fbpx

‘คือผู้อภิวัฒน์’ 2475-2563 เมื่อภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก TU Theatre

 

ตุลาคม 2563 ละครเวที ‘คือผู้อภิวัฒน์’ เรื่องราวชีวิตของ ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้นำกลับมาแสดงอีกครั้งในห้วงเวลาที่บรรยากาศทางสังคมการเมืองกำลังต้องการการพูดคุยและร่วมกันถกเถียงถึงการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย ระหว่างอำนาจกษัตริย์และอำนาจประชาชน เช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตย พร้อมการต่อต้านจากชนชั้นนำ

ต่างกันที่ปัจจุบันนี้ การต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้นำโดยกลุ่มบุคคลอย่างคณะราษฎร แต่เกิดขึ้นโดยประชาชนจำนวนมากที่ออกมาส่งเสียงถึงความต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง

ละครเรื่องนี้จัดแสดงขึ้นในวาระ 120 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ ด้วยกองทุนค่าธรรมเนียมการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ปรีดีเป็น ‘ผู้ประศาสน์การ’ ของมหาวิทยาลัย อันเกิดขึ้นในฐานะที่เป็นผลผลิตของการอภิวัฒน์สยาม หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยมหาวิทยาลัยตั้งขึ้นเพื่อสนองต่อหลัก 6 ประการของคณะราษฎร คือ หลักเอกราช, หลักความปลอดภัย, หลักเศรษฐกิจ, หลักเสมอภาค, หลักเสรีภาพ, หลักการศึกษา

ในห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ นักเรียนนักศึกษาหลายสถาบันและประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย แล้วเจอการคุกคามปราบปรามดำเนินคดีอย่างกว้างขวางจากภาครัฐ พร้อมแรงกดดันจากชนชั้นนำที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในบริบทเช่นนี้คือ มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทเช่นไรให้สมกับเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อ ‘ราษฎร’ ตามความมุ่งหมายของผู้ประศาสน์การ

 

 

 ‘คือผู้อภิวัฒน์’ กับ 88 ปีของภารกิจ

 

การนำละคร ‘คือผู้อภิวัฒน์’ กลับมาแสดงครั้งนี้เป็นวาระที่ 7 นับจากปี 2530 โดยมีการจัดแสดงก่อนหน้านี้ ดังนี้

1. มิ.ย. 2530 เปิดตัวครั้งแรกที่หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อต้องการนำเสนออุดมการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้น

2. ต.ค.-พ.ย. 2530 แสดงที่หอศิลป์ พีระศรี กรุงเทพฯ และสัญจรไปแสดงที่ปัตตานีและเชียงใหม่

3. มิ.ย.-ก.ค. 2538 แสดงในพิธีเปิดสถาบันปรีดี พนมยงค์ และได้รับเชิญร่วมในเทศกาลละครครั้งที่ 1 โดยทีมนักแสดงรุ่นใหม่ กำกับโดย คำรณ คุณะดิลก และ นิมิต พิพิธกุล

4. ปี 2542 แสดงในวาระ 100 ปีชาตกาลปรีดี โดยพระจันทร์เสี้ยวการละคร ซึ่งมีการตีความใหม่และปรับปรุงให้สมบูรณ์มากขึ้น

5. ปี 2543 พระจันทร์เสี้ยวการละครฝึกนักแสดงรุ่นใหม่ 12 คน จัดแสดงในกรุงเทพฯ และสัญจรไปต่างจังหวัด โดยปรับการแสดงให้เหมาะสม เน้นเล่าเรื่องกระชับขึ้น

6. ส.ค. 2553 จัดแสดงที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ กำกับโดย สินีนาฏ เกษประไพ

7.วาระปัจจุบัน จัดโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์

โดยในการแสดงครั้งนี้กำกับโดย สินีนาฏ เกษประไพ ควบคุมการผลิตโดย ภาสกร อินทุมาร อันมีนักแสดงเป็นนักศึกษาสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแสดงที่โรงละคอนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Playhouse) ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งจะจัดแสดงไปถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563

คือผู้อภิวัฒน์ เป็นละครนำเสนอชีวประวัติปรีดี พนมยงค์ โดยเน้นฉายภาพความคิดของปรีดีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเพื่อให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การต่อสู้กับอำนาจเก่าที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้งในกลุ่มคณะราษฎร การต่อสู้กับข้อกล่าวหาที่ฝั่งตรงข้ามต้องการใช้กำจัดปรีดี เช่น การกล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์จากการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ หรือการให้คนไปตะโกนใส่ร้ายว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบริบทสังคมปัจจุบันนอกโรงละครเต็มไปด้วยผู้คนที่ออกมาประท้วงพร้อมหนึ่งในข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง (ไม่ใช่การล้มล้างตามที่เขาหลอกลวง) เรื่องราวที่ปรากฏในชีวิตของปรีดีพร้อมเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในช่วงเวลานั้นเกี่ยวโยงกับมวลความคิดปัจจุบัน เมื่อมีผู้คนฝันเห็นประเทศชาติเปลี่ยนแปลงและพัฒนา แต่ต้องต่อสู้กับอำนาจเก่าที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ในละคร คือผู้อภิวัฒน์ เมื่อภารกิจในครั้งนั้นยังไม่สามารถทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นในสังคมไทยได้สำเร็จ

นอกจากการไล่เรียงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตปรีดีแล้วอีกส่วนหนึ่งที่ถูกหยิบมาผสานในบทละครคือการปรากฏตัวของวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 2475 และแนวคิดความเท่าเทียมกัน เช่นเสียงของ ‘แม่พลอย’ จากสี่แผ่นดิน อันเป็นเครื่องมือของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ใช้สะท้อนความวุ่นวายแตกแยกที่เข้ามาพร้อมคณะราษฎร และเสียงของ ‘สาย สีมา’ ตัวละครจากเรื่องปีศาจ บทประพันธ์ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ อันมีไดอะล็อกอันลือลั่นเมื่อนายสายลุกขึ้นพูดกลางงานเลี้ยงชนชั้นสูงประกาศตัวถึงพลังของสามัญชนที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลง

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”

น่าประหลาดว่านิยายสองเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้ คือ สี่แผ่นดินตีพิมพ์เป็นตอนในปี 2494 และรวมเล่มปี 2496 ส่วนปีศาจเริ่มตีพิมพ์เป็นตอนปี 2496 สามารถเป็นภาพแทนคนสองฝั่งในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ แม้ว่าผ่านมากว่าหกสิบปี

 

 

33 ปีบทละครว่าด้วยปรีดี

 

ในมุมมองของผู้เขียนบทละครคือผู้อภิวัฒน์ คำรณ คุณะดิลก เล่าว่า เขาเริ่มเขียนละครเรื่องนี้ขึ้นเพราะได้รับมอบหมายจากสภานักศึกษา เพื่อแสดงในโอกาสสำคัญของมหาวิทยาลัย จึงตั้งใจทำละครเกี่ยวกับเรื่อง อ.ปรีดี คำรณเคยพบ อ.ปรีดี ที่ฝรั่งเศส และถูกอาจารย์หาว่าเป็นพวก ‘ลัทธิแก้’ (revisionist) เหตุเพราะคำรณเป็นคนเดือนตุลา ระหว่างการพูดคุยอาจารย์ถามคำถามหลายอย่างเพื่อตรวจสอบความคิดเขา และคำรณก็ยอมรับอย่างติดตลกว่าเขาสอบตกทั้งหมด

อีกเหตุผลหนึ่งที่คำรณทำละครเรื่องนี้เพราะเขา ‘หมั่นไส้’ ว่าเรื่องต่างๆ ที่ป้ายสี อ.ปรีดี ยังไม่จบเสียที เช่นที่คนพูดว่า อ.ปรีดี เป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์ ซึ่งอาจารย์เองก็บอกว่า “เรื่องบางอย่างพูดไม่ออกบอกไม่ได้”

“การเขียนบทละครจะต้องเขียนในลักษณะนวนิยายที่มีจุดขัดแย้ง ผมจึงศึกษาเอกสารการประชุมสภาและเอกสารต่างๆ ในละครช่วงแรกจึงปรากฏฉากการต่อสู้ในการประชุมสภาเพื่อให้เห็นความขัดแย้งของสองฝ่าย”

คำรณ เล่าว่าในส่วนการออกแบบละคร สำหรับละครเรื่องนี้หากนักแสดงไม่มีความพร้อมทางร่างกายจะเอาไม่อยู่ เพราะต้องทำให้เห็นพลังขับเคลื่อนภายใน เพื่อส่งบทยากๆ ให้ไปถึงคนดู ครั้งแรกที่ฝึกซ้อมละครเรื่องนี้มีนักแสดงถึง 40 คน แต่สุดท้ายได้ขึ้นเวทีจริง 12 คน

“พูดไปแล้วการทำละครเรื่องนี้ก็เป็นการอภิวัฒน์ด้านละครด้วย เพราะเป็นละครที่ไม่ได้ใช้ดาราเล่น แต่เป็นนักศึกษาทั้งหมด แตกต่างไปจากละครในช่วงนั้น รวมถึงการแต่งหน้า ทำผม และฉากที่ออกแบบอย่างเรียบง่าย เพราะคิดว่าแก่นแท้ของการละครคือความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับผู้ดูที่จะส่งสารถึงกัน อีกทั้งในช่วงเวลานั้นมีแต่บทละครแปลจากต่างประเทศ ยังไม่ค่อยมีบทละครไทย ละครเรื่องนี้จึงเป็นหมุดหมายหนึ่งทางศิลปะการละคร” คำรณกล่าว

 

คำรณ คุณะดิลก, อนุสรณ์ อุณโณ, ภาสกร อินทุมาร

 

การเกิดใหม่ของคณะราษฎร 2563

 

หนึ่งในผู้ที่ได้ชมละครเรื่องนี้ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าสิ่งสำคัญคือได้ชมละครเรื่องนี้ในบริบทปัจจุบัน ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้มีกลุ่มคนที่ก่อตัวขึ้นแล้วเรียกตัวเองว่า ‘คณะราษฎร’ ในปี 2563

“น่าสนใจว่าคณะราษฎรที่เกิดขึ้นในปี 2475 ไม่ใช่ตาสีตาสา แต่เป็นชนชั้นนำในสังคมที่เห็นปัญหาของประเทศและเห็นราษฎรเป็นหัวใจหลัก เช่นจะเห็นได้ว่าในละครเรื่องนี้เราจะไม่เห็นเสียงของคนที่เป็นราษฎรจริงๆ และคณะราษฎรปีก อ.ปรีดี จะมีลักษณะประนีประนอมรอมชอมกับระบอบเก่า จนหลายคนค่อนแคะว่าทำไม่เสร็จสิ้นจนเป็นภาระลูกหลาน เหตุเพราะในช่วงเวลาหนึ่งเนื่องจาก อ.ปรีดี ไม่ใช่ผู้กุมกำลังในมือ จึงต้องจับมือกับอีกฝ่ายเพื่อต่อรองอำนาจกับอีกฝ่าย

“ขณะที่คณะราษฎร 2563 ไม่ใช่เครือข่ายชนชั้นนำ เป็นประชาชนและคนรุ่นใหม่ ไม่อยู่ในโครงสร้างอำนาจที่จะเป็นผู้ตัดสินใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่เป็นผู้เรียกร้องให้ระบบเกิดการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือคณะราษฎร 2563 ไม่มีท่าทีประนีประนอมรอมชอมกับระบอบเก่า ละครเรื่องนี้กำลังเล่นในบริบทของประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่คุกรุ่นอยู่ข้างใน การดูละครเรื่องนี้ในบริบทปัจจุบันจึงยิ่งทำให้รู้สึกเข้มข้น”

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนในละครเรื่องนี้คือการชิงไหวชิงพริบของขั้วอำนาจการเมืองไทยระดับบนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมถึงความขัดแย้งภายในคณะราษฎรเอง ในช่วงเวลาหนึ่งคณะราษฎรในปีกของปรีดีจะมีลักษณะรอมชอมระดับหนึ่ง เพราะการเมืองช่วงนั้น คณะราษฎรปีกทหารนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม สถาปนาตัวเองขึ้นมา ปรีดีจึงต้องอิงอำนาจเก่าเพื่อคานอำนาจฝ่ายทหาร

อนุสรณ์มองว่าเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมา คือ 14 ตุลาฯ 2516 ที่ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของสถาบันกษัตริย์ที่สามารถสถาปนาที่ยืนทางการเมืองได้อย่างมั่นคงแข็งแรง จากที่ก่อนหน้านั้นเสียพื้นที่ให้ฝ่ายกองทัพ นักศึกษาขณะนั้นถูกหยิบใช้ในเกมทางการเมือง ทำให้สามปีหลังจากนั้นนักศึกษามีลักษณะสุดขั้วจนเป็นอันตรายต่อสถาบันและนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

“สิ่งที่ต่างในบริบทปัจจุบันคือคณะราษฎร 2563 เป็นนักศึกษาที่ไม่เหมือน 14 ตุลาฯ ที่มีราชาชาตินิยมเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เชื่อว่าสามสถาบันหลักของชาติจะทำให้สามารถไล่ทรราชย์ออกไปได้ แต่นักศึกษาปัจจุบันกำลังตั้งคำถามต่อสามสถาบันหลักนั้น”

อีกสิ่งหนึ่งที่คณะราษฎร 2563 ต่างจากคณะราษฎร 2475 คือในทศวรรษ 2480 คนในสังคมยังรู้จักการเมืองระดับบนน้อยมาก ฐานทางสังคมมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก เมื่อเกิดการต่อรองอำนาจจึงสู้ไม่ได้ ขณะที่การกลับมาของคณะราษฎร 2563 ครั้งนี้มาพร้อมการตื่นตัวและเรียนรู้ขั้วอำนาจว่าใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์

“ผมคิดว่าการต่อรองจะไม่จบเหมือนเดิม เกมต่อไปข้างหน้าจะเข้มข้น เมื่อฐานทางสังคมที่เป็นคนรุ่นใหม่เริ่มขยับ ฐานทางสังคมอีกปีกหนึ่งก็จะขยาย สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือวิธีการที่เคยถูกหยิบใช้แล้วสำเร็จในอดีตก็อาจถูกมวลชนที่ยังโหยหาอำนาจแบบเก่าหยิบมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

“การขับเคี่ยวครั้งใหญ่ต่อไปจะไม่ใช่โจทย์คณะราษฎรในความหมายของชนชั้นนำหรือคนที่มีอำนาจอีกต่อไป แต่เป็นโจทย์ของคนส่วนใหญ่ในสังคม การขับเคี่ยวนี้จะซึมลึกในทุกระดับความสัมพันธ์ของสังคม” อนุสรณ์กล่าว

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save