สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง
มักเป็นที่เข้าใจกันว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นสถาบันทางสังคมที่ทำหน้าที่ในการชี้ขาดข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน รวมถึงระหว่างประชาชนกับรัฐ สิ่งที่ผู้คนควรปฏิบัติเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็คือการใช้ความจริงและความรู้เป็นเครื่องมือในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่ และกระบวนการยุติธรรมจะทำให้ข้อพิพาทต่างๆ ถูกคลี่คลายไปด้วยหลักวิชาทางกฎหมายและด้วยความเป็นธรรม
ความเชื่อดังกล่าวนี้อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดพลาดอะไร แต่ขณะเดียวกันมันก็อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป หากลองพิจารณาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจากแง่มุมในชีวิตจริงของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชาวบ้านทั่วไปหรือ “สามัญชน” ที่ไม่ได้มีทักษะความรู้ทางกฎหมายมาก
ช่องว่างระหว่าง “โลกของกฎหมายในหนังสือ” กับ “ปฏิบัติการจริงของกฎหมาย”
David M. Engel นักกฎหมายชาวอเมริกันได้เคยศึกษาและชี้ให้เห็นว่า เมื่อชาวบ้านต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การตัดสินใจเลือกว่าจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการกับปัญหาหรือไม่นั้น มีขั้นตอนที่มีผลอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจของเขาอย่างน้อย 7 ขั้นตอนด้วยกัน (David M. Engel, บทบาทของกฎหมายที่มีต่อชีวิตของสามัญชน, นิติสังคมศาสตร์ ป. 2 ฉ. 1, 2557 น. 141- 163)
ขั้นตอนทั้งเจ็ดเริ่มตั้งแต่การเกิดความเสียหาย (injuries), การตระหนักถึงผู้ต้องรับผิด (perception of wrongdoing), การเรียกร้อง (claims), การปรึกษาทนายความ (consulting an attorney), การฟ้องคดี (lawsuits), การพิจารณา (trials) จนถึงขั้นตอนการอุทธรณ์ฎีกา (appeals)
ในขั้นตอนทั้งหมดที่ Engel ได้นำเสนอมานั้น เขาพบว่าตั้งแต่เริ่มต้นเกิดข้อพิพาทที่ทำให้เกิดความเสียหายไปจนกระทั่งถึงมีคำตัดสินเกิดขึ้นจริง สัดส่วนของผู้คนที่ใช้กระบวนการทางกฎหมายจะค่อยๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนกระทั่งกลายเป็นเหมือนรูปปิรามิด
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในโลกแห่งความเป็นจริง การใช้กฎหมายของสามัญชนจนกระทั่งไปสู่การตัดสินชี้ขาดของศาล จริงๆ แล้วมีอยู่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริง
ตัวอย่างเช่น การเรียกร้องความเสียหายในหลายเหตุที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากอีกฝ่าย แต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องฟ้องรองคดีเสมอไป หรือแม้จะมีการฟ้องคดีเกิดขึ้น แต่คดีจำนวนมากก็ไม่ได้นำไปสู่การพิจารณาจนถึงที่สุด เพราะคู่กรณีอาจตกลงกันเองได้ กระทั่งนำไปสู่การประนีประนอม เนื่องจากตระหนักถึงการต้องดำรงอยู่ร่วมกันต่อไปในชุมชน
ปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าวนี้สามารถพบเห็นได้อย่างกว้างขวางในทุกขั้นตอน
งานของ Engel มีความสำคัญในการชี้ให้เห็นว่าโลกของกฎหมายในหนังสือ (law in book) กับปฏิบัติการจริงของกฎหมาย (law in action) อาจไม่ใช่สิ่งที่ดำเนินไปตามความคาดหมายของผู้คนโดยส่วนใหญ่ หรือในความเข้าใจของนักกฎหมายที่มักมองไม่เห็นช่องว่างระหว่างโลกและปฏิบัติการจริงของกฎหมาย
ข้อจำกัดในการใช้กฎหมายของสามัญชนในโลกจริง
ผู้เขียนเองก็เคยเสนอว่า การตัดสินใจใช้กฎหมายของสามัญชนนั้นมีข้อจำกัดอีกหลายประการ เช่น ความแปลกแยกจากกฎหมายและขั้นตอนของระบบกฎหมายที่เป็นทางการ, ต้นทุนของการดำเนินการ และความคาดหมายถึงผลของคดี (สมชาย ปรีชาศิลปกุล, นิติศาสตร์ไทยเชิงวิพากษ์ 2549 หน้า 139 – 145)
กล่าวคือ ก่อนจะตัดสินใจว่าจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหรือไม่ แต่ละคนย่อมพิจารณาถึงต้นทุนที่ตนเองจะต้องเสียไปว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้นทุนดังกล่าวมิใช่เฉพาะต้นทุนที่เป็นตัวเงินเท่านั้น หากยังหมายถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องถูกกระทบ เช่น ชื่อเสียง ความมั่นคงของชีวิตในอนาคต เป็นต้น
หรือในกรณีที่บุคคลจะตัดสินใจสู้คดีหรือให้ปากคำไปในทิศทางใดก็อาจสืบเนื่องมาจากการคาดคะเนถึงผลที่จะเกิดขึ้น ดังเช่นผู้คนจำนวนมากที่ตกเป็นจำเลยในคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ต่างก็ให้การรับสารภาพถึงการกระทำความผิดของตน เนื่องจากตระหนักดีว่าหากยืนยันต่อสู้ต่อไป แล้วตนเองต้องถูกตัดสินให้ผิดนั้น จะเผชิญบทลงโทษค่อนข้างหนัก รวมทั้งจะเป็นข้อจำกัดในการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษอีกด้วย
สำหรับในกรณีของสามัญชนที่ถูกฟ้องร้องด้วยคดีของการฝ่าฝืนต่อกฎหมายป่าไม้หลายฉบับนั้น ก็เป็นที่รับรู้กันว่า โดยทั่วไปแล้วหากผู้ต้องหาให้การรับสารภาพและเป็นการกระทำความผิดที่ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก คำตัดสินก็มักจะลงโทษคนเหล่านั้นในสถานเบา ไม่ว่าจะด้วยการปรับเงินจำนวนหนึ่งหรือมีโทษจำคุก แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้
มากกว่า “ความไม่รู้”
ปัญหาของสามัญชนในกระบวนการยุติธรรมจึงอาจไม่ใช่แค่เรื่อง “ความไม่รู้” ของผู้คนเท่านั้น หากมีปัจจัยอื่นๆ รายล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ระบบกฎหมายที่หันหลังให้กับสามัญชนชายขอบ การอำนวยความยุติธรรม เช่น ทนายอาสา ที่ไม่สู้เป็นประโยชน์มากเท่าใดกับเหยื่อ เป็นต้น
การชี้นิ้วไปที่ “ความไม่รู้” ว่าเป็นสาเหตุของการเป็นเหยื่อในกระบวนการยุติธรรม กลับสะท้อน “ความไม่รู้” ของผู้คนในกระบวนการยุติธรรมในสังคมนั้นๆ มากกว่า
การทำความเข้าใจกับปฏิบัติการจริงของกฎหมายโดยเฉพาะในมุมมองและประสบการณ์ของสามัญชนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยเผยให้เห็นว่า โลกของกฎหมาย ซึ่งมักถูกอธิบายในทางอุดมการณ์ว่าเป็นกลไกในการสร้างความยุติธรรมและการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขนั้น กลับมีปฏิบัติการจริงไปในทิศทางตรงกันข้ามดำรงอยู่ด้วยเช่นกัน
ผลแห่งปฏิบัติการจริงของกฎหมายเป็นเรื่องที่ควรถูกตรวจสอบและท้าทายอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้สังคมเกิดปัญญาที่จะเข้าใจและจัดวางระบบกฎหมายลงในสังคมได้อย่างสมจริงมากขึ้น