fbpx
‘LGBT ลาว’ ชีวิตเปราะบางบนความอ่อนไหว

‘LGBT ลาว’ ชีวิตเปราะบางบนความอ่อนไหว

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

Let’s Love หรือ เงารักในสายหมอก เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สั้นที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลวงพระบางเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่สร้างความสนใจต่อหนังเรื่องนี้คือการพูดถึงชีวิต LGBT ในลาว โดยเฉพาะเลสเบี้ยน เมื่อการพูดถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศในลาวมักปรากฏพื้นที่ของเกย์มากกว่า

Let’s Love เล่าถึงชีวิตของ ‘ไหม’ เลสเบี้ยนที่ต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคม ทั้งในครอบครัว คนรอบข้าง ไปจนถึงอาชีพการงาน ยิ่งสร้างความลำบากในชีวิตส่วนตัว เมื่อสิ่งที่เป็นไม่ใช่สิ่งที่สังคมคาดหวัง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก ออกซ์แฟม ผ่านโครงการของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลวงพระบาง และอีกส่วนหนึ่งมาจากการระดมทุนออนไลน์

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา SEA-Junction ได้จัดฉายภาพยนตร์พร้อมเชิญ ดอน บุดทะสิง ผู้กำกับเรื่องนี้มาพูดคุย

ปัจจุบัน ดอน เป็นที่ปรึกษาอิสระในประเทศลาว เธอเป็นผู้ก่อตั้ง Green Laos Community Volunteers (GLCV) ที่ทำงานวิจัยในชุมชนเพื่อสนับสนุนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดอนเคยทำสารคดี River Changes from Community’s View ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำอู ดอนบอกว่าการทำงานของเธอส่วนใหญ่เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชุมชน สิทธิผู้หญิง รวมถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ

ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เริ่มต้นที่การทำวิจัยในปี 2017 ดอนใช้เวลา 1 ปีเต็มในการลงพื้นที่ทำวิจัยเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยสัมภาษณ์คน 40 คน เช่น LGBT, พ่อแม่ที่มีลูกเป็น LGBT, พ่อแม่ที่ลูกไม่เป็น LGBT จนได้ความเห็นทั้งจากฝ่ายที่ยอมรับและไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ เพื่อสำรวจมุมมองเรื่องความหลากหลายทางเพศในลาว โดยเฉพาะกลุ่ม LGBT วัยรุ่นที่พบปัญหาในการอยู่ร่วมกับสังคมและครอบครัวตัวเอง

ดอน บุดทะสิง
ดอน บุดทะสิง

งานวิจัยของดอนยังไม่ถูกเผยแพร่ออกมา แต่เธอกำลังมีแนวคิดในการตีพิมพ์เป็นหนังสือ ขณะที่ในการทำวิจัยไม่สามารถแสดงข้อมูลบางอย่างได้ เช่น ตัวเลขของ LGBT ในลาว เพราะก่อนเผยแพร่งานวิจัยต้องส่งไปให้ภาครัฐพิจารณาก่อน

“มีแนวความคิดว่าอยากจะนำเสนอสภาพความเป็นอยู่ของ LGBT ในรูปแบบหนัง จึงสร้างหนังสั้นเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อนำเสนอมุมมองคร่าวๆ เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของ LGBT ที่ลาว โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ว่าต้องเจอปัญหาอะไรในสังคมบ้าง ตอนแรกอยากทำเรื่องสิทธิ LGBT แต่การพูดเรื่องสิทธิในลาวเป็นเรื่องยากและต้องให้รัฐบาลดูก่อนเผยแพร่ จึงเลือกเสนอประเด็นความยากลำบากในการใช้ชีวิตของ LGBT ในลาว

“เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หนังสั้นเรื่องนี้ฉายในหลวงพระบางฟิล์มเฟสติวัล คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเราทำหนัง LGBT ในลาวไม่ได้ ตอนแรกที่บอกคนอื่นว่าจะทำ ทุกคนไม่เชื่อและบอกให้หยุด ฉันอยากรู้ว่าจะทำได้จริงไหม แต่สุดท้ายในการถ่ายทำต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ฉายเพื่อการศึกษาหรือฉายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่อนุญาตในฉายในที่สาธารณะ และไม่ให้โพสต์ลงยูทูบหรือเฟซบุ๊ค”

ดอนบอกว่าปัญหาหลักที่นำเสนอในภาพยนตร์คือเพศหลากหลายจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว เพราะมีแรงกดดันจากสังคมภายนอกต่อเรื่องภาพลักษณ์ของครอบครัวในสังคม การเป็น LGBT หากจะเข้าทำงานในภาครัฐ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีรูปลักษณ์ตรงกับเพศกำเนิด เช่น เป็นผู้หญิงต้องผมยาว นุ่งผ้าซิ่น ต่อให้ทำงานบริษัทเอกชนก็ยังเจอปัญหาเรื่องการเข้าสังคมในที่ทำงาน เมื่อยังมีคนลาวไม่มากนักที่เปิดใจยอมรับความหลากหลายทางเพศ LGBT จึงหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมในที่ทำงานและเลือกเป็นเพื่อนเฉพาะกับคนที่คุยด้วยแล้วสบายใจ

การเป็น LGBT ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในลาว แต่การแต่งงานของเพศเดียวกันยังไม่ถูกยอมรับในกฎหมายและการเลือกปฏิบัติทางเพศยังเกิดขึ้นมากเพราะสังคมที่ยังยึดติดกับความเชื่อเดิม

“กฎหมายในประเทศลาวจะบอกว่าการเป็น LGBT นั้นไม่เป็นไร เพราะกฎหมายคุ้มครองทุกคนที่มีสัญชาติลาว ปัญหาหลักคิดว่าเป็นเรื่องการรักษาภาพลักษณ์ของครอบครัวมากกว่า คนจำนวนมากคิดว่า ถ้าคุณเป็น LGBT คุณคือสิ่งที่อับโชค นำเคราะห์ร้ายมาสู่ครอบครัว เป็นคนที่ฟ้าไม่รับ เป็นคนไม่ดี คนที่มีลูกเป็น LGBT จะอายคนอื่น เดินทางไปไหนก็จะไม่อยากเอาลูกไปด้วย” ดอนกล่าว

ดอนบอกว่าสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่นำมาใช้ขู่ลูกที่เป็นเพศหลากหลาย คือการขู่ว่าจะแจ้งจับ เพราะหากลูกไม่เชื่อฟังหรือเคารพผู้ปกครอง พ่อแม่มีสิทธิที่จะแจ้งจับลูกหรือให้ไปพบนักจิตบำบัดได้ พ่อแม่จึงใช้วิธีนี้ขู่ลูก โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำตัวไปได้โดยตรง แต่พ่อแม่ต้องเซ็นยินยอมให้นำลูกไป

เพศหลากหลายในช่วงวัยรุ่นจึงต้องเจอปัญหามากเมื่อยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และต้องพึ่งพิงทางการเงิน จากการทำวิจัยดอนพบว่าสิ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่เลือกจะปฏิบัติต่อลูกที่เป็น LGBT คือการบังคับให้ลูกเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ตรงกับเพศกำเนิด พ่อแม่ส่วนใหญ่รับการแต่งงานของเพศเดียวกันไม่ได้และคิดว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย ทางออกของผู้ที่เผชิญปัญหานี้คือการหลีกเลี่ยงการอยู่กับครอบครัว และคบหาแต่เพื่อนสนิทที่ให้การยอมรับและทำให้เป็นตัวของตัวเองได้

ภาพยนตร์สั้นของดอนหยิบเนื้อเรื่องจากงานวิจัยมาดัดแปลง หลายครอบครัวที่ดอนไปสัมภาษณ์เป็นแบบครอบครัวของ ‘ไหม’ ที่ต้องเลี่ยงการเผชิญหน้ากับพ่อ เพราะทุกครั้งที่พ่อเห็นหน้า จะด่าทอรุนแรงเพื่อบังคับให้เปลี่ยนแปลงตัวเอง จนไหมกลายเป็นคนชอบเก็บตัวในห้องและพูดคุยเฉพาะกับเพื่อนที่เป็นกลุ่มเพศหลากหลายเหมือนกัน

ยังมีเพื่อนของไหมอีกคนหนึ่งที่พ่อไม่คุยด้วยจนถึงปัจจุบัน เพราะหากเห็นหน้า พ่อจะแสดงออกว่าเกลียดและไม่ให้เงินใช้ ทั้งที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ แต่ยังได้เงินที่แม่แอบให้บ้าง

“เราไม่สามารถสื่อสารปัญหาออกมาในภาพยนตร์ได้ทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหวในลาว ก่อนถ่ายหนังเราต้องส่งบทและตารางเวลาการถ่ายทำไปให้ภาครัฐดูก่อนว่าฉากไหนไม่โอเค แล้วถึงวันถ่ายจะมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว มาอยู่ด้วยทุกวันจนรู้สึกกดดัน และต้องเปลี่ยนเนื้อหาบางฉาก เช่น ฉากผูกแขนสู่ขวัญ ที่ตามบทเขียนว่าเป็นฉากพิธีแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน ในบางพื้นที่ของลาวเมื่อเราพาคู่ของเราเข้าบ้าน ต้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านรับรู้ว่าจะนำคนรักมานอนร่วมห้องเดียวกัน แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วยตอนถ่ายทำเราก็เลี่ยงการพูดว่านี่คือพิธีแต่งงาน เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว ซึ่งพอถ่ายเสร็จแล้ว เราต้องส่งให้กระทรวงดูก่อนอยู่ดีเพื่อออกหนังสืออนุญาตฉาย

“มีฉากที่ไหมที่ทะเลาะกับลุง แล้วลุงพูดถึงการทำงานภาครัฐว่า ถ้าเป็นเลสเบี้ยนจะทำงานในภาครัฐไม่ได้ ถ้าจะเข้าไปทำงานต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่ก็ออกจากบ้านไป และฉากที่ไหมสูบบุหรี่ซึ่งเป็นกิจกรรมของผู้ชาย เป็นส่วนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่เข้าไปในหนังเพราะมีความอ่อนไหว”

ดอนบอกว่าที่ผ่านมา LGBT ปรากฏในสื่อลาวน้อยมาก โดยเฉพาะเลสเบี้ยน เรื่องของหญิงรักหญิงแทบจะไม่ถูกพูดถึงเลย ทั้งที่มีอยู่ในสังคมและมีปัญหามาก แต่ไม่มีการเอาออกมาพูดในสื่อ ส่วนในภาพยนตร์ก็มีเพศหลากหลายน้อยมาก หากมีก็จะเป็นเกย์ที่ได้เล่นเป็นตัวประกอบ

“ในสังคมลาวการใช้ชีวิตประจำวันของเกย์จะเปิดกว้างกว่าเลสเบี้ยน มีการแต่งงานของเกย์ที่เป็นการทำพิธีเล็กๆ ที่บ้าน แต่ไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย ในลาวมีองค์กร Proud to be us Laos ที่ทำงานอย่างเข้มแข็งในประเด็นเกย์ และพยายามเปิดเผยเรื่องเกย์ลาวให้มากขึ้น ภาครัฐไม่ได้ห้ามการทำงานขององค์กรเกี่ยวกับ LGBT แต่ข้อมูลที่จะเอาออกมาเผยแพร่ต้องผ่านการพิจารณาจากภาครัฐก่อน เช่นงานเขียนหรือการทำหนัง ถ้าไม่ผ่านกระทรวงวัฒนธรรมฯ ก็ทำไม่ได้ แล้วถ้าเอาลงสื่อหรือลงออนไลน์โดยไม่ผ่านเขา ต่อไปก็จะทำงานยากมาก เขาจะเรียกไปคุยทำความเข้าใจกันใหม่” ดอนกล่าว

ฐานิตา วงศ์ประเสริฐ นักเคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศ กล่าวหลังได้ดูหนังสั้นของดอนว่าการเลือกปฏิบัติต่อ LGBT เช่นนี้ เกิดขึ้นกับสังคมไทยเช่นกัน และเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าสนใจว่าทำไมการเลือกปฏิบัติเช่นนี้จึงเกิดในภูมิภาคนี้

“ความเข้าใจเรื่องเลสเบี้ยนในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วางอยู่บนความเชื่อว่ารักต่างเพศเท่านั้นที่เป็นสิ่งปกติ ความเข้าใจเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการก่อร่างโดยสังคมจนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ วิธีคิดว่ามนุษย์มีแค่สองเพศถูกนำมาใช้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ นำมาสู่การเหมารวมบทบาททางเพศ เช่น การเล่นของเล่นผู้ชาย แต่งตัวแบบผู้ชาย หรือทำงานในร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ไม่ใช่สิ่งที่ผู้หญิงควรทำ เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับบทบาทเพศหญิง”

สิ่งหนึ่งในวัฒนธรรมเอเชียที่ส่งผลถึงชีวิตเพศหลากหลาย คือช่วงเวลาที่จะย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ อันหมายถึงการมีอิสระในชีวิตและได้เป็นตัวของตัวเอง แต่คนเอเชียส่วนใหญ่จะย้ายออกจากบ้านเมื่อแต่งงาน นั่นหมายถึงการย้ายจากบ้านหนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่ง ซึ่งแต่ละบ้านจะมีกฎเกณฑ์ความคาดหวังแตกต่างกัน อันมีส่วนกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนเมื่ออยู่ใต้ชายคาบ้านนั้น และสามารถเกิดการเลือกปฏิบัติได้อีกเช่นกัน ปัญหานี้ยิ่งซับซ้อนเมื่อความเข้าใจเรื่องการแต่งงานของคนทั่วไปจะถูกเชื่อมโยงกับเรื่องการมีลูก

ฐานิตา มองว่า สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถอยู่ร่วมกับเพศหลากหลายได้ ตราบใดที่ยังรักษาการเลือกปฏิบัติต่อเพศหลากหลายได้อยู่ และผู้ถูกเลือกปฏิบัติไม่สู้กลับ

“จากในหนัง จะเห็นว่าครอบครัวของไหมไม่ได้ต่อต้านตัวตนของไหม แต่ต้องบังคับให้ไหมเปลี่ยนแปลง เพราะมีแรงกดดันภายนอก เช่น เพื่อนร่วมงานและเพื่อนบ้าน พวกเขาใส่ใจความคิดของคนนอกมากกว่าความคิดของคุณ ทั้งในฐานะปัจเจกและในฐานะครอบครัว ความคิดเหล่านี้เกิดจากความเชื่อเก่าๆ และการเหมารวม ทำให้ LGBT ถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอายในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำมาสู่การตัดสินว่านี่คือสิ่งไม่ปกติ กลายเป็นว่าชีวิตของคุณขึ้นอยู่กับความเห็นของคนอื่น ซึ่งน่าเศร้ามาก เพราะมันเปลี่ยนแปลงได้ยาก” ฐานิตากล่าว

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save