ดูเหมือนว่าการเรียนรู้จากที่บ้าน (learn from home) ทั้งการเรียนออนไลน์หรือการเรียนทางไกล[2]น่าจะเป็น ‘คำตอบ’ ที่อยู่ในใจของกระทรวงศึกษาธิการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะกำหนดให้โรงเรียนทั่วประเทศมีการเรียนการสอนแบบปกติในวันที่ 1 กรกฏาคม 2563 นี้ แต่หากเกิดการระบาดของโควิดระลอกที่ 2 หรือ 3 การปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ก็อาจจะยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตราบเท่าที่ยังไม่มีการค้นพบวัคซีนป้องกันโรคนี้

ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจำเป็นต้องก้าวข้ามข้อถกเถียงว่าการเรียนออนไลน์ ‘ดี’ หรือไม่ ไปสู่คำถามที่สำคัญกว่า คือ เราจะมีแนวทางการจัดการศึกษาอย่างไรเพื่อรักษาสมดุลระหว่างความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของคนในสังคมและและความต่อเนื่องในการเรียนรู้ของเด็กไทย บทความนี้ชวนคุยถึงความเป็นไปได้และข้อจำกัดในการเรียนออนไลน์ในบริบทของประเทศไทย ความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ ตลอดจนทางเลือกสำหรับการศึกษาไทยในสถานการณ์โควิด

 

เด็กไทยพร้อมที่จะเรียนออนไลน์หรือไม่

 

แม้ว่าในการทดลองเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการจะใช้การถ่ายทอดวิดีโอผ่านทาง DLTV ของมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต แต่วิธีการนี้เป็นลักษณะ ‘ออนแอร์’ มากกว่า ‘ออนไลน์’ หรือหากจะนับเป็นออนไลน์ก็ไม่ได้ใช้ศักยภาพของออนไลน์อย่างดีที่สุด เนื่องจากคลิปวิดีโอที่ใช้เป็นคลิปเดียวกันทั่วประเทศและไม่ได้มีลักษณะ tailor-made ให้เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่มหรือแต่ละโรงเรียน ด้วยเหตุนี้ บางโรงเรียนได้ทำวิดีโอรายวิชาขึ้นเฉพาะสำหรับเด็กนักเรียนของตนเอง ซึ่งหมายความว่า การเรียนออนไลน์ยังจำเป็นต้องอาศัยการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในครัวเรือน

จากข้อมูลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของครัวเรือนในปี พ.ศ. 2561[3] ครัวเรือนไทยที่มีเด็กอยู่ในวัยเรียนมีทั้งหมด 8.28 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้กว่า 6 ล้านครัวเรือนมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (อินเทอร์เน็ตแบบ broadband และอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อผ่านมือถือ เช่น 3G) แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเชื่อมต่อผ่านมือถือ โดยในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท (5 ล้านครัวเรือน) ครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต broadband มีสัดส่วนเพียงไม่เกินร้อยละ 20 ของครัวเรือนในกลุ่มรายได้เดียวกัน เปรียบเทียบกับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป (6.46 แสนครัวเรือน) ที่มีสัดส่วนการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต broadband มากกว่าร้อยละ 50 (ดูรูป 1)

 

รูป 1 สัดส่วนของครัวเรือนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำแนกตามระดับรายได้ครัวเรือน

ที่มา: คำนวณจากข้อมูลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน (Q4/2561)

 

ในรายจังหวัด ครัวเรือนกว่าร้อยละ 60 มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแต่ส่วนใหญ่เป็นการเชื่อมต่อผ่านมือถือ มีเพียงจังหวัดสกลนครและศรีสะเกษที่มีสัดส่วนครัวเรือนมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงน้อยกว่าร้อยละ 60 ส่วนครัวเรือนที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ broadband จะกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ เช่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเพียงจังหวัดนครราชสีมา มหาสารคาม และนครพนมที่มีสัดส่วนครัวเรือนที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ broadband มากกว่าร้อยละ 20 ของครัวเรือนในจังหวัดนั้น (ดูรูป 2)

สำหรับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตโดยใช้คอมพิวเตอร์แบบ PC/notebook/tablet มีเพียงครัวเรือนในกรุงเทพมหานครและนนทบุรีที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยใช้คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 55 และ 43 ตามลำดับ จังหวัดอื่นๆ มีสัดส่วนครัวเรือนที่มีการเชื่อมต่อโดยใช้คอมพิวเตอร์ไม่เกินร้อยละ 40 (ดูรูป 3) ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดจากการเรียนออนไลน์ ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอยู่เดิม

 

รูป 2 สัดส่วนของครัวเรือนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรายจังหวัด

ที่มา: คำนวณจากข้อมูลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน (Q4/2561)

 

รูป 3 สัดส่วนของครัวเรือนที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยใช้คอมพิวเตอร์ PC โน๊ตบุ๊ค หรือ tablet

ที่มา: คำนวณจากข้อมูลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน (Q4/2561)

 

นอกจากนี้ หากแบ่งพิจารณาตามระดับการศึกษาของเด็กในครัวเรือนจะเห็นได้ว่า การใช้คอมพิวเตอร์ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีความแตกต่างชัดเจนในกลุ่มครัวเรือนที่มีเด็กเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน (ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนครัวเรือนมากสุด) มีเพียงร้อยละ 1-14 ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้ตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไปต่อเดือนมีสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตประมาณร้อยละ 59-78 อย่างไรก็ดี ความต่างระหว่างกลุ่มนี้น้อยลงสำหรับครัวเรือนที่มีสมาชิกศึกษาในระดับอุดมศึกษา (ดูรูป 4)  ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กที่กำลังศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามากกว่านักศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่ในอีกนัยหนึ่ง เราก็อาจบอกได้เช่นกันว่า การเรียนออนไลน์มีความเหมาะสมที่จะใช้กับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษามากกว่าเด็กที่เรียนในระดับประถมและมัธยม

 

รูป 4 สัดส่วนของครัวเรือนที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แบ่งตามระดับการศึกษาของเด็ก

ที่มา: คำนวณจากข้อมูลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน (Q4/2561)  

 

เมื่ออุปกรณ์พร้อมแต่คนไม่พร้อม

 

นอกเหนือไปจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แล้ว การเรียนออนไลน์โดยเฉพาะสำหรับเด็กวัยอนุบาลและประถมศึกษายังต้องอาศัยการให้ความร่วมมือของพ่อแม่หรือผู้ที่ดูแลเด็กด้วย ในครัวเรือนที่ผู้ดูแลไม่สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้หรือไม่มีเวลาให้ เด็กอาจขาดโอกาสในการเรียนรู้หรือไม่สามารถเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ

สมหญิง เป็นตัวอย่างของผู้ดูแลเด็กที่ไม่มีความรู้เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์เลย เธอรับหน้าที่ดูแลหลานสองคนซึ่งกำลังเรียนในชั้นป.1 และอนุบาล 2 เนื่องจากพ่อและแม่ของเด็กต้องทำงานนอกบ้าน โรงเรียนของหลานเป็นโรงเรียนที่เน้นวิชาการ จึงกำหนดให้เด็กป.1 ดูคลิปวิดีโอที่โรงเรียนส่งไปให้และครูมีการสุ่มให้เด็กตอบคำถามผ่านวิดีโอคอล โชคดีที่สมหญิงมีน้องสาวที่เป็นข้าราชการเกษียณและสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารได้ เธอจึงให้น้องสาวเป็นผู้ดูแลหลานคนโตในการเรียนออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบ้านของเธอมีคอมพิวเตอร์เพียงหนึ่งเครื่อง หลานที่เรียนชั้น ป.1 จึงได้สิทธิ์ในการเรียนออนไลน์ ส่วนน้องอนุบาลต้องรอจนกว่าพี่จะใช้เสร็จ น้องสาวของสมหญิงเล่าว่า คลิปวิดีโอมีความยาว 55 นาที ทำให้เด็กเหนื่อยและไม่สามารถจดจ่อกับเนื้อหาได้ทั้งหมด

พิกุล เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ปกครองที่มีลูกในวัยอนุบาลและในขณะเดียวกันเธอก็ต้องทำงานแบบ WFH ไปด้วย โรงเรียนของลูกซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกได้เสนอวิธีการเรียนที่เรียกว่า home-based learning community โดยให้ผู้ปกครองมารับอุปกรณ์สำหรับฝึกทักษะและพัฒนาการด้านต่างๆ ที่โรงเรียน และให้ผู้ปกครองเป็นผู้ดูแลเด็กในการทำกิจกรรมต่างๆ พิกุลเห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้มีความสร้างสรรค์ดีแต่ก็แลกกับเวลาทำงานที่เธอต้องสละไป และความท้าทายของการทำกิจกรรมเหล่านี้คือการขาดการปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อนในวัยเดียวกันซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย ส่วนผู้ปกครองคนอื่นๆ ก็ประสบปัญหาการจัดสรรเวลา โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีลูกหลายคน หรือพ่อแม่ต้องกลับไปทำงานตามปกติ

ขณะที่ ชุติมา มีลูกเพิ่งเข้าเรียนชั้น ป.1 ในโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง เธอจ่ายค่าแรกเข้าเป็นตัวเลขหกหลักและคาดหวังกับโรงเรียนแห่งนี้ไว้สูง แต่เมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์ ชุติมาต้องทำงานที่บ้านพร้อมกับดูแลลูกในการเรียนออนไลน์ เธอรู้สึกว่าหากต้องให้ลูกเรียนออนไลน์หรือเรียนผ่านทางดิจิทัลทีวีที่มีเนื้อหาเหมือนกันทั่วประเทศ เธอก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเทอมและค่าแรกเข้าในราคาที่สูงขนาดนี้

ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า แม้เด็กจะอยู่ในครัวเรือนที่มีความพร้อมด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่หากขาดผู้ใหญ่ที่จะทำหน้าที่ ‘ครูเสมือน’ ที่บ้าน การเรียนออนไลน์ของเด็กก็ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม หากปล่อยให้เด็กใช้อุปกรณ์ดิจิทัลตามลำพัง อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก รวมถึงอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เกิดภาวะสมาธิสั้นหรือภาวะออทิสติกเทียม

 

ทางเลือกนโยบายควรเป็นอย่างไร

 

นโยบายทางการศึกษาที่ผ่านมาเป็นการออกคำสั่งแบบ top-down และใช้มาตรฐานเสื้อตัวเดียวสำหรับคนหลายขนาด (one-size-fit-all) การเลื่อนเปิดเทอมและการทดลองใช้การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์ที่มีโรคระบาด แต่อาจไม่ได้เหมาะสมกับเด็กทุกวัย ในทุกโรงเรียน หรือในทุกพื้นที่ การเรียนออนไลน์อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากเท่ากับผลกระทบต่อเด็กในวัยอนุบาลและประถม ในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเด็กต่อห้องและจำนวนเด็กต่อโรงเรียนน้อยอยู่แล้ว และอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ การเปิดการเรียนการสอนตามปกติอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเรียนออนไลน์

สำหรับการกำหนดให้จำนวนนักเรียนต่อห้องต้องไม่เกิน 20 คน[4]ก็ควรมีการระบุให้ชัดเจนว่าพื้นที่ห้องมีขนาดเท่าไหร่  และหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถกำหนดนโยบายที่ครอบคลุมและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ทางเลือกที่ดีกว่าควรเป็นการให้อำนาจครูในการเลือกวิธีบริหารจัดการที่เหมาะสมกับบริบทของนักเรียนของตน ซึ่งในบางบริบท วิธีการเรียนการสอนแบบลูกผสม (hybrid) ระหว่างการมาเรียนที่โรงเรียนและการเรียนออนไลน์ อาจเป็นคำตอบที่ ‘ใช่’ ในสถานการณ์นี้

อย่างไรก็ตาม การให้เสรีภาพแก่ครูในการบริหารจัดการไม่ได้หมายถึงการอนุญาตให้ทำตามอำเภอใจ ความปลอดภัยทางสาธารณสุขยังคงเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งตราบเท่าที่ยังไม่มีวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อในต่างประเทศยังสูงอยู่ การตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบปูพรมหรือใช้การสุ่มตัวอย่าง (random sampling)[5] อาจช่วยให้การควบคุมทำได้ดีขึ้นในขณะที่โรงเรียนเปิดทำการตามปกติ นอกจากนี้ นโยบายเช่นการลดจำนวนเวลาเรียนลงเพื่อจำกัดเวลาที่เด็กต้องมีการสัมผัสกัน เป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณา ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังการทบทวนวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเรียนรู้ของเด็กว่าเราคาดหวังอะไรจากการมาโรงเรียนของเด็ก และมีอะไรบ้างที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองที่บ้านและไม่จำเป็นต้องอาศัยการเรียนกับกลุ่มเพื่อน (peer group)

ไม่แน่ว่า ในสถานการณ์ ‘disruptive COVID-19’ เราอาจพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการปฏิรูปการศึกษาไทยก็เป็นได้

 

 


เชิงอรรถ

[1] ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] การเรียนรู้จากที่บ้าน (learn from home) หมายความรวมทั้งการเรียนออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตและการเรียนทางไกลผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น ทีวีดิจิทัล โดยการเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นที่บ้าน ในบทความนี้จะใช้คำว่า ‘การเรียนออนไลน์’ เพื่อหมายถึงการเรียนรู้จากที่บ้านในทุกรูปแบบเนื่องจากมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย

[3] สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2561). การสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของครัวเรือนไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2561

[4] การเตรียมความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนเปิดภาคเรียน 1 กรกฎาคม 2563

[5] If We Can’t Test Everyone for Coronavirus, This Is the Next Best Thing

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save