fbpx
ชาตินิยมลาตินอเมริกาในบริบทของโลกาภิวัตน์ (2)

ชาตินิยมลาตินอเมริกาในบริบทของโลกาภิวัตน์ (2)

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ในบทความคราวที่แล้ว ผมได้พูดถึงบทบาทของโลกาภิวัตน์ที่มีผลกระทบต่อชาตินิยมในลาตินอเมริกา สำหรับบทความนี้จะยังพูดถึงเรื่องดังกล่าว โดยแบ่งตามประเด็นที่แยกย่อยตามรายละเอียด ดังต่อไปนี้

 

การก่อร่างสร้างตัวของชาตินิยม

 

ผู้ที่ศึกษาในประเด็นดังกล่าวจะต้องเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง ‘ชาติ’ กับ ‘รัฐ’ ก่อน โดยชาติในความหมายกว้างประกอบด้วยชุดความคิดที่มีร่วมกัน ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ความเชื่อของประชาชนในของการมีอยู่ของพวกเขาในดินแดนที่ขัดเจน ขณะที่รัฐคือกลุ่มของสถาบันการปกครองที่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารชาติให้บรรลุเป้าหมาย

ประสิทธิภาพของรัฐขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญสี่ประการ ประการแรกคือ มีความสามารถบริหารและควบคุมดินแดนทั้งหมดให้อยู่ภายใต้กฏระเบียบหรือไม่ ประการที่สองคือ ความสามารถในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง เกิดความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชนหรือไม่ ประการที่สาม ซึ่งเกี่ยวข้องกับสองประการแรกคือ การที่รัฐสามารถสร้างและดูแลโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้รัฐสามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งดินแดนและความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจหรือไม่ และประการสุดท้ายคือ ความสามารถในการผูกขาดอำนาจความชอบธรรมในการปกครอง ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยในการวัดความชอบธรรมคือ การตรวจสอบว่าประชาชนให้การยอมรับต่ออำนาจในการผูกขาดการปกครองอย่างไม่ขัดขืนในระยะยาวหรือไม่ การยอมรับนี้สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ใช่หรือไม่

ในการทำความเข้าใจชาตินิยมในลาตินอเมริกา เราจะต้องไม่ลืมว่า ‘รัฐ’ มาก่อน ‘ชาติ’ กว่าร้อยปี แม้ว่าหลายชาติในลาตินอเมริกาที่หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมได้ก่อตัวขึ้นเป็น ‘รัฐ’ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่แนวความคิดเรื่อง ‘ชาติ’ ยังพึ่งแตกหน่ออ่อนได้ไม่นาน กว่าที่จะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในภายหลัง

ในหนังสือสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาเรื่องชาตินิยม ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1983 และมีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ในปี ค.ศ. 1991 ของ Benedict Anderson ได้ให้ความหมายชาตินิยมว่าเป็น ‘ชุมชนจินตกรรม’ โดย Anderson ระบุว่า ลาตินอเมริกา รวมทั้งสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บุกเบิกประเด็นเรื่องชาตินิยมหลังยุคอาณานิคม ประกาศอิสรภาพจากจากเมืองแม่ อันได้แก่สเปนและโปรตุเกส ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เขายังได้เน้นถึงบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ในการกระตุ้นให้เกิดชุมชนจินตกรรม โดยแฉพาะหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อตัวของแนวคิดชาตินิยมในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามตามมาว่า ใครเป็นคนสร้างวาทกรรมเรื่องจินตกรรมนี้ กลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายในแต่ละชาติมีมุมมองที่ต่างกันในประเด็นเรื่องชาตินิยมหรือไม่ ถ้ามีความแตกต่างกันแล้วมีที่มาที่ไปอย่างไร หรือเป็นเพราะสาเหตุใด อะไรเป็นความแตกต่างในรายละเอียดของแต่ละกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับความหมายของชาตินิยมที่หลากหลายไม่เหมือนกัน

การศึกษาเรื่องชาตินิยมในประเทศกำลังพัฒนาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาไม่นานนี้เน้นไปที่ภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสนใจที่เพิ่มขึ้นในการศึกษาเรื่องการเป็นเอกราชของอดีตอาณานิคม ซึ่งไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่นักกับการล่มสลายอย่างฉับพลันและรุนแรงของชาติมหาอำนาจยุโรปต่อทั้งสองภูมิภาคข้างต้น ที่ดึงดูดความสนใจของนักวิชาการที่ศึกษาในประเด็นดังกล่าว สำหรับนักประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกา พวกเขาพยายามที่จะสร้างความเข้าใจใหม่ในประเด็นเรื่องชาตินิยมในลาตินอเมริกา โดยก่อนหน้านั้น ชาตินิยมในลาตินอเมริกาถูกมองว่าเป็นความสัมพันธ์จากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง แต่ในปัจจุบัน นักวิชาการในลาตินอเมริกาได้มุ่งเน้นการศึกษาชาตินิยมในภูมิภาค ผ่านการเคลื่อนไหวทางสังคมจากล่างขึ้นบน จากการลุกฮือของชนพื้นเมือง จากบทบาทของผู้หญิง รวมถึงบทบาทของกลุ่มชนรากหญ้าอื่นๆ อีกด้วย

 

ประวัติโดยสังเขปของการเริ่มต้นศึกษาเรื่องชาตินิยม

 

แนวความคิดเรื่องชาติมีจุดเริ่มต้นมาจากประเด็นที่สืบเนื่องมาจากเรื่องของสงคราม สำหรับในลาตินอเมริกาซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาณานิคมของสเปน ยกเว้นบราซิลที่เป็นของโปรตุเกส ประเด็นเรื่องชาติถูกจุดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงสงครามประกาศอิสรภาพ ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 กล่าวคือ สงครามนั้นก่อให้เกิดการสร้างอัตลักษณ์ของชาติที่เกิดขึ้นมาใหม่ กองทัพผู้นำการปลดแอกประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย และมีพื้นเพที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ สัญชาติ ชนชั้น และต่างก็มาจากหลากหลายพื้นที่ กระบวนการในการก่อร้างสร้างตัวขึ้นเป็นกองทัพและต่อสู้เพื่ออิสรภาพนำมาซึ่งอัตลักษณ์ใหม่ของชาติที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดขึ้น

จากสงครามประกาศอิสรภาพจากสเปนของประเทศส่วนใหญ่ในลาตินอเมริกา และการประกาศอิสรภาพของบราซิลในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชนชั้นนำในการประกาศอิสรภาพมีเป้าหมายเริ่มต้นในการสร้างชาติแบบควบคุมจากบนลงล่าง สถาบันต่างๆ ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น โดยเฉพาะสถาบันความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรือตำรวจ ถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบเพื่อจะสามารถควบคุมประชาชนให้อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม การสร้างชาติที่แท้จริงและเป็นปึกแผ่นในลาตินอเมริกาเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ภายหลังการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1930 การเกิดขึ้นของแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม การเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นของตัวเองเพื่อลดการพึ่งพาสินค้าจากชาติมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา การขยายตัวของความเป็นเมือง รวมทั้งการเน้นการพึ่งพาตนเอง นำไปสู่การก่อตัวและขยายตัวของวัฒนธรรม ความเชื่อ และแนวคิด ที่จะนำพาชาติต่างๆ ในลาตินอเมริกาให้ผ่านพ้นวิกฤตข้างต้นไปได้

สำหรับการศึกษารวมถึงข้อถกเถียงในแวดวงสาธารณะเรื่องการสร้างชาติเพิ่งจะได้รับความสนใจในวงวิชาการเมื่อไม่นานมานี้ ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์ พวกเขาจะมุ่งเน้นที่การศึกษาเรื่องการหลุดพ้นจากอำนาจการครอบงำของชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การล่มสลายของมหาอำนาจจักรวรรดิยุโรปในประเทศที่กำลังพัฒนา ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง อันนำไปสู่การเกิดใหม่ของประเทศในกลุ่มโลกที่สาม สำหรับนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องอาณานิคม การหลุดพ้นจากอาณานิคมภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในการถกเถียง มากกว่าการศึกษาเรื่องการได้รับอิสรภาพของลาตินอเมริกาจากสเปนและโปรตุเกสที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น

ขณะเดียวกัน นักสังคมศาสตร์ให้ความสนใจเรื่องการสร้างชาติในประเด็นบทบาทและอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ที่ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจเดี่ยวในระบบโลก และอาจนำไปสู่การกดดันให้เกิดและดำเนินตาม ‘ความเป็นอเมริกัน’ ในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ โดยปราศจากแรงที่จะขัดขืนดังเช่นในอดีต ผู้นำของสหรัฐอเมริกาพยายามผลักดัน ‘ค่านิยมและความเป็นอเมริกัน’ ให้เกิดขึ้นในประเทศโลกที่สาม เพื่อเป็นหลักประกันในการเป็นมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวของตัวเอง แนวทางการสร้างความเป็นอเมริกันถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงทางการทหารของสหรัฐอเมริกาในอัฟกานิสถานและอิรัก ซึ่งบทความนี้จะสำรวจความพยายามดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อการสร้างชาตินิยมในลาตินอเมริกา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์

 

คำนิยามที่หลากหลายของชาตินิยม

 

การสร้างความเข้าใจเรื่องพัฒนาการของชาตินิยมมีอยู่อย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการสำรวจว่า ชาติมีปฏิกริยาอย่างไรต่อภยันอันตรายที่มีต่ออธิปไตยของตัวเอง หรือในกรณีสุดโต่งคือ ชาติคิดอย่างไรต่อการดำรงอยู่ของตัวเอง ในนัยยะหนึ่ง ชาตินิยมเกิดขึ้นจากจิตสำนึกร่วมกันเพื่อร่วมต่อต้านอันตราย กล่าวคือ ถึงแม้แต่ละชาติจะมีความหลากหลายกันอย่างสุดโต่ง แต่ทุกฝ่ายก็พร้อมที่จะเผชิญหน้าต่อต้านภัยที่เข้ามาคุกคามชาติของตนเอง

นอกจากนี้ ภัยอันตรายจากผู้บุกรุกภายนอกในบางครั้งก็ก่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นในชาติได้ อาทิ คนงานในเหมืองอาจจะยอมรับได้กับค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าจากการมีนายจ้างเป็นคนชาติเดียวกัน ดีกว่าการต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้างชาวต่างชาติ และเมื่อไหร่ก็ตามที่เหมืองถูกขายให้ต่างชาติ คนงานก็พร้อมจะลุกฮือต่อต้านนายจ้างใหม่ ถึงแม้พวกเขายังจะได้รับค่าจ้างเหมือนเดิม เพราะคนงานเหล่านั้นเกิด ‘จิตสำนึก’ ของความเป็นชาตินิยม รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกขูดรีดจากนายจ้างชาวต่างชาติ

รากฐานของแนวคิดชาตินิยมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สามารถสรุปได้อย่างย่อว่า เกิดจากการผสมผสานกันที่เกิดขึ้นในชาติ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มกันทางด้านกายภาพหรือทางด้านสังคม การรวมกลุ่มกันเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้การนำของชนชั้นนำ การรวมกลุ่มทางด้านกายภาพเป็นการผนึกผสานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่หลากหลายในแต่ละภูมิภาคของแต่ละประเทศ อาทิ การทำถนนหรือทางรถไฟเชื่อมต่อกัน ส่วนการรวมกลุ่มทางด้านสังคมคือ การบังคับให้ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ ในชนบทให้ใช้ภาษาสเปนหรือโปรตุเกส อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงกลางถึงปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 แนวความคิดใหม่เรื่องชาติได้ท้าทายมุมมองเดิมของชนชั้นนำ ชาติในแนวความคิดใหม่เป็น ‘ชาติที่หลากหลาย’ ก่อร่างสร้างขึ้นมาจากผู้คนที่แตกต่างกัน พูดจากันคนละภาษา และมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย

แน่นอนว่า ความหลากหลายของเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ในแต่ละชาติ รวมถึงความแตกต่างของแต่ละชนชั้นในสังคม ต่างส่งผลถึงมุมมองที่แตกต่างกันออกไปต่อชุมชนของตัวเอง มีความแตกต่างกันในภูมิศาสตร์กายภาพ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สูงหรือพื้นที่ราบในชาติเดียวกัน หรือการแบ่งออกเป็นภูมิภาคย่อยในลาตินอเมริกา เช่น กลุ่มประเทศในแถบทะเลแคริบเบียนหรือกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ และด้วยความที่ลาตินอเมริกามีภูมิศาสตร์กายภาพที่หลากหลาย ส่งผลให้เกิดการพัฒนาของสังคมในชั้นย่อยๆ โดยประชาชนส่วนใหญ่จะมีจิตสำนึกและความผูกพันกับพื้นที่ของตนเอง หรืออาจจะกล่าวโดยภาพรวมว่า คนในลาตินอเมริกามีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับท้องถิ่นของตัวเอง มากกว่าความผูกพันที่มีต่อภูมิภาคลาตินอเมริกาโดยรวม แต่จะมีความผูกพันที่เกินพรมแดนบริบทของชาติตัวเองก็ต่อเมื่อเป็นการแสดงออกถึงกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน อาทิ ชาวพื้นเมืองในแถบเทือกเขาแอนดีสจำนวนมาก ทั้งในเปรู โบลิเวีย เอกวาดอร์ บางส่วนของอาร์เจนตินา ชิลี และโคลอมเบีย ยอมรับธงสีรุ้งลายตารางหมากฮอส (ธงวิปฮาลา) ว่าเป็นธงประจำกลุ่มของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นชนพื้นเมืองในประเทศใดที่กล่าวไปข้างต้นก็ตาม (ดูภาพที่ 1)

 

ภาพที่ 1: ชนพื้นเมืองดั้งเดิมในแถบเทีอกเขาแอนดีส ชูธงสีรุ้งลายตารางหมากฮอส

 

สังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาคลาตินอเมริกาถูกจัดสรรตามชนชั้นทางสังคม เชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งแยกทางสังคมนี้ การแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่นนี้จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะของชาตินิยมในลาตินอเมริกา ด้วยเหตุนี้ ชาตินิยมในลาตินอเมริกาจึงมีลักษณะที่แบ่งแยกแตกต่างเป็นอันมาก โดยสามารถแบ่งเป็นชาตินิยมของชนชั้นนำกับชาตินิยมของชนชั้นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชนชั้นนำ ผู้นำชาตินิยมแบบชนชั้นนำได้รับอิทธิพลจากสังคมการเมืองในยุโรปเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่เมื่อพูดถึงชนชั้นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชนชั้นนำ แม้กระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 พวกเขามีแนวทางชาตินิยมที่แทบไม่เป็นรูปเป็นร่างหรือมีอัตลักษณ์ที่เด่นชัด เมื่อเทียบกับชาตินิยมของชนชั้นนำ

แน่นอนว่า ชาตินิยมมีลักษณะที่เป็นทั้งเรื่องเฉพาะกับสังคมแต่ละแห่ง แต่ในขณะเดียวกัน ชาตินิยมก็เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งตอกย้ำความสำคัญของแต่ละบุคคลในการมีสิทธิและความเป็นอิสระในการเลือกรูปแบบการปกครองและรัฐบาลของตนเอง แน่นอนว่านี่ย่อมส่งผลต่อสังคมโลกด้วย แล้วอะไรคือลักษณะเฉพาะของชาตินิยมในลาตินอเมริกา

ชาตินิยมในลาตินอเมริกามีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากชาตินิยมในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะการที่ลาตินอเมริกาหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมทางการเมืองมาอย่างน้อยกว่าร้อยปี กว่าที่ลาตินอเมริกาจะหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมทางสังคมและเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ แต่ละประเทศประสบความสำเร็จในการหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคม ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แทบจะในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แน่นอนว่าสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย แอฟริกา หรือตะวันออกกลาง อาจจะมีช่วงเวลาที่เหลื่อมล้ำไปบ้างสัก 10 หรือ 20 ปี ระหว่างการได้มาซึ่งอิสรภาพทางการเมืองกับการได้รับอิสรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็ถือว่าเป็นแค่ช่วงระยะเวลาที่ไม่นานเมื่อเทียบกับของลาตินอเมริกา

อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่า ไม่ว่าจะเป็นลาตินอเมริกาหรือประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการได้อิสรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างสมบูรณ์แบบจวบจนกระทั่งถึงในปัจจุบัน กล่าวคือยังคงมีลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่สิ่งที่ทำให้ลาตินอเมริกาแตกต่างจากที่อื่นคือ การเกิดขึ้นของชาตินิยมทางการเมือง (ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19) เกิดขึ้นก่อนการก่อตัวของชาตินิยมทางเศรษฐกิจและสังคม (ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20) กว่า 150 ปีเลยทีเดียว

ระยะห่างที่ยาวนานระหว่างการที่ลาตินอเมริกาประสบความสำเร็จในการได้รับเอกราชทางการเมือง กับการที่ระบบเศรษฐกิจยังคงไม่ได้รับการพัฒนา ต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าหลักบางประเภทไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความแตกต่างจากสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เกิดความสงสัยในหมู่นักวิชาการว่า ทำไมลาตินอเมริกาถึงพัฒนาได้ช้ากว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศที่พัฒนาแล้ว กลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาทฤษฎีการพึ่งพาระบุว่า ลาตินอเมริกายังคงต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจ หรืออาจเรียกว่าเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมนับตั้งแต่ได้รับเอกราชทางการเมือง ดังนั้น ในช่วงกลางถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 จากอิทธิพลของสำนักคิดทฤษฎีการพึ่งพาได้มีการเสนอว่า ลาตินอเมริกาจะต้องหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจให้ได้เสียก่อน ถึงจะเรียกได้ว่าลาตินอเมริกามีเอกราชอย่างสมบูรณ์

จากเหตุผลดังกล่าว แนวความคิดชาตินิยมที่สำคัญในลาตินอเมริกาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงเป็นแนวคิดเรื่องชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเน้นการที่ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาจะต้องเข้าไปควบคุมกิจการสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าวัตถุดิบที่มีมูลค่าและความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ในบางประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ อาทิ น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ทรัพยากรดังกล่าวถูกมองว่าเป็นทรัพยากรของชาติที่มีความสำคัญ จะต้องได้รับการจัดการดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้แน่ใจว่า ทรัพยากรเหล่านี้จะนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศที่หลากหลายและเกิดความสมดุลต่อทุกภาคส่วนของสังคม ผู้นำของแนวความคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจบางคนเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจเช่นนี้ได้รับการมองว่าเป็นการสิ้นสุดการพึ่งพามหาอำนาจภายนอก เปิดโอกาสให้ประชาชนภายในประเทศสามารถควบคุมเป้าหมายและทิศทางทางเศรษฐกิจของตัวเองได้

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี่เอง ประเทศในลาตินอเมริกาช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงหันมาควบคุมเศรษฐกิจมากขึ้น คือให้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของรัฐ การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนในลาตินอเมริกาจำนวนมากมองว่าเป็น ‘การปลดปล่อยประเทศชาติ’ จากมหาอำนาจภายนอกได้อีกครั้งหนึ่ง

ความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของชาตินิยมในลาตินอเมริกาเป็นสิ่งสำคัญ นักประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกาอย่าง Arthur Whitaker ให้ความเห็นว่า การที่จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของชาตินิยมในลาตินอเมริกาได้ จะต้องศึกษาช่วงเวลาต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ ในระยะแรกซึ่งอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาตินิยมในลาตินอเมริกาเน้นไปที่การได้รับอิสรภาพทางการเมืองตามแนวคิดที่นำเข้ามาจากยุโรป ต่อมาคือในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาตินิยมจะเน้นทางด้านเศรษฐกิจตามแนวคิดที่ว่าทรัพยากรธรรมชาติถือเป็นสมบัติของชาติ ก่อให้เกิดแนวความคิดที่ว่ารัฐจะต้องเข้าไปควบคุมดูแล เฉกเช่นเดียวกับการเกิดชาตินิยมทางวัฒนธรรมที่มองว่า ลาตินอเมริกาเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามแนวคิดของ Rodó

หลังจากนั้น ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 รัฐบาลของแต่ละประเทศในลาตินอเมริกาเริ่มเข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองโลก ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 และ 1940 เกิดการขยายตัวของชุมชนในเขตเมืองที่เติบโตพร้อมกับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม นักการเมืองแนวทางประชานิยม รวมทั้งการเพิ่มจำนวนของชนชั้นกลางที่สนใจในการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น แต่ละประเทศในลาตินอเมริกายังเริ่มต้นสนใจการสร้างวัฒนธรรมหลักที่มีความสำคัญของชาติตนเองให้แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

เมื่อเริ่มต้นเข้าสู่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 การเมืองแบบชาตินิยมผสมผสานกับประชานิยมค่อย ๆ ลดน้อยถอยลง และถึงแม้หนังสือของ Whitaker ที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาจะจบการวิเคราะห์เอาไว้ตรงช่วงเวลานี้ แต่เราก็สามารถวิเคราะห์ต่อไปได้ว่า หลังจากคริสต์ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา กระแสชาตินิยมในลาตินอเมริกาถูกทำให้อ่อนแอลง อันเป็นผลจากการกลับมาของกระบวนการเสรีนิยมใหม่นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 เรื่อยมาจนถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 และท้ายสุด เมื่อกระบวนการเสรีนิยมใหม่เกิดความล้มเหลว ชาตินิยมในลาตินอเมริกาก็กลับมาเบ่งบานอีกครั้ง นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา

นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษนามอุโฆษอย่าง Eric Hobsbawm ได้แสดงความคิดเห็นถึงขั้นตอน ‘ความเป็นสมัยใหม่’ ของการเปลี่ยนแปลงของรัฐชาติในความหมายสำหรับชาตินิยมในลาตินอเมริกาว่า ขั้นตอนแรกคือขั้นตอน ‘การรู้แจ้ง’ ซึ่งอยู่ในช่วงราวๆ กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งประชาชนมีความเห็นพ้องร่วมกันในระบบการเมืองและกฎหมาย ต่อมาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แนวความคิดเรื่องความก้าวหน้าของชาติได้ถือกำเนิดขึ้น ความก้าวหน้าในที่นี้หมายถึงความเป็นสมัยใหม่และการขยายบทบาทอำนาจของรัฐให้ครอบคลุมดินแดนของตนได้ทั้งหมด โดยแนวความคิดเรื่อง ‘ความก้าวหน้า’ ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางในการบ่งชี้ว่า เฉพาะประชาชนที่มีจิตสำนึกในความเป็นรัฐชาติร่วมกันเท่านั้นจึงจะนับว่าเป็นพลเมืองของชาติ

หลังจากนั้น ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 Hobsbawm ชี้ให้เห็นว่าแนวความคิด ‘ชาตินิยมในวงกว้าง’ ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการปฏิวัติเม็กซิโกที่ทุกคนต่างก็ถือได้ว่าเป็นสมาชิกของชาติ แนวความคิดเรื่องชาตินิยมในวงกว้างยังถูกนำไปปรับใช้ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในการเคลื่อนไหวของพวกประชานิยมในเขตเมือง ขณะที่วัฒนธรรมของมวลชนสมัยใหม่ อันเป็นผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างจิตสำนึกใหม่ในความเป็นชาติร่วมกันให้เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ แนวความคิดของชาตินิยมจึงได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ถูกผูกขาดตามแนวความคิดที่มีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่อยู่ภายใต้การนำของชนชั้นนำและเป็นชาตินิยมที่มีลักษณะจากบนลงล่างอีกต่อไป เมื่อมาถึงช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้เกิดแนวความคิดชาตินิยมขึ้นหลากหลายรูปแบบในชาติต่างๆ ในลาตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวความคิดขาตินิยมใหม่ของคนธรรมดาสามัญซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก พร้อมๆ กับการขยายตัวของแนวคิดประชานิยมในเขตเมืองในหลายๆ ประเทศลาตินอเมริกา ที่เห็นเด่นชัดได้แก่ กรณีของ Víctor Paz Estenssoro ของโบลิเวีย กรณีของ Getúlio Vargas ของบราซิล และ Juan Perón ในอาร์เจนตินา ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1940 และ 1950 ซึ่งผู้นำประชานิยมเหล่านี้ล้วนแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า ชาตินิยมของคนธรรมดาคือชาตินิยมที่แท้จริงของชาติ ไม่ว่าจะเป็นโบลิเวีย บราซิล หรืออาร์เจนตินา ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากผู้นำเหล่านี้จะต้องการขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนธรรมดาสามัญในทางการเมืองแล้ว พวกเขายังต้องการปรับปรุงบริการสาธารณะและการพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับคนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงาน และคนยากจนอีกด้วย

แนวความคิดเรื่องชาตินิยมสามารถแบ่งออกได้เป็นสามลักษณะ คือ ทางการเมือง ทางวัฒนธรรม และทางเศรษฐกิจ สำหรับชาตินิยมทางการเมือง นอกจากจะหมายถึงการเคลื่อนไหวหรือความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความฮึกเหิมในมุมมองทางด้านการเมืองการทหารของชาติแล้ว ยังครอบคลุมถึงสิทธิทางการเมืองในการเลือกรูปแบบการปกครองและรัฐบาลของตนเอง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหนก็ตาม

วัฒนธรรมของลาตินอเมริกามีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง วัฒนธรรมของชนพื้นเมืองอินเดียนและวัฒนธรรมของพวกลูกผสมอินเดียนกับชนผิวขาวถือเป็นรากเหง้าสำคัญของสังคมวัฒนธรรมลาตินอเมริกา ในขณะเดียวกัน ก็มีบางกรณีที่วัฒนธรรมลาตินอเมริกาแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากวัฒนธรรมในที่อื่นๆ โดยเฉพาะวัฒนธรรมของของผู้คนในอเมริกาเหนือ (แม้ว่าจะอยู่ในทวีปอเมริกาเหมือนกันก็ตาม) แน่นอนว่า อิทธิพลจากวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองย่อมส่งผลต่อชาตินิยมในลาตินอเมริกาให้แตกต่างไปจากที่อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save