fbpx

ล้านนาป็อป แต่ไม่ป็อปอย่างที่คิดกัน: ว่าด้วยอาหาร ดนตรี และพลังทางวัฒนธรรมแบบ ‘เหนือๆ’ ในสังคมไทย

พลันที่ได้อ่านบทความ ‘ทำไมร้านอาหารเหนือจึงไม่ค่อยแพร่หลาย‘ ของคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ทำให้ผู้เขียนตื่นเต้นไปกับคำถามและคำตอบที่ถูกโยนขึ้นมาในวงสนทนา การทดลองตอบในบทความดังกล่าวมี 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนของอาหาร ส่วนประกอบและรสชาติโดยตรงที่ต้องใช้เวลาและมีลักษณะเฉพาะทำให้คนเข้าถึงยาก และส่วนของวัฒนธรรมคนเหนือที่ไม่เคลื่อนย้ายถิ่น ส่งผลให้การกระจายสินค้าและบริการไม่แพร่หลายเหมือนอาหารอีสานหรือปักษ์ใต้นัก

อย่างไรก็ตาม มีผู้เห็นแย้งในบางประเด็นเช่น วัฒนธรรมหม่าล่าที่แพร่หลายลงไปกรุงเทพฯ และทั่วประเทศก็มีจุดเริ่มต้นมาจากภาคเหนือ หรือตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วอาหารเหนือนี่มันเฉพาะอาหารคนเมือง ไม่ได้รวมชาติพันธุ์อื่นๆ หรือเปล่า ก็เป็นสิ่งที่น่ารับฟัง

ในที่นี้ผู้เขียนเห็นเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่แค่อาหาร ‘เหนือ’ เท่านั้นที่ไม่ค่อยแพร่หลาย แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยของ ‘ภาคเหนือ’ ที่เรามักเรียกกันอย่างหลวมๆ ว่า ‘ล้านนา’ นี้ด้วย ในเชิงประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม คำว่า ‘ล้านนา’ มีลักษณะพิเศษเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ อย่างอีสานและใต้ ที่มีความเป็นอาณาจักรเก่าแก่ ทั้งที่อีสานก็เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ล้านช้าง’ หรือ จังหวัดชายแดนใต้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ ‘รัฐมลายู’ แต่อย่างไรก็ตามถ้านับเอาตามความรับรู้ ล้านนาดูเหมือนจะได้เปรียบกว่า โดยเฉพาะการที่ยังมีเครือญาติทางเจ้าทางเหนือที่มีตำแหน่งแห่งที่ในสังคม เห็นได้จากตระกูล ‘ณ’ ต่างๆ เช่น ณ ลำปาง ณ ลำพูน ณ เชียงใหม่ ณ น่าน ฯลฯ ยังไม่นับว่าศิลปะวัฒนธรรม ‘ล้านนา’ ก็ถูกรับรู้ถึงลักษณะเฉพาะเป็นอย่างยิ่ง

หากมองในมุมความจริงที่ถูกสร้าง ‘วัฒนธรรมล้านนา-คนเหนือ’ ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นอย่างช้าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกลุ่มนายทุนตระกูลนิมมานเหมินท์และเครือข่าย ทศวรรษ 2490 เชียงใหม่กลายเป็นเมืองหลวงของภาคเหนือทางวัฒนธรรม ภาพลักษณ์แบบเมืองผู้หญิงสวย ดอกไม้งาม อากาศดี ได้ยกระดับให้ภาคเหนือกลายเป็นปลายทางของแหล่งท่องเที่ยวในฝัน ในยุคที่การท่องเที่ยวยังจำกัด การเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยรถไฟเป็นสิ่งที่สะดวกที่สุด เชียงใหม่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ภาพเก่าวันสงกรานต์ริมแม่น้ำปิงทศวรรษ 2490 เป็นภาพขายและตอกย้ำความโดดเด่นทางวัฒนธรรม นายทุนกลุ่มดังกล่าวจึงมีส่วนในการสนับสนุนด้านธุรกิจบริการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

‘ข้าวแลงขันโตก’ เป็นวัฒนธรรมประดิษฐ์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการจัดงานเลี้ยงของกลุ่มธุรกิจดังกล่าว เช่นเดียวกับที่พวกเขาพยายามจะยกเอา ‘เสื้อหม้อห้อม’ มาเป็นตัวแทนของเครื่องแต่งกายของ ‘คนเมือง’ พวกเขาได้จัดทำนิตยสาร คนเมือง ปี 2496, ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่เมื่อปี 2514 และโรงแรมรินคำที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2515

ดังนั้น วัฒนธรรม ‘ล้านนา’ จึงถูกให้ค่าว่าเป็นอารยธรรมที่มีคุณค่าสูงส่งถูกจริตกับชนชั้นกลาง ในทางกลับกันวัฒนธรรมของชาวบ้านกลับไม่มีพื้นที่หรือไม่คุ้นเคยกับคนทั่วประเทศมากนัก เมื่อเทียบกับภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย

เพลงจรัล มโนเพ็ชรเป็น ‘เพลงโฟล์กคำเมือง’ ที่คนทั่วประเทศรู้จักกันดีตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ความโด่งดังของเขายิ่งเป็นการตอกย้ำวัฒนธรรมและภาพลักษณ์ชนชั้นกลาง-วัฒนธรรมเขตเมืองที่สำเนียงร้องแบบ ‘เชียงใหม่’ ถูกเผยแพร่ผ่านบทเพลงไปทั่วประเทศ เพลงแบบจรัลกลายเป็นแม่แบบของเพลงยุคต่อมาที่อาจกลายเป็นกำแพงกั้นความเป็นไปได้อื่นๆ ส่วนเพลงคำเมืองอีกแนวที่รู้จักกันดีก็คือ เพลงชุด ‘ปี๋ใหม่เมือง’ ที่นิยมเปิดในเทศกาลสงกรานต์ โดย อบเชย เวียงพิงค์ที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันช่วงปลายทศวรรษ 2520[1] เพลงของอบเชยที่ให้ภาพลักษณ์ของความอ่อนหวานอ่อนช้อยของผู้หญิงเหนือและวัฒนธรรมล้านนาถูกขับขานและจดจำเรื่อยมา ส่วนในช่วงไล่เลี่ยกันก็มีศิลปินนกแลที่มีภาพลักษณ์ของเด็กชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในที่สูงขับขานบทเพลงที่สดใสร่าเริงบริสุทธิ์ แต่ก็โด่งดังในช่วงสั้นๆ ทั้งยังถูกโปรโมตและขายจากค่ายเพลงในกรุงเทพฯ และแทบจะไม่มีวงดนตรีเด็กเหนือใดๆ ที่ถูกผลิตออกมาอีก

จรัล มโนเพ็ชรกลายเป็นภาพตัวแทนสำคัญของวัฒนธรรม ‘ล้านนา’ ร่วมสมัย ที่ตัวเขาเองมีโอกาสกลายเป็นดารา นักแสดงอยู่ในศูนย์กลางของประเทศ หลังจากนั้นแล้ว ‘คนเมือง’ ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดก็น่าจะเป็นทักษิณ ชินวัตรที่เคยชูว่าตัวเองเป็นนายกฯ คนเหนือ แบบที่ชวน หลีกภัยเคยชูว่าตัวเองเป็นนายกฯ คนใต้ และอีกหลายคนที่พยายามโยงตัวเองว่าเป็นคนอีสาน หรือเกี่ยวดองกับอีสาน

ควบคู่กับความโด่งดังของจรัล มโนเพ็ชร ยังมีเพลง ‘ซอชาวบ้าน’ อย่างไอ้เก๋า-อีต่วม (สุรินทร์ หน่อคำ-สุจิตรา คำขัติย์) ทั้งคู่เป็นศิลปินที่อยู่ในความทรงจำของชาวบ้านในภาคเหนือจำนวนมาก พวกเขาคือ ‘ช่างซอ’ ที่เน้นการขับร้องแสดงปฏิภาณ (อาจคล้ายลำตัดของภาคกลางในบางแง่มุม) ทั้งคู่เป็นชาวเชียงใหม่ที่เติบโตมากับการเล่นตามงานต่างๆ ในหมู่บ้านจากการตั้งคณะซอชื่อ ‘คณะเก๋าต่วม’ ในปี 2518 การแสดงของคณะนี้ยังได้ออกรายการโทรทัศน์ช่อง 8 ลำปาง ของกรมประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ปี 2532 คณะดังกล่าวเป็นตัวแทนของความบันเทิงชาวบ้านในยุคก่อนได้ดี ต่อมาเพลงซอได้มีพัฒนาการมาเป็นซอสตริง และดนตรีลูกทุ่งคำเมือง ซึ่งกลุ่มนี้มักจะสะท้อนโลกทัศน์ ความคิด และวิถีชีวิตชาวบ้านที่พูดถึงสถานการณ์ต่างๆ อย่างล้อเลียน เสียดสี ตลกขบขัน ซึ่งตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมคนในเขตเมืองที่เน้นคุณค่าและภาพลักษณ์ที่เรียบร้อยอ่อนหวาน

YouTube video

ส่วน วิฑูรย์ ใจพรหม และเหินฟ้า หน้าเลื่อม[2] ทั้งคู่เป็นศิลปินเพลงตลกคำเมืองในยุคหลังที่เน้นเนื้อหาเสียดสีล้อเลียนแบบเดียวกับเพลิน พรหมแดนนั่นคือ มีการขับร้องและบทสนทนาในเพลงในประเด็นต่างๆ มีผู้พยายามศึกษาซอสตริงในฐานะปฏิบัติการทางการเมืองที่ทำให้เห็นว่า บทเพลงซอสตริงมิได้เป็นเพียงความบันเทิงเท่านั้น แต่เป็นการสร้างพื้นที่ต่อรองอำนาจทางการเมืองไปด้วย[3] กระนั้นเมื่อเทียบกับดนตรีพื้นถิ่นในอย่างเพลงในอีสานหรือภาคใต้ เพลงทางเหนือนั้นไม่สามารถทลายกำแพงวัฒนธรรมไปตีตลาดได้เลย

หากจะมีศิลปินที่ตีตลาดชาวบ้านระดับประเทศได้ในระดับหนึ่งก็ได้แก่ กระแต อาร์สยาม ด้วยความที่มีภาพลักษณ์ชัดเจนและอยู่ในค่ายเพลงลูกทุ่งใหญ่อย่างอาร์สยาม แต่ในยุคหลังผลงานของเธอก็ไม่ได้แสดงอัตลักษณ์ ‘คนเมือง’ อีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกับ กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ที่เป็นคนเชียงรายที่อาจจะเคยแร็ปเป็นคำเมือง แต่คนรู้จักเขาในฐานะแร็ปเปอร์มากฝีมือมากกว่าจะเป็นแร็ปเปอร์ล้านนา ในยุคหลังอาจจะมีปู่จ๋าน ลองไมค์ที่ทำเพลงเป็นคำเมืองร่วมสมัย แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อยจนอาจเรียกได้ว่าเป็นข้อยกเว้น เมื่อเทียบศิลปินทางอีสานและใต้ที่มียอดวิวในยูทูบนับล้านวิว ศิลปินทางเหนือรุ่นใหม่ที่พยายามสร้างตัวตนขึ้นมาบ้าง กลับไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น ศิลปินที่พยายามนำวัฒนธรรมล้านนามานำเสนอในรุ่นหลังอย่างลานนา คัมมินส์ หรือล่าสุดคือกลุ่มดนตรีสไตล์ญี่ปุ่น CGM48 (ที่นับเป็นวงน้องของ BNK48) ก็เป็นวัฒนธรรมชนชั้นกลางในเมืองที่ไม่ได้เป็นที่นิยมในวงกว้างนัก วัฒนธรรมล้านนาจึงมีลักษณะที่เล่นกันเองดูกันเองและมีผู้ติดตามอย่างจริงจังเพียงกลุ่มเล็กๆ

วัฒนธรรมล้านนายังมีภาพลักษณ์ความเป็นหญิงที่น่าทะนุถนอม ขณะเดียวกันในบางครั้งอัตลักษณ์เช่นนั้นก็ถูกแปรความหมายส่อนัยทางเพศไปด้วย อุตสาหกรรมทางเพศที่เฟื่องฟูในทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเหนือที่ถูกล่อลวงไปขายบริการปรากฏอยู่ทั่วไป เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ เพลงแม่สาย (2531) ของวงคาราบาวในชุดทับหลัง

ในอีกด้านก็คือมีศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ยาวนานและงานศิลปะที่อ่อนช้อย เห็นได้จากการสร้างศิลปะสถาปัตยกรรมในอุดมคติอย่างโรงแรมดาราเทวีที่จำลองงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกในล้านนาเข้ามา หรือการสร้างอุทยานราชพฤกษ์เมื่อปลายทศวรรษ 2540 ที่มีจุดศูนย์กลางคือหอคำ อันที่จริงกระแส ‘ล้านนา’ เคยพุ่งขึ้นจุดสูงในช่วงทศวรรษ 2530 มาก่อน ไม่ว่าจะผ่านละคร วันนี้ที่รอคอย ที่แสดงโดยธงไชย แมคอินไตย์ (ที่ก็เคยมีข้อถกเถียงกันว่าเป็น ‘ล้านนาประดิษฐ์’) ทำให้ชุดแต่งกายแบบ ‘เจ้าซัน’ และเจ้านางต่างๆ ถูกเป็นตัวเลือกในการถ่ายในสตูดิโอต่างๆ แม้ว่าจะเป็นประเทศสมมติ แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่า เป็นการสร้างบนฐานการรับรู้ที่ไม่ไกลจากความเป็นล้านนา เช่นเดียวกับกระแสนิยมใส่ ‘กาแล’ และไม้ฉลุลวดลายต่างๆ ในอาคารภาคเหนือทั้งสถานที่ราชการ โรงแรม บ้านเรือนเพื่อแสดงถึงความเป็น ‘ล้านนา’ ที่เป็นภาพตัวแทนของความมีอารยธรรม ในยุคหลัง จิตรกรรมกระซิบรักที่วัดภูมินทร์ จ.น่าน ก็กลายเป็นจุดขายสำคัญของน่านก็เป็นภาพจำถึงวัฒนธรรมอันสูงส่งเปี่ยมความหมายเช่นเดียวกัน

ในแวดวงประวัติศาสตร์และคติชนวิทยา ปริมณฑลความรู้ ‘ล้านนา’ ถือว่ามีความลุ่มลึกและมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นต้นอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ เช่นเดียวกับการอนุรักษ์อักษร ‘ล้านนา’ หรือ ‘ตัวเมือง’ ที่ได้รับการสืบทอดผ่านป้ายวัด การเรียนการสอนในวัดและโรงเรียน แต่ในทางกลับกัน คลังคำและศัพท์ ‘คำเมือง’ นั้นจำกัดใช้อยู่เพียงในพื้นที่ ต่างจากศัพท์ ‘อีสาน’ และ ‘ใต้’ ที่ถูกนำไปสร้างเป็นจุดขายในเพลงร่วมสมัย ยังไม่นับว่า คนเหนือจำนวนไม่น้อย ไม่กล้าพูดคำเมืองเพราะสำนึกว่าเป็นภาษาที่ต้อยต่ำกว่าภาษาไทยกลาง

การรับรู้ความเป็น ‘ล้านนา’ ‘ภาคเหนือ’ จึงถูกสร้างขึ้นพร้อมกับตลาดทางวัฒนธรรมและการกระจายตัวของประชากร หลายคนไม่รู้ว่าในภาคเหนือมีร้านลาบ-ร้านเหล้าตอง แต่ลักษณะดังกล่าวมีภาพลักษณ์ความเป็นชายที่ขัดกับความเป็น ‘ล้านนา’ ที่คนทั่วไปรู้จัก เช่นเดียวกับหนัง ส้มป่อย ที่พยายามชี้ให้เห็นภาพอีกด้านของผู้หญิงเหนือที่ปรากฏว่าหนังประสบความล้มเหลว ไม่ว่าจะเพราะวิธีการเล่าของหนังเอง หรือการไม่สอดรับกับความรับรู้และความคาดหวังของคนกรุงเทพฯ ส้มป่อย จึงกลายเป็นหนังที่อาจจะถูกสร้างมาดูกันเองในภูมิภาค ต่างไปจากหนังอีสาน

หากจะทดลองตอบคำถามว่า ทำไม ‘ล้านนาป็อป’ จึงไม่ป็อปอย่างที่คิด ก็อาจจะเป็นเพราะว่า สิ่งที่ถูกรับรู้ของภาคเหนือ-ล้านนา คือมีลักษณะวัฒนธรรมที่ห่างไกลตัวกว่าวัฒนธรรมอื่นๆ ที่มีลักษณะเข้าถึงชาวบ้านได้ง่ายกว่า และอีกด้านก็คือประชากรชาวเหนือเองนั้นมิได้มีจำนวนมากพอหรือมีแรงยึดเกาะที่เหนียวแน่นพอจะสร้างชุมชนทางวัฒนธรรมได้เมื่อเทียบกับคนอีสาน หรือคนใต้ นั่นทำให้ในที่สุด ล้านนาอาจเป็นเพียงดินแดนตากอากาศที่เหมาะจะไปท่องเที่ยวหรือดินแดนในอุดมคติที่ควรค่าแก่การนึกถึงมากกว่าที่จะไปใช้ชีวิตอยู่กินและอาศัย อาหารเหนือจึงอาจเป็นภาพลักษณ์ของความ exotic ที่ควรลิ้มลองเมื่อไปเยือน เช่นเดียวกับบทเพลง ‘ล้านนา’ ก็ควรเป็นเพลงบรรเลงประกอบฉากหลังอันยิ่งใหญ่งดงามตระการของสถาปัตยกรรมแบบ ‘ล้านนา’ ก็เป็นได้


[1] เกษร ยอดแก้ว, อัตลักษณ์ของคนล้านนาจากบทเพลงลูกทุ่งคำเมืองที่ขับร้อง โดย อบเชย เวียงพิงค์ วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 2560, หน้า 48, 55-56, 60

[2] ชณิชา ปริสัญญกุล, การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบและเนื้อหาเพลงคำเมืองของวิฑูรย์ ใจพรหม และเหินฟ้า หน้าเลื่อม วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2556

[3] อรพิณ สร้อยญาณะ, การสร้าง “พื้นที่ที่สาม” ของผู้หญิง “ชนบทใหม่” ภาคเหนือ ผ่านเพลงซอสตริง วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554 และ Kriangsak Chetpatanavanich, Constructing The Third Identities Through Modern Northern Country Songs (Pleng Lukthung Kam Mueng): A Social History of  Modernity in Rural Chiang Mai. Ph.D dissertation, Chiang Mai University, 2007.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save