fbpx
Leak Culture : เมื่อเราดูข่าวภาพหลุดมือถือกันได้ทุกวัน (ตกลงนี่มันข่าวหลุดหรือว่าข่าวปล่อยกันแน่?)    

Leak Culture : เมื่อเราดูข่าวภาพหลุดมือถือกันได้ทุกวัน (ตกลงนี่มันข่าวหลุดหรือว่าข่าวปล่อยกันแน่?)    

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

ปี 2010 วิศวกรของแอปเปิล เคยลืมโทรศัพท์ต้นแบบของ iPhone 4 ไว้บนเก้าอี้ในร้านอาหาร แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็นานมากพอที่จะมีคนถ่ายรูปเก็บไว้ได้ ไม่นานนักเว็บไซต์ Gizmodo.com ได้ภาพนั้นมาและเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตจนกลายเป็นข่าวใหญ่โต สตีฟ จ็อบส์ ออกมาแถลงข่าวว่าจะเอาผิดกับทั้งพนักงานของตัวและสำนักข่าวที่เอาข่าวนี้ไปเผยแพร่เพราะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

เหตุการณ์นั้นทำให้แอปเปิลเพิ่มมาตรการมากมายในการรักษาความลับของบริษัท แต่ก็ดูเหมือนไม่เป็นผลสำเร็จเท่าไหร่ ไอโฟนยังมีภาพหลุดออกมาอย่างต่อเนื่องก่อนออกวางจำหน่าย

ที่ดังมากอีกครั้งก็คือ iPhone 7 ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่กำจัดเอารูเสียบหูฟัง 3.5 ออก แม้ว่าจะได้รับความสนใจจากข่าวนี้มากมาย แต่ดูเหมือนแอปเปิลไม่ค่อยแฮปปี้ เพราะภาพที่หลุดนั้นก็ยังออกมาจากความสะเพร่าของพนักงานเอง และเพิ่มเติมด้วยภาพผู้ผลิตปลอกใส่โทรศัพท์ (ที่พบว่ามีการตัดช่องกลมๆ นั้นออกไป) จากนั้นก็ดูเหมือนไม่มีอะไรฉุด ‘ข่าวหลุด’ ในแวดวงสมาร์ทโฟนได้อีกแล้ว

สามเดือนก่อนหน้า (หรืออาจจะมากกว่านั้นแล้วด้วย) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่จะประกาศเปิดตัวโทรศัพท์เรือธงรุ่นใหม่ ถือเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เราต้องได้ยินข่าวหลุดเรื่องสมาร์ทโฟนเรือธง ทั้งหน้าตาการออกแบบ เทคโนโลยีใหม่ๆ ขนาด ความคมชัดของหน้าจอ จำนวนรอมกับแรมที่จะมีมาให้ หรือระบบกล้องใหม่ๆ ที่จะใส่มา ฯลฯ

หลังๆ ข่าวหลุดเหล่านี้ดูจะรุนแรงหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ คือมันแทบจะเรียกว่าไม่เหลืออะไรให้ลุ้นอีกแล้ว อย่างเช่นปีที่แล้ว ก่อนการเปิดตัว Google Pixel 3 สักสัปดาห์หนึ่ง มีผู้สื่อข่าวจาก Engadget ได้ Pixel 3XL ไปทดสอบ คือได้ไปแม้กระทั่งกล่อง เรียกว่าอุปกรณ์ครบและเหมือนเป๊ะกับรุ่นที่ออกมาในอีกสัปดาห์ต่อมา หรือกรณีของซัมซุงที่เผลอเรอ (หรือเปล่าไม่ทราบ) ปล่อยไก่รูปเต็มของ Samsung Galaxy S9 บนเว็บไซต์ของซัมซุงเอง แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็มากพอที่จะทำให้ชาวเน็ตสามารถจับภาพนั้นไว้ได้ และกลายเป็นไวรัลในเวลาต่อมาอย่างรวดเร็ว

มองในแง่ของการประชาสัมพันธ์ ข่าวหลุดแบบนี้เป็นเรื่องหอมหวานของบรรดานักข่าว แล้วยิ่งมาจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเรียกร้องความสนใจได้มากเท่านั้น ยิ่งใกล้เวลาการเปิดตัวมากเท่าไหร่ ข่าวพวกนี้ก็ยิ่งเป็นของหวาน พฤติกรรมภาพหลุดแบบนี้ถูกเรียกว่า ‘Leak Culture’ และยกระดับจากข่าวพาดหัวตัวโตมาเป็นข่าวที่มีลักษณะเฉพาะตัว มันทำได้อย่างไร อะไรคือแรงผลักดัน แลัวมันส่งผลอย่างไรกับวงการเทคโนโลยีบ้าง ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าเอามาคุยต่อ

ข่าวหลุดมีลักษณะเฉพาะของมันอยู่สองสามประการคือ หนึ่ง – ข่าวหลุดมักมาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต เช่น จากโรงงานที่รับจ้างผลิต ไม่นานมานี้อดีตพนักงานในโรงงานฟ๊อกซ์คอน (Foxconn) หนึ่งในผู้ผลิตสินค้าหลักให้แอปเปิล ออกมาเปิดเผยถึงมาตรการการรักษาความปลอดภัยของโรงงานที่เข้มงวดมาก จากที่เข้มงวดอยู่แล้ว อย่างการห้ามเอาโทรศัพท์มือถือเข้าไปในโรงงาน การแบ่งแยกไลน์การผลิตชัดเจน การสลับกะพนักงานอย่างเคร่งครัด มีพนักงานเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่ได้เห็นภาพรวมของผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกัน ‘ภาพหลุด’ แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่

สอง – มันมาพร้อมการเติบโตของบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติจีนและผู้บริโภคชาวอินเดีย

ทั้งสองชาตินี้เกี่ยวเนื่องกันก็เพราะชาติหนึ่งผลิตและชาติหนึ่งเป็นผู้บริโภคที่โตอย่างรวดเร็ว

ทั้งสองเป็นสิ่งกระตุ้นตลาดให้ตื่นตัวกับเทคโนโลยีใหม่ที่ราคาเข้าถึงได้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นยิ่งทำให้จีนกลายเป็นแหล่งผลิตสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ทั้งในแง่ของการทำแบรนด์ของตัวเอง และการรับจ้างผลิตให้แบรนด์จากประเทศอื่น) และเป็นแหล่งข่าวหลุดที่สำคัญที่สุดเช่นกัน ยิ่งสำหรับประเทศที่ไม่ได้มีความเข้มงวดหรือสนใจเรื่องความเป็นส่วนตัวของตนเองมากนัก สิทธิการเผยแพร่ การเข้าถึงข้อมูลจึงดูเหมือนเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดาสำหรับคนจีน การมาถึงของสมาร์ทโฟนของจีน แม้ว่าจะเลียนแบบวิธีการออกแบบ ท่าทีในการทำการตลาด จากแบรนด์ที่มาก่อน อย่างแอปเปิลหรือซังซุง แต่ดูเหมือนการปกปิดความลับหรือภาพหลุด จะไม่เข้มงวดเท่า ประกอบกับในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ตลาดสมาร์ทโฟนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ความต้องการและความอยากรู้อยากเห็นจึงเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่เพียงแค่นั้น นอกเหนือจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟน ยังมีผู้ผลิตเคสโทรศัพท์ ผู้ผลิตชิป ผู้ผลิตจอ ฯลฯ เกินครึ่งก็มีฐานการผลิตในจีน  ห่วงโซ่การผลิตเหล่านี้ก็กลายเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ที่ทำให้ข่าวหลุดมีออกมาไม่ขาดสาย จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่ก็สร้างสีสันให้กับแวดวงคนหลงรักสมาร์ทโฟนอย่างมาก

สาม – ที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือข่าวปล่อยที่มาจากแบรนด์เอง ที่ตั้งใจทำให้เหมือน ‘ข่าวหลุด’ เพื่อผลทางการประชาสัมพันธ์ การเก็บข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตและการหยั่งเสียงผู้บริโภค ข่าวที่มาจากตัวแบรนด์เองแบบนี้ แม้ว่าจะพิสูจน์ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามาจากต้นสังกัดจริงหรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นการสร้างสีสันและกระตุ้นความอยากของผู้บริโภคได้ดี กรณีของ Google และ Samsung คิดว่าเป็นตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนที่แบรนด์พยายามใช้ข่าวแบบนี้ให้เป็นประโยชน์กับแบรนด์ ส่วนแบรนด์จีนไม่ต้องพูดถึง ความหลุดนั้นไม่มีอยู่แล้ว เพราะสมาร์ทโฟนจากแบรนด์จีนนั้นออกกันปีหนึ่งหลายรุ่นหลายโมเดลหลายระดับราคา จะมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่สามารถเรียกความสนใจได้ในระดับโลก เช่น หัวเหว่ย (Huawei) เสี่ยวหมี (Xiaomi) หรือวันพลัส (Oneplus)

Leak Culture ยังสร้างให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกมาก กอดเกี่ยวกันเป็นลูกโซ่ทั้งธุรกิจสำนักข่าวเทคโนโลยีและยูทูปเบอร์ซึ่งขึ้นมาอีกมากมายที่เกิดขึ้นจากข่าวหลุดและข่าวปล่อยเหล่านี้ ซึ่งก็เริ่มแพร่กระจายไปยังแวดวงอื่นๆ ด้วย

ที่น่าติดตามดูต่อคือ Leak Culture มีผลต่อการกระตุ้นการซื้อของคนกลุ่มที่เป็นผู้นำเทรนด์ได้จริง และเป็นกลุ่มที่สร้างยอดขายในหมวดของสมาร์ทโฟนเรือธง แต่การลดลงของความต้องการซื้อสมาร์ทโฟนทั้งด้วยเศรษฐกิจโลกที่ชลอตัวลงและการ ‘รอ’ นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มากระตุ้นตลาดอีกครั้งหลังจากที่มันไม่ได้มีให้เราว้าวพักใหญ่ Leak Culture จะเลื่อนไหลไปทางใด พวกเรายังจะเซอร์ไพรซ์กับการเปิดตัวสมาร์ทใหม่ๆ ไหม คีย์โน้ตของแต่ละค่ายยังเป็นอีเว้นท์ที่น่าดูอยู่ไหม

น่าติดตามไม่น้อยไปกว่าสมาร์ทโฟนจริงๆ ครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save