fbpx

นิติศาสตร์คนพุทธ (1)

เดือนที่ผ่านมาไม่แน่ใจว่าฤกษ์ยามเป็นอย่างไร แต่ยุทธจักรดงขมิ้น (ตามสำนวนของมหาไต้ ตามทาง) ปั่นป่วนวุ่นวายไม่น้อย ทั้งเรื่องพระไม่ดีและพระดี ทำให้ญาติโยมกลุ้มใจไปตามๆ กัน เรื่องเงินบ้าง เรื่องสีกาบ้าง หรือเรื่องสีกาและเงินพร้อมกันก็มี

เผลอๆ พระดีทำให้กลุ้มใจมากกว่าพระไม่ดีเสียที

ทุกครั้งที่มีข่าวอื้อฉาววงการสงฆ์ ชาวไทยต้องเรียกร้องให้รัฐเข้าไปช่วยจัดระเบียบทุกครั้งไป แต่คนเรียกร้องจะตระหนักหรือไม่ว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังเรียกอยู่นั้นคืออะไร และจะนำไปสู่สิ่งใดได้บ้าง

พื้นฐานที่สุด ข้อเรียกร้องให้รัฐเข้าไปช่วยสอดส่องดูแลศาสนานั้น คือการเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนานั้นมีผู้ศึกษาไว้มากและนำเสนอหลายตัวแบบด้วยกัน แต่หลักๆ ความสัมพันธ์ทั้งหมดสามารถถูกจัดวางไล่กันไปตั้งแต่ความสัมพันธ์ที่เป็นปรปักษ์ที่สุด (the most negative) ไปจนถึงความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรที่สุด (the most positive) โดยอาจจะแบ่งได้ดังนี้

สุดโต่งไปในปลายด้านหนึ่งคือความสัมพันธ์แบบปรปักษ์ซึ่งรัฐปฏิเสธศาสนาทุกประเภท ไม่ใช่แค่ปฏิเสธเฉยๆ แต่ลงมือกำจัดศาสนาให้หมดไปจากสังคมนั้นๆ ด้วยเลย ความสัมพันธ์แบบนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่าศาสนาไม่มีประโยชน์ หรือแม้แต่เป็นโทษต่อสังคมด้วยซ้ำ ตัวอย่างที่หยิบยกกันบ่อยคือรัฐสังคมนิยมต่างๆ ซึ่งสมาทานอุดมการณ์คอมมิวนิสม์

แต่ข้อสังเกตคือ แม้จะปฏิเสธศาสนา รัฐคอมมิวนิสต์มักจะบูชาอุดมการณ์หรือท่านผู้นำด้วยความคลั่งไคล้ใหลหลงไม่แพ้ศาสนาเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่นรัฐธรรมนูญเกาหลีเหนือซึ่งยกย่องลัทธิ ‘จูเช’ ของท่านผู้นำคิมเอาไว้ว่าเป็นหลักการอันประเสริฐยิ่งหนึ่งเดียว เช่นนี้แล้วลัทธิจูเชต่างจากศาสนาอื่นๆ ตรงไหน

สุดโต่งที่อีกปลายคือความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นที่สุดกับศาสนา รัฐที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับศาสนานั้นเห็นว่าคำสอนของศาสนานั้นเป็นความจริงอันสูงสุด เป็นอุดมการณ์ เป็นอัตลักษณ์ของรัฐ เป็นต้นแบบแก่กฎหมายบัญญัติ และสรรพกำลังทั้งหมดของรัฐย่อมทุ่มไปให้กับศาสนา

โดยสภาพเช่นนี้ รัฐไม่ใช่จะเทิดทูนบูชาทุกศาสนา แต่นับถือเฉพาะศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะว่าดีหรือสูงส่งกว่าศาสนาอื่น รัฐแบบนี้เรานิยมเรียกว่ารัฐศาสนา

รัฐศาสนาเองก็มีสองแบบย่อย ถ้าศาสนาชนะรัฐ ศาสนาเป็นใหญ่ก็จะเป็นรัฐศาสนาแบบ theocratic state ซึ่งผู้นำศาสนาเป็นผู้นำการเมืองไปเลย เช่น นครรัฐวาติกันอาจจะเป็นตัวอย่างเดียวตัวอย่างสุดท้ายที่เหลืออยู่

ถ้ารัฐชนะศาสนาก็เป็นรัฐแบบ caesaropapism state ซึ่งผู้นำการเมือง (caesar) เป็นประมุขศาสนา (papacy) ไปด้วย และใช้ศาสนานั้นสร้างความชอบธรรมในการปกครองทางโลก ซึ่งมีรัฐแบบนี้อยู่หลายแห่งเหมือนกัน  

ระหว่างสองสุดขั้วคือความสัมพันธ์หลากหลาย รัฐที่เป็นกลางทางศาสนาก็มี ความเป็นกลางอาจหมายถึงรัฐที่ไม่สนับสนุนศาสนาใดเลย แต่ก็ไม่ปฏิเสธ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ รัฐกลุ่มนี้อนุญาตให้ใครจะนับถือหรือปฏิบัติอะไรก็ทำไป เพียงแต่ไม่รับรู้ ไม่ห้ามปราม แต่รัฐเป็นกลางอาจจะเป็นรัฐที่ปฏิเสธศาสนาในพื้นที่สาธารณะอย่างแข็งขันก็ได้ รัฐแบบนี้ในพื้นที่ส่วนตัวไม่เข้าไปยุ่ง แต่ในเวทีการเมืองหรือการกำหนดนโยบาย ไม่มีที่ให้ศาสนา

รัฐที่เป็นกลางอาจจะสนับสนุนทุกศาสนา จัดสรรงบประมาณ หรือที่นั่งให้ผู้นำศาสนาในรัฐสภาแบบไม่เลือกปฏิบัติด้วยซ้ำ

เสรีภาพทางศาสนานั้นดำรงอยู่เฉพาะตรงกลางๆ ของเส้นความสัมพันธ์นี้ ในรัฐที่เป็นปรปักษ์กับศาสนาทุกศาสนาอย่างรุนแรงก็ดี ในรัฐที่เป็นมิตรกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งเท่านั้นก็ดี ย่อมไม่มีพื้นที่ให้สมาชิกของรัฐเลือกความเชื่อและปฏิบัติตามความเชื่อของตนได้อย่างเสรี บุคคลย่อมไม่อาจนับถือศาสนาใดได้เลย หรือไม่ก็ถูกบังคับให้ต้องเชื่อในความเชื่อเดียว ห้ามสงสัย ห้ามถาม โดยธรรมชาติรัฐศาสนาย่อมต้องเลือกปฏิบัติระหว่างศาสนาที่จริงแท้กับความเชื่อจอมปลอม (ในสายตาของศาสนานั้น)

แน่นอนว่าความสัมพันธ์ต่างๆ นั้น ในความเป็นจริงมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ทำให้ตัวแบบต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงแนวทางพิจารณา ของจริงนั้นมีหลายเฉด หลายดีกรี นั่นแปลว่าเป็นการง่ายที่รัฐอาจจะขยับไปทางซ้ายหรือขวาของเส้นความสัมพันธ์นั้นโดยไม่รู้ตัว

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนา คำวินิจฉัยของศาลเพื่อยืนยันหรือปฏิเสธสิทธิของบุคคล หรือศาสนจักร ล้วนสามารถขยับรัฐในทางออกห่างหรือเข้าหาศาสนาได้ทั้งสิ้น

ประเทศไทยอยู่ตรงไหนบนเส้นความสัมพันธ์ดังกล่าว ประเทศที่รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาทุกศาสนา แต่รัฐต้องอุปถัมภ์ศาสนาพุทธเป็นพิเศษ ถึงกระนั้น พุทธก็ไม่ใช่ศาสนาประจำชาติตามกฎหมายเสียที แม้ว่าเราจะกินเหล้าไม่ได้ทุกวันพระใหญ่ก็ตาม พระรับเงินเดือนหลวงและมีหน่วยงานรัฐคอยกำกับดูแลไม่ให้ยุ่งกับการเมือง แต่นอนกับสีกาแล้วตำรวจไม่จับเพราะไม่ผิดกฎหมาย กระนั้นตำรวจก็ถูกชาวบ้านเรียกไปบ่อยๆ แล้วต้องคุมตัวพระไปสึกกับเจ้าคณะ เจ้าอาวาส ความสัมพันธ์ของรัฐไทยกับศาสนาออกจะซับซ้อนไม่น้อย ไม่ใช่รัฐพุทธเสียทีเดียวแต่ก็กำลังขยับไปหาความเป็นรัฐพุทธเรื่อยๆ

ยิ่งชาวพุทธเรียกร้องให้รัฐเพิ่มบทบาทในการอุปถัมภ์ค้ำชูศาสนามากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งขยับเข้าใกล้ความเป็นรัฐพุทธมากขึ้น เสรีภาพทางศาสนาของไทยจึงกำลังหดลงอย่างช้าๆ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save