fbpx
ยิ่งอ่านมาก ยิ่งอนุรักษนิยม : ตำราและระบบความรู้ในนิติศาสตร์ไทย

ยิ่งอ่านมาก ยิ่งอนุรักษนิยม : ตำราและระบบความรู้ในนิติศาสตร์ไทย

นักเรียนกฎหมายและนักกฎหมายไทยมักชอบอวดอ้างว่า ในการเล่าเรียนและการสอบของตนนั้นจะต้องมีการอ่านหนังสือเป็นจำนวนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสอบสำหรับการศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือการสอบเข้าดำรงตำแหน่งในวิชาชีพต่างๆ เช่น อัยการ ผู้พิพากษา พนักงานคดีปกครอง เป็นต้น

เมื่อต้องใช้เวลาทุ่มเทกับการอ่านอย่างมาก หลายคนจึงมักหยิบมาเป็นเหตุผลว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้วที่ควรได้รับค่าตอบแทนในการทำงานวิชาชีพในระดับที่สูงมากกว่างานด้านอื่นๆ ราวกับว่าการอ่านตำรากฎหมายนั้นเป็นความรู้อันพิเศษที่มนุษย์ธรรมดายากจะเข้าถึงได้ เมื่อมีบุคคลบางกลุ่มได้อุตสาหะเป็นอย่างมากก็ย่อมควรได้รับการตอบแทนในลักษณะเช่นนั้น

ในเบื้องต้น ผมไม่ปฏิเสธว่ามีนักเรียนกฎหมายจำนวนหนึ่งที่ได้ทุ่มเทกับการอ่านตำรากฎหมายอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสอบเข้าทำงานในตำแหน่งอัยการหรือผู้พิพากษา ลูกศิษย์บางคนที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวได้ลาออกจากงานประจำมาเพื่อเตรียมตัว ‘อ่านหนังสือ’ สำหรับการสอบ และเธอก็ใช้เวลาไม่น้อยก่อนจะสามารถสอบผ่านเข้าสู่องค์กรวิชาชีพด้านกฎหมาย

ตัวอย่างนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ประหลาดพิกลแต่อย่างใด ใครที่อยู่ในแวดวงด้านกฎหมายก็คงได้รับฟังเรื่องราวในลักษณะดังกล่าวนี้อยู่เนืองๆ นักเรียนกฎหมายจำนวนไม่น้อยต้องทุ่มเทกับการอ่านอย่างมาก ใครที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะก็ย่อมสามารถจะลงทุนได้มาก ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการอ่านหนังสือด้านกฎหมายเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่มีความสำคัญในการแสวงหาความเจริญก้าวหน้าทางวิชาชีพ

แต่การอ่านตำราด้านกฎหมายเป็นจำนวนมาก จะมีความหมายถึงความรอบรู้ที่ลึกซึ้งและกว้างขวางไปพร้อมกันใช่หรือไม่ คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องแยกพิจารณาต่างหากออกไป

หากเปรียบเทียบกับความรู้ในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา เป็นต้น แม้จะเป็นงานที่เป็นความรู้เฉพาะด้านเช่นกัน แต่งานจำนวนไม่น้อยก็สามารถที่จะสื่อสารกับสาธารณะให้เข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับตำราทางด้านกฎหมายแล้วจะพบความแตกต่างอย่างมาก งานส่วนใหญ่มักจะถูกผลิตขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ ‘ขาย’ ให้กับนักเรียนกฎหมายเป็นสำคัญ โดยตำราเหล่านั้นมักจะเป็นการนำเสนอความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถมีความรู้ความเข้าใจถึงกฎหมาย อันจะนำไปเป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

ผมพยายามนึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออกว่ามีตำราหรือหนังสือกฎหมายเล่มใดที่สามารถกลายเป็นหนังสือขายดีในท้องตลาดได้บ้าง ตำรากฎหมายที่เห็นว่าพิมพ์ขาย 20-30 ครั้ง ก็ล้วนแต่ขายให้กับนักเรียนกฎหมายแทบทั้งสิ้น ยิ่งมหาวิทยาลัยแห่งใดมีนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ผู้สอนก็ยิ่งมีโอกาสที่จะพิมพ์ตำราขายซ้ำได้มากยิ่งขึ้น

หากพิจารณาถึงโครงสร้างของระบบความรู้ในตำรากฎหมายที่ถูกพิมพ์เผยแพร่ออกมา จะพบว่าโครงสร้างของงานส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยสามส่วน กล่าวคือ หนึ่ง บทบัญญัติของกฎหมาย สอง คำอธิบายที่มีต่อบทบัญญัติดังกล่าว สาม คำพิพากษาของศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพิพากษาของศาลฎีกา

สำหรับเนื้อหาในส่วนของคำอธิบายที่มีต่อบทบัญญัติของกฎหมายนั้นๆ ก็อาจมีการนำเอาคำอธิบายที่มีอยู่ก่อนหน้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงาน ความเห็นของ ‘ปรมาจารย์’ ในแต่ละด้านก็จะถูกนำมาอ้างอิงเพื่อยืนยันถึงการอธิบายความหมาย แต่ส่วนสำคัญที่ไม่อาจขาดหายไปจากตำรากฎหมายเลยก็คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งคำพิพากษาฎีกานี้ยิ่งเวลาผ่านไปมากขึ้นก็จะมีการนำเอาคำพิพากษาใหม่ๆ มาปะติดปะต่อให้มีความยาวมากขึ้น นัยสำคัญของการนำเอาคำพิพากษาฎีกามาใส่ไว้ในตำราก็คือ เพื่อเป็นการยืนยันถึง ‘ความถูกต้อง’ ในงานของตน

ตำราแทบทั้งหมดที่ผมได้มีโอกาสพลิกอ่านก็ล้วนเดินในแนวทางที่กล่าวมา มีงานจำนวนน้อยมากที่สามารถแหวกออกนอกขนบความรู้เช่นว่านี้

คำถามสำคัญที่อาจต้องขบคิดก็คือว่า โครงสร้างของตำราในลักษณะดังกล่าวนี้ส่งผลต่อระบบความรู้ของนักเรียนกฎหมายรวมถึงนักกฎหมายในลักษณะอย่างไร ผมอยากลองตอบคำถามนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวทั้งในฐานะของนักเรียนและผู้สอนทางด้านกฎหมาย เห็นว่ามีประเด็นที่ควรได้รับความใส่ใจดังนี้

ประการแรก ตำรากฎหมายเหล่านี้มุ่งให้ผู้เรียนจดจำถึงความหมายและบรรทัดฐานที่ ‘ถูกต้อง’ งานที่นักเรียนกฎหมายต้องอ่านเพื่อให้ผ่านการสอบนั้น หัวใจสำคัญก็คือต้องสามารถอธิบายถึงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นให้สอดคล้องกับแนวความคิดหลักที่อธิบายกันอยู่ การอ่านจึงต้องเป็นไปเพื่อทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ในคำอธิบายและต้องจดจำเพื่อสามารถนำมาให้คำตอบได้เมื่อต้องเผชิญกับคำถามหรือข้อสอบในการประเมินวัด

การอ่านในแนวทางเช่นนี้จะทำให้นักเรียนกฎหมายไม่ได้มีโอกาสในการฝึกฝนตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อข้อพิพาทต่างๆ การอ่านในลักษณะเช่นนี้ ‘ซ้ำแล้วซ้ำเล่า’ ก็จะมีผลให้ผู้อ่านค่อยๆ สูญเสียทัศนะแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ลงไป จนในที่สุดก็จะกลายเป็นนักอ่านเซื่องๆ คนหนึ่ง 

ประการที่สอง ตำรากฎหมายที่เป็นอยู่ได้จัดการแยกโลกแห่งความจริงและโลกทางกฎหมายให้ตัดขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง และนักเรียนกฎหมายต้องสนใจเฉพาะโลกทางกฎหมายเป็นสำคัญ ส่วนโลกแห่งความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งที่ต้องให้ความใส่ใจแต่อย่างใด ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจในแง่มุมความรู้จากศาสตร์อื่นๆ จึงไม่ได้อยู่ในโลกแห่งการรับรู้ของนักกฎหมาย

การจำแนกระบบความรู้ทางกฎหมายให้ลอยออกมาจากความเป็นจริง มีผลทำให้นักกฎหมายสามารถกล่าวท่องมาตราตัวบท คำอธิบาย และคำพิพากษาฎีกาได้อย่างแม่นยำ (ทั้งที่ความสามารถดังกล่าวอาจถูกทดแทนได้ด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าแล้วก็ตาม) แต่กลับไม่อาจเชื่อมโยงกฎหมายเข้าหาโลกของความเป็นจริงได้ หากจะมีปรากฏการณ์ทางกฎหมายที่แตกต่างไปจากหลักวิชาก็มักจะโยนให้เป็นความผิดเชิงส่วนตัวของแต่ละคน และมองว่าบริบททางสังคม เครือข่ายแห่งอำนาจนำ พลวัตของสถาบัน หรือปัจจัยอื่นๆ ก็ล้วนไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น   

ความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมที่เห็นกันอยู่ตำตาในห้วงเวลาปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ระบบความรู้ในตำรากฎหมายไม่สามารถให้คำตอบได้อย่างแต่อย่างใด หากจะค้นหาต้นตอก็มักจะโยนไปให้กับความดีเลวของปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ

ประการที่สาม ระบบความรู้ในตำรากฎหมายมีส่วนอย่างสำคัญที่จะชักชวนให้ผู้อ่านโดดเข้าไปในประเด็นรายละเอียดของแต่ละเรื่อง และบ่อยครั้งทำให้ไม่สามารถพิจารณาปัญหาในเชิงภาพรวม (ที่ปรีดี เกษมทรัพย์ ปรมาจารย์ด้านนิติปรัชญาของธรรมศาสตร์ เรียกว่า as a whole) หรือการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของกฎหมายได้อย่างเหมาะสม    

ประเด็นเรื่องพนักงานขับรถส่งอาหารในระบบแพลตฟอร์ม ก็มีการถกเถียงกันอย่างมากในหมู่นักเรียนกฎหมายว่าการจ้างในลักษณะดังกล่าวเป็น ‘การจ้างงาน’ หรือ ‘จ้างทำของ’ โดยไม่มีความเข้าใจว่าความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งการขูดรีดแรงงานในรูปแบบใหม่ หรือกรณีการขายข้าวหมากของชาวบ้านคนหนึ่งก็ได้กลายเป็นข้อถกเถียงว่าเป็นการกระทำที่ผิดเนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่เข้าข่ายเป็นแอลกอฮอล์หรือไม่ โดยไม่ได้มีการตระหนักว่ากฎหมายควบคุมการผลิตสุราเอื้อประโยชน์ให้กับใครเป็นสำคัญ

หากกล่าวโดยภาพรวม ระบบความรู้ที่ปรากฏอยู่ในตำรากฎหมายของสังคมไทยจะยอมรับบรรทัดฐานที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า มุ่งเน้นในความรู้ทางด้านกฎหมาย หากจะมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นก็มักอยู่ภายในกรอบของระบบความรู้ที่เคยเป็นมา จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นระบบความรู้ซึ่งให้ความชอบธรรมกับระบบที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า (status quo) มากกว่าการทำความเข้าใจพร้อมกับการตั้งคำถามต่อแนวความคิดที่ดำรงอยู่ 

ไม่ปฏิเสธว่านักเรียนกฎหมายจำนวนไม่น้อยได้อุตสาหะเป็นอย่างมากต่อการอ่าน แต่ในความเห็นของผมแล้วการอ่านงานทางด้านกฎหมายมากไม่ได้เป็นหลักประกันว่าผู้อ่านจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายอย่างลึกซึ้งหรือรอบด้านมากยิ่งขึ้น ยิ่งหากผู้อ่านมุ่งเน้นการอ่านไปยังตำรากฎหมายที่มีไว้สำหรับการสอบในการเข้าทำงานวิชาชีพแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะมีผลที่ทำให้ผู้อ่านกลายเป็นผู้ที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยมมากยิ่งขึ้น

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save