fbpx

นิติศาสตร์คนพุทธ (2)

อ่านบทความ นิติศาสตร์คนพุทธ (1) ได้ที่นี่

เดือนที่ผ่านมาวงการกฎหมายไทยมีความเคลื่อนไหวน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภานิติบัญญัติรับร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าและร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมไปพิจารณาต่อ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดอีกด้วย (ถึงแม้ไม่กี่วันต่อจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพร้อมใจกันออกกฎเพื่อควบคุมการใช้กัญชาโดยพร้อมเพรียงกันก็ตาม) ผู้ที่สนับสนุนนโยบายเหล่านี้ชื่นชมว่าเป็นความก้าวหน้าของสังคมไทย ส่วนผู้คัดค้านจำนวนมากตำหนิว่าความ ‘ก้าวหน้า’ เหล่านี้เป็นจุดเสื่อมทรามของศีลธรรม

อันที่จริงกฎหมายจำนวนมากล้วนมีมิติทางศีลธรรมเกี่ยวข้องทั้งสิ้น เพราะการตรากฎหมายคือการตัดสินคุณค่าว่าการกระทำใดดีหรือเลวอยู่ในที แต่เฉพาะกฎหมายเหล่านี้ล้วนกระตุ้นความรู้สึกทางศีลธรรมอย่างแรงกล้า กลายเป็นพื้นที่ปะทะกันระหว่างคุณค่าแบบสมัยใหม่ (สิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคล ตราบที่สังคมไม่เดือดร้อน) กับคุณค่าจารีต (ความดีงามที่ผูกติดกับศีลธรรมแบบศาสนา) แม้แต่ ส.ส. หลายคนจากหลายพรรคยังไปไม่รอด ถูก ‘เอดูเขต’ กันไปถ้วนหน้า และการโต้วาทีกันในเรื่องเหล่านี้ก็ยังไม่จบสิ้น ยังขยายวงต่อออกไปเรื่อยๆ

ระบบการเมืองไทยได้รับอิทธิพลพุทธศาสนามาไม่น้อย ระบบกฎหมายก็แฝงความเป็นพุทธอยู่ไม่แพ้กัน เพียงแต่นักนิติศาสตร์มักมองข้ามไป เพราะอิทธิพลของศาสนาพุทธในระบบกฎหมายนั้น ถ้าไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในรัฐธรรมนูญหรือเรื่องการปกครองคณะสงฆ์แล้ว ก็ไม่ปรากฏชัดเจนเหมือนอย่างเช่นอิทธิพลของศาสนาอิสลามกับกฎหมาย แม้กระนั้นนิตินโยบายของไทยเราเกี่ยวข้องกับความเป็นพุทธมาตลอด

พระพุทธเจ้าไม่เคยให้กฎหมายไว้กับชาวพุทธ ไม่เหมือนชารีอะห์ที่ชาวมุสลิมรับทราบว่านี่คือกฎหมายของพวกตนที่พระเจ้าประทานมาให้ คำถามคือแล้วนิตินโยบายแบบพุทธนั้นมาจากไหน

ศาสนาพุทธประกอบไปด้วยสองส่วนหลักๆ คือ ธรรมกับวินัย ธรรมะคือคำสอน เรื่องการปฏิบัติตนของชาวพุทธ ส่วนวินัยเป็นกฎหมายของพระ สังเกตตรงนี้ให้ดีว่า วินัยนั้นไม่ใช่กฎหมายบังคับกับอุบาสกอุบาสิกา วินัยของพระนั้นสุดเขตอยู่ตรงรั้วกำแพงวัดนั่นเอง แม้แต่ในวัด ศาสนาพุทธก็เกรงใจกฎหมายของบ้านเมืองมากทีเดียว หากวินัยกับกฎหมายขัดแย้งกัน แม้แต่พระพุทธเจ้าก็พยายามอนุโลมตามคำขอของเจ้าผู้ปกครองมากกว่าจะประกาศตนเป็นเอกเทศจากบ้านเมือง

แต่วินัยมีอิทธิพลต่อการก่อรูปของกฎหมายยุคโบราณในภูมิภาคสุวรรณภูมิมากทีเดียว วินัยปิฎกไม่ได้มีเฉพาะฐานความผิดข้อห้ามต่างๆ เท่านั้น แต่ยังวางระบบการชำระคดีและบรรทัดฐานต่างๆ มาด้วย เมื่อศาสนาพุทธมาถึงสุวรรณภูมิ บรรดาผู้ปกครองต่างยินดีต้อนรับ ‘ประมวลกฎหมาย’ ฉบับนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพและล้ำหน้ากว่ากฎหมายจารีตพื้นเมือง วินัยพุทธกลายเป็นต้นร่างของพระธรรมศาสตร์หรือประมวลกฎหมายพื้นเมืองของภูมิภาคนี้สืบมาจนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยประมวลกฎหมายแบบตะวันตก ในสยามเมื่อเข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 20 กฎหมายตราสามดวงก็ถูกทยอยแทนที่ด้วยประมวลกฎหมายสี่มุมเมืองและระบบศาลยุติธรรมแบบตะวันตก

แต่อิทธิพลของธรรมะยังอยู่ กฎหมายไทยนับแต่สมัยรัชกาลที่ห้า อาจจะกลายเป็นกฎหมายนิติบัญญัติไปแล้ว คือกฎหมายที่เกิดจากองค์อธิปัตย์ ไม่ใช่กฎหมายที่เทวดาประทาน หรือหลัง 2475 ก็กลายเป็นกฎหมายจากผู้แทนปวงชน แต่ผู้ทรงอำนาจนิติบัญญัติเหล่านี้ล้วนได้หล่อหลอมภายใต้ศาสนาพุทธทั้งสิ้น ที่ชัดๆ อาจจะเป็นพวกกฎหมายบาป กฎหมายเกี่ยวกับสุรายาเมา การพนัน การค้าประเวณี การทำแท้ง ตลอดจนการสมรส ครอบครัว ซึ่งความเชื่อด้านศีลธรรมมีอิทธิพลชี้นำนโยบายสูง

ที่จริงการที่กฎหมายได้รับอิทธิพลจากธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร กฎหมายควรจะสอดคล้องกับสภาพความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด การดันทุรังผลักดันกฎหมายที่ฝืนความเห็นของสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมนั้น รังแต่จะทำให้กฎหมายนั้นพังมากกว่าจะ ‘ปังปุริเย่’

แต่สังคมไทยปัจจุบันเป็นสังคมพุทธหรือ ในด้านศีลธรรมสังคมไทยคงหลากหลายกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ศีลธรรมนั้นเป็นข้อเรียกร้องส่วนตัวต่อมโนสำนึกของศาสนิกแต่ละคน หากไม่ทำ ศาสนิกก็ต้องไปรับผิดชอบกับมโนสำนึกตัวเองหรือนรกสวรรค์ (แล้วแต่จะมี) แต่กฎหมายเป็นข้อบังคับกับความประพฤติของทุกคนในสังคมโดยไม่ขึ้นอยู่กับศาสนา และมีโทษถึงเนื้อตัวร่างกาย การยืนยันนโยบายตามแนวทางศีลธรรมของตนเองอย่างดึงดันย่อมไปกระทบสิทธิเสรีภาพของสมาชิกอื่นในสังคม ใครที่พยายามจะตรึงรั้งสังคมไว้ด้วยศีลธรรมส่วนตัวเองคงต้องเจ็บปวดอย่างไม่ต้องสงสัย

สุดท้าย แม้ศีลธรรมจะเป็นข้ออ้างใหญ่ในการกำหนดนโยบายของรัฐ ก็ไม่ได้หมายความว่าศาสนาพุทธจะเป็นใหญ่เหนืออำนาจรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับพุทธนั้นสนิทแนบแน่น แต่รัฐเป็นหุ้นส่วนที่ใหญ่กว่า จึงรับศีลธรรมพุทธเฉพาะที่สมประโยชน์ตัวเอง สภาพเช่นนี้จึงเกิดอาการปากว่าตาขยิบอย่างเลี่ยงไม่ได้ ห้ามการพนันคาสิโนแต่รัฐออกสลากพลัสส่งตรงเข้ากระเป๋า ห้ามขายเหล้าแต่รัฐคุมสัมปทานต้มกลั่นควันโขมง หรือการยอมเสรีกัญชาและการทำแท้งถูกกฎหมาย

ภายใต้ความสัมพันธ์เช่นนี้ ศีลธรรมพุทธจึงไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อะไรมากเท่ากับเป็นทางลัดในการตัดสินใจของเผด็จการทางศีลธรรมเพื่อปิดปากผู้เห็นต่าง ทั้งที่ศีลธรรมส่วนตัวของคนดีย์เหล่านั้นบางคนก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกัน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save