fbpx
ชาตินิยมลาตินอเมริกาในบริบทของโลกาภิวัตน์ (3)

ชาตินิยมลาตินอเมริกาในบริบทของโลกาภิวัตน์ (3)

อ่าน ชาตินิยมลาตินอเมริกาในบริบทของโลกาภิวัตน์ ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2

ในบทความสองครั้งก่อน ผมได้พูดถึงบทบาทของโลกาภิวัตน์ที่มีผลกระทบต่อชาตินิยมในลาตินอเมริกา สำหรับบทความในคราวนี้ เรามาต่อกันให้จบในหัวข้อดังกล่าว ซึ่งยังมีประเด็นหลากหลายที่แยกย่อยตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

ชาตินิยมลาตินอเมริกาและระบบอินเตอร์อเมริกัน

การปะทะกันทางวัฒนธรรมระหว่างลาตินอเมริกาและแองโกลแซกซอนแสดงให้เห็นผ่านบริบททางเศรษฐกิจ โดยในช่วงก้าวย่างเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาตินิยมลาตินอเมริกาได้เน้นความสำคัญไปที่ชาตินิยมทางเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถที่จะเข้าใจชาตินิยมลาตินอเมริกาได้ถ้าไม่ได้ตระหนักถึงการปะทะกันของชาตินิยมลาตินอเมริกากับการขยายอำนาจของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งในขณะนั้น สหรัฐอเมริกาได้สถาปนาอำนาจจักรวรรดินิยม ขณะที่ลาตินอเมริกาก็มีความเข้มแข็งทางการเมืองขึ้น หลังจากช่วงเวลาหลายทศวรรษของความอ่อนแอวุ่นวายอันเป็นผลต่อเนื่องมาจากสงครามประกาศอิสรภาพในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

การขยายอำนาจที่สำคัญสองครั้งของจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกาสู่ดินแดนในลาตินอเมริกา ได้แก่ สงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก (ค.ศ. 1846-1848) และสงครามระหว่างสเปนกับสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1898 เนื่องจากปัญหาในคิวบา สหรัฐอเมริกาได้รบกับเม็กซิโกภายใต้แนวความคิดเรื่อง ‘อาณัติของพระเจ้า’ ที่มีความเชื่อว่า สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ที่พระเจ้าได้กำหนดให้ครอบครองดินแดนในอเมริกาเหนือทั้งหมด ขณะเดียวกัน ก็เป็นการขยายความเป็นเสรีชนของสหรัฐอเมริกาให้แก่คนในพื้นที่ที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปยึดครองด้วย สงครามครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะของสหรัฐอเมริกาเหนือเม็กซิโก ทำให้สหรัฐอเมริกาได้พื้นที่ถึงหนึ่งในสามทางตอนเหนือของเม็กซิโกไปเป็นของตนเอง แน่นอนว่า สงครามนี้ย่อมส่งผลให้เกิดแนวความคิดชาตินิยมในเม็กซิโกที่ต่อต้านสหรัฐอเมริกา ส่วนผลของสงครามระหว่างสเปนกับสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1898 ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ครอบครองฟิลิปปินส์และเปอร์โตริโก ขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลคุ้มครองคิวบาด้วย

จากความกลัวต่อการที่สหรัฐอเมริกาทำสงครามขยายดินแดน ประกอบกับบทบาททางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ทำให้จำเป็นต้องแสวงหาวัตถุดิบ ชาติต่างๆ ในลาตินอเมริกาจึงเกิดจิตสำนึกร่วมกันในความหวงแหนทรัพยากรของชาติตนเอง ไม่อยากให้ตกอยู่ภายใต้การกำกับของต่างชาติ (ซึ่งในขณะนั้นคือสหรัฐอเมริกา) จนกลายเป็นแนวความคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในแต่ละประเทศลาตินอเมริกา ดังนั้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 รัฐสภาของประเทศต่างๆ อาทิ อาร์เจนตินา บราซิล อุรุกวัย และชิลี ได้เป็นแนวหน้าในการเคลื่อนไหวและออกกฎหมายเพื่อป้องกันต่างชาติไม่ให้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศของตนเอง สะท้อนให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของชาตินิยมทางเศรษฐกิจ อนึ่ง การแสดงออกของประเทศเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เป็นผลสะท้อนจากความขมขื่นในอดีต ที่อังกฤษพยายามขยายอิทธิพลของตัวเองเข้ามาควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลาตินอเมริกาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

เมื่อมาถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ลาตินอเมริกาหาได้เกรงกลัวอิทธิพลของมหาอำนาจอย่างอังกฤษไม่ แต่พวกเขาหวาดเกรงการรุกคืบของสหรัฐอเมริกา บางประเทศลาตินอเมริกาถึงกับมีสมมติฐานว่า สหรัฐอเมริกากำลังจะจัดตั้ง ‘จักรวรรดิโรมันสมัยใหม่’ ในทวีปอเมริกา แน่นอนว่าประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาต่างก็ต่อต้านการครอบงำของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการเข้ามาแสวงหาทรัพยากรและวัตถุดิบต่างๆ เพื่อป้อนอุตสาหกรรมในประเทศของตน รวมถึงแนวความคิดเรื่อง ‘อาณัติของพระเจ้า’ ขณะเดียวกัน ผู้นำฝั่งสหรัฐอเมริกามองว่า การขยายอำนาจของตนเข้าสู่ลาตินอเมริกาถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้ว่าต่อมา ในปี ค.ศ. 1903 สหรัฐอเมริกาได้หนุนหลังปานามาให้ประกาศเอกราชจากโคลอมเบีย เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในการขุดคลองปานามาเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ผู้นำของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นคือ ประธานาธิบดี Theodore Roosevelt ได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า ไม่มีประเทศอื่นใดในโลกที่สามารถขุดคลองเชื่อมระหว่างสองมหาสมุทรได้ ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาที่จะต้องทำภารกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปให้ได้ แม้จะต้องใช้กำลังอาวุธก็ตาม

จะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกาในขณะนั้นได้มีแนวคิดจักรวรรดินิยมอย่างเต็มตัว และต้องการขยายอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของตนไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ลาตินอเมริกาในฐานะที่มีพรมแดนประชิดกับสหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นบททดสอบหรือห้องทดลองที่สำคัญในการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกในนามของการสร้าง ‘ความก้าวหน้า’ ให้กับมวลมนุษยชาติ

ผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้นายทุนสหรัฐอเมริกามองลาตินอเมริกาว่า เป็นตลาดวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ก็เป็นตลาดที่จะรับซื้อผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกา นอกเหนือไปจากการแสวงหาช่องทางการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในลาตินอเมริกาที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของลาตินอเมริกาซึ่งเป็นที่ต้องการของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ น้ำมันและแร่โลหะต่างๆ

ขณะเดียวกัน การลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในลาตินอเมริกา อาทิ ทางรถไฟในเม็กซิโกและเปรู ก็ทำกำไรให้กับบริษัทของสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น นักลงทุนชาวอเมริกันยังได้เข้าไปกว้านซื้อที่ดินในเม็กซิโกเพื่อขุดเจาะน้ำมันและทำเหมืองแร่โลหะเป็นจำนวนมาก นอกเหนือไปจากการลงทุนทางด้านการเกษตร ผลกระทบจากการขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในเม็กซิโกถือเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติเม็กซิโกในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1910-1940 เนื่องจากความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลกลางของเม็กซิโกที่มีนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนอเมริกัน

เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามายุ่งเกี่ยวทางเศรษฐกิจกับลาตินอเมริกาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ฝั่งชาตินิยมลาตินอเมริกาจึงเริ่มมีปฏิกริยาตอบโต้ทางด้านเศรษฐกิจกับการกระทำของสหรัฐอเมริกา แนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจก็เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก สำหรับฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกา พวกเขามองว่าการที่สหรัฐอเมริกาดำเนินการเช่นนี้เป็นการขูดรีดทางเศรษฐกิจ เป็นการขายทรัพยากรธรรมชาติให้กับต่างชาติในราคาถูก และเป็นการยกสัมปทานกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญให้ต่างชาติเข้ามาควบคุม ซึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรมสำคัญของประเทศในลาตินอเมริกา

ความกังวลของลาตินอเมริกาต่อการที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาตักตวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซี่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่สหรัฐอเมริกา รวมถึงยุโรป ได้ขยายอำนาจจักรวรรดินิยมเข้ามาในภูมิภาคลาตินอเมริกา และเพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาและยุโรป บางประเทศในลาตินอเมริกาได้ประกาศว่าทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เป็นของประเทศ โดยห้ามมิให้ต่างชาติเข้ามายึดครอง รวมถึงมีการยึดกิจการของชาวต่างชาติ ตัวอย่างเช่นในเม็กซิโก ช่วงระหว่างการปฏิวัติระหว่างปี ค.ศ. 1910-1940 ได้ประกาศยึดอุตสาหกรรมน้ำมันให้ตกเป็นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1917 ระหว่างการปฏิวัติเม็กซิโก ซึ่งเม็กซิโกในขณะนั้นถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตน้ำมันปิโตรเลี่ยมรายใหญ่ของโลกในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนที่เวเนซุเอลาและกลุ่มประเทศตะวันออกกลางจะค้นพบน้ำมันในพื้นที่ของตน การที่เม็กซิโกยึดกิจการน้ำมันปิโตรเลี่ยมมาเป็นของรัฐครั้งนี้สร้างความขัดแย้งให้เม็กซิโกกับชาติอุตสาหกรรมทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพราะกิจการข้ามชาติของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในขณะนั้นได้เข้าไปลงทุนในเม็กซิโกเป็นจำนวนไม่น้อย และรู้สึกปลอดภัยในช่วงที่รัฐบาลเม็กซิโกภายใต้การนำของผู้นำเผด็จการอย่างนายพล Pofirio Díaz ดำเนินนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่เขาครองอำนาจระหว่างปี ค.ศ. 1876-1911

นอกจากเม็กซิโกที่ดำเนินการดังกล่าวข้างต้นแล้ว โบลิเวีย ซึ่งอยู่ในแถบเทือกเขาแอนดีสและเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล กำลังอยู่ในสภาวะความยุ่งเหยิงทางการเมือง เกิดสงครามกลางเมืองซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ ผู้นำในขณะนั้นได้ประกาศยึดกิจการน้ำมันปิโตรเลี่ยมให้ตกเป็นของรัฐในปี ค.ศ. 1937 ต่อมาในปี ค.ศ. 1952 โบลิเวียได้เข้ายึดพร้อมกับจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทขนาดใหญ่สามบริษัทที่มีต่างชาติเป็นหุ้นส่วนและดำเนินกิจการเหมืองแร่ในโบลิเวีย หลังจากนั้นไม่นาน กัวเตมาลา ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ในอเมริกากลาง ก็ได้เข้ายึดกิจการส่วนใหญ่ของบริษัท United Fruit Company (UFCO) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ผู้ผลิตกล้วยหอมส่งออกรายใหญ่ของโลก โดยบริษัท United Fruit Company ได้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และได้ก่อร่างสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบอเมริกากลางหรือแถบทะเลแคริบเบียน และยังเข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองไม่น้อย สำหรับคิวบา ภายหลังการปฏิวัติปี ค.ศ. 1959 รัฐบาลสังคมนิยมได้เข้ายึดกิจการต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมันและที่ดินที่มีชาวอเมริกันเป็นเจ้าของ ส่วนเปรูได้ประกาศยึดกิจการน้ำมันมาเป็นของรัฐในปี ค.ศ. 1970 และอีกห้าปีต่อมา เวเนซุเอลาก็เดินตามรอยเปรู

การที่รัฐเข้าไปยึดกิจการข้างต้นของนักธุรกิจเอกชนให้ตกมาเป็นของรัฐนั้น ส่วนใหญ่จะมีการจ่ายค่าชดเชยคืนแก่บริษัทต่างๆ แต่สำหรับนักชาตินิยมลาตินอเมริกัน ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เงินซึ่งต้องจ่ายคืนไป แต่เป็นการได้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศกลับคืนมามากกว่า พวกเขามองเห็นว่าการค่อยๆ ใช้และบริหารทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพจะเป็นการช่วยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งในมุมมองของนักชาตินิยมลาตินอเมริกัน การดำเนินการเช่นนี้จะก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ทุกชนชั้นในสังคมลาตินอเมริกาอย่างเท่าเทียมกัน

นักวิชาการส่วนใหญ่มองเห็นว่า ชาตินิยมลาตินอเมริกาเป็นพลังที่เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง และมีอยู่ได้ด้วยบริบทของสังคมในลาตินอเมริกา แม้ว่าในสังคมอื่นอาจจะไม่ปรากฏก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าชาตินิยมลาตินอเมริกามีความแตกต่างจากที่อื่นๆ เนื่องจากอิทธิพลของการมีเชื้อสายและวัฒนธรรมที่ผสมกันของพวก Mestizo การผสมผสานกันของเชื้อชาติชนพื้นเมืองอินเดียน ยูโรเปี้ยน และแอฟริกันในลาตินอเมริกา จึงถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจความเป็นชาตินิยมในลาตินอเมริกา

อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจกันว่ามีความขัดแย้งทางชาตินิยมด้านเศรษฐกิจของลาตินอเมริกากับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค ชาตินิยมลาตินอเมริกาได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นในลักษณะที่เป็นรูปแบบของการต่อต้านสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่า ในฐานะประเทศมหาอำนาจ ผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกามีได้หลายรูปแบบ แต่มีอยู่หนึ่งประเด็นที่สหรัฐอเมริกาดำรงนโยบายการต่างประเทศกับลาตินอเมริกามาโดยตลอดคือ ความพยายามที่จะเปิดตลาดสินค้าและการลงทุนในลาตินอเมริกาให้นักลงทุนจากชาติต่างๆ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา เข้าไปลงทุน ซึ่งสหรัฐอเมริกามีนโยบายเช่นนี้ นับได้ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 รวมถึงนโยบาย Pan-Americanism ที่ต้องการให้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในทวีปอเมริกาทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เอง ชาตินิยมลาตินอเมริกาจึงปะทะกับกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ

ความแปลกแยกของชาตินิยมลาตินอเมริกา

หนึ่งในหลายสาเหตุที่ประเด็นเรื่องชาตินิยมในลาตินอเมริกาไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควรจากนักวิชาการสมัยก่อนมาจากความเข้าใจว่า ชาตินิยมลาตินอเมริกาไม่ทรงพลังเท่าชาตินิยมในเอเชียหรือตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกาไม่ได้ผลิตนักชาตินิยมคนสำคัญๆ อาทิ Ho Chi Minh, Mao Zedong, Gamal Abdel Nasser หรือ Nelson Mandela (อาจจะมีข้อยกเว้นในกรณี Fidel Castro ของคิวบาซึ่งเป็นที่รู้จัก แต่เมื่อเทียบจำนวนแล้วจะเห็นได้ว่า นักชาตินิยมลาตินอเมริกามีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น)

สาเหตุอีกประการที่ทำให้ชาตินิยมในลาตินอเมริกาไม่ทรงพลังคือ ถ้าเปรียบเทียบกับแนวคิดชาตินิยมในประเทศโลกที่สามด้วยกัน แนวคิดชาตินิยมของลาตินอเมริกาเก่ากว่าประมาณเกือบ 200 ปี จึงไม่อยู่ในกระแสความสนใจเท่ากับชาตินิยมที่เกิดขึ้นที่หลัง ไม่ว่าจะเป็นชาตินิยมในเอเชียหรือในแอฟริกา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายฝ่ายจึงเข้าใจร่วมกันว่า ชาตินิยมลาตินอเมริกาเป็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ตลอดเวลา และจะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อถูกจุดติดจากวิกฤตหรือปัญหาต่างๆ อย่างไรก็ดี แม้ชาตินิยมลาตินอเมริกาจะแฝงตัวอยู่เงียบๆ แต่ผู้เขียนมองว่ามีความทรงพลังเช่นกัน และการจะทำความเข้าใจลาตินอเมริกาในปัจจุบันได้ ก็อาจจะต้องอาศัยการสำรวจประวัติศาสตร์ชาตินิยมลาตินอเมริกา ในบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือโลกาภิวัตน์ด้วย

รัฐชาติในลาตินอเมริกาเกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างจักรวรรดิกับหมู่บ้าน นับตั้งแต่จักรวรรดิสเปนและโปรตุเกสเข้ามามีอำนาจในช่วงราวๆ ปี ค.ศ. 1500 จวบจนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 อัตลักษณ์ของประชากรส่วนใหญ่ในลาตินอเมริกาถูกกำหนดไว้ในกรอบของวิถีชีวิตในหมู่บ้านและภูมิภาคที่พวกเขาอาศัยอยู่ ต่อมา สำหรับชนชั้นนำบางกลุ่ม ลัทธิจักรวรรดินิยมที่กำลังเติบโตในยุโรปส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา เมื่อจักรวรรดิสเปนและโปรตุเกสล่มสลาย การก่อตัวของรัฐชาติกลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนในลาตินอเมริกาเริ่มคิดออกไปไกลกว่าเรื่องของตัวเองในระดับหมู่บ้าน แต่ก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมาย เพราะพวกเขามองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกินกว่าการควบคุมหรือการกำหนดของพวกเขา

มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ชาตินิยมลาตินอเมริกาแตกต่างไปจากชาตินิยมในยุโรป ประการแรก ชาตินิยมในลาตินอเมริกาถูกสร้างหรือกำหนดจากผู้นำเชื้อสายยุโรปที่อาศัยอยู่ในลาตินอเมริกา ไม่ได้มาจากคนในท้องถิ่นดั้่งเดิมอย่างพวกอินเพียน ทำให้เป็นชาตินิยมที่มีลักษณะเบื้องบนกำหนดเบื้องล่าง ผู้นำเชื้อสายยุโรปในลาตินอเมริกาบังคับให้ชนพื้นเมืองอินเดียนหรือคนเชื้อสายแอฟริกันต้องพูดภาษาสเปนหรือไม่ก็โปรตุเกส (ในกรณีของบราซิล) นอกจากนั้น ยังกำหนดค่านิยมยุโรปให้ถือเป็นค่านิยมหลักในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัจเจกชน การถือครองที่ดินอย่างเสรี ระบบการค้าแบบเสรี รวมถึงในประเด็นเสรีภาพทางการเมือง ก่อให้เกิดแรงต่อต้านจากคนเบื้องล่างอยู่เป็นระยะๆ

ประการที่สอง ถึงแม้ว่าจะมีสงครามแย่งชิงพรมแดนเกิดขึ้นบ้างในลาตินอเมริกา แต่ชาตินิยมลาตินอเมริกาไม่ได้ถือกำเนิดหรือได้รับอิทธิพลโดยตรงจากสงครามแย่งชิงดินแดนดังที่เกิดขึ้นในยุโรป และประการสุดท้าย ชาตินิยมลาตินอเมริกามีความแตกต่างจากที่อื่นๆ เพราะได้รวมแนวคิดชาตินิยมของคนพื้นเมืองเข้าไปผสมผสานอยู่ด้วย

แม้ว่าในปัจจุบัน หลักฐานทางโบราณคดีจะยังไม่สามารถระบุชี้ชัดเวลาและจำนวนของผู้ที่อพยพมาเป็นชนพื้นเมืองกลุ่มแรกของทวีปอเมริกา แต่หลักฐานเท่าที่พอมีอยู่ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มแรกที่เข้ามายังทวีปอเมริกามาจากเอเชีย โดยข้ามช่องแคบแบร์ริ่งมาเมื่อกว่า 25,000 ปีมาแล้ว จึงอาจเป็นไปได้ว่า คนจากเอเชียคือคนกลุ่มแรกที่สร้างอารยธรรมในทวีปอเมริกา ในปัจจุบัน เราเห็นวงดนตรีพื้นเมืองของลาตินอเมริกามีคนญี่ปุ่นเป็นนักดนตรี เช่น วง Los Kjarkas ของโบลิเวีย ขณะเดียวกัน เราเห็นคนเอเชียหันมาสนใจการการเต้นแซมบ้าของบราซิล จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ชาตินิยมและโลกาภิวัตน์จะยังคงมีปฏิสังสรรค์ทางสังคมอยู่บนโลกนี้ไปอีกกาลนาน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save